วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553

Taiji-Econ. สอนแก้บาทแข็ง

Taiji-Econ. สอนแก้บาทแข็ง

แม้แต่ท่านนายกฯ และ ท่านรมว.คลัง ก็ออกมากล่าวว่า “ไร้หนทางที่จะทำให้บาทอ่อน” ซึ่งความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศไทยนั้นมีอยู่ไม่กี่คนที่รู้วิธีทำให้บาทอ่อนได้ และ หนึ่งในนั้นก็คือผมเอง บทความนี้ผมขออนุญาตแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั่วไปแก้ไม่ได้นั้น เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) แก้ไขได้สบายมาก

หากเป็นวิธีตามสำนักมาตรฐาน (เส้าหลิน) ก็คือ การลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา และ การเข้าแทรกแซงเงินบาท วิธีแรกนั้นผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะ หากวิจารณ์กันแบบตรงไปตรงมาแล้ว ต้องถือได้ว่า กนง.ตัดสินใจผิดพลาดที่ขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งที่ผ่านมา ในเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา และ EU คงอัตราดอกเบี้ยไว้ และ ญี่ปุ่นกลับลดดอกเบี้ยลงมาด้วยซ้ำ ขณะที่ประเทศไทยดำเนินนโยบายในทิศทางที่แตกต่างไปจากประเทศยักษ์ใหญ่ ถือว่าเป็นการแตกแถวและจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่หลวง โดยที่อัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ว่ามีการเร่งตัวขึ้น โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ส.ค.ที่ 64% และ การเพิ่มของสินเชื่อก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่น่ากังวลเลย หาก กนง.จะยืดอกรับความผิดพลาดนี้ด้วยการลดดอกเบี้ยกลับลงไปที่เดิมก็น่าจะเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ

ส่วนการเข้าแทรกแซงตลาดเงินบาทนั้น แม้ไม่ควรจะทำแต่ก็ไม่มีทางเลือก ธปท.ได้ต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อประคองค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป แม้จะขาดทุนหลายแสนล้านแต่ก็ทำได้เพียงเท่านี้เอง ความแข็งแกร่งไม่มีทางเอาชนะกองทุนระดับโลกได้ “สู้ก็ตาย ไม่สู้ก็ตาย” คือสิ่งที่ ธปท.ประสบอยู่ แล้วจะมีทางที่ดีกว่านี้ไหม ???

ปัญหาก็คือ เราตั้งโจทย์ผิดมาตลอด มันไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้เงินทุนไหลเข้าลดลง แต่ปัญหาก็คือ ทำอย่างไรให้เงินไหลออกสุทธิต่างหาก.... ประเทศไทยควรตั้งเป้าหมายที่จะได้ดุลบัญชีเดินสะพัดราว 2-3% GDP เพื่อช่วยเรื่องการส่งออก และ การจ้างงาน ดังนั้นเพื่อให้เกิดสมดุลของดุลการชำระเงินแล้ว ไทยจึงจำเป็นต้องเป็นประเทศที่ลงทุนสุทธิไปยังต่างประเทศ ไม่ใช่รอรับเงินลงทุนจากต่างชาติ

หลักการของไท้เก๊ก ก็คือ “รักษาสมดุล” “ยืมพลังสะท้อนพลัง” ลองมาติดตามดูกัน
1. “รักษาสมดุล” ของกฎระเบียบแห่งการไหลเข้า และ ไหลออกของเงินตรา ขณะที่เงินเข้านั้นแทบไม่มีข้อจำกัดเลย แต่เงินออกกลับมีข้อจำกัดมากมาย ควรยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมดที่สกัดเงินออก ยอมให้เงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เสรี ทั้งลงทุนโดยตรง พันธบัตร หุ้น เชิญได้เลยเต็มที่ไม่ต้องขออนุญาต ธปท.อีกต่อไป เปิดศักราชของการลงทุนนอกประเทศ

2. “ยืมพลังประเทศจีน” ประเทศไทยควรเป็นคนต้นคิดเชิญประเทศอาเซียนรวมเป็น 10 ประเทศเดินหน้าเข้า “ขอร้อง” ประเทศจีน ให้ยอมเงินหยวนแข็งค่าโดยเร็ว และ เปิดเสรีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก และ เกษตรในภูมิภาคอาเซียน
ปฏิบัติการนี้อาจตั้งชื่อได้ว่า “ปฏิบัติการ 10/10/10” คือ อาเซียน 10 ประเทศ เดินหน้าขอร้องจีนในเดือน 10 ปี 2010 นี้ โอกาสสำเร็จน่าจะมีสูงทีเดียว เพราะ ประเทศจีนย่อมต้องการบทบาทการเมืองเป็น “พญามังกรเทพผู้เมตตา” มากกว่า “มังกรไร้เขี้ยวเล็บซึ่งต้องยอมจำนนเพราะถูกพญาอินทรีกดดัน” และ หากไทยทำสำเร็จกับการ “ปลดล็อกกับดักเงินหยวน” บทบาททางการเมืองโลกจะโดดเด่นขึ้นมาก เพราะ สามารถทำในเรื่องที่อเมริกาพยายามมาหลายปีแต่ไม่เห็นผล ขณะที่ไทยอาจใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ แต่กลับทำสำเร็จได้อย่างสวยงาม
การที่จีน เป็นทั้งคู่ค้า คู่แข่ง และ คู่ลงทุนของไทยนั้น เงินหยวนหากมีการแข็งค่าขึ้น 20% ก็เหมือนกำลังซื้อของโลกจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 3 เท่าของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันไทยดีขึ้น ส่งออกได้ดีขึ้น และ เงินทุนจะเบี่ยงเบนไปโจมตีประเทศจีนแทนอาเซียน

3. “สะท้อนพลัง” : เงินไหลเข้าสุทธินั้นหลักๆ แล้วก็นำมาเพื่อซื้อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจของไทย ดังนั้น หากคิดจะสะท้อนพลังกลับแล้วก็คือ การขายพันธบัตรภาครัฐออกแล้วส่งเป็นเงินลงทุนต่างประเทศออกไป ใครละ..ที่ถือตราสารพวกนี้อยู่เป็นทรัพย์สิน หลักๆ แล้วก็คือ กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ นั่นเอง
วิธีการก็คือ ธปท.ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่กำลังบาดเจ็บสาหัส จำเป็นต้อง “ยืมพลัง” ของหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ เพื่อร่วมกันต่อสู้ในสงครามเงินบาทครั้งนี้
- รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ต้องคืนเงินกู้ต่างประเทศ หรือ ป้องกันความเสี่ยง (เฮดจ์) อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของยอดหนี้..... ไทยได้กระสุนแล้ว 2 แสนล้านบาท
- กองทุนบำนาญ ซึ่งประกอบด้วย 4 ขุนศึก กบข. สปส. สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิต ซึ่งมีเงินทุนถึง 3 ล้านล้านบาท ต้องไปลงทุนในตราสารต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10% ของเงินกองทุน โดยไม่ต้องเฮดจ์ ดังนั้น จะได้กระสุนอีก 3 แสนล้านบาท
- แบงก์พาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์ตราสารต่างประเทศ มากกว่าหนี้สินต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์รวม เราได้กระสุนอีกแล้ว 5 แสนล้าน

รวมๆ แล้วเป็นเงินถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินไหลเข้าสุทธิราว 5 แสนล้านบาท ณ ปัจจุบันอยู่ถึงเท่าตัว กองทุนบำนาญ และ แบงก์พาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ธปท. และ รัฐบาล ก็จะขายพันธบัตรของไทยออก และ นำไปซื้อพันธบัตรต่างประเทศแทน ซึ่งอาจเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทย อย่างอินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็ได้ ก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และ หากทำสำเร็จตามแผนเงินบาทอาจอ่อนลงจาก 30 บาทเป็น 32 บาท ก็ยังได้จะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก 7% ด้วย นี่จึงไม่ใช่บังคับให้ไปขาดทุน และ บังคับให้ร่วมกันสู้เคียงข้าง ธปท. เพื่อกำไรที่มากขึ้นต่างหาก

หากบทความนี้มีส่วนช่วยเหลือประเทศไทยได้บ้าง ผมของยกเครดิตความดีทั้งหมด และขอแสดงความคารวะขอบพระคุณปรมาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ท่านแรก คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ในฐานะปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์พลังหยิน ท่านที่ 2 คือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ในฐานะปรมาจารย์แศรษฐศาสตร์พลังหยาง และ ท่านสุดท้าย คือ จางซานฟง ในฐานะปรมาจารย์มวยไท้เก๊ก ผู้สร้างกรอบแนวคิด “รักษาสมดุล” และ “ยืมแรงสะท้อนแรง”

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คิดนอกกรอบ ตอบอย่างเคนส์

คิดนอกกรอบ....ตอบอย่างเคนส์

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ถือได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 มีการยกย่องให้เป็นผู้กอบกู้ชีวิตของระบอบทุนนิยมเอาไว้เมื่อ 80 ปีก่อน ในสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก ด้วยการนำเสนอทฤษฎีเคนส์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เคนส์ได้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยากๆ ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ผมจะลองสวมวิญญาณของเคนส์เพื่อลองตอบโจทย์ปัจจุบันดูบ้าง

1.ชี้จุดอ่อนทฤษฎีเก่า : โจทย์ก็คือ จุดอ่อนของทฤษฎีเดิมๆ คืออะไร ?? สำหรับเคนส์แล้วทฤษฎีเก่าก็คือเศรษฐศาสตร์คลาสสิค การกดดอกเบี้ยจนเหลือศูนย์ก็ยังไม่สามารถจะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ แม้สภาพคล่องจะมีล้นเหลือ เพราะ ความเชื่อมั่นในการลงทุนไม่มี คนว่างงานมีมาก อุปสงค์รวมมีน้อยเกินไป เคนส์ตั้งชื่อสิ่งนี้ไว้ว่า “กับดักสภาพคล่อง” (Liquidity Trap)

ผมขอชี้จุดอ่อนของทฤษฎีเคนส์ คือ การที่หนี้สาธารณะสูงขึ้นทำให้เกิดภาระดอกเบี้ยจำนวนมาก การใส่เงินเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน รวมไปถึงการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญและ ให้หักลดหย่อนภาษีได้จำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการ “คืนพลัง” จาก flow เป็น stock ทำให้ผลของตัวทวีคูณลดลงไปมาก ซึ่งก็คือผลบวกของนโยบายการคลังนั้นหดหายไปแทบจะหมดสิ้น นอกจากนี้การออกพันธบัตรรัฐบาล คือ เป็นการดูดพลังของชนชั้นกลางในประเทศแทนที่จะสามารถบริโภคเพื่อหมุนเศรษฐกิจได้ กลับถูกนำไปสะสมเป็นเงินกองทุนบำนาญซึ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสูงราว 70-80% ส่งผลให้กำลังซื้อรวมของประเทศชะลอตัว ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “กับดักเคนส์” (Keynes Trap)

นอกจากนั้นผมคิดว่าปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของทฤษฎีเคนส์ ก็คือ “โครงสร้างประชากร” หากเป็นแบบพิระมิดเหมือนสมัย 80 ปีก่อน ก็มีโอกาสสำเร็จสูง เพราะ เยาวชนจำนวนมากจะเติบโตขึ้น มาเป็นแรงงานเพื่อให้เศรษฐกิจดี และ รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น แต่หากค่าเฉลี่ยอายุประชากรสูงกว่า 40 ปีเสียแล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นน้อยมาก ญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยของประชากรที่ 44 ปี สูงที่สุดในโลก และ มีตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน ขณะที่ กรีซ และ อิตาลี นั้น มีทั้ง 2 ค่า อยู่ในระดับ top ten ของโลก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการใช้ทฤษฎีเคนส์ในยุคปัจจุบันกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ...น่าจะล้มเหลว

2.คำเตือนเรื่อง paradox : โจทย์คือ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีประชาชนควรออมมากๆ ใช่ไหม ?? เคนส์ได้เตือนในเรื่องของ “ความขัดแย้งของความมัธยัสถ์” (Paradox of thrift) หมายถึงหากแต่ละบุคคลพยายามอดออมประหยัดแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมก็อาจไม่ฟื้นตัว ทำให้รายได้โดยรวมลดลง และ ในที่สุดแล้วจะทำให้การออมโดยรวม รวมไปถึงการออมของแต่ละบุคคลนั้นกลับลดลงนั่นเอง

ขณะที่ผมมองในมุมของ stock ก็จะเรียกว่า “ความขัดแย้งของกองทุนบำนาญ” (Paradox of pension) หมายถึงว่า ในเชิงมหภาค หากประชาชนมุ่งเก็บออมในกองทุนบำนาญมากๆ โดยที่รัฐบาลก็พยายามสนับสนุนทางการส่งเงินสมทบและหักลดหย่อนภาษีแล้ว เศรษฐกิจก็จะมี flow น้อยลงส่งผลลบต่อ GDP อาจทำให้เงินที่เข้ากองทุนบำนาญนั้นน้อยลงในที่สุดเพราะ ทั้งเอกชนและรัฐบาลเหลือเงินน้อยลง หากมองในด้านบุคคลแล้ว การบังคับออมเงินในกองทุนประกันสังคม จะทำให้ผู้ประกันตนรายได้น้อย เงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้เงินดอกเบี้ยโหดทั้งในและนอกระบบ สิ่งนี้จึงไม่ได้ทำให้ผู้ประกันตนมั่งคั่งมั่นคงตามแนวคิดประกันสังคม แต่กลับทำให้ผู้ประกันตนยากจนลงต่างหาก

3. ทฤษฎีใหม่ : โจทย์คือ แล้วจะมีทางแก้ปัญหาใหม่ๆ หรือไม่ ??? สำหรับเคนส์แล้วสิ่งใหม่นั้นก็คือ ทฤษฎีเคนส์ นั่นเอง ในยุคนั้นถือเป็นแนวคิด “นอกกรอบ” ที่จะให้รัฐบาลกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้แต่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเคนส์ ก็ยังไม่กล้านำมาใช้ ต้องรอให้ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้ก่อน ตามมาด้วยอเมริกา เมื่อเห็นผลดีจึงขอตามใช้ด้วย หลังจากนั้นได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่นักการเมืองทั่วโลก ไม่เพียงแต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่านั้น แต่รัฐบาลสามารถนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายเพื่อแจกเงินให้กับประชาชนอันเป็นการเพิ่มคะแนนนิยม นอกจากนั้น เมื่อเงินอยู่บนโต๊ะมากขึ้น ก็หมายถึง โอกาสที่เงินจะตกใต้โต๊ะและเขี่ยเข้ากระเป๋าตัวเองมีมากขึ้นด้วย เมื่อได้ทั้งคะแนนนิยมได้ทั้งเงินใต้โต๊ะ นักการเมืองจึงนิยมเคนส์มากๆ แทบทุกประเทศในโลกจึงใช้ทฤษฎีเคนส์ในช่วงเวลาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเคนส์ได้ทิ้งมรดกปัญหาหนี้สาธารณะก้อนโตเอาไว้ ณ ปัจจุบัน

สำหรับผมแล้ว ทฤษฎีใหม่ก็คือ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taji-Econ.) ด้วยการให้รัฐบาลพยายามรักษาสมดุล โดยยืมพลังจากแหล่งต่างๆ ทั้งกองทุนบำนาญ แบงก์รัฐ ตลาดสินทรัพย์ คนเกษียณต่างด้าว ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี ฯลฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการเพิ่มหนี้ภาครัฐไปเรื่อยๆ ยืมพลังของสิ่งหยุดนิ่ง (stock) มาเป็น สิ่งเคลื่อนไหว (flow) ด้วยเงินก้อนเดียวกันจะมีผลต่อ GDP ได้มากขึ้นเป็นร้อยเท่าตัว ทฤษฎีเคนส์ก็เหมือนรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้แต่น้ำมัน แต่แนวคิดของ Taiji-Econ. นั้น เสมือนรถไฮบริด ที่ใช้ได้ทั้งพลังงานน้ำมัน และ ยืมพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย จึงส่งให้มีมลพิษ (หนี้สาธารณะ)ที่ต่ำกว่า

4.ผลิตภัณฑ์ใหม่ : โจทย์คือ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ทางการเงินไหม ??? เคนส์ได้เสนอ “พันธบัตรรัฐบาล” ณ ตอนนั้นแทบไม่มีคนรู้จัก แต่ตอนนี้ก็ใช้กันแพร่หลายมากๆ เป็นตัวเชื่อมการขาดดุลการคลังเพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ผมได้เสนอ “สินเชื่อ999” ซึ่งเป็นสินเชื่อที่อิงกับเงินออมในกองทุนบำนาญไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมนั้น ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนได้ 9 ปี จะช่วยสร้าง flow ขึ้นมาจาก stock ได้หลายแสนล้านบาท

และ “พันธบัตรประกันสังคม” (Social Security Bond) โดยแนวคิดสุดขั้วนี้ เพื่อเปลี่ยนสภาพของกองทุนประกันสังคมที่เป็นเจ้าหนี้ให้สามารถเป็นลูกหนี้ได้ ในอนาคตอีก 25 ปี สปส. อาจจะต้องขายสินทรัพย์เพื่อมาจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้ประกันตน แต่แนวคิดนี้จะยอมให้ สปส.กู้เงินในรูปพันธบัตร หรือ กู้ผ่านแบงก์รัฐได้ จะทำให้เกิด flow ขึ้นใหม่จาก สินทรัพย์ของกองทุนประกันสังคม (stock) สินทรัพย์ของ กองทุนประกันสังคมจึงไม่หมดไปเหมือนอย่างที่หลายๆ ฝ่ายกังวลกันไว้

ผมเชื่อว่ามีนักเศรษฐศาสตร์ไม่มากนักที่จะยืนอยู่ “นอกกรอบ” ของสำนักคลาสสิค และ สำนักเคนส์ แต่อย่าลืมว่า หากเคนส์ไม่นอกกรอบ มาถึงวันนี้พวกเราอาจไม่รู้จัก “ทฤษฎีเคนส์” ก็เป็นได้ และหากโลกเราไม่มีนักฟิสิกส์ที่ปราดเปรื่องและกล้าหาญอย่างไอน์สไตน์ ที่นอกกรอบ “กฎของนิวตัน” ในวันนี้ พวกเราอาจจะยังไม่รู้จักพลังงานนิวเคลียร์ และ ทฤษฎีสัมพัทธภาพก็เป็นได้นะครับ