วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

ตัวเลข 3 ตัวที่ไม่โดน และ ยูโรโซนควรเปลี่ยนแปลง

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการไม่ถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวอะไรทั้งสิ้น   แต่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ตัวเลข 3 จำนวนซึ่งมีผลต่อวิกฤติในยูโรโซน  ซึ่งได้เริ่มก่อตัวขึ้นอีกครั้งจากการเข้าเก็บภาษีเงินฝาก ในประเทศไซปรัส   ซึ่งผมก็ได้คิดมาก่อนแล้วว่า  "ไซปรัส" อาจจะเป็นประเทศเล็กแต่ก่อปัญหาใหญ่ก็ได้   ตามที่ได้เขียนในบทความ "CYPRUS รหัสลับวิกฤติโลก"

แต่บทความนี้มีเขียนเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาให้กับ "ยูโรโซน"  ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงตัวเลขที่ล้าสมัยเท่านั้น  วิธีง่ายๆ นี้ยังอาจรักษา "ระบบยูโร" ปัจจุบันเอาไว้ด้วยก็เป็นได้  มาดูในรายละเอียดกันครับ

ตัวเลขที่ 1 : กฎเกณฑ์ให้ขาดุลการคลังไม่เกินกว่า 3% GDP   จะเห็นว่า  หากเปลี่ยนตัวเลขจาก 3% เป็น 5% ก็จะเปิดช่องให้ดำเนินนโยบายการคลังได้ดีขึ้น  ไม่ต้องรัดเข็มขัดการคลังไปกว่านี้  สำหรับประเทศใหญ่อย่าง ฝรั่งเศส และ อิตาลี   วิธีนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจในภูมิภาคกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น    ในปัจจุบันไม่เพียงแต่มีน้อยประเทศในยูโรโซนเท่านั้นที่ทำได้ขาดดุลการคลังไม่เกิน 3% GDP   ประเทศใหญ่ๆ อย่าง อเมริกา อังกฤษ และ ญี่ปุ่น นั้นขาดดุลระดับ 8% GDP กันเลยทีเดียว

หากประเทศพัฒนาแล้วทั้ง 3 นั้น ต้องลดการขาดดุลการคลังตามกฎเกณฑ์ของยูโรโซนที่ล้าสมัยถูกสร้างมาเมื่อ 13 ปีก่อนหน้านี้  คือรัดเข็มขัดการคลังให้เหลือขาดดุลไม่เกิน 3% GDP  ก็เป็นไปได้ว่า ประเทศเหล่านั้นก็คงมีสภาพเศรษฐกิจถึงขั้นถดถอยเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในยูโรโซนเช่นกัน


ตัวเลขที่ 2 : กฎเกณฑ์ที่ให้หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ไม่เกิน 60%   จะเห็นว่าแทบไม่มีประเทศใดในยูโรโซนสามารถจะกดตัวเลขนี้ให้ต่ำกว่า 60% ได้เลย ยกเว้นเฉพาะ ฟินแลนด์เท่านั้น   ประเทศใหญ่ในยูโรโซน 4 อันดับแรก (เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และ สเปน)  ก็ล้วนมีค่านี้เกินเกณฑ์ทั้งสิ้น    ดังนั้น  หากผ่อนปรนจาก 60% เป็น 100% GDP  ก็น่าจะช่วยทำให้  เยอรมนี  ไม่ต้องรัดเข็มการคลัง  เมื่อมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มก็จะช่วยให้เศรษฐกิจของยูโรโซนดีขึ้นด้วย   เร่งนำเข้าสินค้าจากยูโรโซน  เร่งท่องเที่ยวในยูโรโซน  หากทำให้การได้ดุลบัญชีเดินสะพัดระดับ 5-6% GDP ของเยอรมนีลดลงสักครึ่งก็จะเป็นเม็ดเงินมหาศาล    ผลดีนั้นก็สะท้อนกลับให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลของประเทศอ่อนแออื่นๆ ในยูโรโซนปรับตัวสู่สมดุลได้ดีขึ้นพร้อมกับ เศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย

ความจริงแล้ว  ปัญหาของยูโรโซน  ไม่ได้เกิดจากการขาดดุลการคลัง และ หนี้สินภาครัฐ  โดยสังเกตได้จากประเทศสเปน  ซึ่งรักษาวินัยการคลัง (ขาดดุลไม่เกิน 3% GDP) มาเป็นอย่างดีถึง 8 ปีติดต่อกันหลังเข้าระบบยูโร และ ก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008   ขณะที่ เยอรมนี ฝรั่งเศส และ อิตาลีนั้นกลับรักษากฎนั้นไว้ไม่ได้  และ สเปนก็ยังรักษาระดับหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP ได้ต่ำมากเพียง 36% ในปี 2007  อย่างไรก็ดี  เนื่องจากการผูกค่าเงินไว้กับ "ยูโร"  ซึ่งแข็งค่าเกินไป   จึงทำให้สเปนขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักต่อเนื่องหลายปี  โดยหนักสุดคือปี 2007 ที่สูงถึง 10% GDP   และ ต้องติดหนี้สินต่างประเทศของภาคเอกชนในระดับสูง    มีฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ทั้งหุ้นและอสังหาริมทรัพย์อยู่มาก   ปัญหาจึงคล้ายกับ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ของไทย    เมื่อฟองสบู่แตกลง  พร้อมๆ กับความจำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง  สเปนจึงมีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาก อัตราการว่างงานสูงระดับ 26% เป็นรองเพียงกรีซ เท่านั้นเอง

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่แท้จริงนั้น คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ การติดหนี้สินต่างประเทศ ของประเทศอ่อนแอ (PIIGS) ต่างหาก   ถ้า เยอรมนี  เดินหน้าในการเร่งเศรษฐกิจ  รัฐบาลเร่งขาดดุลการคลัง ก็จะส่งผลให้การได้ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง   ขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในยูโรโซน  ปรับสมดุลบัญชีเดินสะพัดได้ดีขึ้นด้วย  การพึ่งพิงหนี้สินต่างประเทศก็จะชะลอตัวลง  ทำให้ยูโรโซนมีสมดุลดีขึ้น

ตัวเลขที่ 3 : IMF จะส่งเงินช่วยเหลือเมื่อเห็นความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวเท่านั้น  ซึ่งดูเหมือนว่าการกำหนดตัวเลข หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP  ไม่เกิน 120%  เป็นกรณีของกรีซ    เมื่อใช้ตัวเลข 120% เป็นเกณฑ์  กรณีการส่งเงินช่วยเหลือ "ไซปรัส"  ซึ่งขอเงินช่วยเหลือมาเกือบ 100% GDP  รวมกับของเดิม 70% GDP จึงไม่สามารถส่งเงินช่วยเหลือเป็นหนี้ภาครัฐทั้งหมดได้  เพราะตัวเลขจะกระโดดไปสูงมาก  ซึ่งหมายถึงความไม่ยั่งยืนในระยะยาว  ไซปรัสจึงต้องหาเงินบางส่วนด้วยการเก็บภาษีจากผู้ฝากเงินในธนาคาร  ส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคาร   การ "ช่วยเหลือ" ของทรอยก้าจึงดูเหมือนการ "ช่วยซ้ำ"  ความอ่อนแอของแบงก์ในไซปรัสเสียมากกว่า   หาก IMF และ EU  ผ่อนปรนเกณฑ์จาก 120% เป็น 200%  GDP  แทนความยั่งยืนระยะยาว  ก็เป็นเรื่องที่ดีกว่าในการช่วยเหลือแบงก์ และ รัฐบาลของประเทศที่อ่อนแอได้ดียิ่งขึ้น

หากท่านผู้นำในยูโรโซนได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้  อาจจะตื่นเต้นดีใจมาก เพราะ นึกไม่ถึงว่าแค่การเปลี่ยนแปลงตัวเลข 2-3 ตัว  ก็จะช่วยให้แก้ไขวิกฤติในยูโรโซนได้เชียวหรือ ??   บางทีด้วยวิธีการง่าย ๆก็อาจแก้ไขปัญหายากๆ  ไปได้นะครับ