วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กับดักเงินด่อง

กับดักเงินด่อง

เงินด่องซึ่งเป็นสกุลเงินของเวียดนามกำลังจะประสบปัญหาครั้งใหญ่แล้วในปี 2011 นี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น... ตอบง่ายๆ ก็คือ เวียดนามได้เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับ เม็กซิโก ไทย และอาร์เจนตินา ในอดีต และ ประเทศทั้ง 3 นี้ก็ไม่สามารถจะหลบเลี่ยงวิกฤติค่าเงินมาได้เลย

การผูกค่าเงินด่องกับเงินดอลลาร์ แม้จะมีการลดค่าเงินด่องลงถึง 3 ครั้ง แต่เทียบไม่ได้เลยกับส่วนต่างเงินเฟ้อของประเทศเวียดนามกับอเมริกา โดยเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ธ.ค.53 นั้นสูงถึง 11.75% สูงที่สุดในรอบ 22 เดือน ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เวียดนามอาจขาดดุลการค้าถึง 12 พันล้านเหรียญ สรอ.ในปี 2553 ซึ่งเป็นระดับถึง 12% GDP ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ร่อยหรอลดน้อยลงจนน่ากังวล รัฐวิสาหกิจต่อเรืออย่าง Vinashin ก็เข้าขั้นล้มละลาย ส่งผลให้เวียดนามถูกลดอันดับเครดิตลงอีกด้วย

เมื่อค่าเงินไม่สะท้อนความเป็นจริง จึงเกิดอัตราแลกเปลี่ยนใน "ตลาดมืด" ขึ้น ตามร้านขายทองคำซึ่งกำหนดค่าเงินที่ต่ำกว่าทางการอยู่ประมาณ 10% ประชาชนเวียดนามไม่มั่นใจในค่าเงินด่อง แทนที่จะฝากเงินกับธนาคารได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถึง 13-15% ต่อปี กลับเอาเงินนั้นไปซื้อทองคำเก็บเป็นสินทรัพย์แทน

"สัญญาณเตือน 333" (Triple 3 Signal) สัญญาณเตือนก่อนประเทศต่างๆ จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น คือ 1.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% GDP 2. การขาดดุลนั้นต่อเนื่องกันนานกว่า 3 ปี และ 3. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สูงกว่าประเทศอ้างอิงมากกว่า 3% แน่นอนว่า วิกฤติเตกีล่า และ ต้มยำกุ้ง ประเทศเม็กซิโกและไทยก็เข้าประเด็นนี้อย่างเต็มๆ เพราะ การกำหนดค่าเงินให้แข็งค่าเกินระดับเหมาะสมเป็นเวลานาน ทำให้ขาดดุลการค้า และ ขาดดุลเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องหนักหน่วง การลงทุนอยู่สูงกว่าการออมอย่างมาก ประเทศจึงต้องระดมเงินจากต่างประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อไปถึงจุดหนึ่งทีทุนสำรองฯ ร่อยหรอจนนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ถดถอยและ การไหลออกของเงินในที่สุด ซึ่งอาจเรียกชื่อได้ว่าเป็น "วิกฤติแห่งความไม่พอเพียง" (Insufficiency Crisis)

สภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม เปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่วิ่งมาอย่างเร็ว เข้าโค้งหักศอกบนถนนเปียก ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการขับขี่เป็นอย่างมาก จึงจะรอดพ้นมาได้อย่างปลอดภัย และ สภาพเช่นนั้นในอดีตทั้งเม็กซิโก ไทย และ อาร์เจนตินา ก็พิสูจน์มาแล้วว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะผ่าน "โค้งหักศอก" แบบนั้นได้โดยไม่เสียหายหนัก

ประเทศไทยคววรแสดงบทบาทในการประเทศผู้นำด้านการป้องกัน และ แก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญจาก ธปท.ซึ่งมีประสบการณ์สมัย "วิกฤติเงินบาท" เพื่อช่วยเหลือเวียดนามในการผ่อนหนักให้เป็นเบาสำหรับ "วิกฤติเงินด่อง" ในอนาคต ด้วยการถ่ายทอด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" แนะนำให้เวียดนามลดค่าเงินด่องลงอย่างเร็วเท่ากับระดับตลาดมืด คือ ราว 10% จากนั้นก็ต้องพยายามรัดเข็มขัดการคลัง ส่งเสริมการออมผ่านระบบประกันสังคมและเงินบำนาญ รวมทั้งควบคุมสินเชื่อเพื่อการเก็งกำไรต่างๆ

เวียดนามจำเป็นที่จะต้องเติบโตให้ช้าลง เพื่อรักษาสมดุลบัญชีเดินสะพัดให้ได้ จะส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบัน (11.75%)โดยอัตโนมัติ มันแทบไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับเวียดนาม...คือเดินให้ช้าลง หรือว่า วิ่งอย่างเร็วแล้วแหกโค้ง...เท่านั้นเอง

หากค่าเงินด่องอ่อนค่าลง 10% นั่นอาจเป็นภาวะลำบากของชาวนาไทย ที่ต้องแข่งขันขายข้าวกับเวียดนาม แต่หากเวียดนามเกิดวิกฤติเงินด่องขึ้นมาจริงๆ แล้วละก็เงินด่องอาจอ่อนค่าลงได้ถึง 50% และนั่นคือ "นรก" ของชาวนาไทยอย่างแน่นอน เวียดนามอาจจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในการส่งออกข้าวแทนไทย และ ราคาข้าวเป็นดอลลาร์จะตกต่ำลงได้อีกมาก ดังนั้น การเข้าช่วยเหลือเวียดนามของ ธปท.จึงไม่เพียงแต่ช่วยเวียดนามเท่านั้น...แต่ยังเป็นการช่วยเหลือชาวนาไทยให้รอดพ้นจากหายนะอีกด้วย

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รู้สึกตัวบ้างไหม...เศรษฐกิจไทยขาลง

อยากถามท่านผู้อ่านและผู้บริหารประเทศครับว่า "รู้สึกตัวกันบ้างไหมว่า..ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเป็นขาลงแล้ว" แม้ท่านนายกฯ จะได้พูดไปในสถานที่ต่างๆ ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้สดใสมากๆ อาจเติบโตได้ถึง 8% และปีหน้าน่าจะโตได้ 4% สบายๆ ในอดีตยามที่เศรษฐกิจเริ่มเป็น "ขาขึ้น" ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์จะบอกว่าให้ดู GDP แบบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งก็เป็นหลักมาตรฐานสากลจะเห็นเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเป็น V แล้วตั้งแต่กลางปี 2009 .. แต่ยามเริ่มเป็นขาลงนี่ ท่านกลับมาใช้มาตรฐานแบบไทยๆ เน้นๆ พูดเฉพาะแบบเทียบกับปีก่อน ตัวเลขเทียบกับไตรมาสก่อนนั้นแทบไม่เคยพูดถึงอีกเลย คำตอบอยู่ตรงนี้ครับ GDP ไตรมาส 2 แบบปรับผลตามฤดูกาลแล้วนั้นนั้น -0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ ไตรมาส 3 นั้น -0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเช่นกัน เห็นได้ชัดเลยว่าตัวเลขเหล่านี้เลวร้ายกว่า +9.2% และ +6.7% ตามลำดับเมื่อเทียบแบบปีต่อปีชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ (ข้อมูล :NESDB)

ดังนั้นที่แม่ค้าตามตลาดบอกว่า เศรษฐกิจไม่เห็นจะดีเลยนั่นก็เป็นความคิดเห็นที่ถูกต้องแล้ว เศรษฐกิจไทยตามมาตรฐานสากลเริ่มเข้าสู่ "ขาลง" รอบ 2 ฟอร์มเป็นตัว W แล้วตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เป็นลักษณะการฟื้นตัวที่ชะลอตัวลงอย่างเร็ว เทียบเคียงได้กับภูมิภาคที่อ่อนแอที่สุดของโลก คือ บริเวณประเทศริมขอบยูโรโซนอย่าง PIIGS กันเลยทีเดียว การที่เศรษฐกิจเติบโตติดลบ 2 ไตรมาสติดกัน นั่นหมายถึง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ดังนั้นไทย และ PIIGS จึงเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่เข้าสู่ขาลงรอบ 2 (double dip recession) ก่อนหน้าภูมิภาคอื่นๆ ในโลกซึ่งอาจตามมาติดๆ ในปีหน้า โดยที่พวกเราแทบไม่รู้สึกตัวกันเลย เพราะ ถูกตัวเลขสวยหรูของรัฐบาลหลอกตามาตลอด

หากไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง การที่ ธปท.ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และ ชะลอเศรษฐกิจก็น่าจะเป็นความคิดที่ผิด ถ้าหากคิดได้เช่นนี้ ท่านผู้อ่านได้ยกระดับการเป็นกูรูทางเศรษฐกิจที่เหนือชั้นกว่า กนง.ไปแล้ว ทั้งธปท.และ รัฐบาลอาจกำลังเดินหลงทางกันอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมองไปในปีหน้าแล้วเห็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและไทยดังนี้

1.กับดักเงินหยวน : ได้สร้างสภาพคล่องล้นเหลือในประเทศจีน สร้างฟองสบู่อสังหาฯลูกใหญ่มาก ในเขตเมืองใหญ่นั้น ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงถึง 20 เท่าของรายได้ต่อปีของประชากร ขณะที่ตัวเลขนี้ในญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 8 และ อเมริกาตอนนี้อยู่ที่ระดับ 5 เท่าเอง จีนหากปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วขึ้น เพื่อสร้างสมดุลการค้าโลก นั่นอาจเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และ อัตราการสำรองเงินของธนาคาร เพื่อชะลอสินเชื่อ รวมทั้งค่าเงินหยวนที่แข็งค่าเร็ว ก็อาจส่งผลให้ฟองสบู่อสังหาฯ แตกเร็วยิ่งขึ้น เพราะ ราคาอสังหาฯ เป็นดอลลาร์นั้นจะแพงขึ้นอีก 10-20% ซึ่งเกินกว่าดีมานด์จะวิ่งตามได้ทัน นั่นอาจทำให้ราคาอสังหาฯ เป็นหยวนดิ่งลงได้ไม่ต่ำกว่า 20% ในปีหน้าตามที่นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และ ตลาดหุ้นทั่วโลกได้มาก เพราะ จีนคือ "หัวรถจักร" สำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกตอนนี้

2.กับดักเงินยูโร : จะสร้างปัญหาอย่างหนักต่อประเทศที่อ่อนแอริมขอบยูโรโซน ซึ่งไม่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ เพราะ จำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง และ ยังไม่สามารถจะทำมาค้าขายได้ดุลการค้าได้เพราะ ค่าเงินผูกอยู่กับประเทศแข็งแรงอย่างเยอรมนี การที่ ECB พยายามจะยื้อรักษาระบบ Euro ให้เป็นเงินสกุลเดียวต่อไปนั้น จะส่งผลเสียหายอย่างหนักต่อไป การไม่พยายามแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดจะเพิ่มความเสียหายเป็นทวีคูณ ก่อนที่จะมีการแยกค่าเงินเป็น 2 สกุล ก็น่าจะคาดได้ว่าจะเกิดความปั่นป่วนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุล "Euro" ได้อย่างสูงในปีหน้าที่จะถึงนี้

3.กับดักเงินบาท : ธปท.เดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง เมื่อรวมกับการไม่ฟื้นตัวจริงของประเทศพัฒนาแล้ว รวมๆ กับความเสี่ยงจากฟองสบู่แตกในประเทศจีน และ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการในประเทศอย่างเร็ว จะส่งผลให้การส่งออกในปีหน้าเต็มไปด้วยปัญหา โดยอาจเป็นไปได้ว่ามูลค่าส่งออกคิดเป็นเงินบาทน่าจะติดลบด้วยซ้ำไป

4.กับดักการออม : สิ่งอันตรายในปีหน้าก็คือ กอช.หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ (ผมขอเรียกว่า "กับดักการออมแห่งชาติ") นั้น รัฐบาลจะใส่เงินเข้ามาราว 2 หมื่นล้าน และ ให้ประชาชนสมทบเงินราว 3 หมื่นล้าน หากโครงการนี้สำเร็จตามที่คาดจริง อาจจะเป็นหายนะของเศรษฐกิจไทย ทำไมนะหรือ ?? เพราะ เงินของประชาชนนอกระบบนั้นมีระดับการหมุนเงินที่สูงมากอาจถึง 3 เท่าตัว การนำเงินราว 5 หมื่นล้านไปใส่ไว้ในกองทุนโดยเงินไม่หมุนเลยนั้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยอาจมี GDP ลดลงไปถึง 1.5 แสนล้านบาท (ราว 1.5% GDP)

การขัดแย้งจากความมัธยัสถ์ (paradox of thrift) คือ สภาพที่คนกลุ่มหนึ่งประหยัดเงินแล้ว จะไปกระทบรายได้ของคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย ก็วนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปรายได้ลดลงจึงทำให้การออมลดลงไปด้วย ปกติแล้วการขาดดุลการคลังที่ดี โครงการนั้นๆควรมีค่าตัวทวีคูณ (multiplier) สูงกว่า 2 เท่า แต่สำหรับโครงการนี้ ตัวทวีคูณอาจอยู่ที่ระดับ -7.5 เท่า (รัฐใส่เงิน 2 หมื่นล้าน แต่เศรษฐกิจหดตัว 1.5 แสนล้าน) ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับที่นโยบายการคลังที่ดีโดยสิ้นเชิง เวลา 10 ปีเต็มๆ ที่เงินก้อนนี้จะจมกับ กอช.โดยไม่หมุนก็อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงระดับ 30 เท่าของความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ผ่านมา

ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ระดับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็น่าจะพอเข้าใจได้ดี เพราะ มีอยู่ในหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคเกือบทุกเล่ม แต่เพราะเหตุใด กูรูด้านเศรษฐกิจ เซียนด้านการเงิน รวมไปถึง คณะรัฐมนตรี และ สส.ผู้ทรงเกียรติในสภา จึงสนับสนุนแนวคิด กอช.อย่างท่วมท้น เหตุผลหลักก็อาจอยู่ที่ว่า พวกเขาสนใจแต่เรื่องของ "แรงกิริยา" โดยใส่ใจกับ "แรงปฏิกิริยา" หรือ "แรงสะท้อนกลับ" น้อยมาก ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็น 1 ในกฎ 3 ข้อของ "เคล็ดวิชาไท้เก๊ก" และ ยังเป็น 1 ใน 3 ของ "กฏนิวตัน" อีกด้วย การสนใจแต่ว่า กอช.จะเป็นสวัสดิการที่ช่วยให้แรงงานนอกระบบที่เกษียณอายุมีเงินใช้จ่ายได้ในอนาคต โดยไม่ได้มองแรงสะท้อนกลับอีกด้านซึ่งหมายถึง การใช้จ่ายและรายได้ที่ลดลงของประชาชนในปัจจุบัน

หากเป็นไปได้ ขอให้วิญญาณของ "เคนส์" ซึ่งเป็นศิษย์พี่ของ ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ แห่งรร.มัธยมอีตั้นชื่อดังก้องโลก ช่วยไปเข้าฝันศิษย์น้องหน่อยเถอะ ช่วยแนะว่าโครงการ กอช.นั้นไม่น่าจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล แต่มันน่าจะเป็นผลงานชิ้นโบดำเสียมากกว่า ผมจึงขอเรียกร้องให้การพิจารณา พรบ.กอช.วาระต่อไปในสภานั้น โปรดพิจารณาถึงผลดีผลเสียของโครงการนี้อย่างรอบคอบถี่ถ้วน เพื่อป้องกันความเสียหายใหญ่หลวงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ตอนนี้ทั้งรัฐบาล และ ธปท.ต่างก็บอกว่า "พวกเรากำลังมาถูกทางแล้ว" แต่ระวังหน่อยนะครับ มันอาจเป็นทางไปสู่หุบเหวก็ได้ และเศรษฐกิจปีหน้าที่คาดกันไว้ว่าจะโต 4% นั่นอาจเป็นได้แค่ฝันกลางวันของคนไทย เพราะ เศรษฐกิจไทยอาจถูก "กับดักเศรษฐกิจ"ทั้ง 4 ตรึงแขนขาทั้ง 4 ข้างเอาไว้จนไม่อาจขยับได้เลยแม้แต่คืบเดียว

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ยูโร คือ หมูหัน

ยูโร คือ หมูหัน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น...เงินยูโร นั้นเหมือนมีชะตากรรมที่เหมือนถูกสาปและต้องอายุสั้นกว่าที่ควรจะเป็น เพราะ มีการถือกำเนิดแบบไม่มีตรรกะเหตุผลที่ดีพอมารองรับ แม้ว่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุนในยูโรโซนได้เป็นอย่างดีมาช่วงเวลาหนี่งก็ตาม อย่างไรก็ดี ค่าเงินที่ควรจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศกลับไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะ "ระบบเงินยูโร" นี่เอง

เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี คนทั่วโลกก็เริ่มเห็น "ด้านมืด" ของเงินยูโรอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ประเทศที่แข็งแรง เงินเฟ้อต่ำ และ ประเทศที่อ่อนแอ เงินเฟ้อสูง กลับใช้เงินสกุลเดียวกัน ยิ่งเวลาผ่านไป ประเทศที่อ่อนแอยิ่งไม่สามารถจะแข่งขันด้านการส่งออกได้เลย เมื่อส่งออกได้น้อยนำเข้ามาก ก็พบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและติดหนี้กับต่างประเทศจำนวนมาก โดยในปี 2008 ที่ค่าเงินยูโรเคยแข็งค่าถึงระดับ 1.60 ดอลลาร์นั้น กรีซเคยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 15% GDP ส่วนสเปนและโปรตุเกสอยู่ระดับ 10% GDP ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยการรัดเข็มขัดการคลังเท่านั้น เพราะ ต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ตรงนั้น ถึงจะรัดเข็มขัดจนเหลือขาดดุล 3% GDP ประเทศก็ยังไม่สามารถค้าขายให้ได้ดุลมาเพื่อลดหนี้ได้ ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน "ยูโร" ที่ไม่เหมาะสมกับประเทศอ่อนแอเหล่านี้ต่างหาก

ประเทศที่ประสบปัญหาจนต้องขอความช่วยเหลือก่อนเพื่อนก็คือ กรีซ (G) ถัดมาก็คือ ไอร์แลนด์ (I) และ น่าจะเป็นโปรตุเกส(P)คือรายต่อไป เมื่อเรียงลำดับอักษรจากหลังมาหน้า ก็จะได้คำว่า "PIG" นั่นเอง แล้วอีก 2 ประเทศขนาดใหญ่ที่จะตามมาก็คือ สเปน (S) และ อิตาลี (I) ก็ได้เป็นคำว่า "IS" ซึ่งหาก 2 ประเทศนี้ถูกโจมตีด้วยกองทุนเฮดจ์ฟันด์อย่างได้ผลจนผลตอบแทนพันธบัตรสูงลิ่วเสียแล้วละก็ ในที่สุดก็คงถึงเวลาล่มสลายของเงิน EURO ดังนั้น อาจเรียงประโยคได้ว่า "EURO IS PIG" เงินยูโรคือ หมูหัน ที่พร้อมถูกเชือด นี่คือคำสาปจากสวรรค์

Paradox of Euro หมายถึง การขัดแย้งกันเองของเงินยูโร ประเทศที่อ่อนแอ (PIIGS) ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง แถมด้วยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินควรอ่อนลงในระยะยาว ขณะที่ประเทศแข็งแกร่ง (เยอรมัน) ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด ค่าเงินควรแข็งค่าขึ้นในระยะยาว แต่ 2 กลุ่มประเทศกลับใช้ค่าเงินเดียวกัน ดังนั้น ยูโรจึงควรทั้งแข็งค่า และ อ่อนค่าในระยะยาว ?? เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้เพราะมันขัดแย้งกันเอง สภาพเช่นนี้จะไม่สามารถคงอยู่ได้นานนักในอนาคต ในปี 2011 จึงควรเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของระบบเงินสกุลเดียวนี้

"หมูหัน" ยังต้องมีการผ่าแบ่งซีกด้วยเช่นเดียวกันกับ "เงินยูโร" ทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดน่าจะเป็น การสร้างเงินอีกระบบหนึ่งขึ้นมารองรับ เพื่อแยกประเทศในยูโรโซน ออกเป็นอย่างน้อย 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแข็งแรง และ กลุ่มอ่อนแอ จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ และ ยังรักษาข้อดีของการใช้เงินสกุลร่วมกันได้ต่อไป

ธปท.ควรจะรีบนำเอาข้อความ 2 ประโยคไปบอกกับธนาคารกลางของยูโรโซน (ECB) ดังนี้ 1.ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้มานานกว่า 10 ปี มันไม่แน่ว่ามันจะดีเสมอไป 2.การยื้อพยายามรักษาระบบที่ผิดพลาดเอาไว้ จะทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ นี่คือการสื่อสารว่า "ระบบตะกร้าเงินบาท"ในอดีต กับ "เงินยูโร" ในปัจจุบัน ต่างก็มีจุดบกพร่องและสมควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขโดยเร็วที่สุด "ระบบตะกร้าเงินบาท" นั้นใช้เวลา 12 ปีกว่าจะยกเลิกไป ขณะที่เงินยูโร ก็จะครบรอบ 12 ปีในปี 2011 เช่นกัน

หากประเทศที่แข็งแรงก็ใช้เงิน Eura ใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเช่น ขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% GDP กลุ่มนี้จะมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยต่ำ และ ค่าเงินจะแข็งค่าในระยะยาว ส่วนประเทศอ่อนแอใช้ Euro กันต่อไป ปรับเกณฑ์ขาดดุลการคลังให้ยืดหยุ่นขึ้นเป็น 5% GDP เบื้องต้นอาจกำหนดให้ Eura มีค่าแข็งกว่า Euro ราว 10% หลังจากนั้นก็เปิดเสรีให้ซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาด อาจเป็นไปได้ว่า Euro อาจดิ่งลงอย่างเร็วเหลือแค่เท่ากับ 1 ดอลลาร์ ขณะที่ Eura อาจแข็งค่าขึ้นเป็น 1.5 ดอลลาร์ นั่นหมายถึงว่า กรีซ ซึ่งฝืนใช้ค่าเงินเดียวกับ เยอรมัน เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะ ค่าเงินที่เหมาะสมนั้นอาจแตกต่างกันได้ถึง 50%

กลุ่ม PIIGS จะมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่า ค่าเงินจะอ่อนค่าลงในระยะยาว ซึ่งก็จะช่วยให้ภาระหนี้สินเป็น "ยูโร"ของประเทศกลุ่ม PIIGS นั้นด้อยค่าลง พร้อมๆ กับช่วยส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวให้แข่งขันได้ดีขึ้น ช่วยประเทศลูกหนี้เหล่านี้ให้ทำมาค้าขายมีกำไรเพื่อมาลดหนี้ได้ วิธีนี้จะปรับเศรษฐกิจของยุโรปเข้าสู่สมดุลในที่สุด แม้ว่า ประเทศเยอรมัน และประเทศเอเชียที่เป็นเจ้าหนี้ "เงินยูโร" จำนวนมาก อาจต้องมีสินทรัพย์เงินยูโรที่ด้อยค่าลงไปบ้างก็ตาม

ในที่สุดแล้ว ผมคิดว่าค่าเงินที่เหมาะสมสำหรับยุโรป อาจต้องใช้เงินถึง 3 สกุลด้วยกัน Eura,Euri และ Euro เพื่อให้ประเทศที่แข็งแรง กลางๆ และ อ่อนแอ ได้เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ยังมีอีก 11 ประเทศใน EU ที่ยังไม่เข้าในระบบยูโรโซน ก็อาจได้ใช้จังหวะนี้เพื่อโดดเข้าใช้เงิน "สกุลร่วม" 1 ใน 3 สกุล ดังนั้น ทั้งยุโรปตะวันตก ตะวันออก รวมไปถึง แอฟริกาอีกหลายประเทศ อาจเหลือเงินแค่ 3 สกุลนี้เท่านั้น และ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการ "แตกเพื่อโต" ของยุโรป และ ช่วยสร้างต้นแบบที่ดีให้กับค่าเงินในเอเชียด้วย

สำหรับการป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจอันเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น วิกฤติเตกีล่าในเมกซิโก วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย และ วิกฤติในอาร์เจนตินาซึ่งปล่อยให้ค่าเงินแข็งเกินระดับเหมาะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องจนเกิดวิกฤตินั้น แนวคิดของนายไกธ์เนอร์ รมว.คลังอเมริกาถือว่าดีทีเดียว IMF และ WTO ควรมีหน้าที่เข้ามาดูแลประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งด้านได้ดุลและขาดดุลเกินกว่า 3% GDP ติดต่อกัน 3 ปี เพื่อปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมเกิดสมดุลขึ้นได้ หากมีการเตือนภัยเช่นนี้โลกคงลดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ไปได้มาก รวมทั้ง "วิกฤติหมูยูโร" ในครั้งนี้ด้วย

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัญหา ก็คือ ตำราเศรษฐศาสตร์

ปัญหา ก็คือ ตำราเศรษฐศาสตร์

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจโลกตอนนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนขับรถ ไม่ได้อยู่ที่สภาพรถ ไม่ได้อยู่ที่สภาพถนน แต่มันกลับอยู่ที่ "ป้ายบอกทาง" ต่างหาก ลองคิดดูว่า ป้ายบอกทางที่ล้าสมัยและผิดพลาด ชี้บอกว่า "airport" ให้วิ่งไปทางเหนือของ กทม. แทนที่จะชี้ไปทางทิศตะวันออก เพราะ สนามบินระหว่างประเทศย้ายจาก "ดอนเมือง" ไป "สุวรรณภูมิ" นานแล้ว วิ่งกันแบบผิดๆ อย่างนี้ อีกนานเท่าใดจึงจะถึงที่หมาย มีรถหลายคันที่วิ่งชนกันเอง และ ยังมีรถอีกหลายคันที่กำลังจะวิ่งลงเหว

อาจกล่าวได้ว่า หลังจากสมัยของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ "เศรษฐศาสตร์" ซึ่งเป็นวิชาการที่เกี่ยวกับปากท้องความเป็นอยู่ของคนเกือบทั้งโลก แต่การพัฒนาของทฤษฎีแบบมีนัยสำคัญนั้นแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ตรงกันข้ามกับการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ประชากรวิ่งไปอย่างรวดเร็ว เศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาสำคัญของ "สังคมศาสตร์" นั้นมีความแตกต่างกับ "พุทธธรรม" และ "วิทยาศาสตร์" อย่างมาก เพราะ มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของสังคม และ เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ทำให้ทฤษฎีการเงินและการคลังเก่าๆ นั้นใช้ไม่ได้ผลดังเดิม ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเทียบกับวิชาบัญชี หรือ วิชาการลงทุนแล้ว "เศรษฐศาสตร์" ยังมีความสับสนในเรื่องของ stock และ flow อยู่มากทีเดียว

มาลองดูกันที่ "ทฤษฎีการคลัง" ก่อน ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วทั้งญี่ปุ่น อเมริกา และ ยุโรป ล้วนแล้วแต่ติด "กับดักเคนส์" ทั้งสิ้น เป็นภาระหนี้สาธารณะที่แม้จะใส่เงินก้อนโตขาดดุลจำนวนมหาศาล ก็ยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแรง ในเรื่องนี้เอง แม้แต่เจ้าของทฤษฎีเคนส์ เมื่อถูกถามว่าในระยะยาวแล้ว ภาระหนี้สาธารณะที่พอกพูนขึ้นจะเป็นปัญหาหรือไม่ เคนส์ได้ตอบเป็นประโยคดังก้องโลกว่า "ในระยะยาวแล้ว พวกเราทุกคนจะตายหมด" ใช่แล้วครับ เคนส์ได้เสียชีวิตไปแล้ว และ ผู้สร้างหนี้ภาครัฐก้อนโตให้ประเทศพัฒนาแล้ว หลายๆ ท่านก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ปัญหาก็คือ แม้นักวิชาการหรือท่านผู้นำจะเสียชีวิตไป แต่หนี้สาธารณะนั้นยังคงอยู่เป็นภาระให้กับรุ่นลูกหลานอยู่ดี มันไม่ได้หายไปพร้อมๆ กับคนสร้างหนี้นะครับ

ในปัจจุบันมีการพูดถึง 2 ด้านของนโยบายการคลัง ด้านที่ 1 ก็คือ ควรจะขาดดุลการคลังหนักๆ ต่อไปเพื่อพยุงเศรษฐกิจจะดีกว่าไหม ?? ดูเหมือนอเมริกาจะเลือกทางนี้ ส่วนด้านที่ 2 คือ ควรจะรัดเข็มขัดการคลัง โดยยอมให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงบ้างจะดีกว่าไหม ?? ประเทศแถบยุโรปเลือกด้านนี้

เหรียญทั้ง 2 ด้านนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะ ด้านแรกนั้น จะทำให้เกิดหนี้สาธารณะสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดวิกฤติการคลังได้ ส่วนวิธีหลังนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก จนทำให้รายได้ภาษีของรัฐลดลง และรัฐอาจต้องใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนว่างงานมากขึ้น ในที่สุดแล้วจะทำให้การขาดดุลการคลังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) จึงได้เสนอทางออกแบบ "เหรียญด้านที่ 3" เพราะเหรียญไม่จำเป็นต้องอออก "หัว" หรือ "ก้อย" มันอาจจะออก "กลาง" ก็ได้ ซึ่งผมได้นำเสนอไปแล้วในบทความ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น" ซึ่งหลักการก็คือ ให้ลดรายจ่ายภาครัฐในส่วนที่เงินนั้นวิ่งเข้าสู่ stock (กองทุนต่างๆ) แทนที่จะเป็น flow ในการใช้จ่ายบริโภคและลงทุน ซึ่งเงินที่วิ่งสู๋ stock เหล่านั้นมีค่าตัวทวีคูณ (multiplier) ที่ต่ำกว่า 1 เงินขาดดุลการคลังนั้นจึงส่งผลลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่จะเป็นผลบวก

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของ กอช. (กับดักการออมแห่งชาติ) ซึ่งรัฐบาลอาจใส่เงิน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะที่แรงงานนอกระบบใส่เงินสมทบราวปีละ 3 หมื่นล้าน รวมเป็น 5 หมื่นล้านบาท แทนที่เงินจะไหลเป็น flow เพื่อบริโภคและลงทุน และสร้าง GDP 2 เท่าตัวได้ยอดถึง 1 แสนล้านบาท เงินกลับจมอยู่เป็นกองทุนซึ่งอาจได้ผลตอบแทนราว 2% ต่อปีได้ GDP เพียง 1 พันล้านบาท จะเห็นได้ว่าตัวเลขแตกต่างกันถึง 100 เท่าตัว ตัวทวีคูณของโครงการนี้อาจตกอยู่ที่ -5 เท่า ซึ่งต่ำกว่าตัวเลข 1 เท่าอย่างมาก กอช.จะมีภาระผูกพัน 10 ปีเป็นอย่างต่ำก่อนที่จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญ ด้งนั้น โครงการนี้จึงอาจสร้างความเสียหายต่อ GDP ไทยได้ถึง 1 ล้านล้านบาท (ราว 20 เท่าของความเสียหายทางเศรษฐกิจของอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้) น่าแปลกใจไหมครับว่า ทำไม ครม.และสภาฯ จึงผ่านเรื่องแบบนี้มาได้อย่างง่ายดาย ??

การลดเงินสมทบเข้าประกันสังคม และกบข. การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF,RMF รวมไปถึง การยืมพลังของกองทุนบำนาญมาเพื่อช่วยรัฐบาล เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการ "รัดเข็มขัดการคลัง" ที่ส่งผลบวกต่อ GDP ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศยุโรปในกลุ่ม PIIGS และ ญี่ปุ่น อาจต้องเร่งรีบศึกษาเพื่อนำไปใช้เพื่อแก้ไขวิกฤติการคลัง พร้อมๆ ไปกับกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

สำหรับ "ทฤษฎีการเงิน" นั้น ความเชื่อที่ว่า "การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ" และ "การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเร่งเงินเฟ้อ" นั้นเป็นความคิดที่ผิด โดยปัจจัยที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ใช้ไม่ได้เหมือนในอดีต แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้ามก็เพราะ ยังมีแรงสะท้อนกลับอีก 5 แรงที่ทฤษฎีการเงินเดิมๆ มองข้ามไป เช่น ต้นทุนการเงิน รายได้ของนายทุน และ การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติ นอกจานี้ยังมีปัจจัย "LOAD" (Liberalisation, Overcapacity, Aging Society และ Deleveraging) เป็นภาระถ่วงให้แรงกิริยาเดิมส่งผลน้อยลง และ แรงสะท้อนกลับส่งผลรุนแรงยิ่งขึ้น นันหมายถึง การหวังผลให้การลดอัตราดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศตนเองนั้นเกิดขึ้นได้ยาก แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม เกิดภาวะเงินฝืดแทน

และสำหรับ "ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน" นั้น เงินยูโรสะท้อนเรื่องนี้เป็นอย่างดี หลังจากที่ชาวยุโรปเคยภาคภูมิใจกับ "ยูโร"เป็นอย่างมากเชื่อว่าจะช่วยในการค้าและการลงทุนได้อย่างดี แต่แท้ที่จริงแล้ว "ระบบเงินยูโร" คือ ต้นเหตุแห่งหายนะของยูโรโซนในปัจจุบัน กรีซมีอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง ดังนั้น ค่าเงินของกรีซควรจะอ่อนค่าลงในระยะยาว ขณะที่เยอรมันมีดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำ ค่าเงินควรจะแข็งค่าในระยะยาว (International Fisher Effect) แต่ทั้ง 2 ประเทศกลับใช้เงิน "ยูโร" เหมือนกัน นั่นหมายถึง เงินยูโร ควรจะทั้งอ่อนค่า และ แข็งค่า มันจึงเป็น "ความขัดแย้งกันเองของยูโร" (Paradox of Euro) ทางแก้ไขนั้น ก็คือ ควรต้องมีเงินอย่างน้อย 2 ระบบ ผมตั้งชื่อให้ว่า "Eura" เป็นอีกสกุลหนึ่ง ซึ่งควรใช้กับประเทศที่แข็งแรง อย่างเยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฯลฯ ยอมให้เงินยูโร อ่อนค่าลงไป เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ติดหนี้เหล่านี้ให้มีภาระหนี้ที่เบาลง ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการส่งออกและท่องเที่ยวอีกด้วย

การที่ทฤษฎีการเงิน การคลัง และ อัตราแลกเปลี่ยน ชี้ทิศทางที่ผิดๆ อยู่เช่นนี้ จึงสร้างปัญหาต่อการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ เพราะ ผู้กำหนดนโยบายล้วนเรียนมาจากตำราเล่มเดียวกัน เมื่อเชื่อผิดๆ ก็ย่อมดำเนินนโยบายผิดๆ ใน "ตำราเศรษฐศาสตร์" ปัจจุบันจะพบว่ามันสับสน และมีข้อผิดพลาดอยู่เป็นจำนวนมาก นี่อาจเป็นครั้งแรกในแวดวงวิชาการไทย ที่พวกเราได้พบข้อผิดพลาดในเนื้อหาหลักของทฤษฎีระดับโลก นอกจากนี้เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) อาจจะช่วยในการอุดช่องโหว่เหล่านั้น อาจช่วยแก้ไขทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นได้ นั่นอาจหมายถึง ประเทศไทยอาจก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งสัญญาณเตือน และ แนะนำนโยบายเศรษฐกิจด้านต่างๆ ให้กับประเทศยักษ์ใหญ่ รวมไปถึงองค์กรอย่าง IMF และ ECB อีกด้วย

ผมจึงขอเรียกร้องให้นักวิชาการให้รีบเร่งศึกษาในศาสตร์แขนงใหม่นี้ และ ทำการปรับปรุง "ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์" เสียใหม่ เพราะ การขาดดุลการคลังไม่แน่ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ไม่แน่ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นเงินเฟ้อ รีบปรับปรุง "ป้ายบอกทาง" ให้ทันสมัยและถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้รถยนต์ชนกันเอง ช่วยให้รถยนต์ที่วนๆ หลงทิศหลงทางมานานได้ไปสู่เป้าหมายอย่างถูกต้อง และที่สำคัญคือป้องกันไม่ให้รถยนต์วิ่งอย่างเร็วไปที่ริมหน้าผา โดยที่คนขับซึ่งปฏิบัติตาม "ป้ายบอกทาง" นั้นยังหลงดีใจร้องบอกผู้โดยสารอยู่เลยว่า "พวกเรามาถูกทางแล้ว"

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ : ความเชื่อผิดๆ

ดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อ : ความเชื่อผิดๆ

ธนาคารกลางทั่วโลกมีความเชื่อคล้ายๆ กันว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสกัดเงินเฟ้อ และ การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อเพิ่มนั้น....แท้ที่จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น.....

เหตุผลก็คือ แรงกิริยาที่เกิดจาการลด หรือ ขึ้นดอกเบี้ย จะช่วยกระตุ้น หรือชะลอสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้ว ยังมีแรงปฏิกิริยาสะท้อนกลับในทางตรงข้ามถึง 5 แรง ซึ่งผมได้ตั้งชื่อให้ว่า Taiji-Econ.'s Five Forces ดังนี้

1. ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น : หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น เงินเฟ้อจึงสูงขึ้น แทนที่จะชอลตัวลง

2. ผลตอบแทนเงินฝาก : หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วจะส่งผลให้คนระดับนายทุน มีรายได้จากดอกเบี้ยรับสูงขึ้น เพิ่มกำลังซื้อขึ้น จึงทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นแทนที่จะชะลอตัวลง

3. ผลตอบแทนค่าเช่า : การขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการเพิ่ม yield ของค่าเช่าทางอ้อม ทำให้เจ้าที่ดินเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ มีผลตอบแทนค่าเช่าที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ

4. เงินทุนต่างชาติไหลเข้าเพิ่ม : ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาหาผลตอบแทนที่ดีกว่า ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ

5. เงินทุนไหลออกลดลง : ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะทำให้เงินทุนที่ควรจะไหลออกเพื่อไปลงทุนต่างประเทศนั้น ลดลงกว่าระดับที่ควรจะเป็น กระแสเงินในประเทศจึงเหลือมาก เงินจึงเฟ้อ

เมื่อมีผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับแนวคิดเดิม การที่ธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนาขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อเพิ่มแทนที่จะชะลอเงินเฟ้อ และ การที่ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้ว ลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (ดอกเบี้ยมาตรฐาน) และ ดอกเบี้ยระยะยาว (มาตรการ QE) ลง ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงหรือเงินฝืด แทนที่จะเร่งอัตราเงินเฟ้อขึ้น

มี 4 ปัจจัยที่ทำให้แรงกิริยาแบบเดิมๆ นั้นส่งผลน้อยลง ขณะที่แรงสะท้อนกลับส่งผลแรงยิ่งขึ้น ทำให้ทฤษฎีการเงินแบบเดิมๆ ไม่ได้ผลตามคาด แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้ามแทน โดยเฉพาะเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว ผมตั้งชื่อ 4 ปัจจัยนี้ว่า LOAD factors

1. L (Liberalisation) การเงินเสรี รวมไปถึงการค้าการลงทุนเสรีนั้น ทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยลง แทนที่จะไปเพิ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน เงินทุนเหล่านั้นกลับหนีออกไปยังต่างประเทศเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า

2. O (Overcapacity) มีกำลังการผลิตล้นเหลือแทบจะทุกภาคส่วนของโลก ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยลง จึงไม่ไปเพิ่มการลงทุนโดยตรง ไม่เพิ่มการจ้างงาน ไม่เพิ่มเงินเฟ้อ มีแต่จะไปเพิ่มในส่วนของการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรแทน

3. A (Aging Society) สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การบริโภคลดลง ด้วยคนเกษียณมีรายได้ที่ลดลง พร้อมๆ ไปกับวิถีชีวิตที่บริโภคลดลงตามวัยด้วย การลดอัตราดอกเบี้ยลง กลับทำให้รายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากของคนกลุ่มนี้ลดลง ทำให้กำลังซื้อ และ เงินเฟ้อของประเทศชะลอตัว

4. D (Deleveraging) ประเทศพัฒนาแล้วมีการสร้างหนี้อย่างมากในอดีต จำเป็นต้องมีการลดภาระหนี้สินลง ดังนั้น การลดดอกเบี้ยลงเพื่อหวังกระตุ้นสินเชื่อจึงหวังได้ยาก

LOAD factors นี้เอง ทำให้ผลของทฤษฎีการเงินแบบเดิมๆ ไม่เห็นผล แต่แรงสะท้อนกลับยิ่งส่งผลที่มากขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นสิ่งที่ผิดพลาดทั้งหมด

นี่เป็นการค้นพบว่า “โลกกลม” ในทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ ขณะที่คนของธนาคารกลางทั่วโลก เห็นว่า “โลกแบน” ที่จริงแล้วคงไม่ถึงขนาดนั้น.... เพราะว่า ระดับเด็กประถม หรือ ชาวบ้านธรรมดาก็เข้าใจได้อย่างถูกต้องและง่ายดาย ลองไปถามดูสิครับว่า “หากแม่ค้าต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับนายทุนนอกระบบสูงขึ้น ข้าวของในตลาดจะแพงขึ้นหรือว่าถูกลง” ผมเชื่อว่า แทบจะทุกคนตอบได้อย่างสบาย และ สำหรับเด็กประถมศึกษา ดูจากสมการ อัตราดอกเบี้ย (nominal rate) = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rate) + เงินเฟ้อ (infloation) ดังนั้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย....นั่นหมายถึง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั่นเอง เรื่องง่ายๆ เด็กๆ

แล้วทำไมเรื่องง่ายๆ ที่ชาวบ้านก็เข้าใจได้ถูกต้อง แต่ระดับผู้บริหารธนาคารกลางจึงเข้าใจผิดไปได้ ประเด็นอยู่ที่ “ตำราเศรษฐศาสตร์” ไงครับ พวกท่านเหล่านั้นเรียนตำราเล่มเดียวกัน จึงบริหารตาม “ภูมิปัญญาตำรา” ของเศรษฐศาสตร์การเงินที่บกพร่อง ขณะที่ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” นั้นถูกต้องดีอยู่แล้ว ในอนาคตของเนื้อหาบทความนี้ถูกไปเสริมในทฤษฎีการเงินมหภาคก็อาจจะช่วยให้เข้าใจได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

ทางแก้ไขก็คือ ธนาคารกลางทั่วโลกต้องรีบดำเนินนโยบายแบบ “ย้อนศร” กับแบบเดิม ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง ญี่ปุ่น อเมริกา ซึ่งพยายามลดดอกเบี้ยมาหลายปี แต่อัตราเงินเฟ้อก็ต่ำมากๆ ต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเร่งเงินเฟ้อ และ ขายพันธบัตรที่ธนาคารกลางสะสมเอาไว้จำนวนมาก (Anti-QE) อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะสั้นและยาว จะไปเพิ่มต้นทุนทางการเงิน กระตุ้นเงินเฟ้อ จะดึงดูดเงินต่างชาติเข้ามา และเงินจะไหลออกลดลง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอย่าง อินเดีย และ เวียดนาม ซึ่งขึ้นดอกเบี้ยมาเป็นปีแล้ว แต่เงินเฟ้อก็ยังสูงระดับ 8-9% มาตลอดเช่นกัน ต้องรีบลดอัตราลงมาเพื่อลดต้นทุนการเงิน ลดเงินเฟ้อลง ชะลอเงินไหลเข้าจากต่างชาติ

เรื่องแบบนี้อาจดูขัดกับความรู้สึกของผู้กำหนดนโยบาย แต่เป็นเรื่องธรรมดามากๆ ของชาวบ้าน น่าสงสัยว่าจะมีธนาคารกลางของประเทศใดบ้าง ที่จะเปลี่ยนความเชื่อแบบผิดๆ แบบเดิมๆ ทิ้งเสีย เดินหน้านโยบาย “ย้อนศร” กับของเดิม เพื่อนำพาเศรษฐกิจโลกไปยังทิศทางที่ถูกต้องได้..... ขอเรียกร้องให้ ธปท.เริ่มก่อนเลยดีไหมครับ ???

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

QE สเตียรอยด์การเงิน

QE สเตียรอยด์การเงิน

Quntitative Easing หรือ QE นี้เองที่อเมริกาได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือพิเศษทางนโยบายการเงิน รอบ 2 นี้ใช้เงินราว 6 แสนล้านเหรียญ สรอ. เพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อหวังช่วยกระตุ้นสินเชื่อ และ เพิ่มเงินเฟ้อ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว QE ก็เสมือนกับ สเตียรอยด์ ซึ่งจะใช้ก็ต่อเมื่อ
1. ยามาตรฐานใช้ไม่ได้ผลแล้ว คือ นโยบายการเงินแบบเดิมๆ นั้นกดอัตราดอกเบี้ยเฉียดศูนย์แต่ก็ยังไม่เห็นผลดีนัก
2. ได้ผลระยะสั้น แต่เสียหายระยะยาว คือ เห็นผลการรักษาได้ดีในระยะสั้น แต่ทำให้สุขภาพเสียหายอย่างหนักในระยะยาว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ???

ก็เพราะ การพยายามทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำลง และ เพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน ไม่ถูกนำไปเป็น flow หรือ สินเชื่อซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง แต่กลับไปเพิ่มเป็นเงินสดส่วนเกิน เมื่อผลตอบแทนที่แท้จริง (real rate) ไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายถึง....การทำเช่นนี้ในระยะยาวแล้ว กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม คือ ทำให้อัตราเงินเฟ้อนั้นต่ำลง จนเข้าสู่สภาวะเงินฝืดได้ง่ายๆ และ เป็นการติดกับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap)

และ เมื่อดูที่ International Fisher Effect Thoery ก็ชี้ให้เห็นว่า ในระยะยาวแล้ว ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ จะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำด้วย และ ส่งผลให้ค่าเงินมีแนวโน้มที่แข็งขึ้นเพื่อชดเชยส่วนนี้ คล้ายกับกรณีของประเทศญี่ปุ่น ต้นตำรับของ QE คือ ในช่วงแรกๆ เมื่อภายในประเทศให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำ เงินก็จะไหลออกนอกประเทศมาก ทำให้ค่าเงินอ่อนลงสักระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเงินถูกนำคืนกลับพร้อมด้วยผลกำไรจากอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่สูงกว่า และ กำไรค่าเงินอีกส่วน รวมกันกลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด ก็จะกลับทำให้ค่าเงินนั้นแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

จะเห็นว่า จุดมุ่งหมายของ QE เพื่อทำให้ค่าเงินอ่อนและเกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น....สุดท้ายแล้วในระยะยาว มันกลับส่งผลในทางตรงข้าม เนื่องจากไม่สามารถไปกระตุ้นการเพิ่มสินเชื่อได้ เนื่องจากดีมานด์ที่อ่อนแอ ดังนั้น เงินเหล่านั้นจึงเปลี่ยนสภาพเป็นเงินลงทุนไปยังต่างประเทศแทน รวมไปถึงเงินเก็งกำไรในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ และ ในที่สุดเมื่อเงินต้น พร้อมผลกำไรจากดอกเบี้ย และ ค่าเงิน กลับสู่แหล่งเดิม ค่าเงินกลับมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะยาว พร้อมๆ กับ สภาพเงินฝืดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงนี้...แทนที่จะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นศก. กลับทำให้ผลตอบแทนทุนลดลง ประชาชนที่หวังผลตอบแทนที่แท้จริงเท่าเดิมแล้ว...ผลก็คือ สภาวะอัตราเงินเฟ้อกลับลดลง จนเดินเข้าสู่ภาวะเงินฝืด พร้อมๆ กับแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากระแสเงินลงทุนที่ไหลย้อนกลับมา .... นี่จึงเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะ เป็นผลที่ตรงกันข้ามกับที่หวังไว้แต่แรกของการทำ QE จึงได้ตั้งชื่อสิ่งนี้ไว้ว่า "สเตียรอยด์การเงิน"

วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Taiji-Econ. สอนแก้บาทแข็ง

Taiji-Econ. สอนแก้บาทแข็ง

แม้แต่ท่านนายกฯ และ ท่านรมว.คลัง ก็ออกมากล่าวว่า “ไร้หนทางที่จะทำให้บาทอ่อน” ซึ่งความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศไทยนั้นมีอยู่ไม่กี่คนที่รู้วิธีทำให้บาทอ่อนได้ และ หนึ่งในนั้นก็คือผมเอง บทความนี้ผมขออนุญาตแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไปแก้ไม่ได้นั้น เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) แก้ไขได้สบายมาก

หากเป็นวิธีตามสำนักมาตรฐาน (เส้าหลิน) ก็คือ การลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา และ การเข้าแทรกแซงเงินบาท วิธีแรกนั้นผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ หากวิจารณ์กันแบบตรงไปตรงมาแล้ว ต้องถือได้ว่า กนง.ตัดสินใจผิดพลาดที่ขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา และ EU คงอัตราดอกเบี้ยไว้ และ ญี่ปุ่นกลับลดดอกเบี้ยลงมาด้วยซ้ำ ขณะที่ประเทศไทยดำเนินนโยบายในทิศทางที่แตกต่างไปจากประเทศยักษ์ใหญ่ ถือว่าเป็นการแตกแถวและจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่หลวง โดยที่อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่ามีการเร่งตัวขึ้น โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ส.ค.ที่ 64% และ การเพิ่มของสินเชื่อก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่น่ากังวลเลย หาก กนง.จะยืดอกรับความผิดพลาดนี้ด้วยการลดดอกเบี้ยกลับลงไปที่เดิมก็น่าจะเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ

ส่วนการเข้าแทรกแซงตลาดเงินบาทนั้น แม้ไม่ควรจะทำแต่ก็ไม่มีทางเลือก ธปท.ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อประคองค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป แม้จะขาดทุนหลายแสนล้านแต่ก็ทำได้เพียงเท่านี้เอง ความแข็งแกร่งไม่มีทางเอาชนะกองทุนระดับโลกได้ “สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย” คือสิ่งที่ ธปท.ประสบอยู่ แล้วจะมีทางที่ดีกว่านี้ไหม ???

ปัญหาก็คือ เราตั้งโจทย์ผิดมาตลอด มันไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้เงินทุนไหลเข้าลดลง แต่ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรให้เงินไหลออกสุทธิต่างหาก.... ประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายที่จะได้ดุลบัญชีเดินสะพัดราว 2-3% GDP เพื่อช่วยเรื่องการส่งออก และ การจ้างงาน ดังนั้นเพื่อให้เกิดสมดุลของดุลการชำระเงินแล้ว ไทยจึงจำเป็นต้องเป็นประเทศที่ลงทุนสุทธิไปยังต่างประเทศ ไม่ใช่รอรับเงินลงทุนจากต่างชาติ

หลักการของไท้เก๊ก ก็คือ “รักษาสมดุล” “ยืมพลังสะท้อนพลัง” ลองมาติดตามดูกัน
1. “รักษาสมดุล” ของกฎระเบียบแห่งการไหลเข้า และ ไหลออกของเงินตรา ขณะที่เงินเข้านั้นแทบไม่มีข้อจำกัดเลย แต่เงินออกกลับมีข้อจำกัดมากมาย ควรยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมดที่สกัดเงินออก ยอมให้เงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เสรี ทั้งลงทุนโดยตรง พันธบัตร หุ้น เชิญได้เลยเต็มที่ไม่ต้องขออนุญาต ธปท.อีกต่อไป เปิดศักราชของการลงทุนนอกประเทศ

2. “ยืมพลังประเทศจีน” ประเทศไทยควรเป็นคนต้นคิดเชิญประเทศอาเซียนรวมเป็น 10 ประเทศเดินหน้าเข้า “ขอร้อง” ประเทศจีน ให้ยอมเงินหยวนแข็งค่าโดยเร็ว และ เปิดเสรีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และ เกษตรในภูมิภาคอาเซียน
ปฏิบัติการนี้อาจตั้งชื่อได้ว่า “ปฏิบัติการ 10/10/10” คือ อาเซียน 10 ประเทศ เดินหน้าขอร้องจีนในเดือน 10 ปี 2010 นี้ โอกาสสำเร็จน่าจะมีสูงทีเดียว เพราะ ประเทศจีนย่อมต้องการบทบาทการเมืองเป็น “พญามังกรเทพผู้เมตตา” มากกว่า “มังกรไร้เขี้ยวเล็บซึ่งต้องยอมจำนนเพราะถูกพญาอินทรีกดดัน” และ หากไทยทำสำเร็จกับการ “ปลดล็อกกับดักเงินหยวน” บทบาททางการเมืองโลกจะโดดเด่นขึ้นมาก เพราะ สามารถทำในเรื่องที่อเมริกาพยายามมาหลายปีแต่ไม่เห็นผล ขณะที่ไทยอาจใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ แต่กลับทำสำเร็จได้อย่างสวยงาม
การที่จีน เป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และ คู่ลงทุนของไทยนั้น เงินหยวนหากมีการแข็งค่าขึ้น 20% ก็เหมือนกำลังซื้อของโลกจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 3 เท่าของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันไทยดีขึ้น ส่งออกได้ดีขึ้น และ เงินทุนจะเบี่ยงเบนไปโจมตีประเทศจีนแทนอาเซียน

3. “สะท้อนพลัง” : เงินไหลเข้าสุทธินั้นหลักๆ แล้วก็นำมาเพื่อซื้อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจของไทย ดังนั้น หากคิดจะสะท้อนพลังกลับแล้วก็คือ การขายพันธบัตรภาครัฐออกแล้วส่งเป็นเงินลงทุนต่างประเทศออกไป ใครละ..ที่ถือตราสารพวกนี้อยู่เป็นทรัพย์สิน หลักๆ แล้วก็คือ กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ นั่นเอง
วิธีการก็คือ ธปท.ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่กำลังบาดเจ็บสาหัส จำเป็นต้อง “ยืมพลัง” ของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อร่วมกันต่อสู้ในสงครามเงินบาทครั้งนี้
- รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ต้องคืนเงินกู้ต่างประเทศ หรือ ป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของยอดหนี้..... ไทยได้กระสุนแล้ว 2 แสนล้านบาท
- กองทุนบำนาญ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขุนศึก กบข. สปส. สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิต ซึ่งมีเงินทุนถึง 3 ล้านล้านบาท ต้องไปลงทุนในตราสารต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10% ของเงินกองทุน โดยไม่ต้องเฮดจ์ ดังนั้น จะได้กระสุนอีก 3 แสนล้านบาท
- แบงก์พาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์ตราสารต่างประเทศ มากกว่าหนี้สินต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์รวม เราได้กระสุนอีกแล้ว 5 แสนล้าน

รวมๆ แล้วเป็นเงินถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินไหลเข้าสุทธิราว 5 แสนล้านบาท ณ ปัจจุบันอยู่ถึงเท่าตัว กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ธปท. และ รัฐบาล ก็จะขายพันธบัตรของไทยออก และ นำไปซื้อพันธบัตรต่างประเทศแทน ซึ่งอาจเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทย อย่างอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ได้ ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ หากทำสำเร็จตามแผนเงินบาทอาจอ่อนลงจาก 30 บาทเป็น 32 บาท ก็ยังได้จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 7% ด้วย นี่จึงไม่ใช่บังคับให้ไปขาดทุน และ บังคับให้ร่วมกันสู้เคียงข้าง ธปท. เพื่อกำไรที่มากขึ้นต่างหาก

หากบทความนี้มีส่วนช่วยเหลือประเทศไทยได้บ้าง ผมของยกเครดิตความดีทั้งหมด และขอแสดงความคารวะขอบพระคุณปรมาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ท่านแรก คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ในฐานะปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์พลังหยิน ท่านที่ 2 คือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ในฐานะปรมาจารย์แศรษฐศาสตร์พลังหยาง และ ท่านสุดท้าย คือ จางซานฟง ในฐานะปรมาจารย์มวยไท้เก๊ก ผู้สร้างกรอบแนวคิด “รักษาสมดุล” และ “ยืมแรงสะท้อนแรง”

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คิดนอกกรอบ ตอบอย่างเคนส์

คิดนอกกรอบ....ตอบอย่างเคนส์

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 มีการยกย่องให้เป็นผู้กอบกู้ชีวิตของระบอบทุนนิยมเอาไว้เมื่อ 80 ปีก่อน ในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก ด้วยการนำเสนอทฤษฎีเคนส์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เคนส์ได้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยากๆ ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ผมจะลองสวมวิญญาณของเคนส์เพื่อลองตอบโจทย์ปัจจุบันดูบ้าง

1.ชี้จุดอ่อนทฤษฎีเก่า : โจทย์ก็คือ จุดอ่อนของทฤษฎีเดิมๆ คืออะไร ?? สำหรับเคนส์แล้วทฤษฎีเก่าก็คือเศรษฐศาสตร์คลาสสิค การกดดอกเบี้ยจนเหลือศูนย์ก็ยังไม่สามารถจะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ แม้สภาพคล่องจะมีล้นเหลือ เพราะ ความเชื่อมั่นในการลงทุนไม่มี คนว่างงานมีมาก อุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป เคนส์ตั้งชื่อสิ่งนี้ไว้ว่า “กับดักสภาพคล่อง” (Liquidity Trap)

ผมขอชี้จุดอ่อนของทฤษฎีเคนส์ คือ การที่หนี้สาธารณะสูงขึ้นทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก การใส่เงินเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน รวมไปถึงการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญและ ให้หักลดหย่อนภาษีได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการ “คืนพลัง” จาก flow เป็น stock ทำให้ผลของตัวทวีคูณลดลงไปมาก ซึ่งก็คือผลบวกของนโยบายการคลังนั้นหดหายไปแทบจะหมดสิ้น นอกจากนี้การออกพันธบัตรรัฐบาล คือ เป็นการดูดพลังของชนชั้นกลางในประเทศแทนที่จะสามารถบริโภคเพื่อหมุนเศรษฐกิจได้ กลับถูกนำไปสะสมเป็นเงินกองทุนบำนาญซึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสูงราว 70-80% ส่งผลให้กำลังซื้อรวมของประเทศชะลอตัว ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “กับดักเคนส์” (Keynes Trap)

นอกจากนั้นผมคิดว่าปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของทฤษฎีเคนส์ ก็คือ “โครงสร้างประชากร” หากเป็นแบบพิระมิดเหมือนสมัย 80 ปีก่อน ก็มีโอกาสสำเร็จสูง เพราะ เยาวชนจำนวนมากจะเติบโตขึ้น มาเป็นแรงงานเพื่อให้เศรษฐกิจดี และ รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่หากค่าเฉลี่ยอายุประชากรสูงกว่า 40 ปีเสียแล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นน้อยมาก ญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยของประชากรที่ 44 ปี สูงที่สุดในโลก และ มีตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ขณะที่ กรีซ และ อิตาลี นั้น มีทั้ง 2 ค่า อยู่ในระดับ top ten ของโลก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการใช้ทฤษฎีเคนส์ในยุคปัจจุบันกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...น่าจะล้มเหลว

2.คำเตือนเรื่อง paradox : โจทย์คือ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีประชาชนควรออมมากๆ ใช่ไหม ?? เคนส์ได้เตือนในเรื่องของ “ความขัดแย้งของความมัธยัสถ์” (Paradox of thrift) หมายถึงหากแต่ละบุคคลพยายามอดออมประหยัดแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมก็อาจไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้โดยรวมลดลง และ ในที่สุดแล้วจะทำให้การออมโดยรวม รวมไปถึงการออมของแต่ละบุคคลนั้นกลับลดลงนั่นเอง

ขณะที่ผมมองในมุมของ stock ก็จะเรียกว่า “ความขัดแย้งของกองทุนบำนาญ” (Paradox of pension) หมายถึงว่า ในเชิงมหภาค หากประชาชนมุ่งเก็บออมในกองทุนบำนาญมากๆ โดยที่รัฐบาลก็พยายามสนับสนุนทางการส่งเงินสมทบและหักลดหย่อนภาษีแล้ว เศรษฐกิจก็จะมี flow น้อยลงส่งผลลบต่อ GDP อาจทำให้เงินที่เข้ากองทุนบำนาญนั้นน้อยลงในที่สุดเพราะ ทั้งเอกชนและรัฐบาลเหลือเงินน้อยลง หากมองในด้านบุคคลแล้ว การบังคับออมเงินในกองทุนประกันสังคม จะทำให้ผู้ประกันตนรายได้น้อย เงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้เงินดอกเบี้ยโหดทั้งในและนอกระบบ สิ่งนี้จึงไม่ได้ทำให้ผู้ประกันตนมั่งคั่งมั่นคงตามแนวคิดประกันสังคม แต่กลับทำให้ผู้ประกันตนยากจนลงต่างหาก

3. ทฤษฎีใหม่ : โจทย์คือ แล้วจะมีทางแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือไม่ ??? สำหรับเคนส์แล้วสิ่งใหม่นั้นก็คือ ทฤษฎีเคนส์ นั่นเอง ในยุคนั้นถือเป็นแนวคิด “นอกกรอบ” ที่จะให้รัฐบาลกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้แต่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเคนส์ ก็ยังไม่กล้านำมาใช้ ต้องรอให้ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ก่อน ตามมาด้วยอเมริกา เมื่อเห็นผลดีจึงขอตามใช้ด้วย หลังจากนั้นได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่นักการเมืองทั่วโลก ไม่เพียงแต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่านั้น แต่รัฐบาลสามารถนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายเพื่อแจกเงินให้กับประชาชนอันเป็นการเพิ่มคะแนนนิยม นอกจากนั้น เมื่อเงินอยู่บนโต๊ะมากขึ้น ก็หมายถึง โอกาสที่เงินจะตกใต้โต๊ะและเขี่ยเข้ากระเป๋าตัวเองมีมากขึ้นด้วย เมื่อได้ทั้งคะแนนนิยมได้ทั้งเงินใต้โต๊ะ นักการเมืองจึงนิยมเคนส์มากๆ แทบทุกประเทศในโลกจึงใช้ทฤษฎีเคนส์ในช่วงเวลาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเคนส์ได้ทิ้งมรดกปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตเอาไว้ ณ ปัจจุบัน

สำหรับผมแล้ว ทฤษฎีใหม่ก็คือ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taji-Econ.) ด้วยการให้รัฐบาลพยายามรักษาสมดุล โดยยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้งกองทุนบำนาญ แบงก์รัฐ ตลาดสินทรัพย์ คนเกษียณต่างด้าว ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี ฯลฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการเพิ่มหนี้ภาครัฐไปเรื่อยๆ ยืมพลังของสิ่งหยุดนิ่ง (stock) มาเป็น สิ่งเคลื่อนไหว (flow) ด้วยเงินก้อนเดียวกันจะมีผลต่อ GDP ได้มากขึ้นเป็นร้อยเท่าตัว ทฤษฎีเคนส์ก็เหมือนรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้แต่น้ำมัน แต่แนวคิดของ Taiji-Econ. นั้น เสมือนรถไฮบริด ที่ใช้ได้ทั้งพลังงานน้ำมัน และ ยืมพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย จึงส่งให้มีมลพิษ (หนี้สาธารณะ)ที่ต่ำกว่า

4.ผลิตภัณฑ์ใหม่ : โจทย์คือ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงินไหม ??? เคนส์ได้เสนอ “พันธบัตรรัฐบาล” ณ ตอนนั้นแทบไม่มีคนรู้จัก แต่ตอนนี้ก็ใช้กันแพร่หลายมากๆ เป็นตัวเชื่อมการขาดดุลการคลังเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ผมได้เสนอ “สินเชื่อ999” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อิงกับเงินออมในกองทุนบำนาญไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมนั้น ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนได้ 9 ปี จะช่วยสร้าง flow ขึ้นมาจาก stock ได้หลายแสนล้านบาท

และ “พันธบัตรประกันสังคม” (Social Security Bond) โดยแนวคิดสุดขั้วนี้ เพื่อเปลี่ยนสภาพของกองทุนประกันสังคมที่เป็นเจ้าหนี้ให้สามารถเป็นลูกหนี้ได้ ในอนาคตอีก 25 ปี สปส. อาจจะต้องขายสินทรัพย์เพื่อมาจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้ประกันตน แต่แนวคิดนี้จะยอมให้ สปส.กู้เงินในรูปพันธบัตร หรือ กู้ผ่านแบงก์รัฐได้ จะทำให้เกิด flow ขึ้นใหม่จาก สินทรัพย์ของกองทุนประกันสังคม (stock) สินทรัพย์ของ กองทุนประกันสังคมจึงไม่หมดไปเหมือนอย่างที่หลายๆ ฝ่ายกังวลกันไว้

ผมเชื่อว่ามีนักเศรษฐศาสตร์ไม่มากนักที่จะยืนอยู่ “นอกกรอบ” ของสำนักคลาสสิค และ สำนักเคนส์ แต่อย่าลืมว่า หากเคนส์ไม่นอกกรอบ มาถึงวันนี้พวกเราอาจไม่รู้จัก “ทฤษฎีเคนส์” ก็เป็นได้ และหากโลกเราไม่มีนักฟิสิกส์ที่ปราดเปรื่องและกล้าหาญอย่างไอน์สไตน์ ที่นอกกรอบ “กฎของนิวตัน” ในวันนี้ พวกเราอาจจะยังไม่รู้จักพลังงานนิวเคลียร์ และ ทฤษฎีสัมพัทธภาพก็เป็นได้นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2553

3 ปัญหาเศรษฐกิจ 3 วลีฮอต และ 3 ยอดคน

3 ปัญหาเศรษฐกิจ 3 วลีฮอต และ 3 ยอดคน

ปัญหาเศรษฐกิจทั้ง 3 นั้น มี 1 ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากตอนนี้ก็คือ เรื่องของค่าเงินบาทแข็ง เราควรจัดการแก้ไขอย่างไรในแนวทางของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) มาดูกันทีละเรื่องได้เลย

1.ปัญหาวิกฤติการคลัง : เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาหนักสำหรับประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก แต่สำหรับไทยเรายังคงพอรับมือได้ “รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น” เป็นบทความนี้ผมได้นำเสนอไปแล้ว โดยเน้นที่ประเด็นการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้ง กองทุนบำนาญ ตลาดสินทรัพย์ คนต่างด้าวเกษียณ มาเพื่อช่วยรัฐบาลในการสร้างอุปสงค์รวมให้สูงขึ้น แทนการใช้งบประมาณตรงๆ

2.ปัญหาเงินบาทแข็ง..... เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว หากเป็นปัจจุบันก็คือใช้พลังของ ธปท.ล้วนๆ ด้วยการดูแลอัตราดอกเบี้ยไม่ให้เกิดส่วนต่างกับอเมริกามากเกินไป และ เข้าแทรกแซงด้วยการซื้อดอลลาร์และดูดซับสภาพคล่องด้วยการออกพันธบัตร ธปท. และ กู้เงินจากแบงก์พาณิชย์เป็นบาท ซึ่งดร.โกร่งได้เสนอไว้นั้น แนวคิดแรก็สมควรทำอยู่นะครับ แต่แนวคิดหลังนั้นทำไม ธปท.ไม่ยิ้มรับ คำตอบนั้นง่ายๆ ก็คือ ธปท.เคยสู้มาแล้ว เคยแพ้มาแล้ว เคยเจ็บมาแล้ว ขาดทุนแล้วหลายแสนล้านบาท นี่คือ แนวคิดแบบ “มวยเส้าหลิน” คือ สู้กันตรงๆ วัดที่ความแข็งแกร่ง และ ธปท.ก็รู้ว่าเอาชนะสารพัดกองทุนระดับโลกไม่ได้ สู้แพ้มาตลอด สินทรัพย์เป็นเงินต่างประเทศก็ด้อยค่าลง หนี้สินที่เป็นเงินบาทกลับแข็งค่า มีหนี้สินกับแบงก์พาณิชย์นั้นสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท เฉพาะดอกเบี้ยธปท.ก็ต้องจ่ายเป็นเงินถึงปีละ 5 หมื่นล้าน สูงกว่าดอกเบี้ยรับอย่างต่อเนื่อง และ ส่วนทุนของแบงก์ชาติก็ติดลบไปเสียแล้ว ถ้าเป็นบริษัทก็เรียกได้ว่า เกือบๆ ล้มละลาย ถ้าเป็นคนก็เข้าขั้นบาดเจ็บสาหัสอาการปางตาย ดังนั้น การต่อสู้ในสมรภูมิเงินบาทครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยผู้ส่งออก และ เกษตรกรเท่านั้น ยังช่วยชีวิต ธปท.ไว้ด้วย หากเงินบาทอ่อนลง 3% ก็จะทำให้ส่วนทุนของ ธปท.สูงขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท และแนวคิดแบบไท้เก๊กอาจจะช่วยเรื่องนี้ได้

ด้วยหลักการของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก ก็คือ การยืมพลังสะท้อนพลัง ในเมื่อกองทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาซื้อตราสารหนี้โดยเฉพาะของภาครัฐเป็นจำนวนมาก ธปท.ควรจะยืมพลังจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ รวม 5 นิ้วเป็น 1 ฝ่ามือเพื่อสะท้อนพลังกองทุนต่างชาติกลับไป เมื่อดู 5 มาตรการที่ประกาศออกมานั้น คือ ยืมพลังภาคเอกชนแบบขอร้องให้ช่วยๆ ธปท.หน่อย แต่ดูเหมือนว่าไม่น่าจะได้ผลดีนัก ธปท.ควรต้องยืมพลังของอีก 3 ฝ่ายมาให้ได้

1. ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ คืนเงินกู้ต่างประทศ หรือ ป้องกันความเสี่ยง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของหนี้สินต่างประเทศทั้งหมดก่อนสิ้นปี 54 เงิน 2 แสนล้านก็พร้อมไหลออกมาสู้

2. ให้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศของกองทุนบำนาญไปเลย ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับนานาชาติ ก่อนสิ้นปี 54 และ ต้องไม่มีการเฮดจ์ใดๆ ทั้งสิ้น จะทำให้เงินราว 3 แสนล้านบาทพร้อมไหลออกมาสู้

3. ยืมพลังแบงก์พาณิชย์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ ธปท.มาช่วย โดยกำหนดให้ต้องลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่มีการเฮดจ์ เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์รวม ดังนั้น เราจะได้เงินไหลออกอีก 5 แสนล้านก่อนสิ้นปีหน้า

ด้วยหลักการยืมพลังแบบไท้เก๊กเช่นนี้เอง กำหนดให้ก่อนสิ้นปีนี้ดำเนินมาตรการไปอย่างน้อยครึ่งทาง ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังนักเก็งกำไรว่า เงินบาทไม่จำเป็นต้องมีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ทางเดียว อาจจะอ่อนค่าลงก็ได้ เพราะ มีเงินไหลออกแน่นอน 5 แสนล้านก่อนสิ้นปีนี้ และ 1 ล้านล้านบาทก่อนสิ้นปีหน้า ซึ่งก็เป็นเงินที่มากพอจะทำให้นักเก็งกำไรต้องหยุดคิดหลายตลบอยู่เหมือนกัน

3.ปัญหากองทุนประกันสังคมมีเงินทุนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วจะมีปัญหาแน่ในอีก 10 ปี ขณะที่ไทยคงมีปัญหาอีก 30 ปีข้างหน้า ก็อาจใช้แนวคิดที่ “สุดขั้ว” ไปบ้าง แต่ความจริงแล้ว “สุดขั้ว” ก็คือ คำแปลของ “ไท้เก๊ก” (Taiji) เป็นภาษาไทยนั่นเอง จากมีแนวคิดปัจจุบันที่เสนอให้เพิ่มอัตราเงินสมทบ ลดเงินบำนาญจ่าย หรือ ยืดอายุการเกษียณออกไปนั้น ผู้ประกันตนจะไม่พอใจได้......ทางแก้ไขก็คือ แนวคิดให้กองทุนประกันสังคมยืมเงินจากแบงก์รัฐ สร้างหนี้สินต่อทุนได้ไม่เกิน 1 เท่า จากสภาพ “เจ้าหนี้” ณ ตอนนี้ก็ยอมให้เป็น “ลูกหนี้” ได้ สปส.อาจกู้เงินได้ถึง 7 แสนล้าน ด้วยวิธีเช่นนี้จะเป็นการเพิ่ม flow ให้เกิดขึ้น เพื่อมาจ่ายเงินบำนาญให้ผู้เกษียณอายุได้โดยที่เงินทุนยังเพียงพอ นอกจากนี้ยังนำเงินไปเพิ่มสินทรัพย์ เพิ่มผลตอบแทนได้อีกด้วย แม้ในช่วงแรกภาระในการจ่ายเงินบำนาญจะสูงขึ้น แต่ในที่สุดแล้วโครงสร้างประชากรจะทรงตัว และ ภาระเงินบำนาญจะลดลงในที่สุด ดังนั้น สปส.น่าจะสามารถคืนเงินกู้ได้อย่างไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ผมขอยอมรับว่าทึ่งในความลึกล้ำเคล็ดไท้เก๊กมากๆ เพราะแนวคิดแก้ปัญหาข้อ 2-3 นั้นซึ่งติดค้างอยู่หลายปีนั้น ได้มาจากเคล็ดวิชาไท้เก๊กในภาพยนตร์จีน 18 ปีก่อน “มังกรไท้เก๊ก” (Tai Chi Master) ที่มีโอกาสมาดูอีกครั้ง จางซันฟง (แสดงโดย Jet Li) ปรมาจารย์ไท้เก๊ก ได้พูดกับตัวเองว่า “รักษาสมดุล” “ยืมแรงผลักดัน” และ “นิ่งคือขยับ ขยับคือนิ่ง” นี่แหละคือ 3 วลีสำคัญยิ่ง ท่านผู้อ่านลองไปดูผ่าน youtube แล้วอาจค้นพบสิ่งดีๆ และพูดแบบพระเอกในเรื่องก็ได้ว่า “รู้สึกว่าข้าคิดอะไรขึ้นมาได้นะ...” และ “อะไร” นั่นก็คือ “มวยไท้เก๊ก” อันโด่งดังที่คิดขึ้นมาได้เพื่อโค่นศัตรู ซึ่งเป็นอดีตเพื่อนซี้ที่ถูกขับออกจากสำนักเส้าหลินด้วยกัน แต่ผู้ร้ายเห็นแก่ลาภยศจึงทรยศหักหลังเพื่อน ก่อนที่จะค้นพบมวยไท้เก๊ก จางซันฟงเคยใช้มวยเส้าหลินสู้...แต่ก็เอาชนะไม่ได้

หากแนวคิดเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ถูกนำไปต่อยอดและนำไปใช้ปฏิบัติแก้ไขปัญหาได้ผลดีจริง บางทีพวกเราควรจะต้องคารวะขอบคุณ 3 ยอดคนนี้ ท่านแรกคือ เล่าจื๊อ ปรมาจารย์แห่งปรัชญาเต๋า ท่านที่ 2 คือ จางซันฟง ปรมาจาย์แห่งมวยไท้เก๊ก และ ท่านที่ 3 ก็คือ.... สุดยอดจอมยุทธนักแสดง... Jet Li ไงละครับ

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

จุดอ่อนเศรษฐศาสตร์

จุดอ่อนเศรษฐศาสตร์ : ขาดเชื่อมโยง stock และ flow

จุดอ่อนของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีปัญหามาจนถึงปัจจุบันก็เพราะว่า เศรษฐศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่เน้นหลักเฉพาะในเรื่องของ flow เท่านั้น คือ Y=C+I+G+(X-M) ซึ่งเป็นสมการของ GDP นั้น ตัวแปรแต่ละตัวล้วนเป็น flow ทั้งสิ้น และ การขาดการเชื่อมโยงนี้เองทำให้เป็นปัญหาได้

เช่น รัฐบาลยามใช้นโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประชาชนบริโภคและลงทุนเพิ่มขึ้น (เพิ่ม C และ I) อย่างไรก็ดี บางครั้งก็อาจมองข้ามฟองสบู่ของราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ (Stock) ไปได้หลายครั้ง เหมือนกรณีฟองสบู่อสังหาฯ และ หุ้นแตกในญี่ปุ่น และ อเมริกา

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ที่ได้ทำการเชื่อมโยง stock เข้ากับ flow โดยเสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตร (Stock) กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภาครัฐ (G) ไม่เพียงเท่านั้น นโยบายกึ่งการคลังที่เน้นพึ่งแบงก์รัฐ ก็เชื่อมโยงการเพิ่มสินเชื่อ (Stock) เพื่อให้เงินเหล่านั้นแปลงสภาพไปเป็นการใช้สอยของภาคเอกชน (C และ I)

นอกจากนั้นก็มีการพูดถึง wealth effect อยู่บ้าง โดยเชื่อมโยงราคาสินทรัพย์ (stock) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เชื่อมโยงกับการบริโภค (flow) ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี การเชื่อมโยงระหว่าง กองทุนบำนาญ กับ GDP ยังมีอยู่น้อยมาก เช่น การลดการสมทบเข้ากองทุนบำนาญ การให้กองทุนบำนาญจ่ายผลประโยชน์เร็วขึ้นมากขึ้น การให้สินเชื่อโดยอิงกับกองทุนบำนาญเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น เป็นการยืมพลังของ Stock เพื่อไปเพิ่ม flow ของการบริโภคและลงทุน ยังมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้อยู่น้อยมาก ไม่เพียงเท่านั้น การเชื่อมโยงระหว่าง stock ด้วยกันเอง ก็มักถูกมองข้าในศาสตร์นี้ด้วยเช่นกัน เช่น การที่พันธบัตรรัฐบาลเพิ่มมากนั้น มองมุมหนึ่งเกิดจากภาครัฐใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ แต่มองอีกมุมหนึ่ง คือ สินทรัพย์ของกองทุนบำนาญนั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐ ... นั่นคือ สินทรัพย์ของภาคเอกชน เป็นตัวเพิ่มหนี้สินให้กับภาครัฐบาล และ เป็นตัวดูดทำให้กำลังซื้อ (flow) ของภาคเอกชนนั้นลดลง

ในด้านของปัจเจกบุคคล ความรวยความจน ประเมินจากรายได้ หรือ ความมั่งคั่งกันแน่ ตัวแรกคือ flow ส่วนตัวหลังคือ stock ยังมีความสับสนในเรื่องนี้อยู่มากว่า ประชาชนที่ติดหนี้สินอยู่มาก แต่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง เช่นนี้จะถือว่าร่ำรวยหรือยากจน ???

เมื่อเทียบกับศาสตร์ด้านการบัญชี จะมีการเชื่อมโยงของ 2 สิ่งนี้ได้ดีกว่า เช่น หากอยากจะกำไรเพิ่ม (flow) ก็ขายสินทรัพย์ (stock) ออกบางส่วนเป็นกำไรพิเศษ หรือ หาทางเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ (stock) เพื่อให้หนี้สินลดลง ก็จะได้กำไรพิเศษเพิ่มขึ้นมาได้

สำหรับการลงทุนหุ้นนั้น การอธิบายราคาหุ้น (stock) ก็ใช้ทางจากส่วนที่เป็น stock ในลักษณะของ Book Value (BV) และ Net Asset Value (NAV) มาอธิบายราคาหุ้นได้ ในเวลาเดียวกันก็ใช้ส่วนที่เป็น flow เช่น กำไรต่อหุ้น การเติบโตของยอดขายและกำไร มาช่วยอธิบายด้วยเช่นกัน

เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ถูกคิดขึ้น เพื่อปิดจุดอ่อนของเศรษฐศาสตร์ในส่วนนี้ จะมีการยืมพลังของ stock มาช่วย flow เพื่อพลังให้กับ GDP ได้หลายร้อยเท่าตัว เช่น หากเก็บเงินฝากไว้ในแบงก์ดอกเบี้ย 1%จะได้ GDP 1 บาทจากเงิน 100 บาท แต่หากนำเงินนั้นมาใช้จ่ายหมุนได้ 3 รอบ ก็อาจสร้าง GDP ได้ถึง 300 บาท จะเห็นว่าแตกต่างกันถึง 300 เท่าตัว เมื่อ GDP เพิ่มประชาชนรายได้สูงขึ้น เริ่มเก็บออมได้มากขึ้น ก็ค่อยนำเงินนั้นกลับเป็น stock เพื่อสะสมเพิ่มได้อีก

ประเทศพัฒนาแล้ว กำลังติดกับดักเคนส์ จนหนี้สาธารณะท่วมหัว ไม่สามารถใช้นโยบายการคลังไปเรื่อยๆ ได้นานนัก จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ ด้วยการยืมพลัง stock มาช่วย flow ก็จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ครับ

วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการเศรษฐีไทยผู้ใจบุญ

โครงการเศรษฐีไทยผู้ใจบุญ และ คนไทยใจอาทร

หลังจากได้อ่านข่าวเรื่องของมหาเศรษฐีโลก นำโดยวอเรน บัฟเฟต์จะพยายามระดมทุนจากมหาเศรษฐี 40 คนเพื่อบริจาคให้กับสาธารณกุศลเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ ยังมีข่าวของการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นเงินถึง 4.9 หมื่นล้าน ทำให้รายรับการคลังของไทยดีกว่าคาดไปมาก รวมไปถึงข่าวการประกาศชื่อของมหาเศรษฐีไทย 40 อันดับแรกโดยฟอร์บส์อีกด้วย ทำให้เกิดความคิดหนึ่ง

มันเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะจัดโครงการที่ทำให้โลกต้องสนใจตื่นเต้นบ้าง เป็นโครงการที่แสดงความเอื้ออาทรต่อกันของคนไทยด้วยกัน และแสดงถึงความเป็นห่วงต่อลูกหลานในอนาคตอีกด้วย

1. “เศรษฐีไทยผู้ใจบุญ” ด้วยการชักชวนให้คนระดับเศรษฐีของไทยบริจาคเงินไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท รัฐบาลจะจัดทำเหรียญทองคำสลักชื่อให้ พร้อมกับมอบสิทธิประโยชน์ของภาครัฐเล็กๆ น้อยๆ ด้วยบัตร VIP ไม่ต้องรอคิวเมื่อไปทำธุระที่สถานที่ราชการ สามารถพักห้องพิเศษเมื่อรักษาในโรงพยาบาลของรัฐได้ฟรี รวมไปถึงการได้อัพเกรดตั๋วโดยสารการบินไทยฟรี เหล่านี้เป็นต้น เชื่อว่าอาจมีคนระดับเศรษฐีถึง 300 คนมาร่วมบริจาคได้เงินถึง 3 หมื่นล้านซึ่งก็อาจจะดูดีกว่า การยึดเงินจากคนเพียงหนึ่งคนที่เขาไม่ยินดีจะมอบให้แก่ประเทศไทย

2.”คนไทยใจอาทร” เป็นการมอบเหรียญเงินสลักชื่อให้กับคนไทยที่บริจาคเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยสิทธิประโยชน์ก็อาจเหลือเพียงประกาศชื่อใน นสพ. พร้อมแจกบัตรเงิน VIP ไม่ต้องรอคิวในสถานที่ราชการเท่านั้น อาจระดมเงินได้จากโครงการนี้ราว 2.5 หมื่นล้าน

เมื่อรวม 2 โครงการนี้ก็อาจได้เงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงกับสวัสดิการรัฐ 3 เรื่อง ที่ให้เบี้ยยังชีพคนชรา เบี้ยยังชีพคนพิการ และ เรียนฟรี 15 ปี ซึ่งดูแลช่วยเหลือประชาชนรวมกันถึง 18 ล้านคน เทียบได้กับการเป็นมูลนิธิขนาดยักษ์ใหญ่บริหารโดยรัฐบาลได้เช่นกัน

หากมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย ท่านเจ้าสัวซีพี จับมือกับท่านรมว.คลัง ประกาศว่าจะเข้าร่วมโครงการ “เศรษฐีไทยผู้ใจบุญ” แน่นอน พร้อมสนับสนุนโครงการแบบนี้เต็มที่ ก็น่าจะสร้างความตื่นเต้นยินดีต่อโครงการนี้ของคนไทยดังไประดับโลกได้เป็นแน่แท้ อาจเห็นผลดีของโครงการได้ถึง 9 ประการดังนี้

1. เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ : คนรวยบริจาคเงินออกมาก็รวยน้อยลงนิด ให้คนจนรวยขึ้นหน่อย
2. เป็นการสร้างความสามัคคีและเอื้ออาทร : เกิดความรักสามัคคีในหมู่ประชาชนคนไทย
3. สร้างภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทย : ให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลก เพื่อแก้ไขภาพพจน์เสียๆที่ผ่านมา จะแสดงถึงว่าคนไทยนั้นรักสามัคคีกัน และมีความเอื้ออาทรต่อกันเพียงใด
4. ภาพพจน์ของนายทุนดีขึ้น : จากการเอาเปรียบพยายามสูบเอาแต่ผลประโยชน์จากสังคม ก็คืนกำไรส่วนนั้นกลับสู่สังคมไปบ้าง
5. โฆษณาบริษัทฟรีๆ : กิจกรรมแบบนี้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม CSR หากเจ้าสัวซีพี เข้าร่วมโครงการ ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทในกลุ่มซีพีไปด้วยเช่นกัน ที่มีภาพพจน์การเอื้อเฟื้อต่อคนไทยด้วยกัน และโครงการแบบนี้รับนิติบุคคลด้วยเช่นกัน บริษัทขนาดยักษ์ใหญ่นอกจากเสียภาษีตามกฎหมายแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อประชาสัมพันธ์บริษัทแบบ CSR เช่นนี้ได้ด้วย
6. ภาพพจน์ของนักการเมืองดีขึ้น : นักการเมืองที่เข้าร่วมโครงการ จะมีภาพพจน์ที่ดีขึ้น แทนที่จะเอาประโยชน์จากงบประมาณเท่านั้น โครงการเช่นนี้นักการเมืองยังมีโอกาสได้ใส่เงินคืนกลับรัฐบาล หาเสียงกันได้อย่างถูกกฎหมาย และ ดูดีมากๆ ในสายตาประชาชน ท่านรมว.คลังกรณ์ แทนที่จะมีฉายา “นักสู้กู้สิบทิศ” ก็อาจกลายเป็น “ขุนคลังไทยผู้ใจบุญ” แทนก็ได้
7. ประสิทธิภาพการบริจาคสูง : รัฐสวัสดิการนั้นมองอีกมุมก็คือ มูลนิธิขนาดยักษ์ใหญ่ที่บริหารโดยภาครัฐ เมื่อมีขนาดใหญ่ต้นทุนการบริหารจัดการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินช่วยเหลือก็จะต่ำ แค่โอนเงินเข้าบัญชี....เงินถึงมือผู้รับเต็มเม็ดเต็มหน่วย เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก
8. ลดภาระหนี้การคลัง : แน่นอนการได้เงินระดับ 5.5 หมื่นล้านซึ่งเป็นเป้าหมายของการระดมเงินบริจาคครั้งนี้ จะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะได้ เพราะ ช่วยให้รัฐบาลขาดดุลการคลังลดลงไปไม่น้อยเลย
9. กระตุ้นเศรษฐกิจได้ : เงิน 100 บาทหากอยู่ในมือเศรษฐีเงินนี้คือ stock จะไปฝากกับแบงก์ได้ GDP ซึ่งคือดอกเบี้ย 1 บาท ขณะที่เงินนี้หากเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือคนจน stock จะเปลี่ยนเป็น flow เกิดการใช้จ่าย GDP อาจเพิ่มได้ถึง 300 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 300 เท่าตัว นี่ก็คือเคล็ดวิชาของไท้เก๊ก หรือ “สี่ตำลึงปาดพันชั่ง” นั่นเอง

ก็ขอฝากให้รัฐบาลได้รีบเร่งดำเนินโครงการคล้ายๆ แบบนี้โดยด่วน เพราะเป็นโครงการที่ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึง 9 ตัว แถมด้วยบทสัมภาษณ์ของคนแก่ “ยายขอบใจเศรษฐีไทยผู้ใจบุญทุกคนที่ช่วยสนับสนุนให้ยายมีเงินใช้ทุกเดือน” บทสัมภาษณ์ของเด็ก “หนูขอขอบคุณเศรษฐีไทยผู้ใจบุญทุกท่าน ที่ช่วยสนับสนุนการศึกษา แถมยังช่วยลดภาระหนี้ในอนาคตให้อีกด้วยคะ” บทสัมภาษณ์ของคนพิการ “ดิฉันขอขอบคุณเศรษฐีไทยผู้ใจบุญทุกท่าน ที่ช่วยสนับสนุนให้มีเงินใช้จ่ายได้ มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตต่อไปคะ” หากประสบความสำเร็จได้ดีตามคาด ผมจะได้นำเอาไปบรรจุไว้เป็น 1 ใน 18 กระบวนท่าเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ต่อไป ผมรอดูผลอยู่นะครับ

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

จาก ทุนนิยมและเชิงพุทธ รุดสู่ ไท้เก๊ก

จากทุนนิยมและเชิงพุทธ…รุดสู่ไทเก๊ก

บทความนี้จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงแนวคิดปรัชญา เป้าหมาย และ เงินบำนาญ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ และ เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สำหรับผมแล้ววิชาการต่างๆที่เรียนในระดับปริญญาตรี คือ เรื่องของ “เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม” แต่ผมได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ” และล่าสุด 2 ปีที่ผ่านมานี้ได้คิดค้น “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” (Taiji-Econ.) ทั้ง 3 เรื่องมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนี้

1. ปรัชญาที่สนับสนุนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม นั้น ยึดหลักจากปรัชญาตะวันตก อิงกับศาสนาคริสต์เป็นหลัก ต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ หากผู้คนศรัทธาในพระเจ้า ตั้งใจเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน ตั้งใจเก็บออมเงินแล้ว มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว พระเจ้าย่อมดลบันดาลให้ร่ำรวยและมีความสุขได้อย่างแน่นอน

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ นั้นชัดเจนว่ายึดหลักปรัชญาขั้นสูงสุดของอินเดีย คือ พุทธศาสนา เน้นการลดละเลิก ความสมถะไม่สะสมเงินทอง เน้นการไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก ยึดหลักปรัชญาขั้นสูงของจีน คือลัทธิเต๋า รักษาสมดุลแห่งหยิน-หยาง การยืมพลังสะท้อนพลัง

2. ความโลภ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม มองความโลภเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายนัก จะช่วยให้คนได้ตั้งใจพยายามทำงาน ตั้งใจเก็บออมลงทุน เพื่อสะสมสินทรัพย์สร้างความมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามนุษย์มีความโลภไม่จำกัด แต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดเราจึงต้องหาวิธีจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในบางครั้งความโลภที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการเก็งกำไรเกินควรจนก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ มองความโลภเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็น 1 ในกิเลส 3 ประการที่สำคัญ การควบคุมดูแลความโลภจึงเป็นเรื่องที่ควรจะต้องกระทำอันดับแรก เมื่อความโลภน้อยก็จะบริโภคน้อยแต่มีความสุขได้

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก มองโลกตามความเป็นจริงว่า ประชาชนไม่ใช่พระโสดาบัน ความโลภในหมู่ประชาชนนั้นมีอยู่จริง ต้องหาวิธีการดูแลผ่านนโยบายต่างๆ เพื่อให้ “ความโลภ” อยู่ในระดับเหมาะสม

3. เป้าหมาย
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เน้นเป้าหมายที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคมากๆ คือความสุข ความมั่งคั่งคึกคักร้อนแรง คือ เป้าหมายแบบพลัง “หยาง”

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เน้นเป้าหมายที่การบริโภคน้อย แต่ดำรงชีพอย่างมีความสุข เบียดเบียนโลกให้น้อย เน้นการลดละเลิก นิ่งสงบเย็น แม้ว่าอาจส่งผลลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้ เหล่านี้ล้วนเป็น เป้าหมายแบบพลัง “หยิน”

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก คือ มีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลแห่ง “หยิน-หยาง” นั้น

4. เงินกู้และเงินบำนาญ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม จะให้การลดหย่อนภาษีกับการออมของเศรษฐี ขณะเดียวกันจะบังคับออมกับคนยากจนในระบบประกันสังคม ด้วยวิธีนี้ คนจนจะเงินขาดมือ และ นายทุนจะได้ประโยชน์มากเพราะ จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากเพียง 1% ต่อปี แต่ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 28% ต่อปี การมีหนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะ การมีสินเชื่อเพิ่มจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น หลักการนี้เชื่อว่าคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีต้องมีเงินรายได้ 70% ของช่วงที่ทำงาน ผู้สูงวัยพึ่งเงินออมตนเองไม่พึ่งลูกหลาน

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เน้นให้ความสำคัญของปัจจุบันยิ่งกว่าอนาคต การออมเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่สำคัญเท่ากับการไม่ก่อหนี้ พระท่านสอนว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” และ “พุทธศาสนิกชนที่ดีแทบไม่ต้องใช้เงิน” ผู้สูงวัยเข้าวัด ศึกษาธรรมะ จึงแทบไม่ต้องใช้เงิน พึ่งพาเงินส่วนที่จำเป็นจากลูกหลานเพียงเล็กน้อยถือเป็นการทดแทนพระคุณ จะใช้เงินน้อยแต่มีความสุขมาก

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก พยายามรักษาสมดุลของแนวคิดทั้ง 2 เงินบำนาญควรเลือกเก็บมากหรือน้อยได้ตามสภาพเศรษฐกิจ ยืดหยุ่นให้สามารถยืมเงินออมบำนาญได้หากมีความจำเป็น และ ผู้สูงวัยจะพึ่งเงินออมตนเอง เงินภาครัฐ และ เงินลูกหลานด้วยเป็น 3 ขา อย่างไรก็ดีจะใช้เงินน้อยกว่าแนวคิดแบบทุนนิยม

5. นโยบายเศรษฐกิจ
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เมื่อความโลภและการเก็งกำไรมากเกินไป ฟองสบู่แตก การใช้นโยบายต่างๆ ก็เหมือนดั่ง “ยาแผนตะวันตก” ที่เน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด จึงเกิดผลข้างเคียงได้มาก มักได้ผลในระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงิน หรือ การคลัง

เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เหมือนดั่ง “วัคซีน” ที่ใช้ป้องกันความโลภที่มากเกินไป จึงใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ผลดี แต่ใช้รักษาผลของมันไม่ได้ เศรษฐกิจชะลอตัวลงต้องการพลัง “หยาง” มาช่วย แต่เนื้อหาในส่วนของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธทั้งหมดนั้น มีแต่พลัง “หยิน”

เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก เหมือนดั่ง “ยาแห่งดุลยภาพ” ใช้การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ มาช่วยรัฐบาลได้ จึงไม่ต้องสร้างหนี้สาธารณะมากเกินไป พยายามรักษาสมดุลของหนี้สินภาครัฐ และ สินทรัพย์กองทุนบำนาญ รักษาสมดุลการค้าของโลก สร้างสมดุลของการสมทบเงินออมบำนาญตามสภาพเศรษฐกิจ สร้างสมดุลของผลตอบแทนทุนและแรงงาน รวมไปถึง สร้างสมดุลของเงินออมและหนี้สินของประชาชน

อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่าในอนาคตอาจมีเรื่องราวของ “เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก” (Taiji-Econ.) ตามหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคบ้างก็เป็นได้......แนวคิดซึ่งเป็นทางสายกลาง ระหว่างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั้ง 2 ขั้วข้างต้น นั่นหมายถึงท่านผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องนี้ก่อนจะมีในตำราเสียอีกนะครับ

วันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2553

5 กับดักเศรษฐกิจ .. พิษร้ายแรง

5 กับดักเศรษฐกิจ..พิษร้ายแรง

ถ้าพูดถึง “กับดักเศรษฐกิจ” คือ ระบบที่ดูเหมือนจะดี แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่สิ่งที่ดี และ สร้างความเสียหายได้อย่างมากมายตามมา อาจหยิบยกสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่เป็น 5 เรื่องดังต่อไปนี้

1. กับดักเงินหยวน คือ การที่ประเทศจีนได้กำหนดค่าเงินหยวนให้ผูกกับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้สมดุลการค้าของโลกสูญเสียไป ประเทศจีนได้ดุลการค้ามากที่สุดในโลก ขณะที่อเมริกาก็ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลที่สุดในโลกเช่นกัน โดยที่ 2 ประเทศกลับผูกค่าเงินด้วยกันซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ ระบบเงินหยวนนี้เคยสร้างปัญหามาแล้ว โดยได้เคยลดค่าถึง 33% และเป็นตัวจุดชนวนให้การส่งออกของไทยสูญเสียการแข่งขัน เมื่อรวมกับปัญหาเงินบาทและ BIBF จึงนำไปสู่ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในที่สุด
วิธีปลดล็อค : จีนต้องมองให้กว้างออกไป ดำเนินนโยบายไม่ใช่เพื่อประเทศตนเอง แต่เป็นเพื่อโลก ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การยอมให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% ภายในเวลา 1 ปี จะช่วยให้สมดุลการค้าของโลกคืนมาได้ สินค้าและสินทรัพย์ของอเมริกาจะมีมูลค่าถูกลงในสายตาคนเอเชียที่มีค่าเงินแข็งขึ้น ซึ่งจะช่วยประเทศอเมริกาได้เป็นอย่างดี ขณะที่คนจีนก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้นจากค่าเงินที่แข็งค่า

2. กับดักเงินยูโร คือ การที่กำหนดค่าเงินสกุลเดียว แต่ผูกประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอย่างมากให้อยู่ในยูโรโซนเดียวกัน เยอรมันมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ได้ดุลการค้าอย่างมาก ในเวลาเดียวกันพบว่า ไอร์แลนด์ สเปนและกรีซ มีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขาดดุลการค้าอย่างหนัก โดยปกติแล้วค่าเงินจะสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แต่ด้วยระบบเงินยูโร มันจึงเกิดขึ้นไม่ได้ จึงสร้างปัญหาอย่างมากต่อประเทศที่อ่อนแอ
วิธีปลดล็อค : จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เงิน 2 สกุล โดยเยอรมันและฝรั่งเศสที่แข็งแกร่งเป็นแกนกลางนั้น ควรจะเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลใหม่ Eura แทน ส่วนประเทศที่อ่อนแอริมขอบยูโรโซน ก็ใช้เงิน Euro กันต่อไป ยอมให้ Euro อ่อนค่าลง เพื่อช่วยเหลือการส่งออก และ การชำระหนี้สิน
ของประเทศริมขอบยูโรโซน

3. กับดักสภาพคล่อง เรื่องนี้อยู่ในตำราอยู่แล้ว คือ การลดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำมาก แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแรง สิ่งนี้กำลังเกิดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อเมริกา และ อังกฤษ
วิธีปลดล็อค : เคนส์แนะนำให้รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. กับดักเคนส์ คือ สภาพที่ประเทศได้สร้างหนี้สาธารณะเพิ่มตลอดจากการใช้นโยบายการคลังขาดดุล โดยที่เศรษฐกิจไม่ได้มีการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจซบเซาและมีภาวะเงินฝืด ญี่ปุ่นได้ติดกับดักนี้มา 18 ปีแล้ว ส่วนประเทศอเมริกา และ ยุโรป เริ่มติดกับดักนี้มาได้ราว 2 ปี
วิธีปลดล็อค : ใช้เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) มาเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่เป็นภาระการคลังเลยแม้แต่น้อย แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญแทน สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น อาจใช้ “โครงการสินเชื่อ777” หรือ “Lucky Seven Loan” ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกัน “สินเชื่อ999” โดยให้องค์กรที่บริหารเงินบำนาญ ทำการค้ำประกันสินเชื่อให้กับคนญี่ปุ่นไม่เกิน 7 ส่วนของเงินออมในอัตราดอกเบี้ย 7% ผ่อนได้ 7 ปี ส่วนของดอกเบี้ยนั้นบางส่วนจะถูกจัดสรรเข้าองค์กรบริหารเงินบำนาญ และรัฐบาลเป็นค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้ด้วย ด้วยวิธีง่ายๆ เงินเศษเสี้ยวของกองทุนบำนาญเพียง 1% เมื่อถูกนำมาใช้จ่าย จะส่งผลให้ยกเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ โดยรัฐบาลแทบไม่ต้องใส่เงินงบประมาณลงไปตรงๆ เลยแม้แต่น้อย
ผมคิดว่าหากท่านนายกฯ ของญี่ปุ่นได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากประชุมทีมเศรษฐกิจ และ เปิดตำราเศรษฐศาสตร์ดูทุกหน้าแล้ว คงไม่เห็นทางออกที่จะฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ เพราะนโยบายทั้ง 3 ด้าน คือ การเงิน การคลัง และ อัตราแลกเปลี่ยนนั้น ได้ทำมาอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้ผลเลย หากแนวคิดใหม่นี้สามารถฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้พร้อมๆ กับแก้ไขวิกฤติการคลังไปด้วยได้ จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงให้กับรัฐบาลชุดนี้ และ พรรค DPJ อีกด้วย
นโยบายการคลังเปรียบไปก็เหมือนกับ “มวยเส้าหลิน” ที่ใช้พลังแข็งกร้าวเพื่อปะทะคู่ต่อสู้โดยตรง แต่สังคมญี่ปุ่นนั้นเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว โดยประชากรมีอายุเฉลี่ยถึง 43 ปีสูงที่สุดในโลก พลังก็เริ่มลดน้อยถดถอยลงไป การใช้ “มวยไท้เก๊ก” ซึ่งเป็นหลักการอ่อนสยบแข็ง ใช้การยืมพลังสะท้อนพลัง ตามเคล็ดวิชา “สี่ตำลึงปาดพันชั่ง” จะมีโอกาสพิชิตวิกฤติเศรษฐกิจได้ดีกว่า
ที่จริงแล้วทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊กที่ผมสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ มีจุดเริ่มต้นจากคำถามของผมเมื่อ 10 ปีก่อน “ในเมื่อญี่ปุ่นดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านอย่างเต็มที่แล้ว เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น ญี่ปุ่นควรทำอย่างไรต่อไป” คนญี่ปุ่นตอบว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คุณช่วยไปคิดต่อหน่อย” เรื่องแบบนี้ไม่เคยมีในตำราเศรษฐศาสตร์ โดยผมต้องใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะค้นพบทฤษฎีใหม่นี้ได้

5. กับดักการออม : คือ สภาพที่รัฐบาลสนับสนุนเอาเงินภาษีไปช่วยเพิ่มผลตอบแทนการออมให้กับคนระดับเศรษฐี ขณะเดียวกัน บังคับออมกับคนจนซึ่งทำให้พวกเขาติดหนี้สินกันมากทางอ้อม ซึ่งเป็นระบบที่ทำกันอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ด้วยระบบเช่นนี้ จะทำให้คนรวย ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานสูง ได้รับผลตอบแทนการลงทุนสูงอีกด้วย ทำให้คนรวยนั้นรวยขึ้น ขณะที่ทำให้คนจนซึ่งมีค่าแรงต่ำ ยังถูกบังคับทางอ้อมไปติดหนี้ดอกเบี้ยโหดเพราะ การถูกบังคับออมเงินทำให้เงินขาดมือ จึงมีผลตอบแทนส่วนทุนติดลบไปมาก สรุปแล้วคือทำให้คนจนนั้นจนลงไปอีก เห็นได้ชัดว่าระบบแบบนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายกว้างขึ้น
วิธีปลดล็อค : ลดวงเงินการหักลดหย่อนภาษี RMF,LTF ลงมา เลิกอุ้มคนรวยได้แล้ว ขณะเดียวกันต้องให้มีการยืดหยุ่นเงินออมของประกันสังคม และ กบข. โดยให้ผู้ประกันตนและสมาชิก สามารถเข้าถึงเงินออมของตนเองได้ ตามแนวคิดของ “สินเชื่อ999” รวมถึงหยุดแนวคิดจัดตั้ง กองทุนการออมแห่งชาติไปเสีย

หากผู้นำประเทศต่างๆ เห็นถึงกับดักเหล่านี้ และเดินหน้าปลดล็อคได้เร็ว โลกก็อาจรอดพ้นจากวิกฤติรอบ 2 ไปได้ แต่ผมคิดว่ามีโอกาสถึง 80% ที่โลกกำลังเดินหน้าสู่วิกฤติรอบ 2 เสียก่อนแล้วผู้นำของประเทศต่างๆ จึงจะตาสว่าง เห็นถึงข้อเสียของกับดักเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้วตัดสินใจเดินหน้าปลดล็อคกับดักเหล่านั้น จึงจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ในที่สุด

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หมัดน็อค 2 หมัด : สวัสดิการล้านล้านบาท

หากผมไม่ใช่คนเขียนบทความนี้เสียเอง ผมคงต้องคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องโกหกประชาชนเป็นแน่แท้ มันจะเป็นไปได้อย่างไรกับการทำนโยบายสวัสดิการถึงล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณภาครัฐปีละ 2 ล้านล้านบาทเท่านั้นเอง

แต่ถ้าได้ติดตามบทความของผมมาบ้าง ก็พอจะรู้ว่า เราไม่ต้องช่วยประชาชนโดยการใส่เงินงบประมาณเข้าไปตรงๆ แต่สามารถยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญต่างๆ และแบงก์รัฐ ตามเนื้อหาในเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.)

ผมได้คิดทบทวนดูว่าทำไมนโยบายของรัฐบาลซึ่งก็ใช้เงินงบประมาณไม่น้อยถึง 3 แสนล้านบาท เพื่อทำสวัสดิการประชาชน แต่กลับมีหลายบุคคลซึ่งไม่ได้รับผลประโยชน์เอาเลย ตัวอย่างเช่น คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็แล้วกัน พวกเขาคงจะบ่นแบบนี้

เช็คช่วยชาติ ... พวกกระผมได้รับการประเมินจากรัฐบาลแล้วว่าเป็นบุคคลค่อนข้างร่ำรวย ทำงานนอกระบบ จึงไม่ได้รับเงินนี้ เศร้า
เบี้ยยังชีพคนชรา ... พวกกระผมยังไม่แก่พอที่จะรับเงินนี้ได้ อดอีกแล้ว
เรียนฟรี 15 ปี ... พวกกระผมไม่กล้ามีลูกหรอกครับ แค่หาเลี้ยงปากท้องตัวเองยังแทบไม่รอดเลย อดอีกแล้ว
ประกันรายได้เกษตรกร... พวกกระผมไม่ได้ทำนานี่ครับ อดอีกแล้ว
ลดค่าครองชีพ ... เช่าอยู่กันหลายคนค่าไฟเลยเกินมาหน่อย สรุปแล้ว จ่ายเอง ส่วนรถเมล์ไม่เคยนั่ง ขี่แต่มอเตอร์ไซค์คู่ชีพ อดอีกเช่นกัน

ขณะที่การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันและบุหรี่นั้น กระทบพวกเขาเต็มๆ
ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ... รัฐบาลคงคิดว่าพวกกระผมเข้าขั้นคนรวยใช้เบนซินหรือแก๊ซโซฮอลล์ เลยต้องรับกรรมจ่ายเพิ่ม
ภาษีบุหรี่ ... พอจะดูดบุหรี่แก้เครียดจาก"นโยบายฝนตกไม่ทั่วฟ้า" พวกกระผมก็ถูกเก็บภาษีเพิ่มอีกแล้ว นี่มันอะไรกัน "รัฐบาลอภิสิทธิ์ชน" หรือเปล่าครับ เพราะ พวกกระผมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยแม้แต่บาทเดียว จากเงินงบประมาณที่รัฐบาลใส่ลงไปถึง 3 แสนล้าน แถมยังต้องมารับภาระภาษีสรรพสามิตเพิ่มอีก

พรรคไทยรักไทยเคยโค่น ประชาธิปัตย์อย่างราบคาบ ด้วย 2 หมัดเด็ด "สวัสดิการแสนล้าน" คือ "บัตรทอง 30 บาท" และ "กองทุนหมู่บ้าน" มาแล้ว ขณะที่รัฐบาลชุดนี้ชกแต่ "หมัดแย็บ" ด้วยน้ำหนักหมัดราว 2-3 หมื่นล้านเท่านั้นเองต่อนโยบาย ซึ่งก็มีทั้งความ "ไม่พอ" และ "มากเกิน" อยู่ในตัวเอง

"ไม่พอ" เพราะ น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ และ "มากเกิน" เพราะเงินไม่พอทำให้ต้องสร้างหนี้ภาครัฐเพิ่ม ด้วยสวัสดิการระดับ 3 แสนล้านนี้ไปช่วยเพิ่มหนี้สินสาธารณะในปีที่แล้วถึง 8 แสนล้านบาท

รัฐบาลขาดซึ่ง นโยบายสวัสดิการแสนล้าน ที่จะน็อคพรรคคู่แข่งได้ อย่างไรก็ดีบทความนี้จะนำเสนอ "หมัดน็อค" ระดับล้านล้านบาท เพื่อโค่นพรรคการเมืองคู่แข่ง แบบไม่มีแรงจะยืนบนสังเวียนการเมืองได้อีกนาน แทนที่จะมีคะแนนความนิยมในระดับใกล้เคียงกันอยู่ในปัจจุบัน

1.สินเชื่อ999 โดยให้ กบข. สปส. และ บลจ.ที่ดูแลเงินบำนาญ กบข. ประกันสังคม และ สำรองเลี้ยงชีพ ตามลำดับ ค้ำประกันเงินกู้ให้กับสมาชิกและผู้ประกันตน ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออม ในอัตราดอกเบี้ย 9 เปอร์เซนต์ต่อปี และ ผ่อนได้นานสุด 9 ปี วงเงิน 3 ก้อนนี้รวม 1.5 ล้านล้านนั้น อาจมีราว 40 เปอร์เซนต์ที่เปลี่ยนเป็นสินเชื่อ นั่นหมายถึงเงินราว 6 แสนล้านบาท จะเข้ามาช่วยคนทำงานในระบบให้เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่ต้องใส่ใจกับเครดิตบูโร

2.กองทุน555 เพิ่มวงเงินของกองทุนหมู่บ้าน 5 เท่าตัวเป็น 5 ล้าน ระยะเวลาคืนเงินต้น 5 ปี และ แต่ละบุคคลกู้ได้สูงสุด 5 หมื่น ซึ่งเป็นระดับที่นานขึ้นและมากขึ้นกว่าปัจจุบัน อันจะช่วยลดจุดอ่อนการหมุนหนี้ของประชาชนได้ วงเงินตรงนี้ 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ทำงานนอกระบบให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น

เมื่อรวม 2 เรื่องเข้าด้วยกันก็จะเป็นวงเงินถึง 1 ล้านล้านบาท ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว จึงอาจเป็น 2 หมัดน็อคใช้ล้มคู่แข่งทางการเมืองได้อย่างสบายๆ และ ประชาชนที่จะได้ประโยชน์ตรงนี้อาจสูงถึง 20 ล้านคน แทนที่จะเป็นแค่ 2 แสนคนที่รัฐบาลได้ช่วยแก้ไขหนี้นอกระบบได้สำเร็จ

ผมไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนติดหนี้สินกันมากขึ้น แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าคนไทยติดหนี้กันมากอยู่แล้ว และ การช่วยให้คนไทยได้รีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงมาก นั่นหมายถึง คนจนและชนชั้นกลาง เหลือเงินติดกระเป๋ากันมากขึ้น เพราะ ได้รับผลตอบแทนของแรงงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น และ จ่ายผลตอบแทนของทุนลดลง ปัจจุบันนั้นมีบางคนทำงานทุกวัน แต่ไม่เคยได้รับเงินไปใช้เลย เพราะจ่ายเป็นดอกเบี้ยนอกระบบไปหมด หนี้สินมีแต่พอกพูน เป็นระบบที่เลวร้ายกว่า "ระบบทาส" ในอดีตเสียอีก เพราะ ทาสในสมัยก่อนนั้นทำงานไป และ รับอาหาร ที่พักอาศัยจากนายทาส แม้ไม่มีสินทรัพย์เหลือแต่ก็ไม่มีหนี้สินรุงรัง

นอกจากนี้ การใช้แบงก์รัฐมาเป็นแขนขาในการปล่อยสินเชื่อนั้น จะเร่งให้เกิดการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อระดมเงินออมขนานใหญ่ในแบงก์รัฐ ซึ่งจะช่วยลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลงด้วยกลไกการตลาด อันเป็นสิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นอยู่แล้ว

รัฐบาลอภิสิทธิ์คงมีเวลาคิดไม่มากนักที่จะเลือกเดินหน้าใช้นโยบาย "สวัสดิการล้านล้าน" ในลักษณะคล้ายๆ แบบนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ซื้อใจประชาชนให้ได้เพื่อน็อคคู่แข่งทางการเมือง หรือว่า ยังคงใจเย็นเดินหน้าชกด้วย "หมัดแย็บ" กันต่อไป แล้วรอ พรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย "หมัดน็อค" มาโค่นประชาธิปัตย์ในอนาคตอันใกล้

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

จาก "ประชานิยม" สู่ "ประชาชมชอบ"

หลังจากได้มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทำไปนั้นเรียกว่า "รัฐสวัสดิการ" หรือว่า "ประชานิยม" กันแน่ อันที่จริงแล้วก็เชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพราะ ทั้ง 2 ชื่อนี้ก็ล้วนแล้วแต่ใช้เงินงบประมาณ เพื่อสร้างความพอใจแก่ประชาชนกลุ่มใหญ่ไม่ต่างกันเท่าใดนัก แต่หากจะหาประเด็นเพื่อแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกันก็อาจเป็นแหล่งที่มาของเงินงบประมาณเพื่อนำมาใช้ทำสวัสดิการให้ประชาชน หากเป็น "เงินกู้"ก็เข้าข่าย "ประชานิยม" แต่หากเป็น "ภาษีที่เก็บเพิ่ม" ก็เข้าข่าย "รัฐสวัสดิการ"

สำหรับรัฐบาลชุดนี้ได้เดินหน้าอย่างกล้าหาญในการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และ บุหรี่ เพิ่ม แม้จะมีเสียงบ่นจากทั่วทุกสารทิศ อย่างไรก็ดีเงินก้อนนี้ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับนโยบายสวัสดิการประชาชนที่ใช้จ่ายถึงกว่า 3 แสนล้านบาท ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วจนถึงปัจจุบันก็คือ "รัฐสวัสดิการ..แบบยังไม่ถึงครึ่งทาง" เพราะเมื่อจะเดินหน้าเก็บ VAT เพิ่มเพื่อให้ใกล้เคียงกับระดับสากล และสร้างฐานรายได้เพื่อทำรัฐสวัสดิการอย่างเต็มรูปแบบ ก็ปรากฏว่า รัฐบาลไม่กล้าทำเพราะเป็นห่วงคะแนนเสียงทางการเมืองที่อาจจะตกต่ำลง

มันจะดีกว่าไหม หากมีนโยบายซึ่งไม่ต้องเงินงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ยังคงสร้างความพอใจกับประชาชนกลุ่มใหญ่ได้อยู่ เมื่อไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่ม ก็ไม่ต้อง "กู้เงิน" และ ไม่ต้อง "เก็บภาษีเพิ่ม" ซึ่ง 2 เรื่องนี้เป็นภาระต่อประชานในอนาคต และ ภาระต่อประชาชนในปัจจุบันตามลำดับ นโยบายแบบนี้เองที่ผมตั้งชื่อให้ว่า "นโยบายประชาชมชอบ"

คงไม่ต้องลงไปในรายละเอียดอีกแล้วสำหรับ "เศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นแนวคิดของการยืมพลัง โดยเฉพาะกองทุนบำนาญ มาเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในการสร้างความพอใจต่อประชาชน เป็นการยืมพลังแห่ง stock มาช่วย flow (GDP) ยืมพลังแห่งเจ้าหนี้ (กองทุนบำนาญ) มาช่วยลูกหนี้ (รัฐบาล)

ที่จริงแล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ และ รัฐบาลทักษิณ ก็ได้เคยทำ "นโยบายประชาชมชอบ" มาแล้วด้วยเช่นกัน เช่น "กองทุนหมู่บ้าน" เป็นการยืมพลังจากแบงก์รัฐ (ออมสิน) จึงไม่ต้องมีการใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่น้อย และ ในรัฐบาลชุดนี้ก็มี "แก้หนี้นอกระบบ" ก็เป็นหลักการคล้ายกันด้วยการยืมพลังจากแบงก์รัฐอีกเช่นกัน เงินงบประมาณไม่ต้องใช้เลยหากไม่เกิดปัญหาหนี้เสียขึ้น จนรัฐบาลต้องไปเพิ่มทุนให้แก่แบงก์รัฐเหล่านั้น แต่ที่ผ่านๆ มารัฐบาลยังคงวนๆ อยู่กับการ "ยืมพลังแบงก์รัฐ" จนนโยบายแบบนี้ถูกเรียกว่าเป็น "นโยบายกึ่งการคลัง" แต่โดยความเป็นจริงแล้วหากจัดระบบอย่างดี ปัญหาหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำเสียแล้ว ผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐแทบไม่มีเลยก็ว่าได้

ส่วน "นโยบายลดสมทบ"ของกองทุนประกันสังคม ถือเป็นก้าวที่สำคัญที่รัฐบาลเริ่มใช้ "การยืมพลังจากกองทุนบำนาญ" ที่ให้ผู้ประกันตนลดภาระในการสมทบเงินเข้ากองทุนจาก 5% เหลือ 3% ทำให้เหลือเงินติดกระเป๋ามากขึ้น กินอยู่สบายขึ้น ซึ่งก็ได้ทำมาครึ่งปีในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา วิธีนี้รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย แต่สามารถช่วยให้ผู้ประกันตนซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่พอใจมากขึ้นได้

ผมได้เขียนเรื่อง "ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยสไตล์ 999" และ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร ให้เศรษฐกิจดีขึ้น" ไว้แล้วด้วย หากรัฐบาลทำตามนั้น ก็จะช่วยให้ผู้ประกันตน และข้าราชการรายได้น้อย เข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ และ พื้นที่เช่าได้ในต้นทุนที่ต่ำลงมาก รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินเลย แถมยังได้เงินค่าธรรมเนียมสินเชื่อและค่าเช่าพื้นที่ว่างในสถานที่ราชการอีกด้วย นอกจากนี้ การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ RMF,LTF ยังจะทำให้รัฐบาลได้เงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน การลดเงินสมทบเข้า กบข.ก็จะช่วยให้ข้าราชการรายได้น้อยมีเงินหมุนเวียนได้มากขึ้น การขยายอายุการสงเคราะห์บุตรในระบบประกันสังคม แม้แต่การแก้ไขปัญหาราคาไข่แพง หรือการพยายามลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแบงก์ ขอให้ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแล้วช่วยประชาชนส่วนใหญ่ได้...ทำเถอะครับ

ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากที่รัฐบาลสามารถจะทำได้ โดยไม่ต้อง "กู้เงิน" เพื่อเพิ่มหนี้สาธารณะซึ่งจะเป็นภาระต่อคนรุ่นลูกหลานในอนาคต ไม่ต้อง "เพิ่มภาษี" อันอาจเป็นภาระต่อซึ่งอาจเป็นภาระต่อประชาชนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน แถมไม่ต้องกังวลการ "รับเงินใต๊โต๊ะ" อีกด้วยเพราะ ไม่มีส่วนต้องใช้เงินงบประมาณเลย เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว นโยบายการยืมพลังที่จะช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศพึงพอใจได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยนั้น ซึ่งก็คือ "นโยบายประชาชมชอบ" นั่นเอง

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดูให้ดีๆ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ดูให้ดีๆ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เรื่องของ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้สร้างความหวังกับประชาชนชาวไทยที่จะได้มีกฎหมายที่ลดควาเหลื่อมล้ำลง โดยคนที่มีที่ดินจำนวนมากนั้นกระจุกตัวอยู่กับคนรวยไม่มากนัก ขณะที่ประชาชนกว่า 90% มีที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่

มีคนอีกกลุ่มที่จะกังวลว่า พรบ.นี้ผ่านสภาได้หรือไม่ ในเมื่อนักการเมืองจำนวนมากล้วนแต่ถือครองที่ดินกันมหาศาล ซึ่งการเก็บภาษีทีดินรกร้างอาจสร้างภาระกับพวกเขาได้มาก ใครละครับที่ยินดีจะหยิบดาบมาเชือดคอตนเอง ??

แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น สิ่งที่ผมกังวลกลับไม่ใช่เรื่องพวกนี้ ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกไม่น้อย ที่พวกเราควรใส่ใจกับ พรบ.ที่ดูเหมือนจะดีมาก ฉบับนี้

1.เปิดช่องให้ทุจริต : เจ้าที่ดินสามารถฮั้วกับข้าราชการกรมที่ดินที่ทำการตรวจสอบได้ ที่ดินผืนใหญ่เป็น 100 ไร่ อาจทำการเกษตรแค่มุมเดียว แล้วสรุปไปเลยว่าที่ดินแปลงนั้นทำเพื่อการเกษตร โดยอาจจ่ายใต้โต๊ะเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับภาษีที่ต้องจ่ายจริง

2.ราคาที่ดินเกษตรอาจตกหนัก : อย่างไรก็ดี คาดว่ามีเจ้าที่ดินจำนวนมาก ซึ่งอาจรวมท่าน รมว.คลังที่พูดออกสื่อทีวีด้วยว่า ท่านตั้งใจจะเปลี่ยนสภาพที่ดินไปทำเกษตรเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี ที่ดินเหล่านั้นอาจถูกปล่อยเช่าออกมาในราคาที่ต่ำมากๆ เพื่อทำการเกษตร ซึ่งหากเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ย่อมส่งผลกระทบไปต่อมูลค่าราคาที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างหนัก เพราะ ค่าเช่า คือ ผลตอบแทนส่วนทุนของ "ที่ดิน"นั่นเอง และอย่างที่พวกเราก็รู้ๆ กันดีว่า "ที่ดิน" นั้นเป็นสินทรัพย์สำคัญของเกษตรกรรายย่อย 10-20 ไร่นั้นก็มีค่ายิ่งนัก ขณะที่เศรษฐีนั้นมีสินทรัพย์นอกจากที่ดินแล้ว สินทรัพย์ทางการเงินอีกมากมาย

3.แย่งชิงปัจจัยการผลิต : ลองนึกภาพว่าหากมีที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรมากขึ้นอีก 50% จะต้องมีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ปุ๋ย รวมไปถึงแรงงานเพื่อช่วยเก็บเกี่ยวกันขนาดไหน โดยเฉพาะ "น้ำ" ซึ่งขาดแคลนอย่างมากอยู่แล้ว หลายๆ เรื่องอาจทำให้ต้องเป็นต้นทุนเพิ่มอีกไม่น้อยเลย

4.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ : แต่หากมองโลกในแง่ดีว่ายังมีน้ำที่เพียงพอแล้วก็ตาม การมีที่นาเพิ่มขึ้นผลผลิตอาจได้เพิ่ม 50% ข้าวจากที่เคยได้ 30 ล้านตันก็เพิ่มเป็น 45 ล้านตัน เมื่ออุปทานเพิ่มขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว นั่นหมายถึง ราคาข้าวที่ตกต่ำนั่นเอง และ หากรัฐบาลยังเดินหน้าประกันรายได้ให้เกษตรการต่อไปก็หมายถึง การต้องจ่ายเงินชดเชยรายได้ส่วนนี้ถึงปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้การชดเชยรายได้หลายส่วนจะจ่ายให้กับเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่ผู้เช่า..ทำให้เงินตกไปสู่มือของนายทุนเจ้าที่ดิน แทนที่จะเป็นเกษตรกรผู้เช่า

5.ค่าเช่าพื้นที่และตึกอาจแพงขึ้น : สำหรับภาษีสิ่งปลูกสร้างนั้นอาจหลบเลี่ยงได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับภาษีโรงเรือนในปัจจุบัน ทำให้เจ้าของตึกอาจผลักภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้มาตกที่ผู้เช่าพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร

สรุปก็คือ จากทั้ง 5 ข้อนี้จะเห็นว่า นายทุนเจ้าที่ดินยังคงสามารถหาวิธีหลบเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษีได้อยู่ดี ทั้งแบบถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจส่งผลให้ "น้ำ" ไม่เพียงพอ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ รวมไปถึง คนจนและคนชั้นกลางในเมืองจำนวนมาก อาจต้องเสียค่าเช่าห้อง และ พื้นที่เช่าค้าขายที่แพงขึ้นอีกด้วย และ สุดท้ายก็คือ ทำให้สินทรัพย์ของเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีที่ดินไม่มากนัก ต้องเสื่อมค่าด้อยค่าลงไปหรืออีกนัยก็คือ พวกเขาจนลงนั่นเอง

อย่าว่าแต่ 1 ไร่เลย ผมมีที่ดินไม่ถึง 50 ตรว.ด้วยซ้ำ ดังนั้นบทความนี้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนายทุนแต่อย่างใด ประเด็นอยู่ที่ว่า พวกเราได้มอง "พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" นี้อย่างรอบด้านแล้วหรือไม่

ยกตัวอย่างกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทิ้งผลงานโบว์ดำเอาไว้ก็คือ "BIBF" ซึ่งมีเจตนาดีในการให้บริษัทเอกชนของไทยเข้าถึงแหล่งทุนจากต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง แต่ในที่สุดแล้วกลับส่งผลเสียหายอย่างหนักที่ทำให้บริษัทต่างๆ กู้หนี้ยืมสินจนเกินตัว ทั้งเพื่อการลงทุนและเก็งกำไร จนในที่สุดเชื่อมโยงไปสู่ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ในที่สุด

พรบ.นี้อาจเป็นนโยบายดาบ 2 คมคล้ายๆ กับ BIBF ก็เป็นไปได้ครับ

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร...ให้เศรษฐกิจดีขึ้น

รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร...ให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ช่างเป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ที่กำลังหาหนทางในการแก้ไขวิกฤติหนี้สินสาธารณะ พร้อมๆ ไปกับการดูแลให้เศรษฐกิจยังคงดีอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็มักจะทิ้งไว้แต่คำถามโดยแทบไม่เคยมีคำตอบให้เลย

หากเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน ในเวลาที่ผมยังคงวนอยู่ในกรอบแนวคิดเศรษฐกิจมหภาคแบบเดิมๆ Y=C+I+(X-M)+(G-T) นั่นหมายถึง หากเราลด (G-T) ลง คือ รัฐบาลใช้จ่ายน้อยลง หรือเพิ่มภาษีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็คือ การรัดเข็มขัดทางการคลังนั่นเอง ย่อมจะส่งผลทางลบต่อ Y หรือ GDP เป็นแน่ ตามหลักแนวคิดคณิตศาสตร์อย่างง่าย ผมก็คงยังคิดเหมือนๆ กับนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปว่าคำถามแบบนี้ ไม่น่าจะมีคำตอบที่ดีๆ ได้แต่อย่างใด

ในปัจจุบันจะพบว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา ต่างก็ต้องพยายามหาทางรัดเข็มขัดการคลัง เพื่อดูแลปัญหาหนี้สาธารณะไม่ให้เกิดวิกฤติลุกลามอย่างสาหัสคล้ายกับกรณีของประเทศกรีซ แต่จะทำอย่างไร...เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจต้องย่ำแย่ลงอีกครั้งหนึ่ง นี่อาจเป็นโจทย์ที่ยากเย็นอย่างยิ่งของนักเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี ผมได้เสนอแนวคิด เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ไว้แล้ว ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดใหม่อันจะช่วยให้รัฐบาลสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือ ลดรายจ่ายลงได้ โดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ จะมีหลายๆ เรื่องกลับช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยซ้ำไป ขอลองตอบโจทย์นี้สัก 9 เรื่องซึ่งอาจเป็นคำตอบของโจทย์ยากๆ ข้อนี้

1. สินเชื่อ999 : โดยให้ สปส. และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และสมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออม อัตราดอกเบี้ย 9%ต่อปี และ ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี วิธีนี้รัฐบาลจะได้ค่าธรรมเนียมฟรีๆ 1.5% ของสินเชื่อ อาจเป็นรายได้เพิ่มถึง 1 หมื่นล้าน โดยเศรษฐกิจจะดีขึ้นด้วยจากกำลังเงินที่เพิ่มขึ้นของประชาชนอีกหลายแสนล้าน

2. พื้นที่เช่า 999 : โดยให้จัดพื้นที่ค้าปลีกราคาถูก 999 บาทต่อเดือน ในสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ บ้านเอื้ออาทรค่าเช่า 999 ต่อเดือน รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และ ประชาชนจะมีเงินติดกระเป๋ามากขึ้นเช่นกัน เพราะ ค่าเช่าที่เคยจ่ายนั้นลดลง

3. ลดหย่อนภาษี 999 : ให้ลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีทั้ง RMF,LTF และ ประกันชีวิต จากระดับ 5 แสน เหลือแค่ 9 หมื่นบาทเท่านั้น จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ รัฐบาลได้เงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน และ คนระดับเศรษฐีจะออมน้อยลงและนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น

4. ดึงเงินจากกองทุนน้ำมัน : รัฐบาลเพิ่มภาษีสรรพสามิตได้อีกลิตรละ 1 บาท แต่ให้ลดเงินนำเข้ากองทุนน้ำมันลง 2 บาทต่อลิตร..ดังนั้นน้ำมันขายปลีกจะลดราคาลงได้ 1 บาทต่อลิตร ประชาชนใช้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้น ดึงเงินจากกองทุนน้ำมันมาช่วยนั่นเอง

5. โอนครอบครัวผู้ประกันตนเข้าระบบประกันสังคม : โอนบุคคลในครอบครัวของผู้ประกันตนราว 6 ล้านคน เข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายไปได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีจากงบบัตรทอง (สปสช.) ขณะที่ประชาชนไม่มีคนเสียประโยชน์ เงินคุ้มครอง 4 กรณีซึ่งรวมการประกันสุขภาพด้วยของ สปส.ยังมีเหลืออยู่กว่า 9 หมื่นล้านบาท ยังรองรับภาระนี้ได้อีกหลายปี

6. เบี้ยกตัญญู 999: แทนที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชราคนละ 500 บาทจากรัฐบาล ก็ผลักให้เป็นภาระของกองทุนประกันสังคมเสีย พ่อแม่ของผู้ประกันตนรับไปเลยคนละ 999 บาทต่อเดือน อาจโอนไปได้ 2 ล้านคน ทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายไปอีก 1.2 หมื่นล้าน

7. ต้อนรับการย้ายถิ่น 999K : รัฐบาลเปิดรับการย้ายถิ่นของคนชราจากประเทศพัฒนาแล้ว 9.99 แสนคน โดยประเทศเหล่านั้นมักให้งบอุดหนุนด้านสุขภาพต่อหัวอยู่ที่ราว 4-5 แสนบาท่ต่อคนชรา 1 คนอยู่แล้ว หากเกิดการย้ายถิ่นจริงไทยก็ของบจากประเทศเหล่านั้นได้เลยหัวละ 9.99 หมื่นบาท แบ่งคนละครึ่งระหว่าง รพ.ชั้นนำ และ รัฐบาลไทย ดูแลสุขภาพประชากรพวกเขาอย่างดี ขณะที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มรับไปเลย 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และ ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอีกมากจากประชากรที่มีเงินได้เงินบำนาญในระดับสูงกลุ่มนี้

8. ลงทุนสินค้าเกษตร 9.99% : รัฐบาลเดินหน้ากำหนดการลงทุนของกองทุนบำนาญทั้งหลาย สปส. กบข. สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิต ซึ่งรวมๆ แล้วน่าจะประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ให้ต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตร หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาด AFET ไม่ต่ำกว่า 9.99% ของเงินกองทุน... ด้วยวิธีง่ายๆนี้จะมีเงินสูงถึง 2.8 แสนล้านมาช่วยยกระดับสินค้าเกษตรแทนรัฐบาลเอง เอกชนจะรับภาระเก็บสต๊อกแทนรัฐบาลเอง เมื่อราคาสินค้าเกษตรอยู่ระดับสูง ภาระในการประกันรายได้เกษตรกรราวปีละ 4 หมื่นล้านก็ไม่ต้องจ่ายแล้ว

9. สมทบ กบข.0.99% : ลดเงินสมทบเข้า กบข.จาก 3% เหลือ 0.99% และ ข้าราชการเองก็สมทบด้วยเงินยอดเดียวกัน รัฐบาลก็จะประหยัดเงินไปได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท และข้าราชการก็จะมีเงินเหลือมากขึ้นนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

10.แถมๆ ให้หน่อยซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยได้เดินหน้าทำมาแล้ว ก็คือ การดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดในการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ นักการเมือง และ ข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่น โดยคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลได้เงินเข้าคลังเพิ่มถึง 4.6 หมื่นล้านบาท และ ยังอาจมีเพิ่มได้อีกในอนาคต เป็นการรัดเข็มขัดโดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมเลยแม้แต่น้อย

นี่คือตัวอย่าง 10 วิธีง่ายๆ ที่จะรัดเข็มขัดการคลัง โดยที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจอีกด้วย เป็นการตอบโจทย์ที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะทิ้งคำถามซึ่งไร้คำตอบนี้เอาไว้.... "เราจะรัดเข็มขัดการคลังอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น"....เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) อาจเป็นคำตอบนั้นครับ

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สไตล์ 999

ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สไตล์ 999

ทำไมต้องเป็นแบบ 999 ก่อนจะถึงตรงนั้น เรามาดูเรื่องของผลตอบแทนทุน และ แรงงานกันก่อน

หลังจากเห็นตัวเลขของสัดส่วนผลตอบแทนของแรงงานที่ลดลงจากระดับ 45% GDP เหลือเพียง 39% เท่านั้นในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้น่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะ คนจนนั้นได้ผลตอบแทนจากแรงงาน แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนของส่วนทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก และ ความเหลื่อมล้ำนี้ก็ดูจะไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เพราะ คนรวยนั้นได้ผลตอบแทนทั้งจากแรงงานเงินเดือนสูง และ ยังได้ผลตอบแทนจากส่วนทุนอีกด้วย

สมมติว่า คนขายเสื้อผ้าได้กำไรขั้นต้นต่อวันที่ 600 บาทแต่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าที่วันละ 200 บาท จ่ายค่าดอกเบี้ยนอกระบบสำหรับเงินทุนหมุนเวียนวันละ 200 บาท จึงเหลือเงินกำไรสุทธิจากแรงงานขายที่ 200 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งเป็นครึ่งเดียวของผลตอบแทนส่วนทุน (ค่าเช่า บวกกับ ดอกเบี้ย) แต่หากลดผลตอบแทนส่วนทุนลงได้ครึ่งหนึ่ง เหลือค่าเช่าวันละ 100 บาทดอกเบี้ยจ่ายวันละ 100 บาท ผู้ขายคนนี้จะได้กำไรสุทธิติดกระเป๋าซึ่งเป็นผลตอบแทนแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท ซึ่งสูงกว่าเดิมถึงเท่าตัว และ เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนส่วนทุนอีกด้วย นี่คือ หลักคิดง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจน ด้วยการลดผลตอบแทนส่วนทุนลง เพราะ ส่วนนี้คือภาระของคนจนนั่นแหละ

ขณะที่รัฐบาลพยายามปรับหนี้นอกระบบ เข้าสู่ในระบบนั้น มีกฎเกณฑ์ 2 ข้อหลักคือ 1.ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน 2. ต้องไม่ติดเครดิตบูโร เราก็จะพบว่ามีเสียงบ่นกันมากว่า "หากผมมีเครดิตดีถึงขนาดนั้น คงไม่ต้องติดหนี้นอกระบบแต่แรกแล้ว" ดังนั้น บทสรุปตรงนี้ก็คือ คนที่ลงทะเบียนถึงกว่า 80% จะไม่ผ่านเกณฑ์ที่สามารถเข้าไปกู้ในระบบของแบงก์รัฐได้

นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมองเผินๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะ คนรวยมีอสังหาริมทรัพย์มากก็ต้องเสียภาษีมากตามไปด้วย และ ภาษีแบบใหม่นี้จะเก็บได้ครอบคลุมครบถ้วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับภาษีโรงเรือน ณ ปัจจุบัน ทำให้อนาคตรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่นั่นเป็นการมองเหรียญแค่ 2 ด้านเท่านั้น ขณะที่ "เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ" เหรียญอีกด้านก็คือ ภาษีที่เก็บเพิ่มและครบถ้วนนี้ จะถูกผลักไปยังผู้เช่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือไม่ มีแนวโน้มว่าอาจเป็นเช่นนั้นได้ และ นั่นหมายถึง คนจนต้องรับภาษีตัวนี้ไปรวมในค่าเช่านั่นเอง

ดังนั้น หากคิดจะลดผลตอบแทนส่วนทุนลง รัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีเข้าแทรกแซงผ่านกลไกตลาด โดยพยายามให้คนจนเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พื้นที่เช่าราคาถูกให้ได้ รวมถึงไม่ต้องช่วยเหลือคนรวยมากจนเกินไป โดยมีข้อแม้ว่าทุกเรื่องจะต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ ผมขอเสนอ 3 เรื่องแบบ "999" ดังนี้

1. สินเชื่อ999 : คือ ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละบุคคล ดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี และ ได้รับเงินภายใน 9 วัน วิธีนี้จะส่งผลให้เงินถึงมือคนจนได้หลายแสนล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า "กองทุนหมู่บ้าน" หลายเท่าตัว คนจนจะประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายไปได้มากมาย โดยที่รัฐบาล และ กองทุนประกันสังคม ยังอาจได้รับเงินค่าธรรมเนียม และ ค่าค้ำประกันเงินกู้ฟรีๆ อีกนับหมื่นล้านบาทต่อปี

2. พื้นที่เช่า 999 : การจัดถนนคนเดินให้ผู้ประสบปัญหาที่ราชประสงค์นั่นนับเป็นแนวคิดที่ดีเลย ให้ใช้พื้นที่สาธารณะได้ฟรีเพื่อการค้าขาย ช่วยผู้ค้าได้หลายร้อยราย แต่หากจะช่วยคนระดับเป็นแสนเป็นล้านรายนั้น อาจจะต้องคิดให้กว้างไกลกว่านั้น
- พื้นที่เช่าเพื่อค้าปลีก : รัฐบาลอาจกำหนดเปิดสถานที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจทั่วประเทศจัดพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อให้ประชาชนรายย่อยมาค้าขายได้ โดยคิดค่าเช่าถูกกว่าในห้างสัก 5 เท่าตัว จากเดือนละ 5 พันบาทเหลือแค่ 999 บาทต่อเดือน หรือวันละ 49 บาท ก็จะช่วยลดภาระค่าเช่าให้คนจนไปได้มากโข
- พื้นที่เช่าเพื่อทำกิน : ที่ดินว่างเปล่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีอยู่หลายแสนไร่ทั่วประเทศก็น่าจะนำมาให้เช่าราคาถูกสำหรับการเกษตรได้ในอัตราไร่ละ 999 บาทต่อปี
- พื้นที่เช่าเพื่ออยู่อาศัย : บ้านเอื้ออาทร หรือ บ้านมั่นคงที่ยังขายไม่ออก ก็นำมาให้เช่าราคาถูกๆ แบบเดือนละ 999 บาทก็พอ
หากนำไปปฏิบัติจริง รัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่น้อย แต่กลับจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนับหมื่นล้านบาทต่อปี

3. ลดการสนับสนุนเงินออมแบบ 999 : LTF, RMF และ ประกันชีวิต ควรลดวงเงินในการหักลดหย่อนภาษีลงเหลือไม่เกิน 9 หมื่นบาททั้ง 3 กรณีนั้น วิธีนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มอีกนับหมื่นล้านบาท และ เงินที่ไม่ได้ออมของคนรวยส่วนนี้จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย

การที่รัฐบาลเข้าไปเพิ่มอุปทานของเงิน และ อสังหาริมทรัพย์เพื่อแทรกแซงตลาด ให้ลดผลตอบแทนของทุนลง (ดอกเบี้ย และค่าเช่า) จะช่วยให้คนจนมีรายได้จากแรงงานสุทธิ หลังหักภาระที่ต้องจ่ายผลตอบแทนส่วนทุนแล้ว เหลือพอต่อค่าใช้จ่ายที่กินอยู่อย่างพอเพียง เริ่มเก็บออมเงินเพื่อปลดหนี้สิน และ สร้างความมั่นคงยามเกษียณได้อีกด้วย

เลข 999 มหามงคลนี้อาจเป็นการรหัสสำคัญต่อสมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยก็เป็นได้ เพราะ เลข 999 อาจหมายถึง "ก้าว..ก้าว..ก้าว" หน้าหน่อยนะประเทศไทย ฝากให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้ศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มเติมอันอาจเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองอยู่ไหน

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองอยู่ไหน

ปัจจุบัน วิกฤติในเขตยูโรโซนได้ส่งสัญญาณอันตรายว่าอาจลุกลามไปทั่วเขตยุโรป และ อาจขยายไปยังเขตอเมริกาใต้ รวมไปถึง ทั่วโลก็เป็นได้ ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจีน ทั้งยอดขายอสัหาริมทรัพย์ที่ลดลงไป 70% ในเมืองใหญ่ 3 แห่ง และ ยอดขายรถยนต์ในเดือน พ.ค.ที่ลดลงไป 7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทั้งโลกเริ่มหวั่นเกรงการฟื้นตัวแบบ W หรือ double dip recession กันมากขึ้น

ในขณะที่นโยบายการเงิน รัฐบาลทั่วโลกได้ลดดอกเบี้ยต่ำมากๆ จนเฉียดศูนย์ และ เพิ่มปริมาณเงินจำนวนมากผ่านธนาคารกลางโดยการช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่วนด้านของนโยบายการคลังนั้น หลายประเทศก็ได้ทำการขาดดุลการคลังสูงถึงกว่า 10% GDP เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะเริ่มต้นจากประเทศริมขอบยูโรโซน

ถึงแม้ว่าโลกจะพยายามใช้กระสุน หรือ นโยบายทั้ง 2 ด้านนั้นอย่างเต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่านั่นอาจไม่เพียงพอ ประเทศที่อ่อนแอ และ สถาบันการเงินที่อ่อนแอในประเทศเหล่านั้น อาจประสบกับปัญหาได้อีก แล้วโลกจะมีแผนสำรองที่จะใช้ต่อกรกับวิกฤติรอบ 2 ที่กำลังจะมาเยือนในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือไม่

ผมคิดว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" Taji-Econ. อาจเป็นคำตอบนั้น โดยการลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการออม รวมไปถึง การใช้ "สินเชื่อ99" คือ ให้ สปส. และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% ผ่อน 9 ปี และ ได้เงินภายใน 9 วันเท่านั้น โดยที่ 2 เรื่องนี้เป็น 2 กระบวนท่าสำคัญใน 18 กระบวนท่าเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก นั่นเอง

โดยจะเกิดผลดีถึง 9 ทางด้วยกันดังต่อไปนี้
1. กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี โดยการยืมพลังของ stock (กองทุนบำนาญ) มาช่วย flow (จีดีพี) และ ยืมพลังเจ้าหนี้ (กองทุนบำนาญ) มาช่วยลูกหนี้ (รัฐบาล) นี้ จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายของคนรวยมากขึ้น และ คนรากหญ้าจะประหยัดการผ่อนหนี้ลง เหลือเงินติดกระเป๋าเพื่อใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วย
2. รัฐบาลไม่เสียเงินเลย แต่ยังได้รับเงินเพิ่มอีกด้วย จึงไม่เป็นภาระการคลังแม้แต่น้อย โดยเก็บภาษีได้มากขึ้นจากคนระดับบนที่ลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการออมลงได้เงินภาษีเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังได้รับเงินค่าธรรมเนียมกินเปล่า จาก "สินเชื่อ99" อีก 1.5% ต่อปีของยอดสินเชื่อซึ่งอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย
3. เพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนบำนาญ เพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพสูงขึ้น โดยกองทุนประกันสังคม จะได้รับเงิน 1.5% เป็นค่าค้ำประกันสินเชื่อ99 อาจทำให้ได้รับเงินผลตอบแทนสูงขึ้นถึง 5 พันล้านบาทต่อปี
4. แก้ไขปัญหาหนี้สิน และ ความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเพิ่มผลตอบแทนทุนให้กับคนจน จากระดับ -120% ต่อปี (หนี้นอกระบบ) เป็น -9% ต่อปีเท่านั้น เมื่อคนจนจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง จึงได้รับผลตอบแทนของแรงงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ สูงกว่า รายจ่าย และ เริ่มเก็บออมเพื่อปลดหนี้สิน และ สร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาว
5. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม : โดยคนรวยจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลง แม้รัฐบาลพยายามบอกว่าจะเก็บภาษีทรัพย์สิน แต่สิ่งที่ทำในปัจจุบันด้วยกรส่งเสริมการออมผ่าน LTF, RMF และ ประกันชีวิตนั้น แท้ที่จริงแล้วผลลัพธ์คือตรงกันข้าม เป็นการนำเงินภาษีที่ควรจะเก็บได้ โยนเข้าเป็นสินทรัพย์เพิ่มให้กับคนรวยต่างหาก จำเป็นต้องลดการสนับสนุนส่วนนี้ลง สำหรับ "สินเชื่อ99" นั้น รัฐบาลจะลดผลตอบแทนส่วนทุนของนายทุนนอกระบบลง เพราะคนจนก็จะเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องสนใจต่อ หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน รวมไปถึง เครดิตบูโร อีกด้วย ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและ ผ่อนได้ระยะยาว
6. ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการเงินของประเทศจะต่ำมาก เพราะ เงินนั้นกองอยู่ในเงินกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลต่อการเบี้ยวหนี้ หรือ NPL เลยแม้แต่น้อย หากใครเบี้ยวหนี้ สปส.ก็ยึดเงินได้เลย ซึ่งสิ่งนี้จะแตกต่างกับ กองทุนหมู่บ้าน หรือ ธนาคารประชาชน
7. ลดปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบการเงิน เพราะ ประชาชนจะได้รับเงินมาหมุนในระบบมากขึ้น
8. ประชาชนจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ปลดหนี้สินนอกระบบไปได้ ความเครียดในการใช้ชีวิตจะลดลงมาก
9. เป็นการสนับสนุนให้คนจนพึ่งพาตนเองได้ และ สนับสนุนให้คนจนช่วยเหลือ คนจนด้วยกันเองได้ผ่านการยืมเงินออมตนเอง เพื่อปล่อยกู้ให้กับญาติสนิทมิตรสหาย จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองในกลุ่มคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

จากอดีตถึงปัจจุบัน แทบไม่มีนโยบายของรัฐบาลเลย ที่จะให้ผลดีครบทั้ง 9 ประการเช่นนี้ นอกจากนั้น ผมเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจไทยและโลก อาจเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสพอตัว และ เราจำเป็นต้องเตรียมแผนสำรองไว้ นอกเหนือไปจากแผนหลัก คือ นโยบายการเงิน และ การคลัง โดย เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก Taiji-Econ. คือ แผนสำรองที่ผมขอนำเสนอครับ

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยสึนามิเศรษฐกิจ ตามติดดัชนีหุ้นจีน

เตือนภัยสึนามิเศรษฐกิจ ตามติดดัชนีหุ้นจีน

ประเทศจีนได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และ เป็นประเทศที่มีการส่งออกสูงสุดของโลกไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จีนกลายเป็นหัวรถจักรที่สำคัญยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ดัชนีหุ้น Shanghai Stock Exchange Composite Index นั้น สามารถใช้เป็นตัวแทนของดัชนีหุ้นจีน และ ผมเรียกมันว่า Super Leading Indicator เพราะ เป็นตัวชี้นำของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลก อีกขึ้นหนึ่ง แปลความหมายก็คือ ดัชนีหุ้นจีน วิ่งนำ ดัชนีหุ้นโลก ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำที่สำคัญนั่นเอง

เมื่อย้อนดูในช่วงก่อนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นนั้น ดัชนีหุ้นจีนได้แตะจุดต่ำสุดเดือน พฤศจิกายนปี 2008 ขณะที่ตลาดหุ้นโลกนั้นแตะจุดต่ำสุดที่ เดือน มีนาคม 2009 มีระยะห่างกัน 4 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจริงราวๆ เดือน พฤษภาคม หลังจากตลาดหุ้นโลกฟื้นตัว 2 เดือน อาจเป็นไปได้ว่า ด้วยค่า P/E ที่สูงมากถึงระดับ 30 เท่าของตลาดหุ้นจีน จัดได้ว่าเป็นตลาดที่เสี่ยงสูง และ มีการเติบโตสูงแห่งหนึ่ง การสะท้อนตอบต่อข่าวดี และ ข่าวร้าย จะเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า และ เศรษฐกิจของจีนนั้นก็นับได้ว่านำหน้าเศรษฐกิจรวมของโลกด้วย

เมื่อมาดูตลาดหุ้นในปัจจุบันที่ได้แตะจุดสูงสุดในเดือน มกราคม ปีนี้ และได้ลดลงมาแล้วราว 25% ก็อาจสะท้อนได้ว่า ที่ดัชนีหุ้นโลกแตะจุดสูงสุดในกลางเดือน เมษายนที่ผ่านมา เป็นดัชนีที่วิ่งตามหลังดัชนีหุ้นจีนนั่นเอง และ หากเป็นเช่นนั้นจริง เศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้ว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติการคลังในเขตยูโร ยังอาจได้รับผลกระทบแบบสึนามิจากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้น่าจะเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่เดือน มิถุนายน หรือ กรกฏาคม นี้เป็นต้นไป

เมื่อมาดูเศรษฐกิจจริงของจีน ก็พบว่ามีการชะลอตัวอย่างเด่นชัด โดยยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เสิ่นเจิ้น ได้ลดลงถึง 70% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจเป็นไปได้ว่า ภาคการเงิน และ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ของประเทศจีน อาจประสบกับปัญหาภายในครึ่งปีหลังนี้อย่างหนัก ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุน และ การส่งออก ภายในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

การฟื้นตัวแบบ W นั้นได้มีการคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์อยู่หลายสำนักแต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ หากเศรษฐกิจโลก และ ไทย เกิดการถดถอยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะมีมาตรการอะไรเพื่อต่อสู้กับวิกฤติรอบ 2 นี้หรือไม่...เพราะ นโยบายการเงิน และ การคลัง ก็นำมาใช้กันอย่างเต็มที่แล้ว คำตอบสำหรับเรื่องนี้ดูเหมือนจะแทบไม่มีให้เห็น ให้ได้ยินกันเลย จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทั่วโลกแทบไม่มีแผนสำรองไว้สำหรับวิกฤติรอบ 2 กันเลย

สำหรับตัวผมแล้ว มีข้อเสนอซึ่งอาจเป็นแผนสำรองที่ดีได้ คือ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นแนวคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณการคลัง แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ ไม่เพียง แต่สามารถแก้ไขวิกฤติการคลังได้เท่านั้น แต่ยังช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอีกด้วย และในเมื่อมีสัญญาณเตือนจาก Super Leading Indicator หรือ ดัชนีหุ้นจีน การฟื้นตัวแบบ W นั้นมีโอกาสสูงทีเดียว โดยไทยยังได้รับผลกระทบด้านลบจากการเมืองในประเทศอีกด้วย

ผมจึงขอเรียกร้องให้นักวิชาการ และ ผู้กำหนดนโยบายได้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดี เพื่อเตรียมแผนสำรองในการรับมือกับ 3 วิกฤติ คือ วิกฤติหมูย่างในยุโรป (นำชื่อมาจาก PIIGS ในเขตยูโร) วิกฤติเกี๊ยวซ่าในจีน และ วิกฤติแหนมเนืองในเวียดนาม ล้วนเป็นชื่ออาหารที่อร่อยมากๆ แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว อาหารบนโต๊ะของครึ่งปีหลังนี้...คงไม่อร่อยเหมือนชื่อนักหรอกครับ

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ให้โดนใจคนรากหญ้า

ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ให้โดนใจคนรากหญ้า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือน เมษายน และ พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเศร้าใจ และ สูญเสียทั้งร่างกาย จิตใจ และ ทรัพย์สินต่อคนไทยเป็นจำนวนมาก ในอนาคตสิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อปฏิรูปประเทศไทย แก้ไขปัญหารากเหง้า เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่คนจนรากหญ้าจะต้องมาเรียกร้องความยุติธรรม และ ประชาธิปไตย ในเมืองกรุงกันอีก

ผมขอเสนอ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เพื่อเป็นทางออกเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำอันนั้น โดยในปัจจุบันรัฐบาลยังสาละวนมองเหรียญเพียง 2 ด้านเท่านั้น คือ ในด้านของรายได้ ก็พยายามประกันรายได้ให้เกษตรกร มีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชรา และ ส่งเสริมการศึกษาและทักษะต่างๆ เพื่อให้คนรากหญ้ามีรายได้สูงขึ้น ส่วนในด้านของรายจ่าย ก็พยายามลดต้นทุนของการรักษาพยาบาล และ การศึกษา โดยสนับสนุนในด้านของการรักษาฟรี (สปสช.) และ การเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งก็เป็นการจัดการให้ความช่วยเหลือรายจ่ายเป็นรัฐสวัสดิการที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้

อย่างไรก็ดี มีเหรียญอีก 1 ด้าน ซึ่งเป็นด้านที่ 3 ซึ่งรัฐบาลอาจมองข้ามไปอยู่บ่อยๆ ก็คือ ด้านของความเหลื่อมล้ำของผลตอบแทนทุน คนชั้นสูงนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนทุนตรงนี้ผ่าน LTF โดยการประหยัดภาษีอาจได้ผลตอบแทนคาดหวังที่ 75% ต่อปีในปีแรก (ลงทุน 63% ได้ผลตอบแทนเป็นเงินภาษีคืน 37% และ ผลตอบแทนตลาดหุ้นอีก 10%) วิธีเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้คนชั้นสูงยิ่งรวยขึ้นจากการลงทุนเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขามีการใช้จ่ายน้อยลงอีกด้วย ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องก็คือ จะทำให้รายได้ของคนอีกกลุ่มหนึ่งหรือ คนรากหญ้า นั้นลดลงไปด้วย และ ด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ จึงยิ่งกดดันให้คนกลุ่มรากหญ้านั้นติดหนี้ติดสินมากขึ้นไปอีก และ นี่คือประเด็นว่า การสนับสนุนการออมด้วยการลดหย่อนภาษีนั้น...แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความเหลื่อมล้ำของชนชั้นยิ่งขึ้น

สำหรับคนรากหญ้านั้น ได้ผลตอบแทนด้านแรงงานเป็นบวกก็จริง แต่มีผลตอบแทนด้านทุนเป็นลบ คือ ตกอยู่ในสภาพของลูกหนี้ ดังนั้น การพยายามลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัด เพื่อให้อยู่ได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง โดยเฉพาะในสภาพที่เมื่อถูกนายทุนนอกระบบเอารัดเอาเปรียบ โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อให้ผลตอบแทนส่วนทุนนี้สูงถึง 120% ต่อปีขึ้นไปก็เป็นได้

เมื่อมาดูด้านการสนับสนุนการออมสำหรับแรงงานรากหญ้า ด้วยการบังคับออมโดยไม่ผ่อนปรนผ่านระบบประกันสังคม ได้ทำให้ผลตอบแทนส่วนทุนของผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่ คือ คนรากหญ้นั้น อยู่ที่ค่า -115% (คือ กู้นอกระบบ 120% ต่อปี ขณะที่ออมเงินกับ สำนักงานประกันสังคมได้ตอบแทนต่อปีเพียง 5%) เนื่องด้วยคนรากหญ้านั้นส่วนใหญ่มีหนี้สินอยู่แล้ว ผลตอบแทนของเงินทุนจึงติดลบ แต่แทนที่ สปส.จะปล่อยให้ผุ้ประกันตนนำเงินออมของตนเองมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน ก็จะทำให้ผลตอบแทนเงินทุนเป็น ศูนย์ ได้ (คือ นำเงินออมไปคืนหนี้เงินกู้) ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างมากมาย

ดร.ยูนุส ผู้ก่อตั้ง กรามีนแบงก์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ ไมโครเครดิต ทั่วโลกนั้น เพียงแค่ปล่อยกู้ให้รากหญ้าในระดับ 20% ต่อปี ก็สามารถเพิ่มผลตอบแทนทุน ของคนรากหญ้าจากระดับ -520% ต่อปี (ดบ.เงินกู้นอกระบบ 10% ต่อสัปดาห์) ซึ่งเป็นระดับการเป็นทาสเงินกู้ของนายทุน มาเป็น -20% ต่อปี ก็สามารถทำให้คนเหล่านั้น มีรายได้จากแรงงาน หักจากดอกเบี้ยจ่ายไปแล้ว สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากมายหลายล้านครอบครัว

และหากผู้ประกันตนที่ไม่มีหนี้สินส่วนตนมากนัก อาจนำเงินของตนเองไปปล่อยกู้ให้กับญาติมิตรสนิทได้อีก เช่นที่ 3% ต่อเดือน เขาจะได้ผลตอบแทนของทุนที่ 27% ต่อปี(36% หักด้วยต้นทุนเงินกู้ 9% ต่อปีของสินเชื่อ99 ที่ สปส.ค้ำประกันเงินกู้) แทบไม่น่าเชื่อ นี่ต้องเป็นมหัศจรรย์ของโลกเลยทีเดียว ที่ประเทศไทยสามารถยกระดับคนงานรากหญ้า ให้เป็น นายทุนได้ ภายในเวลา 9 วันเท่านั้นเอง

นี่แหละครับ คือ สิ่งที่คนรากหญ้าต้องการ พวกเขาต้องการผลตอบแทนของทุนที่สูงขึ้น จากระดับ ลบมากๆ มาเป็น ลบน้อยๆ ... และถ้าจะให้ดี ผลตอบแทนของทุน อาจสูงขึ้นสู่ระดับเป็นบวก นั่นหมายถึง พวกเขาได้เดินทางสู่การเป็นนายทุนย่อยๆ ได้แล้ว มันเป็น "ฝัน" ของชนชั้นรากหญ้าเลยนะครับ

สำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้น...ผมได้เสนอในเรื่องของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ไว้แล้ว โดยเราต้องยืมพลังของชนชั้นรากหญ้าที่เป็นคนดี พร้อมทำเพื่อสังคม มาช่วยเหลือคนรากหญ้าด้วยกันเอง และ รักษาสมดุลแห่งอำนาจ ไม่ให้ สส.มีเพียงนายทุนและชนชั้นสูง แต่ สส.ต้องประกอบไปด้วยตัวแทนประชาชนที่เป็นชาวบ้านแท้จริงด้วย ด้วยการสร้างระบบการเลือก สส.แบบ ตัวแทนหมู่บ้าน เลือกมา 7.8 หมื่นคน แล้วจับสลากเอา ตามสัดส่วนประชากร จังหวัดใหญ่ก็จะได้ตัวแทนมากหน่อย และ ยกเลิกกฎที่ต้องจบปริญญาตรีซึ่งได้ลิดรอนสิทธิการเป็น สส.ของคนรากหญ้าออกเสีย วิธีนี้จะทำให้คนรากหญ้า มีโอกาสยกระดับขึ้นเป็น สส. ได้เงินเดือนเป็นแสน ได้เป็นตัวแทนคนในชุมชนของตนเองเพื่อแก้ไขกฎหมายต่างๆ มันเป็น "ฝัน" ของคนรากหญ้าอีกเช่นกันครับ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ และ การเมือง ด้วย เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก และ รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก จะทำให้คนรากหญ้าพึงพอใจอย่างมาก ความเหลื่อมล้ำลดลง และ เป็นการสร้างความปรองดองที่แท้จริงในประเทศไทยครับ

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ

เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ

ตามปกติแล้ว เรามักได้ยิน "เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ" มาโดยตลอด คือ การให้มองให้รอบด้าน ซึ่งจะมีทั้งด้านดีและด้านเสีย ของแต่ละเรื่อง อย่างไรก็ดี สำหรับด้านที่ 3 ซึ่งเป็นด้านข้างของเหรียญนั้น...เป็นทักษะที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยเด็ก 1-2 ขวบ เพราะ มีแต่การหยอดเหรียญผ่านด้านที่ 3 นี้เท่านั้น จึงจะทำให้เหรียญลงไปในกระปุกออมสินได้ และ ด้านที่ 3 นี้เอง มักเป็นคำตอบให้ปัญหายากๆ อยู่บ่อยๆ

สำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น "ด้านหัว" มักเป็นด้านที่มองโดยรัฐบาลและนักวิชาการ ซึ่งมักจะเอาประเทศชาติส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยประชาชนกลุ่มใหญ่รายบุคคลอาจทุกข์ยากลำบาก และ "ด้านก้อย" เป็นด้านที่มองโดยประชาชนทั่วไปที่ไม่ต้องการทุกข์ยาก หรือเสียประโยชน์ อย่างไรก็ดี ด้วยวิธีคิดแบบนี้อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติโดยรวมได้ เราจึงต้องแสวงหา "ด้านกลาง" ซึ่งเป็นด้านที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และ อาจรวมไปถึงปัญหาด้านการเมือง และ สังคมที่ยากๆ ได้อีกด้วย

1.นโยบายการคลังที่ขาดดุลอย่างหนัก ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และ ประเทศริมขอบยูโรโซนอย่าง กรีซ
เหรียญด้านหัว : รัฐบาลจะพยายามลดการขาดดุลการคลังลง ใช้วิธีการรัดเข็มขัดด้วยการขึ้นภาษี และ ลดการใช้จ่ายภาครัฐลง วิธีนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะเดือดร้อน เหลือเงินน้อยลง และ เศรษฐกิจอาจตกต่ำลงอีกครั้งหนึ่งได้ ขณะที่หนี้ภาครัฐก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เหรียญด้านก้อย :ขาดดุลการคลังหนักๆ แบบ 13-15% ต่อ GDP ต่อไป วิธีนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นเสื่อมถอย และ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะวิ่งพรวดเหมือนกรณีประเทศกรีซ ซึ่งจะทำให้ในที่สุดแล้วประเทศจะตกอยู่ในภาวะล้มละลายได้เพราะ หนี้ภาครัฐอยู่ระดับสูงมาก

เหรียญด้านที่ 3 จึงอาจเป็นทางออก ด้วยการไม่ใช้นโยบายการคลังขาดดุล แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะ "กองทุนบำนาญ" ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือแทน เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้โดยไม่เพิ่มหนี้ภาครัฐแต่อย่างใด ซึ่งผมก็ได้ตั้งชื่อแนวคิดนี้ไว้ว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)

2.นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ ประเทศกรีซ
เหรียญด้านหัว : เพื่อส่วนรวมแล้วใช้ "ยูโร"กันต่อไป ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันนั้นสู้กับประเทศหลักอย่าง เยอรมัน และ ฝรั่งเศส ไม่ได้เลย ประเทศมีแต่ตกต่ำลงเพราะ ขาดดุลการค้าอย่างหนักและต่อเนื่อง
เหรียญด้านก้อย : ออกจากระบบยูโรกลับไปใช้เงินสกุลเดิม วิธีนี้อาจทำให้เกิดการขายเงินของกรีซอย่างหนัก และ อาจลามไปยังเพื่อนบ้านในกลุ่ม PIIGS ได้ แถมด้วยหนี้สินที่ติดอยู่เป็นเงินยูโร อาจทำให้ชดใช้ได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม อ้ตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้น

เหรียญด้านที่ 3 อาจเป็นทางออกนั้น ด้วยการให้ประเทศที่อ่อนแอหรือ PIIGS มารวมๆ กันใช้ค่าเงินยูโรต่อไป ขณะที่ประเทศแกนหลักที่แข็งแกร่งกว่าใช้เงินสกุลใหม่ (EURA) แทน วิธีนี้เป็นแบบเงิน 2 สกุลจะทำให้ค่าเงินสะท้อนความสามารถการแข่งขัน ขณะที่ ยังคงประโยชน์จากค่าเงินสกุลเดียวได้อีกด้วย รวมทั้งกรีซยังสามารถจะคืนหนี้สินเงินยูโรได้อย่างไม่ลำบากนักเพราะ ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงได้มาก ช่วยให้การส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างดี

การแก้ไขหนี้นอกระบบของไทย
เหรียญด้านหัว : ใช้แนวคิดของรัฐบาลและนักวิชาการ โดยต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน บุคคลที่กู้ต้องไม่มีประวัติเสียกับเครดิตบูโร วิธีนี้จึงทำให้คนที่สามารถกู้ยืมเงินจากแบงก์รัฐนั้นมีจำนวนน้อยมากไม่เกิน 20% ของคนที่ลงทะเบียนทั้งหมด
เหรียญด้านก้อย : ใช้แนวคิดคนรากหญ้า ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกันเลย ไม่ต้องสนใจเครดิตบูโรด้วย เพราะ ประชาชนก็ลำบากมากอยู่แล้ว วิธีนี้ช่วยประชาชนได้จำนวนมากก็จริง แต่ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสีย หนี้สูญ ซึ่งอาจสั่นคลอนต่อส่วนทุนของแบงก์รัฐได้มาก

เหรียญด้านที่ 3 จึงอาจเป็นคำตอบ เช่น "สินเชื่อ999" โดยให้ กบข. และ สปส. ออกมาค้ำประกันเงินกู้ให้กับสมาชิก และ ผู้ประกันตน ไม่เกิน 9 ส่วนของวงเงินออมของแต่ละบุคคล อัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี วิธีนี้ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาหนี้เสีย ไม่ต้องหาบุคคลค้ำประกัน ไม่ต้องกังวลเรื่องของเครดิตบูโรอีกด้วย

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คำตอบ ไม่ใช่แค่ "หัว" หรือ "ก้อย" แต่เป็น ..."สันกลาง"ของเหรียญต่างหาก ที่อาจจะช่วยผ่าทางตันของวิกฤติออกไปได้ ขอเชิญชวนให้คนไทยร่วมๆกันคิดทางออกแบบเหรียญด้านที่ 3 อย่าลืมนะครับ "เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ"