วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ลองคิดใหม่กับไฮสปีดเทรน

สำหรับเฟสแรก 4 เส้นทางของรถไฟความเร็วสูงของไทย 7.8 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 7% GDP เล็กน้อยนั้น  เป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงมากมายอะไรนัก   หากเราลองมาดูประเทศเพื่อนบ้านที่มุ่งมั่นกับ รถไฟความเร็วสูงอย่างจริงจังแล้วจะตกใจกว่ามาก

นั่นก็คือ ประเทศลาว  ที่อนุมัติไปแล้ว 2 โครงการ คือ เส้นเหนือ-ใต้  จากชายแดนจีนถึงเวียงจันทน์   และ เส้นตะวันออก-ตก  จากสะหวันนะเขต ถึง ลาวบาว ชายแดนเวียดนาม   โครงการแรก 7 พันล้านเหรียญ  โครงการหลัง 4 พันล้านเหรียญ  รวมกันแล้วสูงถึง 11 พันล้านเหรียญ สรอ.  ซึ่งจะสูงถึง 140% GDP  ของลาว  หากมองตัวเลขนี้เทียบกับไทยที่ 7% GDP แล้ว   รถไฟความเร็วสูงของไทยจะกลายเป็น "รถไฟเด็กเล่น" ไปเลยทีเดียว

ทำไมลาวจึงได้พนันความเสี่ยงการคลังของประเทศกับรถไฟความเร็วสูงแบบหมดหน้าตักเช่นนั้น   อาจเป็นเพราะ ลาวคงมองแล้วว่าอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับสิ่งนี้นั่นเอง  นอกเหนือไปจาก การสร้างประเทศให้เป็น Battery of AEC  ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหิน  และ รวมไปถึงการให้บริการเทคโนโลยี 4G   การเชื่อมประเทศจีน และ เวียดนามเข้ากับลาว จะช่วยในการค้าและการท่องเที่ยวประเทศเป็นอย่างมาก   จีนมีประชากร 1.3 พันล้าน  เวียดนามมีราว 90 ล้านคนจัดได้ว่าเป็น 2 ประเทศที่มีพลเมืองสูงสุดในภูมิภาคอินโดจีนนี้   และแน่นอนว่า ลาวก็อยากจะเชื่อมเข้ากับประเทศไทยด้วย

ในมุมมองของไทย  ไทยเองก็อยากจะเชื่อมกับ จีน และ เวียดนาม ด้วยเหตุผลเดียวกัน  แต่หากจะต้องลงทุนมากๆ ก็ไม่ไหว   ขณะที่ลาวได้ตัดสินใจช่วยสร้างให้ 2 เส้นทางไปแล้วครึ่งทาง ทั้งแนว เหนือ-ใต้ และ ตะวันออก-ตก  โดยใช้ความกล้าหาญทางการคลังระดับบ้าบิ่นกันเลย   ไทยเองสามารถจะลงทุนน้อยกว่าแต่ได้ประโยชน์มากกว่าเพื่อสานฝันของลาวให้เป็นจริง   โดยเชื่อมเส้นทางทั้ง 2 มาบรรจบกันที่เมืองหนึ่ง  เพื่อเป็น ฮับของไฮสปีดเทรน  ก็พบว่าคำตอบคือ "มหานครขอนแก่น" นั่นเอง

การสร้างเส้นทางจาก  ทวาย-กทม. -ขอนแก่น- หนองคาย จึงจัดได้ว่ามีความสำคัญเป็นลำดับแรก และ  เส้นทาง  ขอนแก่นไปถึง สะหวันนะเขต  ก็เป็นสำคัญลำดับถัดไป   การได้ ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางของรถไฟความเร็วสูง จะทำให้ภาคอีสานของไทยได้ประโยชน์อย่างมหาศาล  ไม่เพียงแต่ ผู้คนและสินค้าไทยจะเดินทางไปจีน และ เวียดนามได้อย่างสะดวกเท่านั้น   การขนส่งระหว่าง จีน และ เวียดนามตอนกลางก็ยังใช้ประโยชน์จากเส้นทางที่ผ่าน "ขอนแก่น" นี้ได้ด้วย

สำหรับเวียดนาม  ก็คงจะมองเห็นประโยชน์ของเส้นทางนี้เช่นกัน  แทนที่จะสร้างเส้นทางยาวตลอดทั้งประเทศ   การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแค่จาก "ลาวบาว" ไปยัง  "ดานัง"  จะช่วยให้การส่งออกสินค้าของลาว  เมียนมาร์  และ ผลผลิตของภาคอีสานไทย  ไปยังเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้)  เป็นไปอย่างทางตรง ประหยัดเวลาและเชื้อเพลิงได้มาก  นี่คือ ผลประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

ในเมื่อทางฝั่งอีสาน  เรา "ยืมพลัง "ลาวไปเรียบร้อยแล้ว   ทางด้านทิศใต้  ไทยก็ควร "ยืมพลัง" มาเลเซียด้วยเช่นกัน   ไทยจะลงทุนเพียงแค่ 50 กม.ราว 2.5 หมื่นล้านบาท  จาก หาดใหญ่ ไป ปาดังเบซาร์   และ เสนอแนะให้มาเลเซีย สร้างรถไฟความเร็วสูง จาก กัวลาลัมเปอร์ มาถึง ปาดังเบซาร์    เพียงเท่านี้ภาคใต้ไทยก็จะเชื่อมโยงกับ มาเลเซียและสิงคโปร์   ซึ่งมีประชากรราวครึ่งหนึ่งของประเทศไทย (34 ล้านคน)  แต่กลับมีขนาดของ GDP ถึง 1.5 เท่าของประเทศไทย   ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศแถบนั้นอย่างมาก   โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติของมาเลเซียซึ่งมีถึงปีละ 25 ล้านคน (มากที่สุดในภูมิภาค)  รวมกับ คนมาเลเซียเองที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ของไทยก็น่าจะมาเที่ยวเมืองไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น   เมื่อช่วยให้ผู้คนอยู่ดีกินดีผู้คนก็ไม่น่าจะมาคิดก่อการร้ายอะไร  ดังนั้น  ยังน่าจะช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงไปด้วย   เส้นทางนี้น่าจะขยายไปถึง กระบี่และภูเก็ต ในเฟส 2

การ "ยืมพลัง" ของทั้งลาว และ มาเลเซียให้ลงทุนเป็นส่วนใหญ่  ไทยแค่เป็นการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงเข้ากับเพื่อนบ้านเท่านั้น  แต่จะสร้างรายได้จำนวนมากจากการลงทุนไม่มาก  โดยเส้นทางในอาณาเขตไทยราว 1 พันกม. หรือราว 5 แสนล้านบาทต่ำกว่าวงเงินเดิมเสียอีก  แต่สามารถเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านได้ถึง 6 ประเทศ คือ จีน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์  มาเลเซีย และ สิงคโปร์

โดยผู้คนน่าจะใช้บริการกันมากเพราะ ไม่ต้องเสียภาษีสนามบินระหว่างประเทศ (700 บาทที่สุวรรณภูมิ)  และ ค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง  รวมไปถึง ไม่ต้องเสียเวลารอเครื่องบินรอกระเป๋าด้วย   รถไฟความเร็วสูง จึงไม่เพียงเป็นการทดแทนรถตู้รถบัส หรือ สายการบินในประเทศ   แต่เป็นสิ่งมาแข่งกับสายการบินระหว่างประเทศระยะสั้นต่างหาก  เช่น  หากจะเดินทางจาก กทม.ไป หลวงพระบาง ตอนนี้อาจต้องใช้เงินถึงขาละ 6 พันบาท (รวมภาษีสนามบินค่าประกันและค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิง)   แต่ถ้าเดินทางด้วย รถไฟความเร็วสูงระยะทางราว 800 กม.ๆ ละ 2 บาท ก็ตกแค่ 1.6 พันบาทเท่านั้นเอง  ประหยัดเงินไปได้กว่าครึ่ง ระยะเวลาที่ใช้ 3 ชม.ก็น่าจะพอๆ กัน

ด้วยการยืมพลังเพื่อนบ้าน  เราจึงสร้างน้อยลงแต่ได้รับผลกำไรมากขึ้น  เพียงแค่เชื่อมเข้ากับ หาดใหญ่ และ ขอนแก่น  ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของ ภาคใต้และอีสานเท่านั้นเอง  ผลประโยชน์ที่จะตกกับประเทศไทยและภูมิภาคนั้นมากมาย   นี่อาจเป็นกลยุทธใหม่แบบ "ป่าล้อมเมือง"  ซึ่งจะสานฝันการเติบโตแบบมีสมดุลลดความเหลื่อมล้ำของภูมิภาคตาม "ทฤษฎีสามนคราพัฒนาชาติ" ได้อีกด้วย  คือ แทนที่ กทม.จะโตเดี่ยว  เราจะได้มาอีก 2 มหานคร คือ  มหานครขอนแก่น และ สงขลามหานคร   เติบโตแบบ 3 เมืองพร้อมกัน  และ แน่นอนด้วยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแบบนี้จะสร้างเมืองสำคัญของเวียดนามจาก ฮานอย และ โฮจิมินห์  เพิ่มมาอีกเมืองคือ "ดานัง" เป็น "สามนครา" เช่นกัน   รวมถึง  ลาวซึ่งจะมี  เวียงจันทน์  หลวงพระบาง และ สะหวันเขต

หลังจากสร้างแล้วดูดีมีกำไรสูง  การทำเฟส 2 เพื่อเชื่อมโยงจากทุกทิศทาง  เพื่อเข้าสู่ เมืองหลวง กทม. ก็น่าจะทำได้อย่างดีได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายเป็นแน่แท้นะครับ




วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

ฟองสบู่สู่วิกฤติ

บทความนี้คือ ภาค 2 ต่อจาก "สัญญาณเตือนภัย วิกฤติเศรษฐกิจ"  โดยหลังจากที่ผมได้คิดค้น Ruang Alarm ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยวิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว  ผมพบว่ายังมีอีก 1 วิกฤติเศรษฐกิจที่ฟองสบู่ไม่ได้แตกด้วยเงินกู้จากต่างประเทศ  เหมือนกับ วิกฤติส่วนใหญ่ แต่แตกด้วยเงินในประเทศ  ไม่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  จึงไม่มีการเตือนจาก Ruang Alarm แต่อย่างใด  วิกฤตินั้นก็คือ  "วิกฤติวาซาบิ" ในญี่ปุ่นปี 1990 นั่นเอง

ผมจึงได้คิดค้นตัวชี้วัด (indicator) ใหม่ขึ้นมา  โดยให้ชื่อว่า  "ฟองสบู่เรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Bubble)  ซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับฟองสบู่ซึ่งหากแตกตัวลงจะนำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   โดยมีแนวคิดดังนี้ คือ  เมื่อนำเอาอัตราการเพิ่มของปริมาณเงิน (M2 growth)   มาหารด้วย  อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP Growth)  ก็จะได้ออกมาค่าหนึ่ง  ซึ่งระดับปกติค่านี้ควรจะยืนประมาณ 1 จึงจะสมดุล คือ เพิ่มปริมาณเงินในระดับเหมาะสมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ   นำค่าที่ได้นี้มาคำนวณรวมกัน 3 ปีก็จะได้ค่า Ruang Bublle   เพื่อดูว่ามีการสูบลมเข้าลูกโป่งเศรษฐกิจมากเกินไปจนเสี่ยงจะแตกหรือไม่  
ค่าปกติจะยืนที่ 3  ค่ายิ่งสูงยิ่งหมายถึงว่า  สูบลมเข้าไปมากจนเสี่ยงที่จะฟองสบู่จะแตกนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ  

Ruang Bubble  ที่  4  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ในระดับสูง
Ruang Bubble  ที่  5  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ในระดับสูงมาก
และ หากค่านี้ยืนสูงกว่า 6  หมายถึง  ความเสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตกอยู่ระดับสูงสุดยอด  หมายถึง  การเพิ่มของปริมาณเงินสูงกว่า ระดับที่เศรษฐกิจจริงต้องการถึง 2 เท่าตัวโดยเฉลี่ยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานั่นเอง

เมื่อย้อนหลังกลับไปดูที่ "วิกฤติวาซาบิ" ก็พบว่า ญี่ปุ่นมีการเพิ่ม M2 สูงถึงระดับ 9-11% ต่อปีซึ่งสูงมาก  และ ทำให้ค่า Ruang Bubble ในตอนนั้นสูงระดับ  4.9   เมื่อไปดู "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ดูบ้าง ก็พบว่าในตอนนั้น  อเมริกามีค่า Ruang Bubble สูงถึงระดับ 5.2  และ เมื่อไปดูประเทศกลุ่มอ่อนแอในยูโรโซนก็ยิ่งตกใจ  เมื่อพบว่า  กรีซเคยมีค่า Ruang Bubble  ระดับ 6.2 และ สเปนที่ระดับ 9.9 เลยทีเดียว  ซึ่งเป็นระดับเสี่ยงสุดยอดนั่นเอง 

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าตอนนี้เรามี Ruang Index  เพื่อชี้วัดความเสี่ยงของหนี้สินภาครัฐโดยนำเอาดอกเบี้ยพันธบัตรมาร่วมคำนวณด้วย  เพื่อบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายการคลัง
เรามี Ruang Alarm  เพื่อชี้วัดความเสี่ยงของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
เรามี Ruang Bubble  เพื่อชี้วัดคามเสี่ยงของการอัดฉีดปริมาณเงินที่มากเกินไปจนเป็นฟองสบู่  ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ข้อบกพร่องของนโยบายการเงิน  

โดยค่าชี้วัดทั้ง 3 ตัวนั้นล้วนอยู่ในกรอบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ทั้งสิ้น  
หากดำเนิน "นโยบายการคลังพอเพียง"  ไม่ก่อหนี้สินภาครัฐมากเกินไป   ไม่พึ่งพิงหนี้จากต่างประเทศมากเกินไป  Ruang Index  จะไม่ถึงระดับอันตรายอย่างแน่นอน
หากดำเนิน "นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนพอเพียง"  เลือกระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม  ไม่เติบโตเกินตัว  ไม่บริโภคเกินตัว  ไม่ลงทุนเกินตัว  ก็จะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่องจน  Ruang Alarm  ส่งสัญญาณเตือนอย่างแน่นอน
และ หากดำเนิน "นโยบายการเงินพอเพียง"  โดยเพิ่มปริมาณเงินให้อยู่ระดับเหมาะสมกับเศรษฐกิจจริง  ก็จะไม่มีการปั่นฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ  อย่าง  สินค้าโภคภัณฑ์  ทองคำ  หุ้น และ อสังหาฯ  จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจจน  Ruang Bubble  ส่งสัญญาณเตือนอย่างแน่นอน  

ประเทศทั่วโลก (รวมไทยด้วย)  แม้ปากจะท่อง "เศรษฐกิจพอเพียง"  แต่ความจริงแล้วการกระทำอาจเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงก็ได้   ค่าชี้วัดทั้ง 3 ตัวนี้ จึงเหมือนเป็นการช่วยนำเอา "กรอบเศรษฐกิจพอเพียง"  ที่เป็นรูปธรรมเพื่อกำกับดูแลความโลภอย่างมากของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม  ช่วยเตือนภัยและป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่ให้เกิดขึ้นอีก   ซึ่งนั่นน่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงการเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยเลยละครับ  
  

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

บทบาทดีๆ ที่ประเทศไทยควรมีต่อคาบสมุทรเกาหลี

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อมุ่งหวังในการสร้างสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลี  โดยที่ประเทศไทยอาจมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์  โดยจะได้ประโยชน์ทั้งต่อประเทศไทยและต่อโลก

วิธีการก็คือ ประเทศไทยควรประกาศว่าไทยต้องการเห็นสันติภาพของโลก   พร้อมเป็นมิตรต่อทุกประเทศ   ยื่นข้อเสนอต่อท่านผู้นำเกาหลีเหนือ  หากยินดีเข้าร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพอีกครั้ง  ประเทศไทยจะยินดีบริจาคข้าวสาร 1 แสนตัน  เพื่อช่วยเหลือประชาชนเกาหลีเหนือที่น่าจะเป็นอยู่อย่างยากลำบากในภาวะตึงเครียดจากความเสี่ยงของสงคราม

ในภาวะปัจจุบัน  ประเทศมหาอำนาจได้ใช้ "ไม้แข็ง" เล่นงานเกาหลีเหนือ  ด้วยการคว่ำบาตรเพิ่มอีก 2 ปี (ญี่ปุ่น)  ฝึกซ้อมรบ (เกาหลีใต้-อเมริกา)  คำพูดกดดันเพื่อโดดเดี่ยวประเทศเกาหลีเหนือ (รัสเซีย-จีน)  แน่นอนว่า  สำหรับประเทศคู่กรณีอย่าง เกาหลีใต้ และ อเมริกา คงไม่สามารถเล่นบทบาท "อ่อนข้อ" ได้ พร้อมดำเนินการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันทันที   สำหรับประเทศลูกพี่อย่าง จีน และ รัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจก็ยังคงเล่นบท "ไม้แข็ง" อยู่เช่นกัน  วิธีเช่นนี้อาจบีบให้เกาหลีเหนือจำเป็นต้องสู้อย่างบ้าเลือดและจนตรอก  

แต่สำหรับประเทศไทยนั้นแตกต่างออกไป   ขณะที่ประเทศขนาดใหญ่ เลือกใช้ "stick" หรือไม้เรียวในการดูแลปัญหาเกาหลีเหนือ  ประเทศไทยอาจแสดงบทบาทสร้างสรรค์ด้วยการใช้แครอท "carrot" เพื่อจูงใจให้เกาหลีเหนือลดภาวะความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีลงได้   

ท่านผู้นำเกาหลีเหนือ  ความจริงแล้วอาจกำลังพิจารณาเพื่อหาทางลงจาก ภาวะตึงเครียดจากการทำสงครามอยู่  แต่หาวิธีที่จะเป็นไปอย่างสง่างามและไม่เสียหน้ามากนัก   ข้อเสนอของไทยแบบนี้เปรียบเหมือน "บันได" เพื่อให้ท่านผู้นำหาทางลงได้อย่างดี   โดยมีข้ออ้างว่าทำไปเพื่อปากท้องของประชาชนเกาหลีเหนือ  

สำหรับประเทศไทย  หากถามว่า เราจะระบายข้าวในสต๊อกอย่างไรให้มีกำไรได้หลายเท่า   ผมเชื่อว่าทั้งคนไทยและคนทั้งโลกก็คงตอบเหมือนๆ กันว่า  มันเป็นไปไม่ได้หรอก  เอาแค่ไม่ให้ขาดทุนมากก็ยังยากเลย  แต่เรื่องนี้อาจเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการ "ระบายข้าว" ของไทย คือ ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างสันติภาพ และ แก้ไขปัญหาความอดอยากของโลก

ข้าวสาร 1 แสนตันมูลค่าอาจตกราว 50 ล้านดอลลาร์  หากประเมินทางเศรษฐกิจแบบตรงๆ นี่คือ การระบายข้าวแบบขาดทุนเต็มๆ   แต่หากประเมินทางเศรษฐกิจแบบอ้อมๆ  เรื่องนี้อาจช่วยให้โลกเราหลีกเลี่ยงภาวะสงครามนิวเคลียร์  ซึ่งอาจสร้างความเสียหายนับล้านล้านดอลลาร์ได้   ดังนั้น เมื่อประเมินกำไรทางการเมืองระหว่างประเทศ และทางสังคม  รวมเข้าไปด้วยแล้ว  ต้องถือว่าเป็นการ "ระบายข้าว" ที่มีกำไรได้เป็นแสนเป็นล้านเท่าตัวเลยทีเดียว

และถึงแม้ว่าเกาหลีเหนือจะไม่รับข้อเสนอนี้   ไทยก็ยังแสดงให้ทั้งโลกได้เห็นถึงความพยายามมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างสันติภาพต่อโลก และ มีมนุษยธรรมสูง   เป็นการยกระดับบทบาทของไทยบนเวทีการเมืองโลกได้ไม่น้อย

แต่หากทำเรื่องนี้ได้สำเร็จไม่่เพียงแต่ช่วยให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย 4 หมื่นคนในเกาหลีใต้ปลอดภัยเท่านั้น  ยังรวมไปถึง สันติภาพของทั้งโลกด้วย   ไม่เพียงเท่านั้น  เรื่องนี้มีของแถม คือ การแก้ไขปัญหาความอดอยากประชากรในภูมิภาค  รวมไปถึง  การแก้ไขปัญหาการระบายข้าวขาดทุนของไทยอีกด้วย   ดังนั้น  นี่จึงเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัวด้วยกัน

ท่านนายกฯ หญิงของไทยน่าจะชื่นชอบเชี่ยวชาญมากๆ สำหรับบทบาทแบบนี้อยู่แล้ว  ซึ่งเป็นบทบาทที่แม้แต่ผู้นำของมหาอำนาจเองก็ไม่สามารถจะเล่นเพื่อสร้างสันติภาพได้   ดังนั้น  หากนายกฯ หญิงของพวกเราเล่นบทบาทแห่งประวัติศาสตร์นี้ได้โดดเด่นสร้างสรรค์  "รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ"  อาจอยู่ใกล้แค่เอื้อมเลยละครับ 

วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

สัญญาณเตือนภัยวิกฤติเศรษฐกิจ

ปัจจุบันโลกมีสัญญาณเตือนภัยทั้ง กันขโมยรถยนต์ และ บ้าน   สัญญาณเตือนภัยไฟไหม้  สัญญาณเตือนภัยสึนามิ  และอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งอาจใช้ป้องกันทรัพย์สินระดับหลักแสนบาท  แต่ดูเหมือนโลกยังขาดสัญญาณเตือนภัยวิกฤติเศรษฐกิจ  ที่เป็นรูปธรรมซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้ถึงระดับล้านล้านดอลลาร์

นับตั้งแต่วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก ปี 1984 เป็นต้นมาถึงเกือบ 30 ปี  IMF และ World Bank กลับไม่ได้ใส่ใจในสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจนัก  จึงไม่ได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อป้องกันภัยแต่อย่างใด  ปล่อยให้วิกฤติเกิดต่อเนื่อง  จนเป็น วิกฤติต้มยำกุ้งในไทยปี 1997     วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000  และ ไปถึง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี2008

ในบทความนี้  ผมมีความยินดีที่จะเสนอสิ่งใหม่ให้กับโลก  นั่นก็คือ  สัญญาณเตือนภัย "เรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Alarm)   เพื่อใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศต่างๆ    เนื่องจากการ "ป้องกัน" ย่อมสูญเสียและเจ็บปวดน้อยกว่า การ "แก้ไข" วิกฤติเศรษฐกิจมากนัก

แนวคิดของ Ruang Alarm ก็คือ  การนำเอาดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อ GDP  มาบวกเข้าด้วยกัน 3 ปีล่าสุด เราก็จะได้ตัวเลขออกมา   โดยอาจแบ่งความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจได้เป็น 3 ขั้น คือ
1. ความเสี่ยงสูง :  ค่า Ruang Alarm  อยู่ที่ระดับแย่กว่า -10% GDP
2. ความเสี่ยงสูงมาก : ค่า Ruang Alarm จะอยู่ที่ระดับแย่กว่า -20% GDP
3. ความเสี่ยงสูงสุดยอด : ค่า Ruang Alarm อยู่ที่ระดับแย่กว่า  -30% GDP

เรามาลองดูตัวเลขเก่าๆ ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจดูบ้าง    เตกีล่าของเม็กซิโก ค่า Ruang Alarm อยู่ที่ -13% GDP   ขณะที่  ต้มยำกุ้งของไทยนั้น  Ruang Alarm อยู่ที่ -21.2%    และ  วิกฤติอาร์เจนติน่าปี 2000 ค่านี้อยู่ที่  -13.1%

เมื่อมาดูที่ก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และ วิกฤติยูโรโซนดูบ้าง  ก็พบว่า  อเมริกานั้นมีค่า Ruang Alarm ที่  -17% GDP  และเมื่อไปดูที่ประเทศอ่อนแอในยูโรโซนกลับยิ่งตกใจ  เมื่อพบว่า  กรีซมีค่านี้สูงถึง  -44% GDP  ไซปรัสที่  -34%     โปรตุเกสที่ -33.4% GDP   และ  สเปนที่ -28.6% GDP  

เป็นที่น่าเสียดายว่า  หาก IMF  ใช้แนวคิดของ Ruang Alarm  มาก่อนแล้ว  โลกอาจป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ทั้งหมด  การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่อง  หมายถึง การใช้จ่ายทั้งบริโภคและลงทุนเกินตัว  โดยพึ่งพิงเงินทุนจากต่างชาติ  สร้างแรงเก็งกำไรเป็นฟองสบู่ในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์   ซึ่งในที่สุดก็ต้องแตกตัวลง

แล้ว ณ จุดนี้มีประเทศที่เสี่ยงๆ อยู่บ้างไหม  ผมได้สแกนประเทศขนาดใหญ่พอสมควร  ก็พบอยู่ 3 ประเทศ   มี 2 ประเทศใน BRICS นั่นก็คือ  อินเดีย  ที่ประมาณ -11.4% GDP   และ แอฟริกาใต้ ที่ -12.5%  ซึ่งถือว่าความเสี่ยงระดับสูง    ขณะที่มีอีกประเทศที่สัญญาณเตือนภัยในระดับสูงมาก  ก็คือ  "ตุรกี" ซึ่งเป็นประเทศที่มีอาณาเขตใกล้กับ กรีซ และ ไซปรัส เสียด้วย  ประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 18 ของโลกมีค่า Ruang Alarm สูงระดับ  -22.5% เลยทีเดียว  

นอกจากนี้ผมได้ค้นพบว่า  วิกฤติการคลังนั้น  ไม่ใช่ "สาเหตุ" ของวิกฤติเศรษฐกิจ  แต่เป็น "ผลลัพธ์" ของวิกฤติเศรษฐกิจต่างหาก   โดยประเทศไทย  หนี้ภาครัฐต่อ GDP  วิ่งจาก 15.2% ไป  57.8% GDP  ภายในเวลา 4 ปีเพราะ ผลพวงของวิกฤติต้นมยำกุ้ง    ไอร์แลนด์นั้นก็มีตัวเลขเดียวกันใช้เวลา 5 ปีวิ่งจาก  25% ไป 117% GDP ณปี 2012   นั่นเป็นเพราะ  ขณะที่รัฐบาลมีรายได้ลดลงจากเศรษฐกิจถดถอย  ในเวลาเดียวกัน  รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มภาคธนาคาร   ช่วยเหลือประชาชนด้านประกันสังคม  และ ยังต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายในระดับสูงอีกด้วย  

ดังนั้น หากจะเรียงลำดับเหตุการณ์ ก็อาจเป็นดังนี้   วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด -------> วิกฤติเศรษฐกิจ ------>  วิกฤติการคลัง   หมายถึงว่า  วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด คือ "ต้นเหตุ" ของวิกฤติเศรษฐกิจ  ขณะที่  วิกฤติการคลัง  เป็น "ผลลัพธ์"  ของวิกฤติเศรษฐกิจไม่ใช่ "สาเหตุ"

และก็มาถึงตอนจบ....แล้วประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างละ  สำหรับ พรบ.กุ้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทนั้น  ผมไม่ได้กังวลเรื่องของวิกฤติการคลังสักเท่าใดนัก  เพราะ การลงทุุนในสาธาณูปโภคขนาดนั้นน่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนแห่ลงทุนตามมาด้วยแน่ ตามแนวคิดค่าตัวทวี (multiplier)  และ รัฐบาลก็น่าจะเก็บภาษีต่างๆ ได้ดีขึ้นเพราะเศรษฐกิจเติบโตดี   แต่หากการเติบโตวิ่งไปที่ระดับ 7-8% จริงๆ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ การโตเกินตัว  การบริโภคเกินตัว  การลงทุนเกินตัว  จะทำให้เกิดขาดดุลการค้า  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงและต่อเนื่องหลายปีต่างหาก   ซึ่งนั่นคือ "ต้นเหตุ" ของวิกฤติต้นมยำกุ้งนั่นเอง

เมื่อดูตัวเลขขาดดุลการค้าในเดือน มกราคมที่ผ่านมาคือ 1.7 แสนล้านบาท  สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และ เมื่อรวมกับเดือนกุมภาพันธ์  ไทยขาดดุลเฉลี่ยดือนละ 1แสนล้านหรือปีละ 1.2 ล้านล้าน ซึ่งเป็นระดับสูงถึง 10% GDP   ไม่ต้องสงสัยเลยว่า  การลงทุนรถไฟระบบรางต่างๆ จะทำให้ประเทสไทยขาดดุลเพิ่มขึ้นไปอีกมหาศาลเพียงใด   เครื่อต้มยำ 3 ชนิดของ "ต้มยำกุ้ง"  คือ 1.ใช้ค่าเงินบาทที่แข็งเกินกว่าระดับเหมาะสม  2. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหนักหน่วงและต่อเนื่อง (Ruang Alam แย่กว่า -10%)  3.มีการเก็งกำไรในตลาดหุ้น และ อสังหาริมทรัพย์สูงมาก   เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

อาจกล่าวได้ว่าเร็วไปที่จะพูดถึง "ต้มยำปู"  เพราะปัจจุบัน Ruang Alarm ไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนแต่อย่างใด  แต่หาก พรบ.2.2 ล้านล้านผ่านไปได้   เอกชนแห่ลงทุนกันตามภาครัฐจนเกิดฟองสบู่   ไทยต้องใช้ค่า "บาทแข็ง" อย่างต่อเนื่อง   ขาดดุลการค้าและขาดดุลเดินสะพัดอย่างหนักหน่วงต่อเนื่อง  อีก 3 ปีข้างหน้าเมื่อค่า Ruang Alarm  ส่งสัญญาณเตือน   ผมจะมาเขียนบอกอีกครั้งนะครับ