วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร...ให้เศรษฐกิจดีขึ้น

รัดเข็มขัดการคลังอย่างไร...ให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ช่างเป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ที่กำลังหาหนทางในการแก้ไขวิกฤติหนี้สินสาธารณะ พร้อมๆ ไปกับการดูแลให้เศรษฐกิจยังคงดีอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็มักจะทิ้งไว้แต่คำถามโดยแทบไม่เคยมีคำตอบให้เลย

หากเป็นเมื่อ 2 ปีก่อน ในเวลาที่ผมยังคงวนอยู่ในกรอบแนวคิดเศรษฐกิจมหภาคแบบเดิมๆ Y=C+I+(X-M)+(G-T) นั่นหมายถึง หากเราลด (G-T) ลง คือ รัฐบาลใช้จ่ายน้อยลง หรือเพิ่มภาษีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็คือ การรัดเข็มขัดทางการคลังนั่นเอง ย่อมจะส่งผลทางลบต่อ Y หรือ GDP เป็นแน่ ตามหลักแนวคิดคณิตศาสตร์อย่างง่าย ผมก็คงยังคิดเหมือนๆ กับนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปว่าคำถามแบบนี้ ไม่น่าจะมีคำตอบที่ดีๆ ได้แต่อย่างใด

ในปัจจุบันจะพบว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งในยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา ต่างก็ต้องพยายามหาทางรัดเข็มขัดการคลัง เพื่อดูแลปัญหาหนี้สาธารณะไม่ให้เกิดวิกฤติลุกลามอย่างสาหัสคล้ายกับกรณีของประเทศกรีซ แต่จะทำอย่างไร...เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจต้องย่ำแย่ลงอีกครั้งหนึ่ง นี่อาจเป็นโจทย์ที่ยากเย็นอย่างยิ่งของนักเศรษฐศาสตร์เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ดี ผมได้เสนอแนวคิด เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ไว้แล้ว ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดใหม่อันจะช่วยให้รัฐบาลสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือ ลดรายจ่ายลงได้ โดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ โดยใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ จะมีหลายๆ เรื่องกลับช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยซ้ำไป ขอลองตอบโจทย์นี้สัก 9 เรื่องซึ่งอาจเป็นคำตอบของโจทย์ยากๆ ข้อนี้

1. สินเชื่อ999 : โดยให้ สปส. และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และสมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออม อัตราดอกเบี้ย 9%ต่อปี และ ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี วิธีนี้รัฐบาลจะได้ค่าธรรมเนียมฟรีๆ 1.5% ของสินเชื่อ อาจเป็นรายได้เพิ่มถึง 1 หมื่นล้าน โดยเศรษฐกิจจะดีขึ้นด้วยจากกำลังเงินที่เพิ่มขึ้นของประชาชนอีกหลายแสนล้าน

2. พื้นที่เช่า 999 : โดยให้จัดพื้นที่ค้าปลีกราคาถูก 999 บาทต่อเดือน ในสถานที่ราชการและรัฐวิสาหกิจ บ้านเอื้ออาทรค่าเช่า 999 ต่อเดือน รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และ ประชาชนจะมีเงินติดกระเป๋ามากขึ้นเช่นกัน เพราะ ค่าเช่าที่เคยจ่ายนั้นลดลง

3. ลดหย่อนภาษี 999 : ให้ลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีทั้ง RMF,LTF และ ประกันชีวิต จากระดับ 5 แสน เหลือแค่ 9 หมื่นบาทเท่านั้น จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ รัฐบาลได้เงินเพิ่มอีก 1 หมื่นล้าน และ คนระดับเศรษฐีจะออมน้อยลงและนำเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น

4. ดึงเงินจากกองทุนน้ำมัน : รัฐบาลเพิ่มภาษีสรรพสามิตได้อีกลิตรละ 1 บาท แต่ให้ลดเงินนำเข้ากองทุนน้ำมันลง 2 บาทต่อลิตร..ดังนั้นน้ำมันขายปลีกจะลดราคาลงได้ 1 บาทต่อลิตร ประชาชนใช้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลได้ภาษีเพิ่มขึ้น ดึงเงินจากกองทุนน้ำมันมาช่วยนั่นเอง

5. โอนครอบครัวผู้ประกันตนเข้าระบบประกันสังคม : โอนบุคคลในครอบครัวของผู้ประกันตนราว 6 ล้านคน เข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายไปได้ถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปีจากงบบัตรทอง (สปสช.) ขณะที่ประชาชนไม่มีคนเสียประโยชน์ เงินคุ้มครอง 4 กรณีซึ่งรวมการประกันสุขภาพด้วยของ สปส.ยังมีเหลืออยู่กว่า 9 หมื่นล้านบาท ยังรองรับภาระนี้ได้อีกหลายปี

6. เบี้ยกตัญญู 999: แทนที่จะได้รับเบี้ยยังชีพคนชราคนละ 500 บาทจากรัฐบาล ก็ผลักให้เป็นภาระของกองทุนประกันสังคมเสีย พ่อแม่ของผู้ประกันตนรับไปเลยคนละ 999 บาทต่อเดือน อาจโอนไปได้ 2 ล้านคน ทำให้รัฐบาลประหยัดรายจ่ายไปอีก 1.2 หมื่นล้าน

7. ต้อนรับการย้ายถิ่น 999K : รัฐบาลเปิดรับการย้ายถิ่นของคนชราจากประเทศพัฒนาแล้ว 9.99 แสนคน โดยประเทศเหล่านั้นมักให้งบอุดหนุนด้านสุขภาพต่อหัวอยู่ที่ราว 4-5 แสนบาท่ต่อคนชรา 1 คนอยู่แล้ว หากเกิดการย้ายถิ่นจริงไทยก็ของบจากประเทศเหล่านั้นได้เลยหัวละ 9.99 หมื่นบาท แบ่งคนละครึ่งระหว่าง รพ.ชั้นนำ และ รัฐบาลไทย ดูแลสุขภาพประชากรพวกเขาอย่างดี ขณะที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่มรับไปเลย 5 หมื่นล้านบาทต่อปี และ ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอีกมากจากประชากรที่มีเงินได้เงินบำนาญในระดับสูงกลุ่มนี้

8. ลงทุนสินค้าเกษตร 9.99% : รัฐบาลเดินหน้ากำหนดการลงทุนของกองทุนบำนาญทั้งหลาย สปส. กบข. สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิต ซึ่งรวมๆ แล้วน่าจะประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ให้ต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตร หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาด AFET ไม่ต่ำกว่า 9.99% ของเงินกองทุน... ด้วยวิธีง่ายๆนี้จะมีเงินสูงถึง 2.8 แสนล้านมาช่วยยกระดับสินค้าเกษตรแทนรัฐบาลเอง เอกชนจะรับภาระเก็บสต๊อกแทนรัฐบาลเอง เมื่อราคาสินค้าเกษตรอยู่ระดับสูง ภาระในการประกันรายได้เกษตรกรราวปีละ 4 หมื่นล้านก็ไม่ต้องจ่ายแล้ว

9. สมทบ กบข.0.99% : ลดเงินสมทบเข้า กบข.จาก 3% เหลือ 0.99% และ ข้าราชการเองก็สมทบด้วยเงินยอดเดียวกัน รัฐบาลก็จะประหยัดเงินไปได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท และข้าราชการก็จะมีเงินเหลือมากขึ้นนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

10.แถมๆ ให้หน่อยซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยได้เดินหน้าทำมาแล้ว ก็คือ การดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดในการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ นักการเมือง และ ข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่น โดยคดีของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลได้เงินเข้าคลังเพิ่มถึง 4.6 หมื่นล้านบาท และ ยังอาจมีเพิ่มได้อีกในอนาคต เป็นการรัดเข็มขัดโดยไม่มีผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมเลยแม้แต่น้อย

นี่คือตัวอย่าง 10 วิธีง่ายๆ ที่จะรัดเข็มขัดการคลัง โดยที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจอีกด้วย เป็นการตอบโจทย์ที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะทิ้งคำถามซึ่งไร้คำตอบนี้เอาไว้.... "เราจะรัดเข็มขัดการคลังอย่างไรเพื่อให้เศรษฐกิจดีขึ้น"....เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) อาจเป็นคำตอบนั้นครับ

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สไตล์ 999

ปฏิรูปเศรษฐกิจไทย สไตล์ 999

ทำไมต้องเป็นแบบ 999 ก่อนจะถึงตรงนั้น เรามาดูเรื่องของผลตอบแทนทุน และ แรงงานกันก่อน

หลังจากเห็นตัวเลขของสัดส่วนผลตอบแทนของแรงงานที่ลดลงจากระดับ 45% GDP เหลือเพียง 39% เท่านั้นในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้น่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะ คนจนนั้นได้ผลตอบแทนจากแรงงาน แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนของส่วนทุนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก และ ความเหลื่อมล้ำนี้ก็ดูจะไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด เพราะ คนรวยนั้นได้ผลตอบแทนทั้งจากแรงงานเงินเดือนสูง และ ยังได้ผลตอบแทนจากส่วนทุนอีกด้วย

สมมติว่า คนขายเสื้อผ้าได้กำไรขั้นต้นต่อวันที่ 600 บาทแต่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าที่วันละ 200 บาท จ่ายค่าดอกเบี้ยนอกระบบสำหรับเงินทุนหมุนเวียนวันละ 200 บาท จึงเหลือเงินกำไรสุทธิจากแรงงานขายที่ 200 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งเป็นครึ่งเดียวของผลตอบแทนส่วนทุน (ค่าเช่า บวกกับ ดอกเบี้ย) แต่หากลดผลตอบแทนส่วนทุนลงได้ครึ่งหนึ่ง เหลือค่าเช่าวันละ 100 บาทดอกเบี้ยจ่ายวันละ 100 บาท ผู้ขายคนนี้จะได้กำไรสุทธิติดกระเป๋าซึ่งเป็นผลตอบแทนแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 400 บาท ซึ่งสูงกว่าเดิมถึงเท่าตัว และ เป็น 2 เท่าของผลตอบแทนส่วนทุนอีกด้วย นี่คือ หลักคิดง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและความยากจน ด้วยการลดผลตอบแทนส่วนทุนลง เพราะ ส่วนนี้คือภาระของคนจนนั่นแหละ

ขณะที่รัฐบาลพยายามปรับหนี้นอกระบบ เข้าสู่ในระบบนั้น มีกฎเกณฑ์ 2 ข้อหลักคือ 1.ต้องมีหลักทรัพย์ หรือ บุคคลค้ำประกัน 2. ต้องไม่ติดเครดิตบูโร เราก็จะพบว่ามีเสียงบ่นกันมากว่า "หากผมมีเครดิตดีถึงขนาดนั้น คงไม่ต้องติดหนี้นอกระบบแต่แรกแล้ว" ดังนั้น บทสรุปตรงนี้ก็คือ คนที่ลงทะเบียนถึงกว่า 80% จะไม่ผ่านเกณฑ์ที่สามารถเข้าไปกู้ในระบบของแบงก์รัฐได้

นอกจากนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันภาษีที่ดิน และ สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมองเผินๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะ คนรวยมีอสังหาริมทรัพย์มากก็ต้องเสียภาษีมากตามไปด้วย และ ภาษีแบบใหม่นี้จะเก็บได้ครอบคลุมครบถ้วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เหมือนกับภาษีโรงเรือน ณ ปัจจุบัน ทำให้อนาคตรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่นั่นเป็นการมองเหรียญแค่ 2 ด้านเท่านั้น ขณะที่ "เหรียญย่อมมี 3 ด้านเสมอ" เหรียญอีกด้านก็คือ ภาษีที่เก็บเพิ่มและครบถ้วนนี้ จะถูกผลักไปยังผู้เช่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจนหรือไม่ มีแนวโน้มว่าอาจเป็นเช่นนั้นได้ และ นั่นหมายถึง คนจนต้องรับภาษีตัวนี้ไปรวมในค่าเช่านั่นเอง

ดังนั้น หากคิดจะลดผลตอบแทนส่วนทุนลง รัฐบาลต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีเข้าแทรกแซงผ่านกลไกตลาด โดยพยายามให้คนจนเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พื้นที่เช่าราคาถูกให้ได้ รวมถึงไม่ต้องช่วยเหลือคนรวยมากจนเกินไป โดยมีข้อแม้ว่าทุกเรื่องจะต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ ผมขอเสนอ 3 เรื่องแบบ "999" ดังนี้

1. สินเชื่อ999 : คือ ให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละบุคคล ดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนได้สูงสุด 9 ปี และ ได้รับเงินภายใน 9 วัน วิธีนี้จะส่งผลให้เงินถึงมือคนจนได้หลายแสนล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า "กองทุนหมู่บ้าน" หลายเท่าตัว คนจนจะประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายไปได้มากมาย โดยที่รัฐบาล และ กองทุนประกันสังคม ยังอาจได้รับเงินค่าธรรมเนียม และ ค่าค้ำประกันเงินกู้ฟรีๆ อีกนับหมื่นล้านบาทต่อปี

2. พื้นที่เช่า 999 : การจัดถนนคนเดินให้ผู้ประสบปัญหาที่ราชประสงค์นั่นนับเป็นแนวคิดที่ดีเลย ให้ใช้พื้นที่สาธารณะได้ฟรีเพื่อการค้าขาย ช่วยผู้ค้าได้หลายร้อยราย แต่หากจะช่วยคนระดับเป็นแสนเป็นล้านรายนั้น อาจจะต้องคิดให้กว้างไกลกว่านั้น
- พื้นที่เช่าเพื่อค้าปลีก : รัฐบาลอาจกำหนดเปิดสถานที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจทั่วประเทศจัดพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อให้ประชาชนรายย่อยมาค้าขายได้ โดยคิดค่าเช่าถูกกว่าในห้างสัก 5 เท่าตัว จากเดือนละ 5 พันบาทเหลือแค่ 999 บาทต่อเดือน หรือวันละ 49 บาท ก็จะช่วยลดภาระค่าเช่าให้คนจนไปได้มากโข
- พื้นที่เช่าเพื่อทำกิน : ที่ดินว่างเปล่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีอยู่หลายแสนไร่ทั่วประเทศก็น่าจะนำมาให้เช่าราคาถูกสำหรับการเกษตรได้ในอัตราไร่ละ 999 บาทต่อปี
- พื้นที่เช่าเพื่ออยู่อาศัย : บ้านเอื้ออาทร หรือ บ้านมั่นคงที่ยังขายไม่ออก ก็นำมาให้เช่าราคาถูกๆ แบบเดือนละ 999 บาทก็พอ
หากนำไปปฏิบัติจริง รัฐบาล และ รัฐวิสาหกิจ ไม่ต้องเสียเงินเลยแม้แต่น้อย แต่กลับจะมีรายได้เพิ่มขึ้นนับหมื่นล้านบาทต่อปี

3. ลดการสนับสนุนเงินออมแบบ 999 : LTF, RMF และ ประกันชีวิต ควรลดวงเงินในการหักลดหย่อนภาษีลงเหลือไม่เกิน 9 หมื่นบาททั้ง 3 กรณีนั้น วิธีนี้รัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มอีกนับหมื่นล้านบาท และ เงินที่ไม่ได้ออมของคนรวยส่วนนี้จะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย

การที่รัฐบาลเข้าไปเพิ่มอุปทานของเงิน และ อสังหาริมทรัพย์เพื่อแทรกแซงตลาด ให้ลดผลตอบแทนของทุนลง (ดอกเบี้ย และค่าเช่า) จะช่วยให้คนจนมีรายได้จากแรงงานสุทธิ หลังหักภาระที่ต้องจ่ายผลตอบแทนส่วนทุนแล้ว เหลือพอต่อค่าใช้จ่ายที่กินอยู่อย่างพอเพียง เริ่มเก็บออมเงินเพื่อปลดหนี้สิน และ สร้างความมั่นคงยามเกษียณได้อีกด้วย

เลข 999 มหามงคลนี้อาจเป็นการรหัสสำคัญต่อสมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยก็เป็นได้ เพราะ เลข 999 อาจหมายถึง "ก้าว..ก้าว..ก้าว" หน้าหน่อยนะประเทศไทย ฝากให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องและรับผิดชอบต่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้ศึกษาในเรื่องนี้เพิ่มเติมอันอาจเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไปครับ

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองอยู่ไหน

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองอยู่ไหน

ปัจจุบัน วิกฤติในเขตยูโรโซนได้ส่งสัญญาณอันตรายว่าอาจลุกลามไปทั่วเขตยุโรป และ อาจขยายไปยังเขตอเมริกาใต้ รวมไปถึง ทั่วโลก็เป็นได้ ไม่เพียงเท่านั้น ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศจีน ทั้งยอดขายอสัหาริมทรัพย์ที่ลดลงไป 70% ในเมืองใหญ่ 3 แห่ง และ ยอดขายรถยนต์ในเดือน พ.ค.ที่ลดลงไป 7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทั้งโลกเริ่มหวั่นเกรงการฟื้นตัวแบบ W หรือ double dip recession กันมากขึ้น

ในขณะที่นโยบายการเงิน รัฐบาลทั่วโลกได้ลดดอกเบี้ยต่ำมากๆ จนเฉียดศูนย์ และ เพิ่มปริมาณเงินจำนวนมากผ่านธนาคารกลางโดยการช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่วนด้านของนโยบายการคลังนั้น หลายประเทศก็ได้ทำการขาดดุลการคลังสูงถึงกว่า 10% GDP เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะเริ่มต้นจากประเทศริมขอบยูโรโซน

ถึงแม้ว่าโลกจะพยายามใช้กระสุน หรือ นโยบายทั้ง 2 ด้านนั้นอย่างเต็มที่แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ว่านั่นอาจไม่เพียงพอ ประเทศที่อ่อนแอ และ สถาบันการเงินที่อ่อนแอในประเทศเหล่านั้น อาจประสบกับปัญหาได้อีก แล้วโลกจะมีแผนสำรองที่จะใช้ต่อกรกับวิกฤติรอบ 2 ที่กำลังจะมาเยือนในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือไม่

ผมคิดว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" Taji-Econ. อาจเป็นคำตอบนั้น โดยการลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการออม รวมไปถึง การใช้ "สินเชื่อ99" คือ ให้ สปส. และ กบข. ค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% ผ่อน 9 ปี และ ได้เงินภายใน 9 วันเท่านั้น โดยที่ 2 เรื่องนี้เป็น 2 กระบวนท่าสำคัญใน 18 กระบวนท่าเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก นั่นเอง

โดยจะเกิดผลดีถึง 9 ทางด้วยกันดังต่อไปนี้
1. กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี โดยการยืมพลังของ stock (กองทุนบำนาญ) มาช่วย flow (จีดีพี) และ ยืมพลังเจ้าหนี้ (กองทุนบำนาญ) มาช่วยลูกหนี้ (รัฐบาล) นี้ จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายของคนรวยมากขึ้น และ คนรากหญ้าจะประหยัดการผ่อนหนี้ลง เหลือเงินติดกระเป๋าเพื่อใช้จ่ายได้มากขึ้นอีกด้วย
2. รัฐบาลไม่เสียเงินเลย แต่ยังได้รับเงินเพิ่มอีกด้วย จึงไม่เป็นภาระการคลังแม้แต่น้อย โดยเก็บภาษีได้มากขึ้นจากคนระดับบนที่ลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการออมลงได้เงินภาษีเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังได้รับเงินค่าธรรมเนียมกินเปล่า จาก "สินเชื่อ99" อีก 1.5% ต่อปีของยอดสินเชื่อซึ่งอาจสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย
3. เพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนบำนาญ เพิ่มความมั่นคงและเสถียรภาพสูงขึ้น โดยกองทุนประกันสังคม จะได้รับเงิน 1.5% เป็นค่าค้ำประกันสินเชื่อ99 อาจทำให้ได้รับเงินผลตอบแทนสูงขึ้นถึง 5 พันล้านบาทต่อปี
4. แก้ไขปัญหาหนี้สิน และ ความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเป็นการเพิ่มผลตอบแทนทุนให้กับคนจน จากระดับ -120% ต่อปี (หนี้นอกระบบ) เป็น -9% ต่อปีเท่านั้น เมื่อคนจนจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง จึงได้รับผลตอบแทนของแรงงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้ สูงกว่า รายจ่าย และ เริ่มเก็บออมเพื่อปลดหนี้สิน และ สร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาว
5. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม : โดยคนรวยจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีลดลง แม้รัฐบาลพยายามบอกว่าจะเก็บภาษีทรัพย์สิน แต่สิ่งที่ทำในปัจจุบันด้วยกรส่งเสริมการออมผ่าน LTF, RMF และ ประกันชีวิตนั้น แท้ที่จริงแล้วผลลัพธ์คือตรงกันข้าม เป็นการนำเงินภาษีที่ควรจะเก็บได้ โยนเข้าเป็นสินทรัพย์เพิ่มให้กับคนรวยต่างหาก จำเป็นต้องลดการสนับสนุนส่วนนี้ลง สำหรับ "สินเชื่อ99" นั้น รัฐบาลจะลดผลตอบแทนส่วนทุนของนายทุนนอกระบบลง เพราะคนจนก็จะเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องสนใจต่อ หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน รวมไปถึง เครดิตบูโร อีกด้วย ในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมและ ผ่อนได้ระยะยาว
6. ความเสี่ยงที่จะกระทบต่อระบบการเงินของประเทศจะต่ำมาก เพราะ เงินนั้นกองอยู่ในเงินกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลต่อการเบี้ยวหนี้ หรือ NPL เลยแม้แต่น้อย หากใครเบี้ยวหนี้ สปส.ก็ยึดเงินได้เลย ซึ่งสิ่งนี้จะแตกต่างกับ กองทุนหมู่บ้าน หรือ ธนาคารประชาชน
7. ลดปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบการเงิน เพราะ ประชาชนจะได้รับเงินมาหมุนในระบบมากขึ้น
8. ประชาชนจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ปลดหนี้สินนอกระบบไปได้ ความเครียดในการใช้ชีวิตจะลดลงมาก
9. เป็นการสนับสนุนให้คนจนพึ่งพาตนเองได้ และ สนับสนุนให้คนจนช่วยเหลือ คนจนด้วยกันเองได้ผ่านการยืมเงินออมตนเอง เพื่อปล่อยกู้ให้กับญาติสนิทมิตรสหาย จะเกิดความภาคภูมิใจในตนเองในกลุ่มคนจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

จากอดีตถึงปัจจุบัน แทบไม่มีนโยบายของรัฐบาลเลย ที่จะให้ผลดีครบทั้ง 9 ประการเช่นนี้ นอกจากนั้น ผมเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เศรษฐกิจไทยและโลก อาจเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสพอตัว และ เราจำเป็นต้องเตรียมแผนสำรองไว้ นอกเหนือไปจากแผนหลัก คือ นโยบายการเงิน และ การคลัง โดย เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก Taiji-Econ. คือ แผนสำรองที่ผมขอนำเสนอครับ

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยสึนามิเศรษฐกิจ ตามติดดัชนีหุ้นจีน

เตือนภัยสึนามิเศรษฐกิจ ตามติดดัชนีหุ้นจีน

ประเทศจีนได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และ เป็นประเทศที่มีการส่งออกสูงสุดของโลกไปแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า จีนกลายเป็นหัวรถจักรที่สำคัญยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ดัชนีหุ้น Shanghai Stock Exchange Composite Index นั้น สามารถใช้เป็นตัวแทนของดัชนีหุ้นจีน และ ผมเรียกมันว่า Super Leading Indicator เพราะ เป็นตัวชี้นำของดัชนีชี้นำเศรษฐกิจโลก อีกขึ้นหนึ่ง แปลความหมายก็คือ ดัชนีหุ้นจีน วิ่งนำ ดัชนีหุ้นโลก ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำที่สำคัญนั่นเอง

เมื่อย้อนดูในช่วงก่อนการฟื้นตัวของตลาดหุ้นนั้น ดัชนีหุ้นจีนได้แตะจุดต่ำสุดเดือน พฤศจิกายนปี 2008 ขณะที่ตลาดหุ้นโลกนั้นแตะจุดต่ำสุดที่ เดือน มีนาคม 2009 มีระยะห่างกัน 4 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจริงราวๆ เดือน พฤษภาคม หลังจากตลาดหุ้นโลกฟื้นตัว 2 เดือน อาจเป็นไปได้ว่า ด้วยค่า P/E ที่สูงมากถึงระดับ 30 เท่าของตลาดหุ้นจีน จัดได้ว่าเป็นตลาดที่เสี่ยงสูง และ มีการเติบโตสูงแห่งหนึ่ง การสะท้อนตอบต่อข่าวดี และ ข่าวร้าย จะเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่า และ เศรษฐกิจของจีนนั้นก็นับได้ว่านำหน้าเศรษฐกิจรวมของโลกด้วย

เมื่อมาดูตลาดหุ้นในปัจจุบันที่ได้แตะจุดสูงสุดในเดือน มกราคม ปีนี้ และได้ลดลงมาแล้วราว 25% ก็อาจสะท้อนได้ว่า ที่ดัชนีหุ้นโลกแตะจุดสูงสุดในกลางเดือน เมษายนที่ผ่านมา เป็นดัชนีที่วิ่งตามหลังดัชนีหุ้นจีนนั่นเอง และ หากเป็นเช่นนั้นจริง เศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้ว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤติการคลังในเขตยูโร ยังอาจได้รับผลกระทบแบบสึนามิจากประเทศจีนอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้น่าจะเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่เดือน มิถุนายน หรือ กรกฏาคม นี้เป็นต้นไป

เมื่อมาดูเศรษฐกิจจริงของจีน ก็พบว่ามีการชะลอตัวอย่างเด่นชัด โดยยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เสิ่นเจิ้น ได้ลดลงถึง 70% ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ อาจเป็นไปได้ว่า ภาคการเงิน และ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ของประเทศจีน อาจประสบกับปัญหาภายในครึ่งปีหลังนี้อย่างหนัก ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุน และ การส่งออก ภายในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

การฟื้นตัวแบบ W นั้นได้มีการคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์อยู่หลายสำนักแต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นคนกลุ่มน้อย ที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้น คือ หากเศรษฐกิจโลก และ ไทย เกิดการถดถอยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จะมีมาตรการอะไรเพื่อต่อสู้กับวิกฤติรอบ 2 นี้หรือไม่...เพราะ นโยบายการเงิน และ การคลัง ก็นำมาใช้กันอย่างเต็มที่แล้ว คำตอบสำหรับเรื่องนี้ดูเหมือนจะแทบไม่มีให้เห็น ให้ได้ยินกันเลย จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทั่วโลกแทบไม่มีแผนสำรองไว้สำหรับวิกฤติรอบ 2 กันเลย

สำหรับตัวผมแล้ว มีข้อเสนอซึ่งอาจเป็นแผนสำรองที่ดีได้ คือ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นแนวคิดในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องพึ่งพิงงบประมาณการคลัง แต่ใช้หลักการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ ไม่เพียง แต่สามารถแก้ไขวิกฤติการคลังได้เท่านั้น แต่ยังช่วยในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอีกด้วย และในเมื่อมีสัญญาณเตือนจาก Super Leading Indicator หรือ ดัชนีหุ้นจีน การฟื้นตัวแบบ W นั้นมีโอกาสสูงทีเดียว โดยไทยยังได้รับผลกระทบด้านลบจากการเมืองในประเทศอีกด้วย

ผมจึงขอเรียกร้องให้นักวิชาการ และ ผู้กำหนดนโยบายได้ศึกษาเรื่องนี้ให้ดี เพื่อเตรียมแผนสำรองในการรับมือกับ 3 วิกฤติ คือ วิกฤติหมูย่างในยุโรป (นำชื่อมาจาก PIIGS ในเขตยูโร) วิกฤติเกี๊ยวซ่าในจีน และ วิกฤติแหนมเนืองในเวียดนาม ล้วนเป็นชื่ออาหารที่อร่อยมากๆ แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว อาหารบนโต๊ะของครึ่งปีหลังนี้...คงไม่อร่อยเหมือนชื่อนักหรอกครับ

วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ให้โดนใจคนรากหญ้า

ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร ให้โดนใจคนรากหญ้า

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือน เมษายน และ พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเศร้าใจ และ สูญเสียทั้งร่างกาย จิตใจ และ ทรัพย์สินต่อคนไทยเป็นจำนวนมาก ในอนาคตสิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อปฏิรูปประเทศไทย แก้ไขปัญหารากเหง้า เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่คนจนรากหญ้าจะต้องมาเรียกร้องความยุติธรรม และ ประชาธิปไตย ในเมืองกรุงกันอีก

ผมขอเสนอ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เพื่อเป็นทางออกเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำอันนั้น โดยในปัจจุบันรัฐบาลยังสาละวนมองเหรียญเพียง 2 ด้านเท่านั้น คือ ในด้านของรายได้ ก็พยายามประกันรายได้ให้เกษตรกร มีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชรา และ ส่งเสริมการศึกษาและทักษะต่างๆ เพื่อให้คนรากหญ้ามีรายได้สูงขึ้น ส่วนในด้านของรายจ่าย ก็พยายามลดต้นทุนของการรักษาพยาบาล และ การศึกษา โดยสนับสนุนในด้านของการรักษาฟรี (สปสช.) และ การเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งก็เป็นการจัดการให้ความช่วยเหลือรายจ่ายเป็นรัฐสวัสดิการที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้

อย่างไรก็ดี มีเหรียญอีก 1 ด้าน ซึ่งเป็นด้านที่ 3 ซึ่งรัฐบาลอาจมองข้ามไปอยู่บ่อยๆ ก็คือ ด้านของความเหลื่อมล้ำของผลตอบแทนทุน คนชั้นสูงนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนทุนตรงนี้ผ่าน LTF โดยการประหยัดภาษีอาจได้ผลตอบแทนคาดหวังที่ 75% ต่อปีในปีแรก (ลงทุน 63% ได้ผลตอบแทนเป็นเงินภาษีคืน 37% และ ผลตอบแทนตลาดหุ้นอีก 10%) วิธีเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้คนชั้นสูงยิ่งรวยขึ้นจากการลงทุนเท่านั้น แต่ทำให้พวกเขามีการใช้จ่ายน้อยลงอีกด้วย ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องก็คือ จะทำให้รายได้ของคนอีกกลุ่มหนึ่งหรือ คนรากหญ้า นั้นลดลงไปด้วย และ ด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ จึงยิ่งกดดันให้คนกลุ่มรากหญ้านั้นติดหนี้ติดสินมากขึ้นไปอีก และ นี่คือประเด็นว่า การสนับสนุนการออมด้วยการลดหย่อนภาษีนั้น...แท้ที่จริงแล้วอาจเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความเหลื่อมล้ำของชนชั้นยิ่งขึ้น

สำหรับคนรากหญ้านั้น ได้ผลตอบแทนด้านแรงงานเป็นบวกก็จริง แต่มีผลตอบแทนด้านทุนเป็นลบ คือ ตกอยู่ในสภาพของลูกหนี้ ดังนั้น การพยายามลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัด เพื่อให้อยู่ได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง โดยเฉพาะในสภาพที่เมื่อถูกนายทุนนอกระบบเอารัดเอาเปรียบ โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อให้ผลตอบแทนส่วนทุนนี้สูงถึง 120% ต่อปีขึ้นไปก็เป็นได้

เมื่อมาดูด้านการสนับสนุนการออมสำหรับแรงงานรากหญ้า ด้วยการบังคับออมโดยไม่ผ่อนปรนผ่านระบบประกันสังคม ได้ทำให้ผลตอบแทนส่วนทุนของผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่ คือ คนรากหญ้นั้น อยู่ที่ค่า -115% (คือ กู้นอกระบบ 120% ต่อปี ขณะที่ออมเงินกับ สำนักงานประกันสังคมได้ตอบแทนต่อปีเพียง 5%) เนื่องด้วยคนรากหญ้านั้นส่วนใหญ่มีหนี้สินอยู่แล้ว ผลตอบแทนของเงินทุนจึงติดลบ แต่แทนที่ สปส.จะปล่อยให้ผุ้ประกันตนนำเงินออมของตนเองมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน ก็จะทำให้ผลตอบแทนเงินทุนเป็น ศูนย์ ได้ (คือ นำเงินออมไปคืนหนี้เงินกู้) ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าอย่างมากมาย

ดร.ยูนุส ผู้ก่อตั้ง กรามีนแบงก์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของ ไมโครเครดิต ทั่วโลกนั้น เพียงแค่ปล่อยกู้ให้รากหญ้าในระดับ 20% ต่อปี ก็สามารถเพิ่มผลตอบแทนทุน ของคนรากหญ้าจากระดับ -520% ต่อปี (ดบ.เงินกู้นอกระบบ 10% ต่อสัปดาห์) ซึ่งเป็นระดับการเป็นทาสเงินกู้ของนายทุน มาเป็น -20% ต่อปี ก็สามารถทำให้คนเหล่านั้น มีรายได้จากแรงงาน หักจากดอกเบี้ยจ่ายไปแล้ว สามารถมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมากมายหลายล้านครอบครัว

และหากผู้ประกันตนที่ไม่มีหนี้สินส่วนตนมากนัก อาจนำเงินของตนเองไปปล่อยกู้ให้กับญาติมิตรสนิทได้อีก เช่นที่ 3% ต่อเดือน เขาจะได้ผลตอบแทนของทุนที่ 27% ต่อปี(36% หักด้วยต้นทุนเงินกู้ 9% ต่อปีของสินเชื่อ99 ที่ สปส.ค้ำประกันเงินกู้) แทบไม่น่าเชื่อ นี่ต้องเป็นมหัศจรรย์ของโลกเลยทีเดียว ที่ประเทศไทยสามารถยกระดับคนงานรากหญ้า ให้เป็น นายทุนได้ ภายในเวลา 9 วันเท่านั้นเอง

นี่แหละครับ คือ สิ่งที่คนรากหญ้าต้องการ พวกเขาต้องการผลตอบแทนของทุนที่สูงขึ้น จากระดับ ลบมากๆ มาเป็น ลบน้อยๆ ... และถ้าจะให้ดี ผลตอบแทนของทุน อาจสูงขึ้นสู่ระดับเป็นบวก นั่นหมายถึง พวกเขาได้เดินทางสู่การเป็นนายทุนย่อยๆ ได้แล้ว มันเป็น "ฝัน" ของชนชั้นรากหญ้าเลยนะครับ

สำหรับการปฏิรูปการเมืองนั้น...ผมได้เสนอในเรื่องของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ไว้แล้ว โดยเราต้องยืมพลังของชนชั้นรากหญ้าที่เป็นคนดี พร้อมทำเพื่อสังคม มาช่วยเหลือคนรากหญ้าด้วยกันเอง และ รักษาสมดุลแห่งอำนาจ ไม่ให้ สส.มีเพียงนายทุนและชนชั้นสูง แต่ สส.ต้องประกอบไปด้วยตัวแทนประชาชนที่เป็นชาวบ้านแท้จริงด้วย ด้วยการสร้างระบบการเลือก สส.แบบ ตัวแทนหมู่บ้าน เลือกมา 7.8 หมื่นคน แล้วจับสลากเอา ตามสัดส่วนประชากร จังหวัดใหญ่ก็จะได้ตัวแทนมากหน่อย และ ยกเลิกกฎที่ต้องจบปริญญาตรีซึ่งได้ลิดรอนสิทธิการเป็น สส.ของคนรากหญ้าออกเสีย วิธีนี้จะทำให้คนรากหญ้า มีโอกาสยกระดับขึ้นเป็น สส. ได้เงินเดือนเป็นแสน ได้เป็นตัวแทนคนในชุมชนของตนเองเพื่อแก้ไขกฎหมายต่างๆ มันเป็น "ฝัน" ของคนรากหญ้าอีกเช่นกันครับ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ และ การเมือง ด้วย เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก และ รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก จะทำให้คนรากหญ้าพึงพอใจอย่างมาก ความเหลื่อมล้ำลดลง และ เป็นการสร้างความปรองดองที่แท้จริงในประเทศไทยครับ