วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาชมชอบ ตอบโจทย์เมืองไทย

"ประชาชมชอบ" อาจมีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและการเมืองของไทยในอนาคต มันอาจเป็นเรื่องชี้ชะตาเลยว่าพรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย และชาวบ้านจะสามารถเอาชนะนายทุนได้อย่างไร

นโยบาย "ประชาชมชอบ" คือ นโยบายที่กำหนดโดยภาครัฐ ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว แถมยังได้เงินเข้ารัฐในบางเรื่องอีกด้วย โดยที่มีประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และ ทำให้เศรษฐกิจรวมดีขึ้นอีก "ประชาชมชอบ" นี้เอง อาจมีขนาดใหญ่กว่า "ประชาวิวัฒน์" เป็น 100 เท่าตัว โดยเราจะได้มาดูกันต่อไป

1.กองทุนตอง5 (กองทุน555) ก็คือ กองทุนที่มุ่งลบจุดอ่อนของ "กองทุนหมู่บ้าน" ออกไป ด้วยการขยายวงเงินจากหมู่บ้านละ 1 ล้านเป็น 5 ล้านบาท แต่ละคนที่ยืมด้วยเงิน 2 หมื่นก็ขยายเป็นยืมได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท และ จากที่ต้องคืนภายใน 2 ปี ก็ขยายการผ่อนเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และ ออมสินเป็นแบงก์ที่ปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ย 9% (ออมสินได้ 6% รัฐบาลได้ค่าค้ำประกัน 3%) เงินกองทุนส่วนนี้รวมแล้ว 4 แสนล้านบาท และ รัฐบาลจะได้ค่าค้ำประกันราวปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทฟรีๆ

2.สินเชื่อตอง9(สินเชื่อ999) คือ สินเชื่อที่ปล่อยกู้โดยแบง์รัฐ โดยมี กองทุนประกันสังคม (สปส.) กบข. และ บลจ. ค้ำประกันให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละบุคคล โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี (แบงก์รัฐได้ 6% สปส.กบข.ได้ค่าค้ำประกันเงินกู้ 1.5% และ รัฐบาลเก็บภาษีอีก 1.5%) สามารถผ่อนได้ระยะยาวไม่เกิน 9 ปี โดยไม่ต้องสนใจกับเครดิตบูโร คาดว่ามีวงเงินราว 6 แสนล้านบาท จากยอดเงินของกองทุนบำนาญทั้ง 3 ก้อนนี้ 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น สปส.อาจได้เงินค่าค้ำประกันราว 6 พันล้าน และ รัฐบาลได้ค่าภาษีสินเชื่อราว 9 พันล้านบาทฟรีๆ

3.หวยชมชอบ:
เมื่อสปส.เมื่อได้เงินจากค่าค้ำประกันมา 6 พันล้านบาท ก็จะนำเงินนั้นมาทำเป็น "หวย สปส." โดยออกเลขท้าย 3 ตัวทุกเดือน หากตรงกับเลขท้าย 3 ตัวของบัตรประชาชนของผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินรางวัลไปเลย 5 หมื่นบาทเพื่อปลดหนี้ให้กับผู้ประกันตนผู้โชคดีซึ่งจะได้รับโชคตรงนี้ถึงปีละกว่า 1 แสนคน โดยอาจนำไปปลดหนี้หรือลงทุนก็ได้ตามชอบ กบข.ก็อาจออก "หวย กบข." ได้ในทำนองเดียวกัน

การออกหวยนั้นมีข้อดีก็เพราะ "หวย" มีทั้ง "มูลค่าแท้" ตามความน่าจะเป็นคูณด้วยเงินรางวัล และมี "มูลค่าฝัน" ที่คนยอมจ่ายเพิ่มเพื่อได้ความหวังความฝันอีกด้วย เช่น หวยใต้ดินมี "มูลค่าแท้" แค่ 5 บาท ต่อหวยเลขท้าย 3 ตัว 1 เลข และ มี "มูลค่าฝัน" อีก 5 บาท รวมเป็น 10 บาทที่คนซื้อหวยยอมจ่าย เพื่อให้มีโอกาสถูกหวยใต้ดิน 3 ตัว มูลค่า 5 พันบาท "หวย สปส." จึงอาจเป็นทั้งการแจกเงิน และ แจกฝัน ให้แก่ผู้ประกันตนเป็นจำนวนมาก

สำหรับประชาชนทั่วไป รัฐบาลจะเก็บค่าค้ำประกันจาก กองทุนตอง5 และ ค่าภาษีจากสินเชื่อตอง9 มาได้รวม 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็อาจนำมาออกเป็น "หวยตอง9" ซึ่งคนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชนจะได้ลุ้นถูกรางวัลกันทุกเดือน รางวัลละ 2.5 หมื่นบาท หากตรงกับเลขท้าย 3 ตัวของบัตรประชาชน ต้องใช้เงินตรงนี้ราว 1.25 พันล้านทุกเดือน และ ในงวดปีใหม่นั้น จะเบิ้ลเงินรางวัลเป็น 2 เท่าตัว หรือ รางวัลละ 5 หมื่นบาท ก็จะช่วยประชาชนปลดลดหนี้ได้ถึง 6 แสนคนต่อปี ใช้งบฯ ในส่วนนี้ราว 1.6 หมื่นล้านบาท

4.ประกันภัยชมชอบ : รัฐบาลยังมีเงินเหลือจากค่าค้ำประกันอีก 5 พันล้านบาท จะนำมาอุดหนุนการประกันภัยอุบัติเหตุ ในแนวคิดเดียวกับ "ประกันภัยเอื้ออาทร" แต่จ่ายเบี้ยให้บริษัทประกันภัยเพิ่มขึ้นจาก 365 บาทเป็น 400 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุนให้ครึ่งหนึ่งเพื่อสนับสนุนโครงการ จะรองรับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ถึง 25 ล้านคน ก็จะช่วยให้ประชาชนอุ่นใจขึ้นกับความเสี่ยงที่เหลือเชื่อ เช่น นั่งรถตู้อยู่ดีๆ โดนชนท้ายจนเสียชีวิต หรือ อาจโดนลูกหลงจนเสียชีวิตเพราะเด็กช่างกลตีกัน หรือ วิ่งรถบนมอเตอร์เวย์ดีๆ ก็อาจถูกยิงตาย ประชาชนจะอุ่นใจได้ว่าคนข้างหลังจะไม่ลำบากมากนักเพราะได้เงินชดเชยไป 3 แสนบาท

"นโยบายประชาชมชอบ" ทั้ง 4 เรื่องนั้น จะปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนทั้งในและนอกระบบราว 30 ล้านคน หากคิดรวมครอบครัวแล้วก็เกือบทั้งประเทศ เป็นวงเงินถึง 1 ล้านล้านบาท ใช้งบประมาณศูนย์บาท และไม่ต้องเสียเงินค่าที่ปรึกษาเลย เมื่อเทียบกับ "ประชาวิวัฒน์"ที่ปล่อยกู้ 5 พันล้านให้ประชาชนเพียง 3 แสนคนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันถึง 100-200 เท่าตัว ใช้งบฯ 2 พันล้านบาท พร้อมๆ กับเสียค่าที่ปรึกษาให้บริษัทต่างชาติไปแล้ว 69 ล้านบาท

การเก็บค่าค้ำประกัน และ ภาษีนั้น เพื่อแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลไม่ได้ "สนับสนุน" ให้คนเป็นหนี้ แต่ "อนุญาต" ให้กู้ยืมเงินได้ต่างหาก อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อเงินด่วนทั้งในและนอกระบบ นอกจากนี้ "หวยชมชอบ" ยังเป็นแนวคิดแห่งกรอบความพอเพียง เพราะ ไม่ต้องเสียเงินซื้อหวย แต่ประชาชนมีความหวัง มีลุ้นที่จะปลดหนี้เป็นประจำทุกเดือน และ สำหรับคนที่ไม่มีหนี้สินก็ยังมีความหวังจะได้เงินรางวัลเพื่อไปจับจ่ายซื้อของหรือแบ่งปันให้คนอื่นได้อีกด้วย ส่วนการประกันภัยก็จะทำให้ประชาชนอุ่นใจขึ้นต่อความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเกิดจากอุบัตเหตุอันยากจะคาดเดาในประเทศนี้

ด้วยนโยบายทั้ง 4 เรื่องนี้ บริหารพรรคการเมืองสามารถนำไปประกาศเป็นนโยบายพรรค เพื่อรอรับคะแนนเสียงท่วมท้นได้เลยจนอาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ด้วยซ้ำไป เพราะ 1 ใน 4 ของคนไทยนั้นคือ แฟนพันธุ์แท้ของ "ประชาธิปัตย์" และ อีก 1 ใน 4 นั้นคือแฟนพันธุ์แท้ของ "เพื่อไทย" แต่อีกราวครึ่งหนึ่งของประชาชนนั้นยังไม่ตัดสินใจ และ "ประชาชมชอบ" ก็คือแนวนโยบายที่จะกวาดเอาคนตรงกลางของประเทศมาสนับสนุนพรรคนั่นเอง

เรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญเพราะ นโยบายเช่นนี้คือ การดึงเอาผลประโยชน์ราว 2 แสนล้านกลับคืนจากมือ "นายทุน" ทั้งในและนอกระบบไปสู่มือของ "ชาวบ้าน" ไม่เพียงแต่ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามการหมุนของรอบเงินที่สูง ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างเร็วอีกด้วย เรื่องแบบนี้หากไม่เป็นเพราะใกล้ศึกเลือกตั้งแล้วละก็พวกเราแทบหวังนโยบายแบบนี้ไม่ได้เลย นี่จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่ง

และที่บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองก็เพราะว่า พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายพรรคแนวนี้ น่าจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายจนแทบไม่เหลือที่ให้พรรคการเมืองอื่นยืนบนเวทีการเมืองได้อีกนาน เพราะการเป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อ "ชาวบ้าน" ยิ่งกว่า "นายทุน" นั้น ย่อมได้รับคะแนนเสียงที่ท่วมท้นต่อเนื่องไปนานแสนนาน

ดังนั้นม้าแข่ง 2 ตัวซึ่งเป็น 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่กำลังวิ่งอย่างสูสีกันอยู่นี้ เราอาจได้เห็นการ "เข้าวิน" แบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเหลือเชื่อด้วยพลังวิเศษจากนโยบาย "ประชาชมชอบ" ก็เป็นได้ มันจะไม่เพียงเป็นการชนะเลือกตั้งของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของ "ชาวบ้าน" ที่มีต่อ "นายทุน" อีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

กับดักประชาวิวัฒน์

เมื่อได้เห็นรายละเอียดของนโยบาย "ประชาวิวัฒน์" ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่านี่คือ สิ่งที่คนระดับรัฐมนตรี และ ผู้นำของ 30 หน่วยงานได้ระดมสมองสร้างกันขึ้นมาโดยใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์เต็มๆ เพราะ ผมใช้เวลาแค่ไม่ถึง 5 นาที ก็พบจุดบกพร่องอันตรายใหญ่หลวงของ "ของขวัญปีใหม่" 9 ชิ้นนี้ โดยมีอยู่หลายชิ้นที่ซ่อนระเบิดเวลาเอาไว้

ปัญหาหลักของเรื่องนี้อาจอยู่ที่ ผู้กำหนดนโยบายอาจไม่ได้ใส่ใจต่อ "การสะท้อนพลังกลับ" ของนโยบายต่างๆ ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาสำคัญของ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) จึงทำให้มองไม่เห็นด้านลบของนโยบายที่ออกมา โดยเน้นมองด้านบวกแต่เพียงด้านเดียว

ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า "ประชาวิวัฒน์" ซึ่งมีแนวคิดไม่ใช้เงินงบประมาณเลย แต่สร้างประโยชน์และความพอใจต่อประชาชนส่วนใหญ่ จะเป็นแนวคิดที่คล้ายกับนโยบาย "ประชาชมชอบ" ที่ผมได้ตั้งชื่อไว้เมื่อ 2 ปีก่อน โดยได้นำเสนอผ่านบทความ "ปฎิรูปเศรษฐกิจไทยสไตล์ 999" และ "จากประชานิยมสู่ประชาชมชอบ" ไว้แล้วด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสนับสนุน

สิ่งนี้จึงแตกต่างจาก "ประชานิยม" อันเป็นนโยบายที่ทุ่มเงินงบประมาณลงไป เพื่อให้ประชาชนนิยมในตัวรัฐบาล แต่เมื่อเห็นรายละเอียดแล้วผมถึงกับอึ้ง เพราะว่า "ประชาวิวัฒน์" นั้นกลับกลายเป็น "นโยบายการคลัง" ที่พิศดารมากๆ คือ ทุ่มเงินงบประมาณลงไปแล้วเศรษฐกิจกลับแย่ลง ซึ่งจะได้แจกแจงรายละเอียดกันต่อไป

ผมคงไม่ไปแตะนโยบาย "น้ำจิ้ม" ที่ดูแลคนขับมอเตอร์ไซค์ คนขับแท๊กซี่ และ หาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นประชาชนเพียง 3 แสนคน แม้ว่าจะดูดีมีประโยชน์อยู่บ้าง และ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงนโยบาย "เด็กเล่นขายของ" อย่างเช่น การขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม อันที่จริงแล้วนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและประชาชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินระดับหมื่นล้าน อาจมีแค่ 3 เรื่อง คือ

1.ลดภาระกองทุนน้ำมัน การลดราคาน้ำมัน ด้วยการลดการอุดหนุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณ แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะประหยัดเงินได้ 7,300 ล้านบาท โดยนำเงินที่ประหยัดได้มาตรึงราคาน้ำมันหรือลดน้ำมันให้กับคนไทยทั่วประเทศ

2.การให้ประชาชนคนจนใช้ไฟต่ำกว่า 90 หน่วยใช้ฟรีตลอดไป ได้ประโยชน์ราว 9.1 ล้านครอบครัว โดยให้คนที่ใช้ไฟมากๆ ในภาคธุรกิจและคนรวย ชนชั้นกลางมาแบกรับภาระแทน มูลค่าตรงนี้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท

3.การให้แรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน เข้าระบบประกันสังคมภาคสมัครใจ ให้ประชาชนเลือกในอัตรา 100 และ 150 บาทต่อเดือน โดยประชาชนจ่ายไม่เกิน 100 บาท และรัฐช่วยประเดิมส่วนหนึ่ง ครอบคลุมสิทธิประโยชน์สูงสุด 4 ด้านคือ การชดเชยเมื่อเจ็บป่วย ทุพลภาพ เสียชีวิตและบำเหน็จ ชราภาพ ประชาชนจะเริ่มเห็นผลในเดือน ก.ค. 2554

สำหรับข้อ 1 และ 2 นั้น ดูไปแล้วก็คือ การผลักภาระจากกองทุนน้ำมัน และ รัฐบาล ไปสู่ภาคธุรกิจ คนรวย และ คนชั้นกลาง ให้แบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นราว 2.5 หมื่นล้านบาทนั่นเอง สิ่งที่จะตามมา 3 เรื่องก็คือ 1.ภาคธุรกิจอาจผลักภาระต้นทุนไปที่ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้า 2.ภาคธุรกิจอาจลดต้นทุนด้วยการลดเงินเดือน ค่าจ้าง พนักงาน หรือปลดออกบางส่วน และ 3.ประชาชนคนชั้นกลาง และ คนรวย อาจมีเงินเหลือติดกระเป๋าลดลง เลยใช้จ่ายสินค้าประเภทอื่นลดลง ผลกระทบทางอ้อมสุดท้ายแล้วก็จะไปตกกับชาวบ้านตาดำๆ นั่นเอง และ หากประเมินค่าตัวทวี (multiplier) ที่ 2 เท่า แล้ว 2 เรื่องนี้อาจทำให้ GDP ลดลงได้ราว 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับข้อ 3 นี่คือนวัตกรรมนโยบายการคลังยอดแย่ของประวัติศาสตร์โลก เพราะ หากประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 25 ล้านคนเข้าร่วมโครงการ "ประกันสังคมวิวัฒน์" แล้วละก็ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินให้คนละ 50 บาทต่อเดือน หรือ 600 บาทต่อปี รวมๆ แล้วก็ตกราว 1.5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งงบฯ ไว้ 1.5 พันล้านถึง 10 เท่าตัว) ไม่เพียงแต่ใช้งบประมาณมากมาย แต่ประชาชนแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังสมทบเงินเข้ามาอีก 3 หมื่นล้าน รวมเป็น 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี นำไปจมไว้เฉยๆ กับกองทุนประกันสังคม ซึ่งทำให้รอบการหมุนเงินของคนจนซึ่งเคยสูงมากนั้นลดลงไปอย่างมากมาย หรือ GDP อาจหายไปถึง 1.35 แสนล้านบาท (หากคิดค่าตัวทวีของคนจนราว 3 เท่า) นั่นหมายถึง ค่าตัวทวีของโครงการ "ประกันสังคมวิวัฒน์" อาจตกอยู่ที่ -9 เท่า (คือขาดดุลการคลัง 1.5 หมื่นล้าน แต่กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลง 1.35 แสนล้านบาท หรือย่ำแย่ลง 9 เท่าตัว) อาจกล่าวได้ว่านี่คือ "นโยบายการคลัง" ที่มีค่า "ตัวทวี" ที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

เมื่อรวมของขวัญทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ก็พบว่า GDP อาจเสียหายไปได้ถึง 1.85 แสนล้านบาท (ราว 1.8% GDP) ซึ่งตรงกันข้ามกับการกล่าวอ้างของรัฐบาลที่บอกว่าจะมีผลประโยชน์เพิ่ม 2.6 หมื่นล้านบาท ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แน่นอนว่าตัวผมและคนไทยเกือบทั้งประเทศไม่อยากเห็นความเสียหายมหาศาลของเศรษฐกิจไทยที่อาจเกิดขึ้นนี้ หากท่านผู้กำหนดนโยบายจะผลักดัน "ประชาวิวัฒน์" ให้ผ่านออกมาให้ได้อย่างเร็วก็ถือเป็นเวรกรรมของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ผมขอร้องให้พวกท่านได้โปรดพิจารณาดูรายละเอียดของ "ของขวัญ" เหล่านี้อีกสักครั้งจะดีไหมครับ