วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ของขวัญชิ้นใหญ่....มอบให้ญี่ปุ่น

ของขวัญชิ้นใหญ่....มอบให้ญี่ปุ่น

หลังจากเกิดภัยแผ่นดินไหว ตามมาด้วยความเสียหายจากสึนามิ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไว้ราว 25 ล้านล้านเยน หรือราว 9.5 ล้านล้านบาท นี่ยังไม่นับความเสียหายจากชีวิต และ การสูญหายของผู้คนที่อาจมากกว่า 2.7 หมื่นคน รวมไปถึงภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย มีน้ำใจที่ไหลเข้าไปช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และ สำหรับบทความนี้ผมอยากจะบอกว่า ได้เตรียม DISC ไว้ 1 แผ่นแต่อาจมีมูลค่ามหาศาลเพื่อให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีบุญคุณอันใหญ่หลวงในการถ่ายทอดวิชาการเศรษฐศาสตร์แก่ผมเอง

DISC ที่ว่านี้ก็คือ ปัจจัย "DISC" ที่ทำให้นโยบายการคลังแบบเดิมๆ นั้นไม่สามารถส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

1.D : Demographic Change (การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร) เมื่อเทีบบกับ 80 ปีก่อนในสมัยของ เคนส์ นั้น โครงสร้างประชากรเป็นแบบ "พีระมิด" นั่นหมายถึง การที่รัฐบาลผลักภาระให้กับคนรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน จะเติบโตขึ้นมาสู่วัยทำงาน ทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น จึงเหมาะสมแล้ว แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี และ คนชราก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แนวคิดแบบเดิมๆ จึงใช้ไม่ได้ รัฐบาลควร "ยืมพลัง"จากประชาชนกลุ่มที่มีจำนวนมากมาช่วยเหลือภาระหนี้ต่างหาก

2.I : Interest Burden (ภาระดอกเบี้ย) ซึ่งพอกพูนขึ้นตามหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ เงินนี้ก็ส่งไปจมกับ "เจ้าหนี้" ซึ่งหลักๆ แล้วคือ "กองทุนบำนาญ" ไม่ได้ถูกหมุนออกมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่รัฐบาลก็เหลือเงินจากการขาดดุลการคลังที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงไปอีก

3.S : Social Security Fund (กองทุนประกันสังคม) ขณะที่ในอดีตนั้น "เคนส์" ได้ให้รัฐบาลเป็นตัวกลาง ในการนำเงินของ คนรวยมาสู่กระเป๋าคนจน ผ่าน "พันธบัตรรัฐบาล" แต่ปัจจุบัน แนวคิดกลับสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น คือ กองทุนประกันสังคม จะดูดเงินของคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในผู้ประกันตน ไปให้รัฐบาลกู้ยืม เพื่อส่งต่อเงินนั้นให้คนรวย เช่น นายทุนรับเหมาก่อสร้าง และ นักการเมือง ข้าราชการ ขี้ฉ้อ ดังนั้น การขาดดุลการคลังจึงทำให้รอบการหมุนของเงินแย่ลง แทนที่จะดีขึ้น

4.C : Corruption (คอรัปชั่น) โดยนักการเมือง และ ข้าราชการนั่นเอง มีการประเมินว่า ประเทศไทยเองต้องสูญเงินราว 2 แสนล้านบาทในแต่ละปีไปกับเรื่องเช่นนี้ แน่นอนว่ามันย่อมทำให้ประสิทธิผลของการขาดดุลการคลังแย่ลงมาก โดยมีการเรียกขานกันว่า "กู้มาโกง"

ประเทศญี่ปุ่นได้เดินเข้าสู่อุโมงค์แห่งความมืดมาได้ 20 ปีแล้ว โดยแนวคิดของเคนส์ "เศรษฐศาสตร์แบบอนาลอก" ด้วยการใช้เทปแคสเซ็ท หรือ แผ่นเสียง ซึ่งเป็นแบบเก่าๆ แล้ว โดยนักวิชาการ และ บุคคลระดับรัฐมนตรีคลังทั้งของไทยและญี่ปุ่นก็คิดไม่ต่างกันนักที่ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกู้มาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นยิ่งทำให้ เส้นทางยิ่งมืดมิดลงไปอีก....หากรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องกู้เงินมาเพิ่มเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดในโลกกว่า 200% GDP เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่เศรษฐกิจแบบผู้สูงอายุก็ยิ่งกดดันไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ง่ายนัก

DISC แผ่นนี้ที่มีเนื้อหาของ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เป็นแนวคิดของ "เศรษฐศาสตร์แบบดิจิตอล" ซึ่งจะทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ พร้อมๆ ไปกับ การรัดเข็มขัดการคลัง โดยผมได้เคยเขียน "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น"ไว้ก่อนแล้ว ด้วยการใช้เคล็ด 3 ประการของไท้เก๊ก คือ "รักษาสมดุล" "ยืมพลัง สะท้อนพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน ในเคลื่อนมีนิ่ง" ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถยืมพลัง จากกองทุนบำนาญ และ เปลี่ยนสิ่งที่อยู่นิ่งๆ ในกองทุน มาเป็นเคลื่อนไหว เพื่อช่วยหมุนเศรษฐกิจให้เติบโตได้

หากประเมินคร่าวๆ มองด้าน flow น่าจะทำให้ GDP ของญี่ปุ่นสูงขึ้น 2% เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าราว 50 ล้านล้านเยน และ หากมองด้าน stock น่าจะทำให้การขาดดุลการคลังของญี่ปุ่นลดลงได้ราวครึ่งหนึ่ง 4% GDP ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าราว 100 ล้านล้านเยน ซึ่งยอดตัวเลขนี้สูงกว่าความเสียหายจากแผ่นดินไหว และ สีนามิครั้งนี้ถึง 4 เท่าตัว และ ยังน่าจะมากกว่าการช่วยเหลือของทุกประเทศในโลกรวมกันที่มอบให้แก่ญี่ปุ่นเสียอีก ไม่เพียงเท่านั้น เส้นทางที่มืดมิดสนิทในอุโมงค์เศรษฐกิจของญี่ปุ่น อาจได้เห็นแสงสว่างเล็กๆ ปลายอุโมงค์ เพราะ DISC แผ่นนี้ก็ได้ และบางที "ความหวัง" เล็กๆ นี้เอง อาจเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องการอย่างที่สุดในห้วงเวลาแห่งความคับขันเช่นนี้.....