วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ

เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ

ตามปกติแล้ว เรามักได้ยิน "เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ" มาโดยตลอด คือ การให้มองให้รอบด้าน ซึ่งจะมีทั้งด้านดีและด้านเสีย ของแต่ละเรื่อง อย่างไรก็ดี สำหรับด้านที่ 3 ซึ่งเป็นด้านข้างของเหรียญนั้น...เป็นทักษะที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาตั้งแต่สมัยเด็ก 1-2 ขวบ เพราะ มีแต่การหยอดเหรียญผ่านด้านที่ 3 นี้เท่านั้น จึงจะทำให้เหรียญลงไปในกระปุกออมสินได้ และ ด้านที่ 3 นี้เอง มักเป็นคำตอบให้ปัญหายากๆ อยู่บ่อยๆ

สำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น "ด้านหัว" มักเป็นด้านที่มองโดยรัฐบาลและนักวิชาการ ซึ่งมักจะเอาประเทศชาติส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยประชาชนกลุ่มใหญ่รายบุคคลอาจทุกข์ยากลำบาก และ "ด้านก้อย" เป็นด้านที่มองโดยประชาชนทั่วไปที่ไม่ต้องการทุกข์ยาก หรือเสียประโยชน์ อย่างไรก็ดี ด้วยวิธีคิดแบบนี้อาจส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติโดยรวมได้ เราจึงต้องแสวงหา "ด้านกลาง" ซึ่งเป็นด้านที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และ อาจรวมไปถึงปัญหาด้านการเมือง และ สังคมที่ยากๆ ได้อีกด้วย

1.นโยบายการคลังที่ขาดดุลอย่างหนัก ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และ ประเทศริมขอบยูโรโซนอย่าง กรีซ
เหรียญด้านหัว : รัฐบาลจะพยายามลดการขาดดุลการคลังลง ใช้วิธีการรัดเข็มขัดด้วยการขึ้นภาษี และ ลดการใช้จ่ายภาครัฐลง วิธีนี้ประชาชนส่วนใหญ่จะเดือดร้อน เหลือเงินน้อยลง และ เศรษฐกิจอาจตกต่ำลงอีกครั้งหนึ่งได้ ขณะที่หนี้ภาครัฐก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เหรียญด้านก้อย :ขาดดุลการคลังหนักๆ แบบ 13-15% ต่อ GDP ต่อไป วิธีนี้จะทำให้ความเชื่อมั่นเสื่อมถอย และ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรจะวิ่งพรวดเหมือนกรณีประเทศกรีซ ซึ่งจะทำให้ในที่สุดแล้วประเทศจะตกอยู่ในภาวะล้มละลายได้เพราะ หนี้ภาครัฐอยู่ระดับสูงมาก

เหรียญด้านที่ 3 จึงอาจเป็นทางออก ด้วยการไม่ใช้นโยบายการคลังขาดดุล แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะ "กองทุนบำนาญ" ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือแทน เศรษฐกิจจึงฟื้นตัวได้โดยไม่เพิ่มหนี้ภาครัฐแต่อย่างใด ซึ่งผมก็ได้ตั้งชื่อแนวคิดนี้ไว้ว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)

2.นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของ ประเทศกรีซ
เหรียญด้านหัว : เพื่อส่วนรวมแล้วใช้ "ยูโร"กันต่อไป ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันนั้นสู้กับประเทศหลักอย่าง เยอรมัน และ ฝรั่งเศส ไม่ได้เลย ประเทศมีแต่ตกต่ำลงเพราะ ขาดดุลการค้าอย่างหนักและต่อเนื่อง
เหรียญด้านก้อย : ออกจากระบบยูโรกลับไปใช้เงินสกุลเดิม วิธีนี้อาจทำให้เกิดการขายเงินของกรีซอย่างหนัก และ อาจลามไปยังเพื่อนบ้านในกลุ่ม PIIGS ได้ แถมด้วยหนี้สินที่ติดอยู่เป็นเงินยูโร อาจทำให้ชดใช้ได้อย่างยากลำบากกว่าเดิม อ้ตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้น

เหรียญด้านที่ 3 อาจเป็นทางออกนั้น ด้วยการให้ประเทศที่อ่อนแอหรือ PIIGS มารวมๆ กันใช้ค่าเงินยูโรต่อไป ขณะที่ประเทศแกนหลักที่แข็งแกร่งกว่าใช้เงินสกุลใหม่ (EURA) แทน วิธีนี้เป็นแบบเงิน 2 สกุลจะทำให้ค่าเงินสะท้อนความสามารถการแข่งขัน ขณะที่ ยังคงประโยชน์จากค่าเงินสกุลเดียวได้อีกด้วย รวมทั้งกรีซยังสามารถจะคืนหนี้สินเงินยูโรได้อย่างไม่ลำบากนักเพราะ ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงได้มาก ช่วยให้การส่งออกและการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้อย่างดี

การแก้ไขหนี้นอกระบบของไทย
เหรียญด้านหัว : ใช้แนวคิดของรัฐบาลและนักวิชาการ โดยต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน บุคคลที่กู้ต้องไม่มีประวัติเสียกับเครดิตบูโร วิธีนี้จึงทำให้คนที่สามารถกู้ยืมเงินจากแบงก์รัฐนั้นมีจำนวนน้อยมากไม่เกิน 20% ของคนที่ลงทะเบียนทั้งหมด
เหรียญด้านก้อย : ใช้แนวคิดคนรากหญ้า ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกันเลย ไม่ต้องสนใจเครดิตบูโรด้วย เพราะ ประชาชนก็ลำบากมากอยู่แล้ว วิธีนี้ช่วยประชาชนได้จำนวนมากก็จริง แต่ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสีย หนี้สูญ ซึ่งอาจสั่นคลอนต่อส่วนทุนของแบงก์รัฐได้มาก

เหรียญด้านที่ 3 จึงอาจเป็นคำตอบ เช่น "สินเชื่อ999" โดยให้ กบข. และ สปส. ออกมาค้ำประกันเงินกู้ให้กับสมาชิก และ ผู้ประกันตน ไม่เกิน 9 ส่วนของวงเงินออมของแต่ละบุคคล อัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี วิธีนี้ก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาหนี้เสีย ไม่ต้องหาบุคคลค้ำประกัน ไม่ต้องกังวลเรื่องของเครดิตบูโรอีกด้วย

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่คำตอบ ไม่ใช่แค่ "หัว" หรือ "ก้อย" แต่เป็น ..."สันกลาง"ของเหรียญต่างหาก ที่อาจจะช่วยผ่าทางตันของวิกฤติออกไปได้ ขอเชิญชวนให้คนไทยร่วมๆกันคิดทางออกแบบเหรียญด้านที่ 3 อย่าลืมนะครับ "เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ"