วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ทักษิณาภิวัฒน์

หากคิดว่า ผมจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองว่าคำนี้แปลว่า ความรุ่งเรืองของ "ระบอบทักษิณ" ละก็...ท่านผู้อ่านคิดผิดถนัด สิ่งที่มีความหมายในทำนองนั้นมีการบัญญัติศัพท์ไว้อยู่แล้วอย่างไม่เป็นทางการว่า "ทักษิณาธิปไตย" แต่สิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้เกี่ยวกับกระแสเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกต่างหาก

สิ่งนี้ประยุกต์แนวคิด "บูรพาภิวัฒน์" ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพียงแต่ผมมองว่า ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมิได้ย้ายขั้วจาก "ตะวันตก" มาเป็น "ตะวันออก" แต่เป็น "เหนือ" ลงสู่ "ใต้" ต่างหาก ดังนั้น "ทักษิณาภิวัฒน์" จึงอาจแปลง่ายๆได้ว่า "ความรุ่งเรืองจากแดนใต้" โดยแต่ก่อนจะมี 3 ขั้วอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และ ยุโรป ปัจจุบันพื้นที่ทางใต้ของ 3 ขั้วอำนาจนี้มีพลวัตรมากขึ้น ฝั่งใต้ของสหรัฐอเมริกา คือ อเมริกากลางและใต้ ฝั่งใต้ของรัสเซีย คือ จีน อินเดีย และ อาเซียน ส่วนฝั่งใต้ของยุโรป ก็คือ แอฟริกานั่นเอง

มี 3 ปัจจัยที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง "ทักษิณาภิวัฒน์"

1. GDP ต่อหัว และ ประชากร : เนื่องจากประเทศที่อยู่แดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) อเมริกาใต้ (บราซิล อาร์เจนติน่า) แอฟริกา (อียิปต์ ไนจีเรีย) ล้วนเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวต่ำ ขณะที่มีประชากรจำนวนมาก การพัฒนาในอนาคตจึงมีการเติบโตของ GDP สูงจากฐานที่ต่ำ และ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมากจากจำนวนประชากรหลายร้อยล้าน หรืออาจถึงพันล้านคน

2. อายุเฉลี่ยของประชากร (median age):โดยประเทศพัฒนาแล้วทางเหนือจะมีอายุเฉลี่ยที่สูงมาก เช่น ญี่ปุ่น(45 ปี) และ ยุโรป มีพลวัตรที่ต่ำ ขณะที่ประเทศบริเวณเอเชียใต้ และ อาเซียน จะมีประชากรที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่ามาก อินเดีย (26) พม่า (27) อินโดนีเซีย (28) เวียดนาม (28) ฟิลิปปินส์ (23)ซึ่งหมายถึง ศักยภาพของพลวัตรอยู่ในระดับสูงกว่ามาก โดยที่ จีน (36) และ ไทย (34) อยู่ระดับกลางๆ ดังนั้น ศักยภาพของพลวัตรด้านโครงสร้างประชากรแล้ว ไทย จึงดูจะเสียเปรียบเพื่อนบ้านใน อาเซียน และ จีนก็ดูเหมือนจะสู้ อินเดียและเอเชียใต้ไม่ได้ นี่เป็นผลด้านลบที่สะท้อนมาจากนโยบายการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีอัตราการเกิดจึงต่ำ และ การแพทย์ที่มีคุณภาพสูงทำให้ประชากรมีอายุยืนนานขึ้น

3. หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP : ประเทศที่มีค่านี้สุงสุดในโลก 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น (220%)กรีซ (143%)และ อิตาลี (119%) ตามลำดับ พบว่า มีค่าเฉลี่ยของอายุประชากรที่ติด top ten ของโลก โดยกรีซอยู่ที่ 42.5 ปี และ อิตาลีอยู่ทีี่ 43.5 ปี ซึ่งสูงมาก นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การที่ภาครัฐต้องเข้าไปอุดหนุนประกันสังคมทั้งด้าน เบี้ยบำนาญ และ การประกันสุขภาพ ของผู้สูงอายุ ขณะที่ GDP แทบไม่เติบโต จึงทำให้ต้องติดหนี้สาธารณะจำนวนมาก ขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาทางใต้นั้น จะมีตัวเลขหนี้สินภาครัฐยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า รัฐบาลจึงมีศักยภาพในการส่งพลังช่วยเศรษฐกิจได้มากกว่า จีน (18%) อินโดนีเซีย (27%) ไทย (41%) ฟิลิปปินส์ (47%) เวียดนาม (53%)

3 แนวโน้มของ "ทักษิณาภิวัฒน์"

1. ขนาดของเศรษฐกิจของประเทศแดนใต้ จะเติบโตเร็วก่า และจะมีขนาดใหญ่กว่า ประเทศพัฒนาแล้วแดนเหนือ ด้วยเหตุผลของจำนวนประชากรที่มากกว่าหลายเท่า และ พลวัตรของโครงสร้างประชากรที่คนในวัยทำงานที่มากกว่า อินเดีย จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเยอรมัน บราซิลจะใหญ่กว่าฝรั่งเศส และ อินโดนีเซีย น่าจะใหญ่กว่า เกาหลีใต้

2. ประเทศพัฒนาแล้วทางเหนือจะพึ่งพาสินค้าของแดนใต้มากขึ้น ไม่เพียงสินค้าเกษตรเท่านั้น สินค้าอุตสาหกรรมทั้ง โลว์เทค (เสื้อผ้า รองเท้า) ไฮเทค (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์) รวมไปถึง ภาคบริการ (การแพทย์และท่องเที่ยว) ด้วย นอกจากนี้ การพึ่งพากันเองของประเทศแดนใต้จะเข้มข้นขึ้นทั้งด้านการลงทุน การแบ่งผลิตชิ้นส่วน การค้าระหว่างประเทศ โดยรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (เช่น AEC) จากเดิมแทนที่จะมุ่งส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ตามขนาดของเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว ภาระภาษีศุลกากรที่แทบไม่มี และ ต้นทุนการขนส่งก็ต่ำลง

3. จะมีการเคลื่อนย้ายประชากรวัยเกษียณ จากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนาแดนใต้มากขึ้น จะทำให้สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในต้นทุนที่ต่ำลงมาก กำลังซื้ออาจเพิ่มขึ้นได้อีก 4-5 เท่าตัว หลายคนอาจเลือกที่จะเป็น "คนรวยในต่างแดน ดีกว่าเป็นคนจนในบ้านเกิด" หากมองในมุมของรัฐบาล การลดภาระการคลังจากการดูแลสุขภาพคนชรา ที่ญี่ปุ่นจ่ายอยู่หัวละ 4 แสนบาทต่อปี หากมาอยู่ประเทศไทยต้นทุนอาจเหลือแค่ 4 หมื่นบาทหรือแค่ 1 ใน 10 ดังนั้น หากมีการอพยพย้ายถิ่นกัน 1 ล้านคน หมายถึง รัฐบาลญี่ปุ่นอาจลดภาระการคลังได้ถึง 3.6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศไทยก็มีรายได้การดูแลสุขภาพเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านต่อปีเช่นกัน

ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมวางโครงข่ายคมนาคมแบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมไปยัง จีน อินเดีย และ ประเทศในอินโดจีนได้ทั้งหมด อาจวางยุทธศาสตร์ให้ "ขอนแก่น"เป็นเมืองหลวงอินโดจีนและเป็นเมืองหลวงสำรองของไทย โดยใช้เป็นจุดตัดของรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง (เวียงจันทน์-ขอนแก่น-กทม.-ทวาย และ ย่างกุ้ง-ขอนแก่น-ดานัง) วางกลยุทธ์ด้าน "แรงงานต่างด้าว" ให้ดีเพื่อเพิ่มพลวัตรด้านประชากร จัดระบบพร้อมรับรายได้จากคนเกษียณจากประเทศพัฒนาแล้ว ควรเตรียมพร้อมรับกระแสเมกะเทรนด์ "ทักษิณาภิวัฒน์"

สำหรับภาค 2 ซึ่งอาจเป็นบทความที่ว่า การเมืองแบบ "ทักษิณาธิปไตย" ที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ "ทักษิโณมิกส์" จะตอบรับกับกระแส "ทักษิณาภิวัฒน์" ได้ดีเพียงใดนั้น คงต้องรอให้คนของรัฐบาลชุดนี้มาเขียนให้พวกเราอ่านต่อไปครับ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

พรก.โอนหนี้...สิ่งนี้มีสร้างสรรค์

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ โจมตี พรก.โอหนี้ไปสู่กองทุนฟื้นฟูฯ และ ให้ ธปท.ดูแลการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จะกระทบกับประชาชนผู้ฝากเงินกู้เงิน รวมไปถึงเสถียรภาพของ ธปท.ได้ อย่างไรก็ดี ผมกลับพบว่ามีเรื่องน่าสนใจที่สร้างสรรค์ แทนที่จะเป็น "พรก.สร้างปัญหา" แต่กลับเป็น "พรก.แก้ปัญหา" อย่างดี

- ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้เร็วขึ้น : โดยการยืมพลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แทนที่การปล่อยให้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่เก็บไว้ในสถาบันคุ้มครองเงินฝากจมอยู่เฉยๆ หรืออาจฝากแบงก์ได้ ดบ.1% ก็จะสร้าง GDP ได้ราว 450 ล้านบาท รัฐบาลยืมพลังของเงินก้อนหนี้ "ในนิ่งมีเคลื่อน" หากคิดว่าเงินนี้ไปเป็นเบี้ยยังชีพคนชราและคนพิการ 7.5 ล้านคนๆ ละ 6 พันบาท ซึ่งจะใช้จ่ายเงินที่รับมาเกือบทั้งหมด จึงสร้างตัวทวีมีค่าสูงที่ 3 เท่า ดังนั้น จะเพิ่ม GDP ได้ราว 1.35 แสนล้านหรือราว 1.1% นั่นหมายถึง ศก.ไทยจะเติบโตสูงกว่าระดับปัจจุบันเพิ่มอีก 1.1% ทุกๆ ปีฟรีๆ

- ลดเหลื่อมล้ำ : ธนาคารพาณิชย์อาจได้กำไรลดลงไปบ้าง เพราะ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 0.4% เป็น 0.46% โดยที่ไม่สามารถผลักภาระให้กับประชาชนได้ เพราะ มีการแข่งขันเข้มข้นจากแบงก์รัฐอยู่สูง  มีการประเมินว่ากำไรอาจลดลงราว 5% นั่นเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่า กำไรที่ลดลงของนายแบงก์ (นายทุน) นั่นหมายถึง เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านนั่นเอง ประเทศไทยมีผลตอบแทนของส่วนทุนที่สูงเกินไปที่เป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของ GDP ขณะที่แรงงานนั้นได้เพียง 40%   การลดกำไรของนายทุนลงมา ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น หมายถึงว่า ผลตอบแทนของแรงงานสุทธิแล้วจะสูงขึ้นมากนั่นเอง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางที่มีอยู่สูงให้ลดลงไปด้วย

- บาทอ่อน ธปท.กำไร : อาจมีนักลงทุนต่างชาติบางคนไม่เข้าใจนึกว่าเป็นการซ่อนหนี้  ก็เลยยขายเงินออกมานำเงินออกไป นั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะ หากว่า บาทอ่อนค่าลงราว 5% เมื่อเทียบกับเงินตรา ตปท.โดยเฉลี่ยแล้ว ธปท.จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมา 3 แสนล้านบาทได้เลย ซึ่งสามารถนำเงินนี้บางส่วนไปลดหนี้เงินต้นให้หมดลงเร็วกว่า 20 ปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ด้วย และ แน่นอนนี่คือ การช่วยสนับสนุนการส่งออก และ ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

- ลดภาระการคลัง:  สิ่งที่ตรงไปตรงมาก็คือ ลดภาระการจ่ายดอกเบี้้ยของภาครัฐได้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี  ซึ่งเป็นตัวเงินสูงมาก  นอกจากนี้ยังมีการหักเงินต้นไปเรื่อยๆ  หมายถึง หนี้สินส่วนของกองทุนฟื้นฟูจะลดลงอย่างต่อเนื่องและน่าจะหมดไปภายใน 20 ปี  ซึ่งหมายถึง ไทยได้สร้างแผนในการลดหนี้สินภาครัฐที่สูงกว่า 1 ล้านล้านบาทที่เป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้งลงได้อย่างดี

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า พรก.นี้คือ "ตัวสร้างปัญหา" ผมกลับมองว่า นี่คือ "ตัวแก้ปัญหา" นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า การขึ้น ดบ.คือ "สกัดเงินเฟ้อ" ผมกลับมองว่า มันช่วย "เร่งเงินเฟ้อ" ต่างหาก นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือ "สิ่งยอดเยี่ยม" ของเศรษฐกิจไทย ผมกลับมองว่า น่าจะเป็น "สิ่งยอดแย่" ต่างหาก เป็นเพราะ กรอบการมองของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนั้นใช้ "กรอบทฤษฎีเก่าๆ" แต่ผมมองผ่านกรอบทฤษฎีใหม่ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (taiji-econ.) นั่นเองครับ

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

อริยสัจ 4 กับ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

พวกเราคนไทยรู้จักกันดีกับ "อริยสัจ 4" ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ "ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค" มีการนำไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยๆ แล้วสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไรกัน ??

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค ได้นำแนวคิดนี้ มาจนสร้าง "ทฤษฎีการคลัง" ขึ้นมา
- กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ซึ่งเป็นการชี้ถึงปัญหาของนโยบายการเงิน แม้ลดอัตราดอกเบี้ยลงจนติดดิน ก็ไม่สามารถกระตุ้นสินเชื่อและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแยังของการมัธยัสถ์ (Paradox of Thrift) หากบุคคลหนึ่งคนพยายามรัดเข็มขัดประหยัดอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่หากทุกคนพยายามประหยัดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว จะส่งผลให้รายได้รวมของประเทศลดลง การค้าระหว่างประเทศก็ลดลงด้วย สุดท้ายแล้วจะเก็บออมไม่ได้ในที่สุด ขัดแย้งกันเองกับเป้าหมายเดิม นี่คือ "สมุทัย"

- การจ้างงานเต็ม (Full Employment) คือ เป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตเต็ม "ศักยภาพ" และ มี "ดุลยภาพ" นี่คือ "นิโรธ"

- ทฤษฎีการคลัง (Fiscal Theory) โดยการใช้แนวคิด ผลของตัวทวี (multiplier effect) เพิ่มขาดดุลการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ส่งให้ GDP เพิ่มได้เป็นหลายเท่าตัวจากผลนั้น นี่คือ "มรรค"

แนวคิดของอริยสัจ 4 ได้ช่วยให้ค้นพบ "เหรียญด้านที่ 3" โดยพระพุทธเจ้าได้ค้นพบ ด้านที่ "ไม่ตึงเกินไป" และ "ไม่หย่อนเกินไป" หรือ ทางสายกลางนั่นเอง ส่วนเคนส์ ก็พบเช่นกันในการกระตุ้นอุปสงค์ด้านที่ "ไม่ใช่จากเอกชนในประเทศ" (การบริโภคและลงทุน) และ "ไม่ใช่อุปสงค์ต่างประเทศ" (การส่งออก) จึงมาเป็นคำตอบเหรียญด้านที่ 3 คือ อุปสงค์จากการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเคนส์ ขาดความเป็น "อกาลิโก" 80 ปีก่อนนั้นเป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยมมากจนอาจกล่าวได้ว่า "ช่วยชีวิตทุนนิยม" เอาไว้ แต่ 80 ปีให้หลัง สิ่งนี้กลับกลายเป็นทฤษฎี "ดีแต่กู้" ที่ฝ่ายค้านนำมาโจมตีรัฐบาลทุกประเทศทุกยุคสมัย และ สร้างปมเงื่อนปัญหาหนักจนอาจกลายมาเป็น "ปมสังหารทุนนิยม" ได้เลย

หากเรามาลองคิดตามระบบของ ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และ ปรมาจารย์ของเศรษฐศาสตร์มหภาค กันดูบ้าง

- กับดักเคนส์ (Keynes Trap) เพื่อเป็นเกียรติแด่ปรมาจารย์ "เคนส์" ผมจึงคิดว่าใช้ชื่อนี้เหมาะสมยิ่งแล้ว สิ่งนี้คือการที่หนี้ภาครัฐต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" ยอมให้เศรษฐกิจตกต่ำลง หรือว่า "คลายเข็มขัดพยุงเศรษฐกิจ" สร้างหนี้ภาครัฐก้อนโดต่อไปก็ตาม จะพบคำพูด "austerity or stimulus" มากมายใน google คือ เลือกระหว่าง "หัว หรือ ก้อย" นักวิชาการส่วนใหญ่ก็เชื่อแบบนั้น คือ คิดว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอจึงมักพบกับทางตันของปัญหา เมื่อมีคนถามถึงปัญหาของหนี้ภาครัฐในระยะยาว เคนส์ตอบเลี่ยงไปว่า "ในระยะยาวแล้ว พวกเราทุกคนจะตายหมด" ซึ่งก็จริงที่ว่าคนรุ่น "เคนส์" ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ที่แย่ก็คือ "วิกฤติการคลัง" ได้เปลี่ยนจากปัญหาระยะยาว กลายมาเป็น ปัญหาเร่งด่วนของคนรุ่นเราไปเสียแล้ว นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแย้งของกองทุนบำนาญ (Paradox of Pension) นักวิชาการพยายามบอกว่าควรออมมากๆ เพิ่มสินทรัพย์ของกองทุนบำนาญเข้าไปเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ขณะเดียวกันควรลดหนี้ภาครัฐลงมา ทั้งๆที่ความจริงแล้วมันขัดแย้งกันเองในตัว เพราะราว 70-80% ของสินทรัพย์กองทุนบำนาญ ก็คือ หนี้สินของภาครัฐ (พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) นั่นเอง การที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการสมทบเงินของรัฐก็ดี ลดหย่อนภาษีวงเงินสูงสำหรับเงินออมบำนาญก็ดี จะทำให้การใช้จ่ายโดยรวมลดลง ขณะที่ ภาระหนี้ภาครัฐสูงขึ้นด้วย นี่คือ "สมุทัย" ซึ่งเป็น ต้นเหตุของวิกฤติการคลัง

- การเติบโต "เต็มศักยภาพ" และ "มีดุลยภาพ" และ หลุดพ้นจาก "กับดักเตนส์" คือ หนี้ภาครัฐต่อ GDP ไม่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเป้าหมาย นี่คือ "นิโรธ"

- การคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) โดย "ยืมแรงสะท้อนแรง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" ของกองทุนบำนาญ จะเป็นทางแก้ไขปัญหา ยืมพลังหยางจากกองทุนบำนาญหากเศรษฐกิจเย็นเกินไป จึงทำให้เกิดการรัดเข็มขัดการคลังพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ (austerity with stimulus) ซึ่งเป็นทางแก้ไขปัญหาแบบเหรียญด้านที่ 3

เมื่อมาดูปัญหาของ "เงินยูโร" ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกเรื่องของเศรษฐกิจโลกดูบ้าง
- กับดักยูโร (Euro Trap) คือ การที่ประเทศอ่อนแอ (PIIGS) เมื่อเข้ามาในยูโรโซน และ ออกไปไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจแข่งขันด้านการส่งออกท่องเที่ยวไม่ได้ เสียสมดุลของ "ดุลบัญชีเดินสะพัด" หนี้สินต่างประเทศพอกพูน นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแย้งของการผูกค่าเงิน (Paradox of Peg) ที่จริงแล้วโลกเคยมีบทเรียนมาแล้วเรียกว่า "กับดักดอลลาร์" เช่น ประเทศเม็กซิโก อาร์เจนติน่า และ ไทย ในอดีตล้วนแล้วแต่ผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น ด้วยการผูกค่าเงินกับ "ดอลลาร์" จึงเกิดความขัดแย้งกันเองในตัว เพราะ แข่งขันด้านส่งออกไม่ได้จึงขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่องหลายปี ต้องให้อัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงเงินทุนไว้ ลักษณะเศรษฐกิจเช่นนี้ปกติแล้วค่าเงินควรจะอ่อนลง แต่ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะ ผูกค่าเงินเอาไว้กับดอลลาร์ และเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันเมื่อทศวรรษ 1930 "กับดักมาตรฐานทองคำ" ด้วย แต่ยุโรปไม่เคยเรียนรู้กับเรื่องราวในอดีต สำหรับ กรีซและโปรตุเกส ก็เช่นกัน การผูกค่าเงินยูโรซึ่งตัดสินจากความแข็งแรงของเศรษฐกิจ เยอรมัน และ ฝรั่งเศส (ขนาดราวครึ่งหนึ่งของยูโรโซน) ทั้งๆที่หากประเมินระดับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ดุลบัญชีเดินสะพัด แล้ว เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ควรมีค่าเงินแข็งขึ้น ส่วนกรีซ โปรตุเกส ควรมีค่าเงินที่อ่อนลงในระยะยาว แต่การผูกค่าเงิน 2 กลุ่มประเทศไว้จึงเป็นความผิดพลาดขัดแย้งกันเอง นี่คือ "สมุทัย"

- การเติบโตอย่างมี "ดุลยภาพ" ของดุลบัญชีเดินสะพัด และ แข่งขันได้ตาม "ศักยภาพ" คือ เป้าหมาย นี่คือ "นิโรธ"

- Fx ไท้เก๊ก หรือ Sanfeng333 โดยการจัดระบบให้ประเทศที่แข็งแรงใกล้เคียงกันใช้เงินสกุลเดียวกันได้ แต่หากมีประเทศซึ่งแข่งขันไม่ไหว คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ติดต่อกัน 3 ปี และ มีส่วนต่างดอกเบี้ย (spread) สูงกว่า 3% ก็ควรจะต้องเปลี่ยนไปใช้เงินระบบอื่น วิธีนี้จะรักษาทั้ง "เอกภาพ" และ "ดุลยภาพ" เอาไว้ได้

โดยเหรียญด้านที่ 1 พยายามรักษาระบบ "ยูโร" ทั้ง 17 ประเทศเอาไว้ เป็นการรักษา "เอกภาพ" ไว้ แต่ระบบจะขาด "ดุลยภาพ" เหรียญด้านที่ 2 คือ ตัดหางปล่อยวัด ประเทศกรีซ โปรตุเกส ออกไปใช้เงินสกุลเดิมตามยถากรรม วิธีนี้แม้รักษา "ดุลยภาพ" ของประเทศอ่อนแอไว้ได้ แต่จะขาดซึ่ง "เอกภาพ" ของยุโรป ส่วนทางออกแบบเหรียญด้านที่ 3 คือ การจัดระบบการแตกตัวอย่างสร้างสรรค์ แม้จะเสียประเทศที่อ่อนแอไปจากยูโรโซน ก็ควรเชื้อเชิญประเทศที่แข็งแรงเช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตอนนี้ใช้เงินสกุลตนเองนั้นมาร่วมใช้ "Euro" ด้วย เพราะเป็นประเทศเกรด A ส่วนประเทศพื้นฐานกลางๆ อย่าง อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ ก็อาจเชิญชวน อังกฤษ เพื่อมาเป็นพี่เบิ้มของเงินสกุลใหม่ "Euri" ก็น่าจะเหมาะสม และ สุดท้ายประเทสอ่อนแอ กรีซ โปรตุเกส ก็ควรไปรวมค่าเงินกับยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย ตุรกี โปแลนด์ รวมถึงหลายประเทศในแอฟริกา กลายเป็นเงินสกุลใหม่ "Eura" ด้วยวิธีนี้ค่าเงินของยุโรปก็จะเหลือแค่ 3 สกุลเท่านั้น เป็นการ "แตกเพื่อโต" อย่างมีระบบ โดย Euri และ Eura ควรใช้ระบบ Crawling Peg (เกาะค่าเงินไว้แต่ยอมให้อ่อนค่าลงทีละน้อย) กับ Euro วิธีนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกในกลุ่ม EU เข้าสู่สมดุลและเติบโตตาม "ศักยภาพ" ได้ จะมีทั้ง "เอกภาพ" และ "ดุลยภาพ" ไปได้พร้อมๆ กัน โดย ECB ที่ดูแลนโยบายการเงินทั้ง 3 สกุลนี้ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากเทียบเท่ากับ 2 ยักษ์ใหญ่ อเมริกา และ จีน รวมกันหรือราวๆ 20 ล้านล้านเหรียญ สรอ.จะเป็นขั้วอำนาจที่สำคัญยิ่งกว่าเดิม นี่คือ "มรรค" นั่นเอง

"อริยสัจ 4 แสงส่องชี้ เหรียญด้านที่ 3" กลอนสั้นๆ บทนี้หากนำไปใช้สอนเด็กและเยาวชน จะช่วยส่งเสริมความรู้ด้านพุทธศาสนา (ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย) เชื่อมโยงกับ "มุมมองที่แตกต่าง" ไม่แน่ว่าเด็กและเยาวชนไทยจะคิดสร้างความรู้ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่โลกได้จำนวนมากพร้อมๆกับการเป็นคนดีมีความสุข อันเป็นความภาคภูมิใจและอนาคตของประเทศชาติต่อไป นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ "การปฏิรูปการศึกษาไทย" นะครับ