วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ปฏิทรรศน์ของ QE

ปฏิทรรศน์ของ QE (Paradox of QE)  คำว่า paradox นั้นในภาษาจีนคือ "เหมาตุ้น" และ ในภาษาญี่ปุ่นคือ "มุจุง"  ตามนิทานโล่และหอกวิเศษ   โดยพ่อค้าบอกว่า โล่วิเศษสามารถป้องกันหอกแหลมได้ทุกชนิด  ขณะที่หอกวิเศษนั้นเล่าสามารถทิ่มแทงโล่ได้ทะลุหมด   นั้นจึงเป็นการ "ย้อนแย้ง" กันเอง  หรือศัพท์ทางวิชาการก็คือ "ปฏิทรรศน์"  สำหรับ QE  นั้นอาจมี "ปฏิทรรศน์" ได้ถึง 3 เรื่อง  โดยแม้จะมีเหตุมีผลทั้ง 2 ข้างแต่ย้อนแย้งกันเองดังนี้

1. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง   ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปซื้อพันธบัตรน่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้นลดลง

ความเชื่อใหม่ :  แต่ผลลัพธ์ความจริงก็คือ ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และ เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัว  จึงเกิดแรงสะท้อนกลับ  เคลื่อนย้ายเงินออกจากตลาดพันธบัตร เข้าสู่ ตลาดหุ้นแทน  ผลลัพธ์ก็คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของอเมริกาน้้นได้วิ่งจาก 1.6% ไปเป็น 2.1%  ขณะที่ของญี่ปุ่นนั้นก็กลับวิ่งจาก 0.5% ไปแตะที่ระดับ 1.0%

QE จึงทั้งทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวทั้งต่ำลง และ สูงขึ้นด้วย  นี่คือ  ปฏิทรรศน์

2. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น   ตามสมการการเงิน MV = PQ  หากเพิ่มปริมาณเงิน (M) เข้าไปแล้วน่าจะมีผลต่อราคาสินค้า (P) อยู่บ้าง

ความเชื่อใหม่ :  แต่ผลลัพธ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น  อัตราเงินเฟ้อของอเมริกาได้ลดลงจากระดับกว่า 2% เหลือล่าสุดเพียง 1.1% เท่านั้นเอง    และญี่ปุ่นนั้นความจริงก็ใช้ QE มากว่า 10 ปีแล้วกลับมีอัตราเงินเฟ้อระดับ ติดลบ 0.7%  ไม่ได้ใกล้เคียงกับระดับ 2% ตามที่วาดฝันไว้เลย   เหตุผลก็อาจเป็นเพราะปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นมานั้นไหลเข้าในส่วนของ stock ซึ่งเป็นตลาดเงิน ตลาดทุน และ อสังหาริมทรัพย์  และ แทบไม่ได้ไหลเข้าไปในส่วนที่เป็น flow หรือ GDP  เลย  หรืออาจเกิดจากการที่ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้นจากสภาพคล่องล้นระบบ  ขณะที่กำลังการผลิตทั้งเครื่องจักร และ กำลังคนก็เหลือเฟือ  เมื่อมีการผลิตเพิ่มจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยนั้นลดต่ำลง  ซึ่งมีผลให้เงินเฟ้อลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น

QE จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งสูงขึ้น และ ต่ำลง   นี่คือ "ปฏิทรรศน์"  เช่นกัน

3. ความเชื่อเดิม : มาตรการ QE จะช่วยให้ดอกเบี้ยต่ำลง  ตลาดหุ้นวิ่งดี   กระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ความเชื่อใหม่ : แต่จะเห็นจาก 2 ข้อแรก คือ ผลลัพธ์จริงที่ว่า อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับต่ำลง  และจากการเปลี่ยนแปลง 2 ค่านี้จึงได้ผลลัพธ์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate)  จะมีค่าสูงขึ้นมาก  โดยญี่ปุ่นนั้นอยู่ระดับ 1.6% (ดอกเบี้ยระยะยาว 0.9% อัตราเงินเฟ้อ -0.7%)  ซึ่งนับได้ว่าสูงสุดของประเทศพัฒนาแล้ว ยกเว้น PIIGS  ขณะที่อเมริกาก็เพิ่มขึ้นจากระดับติดลบกลายมาเป็น 1% แล้ว  (ดอกเบี้ยระยะยาว 2.1% อัตราเงินเฟ้อ 1.1%)   และ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่สูงขึ้นมากนี้ิย่อมส่งผลลบต่อเศรษฐกิจแทนที่จะส่งผลบวกในระยะยาว

ดังนั้น QE จึงทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และ แย่ลง  ซึ่งก็คือ ปฏิทรรศน์ อีกเช่นกัน

ผมได้เรียกชื่อใหม่ของ QE ว่าเป็น "สเตียรอยด์การเงิน"  (Financial Steroid)  ซึ่งหมายถึงว่าเป็นยาที่ให้ผลดีในระยะสั้นๆ  แต่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว  และ การหยุดยาหรือลดยาอย่างเร็วนั้น ก็จะส่งกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย

หากคนของธนาคารกลางอเมริกา และ ญี่ปุ่นได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจจะตื่นเต้นตกใจเป็นอันมาก  จนถึงกับต้องเรียกประชุมด่วน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจาณาถึงผลลัพธ์ของมาตรการ QE  ว่าจะยังเป็นไปตามความเชื่อเดิมของทฤษฎีการเงินเดิมๆ  อยู่  หรือว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาตามความเชื่อใหม่ ของ "ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก" ซึ่งใช้แนวคิดแบบ "ย้อนแย้งสะท้อนแรง" กันแน่  ซึ่งเรื่องนี้อาจมีความสำคัญมากต่อมุมมองของมาตรการ QE  และการปรับเปลี่ยนมาตรการ QE ในอนาคตกันเลยทีเดียว

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Dollar Index อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ

Dollar Index คือ ดัชนีวัดค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1973 โดยถ่วงน้ำหนัก ด้วยเงิน 6 สกุลหลัก  โดยเงินยูโรที่ 57.6%   เงินเยนที่ 13.6% และ เงินปอนด์ที่ 11.9%  ที่เหลือคือ เงินดอลล์แคนาดา  เงินโครนาสวีเดน และ  เงินฟรังก์ของสวิส

ขณะที่่เขียนอยู่นี้  Dollar Index ยืนอยู่ระดับ 84  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี   มีผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ  ซึ่งล้วนแต่กำหนดราคาเป็นเงินดอลลาร์ สรอ.ทั้งสิ้น  มีราคาตกต่ำลงทั้ง ทองคำ เงิน ทองแดง น้ำมัน  รวมไปถึงสินค้าเกษตร เช่น ยาง ข้าวสาลี  กาแฟ เป็นต้น

การที่ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลงมาระดับ 102 เยน คือ ต่ำลง 24%  จากไตรมาส 4 ปีก่อนไปแล้วนั้น  ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะสามารถเติบโตได้อย่างดี 2%  และ ทำเงินเฟ้อได้ตามฝันที่ 2% ก็ตาม  แต่มองในมุมของโลกแล้ว GDP ของญี่ปุ่นกลับลดลงถึง 20% (คิดตามเงินดอลลาร์)  จากระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์  อาจเหลือเพียง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์  คือหายไปถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์  หรือราวๆ GDP ของประเทศไทยถึง 3 ประเทศ   นั่นหมายถึง  การที่ G7  ยอมให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปได้เรื่อยๆ  ได้นั้นอาจแปลได้ว่า  อนุญาตให้ญี่ปุ่นดึงเศรษฐกิจโลกให้เข้าใกล้ภาวะถดถอย (ในรูปเงินดอลลาร์) นั่นเอง  ยิ่งหากมีเงินยูโรที่อ่อนค่าลงก็ช่วยกันดึง GDP ของยูโรโซน (คิดเป็นดอลลาร์) ลงไปอีก

เมื่อย้อนดูอดีตโดยปกติแล้วค่าเงินดอลลาร์จะยืนอ่อนค่าเป็นส่วนใหญ่  แต่ก็พบว่า Dollar Index มีการปรับเป็นขาขึ้น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ ปี 1980-1985  โดยวิ่งจาก 85 ไปราว 165  และ ปี 1995-2000  โดยวิ่งจาก 80 ไปราว 120  แล้วเกิดปัญหาอะไรกับไทยในช่วงนั้นบ้าง...

คำตอบก็คือ  เงินบาทของไทยที่ผูกกับเงินดอลลาร์นั้น  เปรียบเสมือนกับ เด็กๆ ที่ต้องวิ่งตามคนโตยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาที่มีกำลังวังชาดีโดยเขาแทบไม่มีปัญหาอะไรในการปีนขึ้นเขา  แต่ประเทศเด็กๆ เล็กๆ อย่างไทยต้องวิ่งตามไปให้ทันเพราะ ผูกค่าเงินกันไว้    หากดอลลาร์เป็นช่วงลงเขานี่เงินบาทของไทยเราเกาะตามไปสบายมากๆ  แต่เมื่อเป็นขาขึ้นเขาของ Dollar Index แล้วละก็  ผลลัพธ์ก็คือเงินบาทจะวิ่งตามไปไม่ไหว หมดแรงเป็นลม   ล้มกลิ้งลงมาจนได้รับบาดเจ็บหนัก  โดยในปี 1984 ไทยต้องลดค่าเงินบาทลงราว 15% และ ปี 1997 ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง  ค่าเงินบาทต้องอ่อนค่าลงมาถึงกว่า 50%

ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเกมการเงินโลกใหม่ทั้งหมด  แทนที่จะให้อเมริกาเป็นประเทศเดียวที่สามารถจะพิมพ์เงินไม่จำกัด  เพื่อให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง  ซึ่งจะส่งผลช่วย GDP ของโลกโดยรวม เพราะ สินค้าเกือบทุกอย่างวัดค่าเป็นเงินดอลล์กันทั้งนั้น   ญี่ปุ่นมีเป้าหมายในการเพิ่มฐานเงินขึ้นถึง 2 เท่าภายใน 2 ปี  จาก 135 ล้านล้านเยน เป็น 270 ล้านล้านเยน ซึ่งก็น่าฉงนอย่างมาก เพราะ นั่นคือ การฉีกกฏกติกาการเงินระหว่างประเทศโดยสิ้นเชิง  เพราะ  ทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นซึ่งควรจะมีเพียงพอเพื่อใช้หนุนหลัง "ฐานเงิน" นั้นกลับมีอยู่เพียง  1.26 ล้านล้านดอลล์เท่านั้นเอง  ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่พอแน่ๆ

ในรอบนี้ไทยถูกมองว่าเป็น "ดาวรุ่ง" จึงได้รับเกียรติ (แบบไม่สมัครใจ)  ให้วิ่งนำหน้า สหรัฐอเมริกาเสียอีก  ในรอบขาขึ้นของ Dollar Index ครั้งนี้  โดยที่เศรษฐกิจหลักอื่นๆ  ล้วนมีค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ทั้งสิ้น  นับตั้งแต่ ญี่ปุ่น  ยูโรโซน  อังกฤษ  ออสเตรเลีย   เป็นต้น   เมื่อมาดูที่เอเชีย  ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจอันดับ 2 อย่างญี่ปุ่นที่ค่าเงินอ่อนลงมากเท่านั้น   อันดับที่ 3-5 คือ  อินเดีย  เกาหลีใต้ และ อินโดนีเซีย ก็มีค่าเงินที่อ่อนลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกับ 2 ครั้งก่อน  หากค่าเงินดอลล์ยังแข็งค่าไปเรื่อยๆ อาจวิ่งสู่่ระดับสูงกว่า 90 จุดก็เป็นได้  เมื่อนั้น ธปท.ควรแสดงจุดยืนชัดเจนว่าพร้อมทำวิถีทางเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์  ไม่ใช่แค่ประคองยืนๆไว้ที่ 29-30 บาท  แต่พร้อมจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 32 บาทกันเลย  เพื่อให้สอดคล้องและแข่งขันได้กับเศรษฐกิจส่วนอื่นๆ ของโลก

ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าแค่การลดอัตราดอกเบี้ยลงเล็กน้อย และ การสกัดเงินร้อนระยะสั้นอาจเพียงพอแค่สกัดการแข็งค่าของเงินบาทเท่านั้น   แต่การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ เพื่อปั๊มเงินออก  ตามแนวคิดของ "เงินบาทไท้เก๊ก"  น่าจะช่วยให้บาทอ่อนสู่เป้าหมาย 32 บาท  มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่านะครับ

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ....ที่ผิดพลาด

นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลกำลังจะแจกหนังสือ "ยุทธศาสตร์ประเทศไทย" 1.5 แสนเล่ม   ผมกำลังจะบอกว่าไม่เพียงแต่  ยุทธศาสตร์รัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้นที่ผิดพลาด  รัฐบาลอภิสิทธิ์  รัฐบาลสมัคร  รัฐบาลสุรยุทธ์ และ แม้แต่รัฐบาลทักษิณ  รวมไปถึงทุกรัฐบาลที่ประเทศไทยเคยมีมาก็น่าจะมียุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดด้วยเช่นกัน   ความผิดพลาดนี้สะสมมานานนับศตวรรษแล้ว  บทความนี้ผมจะบอกว่าสิ่งผิดพลาดนั้นคืออะไร  และ เราจะแก้ไขให้ไปในทิศทางถูกต้องได้ด้วยวิธีใด

ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดนั้นก็คือ การใช้กรอบยุทธศาสตร์ "เอกนครา" เพื่อพัฒนาประเทศนั่นเอง  นั่นหมายถึง การพัฒนาแบบมีศูนย์กลางความเจริญเพียงเมืองเดียวหรือการโตเดียว  โดยมุ่งเน้นไปที่เมืองหลวงหรือ กรุงเทพมหานคร  อาจมีผู้แย้งว่า  เราได้พยายามพัฒนาภูมิภาคขึ้นมามากแล้ว  หลายเมืองมีห้างสรรพสินค้าหรูหรา  แต่หากมองไปดูด้านคมนาคมก็จะเห็นว่า

กรุงเทพฯ มีทั้ง ทางด่วนพิเศษ  เฉลิมมหานคร  ฉลองรัช  ศรีรัช  อุดรรัถยา  บูรพาวิถี  รวมไปถึง กาญจนาภิเษก  ถามว่า  มีจังหวัดอื่นใดของประเทศไทยมีแบบนี้บ้าง ??
กรุงเทพฯ มีทั้ง รถไฟลอยฟ้า BTS   รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT  และมีแอร์พอร์ต ลิงก์  ถามว่ามีจังหวัดอื่นใดที่มีสิ่งแบบนี้บ้าง ??

นี่จึงพูดได้อย่างชัดเจนว่า  ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยที่มีความเจริญทัดเทียม กทม. ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดของ "โตเกียว" และ "โอซาก้า"  ซึ่งมีทั้งทางด่วน   รถไฟฟ้าบนดินใต้ดิน  รถไฟความเร็วสูง    หากโตเกียวมี โอซาก้าก็มีเช่นกัน  จึงนับว่าเป็นความเจริญแบบทัดเทียมกัน

ทฤษฎี "เอกนคราพาวิบัติ" นั้นอาจเชื่อมโยงไปถึง  "ทฤษฎี 2 สีตีกันเดือด" และ "ทฤษฎี 3 จังหวัดชายแดนแค้นคลั่งฆ่า" อีกด้วย   ปัญหามีมากมายโดยการพัฒนาค่อยๆ กระจายจาก กทม.ในรัศมี 100 กม.แรกไปยังปริมณฑล ชลบุรี  อยุธยา สมุทรสาคร  จากนั้นก็เริ่มตีวงไป 300 กม. ที่หัวหิน  โคราช  ระยอง  พิษณุโลก  หากจะดูว่ามีจังหวัดใดบ้างที่ห่างจาก กทม.ทางถนนเกินกว่า 1 พันกิโลเมตร  คำตอบก็คือ  ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส หรือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาความรุนแรงอยู่นั่นเอง  บางทีเรื่องนี้อาจไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญ

การพึ่งพาความเจริญให้ค่อยๆ ขยายวงจาก กทม.นั้น  จะสร้างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ทรัพย์สิน  ทางการศึกษา  เรียกได้ว่าเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในแทบทุกมิติ   เพราะกว่าจะพัฒนาเมืองที่อยู่ห่างไกลให้เจริญขึ้นได้นั้น  กทม.ต้องยิ่งพัฒนาไปไกลมากๆ  ทางด่วน  รถไฟฟ้า  และ ห้างสรพสินค้าใหญ่โต  นอกจากนี้  ยังสร้างปัญหาความแออัดด้านชุมชนอยู่อาศัย  แออัดของการจราจรใน กทม.เป็นอย่างมาก  ยิ่งพัฒนาสาธารณูปโภคก็ยิ่งดึงดูดคนให้เข้ามายัง กทม.และปริมณฑล  ก็ยิ่งทำให้ความแออัดยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

จะเห็นได้ว่า พรบ.กู้เงิน 2 ล้านล้านนั้น  มี 2 ก้อนใหญ่ๆ ก็คือ รถไฟความเร็วสูง 7.5 แสนล้าน และ รถไฟฟ้าสารพัดสีใน กทม. อีก 4.5 แสนล้าน รวมกันแล้วสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทกันเลย   หากเป็นไปตามแผนเดิมดูเผินๆ แล้ว รถไฟความเร็วสูงสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาภูมิภาค  แต่เมื่อดูให้ลึกซึ้งแล้วขณะที่ หัวหิน ระยอง  พิษณุโลก และ โคราช  มีรถไฟความเร็วสูงผ่าน 1 เส้นทาง แต่ กทม.มีผ่านถึง 4 เส้นทาง สรุปแล้วนี่ยังคงเป็นการพัฒนาแบบรวมศูนย์ความเจริญไว้ที่ กทม.หรือ "เอกนครา" อยู่นั่นเอง   ยิ่งไม่ต้องพูดถึง รถไฟฟ้าสารพัดสีใน กทม. ที่ใช้เงินภาษีทั้งประเทศลงทุนเพื่อคน กทม. โดยที่มีต้นทุนต่อกิโลเมตรสูงถึง กว่า 4 พันล้านบาท (รถไฟฟ้าสีม่วงด้านใต้  โครงการ 9 หมื่นล้าน ระยะทาง 21 กม.)  ขณะที่ต้นทุนของรถไฟรางคู่อยู่ที่ 250 ล้านบาทต่อ กม.เท่านั้นเอง

เอาละปัญหาแบบนี้ก็คนไทยก็พอจะรู้ๆ กันอยู่  แล้วเราจะแก้ไขได้อย่างไร  ผมคิดว่าปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ รถไฟความเร็วสูงและ AEC นั่นเอง  ซึ่งแนวคิดนี้อาจเรียกได้ว่า  "ทฤษฎีพหุนคราพัฒนาชาติ"  โดยพัฒนาเมืองใหญ่ที่มีความเจริญสูงหลายๆ เมืองพร้อมกัน   โดยหากไทยวางเส้นทางให้เชื่อม AEC โดยวางเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองหน้าด่านในการเชื่อมโยงได้   เมืองนั้นก็จะมีความสำคัญและพัฒนาขึ้นมากเทียบเคียงกับ กทม.ได้เลยโดยใช้เวลาภายใน 20 ปี

โดยหากรถไฟความเร็วสูงอาจปรับเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทางเพื่อเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค

1. เส้นทางเชื่อมมหาสมทุร   ทวาย-กทม.-ขอนแก่น-ดานัง  :  เส้นทางนี้จะสำคัญที่สุดเป็น Land Bridge ยาว 1 พันกม. ใช้ประโยชน์ในการขนส่งผู้คนเพื่อการท่องเที่ยวและทำธุรกิจในตอนกลางวัน  และ เพื่อขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างมหาสมุทรอินเดีย (ท่าเรือทวาย)  และ แปซิฟิค (ท่าเรือดานัง)  ในตอนกลางคืน  วิ่งกันทั้งวันทั้งคืนใช้รางแบบคุ้มมากๆ    การขนส่งสินค้าเชื่อมสมุทรจะใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมง  หากเดินเรืออ้อมคาบสมทุรอินโดจีนอาจจะใช้เวลาถึง 4 วันเต็มๆ  จึงประหยัดเวลาและน้ำมันไปได้มากโข   เส้นทางนี้จะผ่าน กทม. และ ภาคอีสาน  ซึ่งครอบคลุมประชากรไทยราวครึ่งประเทศ

2. เส้นทางเชื่อมจีนตอนใต้   ขอนแก่น-เวียงจันทน์-คุนหมิง  เส้นทางนี้เรารู้ดีกันอยู่แล้ว  "มหานครขอนแก่น" จึงเป็นฮับของรถไฟความเร็วสูงไปโดยปริยาย  เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังด้านต่างๆ  ทั้งจีน  พม่า  เวียดนาม  รวมถึงการนำเข้าส่งออกผ่าน 2 มหาสมุทรด้วย  สำหรับเฟส 2  อาจสร้างเส้นตะวันตก  เพื่อผ่านจากขอนแก่น ไปยัง พิษณุโลก-ย่างกุ้ง   และ เส้นอาคเนย์  ไป นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์    นี่จึงเป็นการวางตำแหน่งให้ขอนแก่นมีความสำคัญยิ่งกว่า กทม.เสียอีก  และ เป็นฮับของรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคอย่างแท้จริง

3. เส้นทางเชื่อมแหลมมลายู   หาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์  เส้นทางนี้จะทำให้เกิด "สงขลามหานคร" เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยง AEC ใต้  และ ยังทำให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นปริมณฑล  เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับความเจริญจากทั้ง สงขลา และ มาเลเซีย  มาพัฒนาให้อยู่ดีกินดี   ความรุนแรงก็ลดลงไปตามลำดับ  โดยไทยลงทุนเพียงแค่ 50 กิโลเมตรถึง ปาดังเบซาร์เท่านั้นเอง   อนาคตก็น่าจะลากเส้นนี้ยาวเพิ่มไปถึงกระบี่-ภูเก็ต

การจะทำเส้นทางเหล่านี้ได้  ต้องยืมพลัง "เพื่อนบ้าน" มาร่วมสร้างด้วย  กล่อมพม่าให้สร้างจาก ทวาย มาถึงชายแดนไทย   กล่อมเวียดนามให้สร้างจากดานังมาถึง ชายแดนลาว  โดยจีนและญี่ปุ่นน่าจะยินดีในการสนับสนุนเงินทุนและการรับเหมาก่อสร้าง   ส่วนลาวนั้นมีแผนของเขาอยู่แล้ว  ไทยจึงสร้างทางเพียงราว 1 พันกิโลเมตรใช้เงินราว 5 แสนล้านบาทน้อยกว่าแผนเดิมเสียอีก  แต่เชื่อมโยงได้ทั้งหมด 6 ประเทศเพื่อนบ้าน  แถมยังเชื่อมโยงการส่งออกได้ทั่วโลก 2 ด้านมหาสมุทรผ่านท่าเรือทวาย และ ดานัง แบบประหยัดเวลาและน้ำมันอีกด้วย

บุุคคลที่จะแก้ไขความผิดพลาดนานนับศตวรรษของไทยจาก "เอกนครา" มาสู่ "พหุนครา" ได้นั้น  ก็คือผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูง  ท่าน รมว.คมนาคม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่นเอง   หากท่านมุ่งมั่นกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยนกรอบยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดนานนับร้อยปีของไทย  ปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาระบบรางเสียใหม่  หากทำได้สำเร็จงดงามอย่างดี  เกียรติยศของท่านคงไม่หยุดแค่ "บิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของไทย" แต่น่าจะไปได้ถึง  "บิดาแห่งรถไฟความเร็วสูงของ AEC" กันเลย และ ไม่น่าจะหยุดแค่  "รัฐมนตรีแห่งปี" แต่น่าจะไปได้ถึง  "รัฐมนตรีแห่งศตวรรษ" กันเลยทีเดียว   เชียร์ๆ เพื่อชาตินะครับ