วันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2556

CYPRUS : รหัสลับวิกฤติโลก

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กำลังคิดว่า  สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติในยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว  ผมกำลังจะบอกว่า "ไม่ใช่" เลย   สิ่งเลวร้ายสุดๆ  กำลังจะมาเยือนต่างหาก  โดยรหัสลับที่จะเปิดประตูสู่วิกฤตินั้นก็อาจเป็น CYPRUS นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่า  สงครามของ "หลักเศรษฐศาสตร์" และ "ระบบยูโร" นั้นเป็นแบบไตรภาคแทนที่จะเป็นแบบม้วนเดียวจบ  โดยภาคแรกเริ่มตั้งแต่ปี 2011 ไปจนถึงกลางปี 2012 นั้น  "เศรษฐศาสตร์" ได้รุกไล่จน "ระบบยูโร" เกือบล่มสลาย   ขณะที่กลางปี 2012 เป็นต้นไปนั้น  ผู้นำของ ECB และ ยูโรโซนหลายประเทศ  ได้ทุ่มเทสรรพกำลังดำเนินนโยบายแบบ Eurozonomics  ซึ่งย้อนแย้งกับทฤษฎีเศรษฐศาสต์แทบทุกมิติ จึงพิทักษ์ "ระบบยูโร" เอาไว้ได้   ส่งผลให้ภาค 2 ซึ่งก็คือ ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2012 นั้นเป็นชัยชนะของ "ระบบยูโร" โดยแท้   แต่สำหรับภาคที่ 3 ซึ่งเป็นภาคสุดท้าย   ผมคิดว่า "ระบบยูโร" ยังคงอันตรายอย่างยิ่ง และเสี่ยงต่อภาวะล่มสลาย

ไซปรัส (Cyprus)   ซึ่งเป็นเกาะในทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน  อยู่ทางตะวันออกของกรีซ และ ทางใต้ของตุรกี  มีประชากรเพียง 8.6 แสนคนซึ่งน้อยกว่าจังหวัดขอนแก่นของไทยเสียอีก  แต่มีนักท่องเที่ยวราว 2.4 ล้านคนต่อปี (3 เท่าของประชากร)   ขนาดเศรษฐกิจก็เพียง 25 พันล้านดอลลาร์  หรือราว 1 ใน 12 ของประเทศกรีซเท่านั้น   เหตุใดเกาะเล็กๆ แห่งนี้อาจเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ  ซึ่งอาจก่อให้เกิดสึมานิเศรษฐกิจกระทบไปทั่วโลกได้  มาดูรายละเอียดกันครับ

ไซปรัส  มีโอกาสสูงที่จะออกจากระบบเป็นประเทศแรกในยูโรโซน  หลังจากเริ่มขอความช่วยเหลือจากทรอยก้า (EC, ECB และ IMF)  เป็นประเทศที่ 5 ตั้งแต่กลางปี 2012   โดยธนาคารในประเทศเกิดความเสียหายจากการลงทุนในพันธบัตรกรีซจำนวนมาก    มีเหตุผล 4 ประการที่สนับสนุน  ดังนี้

1. ไซปรัสมีความผูกพันอยู่กับ "ยูโร" ระยะเวลาสั้น  เพียงแค่ 5 ปีเท่่านั้น เพราะ เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2008  และ หลังจากใช้เงินสกุลนี้ก็ดูเหมือนเศรษฐกิจจะย่ำแย่มาโดยตลอด  ภาพพจน์ของเงินยูโรในสายตาประชาชนดูเลวร้าย

2. แม้ไซปรัสจะมีหนี้ภาครัฐต่อ GDP อยู่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศในยูโรโซนโดยอยู่ระดับ 71% เท่านั้น  แต่การใช้เงินยูโรกลับทำให้ประเทศเกาะแห่งนี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน  และ เสียสมดุลมากที่สุด   โดยดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบอย่างหนักถึง -10.4% GDP ในปี 2011   เมื่อเทียบกับ กรีซที่ -9.8%   โปรตุเกส -6.4%   สเปน -3.5% และ อิตาลี -3.2% ตามลำดับ  

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัญหาที่แท้จริงของยูโรโซนนั้นไม่ได้อยู่ที่หนี้สินภาครัฐ  แต่อยู่ที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่างหาก  โดยประเทศที่ขาดดุลมากหมายถึง ใช้ค่าเงินที่แข็งเกินไปมาก  จะทำให้ติดหนี้สินต่างประเทศมาก  จำเป็นต้องไฟแนนซ์เงินด้วนต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น  และ ดูเหมือนว่าความรุนแรงของปัญหาใน PIIGS จะหนักหน่วงผันแปรตามการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนี้เสียด้วย  คือ  ไซปรัสและกรีซมีปัญหาหนัก   ขณะที่สเปน อิตาลียังอยู่ระดับมีปัญหาพอสมควร

3.ผู้นำของไซปรัสไม่เกรงใจทรอยก้า  ซึ่งจะต่างจากกรณีของกรีซ  โดยจะไม่ยอมรับเงื่อนไขการรัดเข็มขัดการคลัง  รวมไปถึงการถูกบังคับขายรัฐวิสาหกิจ  เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ  ซึ่งเรื่องนี้ถือได้ว่าสำคัญมากทีเดียว   ในเดือน กพ.นี้ก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่  ซึ่งจะต้องหาเสียงกันแบบไม่ยอมรับนโยบายรัดเข็มขัดเป็นแน่   เพราะ ปัจจุบันเศรษฐกิจก็ถดถอยอยู่แบบ -2% ต่อปี และ มีการว่างงานสูงขึ้นเรื่อยๆ แตะระดับ 14% ไปแล้วนอกจากนี้  ไซปรัสยังหวังจะหาเงินช่วยเหลือซึ่งก็เป็นวงเงินไม่สูงนัก  จากประเทศรัสเซียได้ด้วย

4.ทรอยก้า  คงเห็นประเทศนี้เล็กมากๆ ไม่มีผลอะไรนักที่จะยอมปล่อยให้ออกจาก "ระบบยูโร" ไปได้

สิ่งสำคัญก็คือภาวะหลังจากการออกจาก "ระบบยูโร" ซึ่งผมคิดว่าระบบยูโรนี้คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของระบบการเงินโลกเลยทีเดียว  เพราะ ประเทศที่อ่อนแอจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง  ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่า  เป็นลูกหนี้หนักขึ้นเรื่อยๆ  แถมถูกบังคับให้รัดเข็มขัดการคลัง ผู้คนถูกลดเงินเดือนแถม อัตราว่างงานสูงอีกด้วย   จึงสูญเสียอิสรภาพทั้งการเงินการคลังโดยสิ้นเชิง

การเลิกใช้ "ยูโร" จึงน่าจะกลับส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไซปรัสอย่างเร็ว  โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวได้  และ อัตราว่างงานลดลง  เพราะ สามารถกลับไปใช้ค่าเงินที่เหมาะสมและมีดุลยภาพ  เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ  การส่งออก และ การท่องเที่ยวได้  แต่ผลดีของประเทศไซปรัสนั้นอาจเป็นผลเสียหายต่อยูโรโซน

เพราะเมื่อประชาชนของประเทศ PIIGS เห็นเหตุการณ์แบบนั้น  ก็คงคิดว่า  "พวกเราจะมาทนอยู่อย่างยากลำบาก  ถูกตีโซ่ตรวนด้วยระบบเงินยูโร  จนกลายเป็นทาสของประเทศเยอรมนีเพื่ออะไรกัน  การประกาศอิสรภาพอย่าง ไซปรัส จะมิดีกว่าหรอกหรือ"   และ  นี่เองอาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะล่มสลายของ "ระบบยูโร"

หลายคนอาจคิดว่าสิ่งเลวร้ายที่สุดของยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว  แต่ความเป็นจริงก็คือ "เงินยูโร" ระบบปัจจุบันคือ ต้นตอปัญหาใหญ่ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขเลยแม้แต่น้อย    สิ่งนี้จะเชื่อมระหว่างประเทศแข็งแรง (เยอรมนี เนเธอร์แลนด์)  โดยจะเป็นประเทศเจ้าหนี้  และ ประเทศอ่อนแอ (PIIGS)  เป็นประเทศลูกหนี้ ซึ่งต้องติดหนี้เพิ่มเรื่อยๆ และ จ่ายดอกเบี้ยสูงอีกด้วย   ความสัมพันธ์ผ่าน "ระบบเงินยูโร"  จึงคล้าย นายทาสกับทาส หรือ  จักรวรรดิกับอาณานิคม   เมื่อมีประเทศต่างๆ ต้องการออกจากระบบนี้กลับมามีอิสรภาพ  สามารถกลับไปใช้ค่าเงินที่เหมาะสมกับประเทศตนเอง  โดยเริ่มจาก "ไซปรัส"  ก็น่าจะสร้างความปั่นป่วนต่อเสถียรภาพเงินยูโร และตลาดการเงินของโลกอยู่ไม่น้อยเลย

C-Y-P-R-U-S  จึงเป็นรหัสที่อันตรายอย่างยิ่งยวด  แม้จะเป็นผลประโยชน์ของชาติที่ผู้นำควรตัดสินใจทำเพื่อประชาชนของประเทศตนเอง  ให้หลุดพ้นจากโซ่ตรวน "เงินยูโร"  สู่อิสรภาพ  และ นำพาเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้  มีการจ้างงานเพิ่ม  อย่างไรก็ดี  การทำเพื่อชาตินี้อาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของ "ระบบเงินยูโร" และ "ยูโรโซน" ไปด้วย  ซึ่งนั่นหมายถึง ความยุ่งเหยิงของการเงินโลกอีกครั้งจะกลับมาเยือน เพราะ ประเทศ PIIGS บางประเทศจะหาทางเดินหน้าสู่อิสรภาพจากโซ่ตรวน "เงินยูโร"  เพื่อฟื้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

"CYPRUS"  จึงเป็นรหัสลับตัวอักษร 6 ตัวที่อันตรายยิ่งแต่ก็มีน้อยคนนักจะล่วงรู้และสังเกตเห็น   แรงสั่่นสะเทือนบนเกาะเล็กๆ  แห่งนี้ซึ่งมีประชากรไม่ถึง 1 ล้านคน  อาจก่อให้เกิดสึนามิทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกกระทบผู้คนถึง 7 พันล้านคนได้เลย    และหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงก็อาจมีทฤษฎี "ไซปรัสไท้เก๊ก"  (Taiji Cyprus Theory)  ตามมาด้วย  ซึ่งหมายความว่า   "การที่ประเทศเล็กๆ  แม้จะดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเป็นผลบวกต่อประเทศตนเองก็ตาม  แต่สิ่งนั้นกลับส่งแรงสะท้อนกลับเป็นผลลบต่อโลกได้ในระดับที่ยิ่งใหญ่ขึ้นหลายพันเท่า"

อย่างไรก็ดี  หากจะคิดในแง่บวกก็คือ  ประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซน (PIIGS และ ไซปรัส)  จะสามารถประกาศอิสรภาพจากโซ่ตรวนยูโรได้   จึงสามารถดำเนินนโยบายการเงินการคลังเพื่อฟื้้นเศรษฐกิจได้   นอกจากนี้  หากเกิดวิกฤติโลกขึ้นจริง  โลกก็ได้มีแผนสำรองที่จะรับมือไว้แล้ว....  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)  ไงละครับ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ความหวังของ Nipponomics

เมื่อเทียบกับ Japanomics ซึ่งเป็นโยบายที่ทำกันมาถึง 20 ปีซึ่งเป็นใช้นโยบายเศรษฐกิจเดิมๆ แบบตามอัตภาพของญี่ปุ่น  แม้จะเป็นกลยุทธแบบเดียวกันคือ "พิมพ์เงินแล้วใช้จ่าย" (Print and Spend)  แต่  Nipponomics  น่าจะเป็นคำที่ใส่เอาพลังของชาตินิยม  พลังงานของความมุ่งมั่นและ  พลังแห่งความหวังลงไปด้วย   ที่ผมใช้คำนี้แทน Abenomics ก็เพราะว่า คิดว่าหากนโยบายนี้จะสำเร็จได้คงไม่เพียงแต่ท่านนายกฯ ชินโซะ อาเบะ  แต่น่าจะรวมไปถึงภาครัฐทั้งหมด   ธนาคารกลางญี่ปุ่น  และ ภาคเอกชนร่วมแรงร่วมใจเข้าไปด้วย

ในการเชียร์กีฬาก็จะได้ยินคนญี่ปุ่นใช้คำ "นิปปอน"  เพื่อหวังเอาชัยต่อคู่ต่อสู้   รอบนี้ศัตรูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมี 2 ตนคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และ ภาวะเงินฝืด (Deflation)    เมื่อเทียบกับ Eurozonomics  (เศรษฐศาสตร์ฉบับยูโรโซน)  ซึ่งเป็นแนว "ย้อนแย้ง" กับทุกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว   Nipponomics มีความเข้มข้นที่ดำเนินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างหนักแน่น  ใช้พลังที่เหลืออยู่เพื่อเสี่ยงเอาชัยกันอย่างเต็มแรง  ไม่เพียงแต่เป็นความหวังของญี่ปุ่นเท่านั้น   ยังอาจเป็นความหวังของคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์อีกด้วยว่า  นโยบายเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ในตำรานั้นยังคงใช้ได้กับประเทศพัฒนาแล้วที่เติบโตช้า  และ สังคมสูงอายุได้อยู่อีกหรือไม่  มาดูรายละเอียดกัน

1.การคลัง : แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP สูงที่สุดในโลกระดับ 237% เข้าไปแล้ว  แต่การใส่งบประมาณพิเศษเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 20 ล้านล้านเยน (หรือราว 4% GDP)  นับได้ว่ากล้าหาญเป็นอย่างมาก  และ เรื่องนี้เป็นการดำเนินตามทฤษฎีการคลังของ "เคนส์"  อย่างชัดเจน

มีนักเศรษฐศาสตร์บางท่านอย่าง Mr.Fujimaki  ได้เตือนว่า  เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะเพิ่มงบฯ เข้าไปทั้งๆที่หนี้ภาครัฐสูงมากอยู่แล้ว   การทำเรื่องเช่นนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นต้องผิดนัดชำระหนี้ภายในปีนี้ได้เลย  และ อาจทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไปได้ถึง 400 เยนต่อ 1 ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี  เมื่อวัดจากเครื่องชี้วัดสุขภาพการคลังด้วย "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Index)  แล้ว  พบว่า  ญี่ปุ่นมีค่านี้ที่ 1.7%  พอๆ กับประเทศไทยที่ 1.6%  ซึ่งเป็นระดับเฝ้าระวัง  ยังต่ำกว่าระดับวิกฤติ (สูงกว่า 3%)  อยู่หลายขุม นั่นหมายถึง  สุขภาพการคลังของไทยและญีปุ่นอยู่ระดับเดียวกัน  เรื่องนี้อาจเป็นข่าวน่ายินดีกับรัฐบาลญี่ปุ่น  ขณะเดียวกันอาจเป็นข่าวที่น่าตกใจกับรัฐบาลไทย     หากใช้ดัชนีนี้เป็นตัวชี้วัดรัฐบาลญี่ปุ่นคงประเมินแล้วว่ายังปลอดภัยที่เดินหน้าเพิ่มหนี้ต่อไปได้อีก  แม้ 3-4 ปีที่่ผ่านมาจะขาดดุลการคลังระดับ 9-10% GDPต่อปี  ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากๆ แล้วก็ตาม

2. การเงิน : ญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉียดศูนย์  และ Quantitative Easing (QE)   โดยอาจกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่น ถือเป็นต้นตำรับของ QE กันเลย  เพราะเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2001   รอบนี้คาดหวังจะพิมพ์เงินแบบไม่อั้น  เพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าเป้าที่ 2%   ในขณะที่อเมริกาดำเนินมาตรการ QE แบบระมัดระวังเงินเฟ้อ จึงดูแลปริมาณเงินที่เข้าซื้อพันธบัตรแต่ละเดือนไว้   ญี่ปุ่นกลับไม่กังวลเงินเฟ้อเลยเพราะต้องการดึงภาวะเงินเฟ้อติดลบ (หรือเงินฝืด)  ให้กลับไปสู่ด้านบวก    หรืออาจกล่าวได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเหมาะกับการทำ QE มาก

3.อัตราแลกเปลี่ยน :  เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้นเป็น 2%   ซึ่งหากว่ากันตามทฤษฎี International Fisher Effect แล้ว   การที่ประเทศมีเงินเฟ้อคาดหวังสูงขึ้น  ก็จะหมายถึง  ค่าเงินที่จะอ่อนลงในระยะยาวนั่นเอง   การเดินหน้าในเรื่องนี้ก็เพื่อหวังผลักดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง  ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือเศรษฐกิจจริงในภาคส่งออกเท่านั้น   แต่สำหรับสถาบันการเงินและ เฮดจ์ฟันด์  ที่กู้ยืมเงินเยนด้วยต้นทุนต่ำเฉียดศูนย์  (Yen Carry Trade)  ยังฟันกำไรมหาศาลหากนำเงินนั้นไปซื้อตราสารหนี้ หรือ ฝากเงิน  ในรูปสินทรัพย์เงินยูโร ก็จะทำกำไรได้ถึงกว่า 25% ภายในเวลาครึ่งปีที่ผ่านมา  ทั้งๆที่หากฝากเงินในประเทศญี่ปุ่นได้ดอกเบี้ย 0.1%  ต่อปีต้องใช้เวลาถึง 250 ปีทีเดียว

สำหรับคนญี่ปุ่น หรือ บริษัทญี่ปุ่น  ซึ่งมีเงินฝากเหลืออยู่มหาศาล  หากเงินภาพชัดว่าเงินเยนจะอ่อนแน่ๆ  แล้วละก็การฝากเงินด้วยดอกเบี้ย 0.1% ต่อปีแถมยังอ่อนค่าลงเรื่อยๆ คงไม่เป็นการดีแน่    การย้ายเงินฝากสกุลเงินเยน  กลายเป็น เงินฝากหรือกองทุนตราสารหนี้ของ เงินยูโร ออสซี่ดอลลาร์  เกาหลีวอน  หรือแม้แต่ ไทยบาท   ก็จะได้กำไรทั้งส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ย และ ส่วนต่างกำไรของค่าเงินอีกด้วย   ดังนั้น  การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าผิดปกติตั้งแต่ต้นปีก็อาจมีบางส่วนที่เป็นผลมาจาก Nipponomics ก็เป็นได้

และเรื่องนี้จะเป็นบทเรียนอย่างดีสำหรับเศรษฐศาสตร์มหภาค  โดย Eurozonomics  ใช้วิธี "ย้อนแย้ง" กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทั้งการคลังการเงินและ อัตราแลกเปลี่ยน  โดยไม่เชื่อ เคนส์  ไม่เชื่อ ฟรีดแมน  ไม่เชื่อ ฟิชเชอร์  เพียงเพื่อรักษาระบบยูโรปัจจุบันเอาไว้   ขณะที่ Nipponomics นั้นใช้วิธีเดินตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างเข้มข้นเต็มกำลัง  ซึ่งก็คงต้องติดตามดูผลลัพธ์กันต่อไปว่ากลยุทธใดจะสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ในรูปแบบใด  

แม้จะเห็นเงินเยนอ่อนค่าลงจาก 78 เยน เป็น 90 เยนต่อ 1 ดอลลาร์   ผมก็ยังประเมินในระดับ 50:50 ว่า Nipponomics  นี้จะสำเร็จได้ดังหวังจริงหรือ ??   นี่เป็นการใช้กระบวนท่าเดิมๆ ด้วยพลังที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อหวังเอาชัยศัตรู (เศรษฐกิจถดถอยและเงินฝืด)   อย่างไรก็ดี  หากไม่สำเร็จเสียแล้วก็อย่าเพิ่งหมดหวัง  หากจะลองด้วยกระบวนท่าใหม่   "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)  บางทีอาจจะสำเร็จก็ได้นะครับ












วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

Eurozonomics

และผมก็ได้บัญญัติศัพท์ใหม่อีกแล้ว   Eurozonomics  อาจแปลเป็นไทยได้ว่า "เศรษฐศาสตร์ฉบับยูโรโซน"  เรื่องนี้มีความสำคัญที่ว่า   การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยูโรโซนปัจจุบันนั้น  เป็นการ "แย้ง" ทุกทฤษฎี และ "ฉีก" ทุกตำราเศรษฐศาสตร์  เพียงเพื่อจะรักษา "ระบบเงินยูโรที่ไร้สมดุล"  เอาไว้ให้ได้  หากทำสำเร็จนี่คือ มหัศจรรย์แห่งวงการเศรษฐศาสตร์   แต่ผมคิดว่า  การเก็บเอา "ระบบยูโร" แบบปัจจุบันซึ่งเป็นต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวงเอาไว้  ยิ่งนานเท่าใดความเสี่ยงของหายนะอันยิ่งใหญ่อาจกำลังรออยู่   เรามาดูรายละเอียดกัน

1. การคลัง : การแก้ไขปัจจุบัน คือ "รัดเข็มขัดการคลัง" แบบพื้นๆ   โดยประเทศที่อ่อนแออย่าง กรีซ สเปน  โปรตุเกส  อิตาลี  ล้วนเข้าข่ายนี้ทั้งสิ้น  บางประเทศทำเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือ   จำเป็นต้อง "กลืนเลือด"  ยอมให้เศรษฐกิจถดถอยต่อไป   แม้  "เคนส์" จะเตือนใหระวังถึง  "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด" (Paradox of austerity)  ซึ่งหมายถึง  การรัดเข็มขัดการคลัง  แทนที่จะทำให้ปัญหาหนี้การคลังดีขึ้นกลับทำให้แย่ลงต่างหาก  โดย GDP จะถึงขั้นถดถอย  รายรับรัฐบาลน้อยลง  ขณะที่รายจ่ายประกันสังคมมีมากขึ้น  ผู้คนก็ว่างงานกันมากขึ้น  สัดส่วนหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP จะวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง  นี่คือ การแย้งทฤษฎีเคนส์อย่างเต็มๆ   โดยการว่างงานในสเปน และ กรีซ สูงกว่า 26% ไปแล้ว   และ กรีซเกิดเศรษฐกิจถดถอยถึง 5 ปีเต็มๆ

2. การเงิน :  ในยูโรโซนมีดอกเบี้ยระยะสั้นหรือ ดอกเบี้ยมาตรฐานที่ 0.75%  ขณะที่ดอกเบี้ยระยะยาว (พันธบัตร 10 ปี)  นั้นแตกต่างกันไปมาก  ไล่ตั้งแต่ เยอรมนี ที่ 1.5%  เทียบกับ  กรีซที่ 11.7%  ทั้งๆที่ตามทฤษฎีการเงินแล้ว  ดอกเบี้ยระยะยาวเองก็ควรไล่ไปตามอัตราเงินเฟ้อ   หากประเทสที่มีเงินเฟ้อสูง เช่น อินเดีย  เวียดนาม  ก็จะมีดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงตามไปด้วย  และ ญี่ปุ่นซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ ก็จะมีดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำไปด้วย  แต่ปัจจุบันกรีซ มีอัตราเงินเฟ้อที่ 0.8% ต่ำมากกว่าเยอรมนีเสียอีก  กลับมีดอกเบี้ยระยะยาวที่สูงกว่าเยอรมันมาก   นี่นับได้ว่าเป็น "แย้ง" ทฤษฎีการเงินอีกเช่นกัน

3. อัตราแลกเปลี่ยน : ประเทศที่อ่อนแอ  มีอัตราดอกเบี้ยสูง และ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง อย่าง PIIGS ควรจะมีค่าเงินอ่อนกว่านี้  และ ประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ  ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่าง เยอรมนี  เนเธอร์แลนด์ ควรมีค่าเงินแข็งกว่านี้  แต่ทั้ง 2 กลุ่มกลับผูกค่าเงินไว้ด้วยกัน คือ "ยูโร"  นี่จึงแย้งกับทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน ของ "เออร์วิ่ง ฟิชเชอร์" อย่าแรง  

อย่างไรก็ดี  ผู้นำของยูโรโซน ตัดสินใจที่ รักษา "ระบบยูโร" ไว้โดยไม่สนใจต่อ "ดุลยภาพ"  ถ้าหากทำสำเร็จคือ การว่างงานลดลง  หนี้ภาครัฐลดลง  เศรษฐกิจฟื้นตัวได้นั่นนับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของวงการเศรษฐศาสตร์เลยทีเดียว  แต่ผมคิดว่าในที่สุดแล้วระบบแบบนี้ไม่น่าจะประสบความสำเร็จไปได้  โดยน่าจะมีแรงกดดันทางสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง  มีหลายแคว้นในสเปนที่คิดจะ "แบ่งแยกดินแดน" เพื่อหาโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ  ซึ่งน่าจะรวมถึงการใช้ค่าเงินที่อ่อนลงกว่า "ยูโร" ในปัจจุบันนี้   อันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และ เพิ่มการจ้างงาน

และในท้ายที่สุดเพื่อให้ครบถ้วนก็คือ การเสนอทางออกให้กับยูโรโซน  โดยผมได้เตรียมทฤษฎี "การคลังไท้เก๊ก" เพื่อให้สามารถรัดเข็มขัดแบบพิเศษ คือ  สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย  โดยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ   และ  ทฤษฎี "FX ไท้เก๊ก"  เพื่อปรับแบ่งค่าเงินยูโรแบ่งเป็น 3 สกุล Eura  Euri และ Euro  เพื่อให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มประเทศ  และสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นได้  




วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

คิดบวกกับ Yingluckonomics

คำว่า Yingluckonomics  อาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  "การบริหารเศรษฐกิจสไตล์รัฐบาลยิ่งลักษณ์"  ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า  ไม่เห็นมีอะไรเป็นพิเศษกว่า "ทักษิโณมิกส์"    มันก็นโยบายแบบประชานิยมธรรมดาๆ นี่เอง  แต่ความจริงแล้ว  นี่ไม่ใช่แค่นโยบายประชานิยมแบบพื้นๆ   แต่ยังแถมการ "บิดเบือนกลไกตลาด" เข้าไปอีกด้วย

หากมองในแง่บวก  ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างดี  สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนจนจำนวนมาก  ส่วนหนี้สินภาครัฐไม่เพิ่มเท่าใดนัก   นี่อาจนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของโลกเลยทีเดียว  เพราะว่า  บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม อดัม สมิธ  แนะว่า "ใช้มือที่มองไม่เห็น  ปล่อยให้กลไกลตลาดทำงาน  สร้างดุลยภาพระยะยาว"   แต่  Yingluckonomics  กลับ "ใช้มือที่มองกันเห็นๆ  บิดเบือนกลไกตลาด  แล้วสร้างภาวะไร้สมดุล" ต่างหากที่จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติ   เป็นนโยบาย "งัดข้อ" กับบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์กันเลย  แม้ผมได้สร้าง 4 ทฤษฎีใหม่ด้านเศรษฐศาสตร์กลายเป็น "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  ยังไม่บ้าบิ่นพอจะไป "งัดข้อ" กับ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม (อดัม สมิธ) และ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค (เคนส์)  โดยเพียงแค่สร้างทฤษฎีใหม่เพื่อเสริมจุดอ่อนของสิ่งเดิมๆ เท่านั้น

เรามาลองดูในรายละเอียดกันบ้าง  Yingluckonomics  มีนโยบายเด่นๆ ก็คือ "2 ต่ำ 2 สูง"  โดย  ทำให้ราคาดีเซลต่ำ (แทบไม่เก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาท)    ทำให้ราคารถยนต์ต่ำ  (คันแรกไม่เก็บภาษีสรรพสามิต ราคาสุทธิลดเกือบ 20%)   ทำให้ราคาข้าวสูง  (จำนำข้าวทุกเมล็ดราคาสูงกว่าตลาดมาก)  และ ทำให้ค่าแรงสูง  (สูงกว่าระดับตลาดที่ควรจะเป็นอยู่มาก)

ดังนั้นสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นหลานศิษย์เหลนศิษย์ของ อดัม สมิธ  จึงอดจะคิดลบกับนโยบายเศรษฐกิจที่เสี่ยงแบบนี้ไม่ได้  ผมจึงได้เขียนออกมาเป็น  "จากนโยบาย 2 ต่ำ 2 สูง สู่ หายนะ 10 สูง"  โดยหายนะที่อาจเกิดขึ้น  มีดังนี้้
1. ว่างงานสูง : โดยเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อมีการเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ  จะมีการปลดคนงานออกบางส่วน  มีการใช้เครื่องจักรทดแทน  ย้านฐานการผลิต  และ ปิดกิจการ   ซึ่งไมว่าเลือกทางไหน  การว่างงานก็จะเพิ่มสูงขึ้นทั้งนั้น
2. เงินเฟ้อสูง  : จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าแรง  โดยเฉพาะ SMEs ก็อาจจำเป็นต้องเพิ่มราคาสินค้าเพิ่มเข้าไปซึ่งนั่นก็คือ เงินเฟ้อที่สูงขึ้น
3.ดอกเบี้ยสูง :  เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น  ธปท.คงจะไม่รีรอแน่  ที่จะรีบๆ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพือสกัดเงินเฟ้อ  แต่การทำเช่นนั้นจะยิ่งเพิ่มต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น  และ อัตราเงินเฟ้ออาจวิ่งสูงขึ้นไปอีก
4.ขาดดุลการค้าสูง : เพราะ ข้าวส่งออกได้น้อยลงมาก  ขณะที่มีการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ และ น้ำมันดิบเพิ่มเข้ามามาก  ทำให้ 11 เดือนของปี 55 ไทยขาดดุลการค้าไปแล้วถึง 5.7 แสล้านบาท
5. เงินบาทสูง : หมายถึง ค่าเงินบาทอ่อน  โดยประเทศที่เงินเฟ้อสูง และ ขาดุลการค้ามาก  ก็มีแนวโน้มว่าค่าเงินจะอ่อนลง  และ ยิ่งเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อเข้าไปอีก
6. ขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะสูง :  เรื่องนี้ก็ชัดเจนว่า  การคลังไทยได้รับผลกระทบจาก จำนำข้าวอาจเสียหายถึง 1.5 แสนล้าน   เสียรายได้ภาษีสรรพสามิตรถยนต์  9 หมื่นล้าน  และ ภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลราว 1 แสนล้าน   หนี้สาธารณะวิ่งแตะ 5 ล้านล้านบาท
7. ปัญหาจราจรสูง :  การมีรถยนต์มากขึ้น และ ดีเซล NGV ราคาต่ำ  ย่อมส่งผลให้ใช้จ่ายกันฟุ่มเฟือย การจราจรติดขัด  แถมด้วยมลพิษอีกมาก
8. เหลื่อมล้ำสูง :  ชาวนาจนๆ กลับไม่ได้ประโยชน์จากการจำนำข้าวเท่าไหร่  ขณะที่ชาวนารวยรับไปเต็มๆ และ ลูกหลานของคนระดับเศรษฐีได้ซื้อรถยนต์ราคาถูกๆ  
9. อาชญากรรมสูง :  เมื่อมีการว่างงานมากขึ้นจากค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ  ก็อาจคาดได้ว่าจะมีการปล้นจี้กันสูงขึ้น  รวมทั้งการค้ายาบ้าที่เพิ่มมากด้วย
10. ทุจริตสูง :  นโยบายเปิดช่องให้มีการทำทุจริตได้มากทั้งฝ่ายภาครัฐ (คอรัปชั่น) และ ฝ่ายเอกชน

อย่างไรก็ดี  เมื่อปีนี้เป็นปีแห่งการคิดบวก  ผมได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ 2 สิ่งที่เตรียมไว้ช่วย  "ถอนพิษ" ของ Yingluckonomics  หากพิษนั้นได้ส่งผลต่อการคลังไทยให้เข้าสู่วิกฤติจริงๆ

1. เครื่องมือวัดสุขภาพการคลัง  :  ปัจจุบันทั่วโลกให้หนี้สาธารณะ ต่อ GDP  เป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพการคลัง  แต่หากตัวเลขนี้ใช้ได้ดีจริง  หมายถึง  ญี่ปุ่น (220%) มีความเสี่ยงการคลังสูงกว่า กรีซ (170%) อิตาลี (120%) และ สเปน (70%)  เช่นนั้นหรือ   สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้เช่นนั้นเลยแม้แต่น้อย

ผมจึงได้นำเอา ดอกเบี้ยระยะยาว (ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี)  เข้ามาร่วมคำนวณด้วยเรียกว่า ดัชนี "เรืองศิริกูลชัย"  ผลปรากฎว่า  การคลังไทยที่มีหนี้สาธารณะ 45% ต่อ GDP นั้น   กลับมีค่าดัชนีนี้อยู่ที่ 1.6%  ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาใหญ่ๆ อย่าง  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  อเมริกา และ ญี่ปุ่น  ซึ่งอยู่ระดับ 1.6-1.9%  เช่นกันซึ่งเป็นระดับเฝ้าระวัง  หากค่านี้สูงกว่า 2% หมายถึง สุขภาพการคลังย่ำแย่  และ  หากสูงกว่า 3% หมายถึง ระดับวิกฤติการคลัง  โดย PIIGS เข้าข่ายนี้ทั้งหมด  สปน (3.5%)   ไอร์แลนด์ (4.8%)   อิตาลี (5.0%)  โปรตุเกส (7.0%)  และ กรีซ (19.5%)  นั้นแน่นอนว่าย่ำแย่ที่สุด   ดังนั้น  จะเห็นว่าการคลังไทยไม่ได้อยู่ระดับปลอดภัยสักเท่าใดนัก  เมื่อใดก็ตามที่ค่านี้สูงกว่า 2%  ก็ควรจะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวนโยบายได้

2. ยาถอนพิษวิกฤติการคลัง :  โดยผมเตรียมปรุงยาไว้เรียบร้อยโดยเรียกว่า "การคลังไท้เก๊ก"  ซึ่งสามารถจะทำให้รัฐบาลสามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้  ด้วยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ  โดย "ยาถอนพิษ" นี้จะมีประโยชน์อย่างมากต่อประเทศกลุ่ม PIIGS ในปัจจุบัน  และหากไทยเดินหน้าสู่วิกฤติการคลังจริงๆ อีก 5 ปีข้างหน้า  ยานี้ก็จะเป็นแผนสำรองที่จะใช้รับมือได้สบายๆ

ดังนั้นไม่ว่า Yingluckonomics จะสำเร็จหรือล้มเหลว  ผมคิดว่าควรประชาสัมพันธ์บรรจุศัพท์คำนี้ไว้ในตำราเศรษฐศาาสตร์มหภาค (Macro Econ.) ทั่วโลก  หาก Yingluckonomics  ประสบผลสำเร็จนี่คือสิ่งมหัศจรรย์ของวงการเศรษฐศาสตร์  แต่หากล้มเหลวนี่ก็จะเป็นบทเรียนแก่ประเทศอื่นทั่วโลกว่าอย่าได้คิดนำเอานโยบายแนวนี้มาใช้กันอีกต่อไป  อย่างไรก็ดี  หากสิ่งนี้มีพิษจนถึงขั้นทำให้เกิด "วิกฤติการคลังไทย"  พวกเราก็มีแผนสำรองข้างต้นอยู่แล้วไม่ต้องกังวลเลย   "คิดบวก" ดีไหมครับ ??



วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ต้านโกงไท้เก๊ก

เรื่องนี้คือ ทฤษฎีที่ 4 ซึ่งเป็นทฤษฎีสุดท้ายของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  โดยประเทศไทยได้มีปัญหากับการ "โกงกินคอรัปชั่น" มาช้านานแล้ว  แต่ยังหาวิธีพิชินได้อย่างเบ็ดเสร็จไม่ได้เสียที    เราลองมาศึกษาตามแนวทางวิถีไท้เก๊ก  ซึ่งเพิ่มสภาพจาก 2 ทางแนวคิดสามัญ (นิ่งคือนิ่ง และ เคลื่อนคือเคลื่อน)   ได้อีก 2 แนวทางใหม่ (นิ่งคือเคลื่อน และ เคลื่อนคือนิ่ง)

คำตอบที่ 1 : ปล่อยไปตามยถากรรม  ถือว่าเรื่องคอรัปชั่น  เป็นสิ่งที่คู่กับประเทสไทยมานานแล้ว  เป็นกรรมเก่าที่มรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ   ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมรับกับเรื่องนี้ได้แถมหลายๆ คนก็ยังเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในกรณีเล็กๆ น้อยๆ   แนวทางนี้  คอร์รัปชั่นก็ยังคงมีมากมายต่อไป  

คำตอบที่ 2 : นี่คือสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายพยายามรณรงค์เพื่อลดปัญหาการ "โกงกิน"  ตั้งแต่ปลูกฝังในระดับนักเรียน เช่น โครงการโตไปไม่โกง  เป็นต้น   รวมไปถึงภาคเอกชน  ก็มีการก่อตั้งเครือข่ายต้านโกง  เพื่อหยุดการให้สินบนใต้โต๊ะ   หยุดการสนับสนุนผู้ร่วมโกง  เป็นต้น   โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการโกงกินลงสักครึ่งหนึ่งก็ยังดี  

อย่างไรก็ดี  2 แนวทางนี้ไม่สามารถจะหยุดยั้งการโกงกินที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาช้านานได้  แต่ด้วยวิถีไท้เก๊ก  เราลองมาพิจารณาอีก 2 คำตอบที่เหลือกัน

คำตอบที่ 3 : นำเอาคอรัปชั่นจากใต้ดินขึ้นมาบนดิน  ทำสิิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมายไปเลย  เช่น  กำหนดว่าโครงการนี้ต้องการสินบนใต้โต๊ะ 30%   โครงการนั้นต้องการเงินใต้โต๊ะ 40%  ก็ว่ากันไปเอาให้ชัดๆ กันไปเลย  บริษัทต่างๆ จะได้นำเงินส่วนนี้ร่วมคิดในโครงการ และ ใส่เข้าไปเป็นต้นทุนได้ด้วย  ด้วยวิธีการเช่นนี้  ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวในโลก  ที่ยอมรับ  "การโกงกิน"  ว่าเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย  ไหนๆ ก็ต้านไปไม่ได้แล้ว  เปิดเผยโปร่งใสกันไปเลยจะดีกว่าไหม  รู้ๆ กันไปเลยว่า  คนใหญ่คนโตคนไหนได้เงินจากโครงการไหนกันไปกี่เปอร์เซนต์บ้าง  

ตามแนวคิดวิถีไท้เก๊ก  คำตอบที่ 3 คือ สิ่งที่คิดเล่นๆ ได้  แต่ไม่ควรนำไปปฏิบัติจริง  เพราะเป็นแนวทางที่ย่ำแย่กว่า 2 ทางแบบสามัญคนปกติเขาคิดกันเสียอีก

คำตอบที่ 4 : และแล้วเราก็ถึงคำตอบสุดท้าย  วิธีการนี้ยังใช้หลักการยืมพลังมาร่วมด้วย  โดยการ "ยืมพลังโจรไปปราบโจร"  เนื่องจากปัญหาปัจจุบันก็คือ  "ผู้ร่วมวงโกง" นั้นจะพยายามปกปิดสิ่งที่ทำร่วมกัน  มักจะไม่มีผู้แฉที่มีเบาะแสหลักฐานชัดเจน  เพราะ  "ผู้เปิดโปง"  เหล่านั้นมักเป็น "ผู้ร่วมวง" หากเรื่องแดงออกมาก็จะต้องรับโทษไปด้วย  

วิธีการก็คือ  ดึงเอา "ผู้เปิดโปง" ซึ่งเป็นโจรกลับใจ  มาจับ  "ผู้ร่วมวง" ที่เป็นโจรไม่ยอมกลับใจ  เราต้องยอมรับว่าปัญหาการโกงกินนั้นฝังรากลึกมานาน และ เกียวข้องไปแทบทุกวงการ   แม้แต่คนธรรมดาๆ ก็อาจเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องทุจริตนี้ด้วย   หลักการก็คือควร "อโหสิกรรม" แก่ "โจรกลับใจ" เสียก่อนเพื่อเป็นอาสาสมัคร "ผู้เปิดโปง"

โดยอาจกำหนดเวลา 3 เดือนช่วงโปรโมชั่น  ให้ผู้เคยร่วมวงโกงมาก่อน  สามารถ "มอบตัว" ยอมรับความผิดได้  โดยจะมอบสินทรัพย์ของตนที่เหลืออยู่ 50%  บริจาคให้กับภาครัฐไป   ไม่ต้องโทษจำคุก  และ ถือว่ายกความผิดการ "โกงกิน"  ที่ผ่านมาให้ทั้งหมด   ต่อจากนั้นสามารถเป็น "ผู้เปิดโปง"  จะได้รับส่วนแบ่ง 25% ของสินทรัพย์ "ผู้ร่วมวงโกง" ที่รัฐเข้าไปยึดทรัพย์ได้ด้วย

ด้วยวิธีนี้  "ผู้เปิดโปง" จะได้รับทั้ง "กล่อง" คือ การได้รับการชื่นชมจากสังคมว่าเป็นผู้สำนึกผิดกลับตัวกลับใจ  แถมบริจาคเงินช่วยเหลือชาติ  นอกจากนี้ยังช่วยชาติจับโจรที่ไม่ยอมกลับใจอีกด้วย    ส่วนประเทศชาติก็จะได้รับเงินเข้าคลังจำนวนมากมายอาจสูงนับแสนล้านบาท   และ "เงิน" จากส่วนแบ่งการยึดทรัพย์ 25% ของคนโกงอื่นๆ ที่ไม่ยอมกลับใจอีกด้วย

หากประเมินทางจิตวิทยา  "ผู้ร่วมวง" จำนวนมากที่เสี่ยงกับเสียทั้ง "เงิน" ที่จะถูกแฉยึดทรัพย์ และยังเสี่ยงกับเสียทั้ง "กล่อง" โดยถูกแฉเสียชื่อเสียงและยังอาจถูกจำคุกอีกด้วย   จึงอาจคาดได้ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพจาก "ผู้ร่วมวง" มาเป็น "ผู้เปิดโปง"  กันเป็นจำนวนมาก     เพราะ แม้จะโกงสำเร็จ 2-3 ครั้ง  แต่หากถูกจับได้  จะเสี่ยงกับการถูกแฉและสูญสิ้นทุกอย่าง

นโยบาย 2 เรื่องหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน  ที่ทำให้คลังเสียเงินนับแสนล้านบาทแต่ละนโยบาย  คือ  จำนำข้าวทุกเมล็ดราคาสูงลิ่ว  และ  รถยนต์คันแรก  ไม่เพียงเท่านั้น  ยังเปิดช่องให้เกิดการ  "ทุจริตอย่างแรง"  ด้วยการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิจำนำข้าว  และยังเปิดช่องให้เกิดการ "ทุจริตอย่างเบา" ด้วยการนำชื่อของพ่อแม่พี่น้องญาติโยมมาสวมสิทธิรถคันแรกอีกด้วย

แต่แนวทางคำตอบที่ 4 ของ "ต้านโกงไท้เก๊ก" นั้น  อาจจะขจัดการคอรัปชั่นแบบถอนรากถอนโคนภายใน 1 ปี   แถมยังมีเงินเข้าคลังของรัฐนับแสนล้านบาทอีกด้วย   หากรัฐบาลเดินหน้าเรื่องนี้ก็นับเป็นบุญของประเทศไทย  แต่ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่สนใจ  นี่ก็อาจเป็นข่าวดีกับพรรคการเมืองอื่นที่จะนำไปเป็นนโยบายหาเสียงเพื่อขจัดการโกงกินในการเลือกตั้งครั้งหน้านะครับ