วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มองต่างมุมตลาดหุ้นโลก

ดัชนีหุ้นโลกเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว  ในตลาดขนาดใหญ่ คือ อเมริกา  จีน  ญี่ปุ่น และ ยุโรปนั้นด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่าจะไม่แพงนัก  อยู่ในระดับเหมาะสม  แต่ในบทความนี้ผมจะนำเสนออีกด้านหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบดู

ดัชนี S&P 500 ได้ขึ้นมาทำจุดสูงสุดอย่างแข็งแกร่งซึ่งดัชนีนี้ใช้แทนหุ้นของอเมริกาได้อย่างดี  หากมองดูที่ Bond Yield  10 ปีของอเมริกาที่ 2.7% แล้ว   ผลตอบแทนของ Equity Yield ก็อาจบวกเพิ่มอีก 3%  เป็น 5.7%   (P/E ที่เหมาะสม คือ 17.5 เท่า)  ดังนั้น P/E ระดับ 17.0 เท่า ณ ปัจจุบันของดัชนี S&P ก็ยังไม่แพงนัก  อย่างไรก็ดีหากมองอีกมุมหนึ่ง  โดยดัชนี Nasdaq  ซึ่งมีค่า P/E สูงถึง 23.7 เท่า และ ดัชนี Russell 2000  ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็ก 2000 ตัวซึ่งมีค่า P/E สูงถึง 32.8 เท่า  นี่อาจกล่าวได้ว่ามีฟองสบู่ที่แอบแฝงอยู่ในตลาดหุ้นของอเมริกา

เมื่อดูตลาดหุ้นยูโรป  ดัชนีหุ้นเยอรมัน (DAX) มีค่า P/E 15.1 เท่า   ดัชนีหุ้นฝรั่งเศส (CAC)  อยู่ที่ 18.4 เท่า และ ดัชนีหุ้นอังกฤษ (FTSE) 16.6 เท่า  จะเห็นว่าไม่ได้แพงเลยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยระยะยาว  ราคาหุ้นอยู่ในระดับเหมาะสม  อย่างไรก็ดีเมื่อมองอีกมุมหนึ่ง   ไปดูที่ตลาดหุ้นยุโรปชายขอบกลุ่ม  PIIIGS  ค่า P/E ของดัชนีหุ้นไอร์แลนด์ ที่ 35.5 เท่า  ของหุ้นสเปนที่ 56.4 เท่า   หุ้นอิตาลีน่าตกใจเพราะสูงถึง 465 เท่า และยิ่งน่าตกใจกว่านั้นเพราะ P/E ของดัชนีหุ้นโปรตุเกส และ กรีซ นั้น "ไม่มี" ซึ่งหมายถึง เมื่อรวมผลกำไรของทั้งตลาดแล้ว  ผลกำไรเป็น "ตัวแดง" หรือ "ขาดทุน" นั่นเอง  สรุปแล้ว  ราคาหุ้นในกลุ่ม PIIGS ได้ตอบสนองการคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างเร็ว  อาจกล่าวได้ว่ามีการปั่นฟองสบู่แฝงอยู่ในตลาดหุ้นยุโรปอยู่เช่นกัน

เมื่อมาดูตลาดหุ้นตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ BRICS ดูบ้าง  ด้านหนึ่งจะเห็นว่าดัชนีหุ้นรัสเซีย (MICEX) P/E ต่ำมาก 5.9 เท่า  ของจีน (CSI300) ก็ต่ำที่ 11.0 เท่า  อย่างไรก็ดีเมื่อมองอีกด้านหนึ่งดัชนีหุ้นแอฟริกาใต้ (TOP40) สูงถึง 21.2 และ หุ้นของบราซิล (BOVESPA)  สูงถึง 56 เท่ากันเลย นั่นหมายถึงว่า มีฟองสบู่แฝงอยู่ในดัชนีตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคแอฟริกา และอเมริกาใต้

สำหรับตลาดเกิดใหม่ในเอเชียนั้น  มองด้านหนึ่ง SET index มีค่า P/E 15.9 เท่า  ขณะที่ดัชนีหุ้นมาเลเซีย (KCLI  17.0 เท่า)  ถือว่าว่าอยู่ระดับเหมาะสมกับดอกเบี้ยระยะยาวแม้จะแพงไปเล็กน้อย   แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง  ดัชนีหุ้นอินเดีย (SENSEX 17.5 เท่า) อินโดนีเซีย (JCI  18.6 เท่า)  ซึ่งแม้จะมีค่า P/E สูงกว่าหุ้นไทยและมาเลเซียเพียงเล็กน้อย   แต่เมื่อดูดอกเบี้ยระยะยาวของ 2 ประเทศนี้ซึ่งยืนที่ราว 9% แล้ว อัตราผลตอบแทนของหุ้นที่คาดหวัง (Equity Yield) ก็น่าจะยืนราว 12%  ดังนั้น P/E ของตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่งนี้ควรยืนแค่ราว 8-9 เท่าแค่นั้นเอง  ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบันถึง 50%  นี่จึงนับเป็นฟองสบู่อีกเช่นกันในตลาดหุ้นเกิดใหม่ของเอเชีย ซึ่งราคาหุ้นอาจปรับตัวลงได้อีกมาก  และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังตลาดหุ้นไทยได้

แล้วมาดูในตลาดหุ้นไทยเองบ้างละ มุมหนึ่ง SET index แม้ว่าจะ P/E จะยืน 15.9 เท่า ดูแพงไปเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยระยะยาวที่ 4% และ ผลตอบแทนตลาดหุ้นที่คาดหวังราว 7% ต่อปี   แต่เมื่อไปดูดัชนี MAI  ซึ่งค่า P/E สูงถึง 30.3 เท่า  นั่นก็คือ  แม้แต่ภายในตลาดหุ้นไทยเองก็มี "ฟองสบู่" แฝงตัวอยู่ในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กอยู่ด้วยนั่นเอง

สรุปก็คือว่า  ตลาดหุ้นโลกแม้ดูเผินๆ อาจไม่ได้แพงอะไรนักยังดูแข็งแรงดีจากมาตรการ QE  แต่จะมี "ฟองสบู่" สินทรัพย์แฝงตัวอยู่เป็นจำนวนมากเกือบแทบทุกภูมิภาคของโลก   และเนื่องจากดัชนีหุ้นเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ  ดังนั้น นี่อาจเป็นเรื่องที่ต้องระวัง  เพราะหากฟองสบู่แตกตัวลงพร้อมกันทั้งหมดแล้วละก็โลกคงจะหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ไปได้ยาก  และ เมื่อถึงเวลานั้นหากคนไทยยังไม่เลิกทะเลาะกันอีกละก็  นั่นอาจถึงเวลาแห่งภาวะ "ล่มสลายหายนะ" ของจริงกันละครับ

ข้อมูล : Bloomberg   15 พ.ย.56

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สติและอโหสิกรรม คือ คำตอบสุดท้าย

บทความนี้เขียนด้วยความมุ่งหมายอันดีต่อประเทศชาติ  ไม่ได้หวังเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  แต่เพื่อให้คนไทยได้ฉุกคิดว่าจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชาติอย่างไรกันดีก่อนจะเกิดความรุนแรง

ความขัดแย้งทางการเมืองได้มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2548  โดยหลายครั้งที่ความรุนแรงมากจนเสียเลือดเสียเนื้อ  ประเทศไทยได้มองข้ามจุดแข็งของชาติในเรื่องหนึ่งหรือเปล่า ที่สามารถนำมาใช้เพื่อคลายปมขัดแย้งนี้ได้  สิ่งนั้นก็คือ  "พุทธศาสนา" ไงครับ

แม้ว่า  วุฒิสภาฯ ได้เดินหน้าคว่ำร่าง พรบ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยไปแล้ว  และ พรรคร่วมรัฐบาลได้ลงสัตยาบันจะไม่นำร่าง พรบ.นิรโทษฯ มาพิจารณาอีกก็ตาม   เรื่องที่ทำนี้ก็เหมือนการดึงฟืนออกจากกองไฟ  แต่นั่นยังไม่เพียงพอที่จะดับไฟลงได้  การเดินหน้าระดมมวลชนเสื้อแดงมาชนด้วย  ก็คงเหมือนการก่อไฟเพิ่มอีกกองหนึ่ง  คำตอบสุดท้ายของความขัดแย้งนี้น่าจะเป็นการใช้ "น้ำ" เพื่อดับไฟแห่งความโกรธแค้นที่สุมในใจของคนไทยลงต่างหาก

แทนที่จะใช้คำว่า  "นิรโทษกรรม" หรือว่า "ล้างผิด"  ผมเลือกใช้คำว่า "อโหสิกรรม"    แทนที่จะใช้คำว่า "ปรองดอง" หรือว่า "สมานฉันท์"  ผมขอใช้คำว่า "สามัคคี"   แต่นี่คงไม่ใช้แค่เปลี่ยนวาทกรรมแล้วเรื่องราวจะจบลงไปได้

หากเป็นแนวคิดของศาสนาพราหมณ์ตามมหากาพย์มหาภารตะ  พระกฤษณะกล่าวว่า "รบเถิด อรชุน" เพราะถึงจะสู้รบแพ้ก็ยังได้ขึ้นสวรรค์   แต่หากเป็นพระพุทธเจ้า  ท่านก็คงตรัสว่า  "หยุดเถอะ อรชุน" เพราะไม่ว่าจะสู้รบแพ้หรือชนะ  แต่การฆ่าคนหลายร้อยหลายพันคนนั้นเป็นบาปมหันต์  จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน นี่จึงเป็นนับได้ว่าเป็นแนวคิดคนละขั้วกันเลย และ เนื่องจากพวกเราส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ไม่ใช่ ชาวพราหมณ์   โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้ก็ควรให้ความสนใจกับแนวคิดของ "ปางห้ามญาติ"  มากกว่าแนวคิดของ "มหาภารตะ"

หลักการก็คือว่า ดึง "สติ" ของคนไทยกลับมา  ใช้หลักการ "อโหสิกรรม" เพื่อทำให้ใจเย็นลง  ผมขอเสนอให้จัดงาน "วันสามัคคีแห่งชาติ" อย่างเร็วที่สุด  โดยในงานนี้จะมุ่งเน้นการ "แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง" เน้นประเด็นของการรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่คนไทยมีร่วมกัน  ขณะที่ความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองก็สงวนเอาไว้ก่อน  เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นขออภัย-ให้อภัยกัน และเริ่มต้นความสามัคคีในชาติ

โดยพิธีก็อาจเริ่มด้วยการเชิญตัวแทนของทุกสีทุกฝ่ายเข้ามา  สวดมนต์ร่วมกัน  ร้องเพลงชาติร่วมกัน  ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกัน  ฟังพระเทศน์ในเรื่องประโยชน์ของ "การอโหสิกรรมและความสามัคคี" จากนั้นก็อาจมีพิธีแขวน "เสื้อแดง  หน้ากากขาว  มือตบ  นกหวีด"  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจรัฐ   มีการประกาศวาระแห่งชาติที่จะเดินหน้าร่วมกันในเรื่อง  "การต่อต้านคอรัปชั่น  การขจัดสิ้นยาเสพติด และ การปฏิรูปการศึกษา" เป็นต้น   มีการ "ขออโหสิกรรม" ต่อชาติและประชาชนคนไทยที่ในอดีตอาจได้กระทำผิดพลาดไปบ้าง  และ สุดท้ายก็อาจจัดให้มีการร้องเพลง "สามัคคีชุมนุม" ร่วมกันเพื่อเริ่มต้นสร้างความสามัคคีในชาติ

เมื่อจิตใจของคนไทยเย็นลงแล้วก็จะสามารถคุยกันด้วยเหตุด้วยผล  ว่าเรื่องใดควรอภัยให้กันได้  เรื่องใดให้อภัยกันไม่ได้  แล้วจึงจัดทำเป็น "พรบ.สามัคคีแห่งชาติ"  ในภายหลังเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม น่าจะดีกว่าการปล่อยให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ  จริงไหมครับ ??

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สำนักเศรษฐศาสตร์... เพื่อชาติ

ปัจจุบันโลกมี 2  สำนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ๆ ก็คือ 1.สำนักเคนส์  เป็นกลุ่มที่ศรัทธาใน "นโยบายการคลัง" เน้นให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชน  แนวคิดนี้เริ่มจากอังกฤษ และ แพร่เข้าไปยังอเมริกาในส่วนที่ติดกับมหาสมุทร  จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า เศรษฐศาสตร์ "น้ำเค็ม"  2.สำนักการเงินนิยม เป็นกลุ่มที่ศรัทธาใน "นโยบายการเงิน" และ ไม่เชื่อในนโยบายการคลัง โดยคิดว่ารัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมเศรษฐกิจน้อยที่สุด  แนวคิดนี้เริ่มจากในอเมริกาด้านใน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชิคาโก้  เรียกว่าเศรษฐศาสตร์ "น้ำจืด"

คงไม่ต้องถึงกับเรียกว่า เศรษฐศาสตร์ "น้ำกร่อย"  แต่  สำนักเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก  ซึ่งแปลตรงๆ จากภาษาจีนได้ว่า "เศรษฐศาสตร์ขั้นสุดยอด"  ใช้แนวคิดของการยืมแรงสะท้อนแรง และ นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง  ซึ่งประกอบด้วย 4 ทฤษฎีใหม่ที่หักล้างแนวคิดทฤษฎีการเงินและการคลังแบบเดิมๆ  ประกอบไปด้วย "การคลังไท้เก๊ก" "การเงินไท้เก๊ก"  "ปริวรรตไท้เก๊ก" และ "บำนาญไท้เก๊ก"  น่าจะสามารถนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของโลกในอนาคตได้

ข้อเสนอของผมก็คือ  หากนำเรื่องนี้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  น่าจะเกิดผลดีต่อ 4 ฝ่ายดังนี้

1. นักศึกษา : นักศึกษาของไทยจะมีความรู้ระดับเหนือชั้นกว่านักศึกษามหาวิทยาลับ top 10 ของโลกกันเลย  นี่ดูเหมือนเรื่องที่แม้แต่ฝันยังไม่กล้าจะฝันด้วยซ้ำ  แต่ลองคิดดูสิว่า  นักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านั้นจะรู้จัก  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) บ้างไหมละครับ??   หากนักศึกษาไทยถึงแม้เรียนรู้เข้าใจในเรื่องนี้ได้เพียง 5 ส่วน  แต่ก็ยังดีกว่านักศึกษาต่างชาติเหล่านั้นที่มีความรู้ในเรื่องนี้เป็นศูนย์   นี่มิได้เรียกว่า "เหนือชั้น" กว่าหรอกหรือ ??

2. มหาวิทยาลัย :  3 ปีที่ผ่านมาจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ QS  พบว่า  จุฬาฯ อันดับแย่ลงไปราว 100 อันดับตกไปอยู่อันดับที่ 239  ของโลก  หากมหาวิทยาลัยไทยได้มีการสอนในวิชาที่แทบไม่มีที่ใดในโลกจัดการเรียนการสอนกัน  แต่เป็นแนวคิดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก  นี่มิใช่เป็นการสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นหรอกหรือ ??    มหาวิทยาลัยที่มีสำนักเศรษฐศาสตร์ล้วนแล้วแต่ติดอันดับ top 10 ทั้งสิ้นอย่าง  ฮาร์วาร์ด  เคมบริดจ์  พริ้นซ์ตัน หรือ ชิคาโก้   เผลอๆ  มหาวิทยาลัยไทยอาจวิ่งดีขึ้นอย่างเร็วจนติดอันดับ top 100 ก็เป็นได้

3.ประเทศไทย : หากมองย้อนหลังกลับไปหลายทศวรรษที่ผ่านมา  เคยมีสักวันไหมที่ประเทศไทยจะก้าวล้ำนำหน้าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย 3 ประเทศอย่าง  ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์

เมื่อดูด้านคมนาคม :  ไทยอาจสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 สายเสร็จได้ใน 7 ปี  ใช้เงินลงทุนถึง 8 แสนล้านบาท แต่นั่นก็เป็นการเดินตามหลังญี่ปุ่นถึง 55 ปี   อย่างไรก็ดี  ผมยังสนับสนุนให้สร้างอยู่ดี  เพราะการรอไปอีก 45 ปีแล้วสร้างนั้น  คนรุ่นลูกอาจไปบอกรุ่นหลานว่า  "ดีใจไหมที่ไทยมีรถไฟความเร็วสูงเสียที  ลงทุนไปหลายล้านล้านบาท  แถมเดินตามหลังญี่ปุ่นแค่ 100 ปีเอง"  

เมื่อดูด้านการสื่อสาร :  การลงทุน 3G 4G  อาจใช้เงินเป็นแสนล้านบาท  แต่คงไม่ต้องเทียบกับญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้  เพราะไทยเรายังตามหลังประเทศลาวด้วยซ้ำไป  

เมื่อดูด้านการศึกษา :  คงไม่ต้องไปเทียบอะไรกับ 3 ประเทศนั้น  ใช้งบกระทรวงศึกษาฯ ถึงปีละ 5 แสนล้านบาทแต่ไทยยังคงเหนื่อยกับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนอยู่เลย

แต่สำหรับเรื่องนี้  หากมีการบรรจุ "สำนักเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" เข้าไปในหลักสูตรวิชาเศรษฐศาสตร์แล้วละนี่จะแตกต่างอย่างแน่นอน เพราะ 3 ประเทศนั้นไม่ได้มีสำนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศตนเองเลย  ตอนนี้ก็ยังคงใช้แนวคิดของสำนักเคนส์ และ สำนักการเงินนิยม กันอยู่  ดังนั้นจึงอาจแปลได้ว่า  ไทยได้เดินนำหน้าญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ ไปแล้วอย่างน้อยก็ 1 ก้าว  โดยแทบไม่ต้องใช้เงินลงทุนอะไรเลยด้วยซ้ำ น่าทึ่งไหมละครับ ??

4. โลก : เนื่องจาก "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  เป็นความรู้ใหม่ของโลกซึ่งน่าจะนำไปใช้เพื่อปลดล็อก 4 กับดักเศรษฐกิจพิษร้ายแรงของโลกคือ "กับดักเคนส์"  "กับดักเงินเฟ้อ"  "กับดักยูโร" และ "กับดักประกันสังคม" ได้  หากทำได้สำเร็จนี่นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ ต่อโลกของเรา

ผมจึงขอเรียนเชิญท่านคณบดีเศรษฐศาตร์ และท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยในประเทศไทยผู้มีวิสัยทัศน์ชั้นยอดมาร่วมกันสานฝันอันยิ่งใหญ่นี้  เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยและเปลี่ยนโลกไปด้วยกัน  ลองติดต่อเข้ามานะครับ  prawitruang@gmail.com

สุดท้ายผมขอฝากคำพูดอมตะของ สตีฟ จ็อบส์ไว้ตรงนี้  "กลุ่มคนที่บ้าพอจะเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนโลกได้  คือพวกที่่จะทำได้จริง"  











วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สมการเปลี่ยนโลกเศรษฐศาสตร์

หากเป็นวิชาฟิสิกส์แล้วละก็  คงต้องยกให้ 2 สมการนี้ที่มีอิทธิพลต่อโลกอย่างมากก็คือ 1. F = ma  ของนิวตัน โดยหากไม่มีแรงมากระทำ (F=0)  แล้ว  วัตถุย่อมหยุดนิ่งหรือเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่ (ความเร่ง a=0)  ซึ่งนี่ก็คือ กฏของนิวตันนั่นเอง  และสมการ 2. E = mc^2  ของไอน์สไตน์  ที่บอกว่า มวลสารสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานมหาศาลได้  ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของระเบิดนิวเคลียร์ และ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

นอกจากนี้  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังได้กล่าวอีกว่า   "การเมืองคือเรื่องชั่วคราว  สมการสิถาวร" นั่นดูเหมือนจะเป็นจริง เพราะ สมการของนิวตันนั้นใช้มาหลายศตวรรษแล้ว  และเชื่อว่าอีก 100 ปีข้างหน้า สมการของไอน์สไตน์ก็จะยังคงอยู่คู่กับโลกต่อไปอีกเป็นแน่

ถ้าหากเป็นด้านวิชาปรัชญาตะวันออกบ้างละ  สมการของพระพุทธเจ้าก็อาจเป็น  "ไม่ทุกข์ = ไม่สุข"  หากไม่มีตัวตนเสียแล้วจะละความสุขความทุกข์ทางโลกได้  นี่คงเป็นแก่นของพุทธศาสนา    ส่วนสมการของท่านเล่าจื่อเจ้าลัทธเต๋านั่นอาจเป็น "หยิน = หยาง"  แล้ว สมการของท่านจางซานฟงปรมาจารย์มวยไท้เก๊กก็อาจเป็น "นิ่ง = เคลื่อน"  ส่วนสมการของท่านเติ้งเสี่ยวผิง ก็คงเป็น "แมวดำ=แมวขาว" จับหนูเก่งก็ใช้ได้  เหล่านี้คือ สมการด้านปรัชญาลึกซึ้งโดยคิดย้อนแย้งกับสามัญสำนึกแต่สำคัญกับโลกมาก

แล้วถ้าเรามาเข้าเรื่องด้านเศรษฐศาสตร์กันดูบ้าง   อุปสงค์ = อุปทาน คือ สมการที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อตั้งวิชาเศรษฐศาตร์ทุนนิยมคลาสสิค โดย อดัม สมิธ เมื่อ 200 ปีก่อนและ เซย์ ก็ได้นำไปตั้งเป็น "กฏของเซย์" แต่ เคนส์ได้หักล้างสมการนี้เสียและบอกว่า บางเวลาอาจเกิดอุปสงค์ส่วนเกิน หรือ อุปทานส่วนเกินได้  เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป หรือ เศรษฐกิจตกต่ำมากๆ  

ยังมีสมการที่สร้างโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา  เออร์วิง ฟิชเชอร์  (บิดาแห่งทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน)   ได้สร้างสมการที่เรียกว่า Fisher Effect ทีน่าสนใจมาก โดยได้ตั้งไว้ดังนี้   อัตราดอกเบี้ย = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง + อัตราเงินเฟ้อที่คาดหวัง และ  International Fisher Effect  ที่เขียนไว้ว่า อัตราการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน = ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย   นั่นหมายถึง  ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูง  ก็ควรมีอัตราดอกเบี้ยสูงด้วย และ ค่าเงินก็ควรอ่อนลงในระยะยาว  

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงต้นเหตุแห่งวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้ง เช่น เตกีล่า และ ต้มยำกุ้ง  โดยก่อนวิกฤตินั้น เม็กซิโก และ ไทย ล้วนมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอเมริกา  แต่ค่าเงินเปโซ และ เงินบาทดันไปผูกกับเงินดอลลาร์ไว้  ซึ่งมันเป็นการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบแย้งสมการเต็มๆ  สุดท้ายก็ไปไม่รอด   การใช้ค่าเงินที่แข็งเกินจริงทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง  และเมื่อความเชื่อมั่นถดถอย เงินทุนไหลออก  ก็จำเป็นต้องลดค่าเงินลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับก่อนวิกฤติในยูโรโซนก็เช่นกัน  กรีซ และ สเปน มีอัตราเงินเฟ้อ และ ดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศเยอรมัน และ เนเธอร์แลนด์  ดังนั้นค่าเงินควรอ่อนลงในระยะยาว  แต่เมื่อทั้งหมดผูกค่าเงินด้วย "ยูโร" ระบบจึงเดินหน้าไปไม่ได้   กรีซและสเปน จึงต้องพบกับวิกฤติเศรษฐกิจ  ปัญหาจึงไม่ได้เกิดจากวิกฤติการคลังเป็นต้นเหตุแต่อย่างใด แต่เกิดจากใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่แย้งกับ "สมการ" นั่นเอง  โดยก่อนหน้านี้ สเปน ไอร์แลนด์ นั้นมีหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ที่ต่ำมากอยู่แล้ว

นอกจากนี้  สมการนี้ยังชี้ว่าอย่ามองโลกในแง่ดีเกินไปนักสำหรับประเทศเกิดใหม่  หากคิดว่า อินเดีย จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเยอรมัน   อินโดนีเซียจะวิ่งแซงอังกฤษ  ภายในไม่กี่ปีละก็ควรคิดให้ดีเสียก่อนอีกรอบเพราะว่า  ประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงอย่าง อินเดีย อินโดนีเซียนั้น  สมการนี้บ่งชี้ว่าในระยะยาวแล้วค่าเงินยังคงต้องอ่อนลงไปกว่านี้ได้อีกมาก  นั่นหมายถึง GDP หากคิดเป็นดอลลาร์แล้วอาจไม่วิ่งเร็ววิ่งสูงอย่างที่กระแสคาดการณ์กันมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้

ส่วนสมการ MV = PQ ของ มิลตัน ฟรีดแมนบิดาแห่งสำนักการเงินบ้างเล่า  สมการชี้ประเด็นว่า หากมีการเพิ่มปริมาณเงิน (M)  ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ GDP (Q) สูงขึ้น และ อัตราเงินเฟ้อ (P) สูงขึ้นด้วย  แต่ว่าผมไม่คิดเช่นนั้น  ผมคิดว่า M ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การหมุนของเงิน (V) ลดลงโดยอัตโนมัติ  เงินจะไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ทีเป็น stock  ไม่ได้เข้าสู่เศรษฐกิจจริงที่เป็น flow มากนัก

ผมจึงเปลี่ยนสมการการเงินเป็น  อัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณเงิน = อัตราการเพิ่มของ GDP + อัตราเงินเฟ้อ + อัตราการไหลเข้าสุทธิในตลาดสินทรัพย์   สมการนี้จึงเป็นตัวชี้ว่าทำไม Fed ได้เพิ่มเงินถึงปีละ 1 ล้านล้านดอลล์  แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกาจึงไม่แข็งแรง  เงินเฟ้อก็ต่ำ  แต่ตลาดบ้าน และ ตลาดหุ้นของอเมริกากลับแข็งแกร่ง

เมื่อดูอัตราการเพิ่มของปริมาณเงิน M2 อยู่ที่ 6.5% ต่อปีของสหรัฐฯ จึงเท่ากับ  การเพิ่มของ GDP (1.6%)  บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อ (1.5%)   ขณะที่อีก 3.4% นั้นเงินไหลสุทธิเข้าไปยังตลาดสินทรัพย์ (บ้าน และ หุ้น) จะเห็นว่าปริมาณเงินที่เพิ่มไหลเข้าไปสู่ส่วนที่เป็น stock มากกว่า flow เสียอีก  ซึ่งสมการใหม่นี้จะทำให้อธิบายผลของการเปลียนแปลงปริมาณเงินได้ดีขึ้นกว่าเดิม

และก็มาเข้าถึงประเด็นสำคัญ  โดยยังจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้สร้างสมการไว้แบบนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงของ GDP = m * การเปลี่ยนแปลงของ G   โดย m คือ ค่าตัวทวีการคลังซึ่งมีค่ามากกว่า 1  ดังนั้นหากรัฐทุ่มงบประมาณเข้าไปมากๆ  และ เลือกโครงการที่มีค่าตัวทวีสูงๆ ก็จะเป็นผลบวกต่อศรษฐกิจได้มาก ซึ่งเรื่องนี้ยอดเยี่ยมเมื่อ 80 ปีก่อนในยุคที่เชื่อกันว่ารัฐบาลไม่ควรเข้ามาแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ ปล่อยให้กลไกตลาดของภาคเอกชนทำงานไปจะดีกว่า  สมการได้เปลี่ยนมุมมองของเศรษฐศาสตร์มหภาคกันเลย 

แต่ปัจจุบันประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายตั้งแต่ อเมริกา ญี่ปุ่น  ยูโรโซน ล้วนแล้วแต่ติด "กับดักเคนส์" คือ ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" หรือ "คลายเข็มขัด"  เศรษฐกิจก็ไม่เติบโตมากพอจะทันกับหนี้สินภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  นั่นก็คือ  หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ยังคงวิ่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องนั่นเอง  

ผมคิดว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ทฤษฎีเคนส์ต้องติด "กับดักเคนส์" ก็คือ  "โครงสร้างประชากร"  ที่เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ"  โดยที่รัฐต้องแบกรับภาระของผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งด้านเงินบำนาญ และ ประกันสุขภาพ  ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีน้อยลงทำให้ประชากรที่ก้าวเข้าสู่วัยทำงานน้อยลง  รัฐจึงเก็บภาษีได้จากประชากรกลุ่มที่เล็กลงนั่นเอง 

ผมจึงได้คิดสมการขึ้นมาใหม่บ้าง นั่นก็คือ  การเปลี่ยนแปลงของ GDP = m * การเปลี่ยนแปลงของ Gp โดยที่ Gp คือ G pension เป็นส่วนหนึ่งของ G  ที่ใช้เพื่อสมทบเงินเข้ากองทุนบำนาญ และ การให้หักลดหย่อนภาษีสำหรับเงินออมบำนาญ  และ m (ตัวทวี) มีค่าติดลบ  นี่คือ การเปิดช่องให้ประเทศพัฒนาแล้วที่มีวิกฤติการคลัง  จะสามารถรัดเข็มขัดไปพร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้

ท่านผู้นำของสหรัฐฯ  ญี่ปุ่น รวมไปถึงท่านผู้นำของยูโรโซน  หากได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้คงจะตื่นเต้นดีใจอย่างมาก  เพราะ แนวทางการดูแลวิกฤติการคลังไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วยนั้นอาจอยู่ที่สมการข้างต้นนี่เอง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้เจรจาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในเรื่องเพดานหนี้ได้เลย  โดยแนวคิดแบบย้อนแย้งนี้จะไม่สามารถทำได้เลยในโลกเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสำนักเคนส์ หรือ สำนักนีโอคลาสสิกก็ตาม  นี่มิได้เป็นการ "เปลี่ยนโลกเศรษฐศาสตร์" หรอกหรือ ??

แล้วท่านผู้อ่านละ....มีสมการที่จะใช้เปลี่ยนโลกบ้างหรือเปล่าครับ ??

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เส้นทางการหักล้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

หากเป็นวิชาวิทยาศาสตร์  คงต้องใช้เวลานานหลายศตวรรษกว่าจะหักล้างทฤษฎีกันได้  เช่น โคเปอร์นิคัส  หักล้าง ทฤษฎี "โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล" ของปโตเลมี  หรือ  กาลิเลโอ  หักล้างทฤษฎีของอริสโตเติล  ด้วยการทดลองโยนก้อนหินที่หอเอนปิซา  หรือแม้แต่ไอน์สไตน์  หักล้างทฤษฎีของนิวตันก็ตาม

แต่สำหรับวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น  มีความเป็น "วิทยาศาสตร์" น้อยกว่า  และมีความเป็น "สังคมศาสตร์" มากกว่า  ดังนั้นแม้ว่าเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเสรีได้ก่อกำเนิดโดย อดัม สมิธ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์) ราว 200 ปี  แต่มีการพยายามหักล้างทฤษฎีของศาสตร์นี้ในหลายรูปแบบมากมาย  ตัวอย่างเช่น

คาร์ล มาร์กซ์  (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์คอมมิวนิสต์) ได้พยายามชี้ประเด็นว่า  ปัจจัยการผลิตทั้ง "ทุน ที่ดิน แรงงาน ผู้ประกอบการ" นั้น ควรอยู่ในการดูแลของภาครัฐเป็นผู้ตัดสินใจ  ไม่ควรปล่อยให้ภาคเอกชนจัดการ  เพราะจะก่อให้เกิดเอาเปรียบจากชนชั้นนายทุนและเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก   อย่างไรก็ดี  ด้วยระบบ "เศรษฐศาสตร์คอมมิวนิสต์" นั้้น  การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ  สินค้าไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  เศรษฐกิจซบเซาตกต่ำ  เช่นกรณีของพม่า และ เกาหลีเหนือ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศจีน ท่านเติ้งเสี่ยวผิงได้นำเอา "ทฤษฎีแมวดำแมวขาว"  โดยพึ่งพาระบบเศรษฐกิจ "ทุนนิยม"  แม้การเมืองจะเป็นแบบ "คอมมิวนิสต์" ก็ตาม  จนทำให้เศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างน่ามหัศจรรย์มาหลายสิบปี    เมื่อถึงเวลานี้จึงอาจกล่าวได้ว่า  "เศรษฐศาสตร์คอมมิวนิสต์"  พ่ายแพ้แก่ "เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม"  แม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยังคงอยู่ก็ตาม

และเมื่อมาถึงยุคของ อี.เอฟ.ชูมาร์กเกอร์ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ)  ได้มุ่งประเด็นไปที่  "การเพิ่มประสิทธิภาพการบริโภค"  แทนที่  "การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต"   เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูง  หากทำได้สำเร็จ  ก็หมายถึง การบริโภคที่น้อยลง ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่มีความพึงพอใจสูงขึ้น   แม้ว่าโลกได้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติมากมาย จนผู้คนเริ่มคุ้นชินกับ "การบริโภคน้อยลง แต่มีความสุขมากขึ้น" ได้แล้วก็ตาม   การเดินหน้าไปตามแนวทางนี้  อาจหมายถึง การใช้จ่ายที่น้อยลง  GDP ลดลง  เศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ผู้คนมีความสุขมากขึ้น  สิ่งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็น "ศาสนศาสตร์" ไปมากกว่า "เศรษฐศาสตร์"  ถึงแม้จะหักล้าง "ทุนนิยม" ซึ่งเป็นกระแสหลักยังไม่สำเร็จ  แต่ความรุนแรงจากภาวะโลกร้อนและความเสียหายของเศรษฐกิจจากความโลภที่เกินขอบเขต  ก็น่าจะส่งผลให้ "เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ" ดูดีมีน้ำหนักมากขึ้นในอนาคตเป็นแน่

แล้วภายในแวดวงของ "ทุนนิยม" บ้างละ   อดัม สมิธ เน้นที่คำว่า "แข่งขันเสรี"  ปล่อยให้ "มือที่มองไม่เห็น" ทำงานแล้วจะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดได้เอง   แต่  จอห์น แนช (บิดาแห่งทฤษฎีเกม)  ได้แทนที่ "การแข่งขัน" ด้วย  "การร่วมมือ" ต่างหากที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่่ดีกว่าเป็น "win-win" ตามแนวคิดของ ทฤษฎีเกม และ ดุลยภาพแนช (Nash Equilibrium)  ซึ่งเป็นไปตามเรื่องราวในภาพยนตร์ A Beautiful Mind นั่นเอง  และ รางวัลโนเบลก็ดูเหมือนเป็นตัวบ่งชี้ว่าเขาได้หักล้างทฤษฎีของอดัม สมิธ จริง

ส่วน จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค)  ไม่เห็นด้วยกับคำว่า "เสรี"  แต่การที่รัฐบาลเข้าไป "แทรกแซง"  โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำต่างหากที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า  สิ่งนี้ได้พัฒนากลายเป็นทฤษฎีการคลัง หรือ "ทฤษฎีเคนส์" มาจนถึงปัจจุบัน  โดยเคนส์  บอกว่า  "ค่าตัวทวี" (multiplier) นั้นจะมากกว่า 1 หมายถึง การที่รัฐบาลใส่เงินเข้าไปจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนบริโภค และ ลงทุนตามมาด้วย

แน่นอนว่าแนวคิดแบบนี้ก็ถูกโต้แย้งโดย มิลตัน ฟรีดแมน (บิดาแห่งสำนักการเงินนิยม)  ที่ว่าการใช้จ่ายของภาครัฐนั้นจะไปแย่งเงินของภาคเอกชน (crowding out)  ซึ่งจะทำให้สุดท้ายแล้ว "ค่าตัวทวี" จะเหลืออยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 เท่านั้นเอง

โดยในกรอบทฤษฎีเคนส์นั้น G = Gc+Gi   คือ การใช้จ่ายของภาครัฐนั้น มีเพื่อการบริโภค และ การลงทุนเท่านั้น โดยเคนส์เชื่อว่า  เมื่อเพิ่ม G  ก็ดึงให้เอกชนเพิ่มการบริโภค และ ลงทุน (C และ I)  เพิ่มตามไปด้วย  ขณะที่ฟรีดแมนบอกว่าการเพิ่ม G  จะไปแย่งเงินเอกชนส่งผลให้ C และ I ลดลงต่างหาก

แต่สำหรับ "ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก"  G = Gc+Gi+Gs+Gp   ซึ่งกว้างออกไปกว่าเดิมนั้น  แล้วสมการที่ยาวขึ้นนี้มีประโยชน์อย่างไรบ้างละ

Gs : G stock  ซึ่งหมายถึง การที่รัฐบาลนำเงินไปใช้เพื่อการเก็บสต็อกสินค้าบางอย่างที่เสื่อมค่าลงไปได้ เงินไม่หมุน และ ค่าตัวทวีจะต่ำมาก

เรื่องนี้ทำให้เข้าใจได้ว่ากรณีของการจำนำข้าว  แม้รัฐบาลเพื่อไทยใช้เงินถึง 6.7 แสนล้านบาทเพื่อรับจำนำข้าว พร้อมเก็บสต็อกถึงเกือบ 20 ล้านตัน  แต่ผลทางเศรษฐกิจนั้นน่าจะแค่พอๆ กับรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่ใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรราว 6-7 หมื่นล้านต่อปี   นั่นก็เพราะว่า Gs มี "ค่าตัวทวี" ที่ต่ำมากนั่นเอง

นอกจากนี้กรณีการนำเงิน 2 หมื่นล้านบาท  เข้าซื้อยางราว 2 แสนตันเก็บเป็นสต็อกเพื่อพยุงราคายางก็เช่นกัน  จะเห็นว่าผลประโยชน์ที่ตกกับชาวสวนยางนั้นก็มีน้อยมาก

ยังรวมไปถึงโครงการ "รถยนต์คันแรก" ที่กลายเป็น สต็อกรถยนต์  มีผู้จองสิทธิแต่ไม่มารับรถก็มาก ผ่อนไม่รอดก็เยอะ ไม่ใช่การบริโภคแบบครั้งเดียวจบ  แต่มีภาะที่ต้องดูแลผ่อนค่างวดไปอีกหลายปี  จนลดทอนกำลังซื้อของคนชั้นกลางไปไม่น้อยเลย

ไม่เพียงแต่ "ค่าตัวทวี" ที่ต่ำเพราะเงินไม่หมุนเท่านั้น  แต่การเสื่อมค่าของสต็อก และ การเปิดช่องให้ทุจริตได้ก็ดูเหมือนจะทำให้นโยบายการคลังแบบ Gs ของรัฐบาลดูแย่ไปเลย

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ Gp  หรือ G pension  ซึ่งหมายถึง  การที่ภาครัฐส่งเงินสมทบ หรือ ให้วงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับกองทุนบำนาญอย่าง  กบข.ประกันสังคม RMF, LTF และ ประกันชีวิต    การที่รัฐบาลใช้เงินมากขึ้น  ทำให้มีการออมเข้ามาในกองทุนบำนาญมากขึ้นด้วย  แม้จะเป็นประโยชน์ในอนาคตแต่นั่นกลับทำให้การใช้จ่ายในปัจจุบันลดลง   ค่าตัวทวีของ Gp จึงถึงขั้น "ติดลบ"  ซึ่งเรื่องนี้หักล้างทฤษฎีของเคนส์ที่ว่าตัวทวีมากกว่า 1  และ ยังหักล้างแนวคิดการคลังของกลุ่มการเงินนิยมที่บอกว่าค่าตัวทวีอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 อีกด้วย

นั่นหมายถึง  หากรัฐบาลรัดเข็มขัดการคลังในส่วนนี้จะกลับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้  ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่สามารถจะเป็นไปได้เลยในกรอบทฤษฎีเคนส์    ดังนั้น "การคลังไท้เก๊ก" จึงเป็นการหักล้าง "ทฤษฎีเคนส์"  เต็มๆ  และ เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ประเทศซึ่งมีวิกฤติการคลังอย่าง  อเมริกา ญี่ปุ่นและ ยูโรโซน อาจรวมถึงประเทศไทยในอนาคตนั้น สามารถหาช่องทางที่จะ "รัดเข็มขัดการคลัง"  พร้อมๆ ไปกับการ "กระตุ้นเศรษฐกิจ" ได้ด้วย

และเนื่องจากปรมาจารย์ "เคนส์" คือ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค  ดังนั้น  การหักล้างทฤษฎีเคนส์  จึงอาจหมายความว่า  โลกได้เวลาที่จะต้องเขียนตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคกันใหม่แล้ว   คิดแบบนั้นไหมครับ ??

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

แทรกแซงไท้เก๊ก : กรอบแนวคิดใหม่ใช้แก้ปัญหาสินค้าเกษตร

การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  อาจแบ่งได้เป็น 4 วิธีดังนี้

1. รับจำนำ : อย่างกรณีของข้าว ณ ปัจจุบัน ซึ่งการจำนำด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ตันละ 1.5 หมื่นบาท  ส่งผลให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดทุนหลายแสนล้านบาท  และ มีภาระในการระบายสต๊อกข้าวที่เริ่มเสื่อมสภาพอีกด้วย
2. ประกันราคา :  อย่างกรณีของยางแผ่นรมควันที่รัฐบาลเคยสัญญาประกันราคาที่ 90 บาท  ขณะที่ชาวสวนยางบางคนก็พอใจ  บางคนก็เรียกร้องที่ 95 บาท โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างของราคาให้
3. ชดเชยรายได้ :  รัฐบาลได้พยายามเสนอให้จ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตให้ 2520 บาทต่อไร่ให้กับชาวสวนยาง  ไม่เกิน 25 ไร่   ใช้งบราว 2.1 หมื่นล้าน
4. แทรกแซงตลาดจริง : เช่น ที่ผ่านมาได้ซื้อยางเข้าแทรกแซงตลาดราว 2 หมื่นล้านบาท ได้สต๊อกยาง 2 แสนตันแต่สต๊อกก็มีมูลค่าลดลงเสื่อมค่าลง และ ไม่สามารถพยุงราคาตลาดได้เมื่อจำเป็นต้องระบายสต๊อกออกไป

ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด  เหล่านี้ล้วนเป็นโมเดลแบบ "ขาดทุนก็คือกำไร" นั่นหมายถึง  รัฐบาลยอมขาดทุนเพื่อสร้างกำไรให้กับเกษตรกรทั้งชาวนาชาวสวนนั่นเอง  มันจะมีวิธีใหม่ๆ บ้างหรือไม่    เมื่อเราเริ่มตั้งคำถามเราก็อาจได้คำตอบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  นั่นก็คือโมเดลแบบ "กำไรก็คือกำไร" ซึ่งหมายถึงว่า  ทั้งรัฐบาลก็มีกำไร และ เกษตรกรก็มีกำไรด้วย   แต่มันจะเป็นไปได้ละหรือ ??

กรอบแนวคิดใหม่นี้ก็คือ  "แทรกแซงไท้เก๊ก" (คำแปลจากภาษาจีน : สุดยอดการแทรกแซง)  ซึ่งเป็น 1 ใน 18 กระบวนท่าของ "การคลังไท้เก๊ก"  โดยใช้แนวคิด "ในนิ่งมีเคลือน" และ "สี่ตำลึงปาดพันชั่ง" ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาสำคัญของ "มวยไท้เก๊ก" นั่นเอง คือ ใช้แรงที่น้อยเพื่อยกตลาดขนาดใหญ่มากขึ้นไปได้

ด้วยการจัดตั้ง "กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านตลาดล่วงหน้า" โดยควรเริ่มต้นจากสินค้าเกษตรที่เป็นปัญหา "ยางพารา" ก่อนเลย  โดยอาจวางเงินทุนเริ่มต้น 5 พันล้านบาท   ด้วยวิธีการแทรกแซงผ่านตลาดล่วงหน้าจะมีข้อดีกว่าการแทรกแซงตลาดแบบเดิมๆ 2 เรื่อง คือ

1. สามารถเพิ่มกำลังซื้อได้ถึง 20 เท่า  เช่น กรณีของยาง วางเงินค้ำประกัน 5 พันล้าน จะสามารถแทรกแซงตลาดยางได้ถึง 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 1 ล้านตัน  ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตส่วนเกินของยางธรรมชาติที่ประเมินไว้ราว 5 แสนตันต่อปีเสียอีก  ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าน่าจะดันราคายางแผ่นรมควันให้ถึง 100 บาทต่อ กก. ได้ไม่ยากนัก  ซึ่งนั่นก็จะเป็นระดับราคาที่ชาวสวนยางพอใจ
2. ไม่ต้องเก็บสต๊อกยางจริง :  สัญญาซื้อล่วงหน้าจะเป็น "สต๊อกเสมือน"  จะสามารถถือไปได้เรื่อยๆ ด้วยการต่อสัญญาแบบ roll over  ดังนั้น  จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมคุณภาพของสต๊อก  ซึ่งจะต้องถูกบีบให้รีบขายออกมาเมื่อเก็บเกิน 1 ปีเหมือนกรณีสต๊อกข้าว และ ยาง ของรัฐบาลในปัจจุบัน

หากเรื่องนี้เป็นไปตามแผนก็คือ รัฐบาลจะมีผลกำไรจากงานนี้ด้วย เพราะ ไล่ซื้อไปจากราคาต่ำๆ ไปสู่ระดับสูงๆ กว่า 100 บาทต่อ กก.ได้  ขณะที่ชาวสวนยางก็พอใจกับระดับราคานั้นรายได้อาจสูงขึ้น 25% หรือเพิ่มขึ้น 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปีกันเลย  โดยรัฐบาลก็ไม่ต้องเสียงบฯ 2.1 หมื่นล้านตามแผนเดิม  ความจริงแล้วรัฐบาลไทยอาจไม่ต้องซื้อแทรกแซงถึงขนาดนั้นก็ได้  เพราะ เพียงแค่ประกาศว่ารัฐบาลไทยจะแทรกแซงในตลาดล่วงหน้าถึง 1 ล้านตัน และเป็นสต๊อกเสมือนที่จะเก็บไว้นานเท่าไหร่ก็ได้  เมื่อข่าวแบบนี้ออกไปก็จะมีคนเข้ามาช่วยรัฐบาลไทยซื้อยางจำนวนมากอยู่แล้ว

แต่สำหรับ "ข้าว" นั้นเป็นสินค้าเกษตรที่ท้าทายยิ่งกว่าและเรื่องราวอาจยากกว่าหน่อย  เพราะ มีการผลิตข้าวเจ้าทั่วโลกถึง 450 ล้านตันต่อไป ขณะที่ไทยผลิตอยู่ราว 20 ล้านตันเท่านั้น  ส่วนข้าวที่เหลือเพื่อทำการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 8% ของการผลิตรวม  ดังนั้น  หากจะแทรกแซงจริงๆ อาจต้องทำถึง 10 ล้านตันขึ้นไปหรือราว 1.5 แสนล้านบาทแต่ด้วยนี่เป็นการแทรกแซงผ่านตลาดล่วงหน้า  รัฐบาลก็ใส่เงินค้ำประกันแค่ 7.5 พันล้านบาทเท่านั้นเองเพื่อแทรกแซงตลาดข้าวได้ถึง 10 ล้านตัน โดยไม่ต้องเก็บสต๊อกจริงด้วย  จะเห็นว่าเป็นวงเงินที่น้อยกว่าใช้เพื่อจำนำข้าวในปัจจุบันลิบลับ

หากสามารถทำแล้วได้ผลดี  สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ "ยืมพลัง" ทั้งจากภาคประชาชนด้วยการออก "กองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย" แบบประหยัดภาษีได้คล้าย LTF, RMF  ก็อาจระดมเงินมาได้ราว 1 หมื่นล้าน  ทั้งยังอาจ "ยืมพลัง" จากกองทุนบำนาญ  โดยอาจกำหนดให้ 1% ของสินทรัพย์ต้องมาลงทุนในสต๊อกสินค้าเกษตรไทยก็เป็นเงินถึง 3.5 หมื่นล้านบาท  รวมกัน 2 แหล่งเมื่อคูณด้วยกำลังซื้อ 20 เท่าก็จะสามารถซื้อสต๊อกสินค้าเกษตรไทย (ข้าว ยาง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มัน และอื่นๆ ) เป็นสินทรัพย์ได้ถึง 9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

หากแค่นั้นยังไม่สะใจพอ  เนื่องจากการพยุงราคาข้าวและยางนั้นจะเป็นผลดีทางรายได้ของชาวนา ในอินเดีย และ เวียดนาม  รวมถึง ชาวสวนยาง ของ อินโดนีเซีย และ มาเลเซียด้วย   ดังนั้น  ควร "ยืมพลัง" ของประเทศคู่แข่งในการขายข้าว  และ คู่แข่งในการขายยาง  ให้มาร่วมมือในการทำแบบเดียวกัน  พลังก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว  จะส่งผลให้ภูมิภาคนี้สามารถกำหนดทิศทางราคาตลาดโลกได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ

ด้วยกระบวนการเหล่านี้  จะมีข้อดีทั้ง 4 ด้านเลยก็คือ  1. รัฐบาลไม่ขาดทุนแถมมีกำไรติดไม้ติดมือ  ไม่ต้องระบายสต๊อกที่เน่าเสีย  แถมไม่ต้องรับมือกับม็อบภาคเกษตรอีกต่อไป  2. ชาวนาชาวสวนพอใจกับราคาที่สูงและมีรายได้ที่สูงขึ้น  3. เป็นการช่วยสร้างธุรกรรมให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า AFET  4. ปิดช่องการทุจริตคอรัปชั่นการรั่วไหลของงบประมาณ

หากกรอบแนวคิดใหม่นี้ได้ถูกนำไปใช้และสำเร็จโดยดีนั่นหมายถึง ประเทศไทยจะประหยัดงบประมาณในการอุดหนุนภาคเกษตรที่ปกติแล้วต้องจ่ายถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีไปได้สบายๆ   เกษตรกรได้ราคาที่สูงจนน่าพอใจ นอกจากนี้ยังปิดช่องทางทุจริตสำหรับกลุ่มคนที่เล่นกลโกงกับเงินทอนของงบประมาณรั่วไหลอีกด้วย นี่อาจเป็นการเปลี่ยนโมเดลของไทยในรอบหลายสิบปีจาก "ขาดทุนก็คือกำไร" มาเป็น "กำไรก็คือกำไร"  ประหยัดเงินรัฐบาลไปแสนล้าน  และเกษตรกรกำไรเพิ่มขึ้นอีกแสนล้าน  เมื่อเห็นตัวเลขผลประโยชน์ที่สูงขึ้นของชาติแบบนี้แล้ว  ผมอดที่จะตื่นเต้นไปกับแนวคิดใหม่นี้ไม่ได้  แล้วท่านผู้อ่านละครับ ??


วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แก้ไขม็อบยาง บางทีง่ายกว่าที่คิด

ม็อบยางที่ปิดทั้งถนน และ รถไฟ เพราะ ราคายางแผ่นดิบ และ รมควัน ตกต่ำนั้น  ทำให้ชาวสวนยางจำนวนมากเดือดร้อน  จนต้องชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ

การแก้ไขอาจไม่ง่ายนัก เพราะ ราคายางอิงกับตลาดโลก  และ รัฐบาลก็แทรกแซงได้แล้วด้วยงบราว 2 หมื่นล้าน  ได้ยางมา 2 แสนตันเก็บไปเป็นสต๊อกที่ยากจะขายออกไป   และ  เมื่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งในการขายยางของไทย  ประสบกับปัญหาค่าเงินตกต่ำเนื่องจากเงินไหลออก  ก็ทำให้ราคายางซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญนั้นก็ตกต่ำตามค่าเงิน

รัฐบาลพยายามช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้ 1.2 พันบาทต่อไร่  ไม่เกิน 10 ไร่ หรืออาจถึง 25 ไร่ก็เป็นได้  นอกจากนี้ก็มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงงานยาง  แต่ก็มีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มยังไม่พอใจในเรื่องนี้เพราะต้องการราคาที่สูงมากกว่า และ อาจก่อม็อบใหญ่ปิดถนนสายเอเชียทุกทิศทางทั้งสายเหนือ  อีสาน และ ใต้ หรือทั้งประเทศ  อาจก่อให้เกิดปัญหาการขนส่งสินค้า และ การเดินทางให้เป็นอัมพาตได้ในวันที่ 3 กย.ที่จะถึงนี้

ทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่านี้จะมีหรือไม่ ??  เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก แนะนำให้ใช้วิธี "ยืมพลัง" ด้วยการให้รัฐบาลออกกฎเพื่อให้กองทุนบำนาญ ซึ่งประกอบไปด้วย  สปส. กบข. กสล. และ ประกันชีวิต  รวมสินทรัพย์แล้วราว 3.5 ล้านล้านบาท  ต้องลงทุนในสัญญาซื้อล่วงหน้าของยางแผ่นรมควัน  ไม่ต่ำกว่า 1% ก่อนสิ้นปีนี้ และ ไม่ต่ำกว่า 2% ก่อนกลางปีหน้า  แล้วปล่อยให้กลไกของตลาดล่วงหน้าทำงานไปกระทบต่อตลาดจริงอีกที   ด้วยวิธีนี้เราจะได้ดีมานด์ยางแบบพิเศษเพิ่มมาอีก 7 หมื่นล้านบาท  โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว

เท่านั้นยังไม่พอ  เรายังควร "ยืมพลัง" จากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ ซึ่งก็คือ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย อีกด้วย  ด้วยการเสนอแนะให้พวกเขาทำแบบเดียวกัน  ด้วยวงเงินที่พอๆ กับไทย  ซึ่ง 2 ประเทศนี้ก็มีกองทุนบำนาญขนาดใหญ่อยู่แล้วเช่นกัน  ดังนั้น รวม 3 ประเทศแล้วก็น่าจะได้เงินผลักดันราคายางเป็นมูลค่าสูงถึง 2.1 แสนล้านบาท หรือยางรมควัน 2.1 ล้านตัน (กก.ละ 100 บาท) ซึ่งดูจากตัวเลขแล้วเป็นยอดที่ใหญ่มากๆ   เมื่อดูจากยอดส่งออกยางของประเทศไทยที่ตกราว 2.5 ล้านตันต่อปี

แล้วสมาชิกกองทุนบำนาญเหล่านี้จะโวยวายหรือไม่ ??  แม้การลงทุนจะเป็นสัดส่วนแค่ 2% ของสินทรัพย์เงินออม  ไม่น่าจะมีผลอะไรนักต่อสมาชิกแต่ละคน  แต่ก็อาจมีบางคนที่ไม่พอใจก็เป็นได้ว่าทำไมต้องมาแบกรับภาระของชาวสวนยางด้วย   รัฐบาลก็อาจเพิ่มเงื่อนไข "รับประกันขาดทุน" ให้กับกองทุนบำนาญเข้าไปด้วย  ซึ่งหากขาดทุนจริงๆ รัฐบาลจะชดเชยเงินส่วนต่างให้เลย  อันที่จริงแล้วก็ไม่่น่าจะขาดทุนแต่อย่างใด  เพราะ ไล่ซื้อตั้งแต่ราคา 75 บาทต่อกก. ไปเรื่อยๆ จนถึง 100 บาทต่อ กก. ราคาเฉลี่ยย่อมต่ำกว่าราคาเป้าหมายสุดท้ายเป็นแน่อยู่แล้ว

ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่อง win-win-win คือ  ชาวสวนยางได้ขายยางที่ราคาดีอาจถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม   ขณะที่  กองทุนบำนาญก็ได้ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ  เป็นการช่วยเหลือชาติไปด้วย พร้อมๆ กับสินทรัพย์ (ยาง) นั้นซื้อได้ถูกมีกำไรด้วย แถมรัฐบาลยังรับประกันการขาดทุนให้อีกต่างหาก   สำหรับรัฐบาลแล้วก็ดีในแง่ที่ไม่ต้องใช้เงินตนเองเลยแม้แต่บาทเดียว  แต่ใช้ประโยชน์จากการ "ยืมพลัง" กองทุนบำนาญ

ในเมื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์  ไม่มีใครเสียประโยชน์ (ยกเว้นผู้ซื้ออย่าง จีน และ ญี่ปุ่น)  จะมามัวรออะไรอยู่อีกละครับ..... รีบเร่งพิจารณาในรายละเอียด  แล้วรีบประกาศออกไปเพื่อให้ชาวสวนยางได้อุ่นใจว่า มีเงิน 2 แสนล้านพร้อมเข้าแทรกแซงราคายางให้สูงกว่านี้อีกมาก  จะได้ตัดสินใจยกเลิกการชุมนุมกันไปเสีย  หากราคาไม่ได้ตามที่หวังค่อยมาคุยกันใหม่รอบหน้าครับ










วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์ไตรภาค

บทความนี้ผมจะได้กล่าวถึง "เศรษฐศาสตร์ไตรภาค"  หรือเศรษฐศาสตร์ซึ่งมี 3 ภาค  ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย

1. ภาคก่อวิกฤติ :  นี่คือเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม  เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยาง  เน้นการ  เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง  สร้างความโลภเกินพอดี  สร้างฟองสบู่ให้แตกจนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   แม้มีความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤติของภาคเอกชน  อย่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์  ด้วยการอัดฉีดเงินภาครัฐเข้าไปมากๆ  โดยอเมริกาขาดดุลการคลังตั้งแต่ปี 2009-2012 นั้นเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 12.1%  10.7%  10.1% และ 8.5%  ตามลำดับซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและตัวเลขหนี้ภาครัฐต่อ GDP นั้นก็วิ่งสูงกว่า 100% ไปแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีตัวเลขขาดดุลการคลัง 4 ปีแบบเดียวกันที่ 8.8% 8.7%  9.1% และ 9.2% ตามลำดับขณะที่หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP วิ่งสูงกว่า 220%  

เมื่อมาดูประเทศในยูโรโซนที่พยายามจะ "รัดเข็มขัด" ดูบ้าง  ก็พบว่าประเทศอย่างกรีซ และ สเปน ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยด้วยการพยายามรัดเข็มขัดการคลัง  อย่างไรก็ดี  พบว่า ตัวเลขจริงของการขาดดุลการคลังในปี 2012  ก็คือ 10.0% และ 10.6% GDP ตามลำดับ  นั่นเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด"  (paradox of austerity) ซึ่งหมายถึงว่า การพยายามรัดเข็มขัดการคลัง จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย  รัฐบาลจึงมีรายได้ลดลง ขณะที่ต้องมีภาระด้านประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น  พร้อมๆ กับการอัดฉีดเงินเพิ่มทุนเข้าภาคธนาคารอีกด้วย  จึงทำให้ผลลัพธ์นั้นออกมาในทิศทางแย้งกับที่ตั้งใจ คือ การขาดดุลการคลังยังสูงมาก และ หนี้สินต่อ GDP ก็คงยังวิ่งสูงต่อไป  จึงเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากการทุ่มเงินภาครัฐแบบอเมริกา หรือ ญีปุ่น  นี่เรียกได้ว่าเป็น "กับดักเคนส์" คือไม่ว่าเลือกทางใดก็ติดกับดักอยู่ดี

เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรมาก  ธนาคารกลางก็พิมพ์แบงก์เพิ่มเข้ามาเป็นผู้ช่วยซื้อเพื่อหวังมิให้ดอกเบี้ยที่ออกมานั้นสูงจนเกินไป  ทำให้สินทรัพย์ของเฟดโป่งพองไปสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ผ่านมาตรการ QE  ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนมหาศาลหากต้องมีการ "ลด" หรือ "เลิก" มาตรการ QE ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ดีดกลับขึ้นไปสูงมาก  ทำให้พันธบัตรที่ถือครองเป็นสินทรัพย์นั้นเสื่อมค่าลง  จะเห็นได้ว่าการพยายามแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเป็นเสมือน "ลิงแก้แห"  ที่จะส่งผลให้เกิด "วิกฤติการคลัง" ของภาครัฐ  และ "วิกฤติการเงิน" ของธนาคารกลางตามมาได้อีกด้วย  ยังไม่นับการรวมไปถึง "วิกฤติภาวะโลกร้อน" อีกต่างหาก

2. ภาคป้องกันวิกฤติ : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ  นี่คือเศรษฐศาสตร์พลังหยิน  มุ่งเน้น นิ่ง-สงบ-เย็น  จะสามารถช่วยป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี  แต่อาจทำให้เศรษฐกิจโตช้าเกินไป  เติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ  เมื่อเดินหน้าช้าๆ  โอกาสเกิดอุบัติเหตุย่อมน้อยกว่าการวิ่งอย่างเร็วๆ  โดยเฉพาะในช่วงทางโค้งอันตราย  เศรษฐศาสตร์ในภาคนี้จะควบคุมความโลภไม่ให้เกินขอบเขตที่จะทำให้ไปถึงขั้นฟองสบู่แตก  อาจบรรจุเรื่องราวของ ดินน้ำลมไฟและขยะ เป็น "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม"   เรื่องราวของพลังงานฟอสซิลและพลังงานทดแทนเป็น "เศรษฐศาสตร์พลังงาน"  ใส่เรื่องราวของ พืชและสัตว์ เป็น "เศรษฐศาสตร์การเกษตร"  รวมไปถึง  เรื่องราวของคนกลายเป็น "เศรษฐศาสตร์แรงงาน" เข้าไปด้วย  แทนที่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องของ "เงิน" และ "สินค้า"  ตามแนวเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทุนนิยมเดิมๆ  

3. ภาคพิชิตวิกฤติ : เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.)  ซึ่งอาจแปลตรงๆ จากภาษาจีนเป็น "เศรษฐศาสตร์ไร้เทียมทาน"  นี่เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยินหยาง   ใช้หลักการรักษาสมดุล  ยืมแรงสะท้อนแรง  นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง  โดยไม่ใช้วิธีแบบเดิมๆ  เช่น  "การคลังไท้เก๊ก"  นั้นรัฐบาลจะสามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ  แทนที่จะอัดเงินงบประมาณลงไปตรงๆ  

หากมีการบรรจุภาค 2 และ 3  เข้าไปเป็นหลักสูตรของนักเรียนชั้นมัธยม  เด็กมัธยมโดยเฉลี่ยของไทยก็น่าจะมีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ที่เหนือว่า เด็กมัธยมของประเทศอื่นๆ  เพราะว่าพวกเขาเรียนกันแค่ภาคแรกภาคเดียว  ขณะที่ไทยจะเรียนถึง 3 ภาค  หากการปฏิรูปการศึกษา คือ การพยายามทำให้เด็กไทยได้มีความรู้เพื่อตามให้ทันเพื่อนบ้านแล้วละก็  นี่ไม่ใช่แค่การปฏฺิรูปการศึกษา  แต่เป็น "ปฏิวัติการศึกษา" เพราะจะทำให้เด็กมัธยมไทยมีความรู้เหนือล้ำกว่าชาติอื่นๆ ในโลกกันเลยทีเดียว  แน่นอนว่าเป็นเฉพาะแค่วิชาเดียว ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์นั้นหนทางคงอีกยาวไกล

อย่างไรก็ดี  นี่อาจนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเดินสู่การเป็นผู้นำความรู้เศรษฐศาสตร์ของโลก  และ ยังอาจเป็นก้าวย่างแรกที่สำคัญต่อการปฏิวัติการศึกษาไทยอีกด้วย   แต่ความฝันอันงดงามยิ่งใหญ่นี้ก็ยากจะเป็นจริง  หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของท่านผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ  ก็ฝากไว้ด้วยนะครับ


วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปากีสถาน....งานเข้าเอเชีย

ปากีสถาน คือ ประเทศที่ขนาดของเศรษฐกิจใหญ่กว่าครึงหนึ่งของประเทศไทยเล็กน้อยอยู่ที่ 211 พันล้านดอลลาร์   แต่มีพลเมืองมากถึง 180 ล้านคน หรือเกือบๆ 3 เท่าของประเทศไทย  โดยอยู่ติดกับเพื่อนบ้าน คือ ประเทศอินเดีย  ซึ่งมีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าถึง 9 เท่าตัว

ข่าวก็คือ IMF และ ปากีสถานได้มีข้อตกลงที่ IMF จะปล่อยเงินกู้ 5.3 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ปากีสถานมีระยะเวลา 3 ปี  เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ  ป้องกันวิกฤติดุลบัญชีชำระเงิน  โดยเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศนั้นร่อยหรอลงมากกว่า 40% ในช่วงเวลา 1 ปีที่่ผ่านมาเหลือเพียง 6 พันล้านดอลลาร์  หรือ เหลือไม่ถึง 2 เดือนของการนำเข้า

ทั้งๆที่ ปากีสถาน มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 2% GDP เท่านั้น  ประเทศนี้มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ จึงได้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ แน่นอนว่าปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2008 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์แล้ว  โดย IMF ได้เคยปล่อยกู้ให้ปากีสถานหลายครั้งรวมถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์  แต่ได้หยุดไปในปี 2011 เพราะ ปากีสถานไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้  โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลขาดดุลการคลัง  การปล่อยกู้รอบใหม่ให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ก็คงมีบางส่วนเพื่อให้ ปากีสถานสามารถมีเงินไปชำระหนี้เก่่าของ IMF ด้วยนั่นเอง  ภายใต้เงื่อนไขที่ ปากีสถาน จะต้องรัดเข็มขัดการคลังอย่างจริงจัง

เมื่อมาดูการคลังของ "ปากีสถาน" ดูบ้าง  ก็พบว่า หนี้สินภาครัฐต่อ GDP ยืนที่ 50.4%  เท่านั้นเอง  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นระดับที่ต่ำ  เมื่อเทียบกับประเทศในยูโรโซน   แต่เมื่อมาดู "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Index)  ดูบ้าง  ประเทศปากีสถานมีบอนด์ยีลด์ 10 ปีนั้นสูงถึง 12.0% นั่นหมายถึงว่า ค่า Ruang Index สูงถึง 6.0% กันเลย  ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงทางการคลังมากๆ  เมื่อเทียบกับ  ญี่ปุ่นซึ่งแม้มีหนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP  สูงถึง 230%  แต่มีบอนด์ยีลด์ 10 ปีที่ 0.86% จึงได้ค่า Ruang Index เพียงแค่ 2.0%  จึงอาจกล่าวได้ว่าความจริงแล้วญี่ปุ่นมีความเสี่ยงทางการคลังที่ต่ำกว่า ปากีสถาน อยู่หลายขุม

แล้วเช่นนั้นปัญหาของ "ปากีสถาน" ที่แท้จริงคืออะไร  ปัญหาก็คือ ประเทศนี้มีหนี้สินภายนอก (external debt)  ที่ถือโดยคนต่างชาติอยู่ถึง 60 พันล้านดอลลาร์  ขณะที่มีเงินทุนสำรองฯ เพียง 6 พันล้านดอลลาร์   สูงกว่ากันถึง 10 เท่าตัว  นั่นหมายถึง  หากความเชื่อมั่นเสื่อมถอยมีการเรียกคืนเงินกู้อย่างเร็วแล้วละก็  ปากีสถาน จะหาเงินทุนที่ไหนมาชำระหนี้  ??

ผมจึงได้คิดค้นศัพท์ใหม่และนำเสนอ "การกันสำรองเรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Reserve)   ซึ่งหมายถึงว่า  หากมีการคืนหนี้สินให้ต่างชาติ  และ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องแล้ว   เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะสามารถคงอยู่ได้นานกี่ไตรมาส    สำหรับ  ปากีสถานแม้ว่าจะมีการส่งออก "แรงงาน" ไปทำงานต่างประเทศและมีส่งเงินกลับประเทศอยู่ไม่น้อย  แต่ประเทศนี้ก็ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสล่าสุด  และ มีการคืนหนี้ภายนอก (external debt)  ออกไปราวไตรมาสละ 2.8 พันล้านดอลลาร์  นั่นหมายถึงว่า  ประเทศนี้มีเงินไหลออกจาก 2 ส่วนนี้ราวไตรมาสละ 4 พันล้านดอลลาร์    ขณะที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียง 6 พันล้านดอลลาร์  ปากีสถานจึงมีค่า Ruang Reserve  ที่ 1.5 เท่านั้นเอง  นั่นหมายถึง  หากเวลาผ่านไปราว 1.5 ไตรมาส หรือ 4.5 เดือน  ปากีสถานก็จะไม่มีเงินทุนสำรองฯ เหลืออยู่เลย  ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง  IMF จึงต้องรีบยื่นมือเข้ามาช่วยเร่งด่วน

เมื่อเทียบกับ Ruang Alarm  ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยของวิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด  จะเทียบได้กับ "โรคเบาหวาน" ซึ่งค่อยๆบั่นทอนสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศซึ่งต้องใช้เวลาสะสมกันนานหลายปีก่อนจะพัง  ขณะที่ Ruang Reserve  เป็นสัญญาณเตือนแบบ "อุบัติเหตุเลือดไหลไม่หยุด"  ซึ่งอาจใช้เวลาไม่กี่ไตรมาสก่อนเศรษฐกิจจะล้มครืนไปได้อย่างเร็ว

แล้วการได้เงินกู้จาก IMF  ซึ่งจะต้องรอบอร์ด IMF อนุมัติอีกครั้งในเดือน กย.นั้น  จะช่วยปากีสถานได้หรือไม่  ผมคิดว่าก็อาจได้ในระดับหนึ่ง  แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  เพราะ เงินส่วนนี้ต้องค่อยๆคืนกลับไปภายใน 36 เดือน  แล้วยังต้องคืนหนี้สินเดิมของ IMF  ซึ่งยังมีค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ??  ทางแก้ไขที่ยั่งยืนก็คือ การยอมปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างรวดเร็วเกินกว่า 20% เพื่อเปลี่ยนการขาดดุลเป็นได้ดุลบัญชีเดินสะพัด   ส่งออกเพิ่มมากขึ้น และนำเข้าลดลง  ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปเพื่อได้เงินตราต่างประเทศมาคืนหนี้สิน  ความจริงแล้วนี่ก็คือ ทางเดินของประเทศไทยในยุควิกฤติต้มยำกุ้งนั่นเอง   คือการต้องยอมให้เศรษฐกิจถดถอยเพื่อเปลี่ยนข้างของบัญชีเดินสะพัด   แต่หากเดินตามทางนี้นั่นก็หมายถึง  "ปากีสถาน"  จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียประเทศแรกๆ เลยที่จะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ

และหากจะร้องเพลง "16 ปีแห่งความหลัง" นั่นก็อาจพอได้อยู่ เพราะ โครงสร้างเศรษฐกิจของเอเชียใต้ในเวลานี้นั้นคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเอเชียอาคเนย์เมื่อ 16 ปีก่อนยุควิกฤติต้มยำกุ้งใน 4 ประการ คือ 1. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง  2.อัตราดอกเบี้ยสูงมากเพื่อดึงเงินทุนต่างชาติไว้  3. มีหนี้สินภายนอกอยู่เป็นจำนวนมาก และ 4. มีทุนสำรองฯ ที่ค่อนข้างน้อยจึงเสียงต่อภาวะเงินทุนไหลออก

ลำพัง ปากีสถาน ประเทศเดียวคงจะไม่เท่าไหร่  แต่หากแพร่กระจายไปยังเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่าถึง 9 เท่าอย่างประเทศอินเดียแล้ว  เรื่องนี้คงน่ากังวลอย่างยิ่ง  มีนักวิเคราะห์ต่างชาติบางคนประเมินตามทฤษฎีโดมิโนว่า ประเทศอินเดีย น่าจะเป็น "โดมิโน" ตัวแรกที่จะมีการล้มลง  แต่จากสิ่งที่ผมเขียนไว้ข้างต้น  "ปากีสถาน" น่าจะเป็นโดมิโนตัวแรกเสียมากกว่า  จากนั้นก็จะกระทบไปยัง "อินเดีย" ซึ่งใหญ่กว่ามากแต่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายกัน   จากนั้นก็ลามไปทั่วเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก  สำหรับประเทศไทย  แม้จะเป็นโดมิโนตัวท้ายๆ แถวแต่ก็ไม่แน่ว่าจะรอดไปได้   ซึ่งหากเกิดเรื่องแบบนั้นจริง  ก็คงต้องตั้งชื่อกันว่า "วิกฤติแกงกะหรี่" (Curry Crisis)  ละมั้งครับ

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จาก ตลาดเกิดใหม่ สู่ ตลาดตายใหม่

"ตลาดเกิดใหม่" (Emerging Markets)   คือ คำศัพท์ที่ท่านผู้อ่านน่าจะรู้จักกันดี   ซึ่งหมายถึง ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 1.5 หมื่นดอลลาร์   และ มีขนาดที่ใหญ่พอสมควร  ดังนั้น ประเทศอย่าง BRICS (บราซิล  รัสเซีย  อินเดีย  จีน และ แอฟริกาใต้)  ก็จัดอยู่ในนี้   และ แน่นอนย่อมรวม TIP(ไทย  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์)   มาเลเซีย  ตุรกี  เมกซิโก  อียิปต์   อาร์เจนติน่า โคลัมเบีย  ชิลี  และอื่นๆ เข้าไปด้วย

สำหรับ "ตลาดตายใหม่" (Newly Dying Markets)  นั้น คือ ศัพท์ที่ผมได้บัญญัติใหม่ขึ้นมาเอง  หมายถึง  ตลาดเกิดใหม่ที่ได้ปั่นฟองสบู่ไปสุดรอบแล้ว  เมื่อฟองสบู่สินทรัพย์แตกไม่นาน ตลาดหุ้นยังลงจากจุดสูงสุดมาไม่มากและไม่นาน  หากเทียบเป็น "ศพ" ก็จัดว่ายังอุ่นๆ อยู่ คือตายมาได้ไม่นานยังใหม่ๆ เลย  ซึ่งก็คือ สถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ตอนนี้นั่นเอง  โดยต้องถือว่ากระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ได้เริ่มจากกลางเดือน พฤษภาคม และ น่าจะใช้เวลานานราว 9-12 เดือน  สำหรับขาลง  เมื่อเทียบกับฟองสบู่สินทรัพย์ขาขึ้นที่กินเวลานานถึง 4 ปี  เป็นเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้  ผมยังได้นิยามศัพท์ "ตลาดตายเก่า" เอาไว้ด้วย  ซึ่งหมายถึง  ตลาดที่ตายมานานแล้ว  เศรษฐกิจยืนๆแบบทรงๆ ทรุดๆ  แทบไม่มีการเติบโตของอุปสงค์  โครงสร้างของประชากร  และ โครงสร้างเศรษฐกิจ (การคลังและระบบอัตราแลกเปลี่ยน) ที่ไม่เหมาะสม  จึงไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแรงได้  ดัชนีตลาดหุ้นของกลุ่มนี้แม้มีการฟื้นตัวมาบ้าง  แต่ก็ยังยืนได้ไม่ถึงครึ่งของยอดสูงสุดของปี 2008  ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์   ซึ่งก็ได้แก่ประเทศ PIIGS ในยูโรโซน  ทั้ง อิตาลี  สเปน  โปรตุเกส  ไอร์แลนด์ก็เข้าข่ายนี้ โดยที่ กรีซ นั้นแย่มากๆ  ดัชนีหุ้นยังยืนไม่ถึง 1 ใน 5 ของจุดสูงสุด  ขณะที่  ไซปรัส ยิ่งน่าตกใจ  เพราะยังยืนไม่ได้ถึง 1 ใน 10 ของจุดสูงสุดด้วยซ้ำไป   ขณะที่อีกประเทศก็คือ ญี่ปุ่นนั้น  แม้ดัชนีหุ้นฟื้นตัวมาบ้าง  แต่ก็ยืนอยู่ระดับแค่ 1 ใน 3 ของจุดสูงสุดเมื่อ 23 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง

เราลองมาดูว่า ดัชนีตลาดหุ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา....จะเห็นว่า ดัชนีหุ้นของตลาดเกิดใหม่นั้น ส่อแววเป็น "ตลาดตายใหม่" อย่างเห็นได้ชัดหากเรียง 8 อันดับแรก   โดย  ตุรกี (-22.4%)   กรีซ (-19.8%)   ฟิลิปปินส์ (-17.9%) บราซิล (-16.9%) ไทย (-15.1%)  อียิปต์ (-14.7%) อินโดนีเซีย (-14.3%)  และ จีน(-14.2%)

"มีเกิดก็มีตาย"  "มีหยางก็มีหยิน"  เมื่อสิ้นสุดของตลาดขาขึ้น (หยาง)  ก็แน่นอนว่าจะเริ่มเข้าสู่ตลาดขาลง (หยิน)  ดังนั้น การประเมินจากฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่าดัชนี SET Index  จะไปที่ 1700-1800 จุด ณ ปลายปี  จึงเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไปอย่างมาก  โดยที่ค่า P/E เฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่ MSCI Emerging Index  ยืนที่ 9.1 เท่าแค่นั้น   โดยประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงๆ  ก็จะมีค่า P/E ที่ต่ำมาก เช่น  รัสเซียที่ 6 เท่า    จีนและตุรกีที่ 10 เท่าเป็นต้น   หาก SET จากลงจาก P/E 15.7 เท่าไปเป็นค่าเฉลี่ยที่ 9.1 เท่าเหมือนๆ กับตลาดเกิดใหม่ทั่วไป  นั่นอาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากๆ  เพราะ นั่นหมายถึง SET Index  อาจไปยืนที่ระดับเลข 3 หลักกันเลย

เมื่อมาดูราคาที่ตกลงของตลาดบอนด์ 10 ปีดูบ้าง  โดยเรียงลำดับจาก ประเทศที่มีค่าบอนด์ยีลด์สูงขึ้นมากใน 1 เดือนซึ่งหมายถึง ราคาที่ตกลงของบอนด์ระยะยาว  ก็อาจเรียง 8 ลำดับแรกได้ดังนี้  กรีซ (สูงขึ้น  2.75%)    ตุรกี (2.72%)   ไนจีเรีย (2.48%) โคลัมเบีย (2.05%)   ฮังการี (1.71%)  แอฟริกาใต้  (1.46%)   โปรตุเกส  (1.31%)   และ รัสเซีย (1.18%)   สำหรับประเทศไทยตามมาห่างๆที่ +0.68%

การวิ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์อาจส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจได้ถึง 4 ประเด็นดังนี้

1. ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นสำหรับ SME  :  สภาพคล่องที่ดูเหมือนจะเริ่มลดลง  ดอกเบี้ยระยะยาวที่สูงขึ้น  ส่งผลให้ต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินเป็นไปได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

2. ส่งผลลบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ : ก็ชัดเจนว่า สินเชื่อบ้านนั้นอิงอัตราเบี้ยกับ บอนด์ยีลด์ 10 ปีเป็นหลัก สำหรับสินเชื่อระยะยาวในต่างประเทศ   ดังนั้น  หากค่านี้วิ่งสูงขึ้นอย่างเร็ว  จะกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น  ขณะที่ผู้จำนองบ้างกับแบงก์ก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ย และ ภาระการผ่อนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน   น่าจะส่งผลทั้งยอดขาย และ ราคาของอสังหาริมทรัพย์อยู่ในทิศทางลบได้

3.ส่งผลลบต่อตลาดหุ้น : เมื่อดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น  ย่อมส่งผลให้ P/E ของตลาดหุ้นที่เหมาะสมมีค่าลดลงนั่นเอง  และ นั่นเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

4.ส่งผลลบต่อการคลัง :  โดยค่าดัชนีเรืองศิริกูลชัย (Ruang Index) นั้นจะมีค่าวิ่งสูงขึ้นมากอาจถึงระดับอันตราย เนื่องจาก  ดัชนีนี้มีการนำมาค่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีเข้าไปร่วมคำนวณด้วย  ดังนั้น  ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา  ฝรั่งเศส  ญี่ปุ่น  กำลังมีความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น   ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ประเทศอย่าง  อิตาลี สเปน ที่เสี่ยงมากๆ อยู่แล้ว   นอกจากนี้  ยังมีอีกประเทศหนึ่งในยูโรโซน คือ "สโลเวเนีย" ที่ค่าบอนด์ยีลด์  10 ปีนี้สูงถึง 6.93%  ซึ่งเป็นระดับอันตรายมาก  โดยเชื่อกันว่า  หากค่านี้สูงเกิน 7%  การออกพันธบัตรรัฐบาลจะทำในตลาดการเงินปกติได้ยาก เพราะต้นทุนสูงจนเกินไป  นั่นหมายถึง  โอกาสที่ประเทศสโลเวเนียอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจาก "ทรอยก้า" ภายใน 1-2 เดือนนี้มีอยู่สูงมาก และ นั่นอาจนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นของตลาดโลกอีกครั้งหนึ่ง

และ สุดท้ายเมื่อดูการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในรอบ 1 เดือนดูบ้าง  เงิน Real ของบราซิล อ่อนลง 7.9%   เงินรูปีของอินเดีย   6.9%    เงินเปโซของเม็กซิโก  5.6%   เงิน Rand ของแอฟริกาใต้  5.3%   เงินรูเบิลของรัสเซีย 5.0%  เงิน Lira ของตุรกี 4.6%   เปโซฟิลิปินส์ 4.1%  และเงินบาทอ่อนลง  3.5%  จะเห็นได้ว่าค่าเงินของ "ตลาดเกิดใหม่"  นั้น  ส่อแววกลายเป็น "ตลาดตายใหม่"  อย่างชัดเจน  แทนที่จะแข็งค่าขึ้นจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย  กลับ อ่อนค่าลงอย่างเร็ว

โดย 4 ปีผ่านมาจนถึงเดือนพฤษภาคมนั้น  นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาใน "ตลาดเกิดใหม่"  เพื่อหวังกำไร 2 เด้ง คือ ราคาสินทรัพย์ (หุ้นและบอนด์ระยะยาว) ที่เพิ่มสูงขึ้น และ กำไรอัตราแลกเปลี่ยน  เมื่อมาถึงจุดนี้นักลงทุนต่างชาติก็กลับกังวลถึงความเสี่ยงในการขาดทุน 2 เด้งเช่นกัน คือ ราคาสินทรัพย์ทั้งหุ้นและบอนด์ที่ตกลงอย่างเร็ว และ ยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ  ประเทศที่มีโครงสร้างอ่อนแอจะโดนก่อน  ผมคิดว่า  "วิกฤติไก่งวง" จะเริ่มเกิดที่ประเทศ SIT (South Africa , India และ Turkey)  ซึ่งมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่อง 3 ปีจน "สัญญาณเตือนภัยเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Alarm)  ได้ส่งเสียงเตือนอย่างแรงนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก   ประเทศเหล่านี้โครงสร้างของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ราวครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่านั้นของ  "หนี้สินต่างประเทศ" โดยรวมอีกด้วยซึ่งเป็นโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับไทยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง

นี่จึงมีความเปราะบางอย่างยิ่ง   หากกระแสเงินทุนไหลออกจนสร้างความกังวลไปทั้งตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด   นอกจากนี้  ยังอาจกระทบไปจนก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในยูโรโซน (โดยเฉพาะ  กรีซ  ไซปรัส  และ สโลเวเนีย)  ยิ่งจีนมีสัญญาณของการขาดสภาพคล่อง และ ปัญหาหนี้เสียที่มีเค้าลางอันตรายด้วยแล้ว  เหล่านี้อาจรวมตัวกันเป็น "วิกฤติหมูหัน"  ในช่วงครึ่งปีหลังได้เลย

ผมเกรงว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมนั้น อาจจะไม่สามารถรับมือได้กับ 2 วิกฤติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ได้ เพราะ ข้อจำกัดทั้งด้านการคลัง  (หนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP สูงอยู่แล้ว  และ  บอนด์ยีลด์ 10 ปีก็สูงขึ้นมากด้วย)   รวมไปถึง ข้อจำกัดทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมากอยู่แล้ว  ขณะที่การพิมพ์แบงก์ผ่านมาตรกร QE ก็ทำไปมากแล้วจนถึงกับต้องพิจารณาปรับลดด้วย)   ของประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธซึ่งน่าจะใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ดีด้วยการดำเนินนโยบายการคลังพอเพียง  การเงินพอเพียง  และ FX พอเพียงนั้น   ก็ดูเหมือนจะล่าช้าเกินไปไม่ทันการณ์เสียแล้ว  เพราะ ฟองสบู่สินทรัพย์ของ "ตลาดเกิดใหม่"  ได้แตกลงจนกลายเป็น "ตลาดตายใหม่" ไปตั้งแต่ พ.ค.แล้ว  และ เศรษฐกิจจริงก็น่าจะตามหลังมาหลังจากนั้นสัก 1-2 เดือน  นั่นหมายถึง  วิกฤติเศรษฐกิจโลกกำลังคืบคลานมาใกล้มากๆ แล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ดี  โลกคงยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว  เพราะยังมีประกายความหวังเล็กๆ ที่ผมเรียกว่า  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)  ซึ่งใช้หลักการยืมแรงสะท้อนแรง และ นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง   โดยยืมพลังจากแหล่งที่ "นิ่ง"  มาช่วยภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  แทนที่รัฐบาลจะทุ่มเงินงบประมาณลงไปตรงๆ   สิ่งนี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติใหม่ทั้ง 2 นี้ได้นะครับ

ข้อมูล : Bloomberg และ  www.tradingeconomics.com (วันที่ 26 มิ.ย.56)


วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จาก TIP สู่ SIT วิกฤติไก่งวง

หากประเทศ TIP หมายถึง ไทย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์  แล้ว SIT  ละคืออะไร ??  นี่เป็นกลุ่มประเทศที่ผมตั้งชื่อให้เอง  หมายถึง  ประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร  แต่เน้นการพึ่งพิงเงินต่างชาติอย่างมาก และ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง  ซึ่งก็คือ  แอฟริกาใต้  อินเดีย และ ตุรกี  นั่นเอง

โดยประเทศ SIT  มีโครงสร้างของเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับ TIP  ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นอย่างมาก คือ ต้องพยายามให้ดอกเบี้ยสูงไว้เพื่อดึงดูดเงินต่างชาติเอาไว้  ขณะที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูง  ปัญหาก็คือว่าตั้งแต่เดือน พ.ค.  ความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงอย่างเร็วในประเทศตลาดเกิดใหม่นี้  โดยค่าเงิน Rand ของ แอฟริกาใต้นั้นอ่อนค่าลง 11% ในเดือน พ.ค.เพียงเดือนเดียว  และ เงิน Lira ของตุรกี และ Rupee ของอินเดียก็อ่อนค่าลงไปราว 5%  โดยเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ชะลอตัวลงอย่างเร็ว  โดยอินเดียเติบโตต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ 4.8%  ขณะที่แอฟริกาใต้ และ ตุรกี ซึ่งเคยเติบโตระดับสูงนั้น ก็เติบโตเพียง 1-2% เท่านั้นเอง  

ประเทศ SIT  จึงต้องพยายามลดอัตราดอกเบี้ยลง  เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว  อย่างไรก็ดี  นี่คือภาวะหนีเสือปะจระเข้ (dilemma)  ของนโยบาย   คือ หากดอกเบี้ยสูงเศรษฐกิจก็จะแย่  ขณะที่เมื่อลดดอกเบี้ยลงเงินทุนต่างชาติก็จะไหลออก  เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง  ทำให้ความน่าสนใจลดลงไปด้วย   มีการขายพันธบัตรของ 3 ประเทศออกมาทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีได้ดีดขึ้นสูงกว่าระดับ  7%  เมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่นขึ้นในใจของนักลงทุนต่างชาติ   ประเทศเหล่านี้จะหาเงินทุนที่ไหนไปไฟแนนซ์ส่วนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ??

ผมได้เคยตั้งค่าตัวชี้วัด "สัญญาเตือนภัยเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Alarm)  ไว้แล้ว  ซึ่งเป็นรวมค่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3 ปีย้อนหลัง  ก็จะพบว่า  แอฟริกาใต้มีค่า -12.5% GDP   อินเดียมีค่านี้ที่ -12.1% GDP ซึ่งจัดว่ามีความเสี่ยงของวิกฤติในระดับสูง   ขณะที่  ตุรกี นั้นมีค่านี้ที่ -22.4% GDP   จัดว่ามีความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจที่สูงมาก  

เมื่อรวมเข้ากับวิกฤติทางการเมืองใน "ตุรกี" ที่มีการประท้วงของภาคประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลปะทะกับตำรวจด้วยความรุนแรง  หากเรื่องนี้เกิดกับประเทศไทยตลาดหุ้นก็อาจลงสัก 1-2%  แต่ตลาดหุ้นอิสตัลบูลในตุรกีนั้นกลับร่วงแรงถึง 10.5% ภายในวันเดียว   นั่นแสดงถึงความเชื่อมั่นที่เปราะบางมากๆ  

ยิ่งมีเมื่อความกังวลว่า  อเมริกาอาจลดปริมาณ QE ลงในเร็ววันนี้  ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง SIT  น่าจะประสบปัญหาการหาเงินทุนไปไฟแนนซ์ส่วนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด   เมื่อ SIT แปลว่า "นั่ง" ประเทศเหล่านี้เปรียบเสมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้เงินทุนต่างชาติ 4 ขา คือ 1.ตลาดบอนด์ทั้งระยะสั้นและยาว 2.ตลาดหุ้น  3.ตลาดอสังหาริมทรัพย์ 4.การลงทุนโดยตรง (FDI)   ขาของเก้าอี้ก็เริ่มหักไปทีละขา จาก 4 เหลือ 3 เหลือ 2 เหลือ 1 สุดท้ายแล้วคงไม่เหลือขาเก้าอี้ของเงินทุนต่างชาติอีกเลย  เศรษฐกิจก็จะล้มระเนระนาดในแบบเดียวกับที่ประเทศ TIP  เคยประสบกับ วิกฤติต้มยำกุ้ง  เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมาแล้วนั่นเอง

การเรียงลำดับของวิกฤตินั้ันแบ่งเป็น 3 เฟส คือ 1.วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด  2.วิกฤติเศรษฐกิจ  และ 3.วิกฤติการคลัง   สำหรับเฟสแรกนั้นเศรษฐกิจยังแทบไม่ส่ออาการใดๆ เลยเพียงแต่มีหนี้สินต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น   สำหรับประเทศ SIT  อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในเฟสแรกที่กำลังเดินเข้าสู่เฟส 2

ดังนั้น  ผมจึงได้ตั้งชื่อวิกฤติที่จะเริ่มต้นจากตุรกีนี้ว่า "วิกฤติไก่งวง" (Turkey Crisis)  โดยได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป  จากนั้น  แรงระเบิดของฟองสบู่แตกใน "ตุรกี" จะไปกระแทกให้ข้อต่อที่อ่อนแอสุด (weakest link)  ซึ่งก็คือ กรีซ และ ไซปรัส  ให้หลุดออกจาก "โซ่ตรวนเงินยูโร"  โดยเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ก็อ่อนแออยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีก  และท่านผู้นำอาจต้องเปลี่ยนใจยอมรับต่อชะตากรรมว่าไม่สามารถนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้หากยังใช้ค่าเงินยูโรต่อไป  เหตุการณ์เหล่านี้เองอาจจะนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นในยูโรโซน   ประกอบกับฟองสบู่การลงทุนเกินขอบเขตทั้งอสังหาริมทรัพย์ และ โรงงานของจีนน่าจะแตกพอดี  จึงนำไปสู่ "วิกฤติหมูหัน" (Roasted Pig Crisis) ซึ่งน่าจะเริ่มก่อตัวขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้  ดังนั้น กระแสเงินทุนอาจจะหันหลังให้กับตลาดเกิดใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ค.ไปนานจนถึงสิ้นปีกันเลย

สำหรับประเทศไทยนั้น  เดือน เม.ย. ที่ผ่านมาไทยได้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.36 พันล้านดอลลาร์   ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้ดูแลนโยบายการเงิน การคลัง  การค้า และ การลงทุน คงจะดูแลประเทศเป็นอย่างดีไม่ให้ต้องเดินเข้าสู่เฟสแรกของวิกฤติ   เพราะหากยังปล่อยให้ไทยขาดดุลหนักหน่วงเช่นนี้ไปอีกสักระยะแล้วละก็  ประเทศ SIT  อาจต้องเปลี่ยนใหม่เป็น SITT (รวม Thailand ด้วย)  และ ประเทศไทยที่เคยร่วมโต๊ะกิน "ต้มยำกุ้ง"  อาจต้องร่วมโต๊ะเพื่อกิน "ไก่งวง" และ "หมูหัน" กันอีกด้วยนะครับ

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปฏิทรรศน์ของ QE

ปฏิทรรศน์ของ QE (Paradox of QE)  คำว่า paradox นั้นในภาษาจีนคือ "เหมาตุ้น" และ ในภาษาญี่ปุ่นคือ "มุจุง"  ตามนิทานโล่และหอกวิเศษ   โดยพ่อค้าบอกว่า โล่วิเศษสามารถป้องกันหอกแหลมได้ทุกชนิด  ขณะที่หอกวิเศษนั้นเล่าสามารถทิ่มแทงโล่ได้ทะลุหมด   นั้นจึงเป็นการ "ย้อนแย้ง" กันเอง  หรือศัพท์ทางวิชาการก็คือ "ปฏิทรรศน์"  สำหรับ QE  นั้นอาจมี "ปฏิทรรศน์" ได้ถึง 3 เรื่อง  โดยแม้จะมีเหตุมีผลทั้ง 2 ข้างแต่ย้อนแย้งกันเองดังนี้

1. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง   ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปซื้อพันธบัตรน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้นลดลง

ความเชื่อใหม่ :  แต่ผลลัพธ์ความจริงก็คือ ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว  จึงเกิดแรงสะท้อนกลับ  เคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดพันธบัตร เข้าสู่ ตลาดหุ้นแทน  ผลลัพธ์ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของอเมริกาน้้นได้วิ่งจาก 1.6% ไปเป็น 2.1%  ขณะที่ของญี่ปุ่นนั้นก็กลับวิ่งจาก 0.5% ไปแตะที่ระดับ 1.0%

QE จึงทั้งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวทั้งต่ำลง และ สูงขึ้นด้วย  นี่คือ  ปฏิทรรศน์

2. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น   ตามสมการการเงิน MV = PQ  หากเพิ่มปริมาณเงิน (M) เข้าไปแล้วน่าจะมีผลต่อราคาสินค้า (P) อยู่บ้าง

ความเชื่อใหม่ :  แต่ผลลัพธ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น  อัตราเงินเฟ้อของอเมริกาได้ลดลงจากระดับกว่า 2% เหลือล่าสุดเพียง 1.1% เท่านั้นเอง    และญี่ปุ่นนั้นความจริงก็ใช้ QE มากว่า 10 ปีแล้วกลับมีอัตราเงินเฟ้อระดับ ติดลบ 0.7%  ไม่ได้ใกล้เคียงกับระดับ 2% ตามที่วาดฝันไว้เลย   เหตุผลก็อาจเป็นเพราะปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นมานั้นไหลเข้าในส่วนของ stock ซึ่งเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน และ อสังหาริมทรัพย์  และ แทบไม่ได้ไหลเข้าไปในส่วนที่เป็น flow หรือ GDP  เลย  หรืออาจเกิดจากการที่ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้นจากสภาพคล่องล้นระบบ  ขณะที่กำลังการผลิตทั้งเครื่องจักร และ กำลังคนก็เหลือเฟือ  เมื่อมีการผลิตเพิ่มจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยนั้นลดต่ำลง  ซึ่งมีผลให้เงินเฟ้อลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น

QE จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งสูงขึ้น และ ต่ำลง   นี่คือ "ปฏิทรรศน์"  เช่นกัน

3. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะช่วยให้ดอกเบี้ยต่ำลง  ตลาดหุ้นวิ่งดี   กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ความเชื่อใหม่ : แต่จะเห็นจาก 2 ข้อแรก คือ ผลลัพธ์จริงที่ว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับต่ำลง  และจากการเปลี่ยนแปลง 2 ค่านี้จึงได้ผลลัพธ์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate)  จะมีค่าสูงขึ้นมาก  โดยญี่ปุ่นนั้นอยู่ระดับ 1.6% (ดอกเบี้ยระยะยาว 0.9% อัตราเงินเฟ้อ -0.7%)  ซึ่งนับได้ว่าสูงสุดของประเทศพัฒนาแล้ว ยกเว้น PIIGS  ขณะที่อเมริกาก็เพิ่มขึ้นจากระดับติดลบกลายมาเป็น 1% แล้ว  (ดอกเบี้ยระยะยาว 2.1% อัตราเงินเฟ้อ 1.1%)   และ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้นมากนี้ิย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจแทนที่จะส่งผลบวกในระยะยาว

ดังนั้น QE จึงทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และ แย่ลง  ซึ่งก็คือ ปฏิทรรศน์ อีกเช่นกัน

ผมได้เรียกชื่อใหม่ของ QE ว่าเป็น "สเตียรอยด์การเงิน"  (Financial Steroid)  ซึ่งหมายถึงว่าเป็นยาที่ให้ผลดีในระยะสั้นๆ  แต่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว  และ การหยุดยาหรือลดยาอย่างเร็วนั้น ก็จะส่งกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

หากคนของธนาคารกลางอเมริกา และ ญี่ปุ่นได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจจะตื่นเต้นตกใจเป็นอันมาก  จนถึงกับต้องเรียกประชุมด่วน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจาณาถึงผลลัพธ์ของมาตรการ QE  ว่าจะยังเป็นไปตามความเชื่อเดิมของทฤษฎีการเงินเดิมๆ  อยู่  หรือว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาตามความเชื่อใหม่ ของ "ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก" ซึ่งใช้แนวคิดแบบ "ย้อนแย้งสะท้อนแรง" กันแน่  ซึ่งเรื่องนี้อาจมีความสำคัญมากต่อมุมมองของมาตรการ QE  และการปรับเปลี่ยนมาตรการ QE ในอนาคตกันเลยทีเดียว

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Dollar Index อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

Dollar Index คือ ดัชนีวัดค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1973 โดยถ่วงน้ำหนัก ด้วยเงิน 6 สกุลหลัก  โดยเงินยูโรที่ 57.6%   เงินเยนที่ 13.6% และ เงินปอนด์ที่ 11.9%  ที่เหลือคือ เงินดอลล์แคนาดา  เงินโครนาสวีเดน และ  เงินฟรังก์ของสวิส

ขณะที่่เขียนอยู่นี้  Dollar Index ยืนอยู่ระดับ 84  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี   มีผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ  ซึ่งล้วนแต่กำหนดราคาเป็นเงินดอลลาร์ สรอ.ทั้งสิ้น  มีราคาตกต่ำลงทั้ง ทองคำ เงิน ทองแดง น้ำมัน  รวมไปถึงสินค้าเกษตร เช่น ยาง ข้าวสาลี  กาแฟ เป็นต้น

การที่ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงมาระดับ 102 เยน คือ ต่ำลง 24%  จากไตรมาส 4 ปีก่อนไปแล้วนั้น  ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะสามารถเติบโตได้อย่างดี 2%  และ ทำเงินเฟ้อได้ตามฝันที่ 2% ก็ตาม  แต่มองในมุมของโลกแล้ว GDP ของญี่ปุ่นกลับลดลงถึง 20% (คิดตามเงินดอลลาร์)  จากระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์  อาจเหลือเพียง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์  คือหายไปถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์  หรือราวๆ GDP ของประเทศไทยถึง 3 ประเทศ   นั่นหมายถึง  การที่ G7  ยอมให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปได้เรื่อยๆ  ได้นั้นอาจแปลได้ว่า  อนุญาตให้ญี่ปุ่นดึงเศรษฐกิจโลกให้เข้าใกล้ภาวะถดถอย (ในรูปเงินดอลลาร์) นั่นเอง  ยิ่งหากมีเงินยูโรที่อ่อนค่าลงก็ช่วยกันดึง GDP ของยูโรโซน (คิดเป็นดอลลาร์) ลงไปอีก

เมื่อย้อนดูอดีตโดยปกติแล้วค่าเงินดอลลาร์จะยืนอ่อนค่าเป็นส่วนใหญ่  แต่ก็พบว่า Dollar Index มีการปรับเป็นขาขึ้น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ปี 1980-1985  โดยวิ่งจาก 85 ไปราว 165  และ ปี 1995-2000  โดยวิ่งจาก 80 ไปราว 120  แล้วเกิดปัญหาอะไรกับไทยในช่วงนั้นบ้าง...

คำตอบก็คือ  เงินบาทของไทยที่ผูกกับเงินดอลลาร์นั้น  เปรียบเสมือนกับ เด็กๆ ที่ต้องวิ่งตามคนโตยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาที่มีกำลังวังชาดีโดยเขาแทบไม่มีปัญหาอะไรในการปีนขึ้นเขา  แต่ประเทศเด็กๆ เล็กๆ อย่างไทยต้องวิ่งตามไปให้ทันเพราะ ผูกค่าเงินกันไว้    หากดอลลาร์เป็นช่วงลงเขานี่เงินบาทของไทยเราเกาะตามไปสบายมากๆ  แต่เมื่อเป็นขาขึ้นเขาของ Dollar Index แล้วละก็  ผลลัพธ์ก็คือเงินบาทจะวิ่งตามไปไม่ไหว หมดแรงเป็นลม   ล้มกลิ้งลงมาจนได้รับบาดเจ็บหนัก  โดยในปี 1984 ไทยต้องลดค่าเงินบาทลงราว 15% และ ปี 1997 ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง  ค่าเงินบาทต้องอ่อนค่าลงมาถึงกว่า 50%

ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเกมการเงินโลกใหม่ทั้งหมด  แทนที่จะให้อเมริกาเป็นประเทศเดียวที่สามารถจะพิมพ์เงินไม่จำกัด  เพื่อให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง  ซึ่งจะส่งผลช่วย GDP ของโลกโดยรวม เพราะ สินค้าเกือบทุกอย่างวัดค่าเป็นเงินดอลล์กันทั้งนั้น   ญี่ปุ่นมีเป้าหมายในการเพิ่มฐานเงินขึ้นถึง 2 เท่าภายใน 2 ปี  จาก 135 ล้านล้านเยน เป็น 270 ล้านล้านเยน ซึ่งก็น่าฉงนอย่างมาก เพราะ นั่นคือ การฉีกกฏกติกาการเงินระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง  เพราะ  ทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นซึ่งควรจะมีเพียงพอเพื่อใช้หนุนหลัง "ฐานเงิน" นั้นกลับมีอยู่เพียง  1.26 ล้านล้านดอลล์เท่านั้นเอง  ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่พอแน่ๆ

ในรอบนี้ไทยถูกมองว่าเป็น "ดาวรุ่ง" จึงได้รับเกียรติ (แบบไม่สมัครใจ)  ให้วิ่งนำหน้า สหรัฐอเมริกาเสียอีก  ในรอบขาขึ้นของ Dollar Index ครั้งนี้  โดยที่เศรษฐกิจหลักอื่นๆ  ล้วนมีค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ทั้งสิ้น  นับตั้งแต่ ญี่ปุ่น  ยูโรโซน  อังกฤษ  ออสเตรเลีย   เป็นต้น   เมื่อมาดูที่เอเชีย  ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจอันดับ 2 อย่างญี่ปุ่นที่ค่าเงินอ่อนลงมากเท่านั้น   อันดับที่ 3-5 คือ  อินเดีย  เกาหลีใต้ และ อินโดนีเซีย ก็มีค่าเงินที่อ่อนลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับ 2 ครั้งก่อน  หากค่าเงินดอลล์ยังแข็งค่าไปเรื่อยๆ อาจวิ่งสู่่ระดับสูงกว่า 90 จุดก็เป็นได้  เมื่อนั้น ธปท.ควรแสดงจุดยืนชัดเจนว่าพร้อมทำวิถีทางเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์  ไม่ใช่แค่ประคองยืนๆไว้ที่ 29-30 บาท  แต่พร้อมจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 32 บาทกันเลย  เพื่อให้สอดคล้องและแข่งขันได้กับเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ของโลก

ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าแค่การลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย และ การสกัดเงินร้อนระยะสั้นอาจเพียงพอแค่สกัดการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น   แต่การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ เพื่อปั๊มเงินออก  ตามแนวคิดของ "เงินบาทไท้เก๊ก"  น่าจะช่วยให้บาทอ่อนสู่เป้าหมาย 32 บาท  มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่านะครับ

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ....ที่ผิดพลาด

นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังจะแจกหนังสือ "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย" 1.5 แสนเล่ม   ผมกำลังจะบอกว่าไม่เพียงแต่  ยุทธศาสตร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้นที่ผิดพลาด  รัฐบาลอภิสิทธิ์  รัฐบาลสมัคร  รัฐบาลสุรยุทธ์ และ แม้แต่รัฐบาลทักษิณ  รวมไปถึงทุกรัฐบาลที่ประเทศไทยเคยมีมาก็น่าจะมียุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดด้วยเช่นกัน   ความผิดพลาดนี้สะสมมานานนับศตวรรษแล้ว  บทความนี้ผมจะบอกว่าสิ่งผิดพลาดนั้นคืออะไร  และ เราจะแก้ไขให้ไปในทิศทางถูกต้องได้ด้วยวิธีใด

ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดนั้นก็คือ การใช้กรอบยุทธศาสตร์ "เอกนครา" เพื่อพัฒนาประเทศนั่นเอง  นั่นหมายถึง การพัฒนาแบบมีศูนย์กลางความเจริญเพียงเมืองเดียวหรือการโตเดียว  โดยมุ่งเน้นไปที่เมืองหลวงหรือ กรุงเทพมหานคร  อาจมีผู้แย้งว่า  เราได้พยายามพัฒนาภูมิภาคขึ้นมามากแล้ว  หลายเมืองมีห้างสรรพสินค้าหรูหรา  แต่หากมองไปดูด้านคมนาคมก็จะเห็นว่า

กรุงเทพฯ มีทั้ง ทางด่วนพิเศษ  เฉลิมมหานคร  ฉลองรัช  ศรีรัช  อุดรรัถยา  บูรพาวิถี  รวมไปถึง กาญจนาภิเษก  ถามว่า  มีจังหวัดอื่นใดของประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง ??
กรุงเทพฯ มีทั้ง รถไฟลอยฟ้า BTS   รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT  และมีแอร์พอร์ต ลิงก์  ถามว่ามีจังหวัดอื่นใดที่มีสิ่งแบบนี้บ้าง ??

นี่จึงพูดได้อย่างชัดเจนว่า  ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยที่มีความเจริญทัดเทียม กทม. ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของ "โตเกียว" และ "โอซาก้า"  ซึ่งมีทั้งทางด่วน   รถไฟฟ้าบนดินใต้ดิน  รถไฟความเร็วสูง    หากโตเกียวมี โอซาก้าก็มีเช่นกัน  จึงนับว่าเป็นความเจริญแบบทัดเทียมกัน

ทฤษฎี "เอกนคราพาวิบัติ" นั้นอาจเชื่อมโยงไปถึง  "ทฤษฎี 2 สีตีกันเดือด" และ "ทฤษฎี 3 จังหวัดชายแดนแค้นคลั่งฆ่า" อีกด้วย   ปัญหามีมากมายโดยการพัฒนาค่อยๆ กระจายจาก กทม.ในรัศมี 100 กม.แรกไปยังปริมณฑล ชลบุรี  อยุธยา สมุทรสาคร  จากนั้นก็เริ่มตีวงไป 300 กม. ที่หัวหิน  โคราช  ระยอง  พิษณุโลก  หากจะดูว่ามีจังหวัดใดบ้างที่ห่างจาก กทม.ทางถนนเกินกว่า 1 พันกิโลเมตร  คำตอบก็คือ  ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาความรุนแรงอยู่นั่นเอง  บางทีเรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ

การพึ่งพาความเจริญให้ค่อยๆ ขยายวงจาก กทม.นั้น  จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทรัพย์สิน  ทางการศึกษา  เรียกได้ว่าเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในแทบทุกมิติ   เพราะกว่าจะพัฒนาเมืองที่อยู่ห่างไกลให้เจริญขึ้นได้นั้น  กทม.ต้องยิ่งพัฒนาไปไกลมากๆ  ทางด่วน  รถไฟฟ้า  และ ห้างสรพสินค้าใหญ่โต  นอกจากนี้  ยังสร้างปัญหาความแออัดด้านชุมชนอยู่อาศัย  แออัดของการจราจรใน กทม.เป็นอย่างมาก  ยิ่งพัฒนาสาธารณูปโภคก็ยิ่งดึงดูดคนให้เข้ามายัง กทม.และปริมณฑล  ก็ยิ่งทำให้ความแออัดยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่า พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านนั้น  มี 2 ก้อนใหญ่ๆ ก็คือ รถไฟความเร็วสูง 7.5 แสนล้าน และ รถไฟฟ้าสารพัดสีใน กทม. อีก 4.5 แสนล้าน รวมกันแล้วสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทกันเลย   หากเป็นไปตามแผนเดิมดูเผินๆ แล้ว รถไฟความเร็วสูงสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาภูมิภาค  แต่เมื่อดูให้ลึกซึ้งแล้วขณะที่ หัวหิน ระยอง  พิษณุโลก และ โคราช  มีรถไฟความเร็วสูงผ่าน 1 เส้นทาง แต่ กทม.มีผ่านถึง 4 เส้นทาง สรุปแล้วนี่ยังคงเป็นการพัฒนาแบบรวมศูนย์ความเจริญไว้ที่ กทม.หรือ "เอกนครา" อยู่นั่นเอง   ยิ่งไม่ต้องพูดถึง รถไฟฟ้าสารพัดสีใน กทม. ที่ใช้เงินภาษีทั้งประเทศลงทุนเพื่อคน กทม. โดยที่มีต้นทุนต่อกิโลเมตรสูงถึง กว่า 4 พันล้านบาท (รถไฟฟ้าสีม่วงด้านใต้  โครงการ 9 หมื่นล้าน ระยะทาง 21 กม.)  ขณะที่ต้นทุนของรถไฟรางคู่อยู่ที่ 250 ล้านบาทต่อ กม.เท่านั้นเอง

เอาละปัญหาแบบนี้ก็คนไทยก็พอจะรู้ๆ กันอยู่  แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร  ผมคิดว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ รถไฟความเร็วสูงและ AEC นั่นเอง  ซึ่งแนวคิดนี้อาจเรียกได้ว่า  "ทฤษฎีพหุนคราพัฒนาชาติ"  โดยพัฒนาเมืองใหญ่ที่มีความเจริญสูงหลายๆ เมืองพร้อมกัน   โดยหากไทยวางเส้นทางให้เชื่อม AEC โดยวางเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองหน้าด่านในการเชื่อมโยงได้   เมืองนั้นก็จะมีความสำคัญและพัฒนาขึ้นมากเทียบเคียงกับ กทม.ได้เลยโดยใช้เวลาภายใน 20 ปี

โดยหากรถไฟความเร็วสูงอาจปรับเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทางเพื่อเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค

1. เส้นทางเชื่อมมหาสมทุร   ทวาย-กทม.-ขอนแก่น-ดานัง  :  เส้นทางนี้จะสำคัญที่สุดเป็น Land Bridge ยาว 1 พันกม. ใช้ประโยชน์ในการขนส่งผู้คนเพื่อการท่องเที่ยวและทำธุรกิจในตอนกลางวัน  และ เพื่อขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างมหาสมุทรอินเดีย (ท่าเรือทวาย)  และ แปซิฟิค (ท่าเรือดานัง)  ในตอนกลางคืน  วิ่งกันทั้งวันทั้งคืนใช้รางแบบคุ้มมากๆ    การขนส่งสินค้าเชื่อมสมุทรจะใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมง  หากเดินเรืออ้อมคาบสมทุรอินโดจีนอาจจะใช้เวลาถึง 4 วันเต็มๆ  จึงประหยัดเวลาและน้ำมันไปได้มากโข   เส้นทางนี้จะผ่าน กทม. และ ภาคอีสาน  ซึ่งครอบคลุมประชากรไทยราวครึ่งประเทศ

2. เส้นทางเชื่อมจีนตอนใต้   ขอนแก่น-เวียงจันทน์-คุนหมิง  เส้นทางนี้เรารู้ดีกันอยู่แล้ว  "มหานครขอนแก่น" จึงเป็นฮับของรถไฟความเร็วสูงไปโดยปริยาย  เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังด้านต่างๆ  ทั้งจีน  พม่า  เวียดนาม  รวมถึงการนำเข้าส่งออกผ่าน 2 มหาสมุทรด้วย  สำหรับเฟส 2  อาจสร้างเส้นตะวันตก  เพื่อผ่านจากขอนแก่น ไปยัง พิษณุโลก-ย่างกุ้ง   และ เส้นอาคเนย์  ไป นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์    นี่จึงเป็นการวางตำแหน่งให้ขอนแก่นมีความสำคัญยิ่งกว่า กทม.เสียอีก  และ เป็นฮับของรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคอย่างแท้จริง

3. เส้นทางเชื่อมแหลมมลายู   หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์  เส้นทางนี้จะทำให้เกิด "สงขลามหานคร" เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยง AEC ใต้  และ ยังทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นปริมณฑล  เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับความเจริญจากทั้ง สงขลา และ มาเลเซีย  มาพัฒนาให้อยู่ดีกินดี   ความรุนแรงก็ลดลงไปตามลำดับ  โดยไทยลงทุนเพียงแค่ 50 กิโลเมตรถึง ปาดังเบซาร์เท่านั้นเอง   อนาคตก็น่าจะลากเส้นนี้ยาวเพิ่มไปถึงกระบี่-ภูเก็ต

การจะทำเส้นทางเหล่านี้ได้  ต้องยืมพลัง "เพื่อนบ้าน" มาร่วมสร้างด้วย  กล่อมพม่าให้สร้างจาก ทวาย มาถึงชายแดนไทย   กล่อมเวียดนามให้สร้างจากดานังมาถึง ชายแดนลาว  โดยจีนและญี่ปุ่นน่าจะยินดีในการสนับสนุนเงินทุนและการรับเหมาก่อสร้าง   ส่วนลาวนั้นมีแผนของเขาอยู่แล้ว  ไทยจึงสร้างทางเพียงราว 1 พันกิโลเมตรใช้เงินราว 5 แสนล้านบาทน้อยกว่าแผนเดิมเสียอีก  แต่เชื่อมโยงได้ทั้งหมด 6 ประเทศเพื่อนบ้าน  แถมยังเชื่อมโยงการส่งออกได้ทั่วโลก 2 ด้านมหาสมุทรผ่านท่าเรือทวาย และ ดานัง แบบประหยัดเวลาและน้ำมันอีกด้วย

บุุคคลที่จะแก้ไขความผิดพลาดนานนับศตวรรษของไทยจาก "เอกนครา" มาสู่ "พหุนครา" ได้นั้น  ก็คือผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง  ท่าน รมว.คมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่นเอง   หากท่านมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนกรอบยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดนานนับร้อยปีของไทย  ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาระบบรางเสียใหม่  หากทำได้สำเร็จงดงามอย่างดี  เกียรติยศของท่านคงไม่หยุดแค่ "บิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของไทย" แต่น่าจะไปได้ถึง  "บิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของ AEC" กันเลย และ ไม่น่าจะหยุดแค่  "รัฐมนตรีแห่งปี" แต่น่าจะไปได้ถึง  "รัฐมนตรีแห่งศตวรรษ" กันเลยทีเดียว   เชียร์ๆ เพื่อชาตินะครับ

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ลองคิดใหม่กับไฮสปีดเทรน

สำหรับเฟสแรก 4 เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงของไทย 7.8 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 7% GDP เล็กน้อยนั้น  เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมากมายอะไรนัก   หากเราลองมาดูประเทศเพื่อนบ้านที่มุ่งมั่นกับ รถไฟความเร็วสูงอย่างจริงจังแล้วจะตกใจกว่ามาก

นั่นก็คือ ประเทศลาว  ที่อนุมัติไปแล้ว 2 โครงการ คือ เส้นเหนือ-ใต้  จากชายแดนจีนถึงเวียงจันทน์   และ เส้นตะวันออก-ตก  จากสะหวันนะเขต ถึง ลาวบาว ชายแดนเวียดนาม   โครงการแรก 7 พันล้านเหรียญ  โครงการหลัง 4 พันล้านเหรียญ  รวมกันแล้วสูงถึง 11 พันล้านเหรียญ สรอ.  ซึ่งจะสูงถึง 140% GDP  ของลาว  หากมองตัวเลขนี้เทียบกับไทยที่ 7% GDP แล้ว   รถไฟความเร็วสูงของไทยจะกลายเป็น "รถไฟเด็กเล่น" ไปเลยทีเดียว

ทำไมลาวจึงได้พนันความเสี่ยงการคลังของประเทศกับรถไฟความเร็วสูงแบบหมดหน้าตักเช่นนั้น   อาจเป็นเพราะ ลาวคงมองแล้วว่าอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับสิ่งนี้นั่นเอง  นอกเหนือไปจาก การสร้างประเทศให้เป็น Battery of AEC  ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน  และ รวมไปถึงการให้บริการเทคโนโลยี 4G   การเชื่อมประเทศจีน และ เวียดนามเข้ากับลาว จะช่วยในการค้าและการท่องเที่ยวประเทศเป็นอย่างมาก   จีนมีประชากร 1.3 พันล้าน  เวียดนามมีราว 90 ล้านคนจัดได้ว่าเป็น 2 ประเทศที่มีพลเมืองสูงสุดในภูมิภาคอินโดจีนนี้   และแน่นอนว่า ลาวก็อยากจะเชื่อมเข้ากับประเทศไทยด้วย

ในมุมมองของไทย  ไทยเองก็อยากจะเชื่อมกับ จีน และ เวียดนาม ด้วยเหตุผลเดียวกัน  แต่หากจะต้องลงทุนมากๆ ก็ไม่ไหว   ขณะที่ลาวได้ตัดสินใจช่วยสร้างให้ 2 เส้นทางไปแล้วครึ่งทาง ทั้งแนว เหนือ-ใต้ และ ตะวันออก-ตก  โดยใช้ความกล้าหาญทางการคลังระดับบ้าบิ่นกันเลย   ไทยเองสามารถจะลงทุนน้อยกว่าแต่ได้ประโยชน์มากกว่าเพื่อสานฝันของลาวให้เป็นจริง   โดยเชื่อมเส้นทางทั้ง 2 มาบรรจบกันที่เมืองหนึ่ง  เพื่อเป็น ฮับของไฮสปีดเทรน  ก็พบว่าคำตอบคือ "มหานครขอนแก่น" นั่นเอง

การสร้างเส้นทางจาก  ทวาย-กทม. -ขอนแก่น- หนองคาย จึงจัดได้ว่ามีความสำคัญเป็นลำดับแรก และ  เส้นทาง  ขอนแก่นไปถึง สะหวันนะเขต  ก็เป็นสำคัญลำดับถัดไป   การได้ ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางของรถไฟความเร็วสูง จะทำให้ภาคอีสานของไทยได้ประโยชน์อย่างมหาศาล  ไม่เพียงแต่ ผู้คนและสินค้าไทยจะเดินทางไปจีน และ เวียดนามได้อย่างสะดวกเท่านั้น   การขนส่งระหว่าง จีน และ เวียดนามตอนกลางก็ยังใช้ประโยชน์จากเส้นทางที่ผ่าน "ขอนแก่น" นี้ได้ด้วย

สำหรับเวียดนาม  ก็คงจะมองเห็นประโยชน์ของเส้นทางนี้เช่นกัน  แทนที่จะสร้างเส้นทางยาวตลอดทั้งประเทศ   การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแค่จาก "ลาวบาว" ไปยัง  "ดานัง"  จะช่วยให้การส่งออกสินค้าของลาว  เมียนมาร์  และ ผลผลิตของภาคอีสานไทย  ไปยังเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)  เป็นไปอย่างทางตรง ประหยัดเวลาและเชื้อเพลิงได้มาก  นี่คือ ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

ในเมื่อทางฝั่งอีสาน  เรา "ยืมพลัง "ลาวไปเรียบร้อยแล้ว   ทางด้านทิศใต้  ไทยก็ควร "ยืมพลัง" มาเลเซียด้วยเช่นกัน   ไทยจะลงทุนเพียงแค่ 50 กม.ราว 2.5 หมื่นล้านบาท  จาก หาดใหญ่ ไป ปาดังเบซาร์   และ เสนอแนะให้มาเลเซีย สร้างรถไฟความเร็วสูง จาก กัวลาลัมเปอร์ มาถึง ปาดังเบซาร์    เพียงเท่านี้ภาคใต้ไทยก็จะเชื่อมโยงกับ มาเลเซียและสิงคโปร์   ซึ่งมีประชากรราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทย (34 ล้านคน)  แต่กลับมีขนาดของ GDP ถึง 1.5 เท่าของประเทศไทย   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศแถบนั้นอย่างมาก   โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซียซึ่งมีถึงปีละ 25 ล้านคน (มากที่สุดในภูมิภาค)  รวมกับ คนมาเลเซียเองที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ของไทยก็น่าจะมาเที่ยวเมืองไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น   เมื่อช่วยให้ผู้คนอยู่ดีกินดีผู้คนก็ไม่น่าจะมาคิดก่อการร้ายอะไร  ดังนั้น  ยังน่าจะช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงไปด้วย   เส้นทางนี้น่าจะขยายไปถึง กระบี่และภูเก็ต ในเฟส 2

การ "ยืมพลัง" ของทั้งลาว และ มาเลเซียให้ลงทุนเป็นส่วนใหญ่  ไทยแค่เป็นการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเข้ากับเพื่อนบ้านเท่านั้น  แต่จะสร้างรายได้จำนวนมากจากการลงทุนไม่มาก  โดยเส้นทางในอาณาเขตไทยราว 1 พันกม. หรือราว 5 แสนล้านบาทต่ำกว่าวงเงินเดิมเสียอีก  แต่สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้ถึง 6 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์  มาเลเซีย และ สิงคโปร์

โดยผู้คนน่าจะใช้บริการกันมากเพราะ ไม่ต้องเสียภาษีสนามบินระหว่างประเทศ (700 บาทที่สุวรรณภูมิ)  และ ค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง  รวมไปถึง ไม่ต้องเสียเวลารอเครื่องบินรอกระเป๋าด้วย   รถไฟความเร็วสูง จึงไม่เพียงเป็นการทดแทนรถตู้รถบัส หรือ สายการบินในประเทศ   แต่เป็นสิ่งมาแข่งกับสายการบินระหว่างประเทศระยะสั้นต่างหาก  เช่น  หากจะเดินทางจาก กทม.ไป หลวงพระบาง ตอนนี้อาจต้องใช้เงินถึงขาละ 6 พันบาท (รวมภาษีสนามบินค่าประกันและค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง)   แต่ถ้าเดินทางด้วย รถไฟความเร็วสูงระยะทางราว 800 กม.ๆ ละ 2 บาท ก็ตกแค่ 1.6 พันบาทเท่านั้นเอง  ประหยัดเงินไปได้กว่าครึ่ง ระยะเวลาที่ใช้ 3 ชม.ก็น่าจะพอๆ กัน

ด้วยการยืมพลังเพื่อนบ้าน  เราจึงสร้างน้อยลงแต่ได้รับผลกำไรมากขึ้น  เพียงแค่เชื่อมเข้ากับ หาดใหญ่ และ ขอนแก่น  ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของ ภาคใต้และอีสานเท่านั้นเอง  ผลประโยชน์ที่จะตกกับประเทศไทยและภูมิภาคนั้นมากมาย   นี่อาจเป็นกลยุทธใหม่แบบ "ป่าล้อมเมือง"  ซึ่งจะสานฝันการเติบโตแบบมีสมดุลลดความเหลื่อมล้ำของภูมิภาคตาม "ทฤษฎีสามนคราพัฒนาชาติ" ได้อีกด้วย  คือ แทนที่ กทม.จะโตเดี่ยว  เราจะได้มาอีก 2 มหานคร คือ  มหานครขอนแก่น และ สงขลามหานคร   เติบโตแบบ 3 เมืองพร้อมกัน  และ แน่นอนด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแบบนี้จะสร้างเมืองสำคัญของเวียดนามจาก ฮานอย และ โฮจิมินห์  เพิ่มมาอีกเมืองคือ "ดานัง" เป็น "สามนครา" เช่นกัน   รวมถึง  ลาวซึ่งจะมี  เวียงจันทน์  หลวงพระบาง และ สะหวันเขต

หลังจากสร้างแล้วดูดีมีกำไรสูง  การทำเฟส 2 เพื่อเชื่อมโยงจากทุกทิศทาง  เพื่อเข้าสู่ เมืองหลวง กทม. ก็น่าจะทำได้อย่างดีได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายเป็นแน่แท้นะครับ




วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ฟองสบู่สู่วิกฤติ

บทความนี้คือ ภาค 2 ต่อจาก "สัญญาณเตือนภัย วิกฤติเศรษฐกิจ"  โดยหลังจากที่ผมได้คิดค้น Ruang Alarm ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยวิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว  ผมพบว่ายังมีอีก 1 วิกฤติเศรษฐกิจที่ฟองสบู่ไม่ได้แตกด้วยเงินกู้จากต่างประเทศ  เหมือนกับ วิกฤติส่วนใหญ่ แต่แตกด้วยเงินในประเทศ  ไม่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  จึงไม่มีการเตือนจาก Ruang Alarm แต่อย่างใด  วิกฤตินั้นก็คือ  "วิกฤติวาซาบิ" ในญี่ปุ่นปี 1990 นั่นเอง

ผมจึงได้คิดค้นตัวชี้วัด (indicator) ใหม่ขึ้นมา  โดยให้ชื่อว่า  "ฟองสบู่เรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Bubble)  ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับฟองสบู่ซึ่งหากแตกตัวลงจะนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   โดยมีแนวคิดดังนี้ คือ  เมื่อนำเอาอัตราการเพิ่มของปริมาณเงิน (M2 growth)   มาหารด้วย  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP Growth)  ก็จะได้ออกมาค่าหนึ่ง  ซึ่งระดับปกติค่านี้ควรจะยืนประมาณ 1 จึงจะสมดุล คือ เพิ่มปริมาณเงินในระดับเหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ   นำค่าที่ได้นี้มาคำนวณรวมกัน 3 ปีก็จะได้ค่า Ruang Bublle   เพื่อดูว่ามีการสูบลมเข้าลูกโป่งเศรษฐกิจมากเกินไปจนเสี่ยงจะแตกหรือไม่  
ค่าปกติจะยืนที่ 3  ค่ายิ่งสูงยิ่งหมายถึงว่า  สูบลมเข้าไปมากจนเสี่ยงที่จะฟองสบู่จะแตกนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ  

Ruang Bubble  ที่  4  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ในระดับสูง
Ruang Bubble  ที่  5  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ในระดับสูงมาก
และ หากค่านี้ยืนสูงกว่า 6  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ระดับสูงสุดยอด  หมายถึง  การเพิ่มของปริมาณเงินสูงกว่า ระดับที่เศรษฐกิจจริงต้องการถึง 2 เท่าตัวโดยเฉลี่ยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานั่นเอง

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูที่ "วิกฤติวาซาบิ" ก็พบว่า ญี่ปุ่นมีการเพิ่ม M2 สูงถึงระดับ 9-11% ต่อปีซึ่งสูงมาก  และ ทำให้ค่า Ruang Bubble ในตอนนั้นสูงระดับ  4.9   เมื่อไปดู "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ดูบ้าง ก็พบว่าในตอนนั้น  อเมริกามีค่า Ruang Bubble สูงถึงระดับ 5.2  และ เมื่อไปดูประเทศกลุ่มอ่อนแอในยูโรโซนก็ยิ่งตกใจ  เมื่อพบว่า  กรีซเคยมีค่า Ruang Bubble  ระดับ 6.2 และ สเปนที่ระดับ 9.9 เลยทีเดียว  ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงสุดยอดนั่นเอง 

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าตอนนี้เรามี Ruang Index  เพื่อชี้วัดความเสี่ยงของหนี้สินภาครัฐโดยนำเอาดอกเบี้ยพันธบัตรมาร่วมคำนวณด้วย  เพื่อบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายการคลัง
เรามี Ruang Alarm  เพื่อชี้วัดความเสี่ยงของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
เรามี Ruang Bubble  เพื่อชี้วัดคามเสี่ยงของการอัดฉีดปริมาณเงินที่มากเกินไปจนเป็นฟองสบู่  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายการเงิน  

โดยค่าชี้วัดทั้ง 3 ตัวนั้นล้วนอยู่ในกรอบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ทั้งสิ้น  
หากดำเนิน "นโยบายการคลังพอเพียง"  ไม่ก่อหนี้สินภาครัฐมากเกินไป   ไม่พึ่งพิงหนี้จากต่างประเทศมากเกินไป  Ruang Index  จะไม่ถึงระดับอันตรายอย่างแน่นอน
หากดำเนิน "นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนพอเพียง"  เลือกระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม  ไม่เติบโตเกินตัว  ไม่บริโภคเกินตัว  ไม่ลงทุนเกินตัว  ก็จะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่องจน  Ruang Alarm  ส่งสัญญาณเตือนอย่างแน่นอน
และ หากดำเนิน "นโยบายการเงินพอเพียง"  โดยเพิ่มปริมาณเงินให้อยู่ระดับเหมาะสมกับเศรษฐกิจจริง  ก็จะไม่มีการปั่นฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ  อย่าง  สินค้าโภคภัณฑ์  ทองคำ  หุ้น และ อสังหาฯ  จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจจน  Ruang Bubble  ส่งสัญญาณเตือนอย่างแน่นอน  

ประเทศทั่วโลก (รวมไทยด้วย)  แม้ปากจะท่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"  แต่ความจริงแล้วการกระทำอาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงก็ได้   ค่าชี้วัดทั้ง 3 ตัวนี้ จึงเหมือนเป็นการช่วยนำเอา "กรอบเศรษฐกิจพอเพียง"  ที่เป็นรูปธรรมเพื่อกำกับดูแลความโลภอย่างมากของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม  ช่วยเตือนภัยและป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ให้เกิดขึ้นอีก   ซึ่งนั่นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยเลยละครับ  
  

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

บทบาทดีๆ ที่ประเทศไทยควรมีต่อคาบสมุทรเกาหลี

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อมุ่งหวังในการสร้างสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลี  โดยที่ประเทศไทยอาจมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์  โดยจะได้ประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทยและต่อโลก

วิธีการก็คือ ประเทศไทยควรประกาศว่าไทยต้องการเห็นสันติภาพของโลก   พร้อมเป็นมิตรต่อทุกประเทศ   ยื่นข้อเสนอต่อท่านผู้นำเกาหลีเหนือ  หากยินดีเข้าร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพอีกครั้ง  ประเทศไทยจะยินดีบริจาคข้าวสาร 1 แสนตัน  เพื่อช่วยเหลือประชาชนเกาหลีเหนือที่น่าจะเป็นอยู่อย่างยากลำบากในภาวะตึงเครียดจากความเสี่ยงของสงคราม

ในภาวะปัจจุบัน  ประเทศมหาอำนาจได้ใช้ "ไม้แข็ง" เล่นงานเกาหลีเหนือ  ด้วยการคว่ำบาตรเพิ่มอีก 2 ปี (ญี่ปุ่น)  ฝึกซ้อมรบ (เกาหลีใต้-อเมริกา)  คำพูดกดดันเพื่อโดดเดี่ยวประเทศเกาหลีเหนือ (รัสเซีย-จีน)  แน่นอนว่า  สำหรับประเทศคู่กรณีอย่าง เกาหลีใต้ และ อเมริกา คงไม่สามารถเล่นบทบาท "อ่อนข้อ" ได้ พร้อมดำเนินการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันทันที   สำหรับประเทศลูกพี่อย่าง จีน และ รัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจก็ยังคงเล่นบท "ไม้แข็ง" อยู่เช่นกัน  วิธีเช่นนี้อาจบีบให้เกาหลีเหนือจำเป็นต้องสู้อย่างบ้าเลือดและจนตรอก  

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นแตกต่างออกไป   ขณะที่ประเทศขนาดใหญ่ เลือกใช้ "stick" หรือไม้เรียวในการดูแลปัญหาเกาหลีเหนือ  ประเทศไทยอาจแสดงบทบาทสร้างสรรค์ด้วยการใช้แครอท "carrot" เพื่อจูงใจให้เกาหลีเหนือลดภาวะความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีลงได้   

ท่านผู้นำเกาหลีเหนือ  ความจริงแล้วอาจกำลังพิจารณาเพื่อหาทางลงจาก ภาวะตึงเครียดจากการทำสงครามอยู่  แต่หาวิธีที่จะเป็นไปอย่างสง่างามและไม่เสียหน้ามากนัก   ข้อเสนอของไทยแบบนี้เปรียบเหมือน "บันได" เพื่อให้ท่านผู้นำหาทางลงได้อย่างดี   โดยมีข้ออ้างว่าทำไปเพื่อปากท้องของประชาชนเกาหลีเหนือ  

สำหรับประเทศไทย  หากถามว่า เราจะระบายข้าวในสต๊อกอย่างไรให้มีกำไรได้หลายเท่า   ผมเชื่อว่าทั้งคนไทยและคนทั้งโลกก็คงตอบเหมือนๆ กันว่า  มันเป็นไปไม่ได้หรอก  เอาแค่ไม่ให้ขาดทุนมากก็ยังยากเลย  แต่เรื่องนี้อาจเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการ "ระบายข้าว" ของไทย คือ ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสันติภาพ และ แก้ไขปัญหาความอดอยากของโลก

ข้าวสาร 1 แสนตันมูลค่าอาจตกราว 50 ล้านดอลลาร์  หากประเมินทางเศรษฐกิจแบบตรงๆ นี่คือ การระบายข้าวแบบขาดทุนเต็มๆ   แต่หากประเมินทางเศรษฐกิจแบบอ้อมๆ  เรื่องนี้อาจช่วยให้โลกเราหลีกเลี่ยงภาวะสงครามนิวเคลียร์  ซึ่งอาจสร้างความเสียหายนับล้านล้านดอลลาร์ได้   ดังนั้น เมื่อประเมินกำไรทางการเมืองระหว่างประเทศ และทางสังคม  รวมเข้าไปด้วยแล้ว  ต้องถือว่าเป็นการ "ระบายข้าว" ที่มีกำไรได้เป็นแสนเป็นล้านเท่าตัวเลยทีเดียว

และถึงแม้ว่าเกาหลีเหนือจะไม่รับข้อเสนอนี้   ไทยก็ยังแสดงให้ทั้งโลกได้เห็นถึงความพยายามมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสันติภาพต่อโลก และ มีมนุษยธรรมสูง   เป็นการยกระดับบทบาทของไทยบนเวทีการเมืองโลกได้ไม่น้อย

แต่หากทำเรื่องนี้ได้สำเร็จไม่่เพียงแต่ช่วยให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย 4 หมื่นคนในเกาหลีใต้ปลอดภัยเท่านั้น  ยังรวมไปถึง สันติภาพของทั้งโลกด้วย   ไม่เพียงเท่านั้น  เรื่องนี้มีของแถม คือ การแก้ไขปัญหาความอดอยากประชากรในภูมิภาค  รวมไปถึง  การแก้ไขปัญหาการระบายข้าวขาดทุนของไทยอีกด้วย   ดังนั้น  นี่จึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัวด้วยกัน

ท่านนายกฯ หญิงของไทยน่าจะชื่นชอบเชี่ยวชาญมากๆ สำหรับบทบาทแบบนี้อยู่แล้ว  ซึ่งเป็นบทบาทที่แม้แต่ผู้นำของมหาอำนาจเองก็ไม่สามารถจะเล่นเพื่อสร้างสันติภาพได้   ดังนั้น  หากนายกฯ หญิงของพวกเราเล่นบทบาทแห่งประวัติศาสตร์นี้ได้โดดเด่นสร้างสรรค์  "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ"  อาจอยู่ใกล้แค่เอื้อมเลยละครับ 

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

สัญญาณเตือนภัยวิกฤติเศรษฐกิจ

ปัจจุบันโลกมีสัญญาณเตือนภัยทั้ง กันขโมยรถยนต์ และ บ้าน   สัญญาณเตือนภัยไฟไหม้  สัญญาณเตือนภัยสึนามิ  และอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งอาจใช้ป้องกันทรัพย์สินระดับหลักแสนบาท  แต่ดูเหมือนโลกยังขาดสัญญาณเตือนภัยวิกฤติเศรษฐกิจ  ที่เป็นรูปธรรมซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้ถึงระดับล้านล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก ปี 1984 เป็นต้นมาถึงเกือบ 30 ปี  IMF และ World Bank กลับไม่ได้ใส่ใจในสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจนัก  จึงไม่ได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อป้องกันภัยแต่อย่างใด  ปล่อยให้วิกฤติเกิดต่อเนื่อง  จนเป็น วิกฤติต้มยำกุ้งในไทยปี 1997     วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000  และ ไปถึง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี2008

ในบทความนี้  ผมมีความยินดีที่จะเสนอสิ่งใหม่ให้กับโลก  นั่นก็คือ  สัญญาณเตือนภัย "เรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Alarm)   เพื่อใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศต่างๆ    เนื่องจากการ "ป้องกัน" ย่อมสูญเสียและเจ็บปวดน้อยกว่า การ "แก้ไข" วิกฤติเศรษฐกิจมากนัก

แนวคิดของ Ruang Alarm ก็คือ  การนำเอาดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อ GDP  มาบวกเข้าด้วยกัน 3 ปีล่าสุด เราก็จะได้ตัวเลขออกมา   โดยอาจแบ่งความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจได้เป็น 3 ขั้น คือ
1. ความเสี่ยงสูง :  ค่า Ruang Alarm  อยู่ที่ระดับแย่กว่า -10% GDP
2. ความเสี่ยงสูงมาก : ค่า Ruang Alarm จะอยู่ที่ระดับแย่กว่า -20% GDP
3. ความเสี่ยงสูงสุดยอด : ค่า Ruang Alarm อยู่ที่ระดับแย่กว่า  -30% GDP

เรามาลองดูตัวเลขเก่าๆ ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจดูบ้าง    เตกีล่าของเม็กซิโก ค่า Ruang Alarm อยู่ที่ -13% GDP   ขณะที่  ต้มยำกุ้งของไทยนั้น  Ruang Alarm อยู่ที่ -21.2%    และ  วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000 ค่านี้อยู่ที่  -13.1%

เมื่อมาดูที่ก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และ วิกฤติยูโรโซนดูบ้าง  ก็พบว่า  อเมริกานั้นมีค่า Ruang Alarm ที่  -17% GDP  และเมื่อไปดูที่ประเทศอ่อนแอในยูโรโซนกลับยิ่งตกใจ  เมื่อพบว่า  กรีซมีค่านี้สูงถึง  -44% GDP  ไซปรัสที่  -34%     โปรตุเกสที่ -33.4% GDP   และ  สเปนที่ -28.6% GDP  

เป็นที่น่าเสียดายว่า  หาก IMF  ใช้แนวคิดของ Ruang Alarm  มาก่อนแล้ว  โลกอาจป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ทั้งหมด  การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่อง  หมายถึง การใช้จ่ายทั้งบริโภคและลงทุนเกินตัว  โดยพึ่งพิงเงินทุนจากต่างชาติ  สร้างแรงเก็งกำไรเป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์   ซึ่งในที่สุดก็ต้องแตกตัวลง

แล้ว ณ จุดนี้มีประเทศที่เสี่ยงๆ อยู่บ้างไหม  ผมได้สแกนประเทศขนาดใหญ่พอสมควร  ก็พบอยู่ 3 ประเทศ   มี 2 ประเทศใน BRICS นั่นก็คือ  อินเดีย  ที่ประมาณ -11.4% GDP   และ แอฟริกาใต้ ที่ -12.5%  ซึ่งถือว่าความเสี่ยงระดับสูง    ขณะที่มีอีกประเทศที่สัญญาณเตือนภัยในระดับสูงมาก  ก็คือ  "ตุรกี" ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาณาเขตใกล้กับ กรีซ และ ไซปรัส เสียด้วย  ประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 18 ของโลกมีค่า Ruang Alarm สูงระดับ  -22.5% เลยทีเดียว  

นอกจากนี้ผมได้ค้นพบว่า  วิกฤติการคลังนั้น  ไม่ใช่ "สาเหตุ" ของวิกฤติเศรษฐกิจ  แต่เป็น "ผลลัพธ์" ของวิกฤติเศรษฐกิจต่างหาก   โดยประเทศไทย  หนี้ภาครัฐต่อ GDP  วิ่งจาก 15.2% ไป  57.8% GDP  ภายในเวลา 4 ปีเพราะ ผลพวงของวิกฤติต้นมยำกุ้ง    ไอร์แลนด์นั้นก็มีตัวเลขเดียวกันใช้เวลา 5 ปีวิ่งจาก  25% ไป 117% GDP ณปี 2012   นั่นเป็นเพราะ  ขณะที่รัฐบาลมีรายได้ลดลงจากเศรษฐกิจถดถอย  ในเวลาเดียวกัน  รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มภาคธนาคาร   ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันสังคม  และ ยังต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายในระดับสูงอีกด้วย  

ดังนั้น หากจะเรียงลำดับเหตุการณ์ ก็อาจเป็นดังนี้   วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด -------> วิกฤติเศรษฐกิจ ------>  วิกฤติการคลัง   หมายถึงว่า  วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด คือ "ต้นเหตุ" ของวิกฤติเศรษฐกิจ  ขณะที่  วิกฤติการคลัง  เป็น "ผลลัพธ์"  ของวิกฤติเศรษฐกิจไม่ใช่ "สาเหตุ"

และก็มาถึงตอนจบ....แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างละ  สำหรับ พรบ.กุ้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น  ผมไม่ได้กังวลเรื่องของวิกฤติการคลังสักเท่าใดนัก  เพราะ การลงทุุนในสาธาณูปโภคขนาดนั้นน่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนแห่ลงทุนตามมาด้วยแน่ ตามแนวคิดค่าตัวทวี (multiplier)  และ รัฐบาลก็น่าจะเก็บภาษีต่างๆ ได้ดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจเติบโตดี   แต่หากการเติบโตวิ่งไปที่ระดับ 7-8% จริงๆ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การโตเกินตัว  การบริโภคเกินตัว  การลงทุนเกินตัว  จะทำให้เกิดขาดดุลการค้า  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและต่อเนื่องหลายปีต่างหาก   ซึ่งนั่นคือ "ต้นเหตุ" ของวิกฤติต้นมยำกุ้งนั่นเอง

เมื่อดูตัวเลขขาดดุลการค้าในเดือน มกราคมที่ผ่านมาคือ 1.7 แสนล้านบาท  สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ เมื่อรวมกับเดือนกุมภาพันธ์  ไทยขาดดุลเฉลี่ยดือนละ 1แสนล้านหรือปีละ 1.2 ล้านล้าน ซึ่งเป็นระดับสูงถึง 10% GDP   ไม่ต้องสงสัยเลยว่า  การลงทุนรถไฟระบบรางต่างๆ จะทำให้ประเทสไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาลเพียงใด   เครื่อต้มยำ 3 ชนิดของ "ต้มยำกุ้ง"  คือ 1.ใช้ค่าเงินบาทที่แข็งเกินกว่าระดับเหมาะสม  2. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหนักหน่วงและต่อเนื่อง (Ruang Alam แย่กว่า -10%)  3.มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์สูงมาก   เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าเร็วไปที่จะพูดถึง "ต้มยำปู"  เพราะปัจจุบัน Ruang Alarm ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนแต่อย่างใด  แต่หาก พรบ.2.2 ล้านล้านผ่านไปได้   เอกชนแห่ลงทุนกันตามภาครัฐจนเกิดฟองสบู่   ไทยต้องใช้ค่า "บาทแข็ง" อย่างต่อเนื่อง   ขาดดุลการค้าและขาดดุลเดินสะพัดอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง  อีก 3 ปีข้างหน้าเมื่อค่า Ruang Alarm  ส่งสัญญาณเตือน   ผมจะมาเขียนบอกอีกครั้งนะครับ





วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตัวเลข 3 ตัวที่ไม่โดน และ ยูโรโซนควรเปลี่ยนแปลง

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการไม่ถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวอะไรทั้งสิ้น   แต่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ตัวเลข 3 จำนวนซึ่งมีผลต่อวิกฤติในยูโรโซน  ซึ่งได้เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งจากการเข้าเก็บภาษีเงินฝาก ในประเทศไซปรัส   ซึ่งผมก็ได้คิดมาก่อนแล้วว่า  "ไซปรัส" อาจจะเป็นประเทศเล็กแต่ก่อปัญหาใหญ่ก็ได้   ตามที่ได้เขียนในบทความ "CYPRUS รหัสลับวิกฤติโลก"

แต่บทความนี้มีเขียนเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาให้กับ "ยูโรโซน"  ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงตัวเลขที่ล้าสมัยเท่านั้น  วิธีง่ายๆ นี้ยังอาจรักษา "ระบบยูโร" ปัจจุบันเอาไว้ด้วยก็เป็นได้  มาดูในรายละเอียดกันครับ

ตัวเลขที่ 1 : กฎเกณฑ์ให้ขาดุลการคลังไม่เกินกว่า 3% GDP   จะเห็นว่า  หากเปลี่ยนตัวเลขจาก 3% เป็น 5% ก็จะเปิดช่องให้ดำเนินนโยบายการคลังได้ดีขึ้น  ไม่ต้องรัดเข็มขัดการคลังไปกว่านี้  สำหรับประเทศใหญ่อย่าง ฝรั่งเศส และ อิตาลี   วิธีนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น    ในปัจจุบันไม่เพียงแต่มีน้อยประเทศในยูโรโซนเท่านั้นที่ทำได้ขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% GDP   ประเทศใหญ่ๆ อย่าง อเมริกา อังกฤษ และ ญี่ปุ่น นั้นขาดดุลระดับ 8% GDP กันเลยทีเดียว

หากประเทศพัฒนาแล้วทั้ง 3 นั้น ต้องลดการขาดดุลการคลังตามกฎเกณฑ์ของยูโรโซนที่ล้าสมัยถูกสร้างมาเมื่อ 13 ปีก่อนหน้านี้  คือรัดเข็มขัดการคลังให้เหลือขาดดุลไม่เกิน 3% GDP  ก็เป็นไปได้ว่า ประเทศเหล่านั้นก็คงมีสภาพเศรษฐกิจถึงขั้นถดถอยเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในยูโรโซนเช่นกัน


ตัวเลขที่ 2 : กฎเกณฑ์ที่ให้หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ไม่เกิน 60%   จะเห็นว่าแทบไม่มีประเทศใดในยูโรโซนสามารถจะกดตัวเลขนี้ให้ต่ำกว่า 60% ได้เลย ยกเว้นเฉพาะ ฟินแลนด์เท่านั้น   ประเทศใหญ่ในยูโรโซน 4 อันดับแรก (เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และ สเปน)  ก็ล้วนมีค่านี้เกินเกณฑ์ทั้งสิ้น    ดังนั้น  หากผ่อนปรนจาก 60% เป็น 100% GDP  ก็น่าจะช่วยทำให้  เยอรมนี  ไม่ต้องรัดเข็มการคลัง  เมื่อมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มก็จะช่วยให้เศรษฐกิจของยูโรโซนดีขึ้นด้วย   เร่งนำเข้าสินค้าจากยูโรโซน  เร่งท่องเที่ยวในยูโรโซน  หากทำให้การได้ดุลบัญชีเดินสะพัดระดับ 5-6% GDP ของเยอรมนีลดลงสักครึ่งก็จะเป็นเม็ดเงินมหาศาล    ผลดีนั้นก็สะท้อนกลับให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลของประเทศอ่อนแออื่นๆ ในยูโรโซนปรับตัวสู่สมดุลได้ดีขึ้นพร้อมกับ เศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย

ความจริงแล้ว  ปัญหาของยูโรโซน  ไม่ได้เกิดจากการขาดดุลการคลัง และ หนี้สินภาครัฐ  โดยสังเกตได้จากประเทศสเปน  ซึ่งรักษาวินัยการคลัง (ขาดดุลไม่เกิน 3% GDP) มาเป็นอย่างดีถึง 8 ปีติดต่อกันหลังเข้าระบบยูโร และ ก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008   ขณะที่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และ อิตาลีนั้นกลับรักษากฎนั้นไว้ไม่ได้  และ สเปนก็ยังรักษาระดับหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ได้ต่ำมากเพียง 36% ในปี 2007  อย่างไรก็ดี  เนื่องจากการผูกค่าเงินไว้กับ "ยูโร"  ซึ่งแข็งค่าเกินไป   จึงทำให้สเปนขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักต่อเนื่องหลายปี  โดยหนักสุดคือปี 2007 ที่สูงถึง 10% GDP   และ ต้องติดหนี้สินต่างประเทศของภาคเอกชนในระดับสูง    มีฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ทั้งหุ้นและอสังหาริมทรัพย์อยู่มาก   ปัญหาจึงคล้ายกับ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ของไทย    เมื่อฟองสบู่แตกลง  พร้อมๆ กับความจำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง  สเปนจึงมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก อัตราการว่างงานสูงระดับ 26% เป็นรองเพียงกรีซ เท่านั้นเอง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่แท้จริงนั้น คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ การติดหนี้สินต่างประเทศ ของประเทศอ่อนแอ (PIIGS) ต่างหาก   ถ้า เยอรมนี  เดินหน้าในการเร่งเศรษฐกิจ  รัฐบาลเร่งขาดดุลการคลัง ก็จะส่งผลให้การได้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง   ขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในยูโรโซน  ปรับสมดุลบัญชีเดินสะพัดได้ดีขึ้นด้วย  การพึ่งพิงหนี้สินต่างประเทศก็จะชะลอตัวลง  ทำให้ยูโรโซนมีสมดุลดีขึ้น

ตัวเลขที่ 3 : IMF จะส่งเงินช่วยเหลือเมื่อเห็นความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวเท่านั้น  ซึ่งดูเหมือนว่าการกำหนดตัวเลข หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP  ไม่เกิน 120%  เป็นกรณีของกรีซ    เมื่อใช้ตัวเลข 120% เป็นเกณฑ์  กรณีการส่งเงินช่วยเหลือ "ไซปรัส"  ซึ่งขอเงินช่วยเหลือมาเกือบ 100% GDP  รวมกับของเดิม 70% GDP จึงไม่สามารถส่งเงินช่วยเหลือเป็นหนี้ภาครัฐทั้งหมดได้  เพราะตัวเลขจะกระโดดไปสูงมาก  ซึ่งหมายถึงความไม่ยั่งยืนในระยะยาว  ไซปรัสจึงต้องหาเงินบางส่วนด้วยการเก็บภาษีจากผู้ฝากเงินในธนาคาร  ส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคาร   การ "ช่วยเหลือ" ของทรอยก้าจึงดูเหมือนการ "ช่วยซ้ำ"  ความอ่อนแอของแบงก์ในไซปรัสเสียมากกว่า   หาก IMF และ EU  ผ่อนปรนเกณฑ์จาก 120% เป็น 200%  GDP  แทนความยั่งยืนระยะยาว  ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าในการช่วยเหลือแบงก์ และ รัฐบาลของประเทศที่อ่อนแอได้ดียิ่งขึ้น

หากท่านผู้นำในยูโรโซนได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้  อาจจะตื่นเต้นดีใจมาก เพราะ นึกไม่ถึงว่าแค่การเปลี่ยนแปลงตัวเลข 2-3 ตัว  ก็จะช่วยให้แก้ไขวิกฤติในยูโรโซนได้เชียวหรือ ??   บางทีด้วยวิธีการง่าย ๆก็อาจแก้ไขปัญหายากๆ  ไปได้นะครับ


วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ยูโรไท้เก๊ก

ความกังวลได้เริ่มก่อตัวอีกครั้งจากเขตยูโรโซน   โดยอาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร" คือ ต้นตอของสรรพปัญหาทั้งปวงในเขตยูโรโซน  โดยเริ่มตั้งแต่

1. ปัญหาเศรษฐกิจ :  การจำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง  ส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ   โดยประเทสในเขตนี้มีหน้าที่ต้องทำให้การขาดดุลการคลังต่อ GDP ลดลงให้ได้เหลือระดับ 3% เท่านั้น  และ สำหรับประเทศลูกหนี้อย่าง PIIGS นั้น  การไฟแนนซ์เงินผ่านพันธบัตรรัฐบาล  จำเป็นต้องพึ่งพิงเงินจากต่างประเทศ  ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก

2.ปัญหาสังคม : เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ  ก็เกิดว่างงานสูง  โดยอัตราว่างงานในสเปน และ กรีซ นั้นสูงระดับ 26-27% ไปแล้ว  และ สำหรับคนหนุ่มสาวนั้น  อัตราว่างงานสูงระดับ 60% เลยทีเดียว   นี่นับเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญยิ่งอันหนึ่ง

3.ปัญหาการเมือง : ซึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างแนวคิด สนับสนุนการรัดเข็มขัดการคลัง  เพราะ การมีเงื่อนไข "ยูโร" มาค้ำคอ  ทำให้จำเป็นต้องเลือกทางนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ   ขณะที่ แนวคิดต่อต้านการรัดเข็มขัด  เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นก็เพื่อดูแลปากท้องประชาชน   จึงอาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร"  นำไปสู่ปัญหาการเมืองในอิตาลีในที่สุด

การที่ ECB ประกาศว่าจะพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อรักษาระบบยูโรปัจจุบันเอาไว้  จึงเปรียบเหมือนการพูดว่า  "จะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่  ด้วยการเก็บรักษาต้นตอของปัญหาเอาไว้"......  นี่จึงยังไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องนัก   โดยวิธีที่ถูกต้องน่าจะเป็นการยอมรับความผิดพลาดของ "เงินยูโร"  และจะจัดการแก้ไขระบบยูโรอย่างไร  เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบการเงินโลกต่างหาก

วิธีจัดการกับ "เงินยูโร" นั้นมี 4 วิธี  ตามแบบฉบับ "วิถีไท้เก๊ก"  โดย 2 วิธีแบบสามัญธรรมดา
1. ใช้ระบบเดิมๆไป ไม่ต้องเปลี่ยน :  วิธีนี้ก็คือวิธีปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศอ่อนแอ (PIIGS)  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง  จำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง  ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย    เป็นวิธีที่ขาด "ดุลยภาพ" ของระบบเศรษฐกิจ

2. ให้ประเทศอ่อนแอเลิกใช้ "ยูโร" และ กลับไปใช้เงินสกุลเดิม  :  วิธีนี้ก็อาจไม่เลวนัก  น่าจะทำให้ประเทศอย่าง กรีซ ไซปรัส  โปรตุเกส  กลับมามีสมดุลบัญชีเดินสะพัด และ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้   แต่ก็อาจส่งผลให้สูญเสียความเชื่อมั่น  และ กระทบไปยังประเทศอื่นๆ  ทำให้ขาด "เอกภาพ" ไป

สำหรับวิธีที่ 3 และ 4 นั้น เป็น วิถีไท้เก๊ก   ทางหนึ่งคือ แย่กว่าเดิม  ส่วนทางที4  คือ คำตอบสุดท้าย
3. ประเทศอื่นๆ เลิกใช้เงินสกุลเดิม   เปลี่ยนมาใช้ "ยูโร" กัน :  ซึ่งก็มีหลายประเทศในเขตยุโรปตะวันออก  เช่น โปแลนด์  จะปรับเปลี่ยนมาใช้ "เงินยูโร"  เพื่อสร้างภาพว่า  เงินยูโร  มีความมั่นคงสูงมีเสถียรภาพ   ในความเป็นจริงแล้ววิธีนี้แย่กว่าเดิมเสียอีก  เพราะ แทนที่ดูแลจัดการแค่ 17 ประเทศในยูโรโซน  อาจจะต้องยุ่งยากในการจัดการถึงกว่า 20 ประเทศในการแตกตัว    เรื่องนี้สะท้อนภาพว่า  ชาวยุโรปที่รู้ว่า เงินยูโร คือ ต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวงในยูโรโซนนั้นยังมีอยู่น้อย และ อยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

4. วิธีนี้น่าจะดีที่สุดก็คือ  เลิกใช้เงิน "ยูโร"  แล้วเปลี่ยนมาใช้ "ยูโร" :  ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าผมเขียนผิดหรือเปล่า  ไม่ผิดหรอกครับ   ก็ถ้าไม่เป็นเรื่องที่ดูแปลกๆ จะเข้าข่าย "วิถีไท้เก๊ก" หรือครับ ??

หลักการก็คือ แตกเงิน  Euro  ออกเป็น Euro-A  Euro-B และ Euro-C  ตามลำดับ ตามสภาพความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ  โดย Euro-A คือส่วนใหญ่ในยูโรโซน รวม 11 ประเทศ  ขณะที่ Euro-B  มี อิตาลี สเปน และ ไอร์แลนด์  และ  Euro-C คือกลุ่มประเทศอ่อนแอสุด  กรีซ โปรตุเกส และ ไซปรัส  การแบ่งก็โดยอิงกับความเสี่ยงของประเทศที่วัดจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี   ต่ำกว่า 3% ก็คือ Euro-A  ระหว่าง 3-6% ก็คือ Euro-B  และ เกินกว่า 6% ก็คือ Euro-C

อัตราส่วนในการแตกค่าเงินก็น่าจะเป็นตามสัดส่วน GDP  ของแต่ละกลุ่มซึ่งอาจใช้สัดส่วน  70:25:5  ก็น่าจะเหมาะสม  โดย Euro-B นั้นอ่อนค่ากว่า Euro-A (ซึ่งเป็นสกุลหลัก)  อยู่ 10%  และ  Euro-C อ่อนค่ากว่า Euro-A  20%  และในอนาคตก็ผูกค่าไว้โดยยอมปล่อยให้อ่อนค่าลดทีละน้อย  (Crawling Peg)  กับ เงินสกุล Euro-A

ด้วยวิธีการนี้จะส่งผลดีใน 4 ประการดังนี้

1. ดุลยภาพ :  ประเทศอ่อนแอ (PIIGS และ ไซปรัส)  จะสามารถปรับสมดุลบัญชีเดินสะพัดได้  เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และ ฟื้นการจ้างงานได้ด้วย   จากธุรกิจส่งออก ท่องเทียว และ ธุรกิจทดแทนการนำเข้า

2.ภราดรภาพ :  จากภาพที่ประเทศลูกหนี้มอง "ยูโร"ว่าเป็นโซ่ตรวนที่ทำให้หมดสิ้นอิสรภาพทั้งการเงินการคลัง  อยู่ในความสัมพันธ์แบบรู้สึกตกเป็นทาสของ เยอรมนี  ก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น   จากมุมมองของเจ้าหนี้ที่ว่า ประเทศ PIIGS  เป็นลูกหนี้ที่ฟุ่มเฟือย ชอบเบี้ยวกฎเกณฑ์  ต้องนำภาษีของชาติและประชาชนมาอุ้มประเทศลูกหนี้เหล่านี้  ก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นมิตรกันมากขึ้น

3.เอกภาพ :  เมื่อเงินยูโร แตกออกเป็น 3 สกุล  แต่ยังคงใช้ยูโรเหมือนเดิม  ทุกประเทศยังคงอยู่ใน "ยูโรโซน"  อย่างเป็นเอกภาพ  และ  ECB ดูแลเงินทั้ง 3 สกุลนี้  โดยน่าจะปรับกฏเกณฑ์ไปด้วย   เช่น  อัตราเงินเฟ้อสำหรับ Euro-A,B,C นั้นก็อาจเป็นไม่เกิน 3%, 5% และ 7% ตามลำดับ    การขาดดุลการคลังต่อ GDP  ก็เป็น 3 ระดับโดยไม่เกิน 3% 5% และ 7% ตามลำดับ   หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP  ก็อาจปรับเป็นไม่เกิน 100%  125% และ 150% ตามลำดับ   เพราะ กฏเกณฑ์ปัจจุบันแทบไม่มีประเทศไหนทำได้  นั่นแปลได้ว่าเป็นกฎระเบียบที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสม     เมื่อปรับกฎให้อ่อนลงเช่นนี้  ประเทศต่างๆ ก็สามารถทำตามกฎระเบียบได้โดยไม่ยากลำบากนัก  และเกิดเอกภาพในกลุ่มได้

4.ศักยภาพ : ประเทศต่างๆ ในยูโรโซนก็จะกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ  ซึ่งก็น่าจะเป็นระดับต่ำๆ  แต่ไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยอย่างในปัจจุบัน  นอกจากนี้  ยังอาจเพิ่มศักยภาพด้วยการดึงเอา  ประเทศใน EU แต่ยังไม่ได้ใช้เงินยูโร  เข้ามาร่วมใช้เงิน 1 ใน 3 สกุลนี้  ตามความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจได้ด้วย  โดย เดนมาร์ก  สวีเดน  ก็อาจเข้าร่วม  Euro-A  อังกฤษ โปแลนด์  ก็อาจเข้าร่วม Euro-B    ส่วนตุรกีและยุโรปตะวันออก  ก็อาจเข้าร่วม Euro-C  เป็นต้น   วิธีนี้ก็จะทำให้ในอนาคตขนาดเศรษฐกิจของยูโรโซน จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ ใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก  และ นี่อาจเป็นต้นแบบในการกำหนดค่าเงินสกุลร่วมให้กับภูมิภาคเอเชียได้อีกด้วย

เชื่อได้ว่าหากผู้นำในยูโรโซนได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้น่าจะตื่นเต้นดีใจเป็นอันมาก  เพราะ  "ยูโรไท้เก๊ก" หรือ การเลิกใช้ "ยูโร" เปลี่ยนมาใช้ "ยูโร"  น่าจะเป็น คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาวิกฤติยูโรโซน  นั่นเองครับ