วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

8 เหลี่ยมแห่งความจน

ในวันนี้ผมจะมาเสนอเรื่อง "8 เหลี่ยมแห่งความจน" (Octagon of Poverty) ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาข้อจำกัดของคนจน ซึ่งแม้จะมีความขยันหมั่นเพียร และ ประหยัดอดออม ก็ไม่แน่ว่าจะนำพาชีวิตพ้นจากความยากจนมาได้ เพราะ ข้อจำกัดจาก 8 เหลี่ยมนี้ ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับ 8 เหลี่ยมของคนรวยที่แทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ มาดูกันทีละข้อ

1.การศึกษาต่ำ
2.รายได้ต่ำ
3.การเข้าถึงข้อมูลต่ำ
4.เครือข่ายสังคมคุณภาพต่ำ
5.การเข้าถึงแหล่งทุนต่ำ
6.การได้รับบริการ และ ความยุติธรรมจากภาครัฐต่ำ
7.ภาระดูแลบริวารสูง
8.ต้นทุนการเงินสูง

ในเมื่อคนจนมีข้อจำกัดจำนวนมาก การเสนอทางแก้ไขปัญหาบางเรื่องจึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบแห่ง 8 เหลี่ยมนี้ เช่น ให้ออมเงินเดือนละ 100 บาทสิ หรือว่า เอาเงินไปลงทุน LTF ทองคำ หรือ หุ้นสิ หรือว่า ส่งลูกไปเรียนอังกฤษสิกลับมาจะได้เป็นรัฐมนตรี นายกฯ เป็นต้น ข้อแนะนำเหล่านี้ล้วนอยู่นอกกรอบ "8 เหลี่ยมแห่งความจน" ทั้งสิ้น

ดังนั้น ทางออกในการต่อสู้กับความยากจน ก็คือ การขยายกรอบของ 8 เหลี่ยมนี้ออกไป ด้วยการส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลผ่านทางบรอดแบนด์ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างสมเหตุสมผล ช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของคนแก่และเด็กซึ่งเป็นบริวาร เป็นต้น แทนการเสนอความช่วยเหลือที่อยู่นอกกรอบ เช่น กอช. ประกันสังคมวิวัฒน์ ฯลฯ

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ธนบัตร 4 ด้าน

สำหรับคนทั่วไป โดยปกติแล้วธนบัตรจะมีอยู่เพียง 2 ด้านเท่านั้น คือ ด้านหน้า และ ด้านหลัง แต่ความจริงแล้วยังมีอีก 2 ด้านที่ไม่ได้สังเกตให้ดีๆ ก็จะไม่พบ นี่เป็นแนวคิดที่ประยุกต์ต่อเนื่องมาจาก "เหรียญ 3 ด้าน" เราจะมาพิจารณาดูกันต่อไป

หากนำสิ่งนี้มาประยุกต์ใช้กับ "นโยบายการคลัง" ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะเห็นกันอยู่ 2 ด้านเท่านั้น คือ
ด้านที่ 1 ด้านหน้า :"ทฤษฎีเคนส์" ด้วยการดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังหนักๆ เพื่อกระตุ้น GDP ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่า หนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก เริ่มเข้าสู่เขตอันตรายแล้ว แต่อเมริกาก็ยังคงเลือกเดินเส้นทางนี้

ด้านที่ 2 ด้านหลัง :รัดเข็มขัดการคลัง ซึ่งก็เป็นทิศทางตรงข้ามกับ "ทฤษฎีเคนส์" คือ การลดขาดดุลการคลังลงมา โดยยอมให้ GDP ชะลอตัวลงไปบ้าง แต่มีข้อดีในการดูแลภาระหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินขอบเขต จนอาจเป็นปัญหาได้เหมือนกรณีประเทศ กรีซ และ ไอร์แลนด์ ดังนั้น ประเทศในยุโรปจึงเลือกเดินเส้นทางนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้ค้นพบ "ด้านที่ 3" โดยบังเอิญ แต่คิดว่าคนไทยคงไม่ดีใจนัก และน่าจะกังวลใจเสียมากกว่า
ด้านที่ 3 ด้านข้างธนบัตรฝั่งยาว คือ การขาดดุลการคลังที่มากขึ้น แต่กลับทำให้ GDP ต่ำลง คือ การใช้เงินขาดดุลการคลังในโครงการที่มีค่าตัวทวี (multiplier) ติดลบ นี่คือแนวคิดของการทำสิ่งที่ "เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง" ตัวอย่างที่เด่นชัดมากในตอนนี้ก็คือ "กองทุนการออมแห่งชาติ" (กอช.)

ด้วยแนวคิดการที่รัฐบาลสนับสนุนการออมให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบนั้น รัฐบาลอาจต้องสมทบเงินถึง 2 หมื่นล้านต่อปี (ขาดดุลการคลังเพิ่ม) และ ประชาชนจะสมทบเงินราว 3 หมื่นล้านบาท มองดูเผินๆ แล้วนี่คือ เรื่องที่ดีเพราะจะช่วยให้ประชาชนได้รู้จักการออม ขณะที่รัฐบาลก็เข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ เพื่อให้ประชาชนในวัยเกษียณจะได้มีเงินทองใช้จ่ายได้

อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรี และ สส.ในสภา ได้ประเมินแต่ผลดีของ "แรงกิริยา" ขณะที่ไม่ได้มองไปที่ผลเสียหายของ "แรงสะท้อนกลับ" (แรงปฏิกิริยา) เพราะ การออมที่มากขึ้น ก็คือ การใช้จ่ายที่น้อยลง ณ ปัจจุบัน และนั่นหมายถึง รายได้ที่ลดลงของคนอีกกลุ่มหนึ่งไปด้วย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า "การขัดแย้งของความมัธยัสถ์" (paradox of thrift) คือ คนหนึ่งคนเมื่อมัธยัสถ์จะเป็นผลดีกับเขาเอง แต่หากประชาชนร่วมใจกันมัธยัสถ์แล้ว จะทำให้การใช้จ่ายรวมลดลง และ สะท้อนไปที่รายได้รวมลดลงไปด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะออมไม่ได้ในที่สุด และ เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม

หากประเมินค่าตัวทวีของคนกลุ่มนี้ที่ 3 เท่า เงินกองทุน กอช.จะระดมเงินได้ราว 5 หมื่นล้านต่อปี ดังนั้นอาจสร้างความเสียหายต่อ GDP ได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท (ราว 1.5% GDP) และ เงินจะจมในกองทุนต่อเนื่องถึง 10 ปีเต็มๆ คิดเป็นความเสียหายได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ที่น่ากังวลใจมากก็เพราะ พรบ.ฉบับนี้ได้ผ่าน ครม.และ สภามาแล้ว 3 วาระ ด่านสุดท้ายก็คือ วุฒิสภา ความหวังของประเทศชาติที่จะหยุดยั้งความเสียหายมหาศาลนี้ ก็คงอยู่ในมือของท่าน สว.ผู้ทรงเกียรติแล้ว

ด้านที่ 4 ด้านข้างธนบัตรฝั่งสั้น แม้จะสังเกตเห็นได้ยาก แต่เราจะใช้ประโยชน์ของด้านนี้ใส่ธนบัตรเพื่อซื้อสินค้าตามตู้ขายสินค้าอัตโนมัติอยู่บ่อยๆ : ความหมายด้านนี้คือ การที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่ม และยังสามารถกระตุ้น GDP ได้อีกด้วย เช่น กรณีของ "สินเชื่อ999" และ "กองทุน555" ซึ่งรัฐบาลจะได้เงินจากภาษีสินเชื่อ และ ค่าค้ำประกันสินเชื่อถึงราว 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาระการคลังลดลง ในเวลาเดียวกันก็จะปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้าน 20 ล้านคน วงเงินราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระการผ่อน ภาระดอกเบี้ยลงทุกเดือน ทำให้เหลือเงินติดกระเป๋ามากขึ้น จึงช่วยกระตุ้น GDP ได้เป็นอย่างดี และเป็นแนวคิดของการทำสิ่งที่ "หยุดนิ่งให้เคลื่อนไหว"

ด้านที่ 4 นี้เอง เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) และยังน่าจะเป็น "กุญแจดอกสำคัญ" ในการแก้ไขปัญหาการคลัง พร้อมๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว แถบยุโรป ญี่ปุ่น และ อเมริกาในอนาคตอีกด้วย