วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จาก "ทฤษฎี 2 สูง" สู่ "หายนะ 6 สูง"

ทฤษฎี 2 สูง อันโด่งดังของท่านเจ้าสัว ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่น รวมไปถึง การรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้ เกษตรกรมีรายได้ "สูง" และ คนทำงานได้ค่าแรงและเงินเดือน "สูง" ขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของทฤษฎี 2 สูงนั่นเอง

อย่างไรก็ดี อาจมีปัญหายิงใหญ่ตามมาได้ถึง 6 เรื่อง ดังนี้

1. เงินเฟ้อสูง : หากมีการขึ้นค่าแรง และ ขึ้นราคาข้าวจริงๆ เกือบเท่าตัว ก็อาจส่งผลได้มากต่อ อัตราเงินเฟ้อ จากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องในลักษณะของการขยายวงของเงินเฟ้อ (inflation spiral) ทำให้เงินเฟ้อกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะค่าแรง แต่อาจมาจากต้นทุนวัตถุดิบ และ ชิ้นส่วนของสินค้าอีกด้วย ดังนั้น เงินเฟ้ออาจสูงถึง 10% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

2. อัตราดอกเบี้ยสูง : สำหรับ ธปท.แล้ว ยังคงเชื่อในทฤษฎีการเงินเดิมๆ คือ ต้องพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้เคียงกับ อัตราเงินเฟ้อ โดยหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้ โดยที่ความเป็นจริงแล้ว มันกลับเร่งอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปต่างหาก โดยจากสมการ nominal rate (อัตราดอกเบี้ย)= real rate (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)+ inflation (อัตราเงินเฟ้อ) การขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอจากจะมีส่วนทำให้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น (ส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจชะลอลง) ยังมีส่วนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกด้วย โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งมุ่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กลับไม่เห็นผล อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อินโดนีเซีย นั้นหยุดขึ้นดอกเบี้ยมานานแล้ว เงินเฟ้อกลับเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นแนวคิดแบบไท้เก๊กด้วยการใช้ "หยุดนิ่งสยบเคลื่อนไหว" นั่นเอง

ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้น และ ธปท.ก็คงเดินหน้านโยบายแบบเดิมๆ คือ ขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตามเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าจะสกัดเงินเฟ้อได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว มันทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นต่างหาก เงินเฟ้อจึงไม่ชะลอตัวลงแต่กลับเร่งตัวขึ้น เราจึงอาจเห็นอัตราดอกเบี้ย 10% ก็เป็นได้

3.เงินบาทอัตราสูง: การขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ปกติแล้วตามทฤษฎีในระยะยาวจะถูกชดเชยด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง หรือว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับตัวเลขที่สูงขึ้นจาก 30 บาทก็อาจเป็น 33 บาท ยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเป็นภาระหนักหนาต่อไปจนยากที่จะเยียวยา โดยเงินบาทอาจอ่อนค่าลงกว่า 10% ได้เลย

4.อัตราว่างงานสูง : เมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินบาทแข็งค่าเร็ว ธุรกิจส่งออก SME ก็อาจปลดคนงานออกสัก 20% เช่น จากเคยทำ 10 คนก็เหลือแค่ 8 คน หรืออาจมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่หลบเลี่ยงกฎหมายได้เพื่อลดต้นทุน บางแห่งสู้ไม่ไหวจริงๆ ก็อาจปิดกิจการไป ซึ่งนั่นหมายถึง การว่างงานอาจวิ่งเร็วเป็นจรวด จากระดับไม่ถึง 1% ตอนนี้ขึ้นไปสูงกว่า 10% ได้เลย

5.หนี้สาธารณะสูง : การเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ รวมไปถึงเงินรับจำนำข้าว จำเป็นต้องใช้เงินถึงหลายแสนล้าน อาจทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้อย่างเร็วกว่า 10% ง่ายๆ

6.ขาดดุลการค้าสูง : เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้การส่งออกเริ่มมีปัญหา ขณะที่การนำเข้าก็มากเพราะ คนงานมีรายได้ดีขึ้น จึงมีโอกาสสูงที่ประเทศไทยอาจพลิกจากได้ดุลการค้าเป็น ขาดดุลการค้า เปลี่ยนไปได้ถึง 10% GDP ก็อาจเป็นไปได้

ทฤษฎี 2 สูง อาจจะผลักดันให้ค่าทั้ง 6(อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราว่างงาน อัตราเงินบาท อัตราการเพิ่มหนี้ภาครัฐ และ การขาดดุลการค้า) สูงขึ้นเป็นเลข 2 หลักได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้การใช้คำว่า "หายนะ 6 สูง" ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด ก่อนจะดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจเช่นนั้น ก็ฝากให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าด้วยความรอบคอบด้วยครับ

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทางออกสวยหรู แด่ยูโรโซน

ยูโรโซน กำลังประสบกับปัญหาครั้งใหญ่ โดยมีวิกฤติทับซ้อนกันถึง 4 เรื่อง คือ วิกฤติการคลัง วิกฤติการว่างงาน วิกฤติขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ วิกฤติเงินยูโร แต่สิ่งที่ IMF, EU และ ECB พยายามทำอยู่ก็คือ การซื้อเวลา เท่านั้นเอง ต้นตอปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้แก้ไขเลยแม้แต่น้อย มันคืออะไรมาลองมาดูกันครับ

เมื่อดูตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็อาจแบ่งประเทศได้เป็น 4 กลุ่มประเทศ คือ
1. กลุ่มเกรด A เช่น เยอรมัน และ เนเธอร์แลนด์ แข่งขันได้ดีมากๆ ภายใต้ค่าเงิน "ยูโร" จึงได้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5.7% และ 7.7% ของ GDP ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า ค่าเงินที่เหมาะสมของ 2 ประเทศนี้ควรจะแข็งค่ากว่า "ยูโร" เพื่อให้เกิดสมดุล
2. กลุ่มเกรด B เช่น ฝรั่งเศส และ เบลเยี่ยม จะมีการได้ดุลและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2.5% โดย 2 ประเทศนี้ตัวเลขอยู่ที่ -2.1% และ +1.4% GDP ตามลำดับ จัดได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่เหมาะสมการใช้เงิน "ยูโร" มากที่สุด
2. กลุ่มเกรด C เช่น สเปน และ อิตาลี ยังไม่แข่งขันไม่ดีนัก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -4.5 และ -3.3% GDP ตามลำดับ ดังนั้น ค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ ควรอ่อนค่าลงกว่าปัจจุบัน (ยูโร) เล็กน้อย เพื่อให้เกิดสมดุล
3. กลุ่มเกรด D เช่น กรีซ และ โปรตุเกส แข่งขันแทบไม่ได้เลยกับค่าเงิน "ยูโร" โดยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -10.5 และ -9.9% GDP ตามลำดับ ค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ ควรอ่อนค่าลงอย่างมากๆ แทนที่จะใช้ "ยูโร" เพื่อให้เกิดสมดุลขึ้นได้

ดังนั้นการที่ IMF, ECB พยายามชี้ประเด็นว่า ปัญหาอยู่ที่วิกฤติการคลังนั้น อาจเป็นการชี้ไม่ตรงประเด็นกับต้นตอของปัญหาที่แท้จริง หากจะยืดอกยอมรับตรงไปตรงมาก็อาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของระบบเศรษฐกิจโลก" เป็นการผูกระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งแตกต่างกันอย่างมากมายเข้าไว้ด้วยกันถึง 17 ประเทศ ในที่สุดจะสร้างหนี้สินต่างประเทศกับกลุ่มประเทศอ่อนแออย่างมากมาย เพราะ ค้าขายขาดดุลตลอด และเปิดโอกาสให้ใช้เงินเกินตัวได้ด้วยค่าเงินที่แข็งเกินจริง

โดยวิกฤติที่เกิดในลักษณะนี้ได้เห็นกันมาบ้างแล้ว เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก วิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนติน่า และที่สำคัญก็คือ วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย ล้วนแล้วแต่เกิดจากการปล่อยให้เกิดภาวะสัญญาณ 333 (Triple 3 Crisis Signal) ทั้งสิ้น คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่า 3% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และ ผลตอบแทนพันธบัตรสูงกว่าค่าอ้างอิงเกินกว่า 3% โดยประเทศในเอเชียที่เกิดเหตุการณ์นี้จนน่าจับตาว่าอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ก็คือ เวียดนาม สำหรับในยุโรปนั้นก็คือ กรีซ โปรตุเกส (กลุ่ม D) นั้นแน่นอนว่าเกิดวิกฤติไปแล้ว สำหรับประเทศที่กำลังมีปัญหาตอนนี้ก็คือ อิตาลี และ สเปน (กลุ่ม C)

การให้เงินช่วยเหลือนั้นเป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น แต่การเดินหน้า แตกเงิน "ยูโร" เป็น 4 สกุล (อาจเป็น Euro-A, Euro-B, Euro-C และ Euro-D) ต่างหากที่น่าจะเป็นทางออกที่สวยงามและตรงประเด็น โดยแต่ละกลุ่มประเทศก็ใช้ค่าเงินที่แตกต่างกันไป อาจสร้างสรรค์ให้เป็นการ "แตกเพื่อโต" โดยอาจเชิญประเทศใน EU ที่ยังไม่เข้าใน "ยูโรโซน" ให้เข้ามาร่วมใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็จะเป็นการสร้างต้นแบบของเงินในเอเชียได้ด้วย โดยประเทศแข็งแรงก็จะมีค่าเงินแข็ง ขณะที่ประเทศอ่อนแอก็จะมีค่าเงินอ่อน ก็จะเกิดการปรับตัวทางเศรษฐกิจได้เองเพราะค่าเงินอ่อน ย่อมส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยวอยู่แล้ว จะทำให้กรีซ โปรตุเกส กลับมาได้ดุลบัญชีเดินสะพัด และ ลดหนี้สินต่างประเทศได้อย่างเร็ว ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรนักกับประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในที่สุดก็ผ่านมาได้อย่างสวยงาม

ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือ สเปน และ อิตาลี ซึ่งมีขนาดใหญ่ติด 10 อันดับแรกของโลก ใหญ๋เกินกว่าที่จะเข้าไปอุ้มไหว หากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีการถอนเงินทุนออกจากประเทศที่เสี่ยงระดับเกรด C นี้ ส่วนต่าง (spread)ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสเปน และ อิตาลี กับ Bund (พันธบัตรของเยอรมัน) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% และ 3.1% แล้ว (วันที่ 20 ก.ค.)ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณแห่งการแตกตัวของระบบ "ยูโร" ที่ชัดเจนมากๆ เพราะค่านี้เป็นตัวชี้ว่า สเปน และ อิตาลี ไม่เหมาะที่จะใช้ค่าเงิน "ยูโร" เหมือนกับ เยอรมัน อีกต่อไปนั่นเอง

หากจะสรุปแนวคิดตาม Taiji-Econ. ก็คือ "ยืมพลัง" กองทุนบำนาญมาแทน พลังงบประมาณภาครัฐ เพื่อช่วยเปลี่ยน "นิ่งเป็นเคลื่อน" ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบ รวมถึง รัดเข็มขัดการคลังในโครงการประเภทเงินจมในกองทุน ก็จะกลับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแทนที่จะแย่ลง ดังนั้นจะแก้ไขทั้งวิกฤติการคลังและวิกฤติการว่างงานไปได้ ขณะเดียวกันก็ "ยืมพลัง" อัตราแลกเปลี่ยนมาเพื่อปรับสมดุล กระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด และ กลไกสมดุลที่บกพร่องไปเพราะระบบเงินยูโรก็จะกลับสู่ภาวะปกติได้

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลองคิดใหม่ กับ นโยบาย "เพื่อไทย"

ลองคิดใหม่ กับ นโยบาย "เพื่อไทย"

นโยบายของพรรคเพื่อไทยซึ่งกำลังจะเป็นแกนนำรัฐบาลในไม่ช้านี้ มีประเด็นที่สำคัญซึ่งอาจก่อปัญหาให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากลองคิดใหม่อีกรอบโดยเปลี่ยนวิธีการบ้าง ก็อาจดำเนินนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้ได้ โดยเป็นการ "ผ่าทางตัน" ที่สวยงาม

1. ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ยากเย็นอย่างยิ่ง เพราะ บางจังหวัดนั้นมีค่าแรงขั้นต่ำเพียง 160 บาทเท่านั้นเอง การยกระดับสูงขึ้นถึงเกือบเท่าตัว อาจทำให้ SME บางแห่งไม่สามารถรับภาระนี้ไว้ได้ แม้ พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 23% เพื่อแบ่งเบาภาระของภาคเอกชนก็ตาม คนทีรับประโยชน์กลับกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปตท. เครือซีพี เครือซีเมนต์ไทย ธนาคารขนาดใหญ่ บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแรงงานขั้นต่ำอยู่น้อยมากๆ ขณะที่ SME ซึ่งมีการจ้างงานสูงอาจได้รับผลกระทบจนต้องปลดคนงาน หรือ ถึงขั้นปิดกิจการก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงตามมาได้

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ก็อาจเป็น "เบี้ยกรรมกร" โดยจ่ายให้กับแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 7.5 พันบาทต่อเดือน (ทำงาน 25 วัน) อุดหนุนให้ไม่เกินหัวละ 1 พันบาทต่อเดือน อาจต้องจ่ายราว 5 ล้านคน งบประมาณราวๆ 6 หมื่นล้านบาท

เป็นเรื่องบังเอิญที่หลังจากผมคิดวิธีนี้แล้ว ไปค้นดูกลับพบว่าแนวคิดนี้ไปตรงกันกับของ "มิลตัน ฟรีดแมน" เจ้าสำนักการเงินนิยม (Monetarism) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในรอบศตวรรษ เคียงคู่กับ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้แนะนำว่ารัฐบาลควรใช้วิธี "ภาษีติดลบ" หรือ การให้เงินอุดหนุนกับแรงงานรายได้ต่ำ แทนที่จะจ่ายเงินสวัสดิการการว่างงาน จะทำให้กลไกตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้น หากมีนักวิชาการวิจารณ์ในเรื่องนี้ รัฐบาลก็อาจโต้กลับไปได้ว่า "นี่เป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์เชียวนะ"

เมื่อจ่ายเงินอุดหนุนไปแล้ว ก็หวังว่าค่าตัวทวี (multiplier) ของ เคนส์ จะทำงานอย่างดี หากได้ตัวทวีที่ 6 เท่า รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ 17% (ตามค่าเฉลี่ยปัจจุบัน) ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย คือ รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มได้เท่ากับ เงินอุดหนุนที่จ่ายไป จึงไม่ได้ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ข้อดีก็คือ ภาคเอกชนไม่ได้มีภาระต้นทุนเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันยังคงเดิม จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแรงงานไทยให้ได้ประโยชน์มากกว่า แรงงานต่างด้าวอีกด้วย จากเงิน 1 พันบาทที่อุดหนุนไป

2. ปริญญาตรี 1.5 หมื่น : ก็ทำด้วยหลักการคล้ายกัน คือ อุดหนุน "เบี้ยบัณฑิต" จ่ายให้ไม่เกิน 2 พันบาทต่อหัว อาจจ่ายราว 1 ล้านคน และใช้งบประมาณราว 2.4 หมื่นล้าน ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุน 2 ข้อนี้ จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมของรัฐบาลต่อคนราว 6 ล้านคนอย่างเร็ว

3. จำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นต่อตัน : ถูกโจมตีว่าอาจต้องใช้เงินภาครัฐถึง 4.5 แสนล้านบาท และ อาจขาดทุนได้นับแสนล้าน

ทางแก้ไขก็อาจเป็น แนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก (Taiji-Econ.) ก็คือ "ยืมพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน ในเคลื่อนมีนิ่ง" ดังนั้น รัฐบาลควรยืมแรงจากกองทุนบำนาญ 3 ล้านล้านบาท (กบข. สปส. สำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต) โดยกำหนดให้ต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาด AFET ไม่ต่ำกว่า 5% ของเงินกองทุน ก็จะทำให้เงินถึง 1.5 แสนล้านบาท มาช่วยรัฐบาลซื้อข้าวเก็บเข้าสต๊อก โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินเลย หากราคายังสูงไม่พอ ก็อาจปรับขึ้นเป็น 7.5% และ 10% ของเงินกองทุนบำนาญได้ตามลำดับ

"ในเคลื่อนมีนิ่ง" คือ เปลี่ยนข้าวจาก "สินค้า" (flow)เพื่อการบริโภค ให้เป็น "สินทรัพย์" (stock) เพื่อการลงทุน ด้วยเงินตรงนี้ก็อาจซื้อข้าวเป็นสต๊อกถาวรได้ถึง 5 ล้านตัน (แต่หมุนเวียนเพื่อไม่ให้เสื่อมคุณภาพ) และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" เมื่อเก็บสต๊อกจำนวนมาก (stock) ราคาข้าวก็จะสูง ทำให้ชาวนามีรายได้ (flow) สูงขึ้นมาก รัฐบาลจึงไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแค่ยืมพลังเท่านั้น

นี่จึงเป็นสถานการณ์แบบ win-win-win โดยรัฐบาลไม่เสียเงินเลยแม้แต่น้อย กองทุนบำนาญได้ลงทุนในข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ผู้เกษียณ และ ชาวนาได้มีรายได้สูงขึ้น

อยากฝากเรื่องนี้ให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาดูด้วย เพราะ หากดำเนินนโยบายทั้ง 3 เรื่องนี้โดยไม่คิดให้รอบคอบ อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก แต่หากดำเนินการด้วยวิธีการข้างบน ก็น่าจะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น โดยใช้เงินภาครัฐน้อยลงก็เป็นได้