วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

แต้มต่อที่อยากขอพรรคเพื่อไทย

พวกเราคนไทยก็รู้ๆ กันดีว่า หากมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย น่าจะมีคะแนนนำอย่างมาก ทิ้งห่างคู่แข่งและชนะเลือกตั้งได้อย่างสบายๆ  แต่นั่นกลับทำให้ การเลือกตั้งดูไม่ตื่นเต้นอะไรเลย   ประเทศไทยก็จะยังคงได้แต่ สส.หน้าเดิมๆ และ รัฐมนตรีหน้าเดิมๆ กลับมา

หากพรรคเพื่อไทยให้แต้มต่อแบบแทนที่จะสู้กันแบบ 1:1 ก็เปลี่ยนเป็น "ฉันขอสู้คนเดียว พวกท่านรุมกันเข้ามาเถิด"  หรือหมายถึง  พรรคเพื่อไทยควรขอท้าแบบ หากได้จำนวน สส.น้อยกว่า พรรคการเมืองทีเหลือรวมกัน หรืออีกนัยหนึ่ง คือ พรรคเพื่อไทยได้ สส.น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสภาฯ แล้ว   จะถือว่า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบที่จะให้พรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำในการปฏิรูประเทศ  ดังนั้น  ไม่เพียงแต่ตระกูลชินวัตรจะขอเว้นวรรค  แต่พรรคเพื่อไทยทั้งพรรคจะเว้นวรรคทางการเมืองด้วย 1 ปี  เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคคู่แข่งอย่าง ประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน

ด้วยวิธีนี้จะมีข้อดีต่อทุกฝ่ายดังนี้คือ

1. พรรคเพื่อไทย : ได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจลงสู้ศึกเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะได้ สส.ไม่ถึงครึ่งก็ยอมให้พรรค ปชป.เป็นรัฐบาลเพียงแค่ 1 ปี เพื่อทำการปฏิรูประเทศ  ระหว่างนี้จะได้สร้างนโยบายใหม่ๆ ที่โดนใจประชาชน  หลังจากล้มเหลวไม่เป็นท่ากับนโยบายจำนำข้าวทุกเม็ด และ รถยนต์คันแรก ด้วยวิธีนี้ทำให้การเลือกตั้งราบรื่น รักษากฎกติกา และ ประชาธิปไตยไว้ได้

2.พรรคประชาธิปัตย์ : หากเป็นตามรูปแบบเดิม แทบไม่มีโอกาสจะชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้เลย  ด้วยวิธีนี้แม้แพ้เลือกตั้ง แต่ก็ยังอาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้   ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจลงสู้ในสนามเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น โอกาสได้เป็นรัฐบาลคือ 50-50  ผลงานของการฟื้นเศรษฐกิจ และ การปฏิรูประเทศ  น่าจะมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคนี้ด้วยในอนาคต

3.กปปส.: จะสามารถเข้าช่วยพรรค ปชป. ทำการปฏิรูประเทศได้เลย  เมื่อได้สภาฯใหม่เข้าทำหน้าที่  แทนที่จะมัวท่องประโยค "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" แล้วเดินไปเดินมายังสถานที่ต่างๆ  ผมขอเรียกร้องให้เร่งรีบทำการ "ปฎิรูป" ได้ตั้งแต่วินาทีเลยเพื่อให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง  ไม่ต้องรออะไรอีก โดยแบ่งเป็น

ปฏิรูปต้นน้ำ : ส่วนที่เป็น อ.ไอเดีย  เตรียมจัดทำแบบสอบถาม "ประชามติ" ในเรื่องของการปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น โทษของการคอร์รัปชั่น  ที่มาของผู้ว่าฯ  ปฏิรูปภาษีทรัพย์สิน  ปฏิรูปพลังงาน  ปฏิรูปตำรวจ  เป็นต้น

ปฏิรูปกลางน้ำ : ส่วนทีเป็น อ.อำนาจ  คือ วางกรอบอำนาจใหม่ได้เลยว่าจะให้ "ประชามติ"มีผลในเรื่องใดบ้าง โดยผมคิดว่าอย่างน้อยควรมี 4 เรื่องสำคัญ คือ  1.ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี   2.การเพิ่มหรือแก้ไขกฎหมายสำคัญระดับชาติ  (เช่น พรบ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง)  3. การยกเลิกนโยบายที่ส่อแววทุจริตของภาครัฐ (เช่น จำนำข้าวทุกเมล็ด)  4. การตัดสินคดีสำคัญระดับชาติ

ปฏิรูปปลายน้ำ : ส่วนที่เป็น อ.อุดมการณ์  โดยเชิญให้หัวหน้าพรรคการเมือง  องค์กรอิสระ  ทำการลงสัตยาบันว่า "ประชามติ" ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร  จะทำให้ สส. รวมถึง องค์กรอิสระ จำเป็นต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ  ไม่ใช่ ตามใจนายทุนพรรค หรือว่า อำมาตย์

การปฏิรูปทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ นี้สามารถทำเสร็จได้เลยภายใน 1 เดือน  อันที่จริงแล้วหากมุ่งมั่นทำจริงๆ  1 สัปดาห์ก็เสร็จเรียบร้อยได้แล้ว  กปปส.มัวแต่ท่องประโยค "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" แทนที่จะเร่งรีบทำให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์  กลับเรียกประชาชนชุมนุมจนบาดเจ็บล้มตายกันไปมาก  เศรษฐกิจย่ำแย่ตกต่ำกันถึง 26 สัปดาห์ หรือครึ่งปีเข้าไปแล้ว  ยังไม่เห็นผลงานของการปฏิรูปอะไรเลยแม้แต่น้อย  ดังนั้น ควรเร่งรีบปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเดือน กค.ให้เสร็จ พร้อมๆ กับเสนอให้ กกต.จัดทำประชามติ พร้อมกับหย่อนบัตรเลยในวันเลือกตั้ง นั่นจะเป็นผลผูกพันให้ สภาฯใหม่จำเป็นต้องโหวตเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายตามผลของประชามตินั้น

กปปส.ไม่ควรจะต้องขวางการเลือกตั้งอีกต่อไป  หากได้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 3 ส่วน (ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ) ข้างต้น  ผลลัพธ์ก็คือ แม้ว่าอาจจะได้ สส.หน้าเดิม แต่เรื่องราวจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป  คือ จาก สส.เดิมที่มีอำนาจ (นิติบัญญัติ) แต่ไร้อุดมการณ์   จะเปลี่ยน สภาพมาเป็น สส.ใหม่ที่ไร้อำนาจ แต่มีอุดมการณ์แทน   เพราะ อำนาจได้ถูกย้ายไปยังประชาชนทั้งประเทศแทนแล้วด้วย "ประชามติ"  และ สส.จำเป็นต้องยกมือโหวตตามเสียงประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือ อุดมการณ์ของการเป็นผู้แทนราษฎรนั่นเอง  นี่จึงเป็นการโค่นทั้งระบอบทักษิณ และ ระบอบอำมาตย์ ไปในคราวเดียวกัน

และนี่การผสมผสานระหว่าง ประชาธิปไตยทางตรง และ ทางอ้อม  เรียกว่า "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" หากทำตามนี้ได้จริง ทุกฝ่ายก็ได้จะได้บรรลุเป้าหมายหลัก  ขณะที่ประชาชนคนไทยทั้งชาติก็จะสนุกตื่นเต้นไปกับการเลือกตั้ง  และทำตามรหัสปลดล็อก "กปปส." ได้ คือ  ยึดมั่น ก.กฎกติกา  รักษา ป.ประชาธิปไตย  เดินหน้า ป.ปฏิรูป และ กลับสู่ ส.สันติภาพ

นี่ไม่เพียงเป็นข้อเสนอ แต่จะเป็นเป็นบทพิสูจน์ด้วยว่า  ที่รักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์บอกว่าไม่ยึดติดอำนาจ  พร้อมยอมเสียสละให้ชาติเดินหน้าได้  แต่จะต้องรักษากฎกิตกา และ ประชาธิปไตยนั้นจริงหรือไม่  นี่นับเป็นโอกาสทองแล้วที่จะได้เดินหน้าสู่ทางออกของประเทศชาติ   ด้วยการประกาศให้ "แต้มต่อ" ผ่านสื่อทีวีได้เลย  แม้จะต้องใช้ความกล้าหาญ ความเสียสละอยู่ไม่น้อยแต่ผลตอบแทนก็อาจคุ้มค่า  เพราะขณะนี้ต่างชาติกำลังจับจ้องว่า  ประเทศไทยจะหาทางปลดล็อกการเมืองอย่างไร ให้เกิดสันติภาพ  ขณะเดียวกันก็ยังรักษากฎกติกาประชาธิปไตยได้  รวมถึง เดินหน้าปฏิรูปได้ด้วยนั้น  "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" นับได้ว่าเป็นทางออกหนึ่งที่มีรหัสปลดล็อกครบทั้ง 4 ตัว (กปปส.)    ไม่แน่ว่าต่างชาติอาจพิจารณามอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้แก่คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้   อาจเรียกได้ว่าเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้เลย

ขอร้องให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาข้อเสนอนี้  โดยอาจนำไปปรับปรุงต่อยอด เพื่อเป็นทางออกที่ดีให้กับชาติบ้านเมืองต่อไปครับ




วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง... ถ้ามุ่งมั่นก็ยังทัน

หลังการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินการเลือกตั้งวันที่ 2 กพ.เป็นโมฆะ  พรรคการเมืองต่างๆ ได้เรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน  อย่างไรก็ดี  กปปส.ต้องการให้มีปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง  บทความนี้ชี้ประเด็นว่า  น่าจะทำ่มให้ทั้ง 2 ข้อเรียกร้องนี้ไปด้วยกันได้แบบชนะทั้งคู่

โดยน่าจะสามารถเริมการปฏิรูปได้เลยตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ และ ปลายน้ำ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ปฏิรูปในส่วนที่เป็น อ.ไอเดีย  อ.อำนาจ และ อ.อุดมการณ์ ได้เลย  โดยยังไม่ต้องรอสภาฯ ใหม่ และ รัฐบาลใหม่

1.ปฏิรูปต้นน้ำ ส่วนที่เป็น อ.ไอเดีย    กปปส. คปท.และ พรรค ปชป.ได้จัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูประเทศไทยมาบ้างแล้ว  นำมาดูได้เลยว่าจะจัดทำ "ประชามติ" ในเรื่องสำคัญใดบ้าง เช่น  บทลงโทษคอร์รัปชั่น  ที่มาของผู้ว่าฯ   ตำรวจควรขึ้นต่อจังหวัดหรือไม่  ควรจัดเก็บภาษีทรัพย์สินไหม  เป็นต้น  เตรียมพร้อมในการจัดทำแบบสอบถามได้เลย   ควรทำ "ประชามติ" ไปพร้อมๆ กับการเลือกตั้งครั้งใหม่

2.ปฏิรูปกลางน้ำ ส่วนที่เป็น อ.อำนาจ   กำหนดกรอบไปเลยว่า ประชาชนสามารถมีอำนาจอธิปไตยในเรื่องใดบ้าง  เช่น
อำนาจนิติบัญญัติ  หากเป็นกฎหมายสำคัญระดับประเทศต้องผ่านประชามติก่อน  และ การตัดสินไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีก็ใช้ ประชามติ  เช่นกัน
อำนาจบริหาร  : ประชาชนสามารถเลือกนายกฯ ได้โดยตรง  และ หากนโยบายเปิดช่องทุจริต  การลงประชามติสามารถหยุดยั้งนโยบายเหล่านั้นได้เลย
อำนาจตุลาการ : หากเป็นคดีสำคัญระดับชาติ  ให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสิน

3. ปฏิรูปปลายน้ำ  ส่วนที่เป็น อ.อุดมการณ์   โดยให้หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค  องค์กรอิสระ  มาลงสัตยาบันรับรองว่า "ประชามติ" ถือเป็นที่สุด  มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร  ซึ่งจำเป็นต้องโหวต และ ปฏิบัติหน้าที่ตามผลของ "ประชามติ" นั้นๆ    นี่จึงเป็นทำหน้าที่ตามความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่  ไม่ใช่ ตามใจนายทุนพรรค หรือ อำมาตย์

เมื่อสามารถทำการปฏิรูป 3 เรื่องนี้ได้สำเร็จก่อนเลือกตั้ง  หากมุ่งมั่นก็น่าจะใช้เวลาแค่ 1 เดือนเท่านั้นเอง  จะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง  นอกจากจะโค่นระบอบทักษิณ (หรือธนาธิปไตย) แล้ว ยังโค่นระบอบสุเทพ (หรืออมาตยาธิปไตย)  ไปได้ด้วยในคราวเดียว   อำนาจอธิปไตยส่วนหนึ่งจะย้ายไปอยู่ในมือประชาชน  จากที่เคยอยู่กับ สภาผู้แทนฯ  คณะรัฐมนตรี และ ตุลาการ

แนวคิดนี้จะชนะทั้ง 2 ฝ่ายขณะเดียวกันก็แพ้ทั้ง 2 ฝ่ายด้วย  เพื่อเป็นการเดินหน้าประเทศไทย  ด้วยรหัสปลดล็อก "กปปส." คือ  ยึดมั่น ก.กฎกติกา   รักษา ป.ประชาธิปไตย   เดินหน้า ป.ปฏิรูป  และ คืนสู่ ส.สันติภาพ   ประเทศชาติจะได้เดินหน้าทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ได้ต่อเสียที

"ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" จึงเป็นการยืมพลัง "ประชามติ" มาเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศ  สำหรับ ม็อบนกหวีดคนเสื้อเหลือง  จะสามารถโค่นระบอบทักษิณ และ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้   สำหรับ  พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง  ด้วยแนวคิดนี้จะสามารถโค่นระบอบอำมาตย์ได้  จัดเลือกตั้งได้ราบลื่น  เปิดสภาฯ ได้เร็ว  สำหรับคนเสื้อขาว นี่คือ การสานฝันของ ดร.ปรีดี พนามยงค์  บิดาแห่งประชาธิปไตย  ปฏิรูปต่อยอดประชาธิปไตยไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง หลังจาากต้องอยู่ภายใต้ระบอบธนาธิปไตย และ อมาตยาธิปไตย มายาวนานถึง 82 ปี  

ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาในเรื่องนี้ และ รีบเร่งปฏิรูปการเลือกตั้งได้อย่างเร็ว  และ จัดโครงสร้างอำนาจเพื่อพร้อมเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงครับ