4ทฤษฎีใหม่ ใช้พิชิตวิกฤติโลก
นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ได้เริ่มกังวลต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่โดยเฉพาะในเขตยูโรโซนที่ค่อนข้างชัดเจน โดยนโยบายการเงิน และ การคลัง ได้ถูกใช้ไปเกือบจะหมดทุกกระบวนท่าแล้ว แต่ตัวเลขเศรษฐกิจกลับเริ่มแย่ลง และ ประเทศจีนก็ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวรวมถึงอาจเกิดปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ แตกได้อีกด้วย ดังนั้น โลกอาจต้องเตรียมทฤษฎีใหม่ไว้เพื่อป้องกันและรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ครั้งนี้
เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ประกอบไปด้วย 4 ทฤษฎีใหม่ใน 4 ด้านสำคัญของเศรษฐศาสตร์ คือ การเงิน การคลัง อัตราแลกเปลี่ยน และ เงินบำนาญ โดยอาจจำแนกได้ดังนี้
1.ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) เป็นทฤษฎีการ "ยืมแรงสะท้อนแรง" จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะจากกองทุนบำนาญ และ แบงก์รัฐมาช่วยรัฐบาล ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มโดยตรง ใช้แนวคิดของไท้เก๊กคือ "ในนิ่งมีเคลื่อน" ด้วยการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในโครงการประเภท "เคลื่อนเป็นนิ่ง" หรือ โครงการที่มีค่าตัวทวีติดลบ ด้วยทฤษฎีนี้จะช่วยปลดล็อค "กับดักเคนส์" (สภาพที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องโดยเศรษฐกิจแทบไม่กระเตื้อง ไม่ว่าจะรัดเข็มขัดหรือคลายเข็มขัดก็ตาม) ทำให้สามารถรัดเข็มขัดการคลัง พร้อมๆ ไปกับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ (austerity with stimulus) ทั้งๆที่ในกรอบทฤษฎีการคลังปัจจุบัน 2 เรื่องนี้ขัดแย้งกัน ทำพร้อมไปด้วยกันไม่ได้เลย
ปัจจุบันทฤษฎีเคนส์ ได้ถูกลอกเลียนแบบเฉพาะ "เปลือกนอก" แต่ "จิตวิญญาณ"ของเคนส์ ไม่ได้ตามมาด้วย 3 เรื่อง
- ทฤษฎีเคนส์ เชื่อในเรื่องของการย้ายเงินจาก "คนรวยสู่คนจน" ผ่านพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกกลับใช้วิธีย้ายเงินจาก "คนจนสู่คนรวย" โดยผู้ประกันตน และ ข้าราชการรายได้น้อย ถูกบังคับออมเงินผ่านระบบประกันสังคม และกบข. โดยราว 70-80% ของเงินนั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยเงินจำนวนมากวิ่งเข้ากระเป๋านายทุนรับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึง ตกหล่นเข้ากระเป๋านักการเมือง และ ข้าราชการขี้ฉ้อ ไปกับการคอร์รัปชั่น
- ทฤษฎีเคนส์ เชื่อในแนวคิด "ในนิ่งมีเคลื่อน" คือเงินฝากเฉยๆ ในธนาคารถูกนำมาใช้ลงทุนโดยภาครัฐ แต่ปัจจบันเปลี่ยนเป็นแนวคิด "ในเคลื่อนมีนิ่ง" คือ นำเอาการใช้จ่ายของภาครัฐไปออมกับ กองทุนบำนาญเงินออมต่างๆ จมเงินไว้เฉยๆ โดยไม่ทำให้เกิดการหมุนรอบเศรษฐกิจแต่อย่างใด
- ทฤษฎีเคนส์ มีแนวคิดของอนาคตว่า "ภาระตกที่กลุ่มใหญ่ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเล็ก" คือ ให้คนกลุ่มใหญ่โดยเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นฐานของ "พีระมิด" เติบโตเป็นกลุ่มวัยทำงาน และ ช่วยเหลือคนชราซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กของสังคม ขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นแนวคิด "ภาระตกที่คนกลุ่มเล็ก เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่" เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนเป็น "โอ่งน้ำ" เด็กและเยาชนจึงเป็นกลุ่มเล็กของสังคม เด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงทุกปี ขณะที่คนชราเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ ทฤษฎีเคนส์จึงเปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างมาก และ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่เคนส์คาดหวัง
2.ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก (Taiji Monetary Theory) คือ แนวคิดที่เชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายของนโยบายการเงิน ก็เพื่อดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หาใช่เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่
2.1 การขึ้น หรือ ลด อัตราดอกเบี้ย จึงเป็นไปเพื่อ ชะลอ หรือ กระตุ้น เศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามระดับศักยภาพ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงไม่สกัดเงินเฟ้อ แต่เป็นการสกัดการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อแย่ลงด้วยซ้ำ จากผลต้นทุนดอกเบี้ยที่ส่งไปยังผู้ผลิตและประชาชนที่ติดหนี้ เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นก็ยิ่งต้องขึ้นดอกเบี้ยและก็ยิ่งทำให้เงินเฟ้อ เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจึงติด "กับดักเงินเฟ้อ"
2.2 สำหรับประเทศพัฒนาแล้วนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยติดดินแต่เศรษบกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว จึงได้มีแนวคิดใหม่แบบ "การเงินสุดขั้ว" ด้วยการเสนอให้ธนาคารกลาง ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาถึงระดับ "ติดลบ" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยลดภาระของชนชั้นกลางและคนจนในเรื่องของค่าเช่า และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น วิธีนี้จะผลักดันสภาพคล่องที่นอนจมในระบบแบงก์ออกไป เพื่อส่งเสริมการบริโภคและลงทุน รวมไปถึง การฟื้นฟูการจ้างงาน และ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย จึงช่วยปลดล็อค "กับดักสภาพคล่อง"
3.FX ไท้เก๊ก หรือ ทฤษฎีซานฟง 333 (Sanfeng 333 Theory) ผมตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแด่ปรมาจารย์มวยไท้เก๊ก เป็นแนวคิดเพื่อใช้เตือน และ แก้ไขวิกฤติจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสม คือ พิจารณการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหากเกินกว่า 3% GDP ต่อเนื่องกัน 3 ปี และ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีมีส่วนต่าง (spread) จากประเทศอ้างอิงหลัก (อเมริกา หรือ เยอรมัน)เกินกว่า 3% นั่นสะท้อนว่า ประเทศนั้นๆ มีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจตนเองเสียแล้ว
ด้วยทฤษฎีนี้โลกก็น่าจะหลีกเลี่ยงวิกฤติ เตกีล่าในเม็กซิโก และ ต้มยำกุ้งในไทย รวมถึง วิกฤติในอาร์เจนติน่า ได้ไม่ยาก เพราะ ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสม ทำให้ค่าเงินแข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง หมายถึง การใช้จ่ายเงินเกินตัวอย่างต่อเนื่อง นำพาไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด โดยสถานการณ์นี้กำลังเกิดกับ ประเทศชายขอบยูโรโซน (กรีซ โปรตุเกส สเปน อิตาลี) รวมไปถึง ประเทศเวียดนามในเอเชียอีกด้วย ทฤษฎีนี้จะช่วยปลดล็อค "กับดักยูโร" ได้
ทฤษฎีนี้จะชี้ประเด็นได้ว่า "เงินยูโร" คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของโลกที่ผูกประเทศที่แตกต่างกันมากไว้ด้วยกัน โดยมองในประเด็นของการลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน อย่างไรก็ดี ได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นก็คือ "ความสมดุล" หากแบ่งเงินเป็น 3 สกุล แข็งแรง-ปานกลาง-อ่อนแอ เป็น Euro, Euro-BIS (เบลเยี่ยม อิตาลี สเปน) และ Euro-PIG (โปรตุเกส ไอร์แลนด กรีซ)โดยลดค่าเงินลง 10% สำหรับ Euro-BIS และ 20% สำหรับ Euro-PIG ก็จะช่วยลดหนี้ภาครัฐของกรีซลงได้กว่า 30% GDP และจะช่วยให้ดึงสมดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอ่อนแอกลับมาได้ จึงลดการพึ่งพิงหนี้สินต่างประเทศลง นี่จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ไม่ใช่การซื้อเวลาด้วยการสนับสนุนเงินกู้ผ่าน EU, EFSF และ IMF อย่างที่ผ่านมา
เชื่อได้ว่า หากผู้นำประเทศพัฒนาแล้วทั้งยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น ได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจจะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก เพราะ 3 ทฤษฎีใหม่ข้างต้นคือ การปลดล็อค "กับดักเศรษฐกิจ" ที่ผูกมัดเศรษฐกิจของพวกเขามานานหลายปี อันเนื่องจากดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เก่าๆ ผิดพลาด
4.ทฤษฎีบำนาญไท้เก๊ก (Taiji Pension Theory) คือ ทฤษฎีที่พยายามดูแลกองทุนบำนาญอย่างประกันสังคม ให้สามารถรักษาเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการจ่ายบำนาญชราภาพได้ โดยไม่หมดลงภายใน 30 ปีข้างหน้าอย่างที่คาดการณ์กันไว้ หากเป็นทฤษฎีปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมต้องเพิ่มเงินสมทบ หรือ ยืดอายุการเริ่มต้นจ่ายบำนาญ หรือ เสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลเสียต่อผู้ประกันตน
แต่ด้วยทฤษฎีใหม่ เช่น การยอมให้ผู้ประกันตนสามารถยืมเงินตนเองได้ 9 ส่วน (บัตรบำนาญ999) โดยให้ สปส.เก็บค่าค้ำประกันเงินกู้ราว 1.5% ของยอดเงิน ก็จะเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้กับกองทุนประกันสังคมโดยไม่ต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเลย และหากยังไม่เพียงพออีก ในอีก 15-20 ปีข้างหน้าสิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ การออกพันธบัตร สปส.ราวปีละ 1-2 แสนล้าน ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายกับทฤษฎีเคนส์ คือ กองทุนประกันสังคมสามารถกู้ยืมเงินได้ เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการจ่ายเบี้ยบำนาญชราภาพ ประคองสถานการณ์ไว้จนกว่า โครงสร้างประชากรจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นในที่สุด นี่คือการปลดล็อค "กับดักประกันสังคม" นั่นเอง
ทั้ง 4 ทฤษฎีนี้ จึงสามารถถูกนำไปใช้เพื่อปลดล็อค "กับดักเคนส์" ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ให้สามารถรัดเข็มขัดการคลังพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ปลดล็อค "กับดักสภาพคล่อง"ผ่านนโยบายการเงินสุดขั้วอีกด้วย นอกจากนี้ยังไปใช้เพื่อปลดล็อค "กับดักยูโร" ในเขตยูโรโซน ปลดล็อค "กับดักเงินเฟ้อ"ในประเทศกำลังพัฒนาด้วยการลดแทนการขึ้นดอกเบี้ย และ สุดท้ายคือปลดล็อค "กับดักประกันสังคม" ที่ผู้ประกันตนทั้งออมเงินและกู้เงินในเวลาเดียวกันและทำให้จนลงเรื่อยๆจากส่วนต่างดอกเบี้ย แถมเงินกองทุนจะหมดลงในเวลา 30 ปีข้างหน้า นี่จึงเป็นการปลดล็อค 5 กับดักอันตรายนี้ได้ทั้งหมด และ ช่วยกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกเอาไว้ได้