วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

4 ทฤษฎี 4 ฝ่าย 4 งมงาย

มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในหลายด้านที่เป็นเรื่องงมงาย โดยเชื่อถือกันมาแต่อดีต แม้ว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม ซึ่งทำให้โลกไม่สามารถแก้ไขปัญหายากๆ เพราะติดกรอบแนวคิดเดิมๆ เรามาดูกันทีละข้อ

1.ทฤษฎีการคลัง : รัฐบาลทั่วโลก เชื่อกันอย่างงมงายตาม "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์" ว่า การดำเนินนโยบายขาดดุการคลังมากๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การรัดเข็มขัดการคลังจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นการมองธนบัตรเห็นแค่ 2 ด้านในความเป็นจริงแล้ว มันไม่แน่เสมอไป เพราะธนบัตรมีถึง 4 ด้านต่างหาก โดยเฉพาะ โครงการที่เกี่ยวข้องกับ การสมทบเงิน และ การหักลดหย่อนภาษี สำหรับ "กองทุนบำนาญ" ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่าตัวทวี (multiplier) ถึงขั้น "ติดลบ" คือ ยิ่งรัฐบาลใช้เงินเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ลงเพราะเงินจะไปจมกองไว้เฉยๆ และ หากรัดเข็มขัดในโครงการเหล่านี้เศรษฐกิจจะกลับเป็นยิ่งดีขึ้น เพราะ เงินจะถูกออมน้อยลงและไปเพิ่มส่วนของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแทน ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกควรมาใส่ใจกับแนวคิดใหม่ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น" เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

2.ทฤษฎีการเงิน : ธนาคารกลางทั่วโลก ล้วนเชื่ออย่างงมงายว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสกัดเงินเฟ้อ และ การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อ ในความเป็นจริงแล้ว สภาพเศรษฐกิจต่างๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก มีกำลังการผลิตส่วนเกินที่ล้นเหลือ การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ต้นทุนอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น รวมไปถึงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้มีแรงสะท้อนกลับในทางตรงข้าม แทนที่การขึ้นดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยลดอุปสงค์และลดอัตราเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่ม เช่น สินเชื่อในระบบ 10 ล้านล้านบาท หากขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% นั่นคือ ผลักภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้ระบบเศรษฐกิจรวมไปถึง 1 แสนล้าน จึงสะท้อนกลับทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแทน

การจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ควรมองไปที่ต้นทุนการผลิตมากกว่า การที่รัฐบาลไทยเดินหน้าให้เงินอุดหนุน หรือ ลดภาษีให้กับวัตถุดิบอย่าง น้ำมัน LPG NGV น้ำมันพืช แก๊สหุงต้ม และ ปุ๋ย ก็เป็นการมองเพียงมุมเดียว ความจริงแล้ว ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์อย่าง ทุน ที่ดิน และ แรงงงาน ก็ควรให้ความสนับสนุนเช่นกัน โดยให้เช่าพื้นที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจในราคาต่ำ ให้เช่าบ้านเอื้ออาทรเดือนละ 1 พัน เป็นต้น ส่วนด้านแรงงานก็ให้เงินสนับสนุนค่าครองชีพให้ผู้ใช้แรงงานรายได้น้อย ก็จะลดต้นทุนผู้ประกอบการไปได้ และ ผู้ใช้แรงงงานก็มีเงินใช้เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในเรื่องของทุนหรือดอกเบี้ยนั้น แทนที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป ให้ลดดอกเบี้ยลงมาแทนก็จะช่วยในการสกัดเงินเฟ้อได้ผลดีกว่า

หลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงจะมี อัตราเงินเฟ้อสูงตามไปด้วย เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ประเทศเหล่านี้แม้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ก็ไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อได้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่น ซึ่งได้กดดอกเบี้ยมายาวนานหลายปีติดพื้น ก็ประสบกับปัญหาเงินฝืดเรื้อรังเช่นเดียวกัน .... ทางแก้ไขในเรื่องนี้ ก็คือ ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่องมงายเดิมๆ

3.ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน : IMF และ ECB ซึ่งเป็นองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เชื่องมงายว่า ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ คงที่ ทรงตัว จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติเตกีลาในเม็กซิโก ต้มยำกุ้งในไทย และ วิกฤติในอาร์เจนติน่า ล้วนแล้วแต่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูก "ยึด" กับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ ความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งออกสูญเสียไป จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด และ เมื่อดูไปแล้ว ประเทศเวียดนาม ก็ดูเหมือนจะเสี่ยงที่สุดในเอเชียตอนนี้ ที่กำลังเดินสู่เส้นทางแห่งหายนะภายใน 1-2 ปีนี้ โดยสัญญาณอันตรายได้เกิดขึ้น คือ Triple 3 Crisis Signal ซึ่งหมายถึง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% GDP เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศอ้างอิงกว่า 3%

นอกจากนี้ "เงินยูโร" ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบอัตราแลกเปลี่ยนในประวัติศาสตร์โลกก็ว่าได้ ที่พยายามผูกค่าเงินสกุลเดียวไว้กับ ระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ประเทศริมขอบยุโรโซน ไม่สามารถแข่งขันได้ ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงกว่า เยอรมัน จึงทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่อง ดังกรณีของ กรีซ โปรตุเกส และ ไอร์แลนด์ ประเทศเหล่านี้มิได้มีต้นตอจากปัญหาหนี้สินการคลังแต่อย่างใด ความจริงแล้วมันคือ ปัญหาของหนี้สินต่างประเทศต่อ GDP ต่างหาก อย่างกรณีของ ไอร์แลนด์นั้นสูงถึง 1,100% GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก และโปรตุเกสก็สูงถึง 240%

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำก็คือ "รักษาสมดุล" ของดุลบัญชีเดินสะพัดต่างหาก ไม่ใช่ การดูแลในเรื่องของการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะ IMF และ ECB ควรเข้าตรวจสอบประเทศสมาชิก ว่ามีการเสียสมดุลในจุดนี้เกิน 3% GDP เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจหมายถึง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจเสียแล้ว และ ควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน หากมีสัญญาณเตือนภัยเช่นนี้แล้ว ผมเชื่อว่า ระบบเงิน Euro ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น 3 สกุล เช่น Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ภายใน 5 ปีตั้งแต่เริ่มนำมาใช้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหา ณ ปีที่ 12 อย่างในปัจจุบัน โดยที่ IMF และ ECB ก็ยังหลับหูหลับตางมงายว่า "ระบบยูโร" นั้นดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว

4.ทฤษฎีเงินบำนาญ : ผู้บริหารกองทุนประกันสังคม ล้วนเชื่อว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราเงินสมทบ หรือ ยกระดับอายุการเริ่มต้นรับเงินบำนาญ หรือ ลดเงินวงเงินจ่ายบำนาญลง จะทำให้เงินกองทุนหมดลงภายใน 30 ปีนับจากนี้...ความจริงแล้วนี่คือ ความเชื่องมงายอีกเช่นกัน

เพราะว่า สำนักงานประกันสังคม ควรนำแนวคิดแบบ รัฐบาล และ บริษัทเอกชนต่างๆ มาใช้ คือ สามารถก่อหนี้สินได้ จะทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถกู้ยืมเงิน โดยใช้สินทรัพย์ของกองทุนซึ่งอาจสูงถึง 1.5 -2 ล้านล้านบาทในอนาคตอันใกล้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยการออก "พันธบัตรประกันสังคม" จะทำให้สามารถจ่ายเบี้ยบำนาญชราภาพได้โดยสินทรัพย์ไม่ลดลง และ ประคองสถานการณ์ให้ผ่านช่วง "วิกฤติแห่งโครงสร้างประชากร" ไปได้ในที่สุด

จะว่าไปแล้วนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 80 ปีของวงการเศรษฐศาสตร์ก็ว่าได้ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งใช้แนวคิดของ การรักษาสมดุลหยินหยาง และ การยืมพลังสะท้อนพลัง จะช่วยให้ประเทศไทย และโลกค้นพบคำตอบทางเศรษฐกิจที่ยากเย็นได้ ขณะที่ด้วยกรอบแนวคิดเดิมๆ นั้นทั้ง 4 ฝ่าย พยายามเล่านิทานให้กับประชากรทั้งโลกฟังอยู่แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเรื่องงมงายทั้งสิ้น อาจต้องมีการปรับปรุงเขียนตำรากันใหม่เลยทีเดียว เพราะหากปล่อยให้ความงมงายนี้ดำเนินต่อไป ก็มีโอกาสสูงมากที่โลกจะเดินสู่ทางตันของ "อุโมงค์เศรษฐกิจ" อันมืดมิด อย่างไรก็ดีผมหวังว่าแนวคิดใหม่นี้อาจเป็น "แสงสว่างเล็กๆ" ที่ช่วยชี้ทางออกให้กับเศรษฐกิจโลกได้

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

เลือกตั้งอย่างไร...ไม่ใช้เงิน

การใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อการเลือกตั้ง ซึ่งมีการประเมินว่าอาจต้องใช้เงินถึง 5 หมื่นล้าน แทนที่จะเป็นระบอบ "ประชาธิปไตย" เรากลับได้มาแต่ระบอบ "ธนาธิปไตย" ซึ่งได้สร้างปัญหาอย่างมากต่อประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง หากมีสิ่งใหม่คือ "การเลือกตั้งไม่ต้องใช้เงิน" อาจช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่ 4 เรื่องให้เบาบางลงไปได้อย่างมาก
1. การซื้อเสียง : เมื่อไม่ต้องใช้เงินทุน ใช้พลังของสวรรค์มาช่วย จึงคาดได้ว่าไม่มีการซื้อเสียง หรือน้อยมากๆ
2. ทุนอุปถัมภ์ : เมื่อไม่มีต้องใช้เงินทุน ก็ไม่ต้องมีนายทุนพรรค ไม่ต้องมีการอุปถัมภ์แบบ "นายใหญ่" กับ "ลิ่วล้อ"
3. ถอนทุน : เหล่าลิ่วล้อ สส. จำเป็นต้องทดแทนคุณ นายทุนพรรค นำเงินบางส่วนจากโครงการต่างๆ มาเข้าพรรค นี่คือ การถอนทุนทางการเมือง ซึ่งก็คือ "คอรัปชั่น"นั่นเอง เมื่อไม่มีการลงทุนทางการเมือง ก็น่าเชื่อได้ว่า การถอนทุนก็น่าจะลดลงไปได้มาก สส.เปลี่ยนจาก "นายทุนคนเลว" เปลี่ยนมาเป็น "ชาวบ้านคนดี" ก็น่าเชื่อได้ว่า คอรัปชั่นน่าจะเบาบางลงไปเหลือเพียง 1 ใน 10 จากระดับที่สูงมากระดับ 2 แสนล้านบาทต่อปี ณ ปัจจุบัน
4. รัฐประหาร : เมื่อมีการซื้อเสียง และ คอรัปชั่นกันหนักหนาสาหัส จึงเป็นข้ออ้างให้ทหาร สามารถอ้างความชอบธรรมในการทำ "ปฏิวัติรัฐประหาร" ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่า "การใช้เงินทุนมากเพื่อเลือกตั้ง" คือ ต้นตอแห่งความชั่วร้ายทั้งปวงในระบอบการเมืองไทย ดังนั้น หากเราสามารถทำให้การเลือกตั้งไม่ต้องใช้เงินได้...มันจะดีกว่าไหม

สิ่งที่ผมคิดค้นคิดนี้เรียกว่า "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Politics) ซึ่งเป็นการยืมพลังจากสวรรค์ เพิ่มพลังการเมืองให้ชาวบ้านให้คานอำนาจกับนายทุน สร้าง "สมดุลแห่งพลังทางการเมือง" โดยหลักการนี้ยังอาจไปประยุกต์ใช้กับการเลื่อนตำแหน่งข้าราชการ การคัดเลือกเด็กเล็กเข้าเรียน หลีกเลี่ยงปัญหาของการใช้ "เงิน" และ "เส้น" ในประเทศไทยนี้ได้อีกด้วย หลักการมี 2 ขั้นตอนสำคัญ ก็คือ "คัดกรองแล้วจับสลาก"

ไม่ใช้เงินแต่ยังคงความเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้ นั่นก็คือ การให้ประชาชนระดับหมู่บ้านเลือกตั้งตัวแทนแต่ละหมู่บ้านมา 1 คน โดยมีคุณสมบัติต้องจบระดับ ม.ปลายขึ้นไป (แทนที่จะเป็นระดับปริญญาตรี) เราก็จะได้ตัวแทนหมู่บ้านมา 8 หมื่นคนทั่วประเทศ แล้วใช้วิธีจับสลากเอาได้ สส.เขต 375 คน จากตัวแทนหมู่บ้านเหล่านี้ วิธีนี้จะแทบไม่มีการซื้อเสียง แทบไม่ต้องใช้เงินทุน แต่ยังมีความเป็น "ประชาธิปไตย" มากๆ เพราะ เราจะได้ตัวแทนของชาวนา เป็น หัวหน้าชาวนา ไม่ใช่ นายทุนเจ้าที่ดิน เราจะได้ตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน เป็น หัวหน้าคนงาน ไม่ใช่ นายทุนเจ้าของกิจการ

ระบบนี้มันดีมากใช่ไหม?? ใช่แล้วละครับ แต่เราจะพบกับอีกปัญหาที่สำคัญก็คือ สส.ปัจจุบันซึ่งเป็นกลุ่ม "น้ำเน่า" นั้น มีความรับผิดชอบน้อยกว่า "เด็กนักเรียน" เสียอีก เพราะ เด็กนักเรียนได้เงินค่าขนมแต่ละวันแค่เศษเงิน ยังรับผิดชอบด้วยการเข้าห้องเรียนกันทุกวัน แต่ สส.พวกนี้โดดเป็นประจำทำสภาล่มบ่อยๆ นอกจากนี้ ในโรงเรียนยังมีการลงโทษ นักเรียนที่ไม่ทำหน้าที่การเข้าเรียน ด้วยการให้ยืนหน้าห้อง ถูกตี เรียกผู้ปกครองมาพบ พักการเรียน และสุดท้ายคือ ไล่ออก แล้วพวก สส.เหล่านี้มีบทลงโทษอะไรกันบ้างละ ?? ยังหาวิธีขึ้นเงินเดือนตัวเองอีกต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหวังให้ สส.เหล่านี้มาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นมาเป็น สส.กันได้ และ ทำให้พวกเขาซึ่งเป็นนายทุนเลวๆ หรือลิ่วล้อ หมดสิทธิการเป็น สส.ได้อีกนะหรือ .... เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยากเย็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี นี่เป็นโอกาสอันสวยงามที่ศึกเลือกตั้งที่สูสีกันอย่างมากระหว่าง 2 พรรคใหญ่ หากพรรคใดพรรคหนึ่ง เลือกที่จะใช้ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เพื่อเพิ่มพลังเศรษฐกิจให้ชาวบ้านด้วยการยืมพลังจาก "กองทุนบำนาญ" อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนถึง 1 ล้านล้านบาท ผ่าน "สินเชื่อ999" และ "กองทุน555" รวมไปถึง การเดินหน้าปลดหนี้ให้ชาวบ้านราวปีละเกือบ 1 ล้านคน ผ่าน "หวยชมชอบ" และทั้งหมดนี้คือการสร้าง "สมดุลแห่งพลังเศรษฐกิจ" ขึ้นมา รวมไปถึง การสัญญาว่าจะแก้ไข รธน.เพื่อเลือก สส.จากตัวแทนหมู่บ้าน มาเป็น สส.ระบบเขต ด้วยการนำเอา "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Politics) มาเพื่อเพิ่มพลังการเมืองให้ชาวบ้านด้วยการยืมพลังจากสวรรค์เพื่อสร้าง "สมดุลแห่งพลังการเมือง" พรรคนั้นจะกลายเป็น "พรรคที่ถูกเลือก" และ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากชาวบ้านจนน่าจะสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างสบายๆ

อาจกล่าวได้ว่า ต้องใช้เงินทุนถึงกว่า "หมื่นล้าน" เพื่อจะได้เสียง สส.มากพอจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และการที่ผมนำเอาไอเดีย มูลค่านับหมื่นล้าน มาให้กับพรรคการเมืองแบบฟรีๆ ดูเหมือนจะช่าง "ใจดีอย่างไร้สติ" แต่เดี๋ยวก่อน หากเราหยุดคิดสักนิด และมองข้ามช็อตไปในอนาคตข้างหน้า พรรคการเมืองนั้นจะเป็นพรรคที่ถูกเลือกเพื่อสร้าง "สมดุลแห่งพลัง" ขึ้นมาต่างหาก และ นั่นจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากนั้นอีกเป็น "ร้อยเท่าพันทวี" และผลลัพธ์สุดท้ายนั้นเองคือสิ่งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศฝันไว้มิใช่หรอกหรือ ??

เรื่องนี้อาจดูคล้ายกับ ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars อันโด่งดัง "การสร้างสมดุลแห่งพลัง" หากเกิดขึ้นได้นั่นหมายถึง ตอนจบของเรื่องแล้วเป็นภาคสุดท้าย "Return of the Jedi" พรรคใดใช้ระบอบเจได พรรคใดใช้ระบอบซิธ และ ใครเล่นเป็นตัวละครไหน คงต้องไปคิดต่อกันเอาเอง รอดูนโยบายของพรรคและผลการเลือกตั้ง อีกไม่นานหรอกครับ