วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วิกฤติปลาร้า อย่าชะล่าใจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 115 เดือน รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายเงินภาครัฐ และ ลงทุนสาธารณูปโภค น่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ราว 4-5% ในปี 2558 และ ประเทศไทยก็เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ได้อย่างสวยงาม  นั่นเป็นภาพที่ดูดีมากสำหรับประเทศไทย  แต่เดี๋ยวก่อน....

วิกฤติปลาร้า คือ วิกฤติที่ผมตั้งชื่อให้เอง โดยเป็นวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย ซึ่งก็คือ ประเทศลาวนั่นเอง  โดยลาวได้รับการเตือนจาก IMF มาตั้งแต่เดือน พ.ย.ปี 2556 ให้ระมัดระวังการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ดี  เพราะ มีการขาดดุลการคลัง และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาก  อาจทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้ในที่สุด

เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ  ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือ ลาวมีการขาดดุลการคลังถึง 12.4% GDP เมื่อปี 2556 โดยมีหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ระดับ 62% ซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่สูง นอกจากนี้ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องรุนแรง 3 ปีซ้อน (ค่า Rueng Alarm ที่ -73.8%) ซึ่งเป็นระดับปรอทแตกอันตรายมากๆ  ขณะที่ผมกำลังกังวลกับ "ลาว" อยู่นั้น สายตาก็เหลือบไปเห็นตัวเลขของ มองโกเลีย ซึ่งอันตรายกว่าเสียอีก คือ ค่า Rueng Alarm ที่ -92%  แทบไม่เชื่อสายตาว่าจะมี 2 ประเทศแบบนี้ในโลกใบนี้ด้วย

การที่ลาวซึ่งกำลังจะเข้าเป็น 1 ใน AEC เช่นเดียวกับประเทศไทย  ลาวมุ่งมั่นพัฒนาชาติให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพื่อตามให้ทันไทย  โดยมุ่งเน้นในด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยเขือนพลังน้ำ  การสื่อสารด้วย 4G   การคมนาคมด้วยรถไฟความเร็วสูง   อย่างไรก็ดี  การวิ่งเร็วเกินไปถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับประเทศลาว   หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงของการรวมตัวปีหน้านั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อ AEC ทั้งภูมิภาคได้  โดยประเทศที่มีอันดับเครดิตไม่ดีนักอย่าง กัมพูชา  เวียดนาม และ อินโดนีเซีย (1 ใน Fragile Five) ก็อาจมีปัญหาทางเศรษฐกิจตามไปด้วย

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำก็คือ รัฐบาลไทย และ ธปท. ควรส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งการเงินการคลังไปยังประเทศลาวโดยด่่วน เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ซึ่งอาจจะสามารถป้องกัน "วิกฤติปลาร้า" ได้   นอกจากจะเป็นการแสดงน้ำใจในฐานะบ้านพี่เมืองน้องแล้ว  ประเทศไทยยังได้แสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำ AEC ที่ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ต้นมือ  เพื่อให้การดำเนินการรวมเป็นหนึ่งเดียวของ AEC ได้อย่างราบรื่นไร้อุปสรรคใดๆ

อย่างไรก็ดี  "วิกฤติปลาร้า" อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะ ลาววิ่งมาอย่างเร็วจนถึงขอบหน้าผาเสียแล้ว และเรื่องนี้อาจจะเป็นบททดสอบแรกสำหรับบ้านหลังใหญ่อย่าง AEC ว่าจะสามารถบริหารจัดการวิกฤติเศรษฐกิจของสมาชิกได้อย่างไร







วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

3 ปรอทวัดไข้ Fragile Five

เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายคนคงรู้จัก Fragile Five เป็นอย่างดีแล้ว  ซึ่งหมายถึง ประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินทุนต่างชาติ  โดยโครงสร้างคือมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ได้แก่ ประเทศ บราซิล อินเดีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และ ตุรกี หรือรวมๆ แล้วเรียกว่ากลุ่มประเทศ "BISIT" นั่นเอง

บทความนี้จะนำเสนอ ปรอทวัดไข้ 3 ชนิด เพื่อวัดดูว่าประเทศใดกันแน่ที่ความเสี่ยงสูงสุดและควรจะต้องจับตามองเป็นพิเศษ ผมได้นำเอา ประเทศไทย รวมเข้าไปด้วยเพื่อทำการวัดไข้ด้วยกัน โดยประเทศเหล่านี้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  จากการที่เศรษฐกิจประเทศจีน ญี่ปุ่นและยุโรป ได้ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด  ขณะที่สภาพคล่องของโลกก็ลดลงจากการที่สหรัฐฯ กำลังจะยกเลิกมาตรการ QE ค่าเงินของประเทศทั้ง 5 นี้ได้อ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด  เรามาลองดูตัวชี้วัดทั้ง 3 กัน

1.TE Rating นี่คือ ดัชนีวัดค่าที่คิดค้นขึ้นโดย www.tradingeconomics.com เพื่อใช้วัดความเสียงของประเทศต่างๆ โดยถ่วงน้ำหนักจาก 5 ปัจจัยเท่าๆ กัน คือ 1.อันดับเครดิตโดย S&P  2.อันดับเครดิตโดยมูดี้ส์  3.อันดับเครดิตโดยฟิตซ์  4.ค่าชี้วัดทางเศรษฐกิจ 5.ตลาดเงินตลาดทุน โดยจะได้ค่าดัชนีออกมาเป็นตัวเลขทำให้เข้าใจได้ง่าย และ สามารถวัดการเปลี่นแปลงได้ง่ายด้วย  โดยประเทศที่ปลอดภัยมากๆ จะมีค่านี้สูง เช่น สวิตเซอร์แลนด์ (99.5) ส่วนประเทศที่เสี่ยงมากก็จะมีค่านี้ต่ำ เช่น กรีซ (5.8)

ผมต้องขอเปิดหมวกคารวะทีมงานที่ได้สร้างดัชนี้นี้ขึ้นมา เพราะต้องทุ่มเทผู้เชี่ยวชาญและเก็บข้อมูลมากมายเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ผมพบข้อบกพร่องของดัชนีชี้วัดนี้แล้ว ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป เราลองมาเรียงความเสี่ยงจากมากไปน้อยของ Fragile Five โดยปรอทวัดไข้อันนี้กันดีกว่า
1.ตุรกี (44.6) 2.อินเดีย (47.1) 3.อินโดนีเซีย (48.5) 4.บราซิล (50.7) 5.แอฟริกาใต้ (57.4) และ 6.ไทย (58.8)

จะเห็นได้ว่าข้อบกพร่องของ TE Rating ก็คือ การทำให้ความเสี่ยงของแอฟริกาใต้ มาอยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แทนที่จะอยู่ใกล้เคียงกับประเทศ Fragile Five  อย่างไรก็ดี  การที่ "ตุรกี" มีค่าความเสี่ยงสูงสุดในกลุ่มนี้ นับได้ว่าน่าจะถูกต้อง โดยประเทศกลุ่มนี้จะมีค่า TE Rating อยู่ระหว่าง 40-50 โดยไทยจะอยู่ระดับปลอดภัยกว่านั้น  เมื่อดู 2 ประเทศล่าสุดที่ขอความช่วยเหลือจาก IMF ก็จะพบว่าค่า TE ชี้ความเสี่ยงได้อย่างดี คือ ยูเครน (28.8) และ กาน่า (32.5)  อาจสรุปได้สั้นๆ ว่า หากค่านี้ต่ำกว่าระดับ 40 แล้วละก็ ควรเตรียมมอบตัวเข้าโรงเรียน IMF ได้เลย และ ตุรกีนั้นใกล้จุดนี้ที่สุด

2.บอนด์ยีล 10 ปี โดยมีแนวคิดจากกฎข้อแรกของการลงทุนว่า "ความเสี่ยงย่อมควบคู่ไปกับผลตอบแทนเสมอ" ดังนั้น  ประเทศที่มีค่าความเสี่ยงสูง จึงควรมีค่าผลตอบแทนระยะยาวที่สูงตามไปด้วย โดยเรียงลำดับได้ดังนี้
1.บราซิล (12.2%) 2.ตุรกี (9.4%) 3.อินเดีย (8.5%) 4.อินโดนีเซีย (8.5%) 5.แอฟริกาใต้ (8.2%) 6.ไทย (3.4%)  จะเห็นว่า บราซิลเสี่ยงสุด รองลงมาคือ ตุรกี ส่วนไทยยังสบายๆมาก อาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่มีบอนด์ยีลด์สูงกว่า 8% จัดได้ว่าเสี่ยง

3.Rueng Alarm คือ การรวมขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP 3 ปีล่าสุดเข้าด้วยกัน อาจเรียงลำดับความเสี่ยงได้ดังนี้
1.ตุรกี (-23.6%)  2.แอฟริกาใต้ (-13.3%)  3.อินเดีย (-10.6%) 4.บราซิล (-8.1%) 5.อินโดนีเซีย (-5.9%) และ 6.ไทย (+0.1%)  จะเห็นว่า ตุรกีเสียงสุด และ ไทยเสี่ยงน้อยสุด ยังสบายๆมาก

ถ้าถามว่า ผมคิดว่า ปรอทวัดไข้ อันไหนที่น่าจะใช้ได้ดีสุด ผมขอตอบว่า "Rueng Alarm" นะครับ เหตุผลคงไม่ใช่เพระว่าผมได้คิดค้นดัชนีชี้วัดตัวนี้  แต่เป็นเพราะค่านี้ไม่เพียงแต่ใช้วัดไข้ประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น  แต่ยังใช้เตือนภัยประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์มาแล้ว  โดยที่ปรอทวัดไข้อีก 2 อันที่เหลือจะใช้ไม่ได้เลย เพราะ สหรัฐฯ เป็นมีอันดับเครดิตที่ดีมาก และ ดอกเบี้ยระยะยาวก็ต่ำมากด้วย
 
ส่วนประเทศที่ Rueng Alarm ชี้วัดความเสี่ยงถึงขั้น "ปรอทแตก" นั้น แม้เป็นประเทศเล็กแต่อยู่ใกล้ไทยมากๆ ท่านผู้อ่านอาจเดาถูกก็ได้ว่าคือ "ประเทศลาว" นั่นเอง  โดยมีค่า Rueng Alarm ที่น่าตกใจระดับ -73.8% ผมคิดว่า ธปท.ควรเร่งรีบส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระหว่างประเทศไปเพื่อให้คำแนะนำแก่ประเทศลาว ในการลดไข้ชะลอเศรษฐกิจ ทั้ง 3 ด้าน คือ 1.ด้านปริวรรต ด้วยการยอมให้ค่าเงินกีบอ่อนลง 2.ด้านการเงินด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และ 3.ด้านการคลัง ด้วยการรัดเข็มขัด จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดจากระดับราว 8% เหลือ 4% สัก 2-3ปี ก็อาจช่วยให้ลาวไม่ต้องถูกหามเข้า รพ.IMF โดยหากเกิดวิกฤติในลาวจริงๆ น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาคอีสาน รวมไปถึง กระทบต่อความเชื่อมั่นของกระแสเงินทุนต่างชาติในภูมิภาค AEC ไปด้วย

ต่อจากนี้ควรจับตาดูใกล้ชิดว่า ประเทศใหญ่อย่างตุรกีที่มีไข้สูงมาก หรือว่า ประเทศเล็กๆอย่างลาวที่มีไข้สูงสุดยอด กันแน่ จะเป็นประเทศที่จุดชนวนให้เกิดวิกฤติในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนั่นจะมีผลต่อชื่อของวิกฤติว่าจะเป็น "วิกฤติไก่งวง" หรือ "วิกฤติข้าวเหนียว" กันแน่ครับ