วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จากม็อบ "กปปส." สู่ รหัสปลดล็อก "กปปส."

กปปส.นั้นย่อมาจาก "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"  นำโดยกำนันสุเทพ และเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลรักษาการอยู่ ณ ตอนนี้นั้น  ช่างเป็นความบังเอิญเหลือเกินที่ "กปปส."นั่นเอง ที่เป็นรหัสจะนำไปสู่การปลดล็อกการเมืองประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ก.: กฎกติกา  ในเมื่อ กปปส.เรียกร้องให้รักษาการนายกฯ ยิ่งลักษณ์ "ลาออก" แต่เนื่องจากทำไม่ได้เพราะ ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น   ทางเลี่ยงที่พอจะทำได้ตามกฎกติกาก็คือ "ชินวัตรควรยอมถอยเพื่อชาติ"   คุณยิ่งลักษณ์ควรประกาศ "เว้นวรรคทางการเมือง" เพื่อแลกกับ การที่ลุงกำนันสุเทพจะไม่ขัดขวางเลือกตั้ง  ไม่ปิดล้อมสถานที่ราชการ และ ยุติการชุมนุม   นี่จะเป็นการแลกกันแบบคุ้มๆ  เป็นการลงจากอำนาจ แบบเป็นไปตาม "กฎกติกา"  

ป : ประชาธิปไตย   มองจากมุมของรัฐบาลรักษาการ  การเลือกตั้งจะนำไปสู่ "ประชาธิปไตยตามหลักสากล"  อย่งไรก็ดี  สส.ในประเทศไทยนั้นจะสวมหมวก 2 ใบ คือ ใบหนึ่งคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนหมวกอีกใบหนึ่ง เป็นลูกจ้างของนายทุนพรรค  ดังนั้นนี่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ระบอบทักษิณ" นั่นเอง

แต่หากมองจากมุมของ กปปส. ก็พบว่า  การจัดตั้งสภาประชาชน รัฐบาลประชาชน โดยคัดเลือกจากคนกลุ่มเดียวที่มีคุณสุเทพเป็นผู้นำนั้น  แม้จะอ้างว่านี่คือ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์"  ความจริงแล้วมันคือ "ระบอบสุเทพ" นั่นเอง  

สำหรับคนเสื้อขาว ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นจะไม่ชอบใจทั้ง "ระบอบทักษิณ" และ "ระบอบสุเทพ" ดังนั้น ผมได้ทุ่มเทสติปัญญาเพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยไท้เก๊ก" (คำแปล: สุดยอดประชาธิปไตย)  ซึ่งสิ่งนี้ก็คือ การนำเอาอำนาจที่แท้จริงกลับสู่มือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  ส่วน สส.มีอำนาจตามรูปแบบเท่านั้น  โดยอำนาจของ สส.3 เรื่องหลัก คือ 1.เพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 2.เลือกนายกฯ และ 3.ไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี    จะให้อำนาจ 3 เรื่องหลักนี้เป็นไปตาม "ประชามติ" หรือนี่คือประชาธิปไตยแบบทางตรง  ผ่านประชามติ  เพื่อให้อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริงนั่นเอง  สส.มีหน้าที่ยกมือโหวตตามผลของ "ประชามติ" เท่านั้น  ไม่ใช่ตามใจนายทุนพรรรค  นี่คือ ข่าวดีสำหรับคนเสื้อเหลือง เพราะเป็นการ "โค่นระบอบทักษิณ" และ เป็นข่าวดีสำหรับคนเสื้อแดง เพราะ เป็นการ "สกัดระบอบสุเทพ"  

ป: ปฏิรูป  ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการเป็นฝ่ายปฏิรูปประเทศไทย  อย่างไรก็ดี  จะให้มาคุยเจรจาร่วมมือกันเพื่อปฏิรูปนั้นก็คงจะยากเย็น  ผมขอเสนอแนวทางแบบ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ  ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการของการปฏิรูปได้ในทุกภาคส่วน

ต้นน้ำ  คือ ส่วนที่เป็น อ.ไอเดีย   โดยให้ฝ่าย กปปส.และ พรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่ามีไอเดียในการปฏิรูปมากมาย  จัดการประชุมมาหลายครั้งคงมีเรื่องดีๆ อยู่เต็มหัวแน่นอน  จัดทำแบบสอบถามเพื่อเตรียมทำประชามติทั่วประเทศ  ในการแก้ไขปัญหากฎหมายสำคัญๆ หลายเรื่องได้เลย  

กลางน้ำ คือ อ.อุดมการณ์  ซึ่งจะส่งมอบอุดรการณ์ในการทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่  ด้วยการทำ "ประชามติ"  โดยประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปกฎหมายนั่นเอง

ปลายน้ำ คือ อ.อำนาจ  โดย สส.ใหม่ที่เข้ามาซึ่งส่วนใหญ่น่าจะมาจากพรรคเพื่อไทยนั้น จะมีอำนาจในการยกมือโหวต (ตามผลประชามติ)  เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายคอร์รัปชั่น   กฎหมายผู้ว่าฯ   ปฏิรูปตำรวจ  และอื่นๆ  

ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงมีส่วนร่วมในการ "ปฏิรูปประเทศไทย"  โดยเป็นลักษณะของ ต้นน้ำ-กลางน้ำ และ ปลายน้ำ  ซึ่งหากทำดีๆ กระบวนการทั้งหมดนี้อาจทำให้สำเร็จได้อย่างเร็วภายในเวลา 6 เดือนเท่านั้นเอง

และสุดท้าย คือ ส.สันติภาพ   ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการนำพาประเทศให้ลดความขัดแย้งไปได้ นำไปสู่สันติภาพ  ให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้  เศรษฐกิจก็จะเริ่มฟิ้นตัว
ด้วยรหัส 4 ตัว กปปส. หรือ กฎกติกา  ประชาธิปไตย  ปฏิรูป และ สันติภาพ นี้เอง  น่าจะนำทางให้ประเทศสามารถแก้ไขวิกฤติการเมืองความขัดแย้งกับ กปปส.ได้  แม้ผลลัพธ์ที่ออกมาแต่ละฝ่ายจะไม่ได้ที่ตนเองต้องการทั้งหมด  แต่ก็สามารถบรรลุเป้าหมายหลักๆ ของแต่ละฝ่ายไปได้สำหรับพรรคเพื่อไทยคือ   มีการเลือกตั้งราบรื่น จัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว    สำหรับ กปปส. คือ สามารถโค่นระบอบทักษิณได้ และ ปฏิรูปประเทศได้   สำหรับคนไทยก็คือ กลับคืนสู่สันติภาพ และ เศรษฐกิจเดินหน้าได้  

ผมขอร้องให้แต่ละฝ่ายได้โปรดพิจารณาแนวคิดเหล่านี้ซึ่งอาจนำไปพัฒนาต่อยอด  เพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่ทางออกแบบสันติได้โดยเร็ว   และนำมาซึ่งความสุขความเจริญของประชาชนคนไทยนะครับ  

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ยุทธศาสตร์888 : เศรษฐกิจไทยโตได้ 8%


ความจริงแล้ว ผมได้เตรียมยุทธศาสตร์888 นี้ไว้เพื่อโค่นพรรคขนาดยักษ์อย่าง "เพื่อไทย" ที่ได้ทรยศต่อเสียงของประชาชนในกรณี พรบ.นิรโทษกรรม  อย่างไรก็ดี  พรรคใหญ่อีกพรรคที่ไม่ลงต่อสู้ในศึกเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย  ดังนั้น ณ เวลานี้คงไม่ใช่เวลาที่จะคิดช่วยพรรคใด เพราะ การช่วยประเทศไทยต่างหากที่สำคัญ

ยุทธศาสตร์นี้คือ  8 นโยบายทางเศรษฐกิจ  ที่จะทำให้ ศก.ไทยโตได้ 8%  โดยมีขนาดใหญ่กว่านโบบายเดิมของคุณทักษิณ 8 เท่าตัว   แค่อ่านหัวเรื่องเท่านี้ท่านผู้อ่านก็คงคิดว่า "เพ้อเจ้อ" อย่างแน่นอน  แค่สถานการณ์บ้านเมืองปกติก็ยากที่จะทำได้อยู่แล้ว  ตอนนี้สถานการณ์การเมืองแตกแยกขัดแย้งกันอย่างรุนแรง  ซึ่งกระทบต่อการบริโภค การท่องเที่ยว และ การลงทุนอีกมากมายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ถ้าคิดว่าผมได้คาดหวังจากการเบิกจ่ายงบโครงสร้างพื้นฐาน พรบ.2 ล้านล้านบาท และ การบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านนะหรือ  นั่นไม่ใช่หรอกครับ  ดูเหมือนว่า2เรื่องนี้อาจจะไม่ง่ายนักเสียแล้ว  หรือหากคิดว่า ผมคาดหวังจากเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวอย่างเร็ว จนการส่งออกรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก  นั่นก็ไม่ใช่เลย

ถ้าหากจะทำให้โจทย์นี้ยากขึ้นอีกด้วยการบอกว่า  นโยบายเหล่านี้จะไม่เพิ่ม "ภาระการคลัง" ให้กับภาครัฐเลยแม้แต่น้อย  นี่จึงนับเป็นโจทย์ที่ยากอย่างยิ่งปีนี้ 8% จะทำได้อย่างไรกัน  เพราะขนาดอัดงบจำนำข้าวไปถึง 6-7 แสนล้านบาท โครงการรถยนต์คันแรกใช้เงินภาษีไปถึง 1 แสนล้าน  เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตเพียง 3% เท่านั้นเอง  โจทย์ยากขนาดนี้เชื่อว่า ไม่เพียงแต่นักเศรษฐศาสตร์ของทั้งภาครัฐและเอกชนเท่านั้น  แม้แต่รัฐมนตรีเศรษฐกิจหลายท่านก็คง "งุนงง" อย่างมากว่ามันจะทำได้จริงๆ นะหรือ เราลองมาดูกันครับ  นโยบายทั้ง 8 ที่ว่านี้ก็คืออะไรกันบ้าง

1.สินเชื่อไท้เก๊ก : ด้วยการยอมให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม  สมาชิก กบข. สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ผู้ถือหน่วย RMF LTF สามารถยืมเงินผ่านแบงก์รัฐ  โดยองค์กรที่บริหารเงินบำนาญเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อได้  โดยอัตราดอกเบี้ยก็อาจกำหนดไว้ราว 9% โดย 6% จ่ายให้กับแบงก์รัฐ 2% เป็นเงินภาษีรัฐ และ 1% เป็นค่าค้ำประกัน  ดังนั้น  คาดว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์ราว 8 ล้านคน  สร้างสินเชื่อเฉลี่ยหัวละ 8 หมื่นบาท  เป็นเงินถึง 6.4 แสนล้าน ซึ่งวงเงินนี้ใหญ่กว่ากองทุนหมู่บ้านของพรรคไทยรักไทยถึง 8 เท่าตัว   ประชาชนจากเดิมที่เคยผ่อนสินเชื่อเงินด่วนทั้งในและนอกระบบเดือนละ 3% ก็อาจเหลือแค่ 1% ของยอดสินเชื่อ ทำให้ประหยัดไปได้ 24% ต่อปีเป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท  ประเมินค่าตัวทวีที่ 2 เท่าจะเพิ่ม GDP ได้ 3 แสนล้านบาท  และ รัฐบาลได้ภาษีเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน

2. RMF-LTF ไท้เก๊ก : ลดวงเงินการหักลดหย่อนภาษีของเงิน 2 กองนี้ลงมาจาก 5 แสนบาทเหลือแค่ 1 แสนบาทต่อปี  ด้วยวิธีนี้จะทำให้เงินที่เคยไหลเข้าราว 4 หมื่นล้านต่อปีก็จะกลับไปใช้จ่ายแทนที่จะไหลเข้าลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น  ซึ่งจะไปหมุนสร้าง GDP ได้ 8 หมื่นล้านบาท  และ รัฐบาลได้ภาษีเพิ่ม 1 หมื่นล้าน

3.สลากไท้เก๊ก : หลังจากรัฐบาลได้เงินภาษีเพิ่มมาจาก 2 แหล่งข้างต้นเป็นเงินถึง 2.3 หมื่นล้าน ก็นำมาจัดทำเป็น "สลากไท้เก๊ก"  ออกเลขท้าย 2 ตัว รางวัลละ 2 พันบาท และ เลขท้าย 3 ตัวรางวัลละ 2 หมื่นบาท ทุกเดือนตามเลขท้ายบัตรประชาชนของคนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 48 ล้านคน  นี่จะสร้าง GDP เพิ่ม 5 หมื่นล้านบาท

4.แทนคุณไท้เก๊ก : ในระบบประกันสังคมมีเงินกองทุนเหลือถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท  ขณะที่ผู้ประกันตนนั้นมีหลายคนที่มีภาระให้เงินแก่บิดามารดาทุกเดือน  หาก สปส.จ่ายเงินให้กับบิดามารดาผู้ประกันตนซึ่งอายุเกิน 60 ปีคนละ 1 พันบาททุกเดือน  ก็อาจดูแลได้ถึง 3 ล้านคน  ตกเป็นเงิน 3.6 หมื่นล้านต่อปี ไม่มากเลยแม้เทียบกับเงินกองทุนของระบบประกันสังคม และเรื่องนี้ไม่เป็นภาระการคลังเลยแม้แต่น้อย  แต่หมุน GDP เพิ่มได้ 7 หมื่นล้านบาท

5. เลี้ยงบุตรไท้เก๊ก : เพิ่มอายุจาก 0-6 ปี  กลายเป็น 0-12 ปี  ของผู้ประกันตน  จ่ายเดือนละ 400 บาท  ดังนั้นรัฐไม่ต้องใช้เงินเลย แต่นำเงินจากกองทุนประกันสังคมเพิ่มอีกปีละ 5 พันล้านบาท  จะหมุน GDP ได้ราว 1 หมื่นล้านบาท

6. แทรกแซงไท้เก๊ก : กำหนดให้กองทุนบำนาญทั้งหลายต้องลงทุนในสัญญาซื้อเกษตรล่วงหน้าของประเทศไทยโดยเฉพาะ ข้าว และ ยาง  เป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 5% ของสินทรัพย์  เรื่องนี้จะทำให้เกิดการแทรกแซงสินค้าเกษตรเป็นเงินถึง 2 แสนล้านบาท   ทำให้ข้าว และ ยางมีราคาดีขึ้น  โดยที่กองทุนบำนาญให้เงินลงทุนเพียงเล็กน้อยราว 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น  แต่เพิ่มกำลังซื้อได้ถึง 20 เท่าผ่านตลาดล่วงหน้า  เรื่องนี้น่าจะเพิ่มราคาสินค้าเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 10% ดังนั้นเป็น GDP เพิ่มราว 1 แสนล้านบาท

7. ตลาดหุ้นไท้เก๊ก : กำหนดให้กองทุนบำนาญ (ซึ่งมี 4 ล้านล้านบาท จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่ต่ำกว่า 15% ของสินทรัพย์  ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยพยุงตลาดหุ้นได้อย่างดี  อาจมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นได้ถึง 2 แสนล้านบาทในปี 2557 ทดแทนการขายออกของต่างชาติได้อย่างดี   อาจเพิ่ม GDP ได้อีก 1 แสนล้านบาท  

8.ข้าวกล่องไท้เก๊ก : เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เงินภาครํฐ  แต่เนื่องจาก GDP ที่เพิ่มมา 7 รายการรวมแล้ว 7 แสนล้าน (หรือราว 6% GDP)  รัฐจึงมีรายรับจากภาษีเพิ่มขึ้นราว 1.2 แสนล้านบาท (17% ของ GDP ที่เพิ่ม)  สามารถนำมาทำโครงการนี้ได้สบายๆ คือ การทำข้าวกล่องแจก 8 แปดหมื่นหมู่บ้านๆ ละ 100 กล่องทุกวัน  หรือราวๆ 8 ล้านกล่องทุกวัน  เป็นข้าวแบบพื้นๆ เช่น ข้าวไข่เจียว ข้าวกระเพราไก่ เป็นต้น  โดยอาจแจกให้คนละ 2 กล่องทุกวัน  วิธีนี้จะช่วยคนจนโดยตรงได้ถึง 4 ล้านคนต่อวัน  ชาวบ้านก็จะประหยัดค่าอาหาร 2 กล่องไปได้ราววันละ 50 บาท หรือเดือนละ 1500 บาท  ต้นทุนในการจัดโครงการนี้น่าจะตกราว 5 หมื่นล้านบาทต่อปี  แต่ก็ช่วยลดสต็อกข้าวในโกดังลงไปได้บ้างพอสมควร  จะหมุน GDP ได้ราว 1 แสนล้านบาท

เมื่อรวมทั้ง 8 นโยบายจะเห็นว่าสามารถเพิ่ม GDP ได้ถึง  8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 6.5% GDP และ เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับต่ำๆ ปกติคือ 2% ต่อปีอยู่แล้ว  ดังนั้น  เป้าหมายที่เติบโตสูงได้ถึง 8% ต่อปีจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยาก  และ ที่สำคัญก็คือ ด้วยนโยบายเหล่านี้หนี้สินภาครัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่บาทเดียวครับ

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิกฤติไก่งวง : อย่าห่วงแต่การเมือง

แน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยเวลานี้  การเมืองยังคงร้อนระอุ  การเลือกตั้ง 2 กพ.ที่ผ่านไป แม้ไม่มีเรื่องราวปะทะกันมากนัก  แต่ก็ยังมีบางส่วนโดยเฉพาะภาคใต้ที่ไม่สามารถเปิดคูหาให้ลงคะแนนได้  สรุปก็คือมีราว 89.2% ของหน่วยเลือกตั้งที่เปิดให้ลงคะแนนได้  และ 45.8% คือสัดส่วนของประชากรที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง  ปัญหาก็คือ ยังคงต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเสริม อีกหลายครั้งเพื่อให้ได้ สส.ครบตามจำนวน  และ เปิดสภา และ เลือกนายกฯ ได้ซึ่งอาจกินเวลาอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ดี  ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้  ได้สอดแทรกเข้ามา  "วิกฤติไก่งวง"  คือ ชื่อที่ผมตั้งขึ้นเองครึ่งปีก่อนหน้าวิกฤติจริงนี้  เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเริ่มต้นจากประเทศ "ตุรกี" (อันดับ 17 ของโลก)   โดยวัดจากระดับสัญญาณเตือนภัย "Ruang Alarm" ที่มีค่าย่ำแย่ที่สุดใน 40 ประเทศใหญ่ของโลก  โดยค่านี้เกิดจากผลรวมของ ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP  3 ปีรวมเข้าด้วยกัน   ตุรกีมีค่านี้อยู่ที่ -22.4%   ซึ่งย่ำแย่พอๆ กับ ไทยในวิกฤติต้มยำกุ้ง (-21.2%)   แม้จะดีกว่า กรีซ (-44%) และ ไซปรัส (-34%) ในช่วงก่อนวิกฤติยูโรอยู่บ้างก็ตาม

แม้อาร์เจนติน่า ดูว่าจะมีปัญหาจากค่าเงินที่อ่อนลงอย่างเร็ว แต่ความจริงแล้วประเทศนี้มีค่าเงินแบบเป็น ทางการ และ ตลาดมืด ซึ่งอยู่ที่ระดับ 8 และ 13 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์ตามลำดับ   "ตลาดมืด" นั้นปกติแล้วสะท้อนอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริง  ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยหากอัตราเงินเฟ้อที่สูงระดับ 28% ของอาร์เจนตินา จะทำให้ระดับค่าเงินแบบเป็นทางการ  หากมีการผ่อนปรนค่าจำกัดในการซื้อเงินตราต่างประเทศ  จะอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ จากระดับ 8 เปโซไปใกล้เคียงกับ ระดับของ "ตลาดมืด"

ปัญหาของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จริงๆ จึงอยู่ที่ "ตุรกี" นั่นเอง ที่กังวลต่อการไหลออกของเงินทุน จึงประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย Repo แรงมากจากระดับ 4.5% ไป 10% ซึ่งเป็นระดับที่ช็อกผู้ประกอบการอย่างมาก  เพื่อรักษาเงินทุนไว้ไม่ให้ไหลออก  อย่างไรก็ดี  ประเทศตุรกี ตกอยู่ในสภาพที่ "ฟองสบู่แตก" อันเนื่องจาก กระแสเงินทุนที่ไหลเข้าในช่วงมาตรการ QE จะเปลี่ยนทิศไหลออกไปอย่างเร็วเมื่อมาถึงการลด QE ลง (อาจเทียบเคียงได้กับ BIBF ของไทยช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง)  และ นักลงทุนก็ไม่เชื่อมั่นอยู่ดีเนื่องจาก ปัญหาเรื่องของคดีคอร์รัปชั่น รวมถึง ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเรื้อรัง   ดัชนีตลาดหุ้น และ ค่าเงิน Lira ยังคงดิ่งลงต่อเนื่อง   โอกาสที่เชื้อโรคนี้จะแพร่กระจายไปยังตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ อย่าง BRICS นั้นมีไม่น้อยเลย และ ประเทศไทยเองย่อมหลีกหนีปัญหานี้ไม่พ้นเช่นกัน

ดังนั้นตอนนี้ไทยเราจึงมีปัญหาทั้ง "วิกฤติม็อบนกหวีด" และ "วิกฤติไก่งวง" เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติทับกันอยู่ ต่อจากนี้ผมจะนำเสนอแผนเพื่อสยบทั้ง 2 วิกฤตินี้   โดยผมเริ่มจากข้อเสนอให้รีบเร่งแก้ไขวิกฤติการเมืองไปก่อนเลย  ด้วยแผน "อรหันต์ไท้เก๊ก" ซึ่งมีกุญแจ 3 ดอก ดังนี้

1. นิมนต์ "พระสงฆ์" ชื่อดังของไทย 9 รูปมาเป็น "คนกลาง" เทศนาธรรมถ่ายทอดสด  เพื่อสลายความขัดแย้งรุนแรงของในประเทศไทย

2. "เริ่มต้น" ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง (ซ่อมเสริม) :  อันที่จริง กปปส.ก็ได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว  ด้วยการจัดทำแบบสอบถามเกี่ยวกับ "ประชามติ"  เราจะทำ "ประชามติ" กันทั่วประเทศ  เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายสำคัญๆ ในหลายเรื่อง  อาจถามว่า  โทษของคดีคอร์รัปชั่นควรทำอย่างไร?  ผู้ว่าฯ ควรมาจากการเลือกตั้งไหม? ตำรวจควรขึ้นกับใคร?   สภาประชาชน หรือว่า สภาผู้แทนฯ ดีกว่ากัน?   นี่จะเป็น "ประชาธิปไตยทางตรง" เพราะ สส.ใหม่จะมีหน้าที่แค่ยกมือตามเสียงของ "ประชามติ" เท่านั้น   ไม่ใช่  ยกมือตามคำสั่งนายทุนพรรค  ดังนั้น กปปส.น่าจะพอใจในเรื่องนี้

3.โค่นระบอบทักษิณ :  คุณยิ่งลักษณ์ควรออกมาทำ "ข้อเสนอชินวัตร" โดยสัญญาว่าจะยอมถอยเพื่อชาติ  หมายถึง  "ชินวัตรและญาติ" จะขอเว้นวรรคทางการเมืองตลอดอายุสภาฯ  หาก คุณสุเทพและพวก  ไม่คัดค้านขัดขวางการเลือกตั้ง และ ยอมสลายม็อบนกหวีดไป   การเลือกนายกฯ อาจใช้วิธี "ประชามติ" ว่าจะเลือกจาก สส.ท่านใดดี  แล้วให้ สส.ยกมือโหวตตามนั้น

ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับจ้องวิธีการสลายความขัดแย้งของประเทศไทยอยู่นั้น  ก้าวย่างสำคัญของคุณยิ่งลักษณ์นี้  อาจหมายถึง การยอมสละ "อำนาจ" ที่พึงจะได้รับตามระบอบ  เพื่อแลกกับ 2 สิ่งที่สำคัญกว่า คือ "ประชาธิปไตย" และ "สันติภาพ" ของประเทศไทย  ไม่แน่ว่าความหวังของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพก็อาจอยู่ไม่ไกล

ด้วยกุญแจ 3 ดอกนี้   จะเป็นผลดีต่อทั้ง 4 ฝ่าย ดังนี้คือ
1. ชินวัตร : เลือกตั้งราบรื่น  ได้จัดตั้งรัฐบาลเร็ว  ได้แสดงความใจกว้าง และ ได้ลุ้นโนเบลสันติภาพ
2. กปปส. :ได้ "เริ่มต้น" ปฏฺิรูปก่อนเลือกตั้ง (ซ่อมเสริม)  และ ได้โค่นระบอบทักษิณ (ยกแรก)
3. คนไทยและประเทศไทย : ได้ประชาธิปไตยทางตรง  ได้ปฏิรูป   ได้สันติสุขความปรองดองกลับคืนมา
4. โลก : ได้ท่องเที่ยว  ลงทุน และ ค้าขายกับไทยอย่างสบายใจดังเดิม

สำหรับแผนในการรับมือ "วิกฤติไก่งวง" ซึ่งเป็นวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลกนั้น ผมมีแผนที่จะได้เขียนในบทความหน้าที่มีชื่อว่า "ยุทธศาสตร์888" ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 8% โดยหนี้ภาครัฐไม่เพิ่มเลย  แทนที่จะเติบโตราว 3% หรือต่ำกว่าตามที่หลายๆ ฝ่ายได้คาดกันไว้  แน่นอนว่า  นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งประเทศจะต้องงแน่ๆ  เพราะหลักเศรษฐศาสตร์ธรรมดานั้นจะทำเรื่องแบบนี้ไม่ได้  แต่ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ทำได้สบายมากครับ