วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

2012 ปีสยองของเศรษฐกิจโลก

ไม่นับรวมคำทำนายของ ดช.ปลาบู่ หรือ การทำนายของหมอดูหลายคนที่มองไว้เลวร้ายหลายอย่างในปีหน้า รวมไปถึง การพยากรณ์ "วันสิ้นโลก" อันเกิดจากแกนโลกพลิกในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ปี 2012 ซึ่งอาจเป็นภัยพิบัติระดับใหญ่หลวงอย่างยิ่งต่อมนุษชาติ บทความนี้จะพูดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกเท่านั้น

หลังจากที่โลกได้เผชิญกับ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 ไปแล้วนั้น บาดแผลเกิดจาก ความเสี่ยงของการล้มละลายของสถาบันการเงินในอเมริกา เช่น เลห์แมน บาร์เธอร์ส เป็นต้น อย่างไรก็ดี เวลานั้น โลกมีทั้ง ยาฉีด (นโยบายการคลัง) ยากิน (นโยบายการเงิน) และ ยาทา (นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน) เพื่อบรรเทาอาการของบาดแผลไปได้มาก จนนึกว่าหายสนิทแล้ว แต่เมื่อมาถึงปี 2011 กลับพบว่า บาดแผลได้ขยายวง "ลึกขึ้น" (โดยลามจากสถาบันการเงิน ไปยัง รัฐบาลของประเทศอ่อนแอ เช่น PIIGS) และ "กว้างขึ้น" (ไม่เฉพาะแต่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในจีน และ อินเดียเองก็เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวเร็วมาก โดยดัชนีหุ้นของ 2 ประเทศที่ตกต่ำสุดในรอบ 2 ปีได้ชี้นำเศรษฐกิจล่วงหน้าแล้ว) ขณะที่ยาทุกประเภทนั้นใช้ไปจนหมดคลังแล้ว ผมขอตั้งชื่อวิกฤติครั้งใหม่นี้ว่า "วิกฤติหมูหัน" อันมาจากชื่อของ "อาหารจีน" และ ประเทศชายขอบในยูโรโซน (PIIGS) ประกอบกันเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2012

นี่จึงเป็นที่มาของคำพูดของ ผู้อำนวยการ IMF นางลาร์การ์ดที่เกรงว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวทั่วโลกในปี 2012 จะมีลักษณะคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930 ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม จะได้ผลกระทบต่อการถดถอยครั้งนี้ อาจมีการปกป้องการค้าจนทำให้การส่งออกหดตัวลงด้วย จำเป็นที่ประเทศทั่วโลกต้องประสานกัน ร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฝัน "วิกฤติหมูห้น" ครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้ นี่คือ ความหวั่นเกรงของ "หมอใหญ่" ที่คอยดูแลเศรษฐกิจโลกอยู่ โดยไม่รู้ว่ารับมือจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่นี้อย่างไรดี เพราะ ยาทุกประเภทที่รู้จักได้ใช้ไปหมดแล้วแต่ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

ตามปกติแล้ว หากเรารักษาด้วยยาแผนตะวันตกแล้วไม่ได้ผล สิ่งที่คิดทำต่อไปก็คือ ใช้แพทย์ทางเลือกไงครับ ฝังเข็ม นวดกดจุด โยคะ สมุนไพร และอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแพทย์แผนตะวันออกนั่นเอง และสำหรับวิกฤติครั้งนี้ก็เช่นกัน

พุทธเศรษฐศาสตร์ ควรจะดูแลปัญหานี้ได้หรือไม่ ผมคิดว่านี่คือ "วัคซีน" ชั้นยอดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา เพราะ ควบคุมความโลภได้ตั้งแต่ต้นแล้ว โลกก็ไม่เป็นโรคไม่เกิดแผล อย่างไรก็ดี ตอนนี้บาดแผลลึกและกว้างมาก ติดเชื้อเริ่ม "เน่าเฟะ" แล้วด้วย วัคซีน คงไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก นอกจากนี้เป้าหมายของพุทธเศรษฐศาสตร์ คือ "นิ่ง-สงบ-เย็น" ซึ่งเป็นพลังหยิน ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่เศรษฐกิจโลกต้องการในด้านพลังหยาง คือ "เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง"

"ยูโรโซน" ยังคงเป็นปัญหาหนักต่อไป การให้สินเชื่อผ่าน IMF,EU,ECB,EFSF,ESM อะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียงแค่เอาช้อนไปคนในแก้วที่มี "น้ำ" กับ "น้ำมัน" รวมกันอยู่เท่านั้น แม้ไม่สามารถจะรวมกันได้อยู่ดี แต่ก็ยังพอจะหลอกๆ ผู้คนไปได้ระยะหนึ่งว่า ยูโรโซน ยังคงรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอยู่ แต่ในที่สุดแล้ก็คงฝืนธรรมชาติ และ ทฤษฎีการเงินระหว่างประเทศ (International Fisher Effect) ซึ่งกล่าวว่า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ย่อมชดเชย ด้วยส่วนต่างของค่าเงินในระยะยาว นั่นหมายถึง ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ย 10 ปีในระดับสูงมาก กรีซ (35%) โปรตุเกส (13%) อิตาลี (7%) ควรจะมีค่าเงินที่อ่อนลงกว่าประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่น เยอรมัน (2.0%) เนเธอร์แลนด์ (2.3%) แต่ค่าเงินของ 2 กลุ่มประเทศนี้กลับผูกด้วยเงินสกุลเดียว คือ "ยูโร" แน่นอนว่า นักวิชาการจำนวนมากนอกเขตยูโรโซน ได้วิจารณ์โจมตี "เงินยูโร" ว่าถูกสาปตั้งแต่ก่อกำเนิดแล้ว และ มาถึงปัจจุบันยิ่งถูกโจมตีอย่างหนักเพราะเห็นถึงปัญหาของการสูญเสียทั้ง "อิสรภาพ" และ "ดุลยภาพ" ของประเทศสมาชิก

ส่วนประเทศจีน นั้นสร้างฟองสบู่โดยมี ปริมาณเงิน (M2) สูงกว่า Nominal GDP Growth ทั้งๆที่ควรยืนใกล้เคียงกันที่ 13-15% ต่อปี แต่จีนกลับปล่อยให้ M2 เติบโตสูงถึง 28% ในปี 2009 และ 20% ในปี 2010 ซึ่งเงินส่วนเกินนี้จึงเข้าไปสร้างฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก และ เมื่อถึงเวลานี้ก็เดินเข้าใกล้ "ภาวะฟองสบู่แตก" เต็มที โดยราคาอสังหาฯ เริ่มลดลงอย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย. ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ก็เข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อรวมกับ ค่าดัชนีหุ้นที่ตกต่ำในรอบ 2 ปี ยิ่งฉายภาพชัดถึงการชะลอตัวลงเร็วในปี 2012

สำหรับมุมมองด้านการลงทุนก็คือ อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงเดินหน้าเป็น "ขาลง" ต่อไป ดังนั้น กองทุนพันธบัตรระยะยาวจึงน่าสนใจ ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท ทั้ง หุ้น ทองคำ น้ำมัน อาจดิ่งลงกว่า 20% ได้ไม่ยาก เพราะ เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สำหรับการเก็งกำไรแล้ว "ช็อต" (short) จึงน่าจะเป็นคาถาสั้นๆที่จะสร้างกำไรได้ในครึ่งปีแรกของ 2012 แต่เมื่อถึงกลางปีคาดว่า "ยูโรโซน" น่าจะแตกตัวออกเป็น 3 สกุลด้วยกันเพื่อรองรับพื้นฐานเศรษฐกิจของกลุ่มแข็งแรง กลางๆ และ อ่อนแอ แม้อาจสร้างความสับสนยุ่งเหยิงในช่วงแรกๆ แต่เป็นการ "ดุลยภาพ" ใหม่ให้ประเทศ PIIGS สามารถยืนบนขาตนเองได้อีกครั้ง และ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ได้อีกครั้งหนึ่งด้วย

แต่หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์แล้ว ผมคิดว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)ที่นำแนวคิดของจีนทั้ง เต๋า และ ไท้เก๊ก มาช่วยด้วยการรักษาสมดุล การยืมแรงสะท้อนแรง และ เปลี่ยนนิ่งเป็นเคลื่อน โดยมียา 4 ชุด คือ การคลังไท้เก๊ก การเงินไท้เก๊ก FX ไท้เก๊ก และ บำนาญไท้เก๊ก น่าจะเป็นยารักษาที่เหมาะกับ "วิกฤติหมูหัน" ในปีหน้า โดยคาดว่าน่าจะเริ่มมีการนำไปใช้ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปครับ