วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2 ทฤษฎีใหม่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

อุทกภัยครั้งใหญ่นี้ได้สร้างความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมจำนวนหลายแห่งในเขตอยุธยา ปทุมธานี และ กระทบต่อแรงงานจำนวนถึง 6 แสนคน มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท รัฐบาลวางแผนการขาดดุลการคลังเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน และ อาจมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในสาธารณูปโภคแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ขณะที่ ธปท.ก็ทรงอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อต่อไป

2 ทฤษฎีใหม่นี้คืออะไร แตกต่างจากทฤษฎีเก่าอย่างไร และ จะช่วยเศรษฐกิจไทยแบบไหน

1. การคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) คือ นโยบายการคลังที่เน้นการ "ยืมพลัง"จากแหล่งอื่นๆ แทนการใช้งบประมาณลงไปตรงๆ เช่น การให้ผู้ประกันตนและ ข้าราชการ ยืมเงินออมตนเองในระบบประกันสังคม และ กบข.ได้ 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนต่อเดือนที่ 0.9% (บัตรบำนาญ999) จะส่งผลให้เงินสินเชื่อเข้าถึงมือผู้ประกันตน และ ข้าราชการ ได้ราว 5 แสนล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินกู้เพิ่มอันเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะขึ้นไปอีก การหมุนเงินหลายรอบโดยภาคเอกชนจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยตรงในด้านอุปสงค์

หากใช้แนวคิดตามทฤษฎีเดิม การอัดฉีดเงินภาครัฐผ่านงบประมาณ ก็อาจจะไปเพิ่มหนี้สาธารณะได้ถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปีเดียว ผลักดันให้สัดส่วนต่อ GDP สูงขึ้นถึงระดับ 50% ได้ในเวลาอันเร็ว นั่นหมายถึง ประเทศไทย เข้าไปเดินบนถนนเส้นทางเดียวกันกับ กรีซ อิตาลี และ ญี่ปุ่น หรือ ติด "กับดักเคนส์" คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ สูงกว่า อัตราการเพิ่มของ nominal GDP ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หากเลือกเดินตามทฤษฎีใหม่ หนี้ภาครัฐต่อ GDP น่าจะทรงตัว

2. การเงินไท้เก๊ก (Taiji Monetary Theory) คือ นโยบายการเงินที่มุ่งเป้าที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Targeting) แทนที่ การมุ่งเป้าเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ด้วยแนวคิดนี้เอง กนง.ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยราว 0.5% 3 ครั้งติดกัน เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไว้ให้ได้ หากเป็นทฤษฎีเดิมนั้น กนง.ก็จะคงดอกเบี้ยต่อไปเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ

"การเงินไท้เก๊ก" ไม่เชื่อว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้ และ มีแนวโน้มว่าจะมีผลในทางตรงข้ามด้วยซ้ำเพราะไปเพิ่มต้นทุนของดอกเบี้ยไปอีก สมการ nominal rate = real rate + inflation ก็ส่งสัญญาณว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย (nominal rate) มีผลในการสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rate) สูงขึ้น และ ยังกลับส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ (inflation) สูงขึ้นอีกด้วย ทฤษฎีใหม่นี้เชื่อว่า การขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย ควรเป็นไป เพื่อชะลอหรือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กนง.ควรเลือกการลดดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง 3 ครั้งติดต่อกัน มากกว่า การคงดอกเบี้ยเอาไว้ และ ติด "กับดักเงินเฟ้อ" ต่อไป

บทสรุปตรงนี้ก็คือ ทฤษฎีการคลังและการเงินเดิมๆ นั้นมีจุดบกพร่องอยู่ ผมจึงขอวิงวอนให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศได้มีโอกาสศึกษาทฤษฎีใหม่ทางการเงิน และ การคลัง เพื่อปรับนโยบายเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยของเราครับ

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ก่อตั้งสำนักเศรษฐศาสตร์ใหม่ : เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.)

หลังจากที่ได้มีการสร้างเป็นทฤษฎีใหม่ถึง 4 ชุด จึงได้ก่อตั้งเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ใหม่ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งจะมีแนวคิดแตกต่างไปจาก "ทุนนิยม" เดิมซึ่งมี 2 สำนักคือ "สำนักเคนส์" ของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และ "สำนักการเงินนิยม" ของมิลตัน ฟรีดแมนซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถจะแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ นอกจากนี้จะมีการเปรียบเทียบกับ "พุทธเศรษฐศาสตร์" ของ อี.เอฟ.ชูมาร์กเกอร์อีกด้วย

1. ทฤษฎีการคลัง

สำนักเคนส์ : เชื่อในประสิทธิผลของเรื่องนี้ มองว่าเป็นการเปลี่ยน "นิ่งเป็นเคลื่อน" นำเงินที่นอนจมในระบบแบงก์ มาให้รัฐบาลหมุนเงิน ซึ่งมีค่าตัวทวี (multiplier) มากกว่า 1 ดังนั้น หากจำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง จะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงได้มาก

สำนักการเงินนิยม : ไม่เชื่อในประสิทธิผลของนโยบายการคลัง มองว่าการใช้เงินภาครัฐคือ "เคลื่อนเป็นเคลื่อน" คือ รัฐบาลแย่งเงินจากภาคเอกชนไปใช้จ่าย ค่าตัวทวี จึงมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ดังนั้น การรัดเข็มขัดการคลัง จะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากนัก

พุทธเศรษฐศาสตร์ : ไม่ส่งเสริมให้รัฐบาลกู้หนี้ยืมสินเกินตัว ยอมให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ต่ำลง การรัดเข็มขัดการคลัง จึงตรงประเด็นกับแนวคิดนี้

สำนักไท้เก๊ก : มองว่ามีบางโครงการของรัฐใช้จ่ายแบบ "เคลื่อนเป็นนิ่ง" คือ นำเงินทั้งจากรัฐบาลและเอกชน ไปจมกับกองทุนบำนาญประเภทต่างๆ ทำให้เงินไม่หมุน ส่งผลให้ค่าตัวทวีติดลบ ดังนั้น หากรัดเข็มขัดการคลังในเรื่องเหล่านั้น จะกลับส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นต่างหาก เช่น การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF, RMF และ ประกันชีวิต หรือ "บัตรบำนาญ999" ที่ยอมให้ผู้ประกันตนยืมเงินออมตนเองได้ 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนขั้นต่ำ 0.9%โดยรัฐบาลเก็บภาษีสินเชื่อมาเป็นรายได้เพิ่ม

สำนักนี้มองว่า สำนักเคนส์นั้นประสบกับปัญหาของโครงสร้งประชากรที่เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้เริ่มใช้ไม่ได้ผล เพราะ ประชากรรุ่นถัดไป (เด็กและเยาวชน) มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะมาแบกรักภาระของคนชราที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น การติด "กับดักเคนส์" ที่รัฐบาลเพิ่มหนี้สินเรื่อยๆ โดยเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว จึงจำเป็นต้องอาศัยการ "ยืมพลัง" จากแหล่งอื่น ๆแทนงบประมาณ เช่น จากกองทุนบำนาญ และ แบงก์รัฐ

2. ทฤษฎีการเงิน

สำนักเคนส์ : มองถึงปัญหาของ "กับดักสภาพคล่อง" ที่เศรษฐกิจมีอุปสงค์ไม่เพียงพอ แม้ลดดอกเบี้ยเฉียดศูนย์ เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นตัว ซึ่งปัญหานี้ก็กำลังเกิดอยู่กับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย

สำนักการเงินนิยม : เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยสกัดเงินเฟ้อได้ และ มุ่งรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ในประเทศพัฒนาแล้ว

พุทธเศรษฐศาสตร์ : อัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับสูงพอควรเพื่อไม่ให้กู้ยืมเงินมากเกินตัว และ ส่งเสริมให้ผู้คนได้ออมเงินมากๆ

สำนักไท้เก๊ก : มองว่า "เงินเฟ้อ" เกิดจากต้นทุนเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะเหตุผลจากอุปสงค์ตึงตัว เนื่องเพราะ การเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนเสรีได้ลดข้อจำกัดตรงนี้ไปมากแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ แต่กลับไปเพิ่มอัตราเงินเฟ้อต่างหาก เช่น จีน อินเดีย ไทย สกัดเงินเฟ้อไม่ได้แม้ขึ้นดอกเบี้ย แต่ เงินเฟ้อกลับชะลอตัวลงเมื่อรัฐบาลไทยลดราคาน้ำมันลงมา ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยนั้นกลับสามารถสกัดเงินเฟ้อได้อย่างได้ผลดี รวมไปถึง เวียดนาม บราซิล ที่เพิ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วยเงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงตาม

สำนักนี้มองว่า การขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนั้นควรเป็นไปเพื่อดูแล "อัตราการเติบโต" (GDP growth) ให้เป็นไปตามศักยภาพมากกว่า เพราะอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้จากนโยบายการเงิน สำหรับประเทศพัฒนาแล้วนั้น แม้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะติดลบไปมาก แต่ ศก.ก็ยังไม่ฟื้นตัว สิ่งที่น่าจะทำก็คือ การลดอัตราดอกเบี้ยลงให้ต่ำกว่าศูนย์ ถือเป็น "นโยบายการเงินสุดขั้ว" ในด้าน flow จะดึงให้อัตราค่าเช่า อัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ซึ่งเป็นภาระของคนชั้นกลางและคนจนนั้นลดลง มีเหลือเงินติดกระเป๋าใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ด้าน stock นั้น จะส่งผลสนับสนุนตลาดหุ้น และ ตลาดอสังหาฯ อันจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจการเงิน และ ธุรกิจการก่อสร้างได้ต่อเนื่องไป

3. ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน

ทุนนิยม : ระดับอัตราแลกเปลี่ยนควรจะมั่นคง การรวมค่าเงินกันจะช่วยลดต้นทุนการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมการค้า และ การลงทุน การผูกค่าเงินกับ "ดอลลาร์" ในประเทศกำลังพัฒนา และ "ระบบเงินยูโร" จึงเกิดขึ้นเพราะเหตุผลนี้

สำนักไท้เก๊ก: แม้จะเห็นถึงความสำคัญของความมั่นคง และ การลดต้นทุน แต่ก็ไม่ได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า คือ "ดุลยภาพ" แห่งดุลบัญชีเดินสะพัด และ "อิสรภาพ" ของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เราจึงได้ตั้งทฤษฎีชื่อ "Sanfeng333" เพื่อชี้ประเด็นว่า หากประเทศใดที่ขาดดุลตรงนี้เกิน 3% GDP 3 ปีติดต่อกัน และ มีอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สูงกว่าประเทศอ้างอิง (spread) เกินกว่า 3% นั่นหมายถึง อัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่เหมาะสมเสียแล้ว จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งหากมีทฤษฎีนี้มาก่อน โลกคงหลีกเลี่ยงวิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก ต้มยำกุ้งในไทย และ อาร์เจนติน่าในปี 2001ได้

ขณะที่ปัญหาปัจจุบันก็จะพบว่า ประเทศ PIIGS ชายขอบกลุ่มยูโรโซนนั้น ไม่เหมาะกับการใช้ค่าเงิน "ยูโร" เนื่องจากแข่งขันไม่ได้ภายใต้ค่าเงินนี้ รวมทั้งประเทศเวียดนามในเอเชียก็มีปัญหาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะ การใช้ค่าเงินที่แข็งเกินจริงนานเกินไป จะทำให้ขาดดุลยัญชีเดินสะพัดมากและต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึง การใช้จ่ายเงินเกินตัวและก่อหนี้สินต่างประเทศมากเกินไป อันจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

4. ทฤษฎีบำนาญ

ทุนนิยม : มองว่ากองทุนประกันสังคม อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เช่น ยืดอายุการเริ่มรับบำนาญออกไป หรือว่า ต้องมีการเก็บเงินสมทบเพิ่ม หรือว่า ต้องเพิ่มความเสียงในการลงทุนขึ้น เพื่อไม่ให้เงินกองทุนต้องหมดลงในอนาคตอีก 30 ปี

สำนักไท้เก๊ก : มองทางออกในเรื่องนี้ว่า กองทุนประกันสังคมให้ผู้ประกันตนยืมเงินตนเอง แล้วเก็บค่าค้ำประกันสินเชื่อ จะเพิ่มผลตอบแทนให้กองทุนโดยไม่เสี่ยงเพิ่ม และ ในอนาคต สปส.ต้องสามารถออกพันธบัตรได้ คล้ายๆ กับ พันธบัตรรัฐบาล อาจราวปีละ 1 แสนล้าน เพื่อพยุงสถานการณ์ "วิกฤติแห่งโครงสร้างประชากร" ไปให้ได้เสียก่อน

หากเปรียบเทียบ "ทุนนิยม" กับ "พุทธเศรษฐศาสตร์" แล้ว อย่างแรกจะเน้นที่คำ "เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง" เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยาง เน้นบริโภคนิยม มุ่งประสิทธิภาพของการผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมไปถึง ทำลายทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มาก เพราะ มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของฟรี ข้อเสีย คือ ความโลภที่มากเกินไปจะก่อให้ฟองสบู่แตกจากการใช้จ่ายเงินเกินตัว เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ง่าย และ การใช้นโยบายการคลังการเงินต่างๆ เหมือนกับ "ยาแผนตะวันตก" รักษาเป็นจุดๆ แต่มีผลข้างเคียงส่งผลเสียในด้านอื่นได้

"พุทธเศรษฐศาสตร์" คือ เศรษฐศาสตร์พลังหยิน จะสรุปที่คำว่า "นิ่ง-สงบ-เย็น" ไม่มุ่งเติบโต บริโภคแต่น้อย มุ่งการเก็บออม มุ่งที่ประสิทธิภาพการบริโภค คือ บริโภคน้อยแต่มีความสุขมาก จะมองว่า ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งมีค่ามากมหาศาล ไม่ควรไปทำลายแม้จะได้ผลกำไรสูงก็ตาม ข้อเสีย คือ เศรษฐกิจอาจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้ระดับการเติบโต และ รายได้ของประชากรตามตัวเลขแบบ "ทุนนิยม" วิ่งตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดีสิ่งนี้เปรียบได้กับ "วัคซีน" จะใช้ป้องกันโรคที่จะเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ผลดี

เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก คือ เศรษฐศาสตร์เพื่อรักษาสมดุลหยิน-หยาง โดยอิงกับปรัชญาเต๋า รักษาสมดุลของ "ทุนนิยม" และ "พุทธเศรษฐศาสตร์" เปรียบได้กับ "แพทย์แผนจีน" ซึ่งใช้หลักการรักษาสมดุลของร่่างกาย

แน่นอนว่า หากเราสามารถป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ ด้วยวัคซีน "พุทธเศรษฐศาสตร์" เสียแล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องมี "ยารักษา" แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ปัจจุบันก็คือ ตอนนี้โลกกำลังติดโรคอยู่ และ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" อาจเป็นยาที่ใช้รักษาได้ผลดีกว่า เมื่อเทียบกับ ยาแผนตะวันตก หรือ ทฤษฎีการเงินการคลังของระบบทุนนิยมปัจจุบัน

ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมแห่งปรัชญา และ วัฒนธรรม ของตะวันตก จีน และ อินเดียมาช้านาน คนไทยจึงควรจะภาคภูมิใจได้ว่า ตอนนี้เรามีทั้ง "พุทธเศรษฐศาสตร์" ซึ่งใช้ปรัชญาขั้นสูงของอินเดีย (พุทธศาสนา) มาเพื่อช่วยปัองกันวิกฤติเศรษฐกิจ และ เรายังมีทั้ง "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ซึ่งใช้ปรัชญาขั้นสูงของจีน (เต๋า และ ไท้เก๊ก) มาเพื่อช่วยเยียวยาผลของวิกฤติเศรษฐกิจโดยเน้นที่การสร้างสมดุลแห่งหยิน-หยาง หากได้ผลจริงนั่นอาจหมายถึง การฟื้น GDP เศรษฐกิจโลกให้สูงขึ้น ช่วยชะลอหนี้ภาครัฐทั่วโลก รวมไปถึงการฟื้นตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก อันอาจมีมูลค่าสูงถึง "หลายล้านล้านดอลลาร์" เลยทีเดียว