วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แก้ไขม็อบยาง บางทีง่ายกว่าที่คิด

ม็อบยางที่ปิดทั้งถนน และ รถไฟ เพราะ ราคายางแผ่นดิบ และ รมควัน ตกต่ำนั้น  ทำให้ชาวสวนยางจำนวนมากเดือดร้อน  จนต้องชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ

การแก้ไขอาจไม่ง่ายนัก เพราะ ราคายางอิงกับตลาดโลก  และ รัฐบาลก็แทรกแซงได้แล้วด้วยงบราว 2 หมื่นล้าน  ได้ยางมา 2 แสนตันเก็บไปเป็นสต๊อกที่ยากจะขายออกไป   และ  เมื่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งในการขายยางของไทย  ประสบกับปัญหาค่าเงินตกต่ำเนื่องจากเงินไหลออก  ก็ทำให้ราคายางซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญนั้นก็ตกต่ำตามค่าเงิน

รัฐบาลพยายามช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้ 1.2 พันบาทต่อไร่  ไม่เกิน 10 ไร่ หรืออาจถึง 25 ไร่ก็เป็นได้  นอกจากนี้ก็มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงงานยาง  แต่ก็มีเกษตรกรอีกหลายกลุ่มยังไม่พอใจในเรื่องนี้เพราะต้องการราคาที่สูงมากกว่า และ อาจก่อม็อบใหญ่ปิดถนนสายเอเชียทุกทิศทางทั้งสายเหนือ  อีสาน และ ใต้ หรือทั้งประเทศ  อาจก่อให้เกิดปัญหาการขนส่งสินค้า และ การเดินทางให้เป็นอัมพาตได้ในวันที่ 3 กย.ที่จะถึงนี้

ทางแก้ไขปัญหาที่ดีกว่านี้จะมีหรือไม่ ??  เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก แนะนำให้ใช้วิธี "ยืมพลัง" ด้วยการให้รัฐบาลออกกฎเพื่อให้กองทุนบำนาญ ซึ่งประกอบไปด้วย  สปส. กบข. กสล. และ ประกันชีวิต  รวมสินทรัพย์แล้วราว 3.5 ล้านล้านบาท  ต้องลงทุนในสัญญาซื้อล่วงหน้าของยางแผ่นรมควัน  ไม่ต่ำกว่า 1% ก่อนสิ้นปีนี้ และ ไม่ต่ำกว่า 2% ก่อนกลางปีหน้า  แล้วปล่อยให้กลไกของตลาดล่วงหน้าทำงานไปกระทบต่อตลาดจริงอีกที   ด้วยวิธีนี้เราจะได้ดีมานด์ยางแบบพิเศษเพิ่มมาอีก 7 หมื่นล้านบาท  โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่บาทเดียว

เท่านั้นยังไม่พอ  เรายังควร "ยืมพลัง" จากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ส่งออกยางรายใหญ่ ซึ่งก็คือ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย อีกด้วย  ด้วยการเสนอแนะให้พวกเขาทำแบบเดียวกัน  ด้วยวงเงินที่พอๆ กับไทย  ซึ่ง 2 ประเทศนี้ก็มีกองทุนบำนาญขนาดใหญ่อยู่แล้วเช่นกัน  ดังนั้น รวม 3 ประเทศแล้วก็น่าจะได้เงินผลักดันราคายางเป็นมูลค่าสูงถึง 2.1 แสนล้านบาท หรือยางรมควัน 2.1 ล้านตัน (กก.ละ 100 บาท) ซึ่งดูจากตัวเลขแล้วเป็นยอดที่ใหญ่มากๆ   เมื่อดูจากยอดส่งออกยางของประเทศไทยที่ตกราว 2.5 ล้านตันต่อปี

แล้วสมาชิกกองทุนบำนาญเหล่านี้จะโวยวายหรือไม่ ??  แม้การลงทุนจะเป็นสัดส่วนแค่ 2% ของสินทรัพย์เงินออม  ไม่น่าจะมีผลอะไรนักต่อสมาชิกแต่ละคน  แต่ก็อาจมีบางคนที่ไม่พอใจก็เป็นได้ว่าทำไมต้องมาแบกรับภาระของชาวสวนยางด้วย   รัฐบาลก็อาจเพิ่มเงื่อนไข "รับประกันขาดทุน" ให้กับกองทุนบำนาญเข้าไปด้วย  ซึ่งหากขาดทุนจริงๆ รัฐบาลจะชดเชยเงินส่วนต่างให้เลย  อันที่จริงแล้วก็ไม่่น่าจะขาดทุนแต่อย่างใด  เพราะ ไล่ซื้อตั้งแต่ราคา 75 บาทต่อกก. ไปเรื่อยๆ จนถึง 100 บาทต่อ กก. ราคาเฉลี่ยย่อมต่ำกว่าราคาเป้าหมายสุดท้ายเป็นแน่อยู่แล้ว

ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่อง win-win-win คือ  ชาวสวนยางได้ขายยางที่ราคาดีอาจถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม   ขณะที่  กองทุนบำนาญก็ได้ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศ  เป็นการช่วยเหลือชาติไปด้วย พร้อมๆ กับสินทรัพย์ (ยาง) นั้นซื้อได้ถูกมีกำไรด้วย แถมรัฐบาลยังรับประกันการขาดทุนให้อีกต่างหาก   สำหรับรัฐบาลแล้วก็ดีในแง่ที่ไม่ต้องใช้เงินตนเองเลยแม้แต่บาทเดียว  แต่ใช้ประโยชน์จากการ "ยืมพลัง" กองทุนบำนาญ

ในเมื่อทุกฝ่ายได้ประโยชน์  ไม่มีใครเสียประโยชน์ (ยกเว้นผู้ซื้ออย่าง จีน และ ญี่ปุ่น)  จะมามัวรออะไรอยู่อีกละครับ..... รีบเร่งพิจารณาในรายละเอียด  แล้วรีบประกาศออกไปเพื่อให้ชาวสวนยางได้อุ่นใจว่า มีเงิน 2 แสนล้านพร้อมเข้าแทรกแซงราคายางให้สูงกว่านี้อีกมาก  จะได้ตัดสินใจยกเลิกการชุมนุมกันไปเสีย  หากราคาไม่ได้ตามที่หวังค่อยมาคุยกันใหม่รอบหน้าครับ