วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

เพราะประชานิยม หรือ เพราะงมไม่เจอต้นเหตุ

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นความผิดพลาดของวงการเศรษฐศาสตร์ ที่พยายามจะชี้ประเด็นโยนบาปว่า "นโยบายประชานิยม" คือ ต้นเหตุของวิกฤติการคลัง และ ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตามมา  ความจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่

แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้ว อย่างการรับจำนำข้าวราคาแพงลิ่วภาระภาครัฐหลายแสนล้าน และ นโยบายรถยนต์คันแรกที่ต้องเป็นภาระรัฐบาลถึง 1 แสนล้านบาท  อย่างไรก็ดี ภาระหนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP ของไทยยังยืนที่ 47% เท่านั้น และ ไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้วย

เมื่อไปดูที่ปัญหาของยูโรโซน แม้นานาชาติพยายามจะโยนบาปว่า นโยบายประชานิยม คือต้นเหตุวิกฤติเศรษฐกิจของกรีซ  และ ลัทธิเปรอง คือ ลัทธิมารร้ายที่กัดกร่อนเศรษฐกิจของ อาร์เจนติน่ามาช้านาน

แต่เมื่อมาดูตัวเลขจริงๆ บ้าง กลับพบว่า ประเทศสเปน มีหนี้ภาครัฐต่อ GDP เพียง 36% ก่อนวิกฤติยูโรโซน และ เพิ่มขึ้นมาเป็น 94% เมื่อ 6 ปีต่อมา ประเทศไอร์แลนด์ หนี้ภาครัฐต่อ GDP เพียง 25% ก่อนวิกฤติยูโรโซน และ เพิ่มขึ้นมาเป็น 124% เมื่อ 6 ปีให้หลัง  จะเห็นได้ว่า ก่อนการวิกฤติเศรษฐกิจนั้น  หนี้สินภาครัฐต่อ GDP ยืนอยู่ระดับต่ำมาก แต่สูงขึ้นอย่างเร็วเพราะ รัฐบาลต้องใช้เงินทุนมากมายเพื่ออุ้มสถาบันการเงินและ ช่วยประชาชนในด้านประกันสังคม

และประเทศไทย มีหนี้ภาครัฐ ต่อ GDP 15% ก่อนวิกฤติเพิ่มเป็น 58% หลังเริ่มวิกฤติต้มยำกุ้งไป 4 ปี ส่วน อาร์เจนติน่าปี 1998 มีหนี้ภาครัฐต่อ GDP เพียง 38% พุ่งสูงขึ้นถึง 166% หลังเริ่มวิกฤติไป 4 ปี เช่นกัน

นั่นหมายถึงอะไร...หมายถึง นโยบายประชานิยม ไม่ได้เป็นต้นเหตุทำให้หนี้สินภาครัฐต่อ GDP วิ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่เป็น วิกฤติเศรษฐกิจต่างหากที่เป็น "ต้นเหตุ" ที่ทำให้ภาครัฐต้องใช้เงินจำนวนมาก เพื่ออุ้มสถาบันการเงินที่อ่อนแอลงอย่างมาก จนก่อให้เกิด "วิกฤติการคลัง"  

และ การเกิด "วิกฤติเศรษฐกิจ" ก็ไม่ได้เป็นเพราะ นโยบายประชานิยมและวิกฤติการคลัง ที่เป็นต้นเหตุ แต่เป็นเพราะการเกิด "วิกฤติขาดดุลบัญชีเดินสะพัด" แบบหนักหน่วงและต่อเนื่องต่างหากซึ่งน่าจะมีสาเหตุหลักมาจาการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสม  โดยผมได้ตั้งชื่อว่าตัวชี้วัด Rueng Alarm ซึ่งคือ ผลรวมของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP 3 ปีต่อเนื่องเข้าด้วยกัน  โดยค่า Rueng Alarm  นี้จะบอกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ของประเทศต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และค่านี้จะย่ำแย่มากๆ ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจบ่อยครั้ง

เมื่อมาดู 2 ประเทศล่าสุดที่ต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ดูบ้าง โดยประเทศยูเครน หนี้ภาครัฐต่อ GDP ในระดับเพียง 41% (ต่ำกว่าไทยที่ 47% เสียอีก) แต่ค่า Rueng Alarm ที่ -20.7% และประเทศกาน่า ก็พบว่ามีค่าหนี้ภาครัฐต่อ GDP ในระดับเพียง 45% แล้วทำไมกาน่าจึงมีปัญหาเศรษฐกิจขณะที่ไทยยังสบายๆ  เพราะค่า Rueng Alarm นั้นย่ำแย่มากๆ ระดับ -36% GDP นั่นเอง คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหนักหน่วงแและต่อเนื่อง โดยมีการใช้จ่ายเงินเกินตัวอย่างมาก  

ดังนั้นผมขอเรียกร้องให้ IMF เร่งรีบออกมายอมรับว่า "นโยบายประชานิยม" และ "หนี้สินภาครัฐ" ไม่ใช่ต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่เป็น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่างหาก โดยควรเผยแพร่แนวคิดของ Rueng Alarm ไปทั่วโลก และออกกฏไปเลยว่า "ห้ามไม่ให้ประเทศใดมีค่า Rueng Alarm ที่ย่ำแย่กว่า -15%" มิเช่นนั้น IMF จะเข้าไปจัดการดูแลระบบตั้งแต่ต้นมือ  เชื่อว่าด้วยวิธีนี้ประเทศต่างๆ ที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF จะลดลงอย่างมากจนแทบไม่เหลือเลยก็เป็นไปได้  

"ตุรกี" (Rueng Alram ที่ -23.6%) คือประเทศใหญ่ที่อาจจะเป็นปัญหาได้มากที่สุด ณ เวลานี้ โดยขนาดเศรษฐกิจของตุรกียังใหญ่กว่าการรวม 4 ประเทศของยูโรโซน คือ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส กรีซ และ ไซปรัส เข้าด้วยกันเสียอีก นี่จึงอาจเป็นปัญหาใหญ่และภาระหนักที่ IMF อาจต้องเข้ามาดูแลในที่สุด โดยปัญหาจะยิ่งใหญ่ขึ้นอีกหากวิกฤติได้ลามไปสู่ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆที่ค่า Rueng Alarm ย่ำแย่อย่าง แอฟริกาใต้ บราซิล โคลัมเบีย และอินโดนีเซีย    

สำหรับประเทศไทย ควรเลิกโยนบาปให้ "นโยบายประชานิยม" เช่นเดียวกัน  แม้ว่าสิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะ ทำให้หนี้สินภาครัฐสูงขึ้นบ้างแถมยังเปิดช่องให้ทุจริตได้ แต่ก็ไม่ได้แย่มากถึงขั้นนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ  เมื่อเทียบกับ "นโยบายประชาไม่นิยม" อย่างการขึ้นภาษี VAT เป็น 8% ของญี่่ปุ่นเสียอีกที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 ปีนี้ที่ผ่านมา  

สำหรับประเทศไทยควรเผยแพร่ Rueng Alarm ออกไป  จับตาดูค่านี้ทั้งในประเทศไทยเอง และ ประเทศเพื่อนบ้านใน AEC เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสัญญาณเตือนภัยและระมัดระวังการเกิดฟองสบู่ที่จะก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันมี 2 ประเทศใน AEC ที่ส่งสัญญาณไม่ดีเลย โดยค่า Rueng Alarm ระดับ -21.4% คือ ประเทศกัมพูชา  แต่ที่หนักหนากว่านั้้นก็คือ ประเทศลาว มีค่า Rueng Alarm ที่ -73.8% ซึ่งเป็นระดับที่เหลือเชื่อมาก แทบจะไม่เคยพบเห็นมาก่อน คงเป็นเพราะการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของลาวนั่นเอง

และสุดท้ายคือ ไทยควรนำเอา "นโยบายประชาชมชอบ" มาใช้  สิ่งนี่จะแตกต่างจาก "นโยบายประชานิยม" เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องสร้างหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย แต่ใช้การ "ยืมพลัง" แทนเพื่อทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่พอใจและชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น  


วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ไฮเปอร์ลูป : ปฏิรูปคมนาคมไทยครั้งใหญ่

ไฮเปอร์ลูป (hyperloop)   ชื่อนี้คนไทยหลายคนคงรู้จักแล้ว  แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักดีนัก  นี่คือแนวคิดให้การคมนาคมแบบใหม่ที่ "อีลอน มัสก์"  เศรษฐีนักลงทุนชาวอเมริกันได้คิดขึ้น  จะทำให้สามารถวิ่งได้เร็วได้สูงสุดถึง 1.2 พันกม.ต่อชม. ภายในท่อที่ควบคุมความดัน   ประหยัดเวลาและพลังงานกว่าการเดินทางแบบอื่นๆ

แล้วยังไงละ.... คือ ผมคิดว่ามันจะดีกว่าไหม หากประเทศไทยจะปฏิรูปไปใช้ ไฮเปอร์ลูป เสียเลยซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากๆ  แทนที่จะปฏิรูปรถไฟความเร็วต่ำ  ไปสู่  รถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตามหลังญี่ปุ่น 100 ปี มาดูข้อดีของ "ไฮเปอร์ลูป"  ที่ผมอาจแปลเป็นไทยได้ว่า "ท่อยิ่งยวด"

1. เร็วกว่า : การเดินทางในท่อที่เกือบสุญญากาศ ทำให้แรงเสียดทานลดลงมาก  จึงสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 1.2 พันกม.ต่อชม.  ซึ่งเร็กว่าเครื่องบินที่ 900 กม.ต่อ ชม. และ เร็วกว่าสุดยอดของระบบรางของญี่ปุ่นที่ใช้พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้ายกรถไฟให้ลอยอยู่เหนือราง  หรือที่เรียกว่า Maglev  ที่ความเร็วเกือบ 600 กม.ต่อชม.ถึง 2 เท่า  และ เร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนที่วิ่งราว 300 กม.ต่อชม.ถึง 4 เท่าตัว
และ แน่นอนวิ่งเร็วกว่า รถไฟความเร็วปานกลางตามแผนที่วางไว้ 150 กม.ต่อ ชม.ถึง 8 เท่าตัว

2. ถูกกว่า : เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่  ประยุกต์มาจาก "ท่อส่งเอกสาร"  จึงไม่ต้องมีการวางรางเหล็ก ระบบสัญญาณ และ สายไฟฟ้าเลย   ต้นทุนการก่อสร้างมีการประเมินว่าน่าจะลดลงได้ครึ่งหนึ่ง จาก 600 ล้านบาทต่อ กม. ของรถไฟความเร็วสูง  เหลือเพียง 300 ล้านบาทต่อกม. เท่านั้นเอง

3. ประหยัดกว่า : มีการวางแผงโซลาร์เซลไปด้านบนท่อ  ดังนั้น การเดินทางนี้ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมากเหมือนรถไฟความเร็วสูง  เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก   ค่าก่อสร้างก็ถูกดังนั้น มีการประเมินว่า ค่าโดยสารจะอยู่ที่ราว 1 บาทต่อ กม. หรือพอๆ กับรถทัวร์ในปัจจุบันนั่นเอง  ซึ่งต่ำกว่า ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงที่ประเมินกันไว้ถึง 2.5 เท่า

แคปซูลของไฮเปอร์ลูป จะบรรจุผู้โดยสารได้ 28 คน  และ อาจออกได้ทุกๆ 2 นาที  จึงขนส่งผู้คนและสินค้าได้จำนวนมาก  โดยแทบไม่มีต้นทุนพลังงาน   เป็นการเปลี่ยนจาก "ระบบราง" ไปสู่ "ระบบท่อ"

ผมขอคาดการณ์ 3 เรื่องเกี่ยวกับ ไฮเปอร์ลูปไว้  เผื่อว่า จะได้เป็น "มิสเตอร์ไฮเปอร์ลูปของไทย" บ้าง

1. ประเทศไทยตัดสินใจเลือกไฮเปอร์ลูป :  หลังจากบทความนี้เผยแพร่ต่อสาธารณะ  คนไทยได้ถกเถียงกันอย่างมาก ว่าจะปฏิรูปรถไฟความเร็วต่ำ  ไปสู่ ความเร็วปานกลาง ความเร็วสูง หรือ ไฮเปอร์ลูปดี  จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ของ ไฮเปอร์ลูป   ทั้งในด้านเทคโนโลยี  ความปลอดภัย และ ต้นทุน  เมื่อระดมสมองจากหลายฝ่ายแล้ว  พบว่า  เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนอะไร  หากได้ความช่วยเหลือเล็กน้อยจากต่างชาติ  วิศวกรไทยก็สามารถสร้างได้สบายๆ  แถมปลอดภัยมาก  ต้นทุนการก่อสร้างต่ำกว่าที่คาดไว้เดิมเสียอีก   ท่านผู้มีอำนาจจึงอมุมัติให้สร้าง  "ไฮเปอร์ลูป"
           
โดยช่วงแรก 4 เส้นทางสั้นๆ คือ สายเหนือถึงพิษณุโลก   สายอีสานถึงโคราช   สานตะวันออกถึงพัทยา และ สายใต้ถึงหัวหิน   เพื่อดูผลสัมฤทธิ์   ปรากฏว่าสำเร็จอย่างงดงาม  ใช้เวลาเพียง 10 นาที คนจาก กทม.ก็ไปเดินเล่นที่หัวหิน และ พัทยาได้แล้ว  เป็นที่ตื่นเต้นไปทั่วโลก    เรื่องนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ไทย เพราะ ได้เปลี่ยนสถานะจากผู้ตาม ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้  ไปเป็นผู้นำ 2 ประเทศนั้นได้เลย  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในรอบครึ่งศตวรรษนี้

2. ทั้งภูมิภาค AEC ร่วมใช้ไฮเปอร์ลูป : เมื่อเห็นประเทศไทยทำสำเร็จ  ประเทศใน AEC ก็ต้องการแบบเดียวกันด้วย 3 เหตุผล คือ เร็วกว่า-ถูกกว่า-ประหยัดกว่า   เครือข่ายจึงขยายออกไปอย่างมาก  โดยไทยได้วางไว้ 2 ฮับ คือ กทม.เชื่อมไปพม่าที่ทวาย และ เชื่อมไปเวียดนามที่เมืองโฮจิมินห์      ส่วนขอนแก่น เชื่อมพม่่าที่เมียววดีและย่างกุ้ง  เชื่อมเวียดนามตอนกลางที่ ดานัง   และทั้ง 2 เมืองเชื่อมกับ ประเทศจีนที่ คุนหมิง

เครือข่ายไฮเปอร์ลูป จึงกระจายไปทั่วภูมิภาค และ เป็นการคมนาคมความเร็วสูงหลักของภูมิภาคนี้  นอกจากนี้ยังกระจายไปยัง  ภูมิภาคเอเชียใต้ และ จีนตอนใต้อีกด้วย

3. ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจของไฮเปอร์ลูป :  ไฮเปอร์ลูปได้สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ  ทำให้เศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะไทย  เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดนานนับทศวรรษ   โดยทั่วโลกยอมรับให้ไทยเป็นผู้นำในด้านการคมนาคมแบบใหม่ที่ไม่ใช่ "ระบบราง"  แต่เป็น "ระบบท่อ"

แต่เรื่องราวทั้ง 3 นี้จะเป็นผลไม่ได้เลย  หากท่านผู้มี อ.ไอเดียอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)  รวมถึง ท่านผู้มีอ.อำนาจอย่าง คณะรัฐมนตรี (ครม.)   ไม่ร่วมกันแสดง อ.อุดมการณ์ที่มุ่งมั่นพัฒนาประเทศชาติไทยให้นำหน้า ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้  แทนที่จะเดินตามหลังเป็น 100 ปี    ไม่เพียงแต่ผมเท่านั้น  ผมเชื่อว่ามีคนไทยอีกไม่น้อยเลย  หากได้อ่านเรื่องนี้จบแล้ว  จะหันมาเชียร์ "ไฮเปอร์ลูป" แทนที่ "รถไฟความเร็วปานกลาง" เป็นแน่ครับ