วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เหลื่อมล้ำไท้เก๊ก

นี่คือ ทฤษฎีที่ 3 ของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก"   โดยปัญหาของความเหลื่อมล้ำนั้นมีมานานแล้วทั้งในประเทศไทย และ ประเทศอื่นๆ   ลองมาดูว่าเราจะแก้ไขปัญหาในจุดนี้ทั้งในมุมมองของเศรษฐกิจ สังคม อย่างไรกันได้บ้าง

ด้วยวิถีไท้เก๊ก  คือจะเพิ่มแนวทางจาก 2 กลายเป็น 4  โดยปัจจุบันการพัฒนาประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ "ศูนย์กลาง AEC"  อีกด้านก็คือพัฒนาเพื่อ "ลดเหลื่อมล้ำ"  แต่ 2 เรื่องนี้ไปด้วยกันได้ยากเหลือเกิน เราจะทำให้ไปด้วยกันได้อย่างไร  มาดูวิธีปัจจุบันก่อน

1.การพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง  โดยใช้ กทม.เป็นศูนย์กลาง  วิ่งไป พิษณุโลก, นครราชสีมา, ระยอง และ หัวหิน   ก็จะพบว่าวิธีนี้จะทำให้ กทม.เป็นศูนย์กลางคมนามคมทั้งทางอากาศ และ ระบบราง  อย่างไรก็ดี  มีโอกาสทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นไปอีก  เพราะ กทม.จะรวมศูนย์ความเจริญเอาไว้ และ ประเทศไทยก็ยังคงเน้นการเติบโตแบบ "โตเดี่ยว" ต่อไปอีกนานในอนาคต

2.การพัฒนาด่านชายแดน และ รถไฟรางคู่   ด้วยวิธีนี้เป็นการกระจายความเจริญออกรอบนอก กทม.และปริมณฑล ไปสู่ชนบทโดยอย่างไรก็ดี   ไม่ได้พัฒนาให้ประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางของ AEC ได้  

และแล้วเราก็มาดูอีก 2 ทางที่เหลือ  
3. ไม่พัฒนาเป็น "ศูนย์กลาง AEC" และ ยังเพิ่มเหลื่อมล้ำอีกด้วย  เช่น โครงการรถยนต์คันแรก  ไม่เพียงไม่พัฒนาการใช้ระบบรางของประเทศไทย   ยังทำให้เกิดปัญหาการจราจร  ปัญหามลพิษ  และ ปัญหาการใช้น้ำมันฟุ่มเฟือยตามมาอีกมาก   

4. นี่จึงเป็นน่าจะเป็นคำตอบของประเทศไทย คือ การพัฒนาสู่ศูนย์กลาง AEC และ ยังลดความเหลื่อมล้ำด้วย ซึ่งก็คือ วิธีเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาจาก กทม.แบบโตเดี่ยว เพิ่มเป็น  "ไตรนคราแห่งสยาม"  โดยวางตำแหน่งให้  "ขอนแก่นมหานคร" เป็นเมืองหลวงของ AEC เหนือ   และ  "สงขลามหานคร"  เป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงกับ AEC ใต้ ซึ่งมี 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย  ซึ่งที่จริงแล้ว AEC ใต้มีขนาดของ GDP สูงกว่า 7 ประเทศที่เหลือถึง 2 เท่าตัว    การสร้าเมืองให้เจริญแบบโตคู่ หรือ โต 3 เมือง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของภูมิภาคลงได้  เช่น  กรณีของประเทศญี่ปุ่นมี โตเกียว โอซาก้า ประเทศเกาหลีใต้ ก็มี โซล ปูซาน   ประเทศจีน ก็มี  ปักกิ่ง  เซี่ยงไฮ้ และ กวางเจา

โดย "ขอนแก่น" ควรลากรถไฟความเร็วสูงเข้าไป 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นเหนือใต้  จาก คุนหมิง-เวียงจันทน์-ขอนแก่น-กทม.-ทวาย      2.เส้นตะวันออกตก  จาก ย่างกุ้ง-พิษณุโลก-ขอนแก่น-สะหวันนะเขต-ดานัง  3.เส้นอาคเนย์จาก   ขอนแก่น-นครวัด-พนมเปญ-โฮจิมินห์    แม้จะสร้างเส้นทางยาวขึ้นแต่ประเทศไทยอาจจะจ่ายน้อยลง  นี่คือ แนวคิด "สร้างยาวขึ้นแต่จ่ายน้อยลง"    เพราะเส้นทางเป็นการเชื่อม 6 ประเทศเข้าด้วยกัน  (ไทย จีน ลาว พม่า กัมพูชา และ เวียดนาม)  สามารถจะดึงการร่วมทุนจากเพื่อนบ้านทั้งภาครัฐและเอกชนได้ด้วย   โดยให้ "ขอนแก่น" เป็นศูนย์กลางทั้งทางอากาศและระบบราง   ประชากรก็อาจจะเพิ่มจากล้านกว่ากลายเป็น 5 ล้านคนได้ไม่ยาก   นี่เป็นการสร้างความเจริญให้ขยายตัวออกจาก กทม.ไป  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาคลง

สำหรับภาคใต้  "สงขลา" นั้น  ควรพัฒนาท่าเรือเชื่อมโยงกับ สิงคโปร์และจาร์กาต้า  และ รถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมไปยัง  กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์  รวมถึง น่าจะจัดเที่ยวบินตรงไปยังเมืองสำคัญของ "อินโดนีเซีย" ที่ถือว่าเป็นพี่เบิ้มของ AEC ด้วย  การวางตำแหน่งให้ "สงขลามหานคร" เป็นเมืองหน้าด่านในการรองรับความเจริญของ AEC ใต้เพื่อส่งเสริมการค้า  การลงทุน  รวมถึงการท่องเที่ยวจะทำให้ภูมิภาคแถบนั้นเจริญขึ้น  ผู้คนอยู่ดีกินดี   ปัญหาการก่อการร้าย 3 จังหวัดภาคใต้ก็น่าจะลดลงไปด้วย  นอกจากลดความเหลื่อมล้ำแล้ว  จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบอีกด้วย   โดย 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็อาจจัดตั้งเป็น "เขตเศรษฐกิจพิเศษ"  ยืมพลังความเจริญด้านทุนและเทคโนโลยีของมาเลเซียมาร่วมพัฒนาด้วยอีกแรง




วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เลือกตั้งไท้เก๊ก

นี่คือทฤษฎีที่ 2 ของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ต่อเนื่องทฤษฎีแรก "ปรองดองไท้เก๊ก" ซี่งแนะนำให้ทำกิจกรรมสีขาว  ขยายขอบเขตของคนเสื้อขาวออกไปให้มาก  เพื่อสร้างความปรองดองในประเทศ  โดยเฉพาะ "พิธีอโหสิกรรมแห่งชาติ"

เนื่องจาก "แนวคิดวิถีไท้เก๊ก" นั้น  จะขยายจาก 2 ทางแบบสามัญ "นิ่งคือนิ่ง" และ "เคลื่อนคือเคลื่อน" เพิ่มเป็น 4 ทางโดยเพิ่ม "นิ่งคือเคลื่อน" และ "เคลื่อนคือนิ่ง" เข้าไปด้วย   โดยเส้นทางใหม่หนึ่งจะแย่กว่าเดิม  ขณะที่เส้นทางใหม่ที่ดีกว่าเดิมซึ่งน่าจะเป็น "คำตอบสุดท้าย"

การเลือกตั้งในปัจจุบันนั้นจะเป็นว่ามี 2 วิธี คือ
1. ระบบแบ่งเขต  ซึ่งก็คือ  การ "แต่งตั้ง-เลือกตั้ง"  คือ ต้องมีการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้สมัคร สส.ก่อนโดยกรรมการพรรคการเมือง  หลังจากนั้นจึงให้มีการเลือกตั้งโดยประชาชน
2. ระบบบัญชีรายชื่อ  คือการ "เลือกตั้ง-แต่งตั้ง" โดยให้ประชาชนเลือกตั้งเทคะแนนก่อนว่าแต่ละพรรคการเมืองจะสามารถแต่งตั้ง สส.เข้าไปในสภาฯ ได้กี่คน  

เมื่อมีการ "แต่งตั้ง" เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้ง 2 กรณี  ดังนั้น  สส.ส่วนใหญ่จึงเป็นเหล่านายทุนหรือลิ่วล้อของนายทุน  ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ   ซึ่งเมื่อมีการลงทุนทางการเมือง  นายทุนเหล่านี้บวกลบคูณหารเพื่อให้มีกำไรทางการเมืองเกิดขึ้น.... การคอรัปชั่นจึงเป็นปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้อย่างยากเย็น

คราวนี้เรามาลองดูอีก 2 วิธีใหม่ของระบบไท้เก๊กดูบ้าง
3. ระบบแต่งตั้ง 2 ชั้น "แต่งตั้ง-แต่งตั้ง"   เช่น  คมช.แต่งตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.)  วิธีแบบนี้ดูๆ แล้วก็ไม่ได้ใหม่อะไรนัก  ดูแย่กว่า2ระบบเดิมด้วยซ้ำ   ห่างไกลจะคำว่า "ประชาธิปไตย"  เพราะ ไม่มีส่วนของการเลือกตั้งเข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย

4. ระบบเลือกตั้ง 2 ชั้น "เลือกตั้ง-เลือกตั้ง"   วิธีนี้จึงเป็น "คำตอบสุดท้าย" ที่น่าจะเหมาะสมสำหรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย   จะเป็น สส.ได้โดยไม่ต้องใช้เงินทุนเลย  เราจะได้สส.หน้าใหม่ที่แตกต่างไปจาก 2 พันคนหน้าเดิมๆ  

วิธีการก็คือ  เลือกตั้งขั้นแรกในระดับหมู่บ้านก่อน 8 หมื่นหมู่บ้าน  เลือกมาสัก 3 คนที่มีคุณสมบัติครบในการเป็น สส.  ก็จะได้ตัวแทนหมู่บ้านที่เป็นคนดีคนเก่งระดับหนึ่ง  ซึ่งจะเป็นระดับ "ชาวบ้าน" ไม่ใช่ระดับ "นายทุน"  เราก็จะได้ตัวผู้สมัครเข้ามาราว 2.4 แสนคน

จากนั้น ก็ให้ สวรรค์เป็นคนเลือกในขั้นสุดท้ายด้วยการ "จับสลาก"  จาก 2.4 แสนคนนั้นโดยอาจกำหนดให้ระบบนี้เป็นสัก 25% ของจำนวนสส.ทั้งหมดก่อน (125 คน)   สส.ระบบแบ่งเขตเหลือ 50% และ ระบบบัญชีรายชื่อ 25%  เราก็จะได้ตัวแทนของประชาชนที่เป็น "ชาวบ้าน" เข้าไปทำหน้าที่ตัวแทนจริงๆ  ไม่ใช่ได้นายทุนหรือลิ่วล้อนายทุนเข้าไปทำหน้าที่ สส.เพื่อปรับเปลี่ยนกฎหมายของประเทศ   เมื่อไม่มีการลงทุนทางการเมืองเลย  เชื่อได้ว่าการถอนทุนทางการเมืองก็น่าจะลดลงไปด้วย   อนาคตหากระบบนี้ดีจริงเหมาะสมจริง  ก็ควรเพิ่มสัดส่วนของจำนวน สส.ด้วยระบบนี้เข้าไปให้มากยิ่งขึ้น

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้  คงต้องพบกับปัญหาใหญ่ นั่นก็คือ สส.ปัจจุบันหน้าเดิมๆ จะยอมเสียอำนาจให้แก่ "ชาวบ้าน" เข้ามานั่งในสภาฯ  ละหรือ??  เพราะคงต้องมีการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งอยู่หลายมาตราเพื่อให้ผ่านเรื่องนี้ออกมาได้   อย่างไรก็ดี  ในเมื่อบางกลุ่มมีแนวคิดจะ "แช่แข็งนักการเมือง" อยู่แล้ว   นี่อาจเป็นทางเลือกใหม่ที่จะนำเสนอเพื่อเป็นทางออกของประเทศก็เป็นได้ครับ

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปรองดองไท้เก๊ก

หลังจากที่ผมได้คิดค้นทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก  ซึ่งนับเป็น1 ใน 4 ทฤษฎีใหม่ของ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  สิ่งใหม่นี้สามารถจะแก้ปมเงื่อนตายของทฤษฎีเคนส์  หรือ"กับดักเคนส์" ได้   และ ผมคิดว่าเราน่าจะประยุกต์สิ่งนี้มาใช้เพื่อแก้ปมเงื่อนตายของการเมืองไทย หรือ "กับดักเหลืองแดง" ได้ด้วยเช่นกัน  เนื่องจาก ไท้เก๊ก แปลเป็นอังกฤษว่า "supreme ultimate"  ดังนั้น "ปรองดองไท้เก๊ก"  อาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า  "ทฤษฎีสุดยอดปรองดอง"  ซึ่งนี่นับเป็น 1 ใน 4 ทฤษฎีใหม่ของ "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ซึ่งผมอาจจะได้นำเสนอทฤษฎีที่เหลือต่อไปในอนาคต

ก่อนอื่นผมขอยืนยันว่าไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย  แต่มีความมุ่งหวังในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ต้องการเห็นประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้โดยมีความขัดแย้งความอาฆาตพยาบาทลดลงโดยใช้หลักการของไท้เก๊กมาช่วย    แนวคิดแบบปกติสามัญแล้ว  "นิ่งก็คือนิ่ง"  "เคลื่อนก็คือเคลื่อน"  แต่ในแนวคิดของไท้เก๊กจะเพิ่มมาอีก 2 แนวทาง นั่นก็คือ "นิ่งคือเคลื่อน" และ "เคลื่อนคือนิ่ง"   แทนที่จะมี 2 แนวทาง จึงเพิ่มได้เป็น 4 แนวทาง  ดังนั้น  "การคลังไท้เก๊ก"  ซึ่งใช้แนวคิด "นิ่งคือเคลื่อน" จึงทำให้สามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วยการยืมพลัง   โดยที่ทฤษฎีการคลังแบบเคนส์จะทำเรื่องเช่นนี้ไม่ได้เลย

สิ่งนี้แม้จะคล้ายคลึงกับ "วิถีแมนเดลา" หรือ "ทางเลือกที่ 3"  ซึ่งชี้แนะว่า เราควรเลือกทางตรงกลาง ไม่ใช่ ประตูซ้ายหรือประตูขวาที่ปิดตาย  แต่แนวคิดนี้จะทำให้มีทางเลือกทั้งหมด 4 ทางด้วยกัน  ไม่เลือกทั้งประตูซ้ายและขวา  แต่ควรเลือก "ช่องบน" หรือ "ขอบล่าง"  ประตูต่างหากเป็นทางออก

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเมืองไทย ??   หากคิดแบบสามัญ  การเลือกแนวทางสีแดง  ก็จะทำให้ขัดใจ "คนเสื้อเหลือง"  เช่น  การเดินหน้าพรบ.ปรองดองนิรโทษกรรม  แต่ หากจะเลือกแนวทางสีเหลือง   แช่แข็งนักการเมือง ล้มรัฐบาล  ขอพระราชทานนายกฯ ม.7  ก็จะขัดใจ  "คนเสื้อแดง"    ดังนั้น การเลือกแนวทางการเมืองแบบ "เหลือง-แดง" ย่อมขัดใจกลุ่มคนฝั่งตรงข้ามเสมอ  และ นั่นจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมไทย   โดยเหลืองเน้นการอนุรักษ์  ส่วนแดงเน้นการเปลี่ยนแปลง  ยากที่จะมาบรรจบกันได้  แต่ไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะดีกว่าเดิมเสมอไป    (การเปลี่ยนแปลงบางอย่างผิดทิศทางหรือเร็วเกินไป  เช่น การจำนำข้าวทุกเมล็ดราคาสูงลิ่ว  หรือ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ  ก็ดูเหมือนจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลดี)  

ด้วยหลักของไท้เก๊กจึงมีอีก 2 แนวทางที่เพิ่มขึ้นมา คือ "สีดำ"  "สีขาว" โดย "สีดำ" เป็นแนวทางที่ขัดใจทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง  เช่น การกระทำของชายชุดดำ  ที่มุ่งกระทำผิดกฎหมายโดยได้รับการจ้างวานมา  เพื่อก่อวินาศกรรม และ ลอบสังหาร เมื่อถึงจุดที่ฝ่ายต้านรัฐบาลหมดหวังจะเจรจาอย่างสันติ  การต่อสู้กับภาครัฐก็อาจเดินมาถึงแนวทาง "สีดำ"  ได้  แม้แต่ เนลสัน แมนเดลา  รัฐบุรุษของโลกผู้ได้รางวัลโนเบลสันติภาพ  ก็ยังเคยเดินเส้นทางนี้  ด้วยการก่อวินาศกรรมในประเทศตนเองเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลเหยียดผิวมาแล้วเช่นกัน

ดังนั้นทางออกสู่ความปรองดองที่แท้จริง จึงน่าจะเป็น "สีขาว"  หากเราเติมสีขาวเข้าไปมากๆ เข้า  เหลืองเข้มก็จะกลายเป็นเหลืองอ่อน  แดงเข้มก็จะกลายเป็นแดงอ่อน  ไม่ถึงกับ "สลายสี"  แต่เป็นการ "เจือจางสี"  ต่างหาก  โดยโพลล่าสุดในเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ   ประชาชนที่ไม่เชียร์ทั้ง 2 ฝ่ายมีถึง 56%  นับเป็นสัญญาณที่ดีว่าคนไทยส่วนใหญ่เลือก "สีขาว"  ไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้ง  และผมก็เป็น 1 ในนั้นด้วย

หากดำเนินกิจกรรมการเมืองให้คนเสื้อขาวพอใจ  ส่วนคนเสื้อเหลืองและเสื้้อแดง พอยอมรับได้ ....  มันมีวิธีการแบบนั้นด้วยหรือ ??   หาก ดช.นปช. ชกต่อยกับ ดช.ปชป.ก็ดี   ดช.พท.ชกต่อยกับ ดช.อพส.ก็ดี ในโรงเรียนจนเจ็บทั้งคู่ และ ข้าวของเสียหายอย่างมาก   เราควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ....  แทนที่จะไปค้นหาความจริงว่า  ใครออกกี่หมัด  เตะไปกี่ครั้ง  มีการใช้เข่าและศอกด้วยไหม??   ทางแก้ไขดีๆของโรงเรียนคือจะถือว่าผิดทั้งคู่  ให้ต่างฝ่ายต่างขอโทษ และ ให้อภัยกัน และ ขอโทษต่อโรงเรียนด้วย   ส่วนโรงเรียนก็ลงโทษตามกฎแต่ก็พร้อมจะให้อภัยทั้งคู่

หากมองในแง่ "ยืมพลัง"  เราน่าจะยืมพลังความนิยมของละครยอดฮิต "บ่วง" และ "แรงเงา" ก็จะเห็นว่า การล้างแค้นเอาคืนแบบ "ตาต่อตาฟันต่อฟัน" ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งให้หมดไปได้   สิ่งที่ทำแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้เบ็ดเสร็จนั้น คือ "การอโหสิกรรม"  ต่างหาก   การขออภัยและการให้อภัยต่อฝ่ายตรงข้าม  ขออภัยต่อประชาชน และ ขออภัยต่อประเทศชาติ   เป็นสิ่งที่ควรจะได้กระทำอย่างเป็นรูปธรรมในสิ่งที่ผิดพลาดถึง 6 ปีที่ผ่านมา  แน่นอนว่าสิ่งนี้จะแตกต่างจาก "การนิรโทษกรรม"  โดยแต่ละบุคคลต้องรับโทษตามกฎหมายกันไป  แต่การลดความโกรธความเกลียดความพยาบาทในจิตใจของคนไทยคงสักครึ่ง  เป็นเรื่องที่ควรเร่งรีบกระทำ

ดังนั้น  "พิธิอโหสิกรรมแห่งชาติ" คือ สิ่งที่ควรรีบจัดขึ้นก่อนสิ้นปีเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แด่คนไทยก็น่าจะเหมาะสม  นิมนต์พระท่านมาเทศน์เรื่องความสำคัญของการอโหสิกรรม   เชิญตัวละครสำคัญระดับแกนนำของพันธมิตรฯ   นปช.  และ 2 พรรคการเมืองใหญ่  มาแลกดอกไม้สีขาวกันคนละดอก  และ สวมเสื้อขาวลายธงไตรรงค์ทับเสื้อเดิมๆ   สำหรับ  "คนที่คุณก็รู็ว่าใคร" ซึ่งอยู่ต่างแดนนั้น  ช่วยส่งวีดีโอลิงก์ และ ลูกๆ มาเป็นตัวแทนด้วยก็ดีนะครับ

ผมเชื่อว่าบริษัทจัดอีเวนต์พร้อมจะทำพิธีกรรมนี้ให้ซึ้งมากๆ  จนคนไทยน้ำตานองท่วมแผ่นดิน  ควรเผยแพร่ภาพนี้ออกไปทั่วโลก  เพื่อประกาศว่าคนไทยพร้อมเดินก้าวแรกสู่การปรองดองที่แท้จริง  และ   หากเราเดินก้าวแรกได้อย่างถูกต้องงดงาม   ก็น่าจะหวังได้ว่าก้าวต่อๆ ไปน่าจะเป็นเส้นทางที่สดใสกว่าปัจจุบัน

สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือ
1. ไม่ทำในสิ่งที่ัขัดใจ "คนเสื้อขาว" การทำเช่นนั้นจะทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
2. พยายามจัดกิจกรรม "สีขาว" ให้มากขึ้น  เช่น  การร่วมแสดงความจงรักภักดีพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศในวันเฉลิมฯก็เป็นหนึ่งในนั้น   พิธีอโหสิกรรมแห่งชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น  นิมนต์พระเทศน์ออกรายการโทรทัศน์ถึงประโยชน์ของการอโหสิกรรมและความสามัคคีก็เป็นหนึ่งในนั้น  หากคิดไม่ค่อยออกจริงๆ ก็ควรจัดประกวดเรียงความ "เราจะปรองดองกันได้อย่างไร ??"  ในระดับนักเรียน นักศึกษา และ ประชาชนทั่วไป   ก็น่าจะได้ไอเดียดีๆ นับร้อย   ยืมพลังสมองของคนทั้งประเทศมาช่วย
3. เปิดประตูการเจรจาเพื่อสันติอยู่ตลอดเวลา   เพราะ  หากปิดประตูนี้เสียแล้ว  นั่นหมายถึง การผลักให้ฝ่ายต้านรัฐบาลเลือกเดินเส้นทาง "สีดำ" ด้วยการก่อการร้าย  วินาศกรรม หรือ  ลอบสังหาร

แนวคิดนี้อาจประยุกต์นำไปใช้กับสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้ด้วย  ไทยได้เสียงบประมาณถึง 1.8 แสนล้านบาทเพื่อดูแลความสงบ  แต่ก็ยังมีความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก  มันจะดีกว่าไหมหากนำเงินนั้นไปพัฒนาพื้นที่ให้เจริญ  อยู่กันอย่างสันติ   โดยอาจจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ  เขตวัฒนธรรมพิเศษ หรือแม้แต่เขตปกครองพิเศษ  ก็คงจะดีกว่ามาก  และอาจ  "ยืมพลัง" ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจมาเลเซียมาร่วมพัฒนาด้วยก็น่าจะดีมากๆ นะครับ


วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิกฤติครั้งใหม่นี้ อาจมีข่าวดีการศึกษาไทย

วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2013 นี้   ผมใช้ชื่อว่า "วิกฤติหมูหัน"  ซึ่งเป็นเกิดการทรุดตัวของยุโรปและจีนรวมกันเป็นหลัก   ขณะที่ ศจ.รูบินี  ตั้งชื่อไว้แล้วว่า "Perfect Storm"  และ สำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งตั้งชื่อเตรียมไว้แล้วว่า  "วิกฤติ 3D : Double Dip Depression"

ไม่ว่าจะใช้ชื่อเช่นไร  อาการของปีหน้าน่าจะสาหัสมากๆ  เพราะ ยุโรปยังคงแก้ไขปัญหาผิดทางด้วยการมองปัญหายูโรโซนเพียงแค่ "หนี้การคลัง"  จึงบีบให้ประเทศอ่อนแอรัดเข็มขัดการคลังอย่างแรงทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ   แม้ว่าทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ ยอมให้กรีซ และ PIIGS ทั้งหมดออกจากเงินยูโรเพื่อสร้างสมดุล   แต่จะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนและเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระยะสั้น  โดยมีการคาดการณ์ความเสียหายได้ถึง 17 ล้านล้านยูโร    สำหรับญี่ปุ่นนั้นเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากการมีข้อพิพาทหมู่เกาะกับจีนทำให้ดีมานด์ของสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นลดฮวบ    ส่วนอเมริกาก็จะมีปัญหาของ "หน้าผาการคลัง" คงตกลงด้วยการรัดเข็มขัดอยู่บ้างซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจอาจถึงขั้นถดถอยอยู่ดี   และ  จีนซึ่งส่งออกไปยัง 3 ประเทศนี้เป็นหลักก็คงหลีกหนีความเสียหายไปไม่พ้น  ดัชนีตลาดหุ้นซึ่งเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจล่วงหน้ายืนที่ระดับบริเวณต่ำสุดในรอบ 4 ปีดังนั้นส่อแววว่า จีนน่าจะ hard landing

คราวนี้มาถึงวิธีการรับมือวิกฤติ  โดยนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์  นั้นเชื่อในนโยบายการคลังแนะว่า รัฐบาลควรทุ่มงบประมาณเข้าไปไม่อั้น  ไม่ต้องแคร์ถึงหนี้สินภาครัฐแต่อย่างใด   กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรัดเข็มขัดการคลังรวมไปถึง QE ด้วย   ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักการเงินนิยมนั้นเชื่อมั่นเฉพาะในนโยบายการเงิน  แนะนำว่ารัฐบาลควรรัดเข็มขัดการคลังเพราะ เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเท่าใดนัก  และ ธนาคารกลางควรคงดอกเบี้ยต่ำๆ ต่อไปพร้อมๆ กับเดินหน้าทำ QE ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี  ด้วยข้อจำกัดทางนโยบายการคลังและการเงิน การจะหวังว่าวิธีการแบบเดิมๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาได้นั้นคงไม่ง่าย   "สำนักเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ซึ่งเป็นสำนักเศรษฐกิจใหม่ของเอเชียบูรพา  ที่ได้นำเอาภูมิปัญญาตะวันออก (เต๋าและไท้เก๊ก)  เข้าไปผสมผสานกับ ภูมิปัญญาตะวันตก (ทุนนิยม) สร้างขึ้นมาเป็น 4 ทฤษฎีใหม่ คือ การคลังไท้เก๊ก  การเงินไท้เก๊ก  FX ไท้เก๊ก และ บำนาญไท้เก๊ก  โดย "การคลังไท้เก๊ก"  เป็นแนวคิดที่หักล้างทฤษฎีการคลังของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค)  แบบเดิมๆ  เป็นการเปลี่ยนเศรษฐศาสตร์มหภาคอย่างมากถึงขั้น  "การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์"  (paradigm shift)  กันเลยทีเดียว

ผมและสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คือ ฝ่ายผลิตสำหรับองค์ความรู้ใหม่นี้   หาก กระทรวงศีกษาฯ รับหน้าที่เป็นฝ่ายการตลาด  เพื่อนำมาความรู้ใหม่ของโลกนี้เข้าบรรจุในหลักสูตรของชั้น ม.6  (ราว5 แสนคน)  และ ปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ปี 2  (ราว 2 แสนคน)  ก็จะทำให้นักเรียนนักศึกษาไทยได้เข้าใจถึงประเด็นที่ผิดพลาดของเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ร่ำเรียนกันมานาน   ดังนั้น  ประเทศไทยก็อาจได้เยาวชนราว 7 แสนคนต่อปีที่จะมีความรู้ก้าวล้ำนำหน้านักศึกษาของมหาวิทยาลัยระดับท็อปเทนของโลกเสียอีก  และ ความรู้ใหม่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะ เกี่ยวข้องกับการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจโลก  อันจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรโลกถึง 7 พันล้านคน  ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกเองก็แทบจะหาคำตอบดีๆ ให้กับวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่ได้   แต่เยาวชนไทยจะสามารถตอบได้เป็นฉากๆ  อย่างง่ายดายราวพลิกฝ่ามือ

ผมจะไม่เรียกสิ่งนี้ว่า "การปฏิรูปการศึกษา" เพื่อให้เยาวชนไทยมีความรู้วิ่งไล่ทันเพื่อนบ้านใน AEC อย่างมาเลเซีย หรือ สิงคโปร์  แต่นี่จะเป็น "การปฏิวัติการศึกษา"  เพื่อให้เยาวชนไทยมีความรู้ก้าวล้ำนำหน้ากว่า  เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อังกฤษและอเมริกา  กลายเป็นผู้นำของโลกด้านความรู้ใหม่ทางเศรษฐศาสตร์กันเลย   ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาฯ หากอ่านมาถึงบรรทัดนี้  ก็อาจต้องขยี้ตาแล้วกลับไปอ่านใหม่ว่ามันจะไปได้ขนาดนั้นเลยหรือ ??    "ถ้าพวกท่านบ้าพอที่คิดว่าจะพลิกโลกการศึกษาของไทยได้  บางทีพวกท่านน่าจะทำได้จริง" (ดัดแปลงจากโฆษณา Think Different ของ Apple)    ผมเชื่อว่านี่นับเป็นโอกาสทองในรอบศตวรรษที่ประเทศไทยจะเริ่มก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกด้านทฤษฎีความรู้ใหม่ๆ   โดยในอนาคตอาจมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้คิดหักล้าง 4 ทฤษฎีใหม่ที่ผมคิดค้นขึ้น  แล้วสร้างเป็นทฤษฎีใหม่ๆ อีกสัก 8 ทฤษฎีก็เป็นได้   ท่านรมว.ศึกษาฯ คงไม่ปล่อยโอกาสนี้หลุดลอยไป  และน่าจะทำเรื่องนี้ให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดนี้เป็นแน่  หากทำสำเร็จท่านก็อาจได้รับสมญานาม "บิดาแห่งการปฏิวัติการศึกษาไทย"

แต่หากนักเรียนนักศึกษาคนใด  ไม่อยากทนรอความเชื่องช้าของระบบราชการแบบไทยๆ ซึ่งอาจใช้เวลาหลายปีเรียนจบกันไปหลายรุ่น  จากความรูัใหม่ๆ ของโลกก็อาจกลายเป็นความรู้เก่าๆ ไปเสีย  ผมขอแนะนำให้รีบไปหาอ่านหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  (Taiji-Econ. : ศาสตร์แขนงใหม่กู้วิกฤติโลก)  เพื่อนำหน้าคนอื่นอยู่สักก้าวนะครับ


วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

2013 : ไฟลามทุ่ง

ย้อนอดีตกลับไปหลังเกิด "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์"  ปี 2008 ทั่วทั้งโลกต่างเร่งระดมกันใช้นโยบายการคลัง  ซึ่งเป็นการ "ใช้น้ำ" จำนวนมหาศาลเพื่อเร่งดับไฟที่ลุกโหม   ซึ่งก็พอจะทำให้ไฟดับได้เกือบสนิท  แต่อย่างไรก็ดี  ยังมีประเทศหนึ่งที่เรียกได้ว่าอ่อนแอที่สุด   กลายเป็นศูนย์กลางของการลุกไหม้ครั้งใหม่ นั่นก็คือ "กรีซ" โดยประเทศนี้ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบ 2 (double dip recession)  ก่อนประเทศอื่นๆ  ในโลกตั้งแต่ปี 2010

หลังจากนั้น  วิกฤติหนี้ยุโรป  ซึ่งความจริงแล้วต้นเหตุไม่ใช่ "หนี้การคลัง" แต่เป็น "หนี้สินต่างประเทศ" อันเนื่องมาจาก "กับดักยูโร" ที่ผูกประเทศอ่อนแอและแข็งแรงไว้ด้วยกัน  ส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด และ เกิดการสะสมหนี้ต่างประเทศจำนวนมากในประเทศอ่อนแอของยูโรโซน (PIIGS)   โดยไฟได้ลุกลามจาก  กรีซ  ไปยังประเทศ PIIGS อื่นๆ  จนเข้าสู่ภาวะถดถอยไปด้วยแล้วเช่นกันในปี 2011-2012 อันเนื่องมาจากการรัดเข็มขัดการคลังของ สเปน และอิตาลี   ในปัจจุบันไฟก็เริ่มจะลามเข้าสู่แกนกลางของยูโรโซน อย่าง เบลเยี่ยม และ ฝรั่งเศส  ท้ายที่สุดเยอมนีก็ยากจะรอดไปได้  

สำหรับ ญี่ปุ่นนั้น หลังจากมีปัญหาพิพาทกับ จีน  ทำให้อุณภูมิทางเศรษฐกิจสูงขึ้น จนลุกติดไฟไปด้วยแล้วเช่นกัน  เศรษฐกิจมีโอกาสสูงมากที่จะถดถอยได้อีกครั้งหนึ่ง  ด้วยข้อจำกัดทั้งนโยบายการเงินและการคลัง

การรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงระดับ 4% GDP ที่หวั่นเกรงกันในชื่อ "หน้าผาการคลัง"  (Fiscal Cliff)  ของอเมริกา ก็เป็นสัญญาณที่อันตรายอย่างมาก  ถึงแม้สามารถจะตกลงกันได้  ก็ยังคงอาจเป็นการรัดเข็มขัดการคลังราว 2% GDP หรือครึ่งหนึ่งของแผนเดิม  โดยอาจเรียกเป็น "ทางลาดการคลัง" (Fiscal Slope)  ก็ยังคงเป็นระดับที่อันตรายอยู่ดี  เพราะ นี่เป็นการใช้น้ำที่น้อยลง ขณะที่ไฟลุกโหมแรงขึ้นจากเพื่อนบ้านทั้ง ยุโรป และ ญี่ปุ่น

หากเราเชื่อตามสุภาษิตโบราณเดิมๆ ว่า "น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ"  และ โดยทฤษฎีเคนส์ก็เชื่อตามนั้น  จะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกอาจเดินหน้าเข้าสู่แดนอันตรายอย่างยิ่ง  เพราะ ยุโรป นั้นตัดสินใจไปแล้วว่าจะ "รัดเข็มการคลัง" กันทั้งภูมิภาค  ส่วนอเมริกา และ ญี่ปุ่นก็ดูเหมือนว่าจะต้องทำตามไปบ้างด้วยข้อจำกัดที่หนี้สินภาครัฐเริ่มสูงเกินจะควบคุมแล้ว   บทสรุปก็คือ การใช้น้ำน้อยลงเพื่อสกัดไฟที่ดูเหมือนจะลุกลามรุนแรงขึ้นซึ่งน่าจะสกัดไฟไว้ไม่อยู่   นั่นคือ  รัดเข็มขัดการคลังและยอมให้เศรษฐกิจถดถอย

แต่หากจะใช้น้ำมากขึ้นเพื่อดับไฟ  ก็ดูเหมือนจะมีข้อจำกัดทางการคลัง  โดยเฉพาะในประเทศอ่อนแอที่พึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่ม PIIGS ซึ่งจะไม่สามารถฉีดน้ำแบบไม่อั้นอย่างทีเคนส์แนะนำได้อีกแล้ว  และ ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" หรือ "คลายเข็มขัด" จะเลือกใช้ "น้ำน้อย" หรือ "น้ำมาก" ก็ดี  หนี้สาธารณะ ต่อ GDP  ยังคงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และ ฐานะการคลังก็แย่ลงเรื่อยๆ อยู่ดี  สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่มี GDP เติบโตอยู่ในระดับต่ำ และ โครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ   นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า "กับดักเคนส์"  

ดังนั้น  หากคิดอยู่ในกรอบรอบนี้เศรษฐกิจโลกเสร็จแน่ๆ   แต่หากเราคิดนอกกรอบออกไปก็จะพบว่า  มันไม่ได้มีเพียงน้ำเท่านั้นที่สกัดไฟได้   "การยืมพลัง" ของสารเคมีในถังดับเพลิงก็อาจช่วยสกัดไฟไว้ได้เช่นกัน   ถูกต้องแล้วนี่คือแนวคิดของ "การคลังไท้เก๊ก" นั่นเอง  ด้วยวิธีการยืมพลังนี้  จะทำให้เราสามารถ  "ใช้น้ำน้อยลงแต่สกัดไฟได้ดีขึ้น"   การยืมพลังจากกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ  น่าจะช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วแก้ไขวิกฤติการคลัง ไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

และ สำหรับปัญหาในยุโรปที่ติด "กับดักยูโร" ด้วยนั้น ก็คงต้องใช้  "FX ไท้เก๊ก"  มาช่วยเหลือด้วยเพื่อให้แต่ละประเทศสามารถใช้ค่าเงินที่เหมาะสมและดึงสมดุลกลับคืนมาได้   แทนที่จะยืนกระต่ายขาเดียวรักษาระบบยูโรแบบไร้สมดุลเช่นนี้ต่อไปมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ ทั้งภูมิภาค  

สรุปก็คือ  โลกกำลังจะลุกเป็นไฟในลักษณะ "ไฟลามทุ่ง"  โดนเริ่มจาก "กรีซ" ลามไปยัง PIIGS  และ จะตอนนี้เริ่มลามไปยัง  ฝรั่งเศส  เยอรมนี และ ญี่ปุ่น   โดยประเทศที่อ่อนแอเติบโตช้ามีหญ้าแห้งมากหน่อย มีการใช้น้ำสกัดไฟน้อยหน่อยก็จะลุกไหม้ติดไฟได้เร็วกว่า  แต่สุดท้ายประเทศไทยที่แม้หญ้ายังเขียวอยู่ก็คงหนีรอดเหตุการณ์แบบนี้ไปได้ยากเช่นกัน   ผมจึงได้รวบรวมความคิดเป็น 4 ทฤษฎีใหม่กลายเป็นหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  (Taiji-Econ.)   เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจแบบ "ไฟลามทุ่ง"  ที่กำลังจะมาถึงนี้   หากสนใจก็ลองหาอ่านดูได้นะครับ


วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ECB : ผู้ไม่เข้าใจในปัญหา

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมากๆ   การที่ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)  พูดว่า "ผมจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาระบบยูโรไว้"   อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนส่วนใหญ่   แต่กับนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว   ประโยคนี้น่าหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง  เปรียบเสมือนการพูดว่า "ผมจะพยายามแก้ไขปัญหาทุกวิถีทาง  เพื่อรักษาต้นตอของปัญหาไว้"  นั่นเอง   ECB ได้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงในยูโรโซนจริงหรือ ??

หากการไม่เข้าใจถึง "สมุทัย" แล้ว  ยิ่งไม่ต้องพูดถึง "มรรค" และ "นิโรธ" กันเลย  การที่ ECB มองว่าปัญหาทั้งมวลในยูโรโซน  นั้นเกิดจากการขาดดุลการคลังที่สูง รวมไปถึงหนี้ภาครัฐที่สูงเกินไป  นั้นเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุ  ตัวอย่างเช่น  ทำไมสเปน ซึ่งมีหนี้ภาครัฐเพียง 69% GDP  จึงมีปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสกว่า  อังกฤษ (85%)  อเมริกา (103%)  และ ญี่ปุ่น (212%)  อย่างมาก   ถึงแม้จะดูที่การขาดดุลการคลัง  สเปนที่ 4.5% นั้นก็ต่ำกว่าระดับ 7-8% GDP  ของประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 นั้นอยู่หลายขุม

เหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงในยูโรโซนก็คือ "ระบบเงินยูโร" นั่นเอง  ด้วยการผูกค่าเงินประเทศแข็งแรงกับประเทศอ่อนแอไว้ด้วยกัน   ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอ่อนแอ (PIIGS)  ขาดดุลอย่างมาก   ส่งผลให้หนี้สินต่างประเทศสะสมต่อเนื่อง   เป็นลักษณะอาการเดียวกันกับ วิกฤติเตกีล่าของเม็กซิโก และ วิกฤติต้มยำกุ้งของไทย  ต่างหาก

เมื่อมองเหตุแห่งปัญหาผิดๆ  ก็เลยแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ เช่น
- แทนที่จะให้  กรีซ ได้ใช้ค่าเงินที่เหมาะสม  ECB กลับให้กรีซทนใช้ค่าเงินที่ไม่เหมาะสม (เงินยูโร) ต่อไป  ทั้งๆที่ค่าเงินที่เหมาะสมในการสร้างสมดุลบัญชีเดินสะพัดได้ค่าเงินควรจะอ่อนกว่านี้ราว 20-25%  
- แทนที่จะให้กรีซ สร้างสมดุลกับต่างประเทศได้  ปรากฏว่าการดำรงเงินยูโรไว้  ทำให้กรีซ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 9.8% GDP  ในปี 2011  แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่มากๆ แล้วก็ตาม  เมื่อดูจากการขาดดุลสะสมที่่มากกว่า 5% GDP ต่อเนื่องกัน 12 ปีแล้ว  อาจกล่าวได้ว่าอาการของวิกฤติในกรีซ ดูจะย่ำแย่กว่า วิกฤติต้มยำกุ้งของไทยเสียอีก  
- แทนที่จะมุ่งทำให้เศรษฐกิจกรีซฟื้นตัว  กลับบังคับให้ "รัดเข็มขัดการคลัง"  ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้นเรื่อยๆ สูงกว่าระดับ 25% ไปแล้ว  และ ไม่มีวี่แววจะดีขึ้นแต่อย่างใด  ประชาชนจำนวนมากต้องไปคุ้ยถังขยะเพื่อหาอาหารใส่ท้องกิน  จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วประเทศ

"การรัดเข็มขัด" จะส่งผลให้เศรษฐกิจแย่ลง  รายได้รัฐบาลลดลงไปด้วย  จึงทำให้ไม่สามารถรัดเข็มขัดได้ตามแผน   ซึ่งเป็นปัญหาที่เรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด"  (paradox of austerity)  ซึ่งเคนส์ก็ได้เตือนเรื่องแบบนี้ไว้แล้วถึง 80 ปีก่อนหน้านี้   

หากจะวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาก็คือ  "โลกอยู่ในภาวะที่อันตรายอย่างยิ่ง  เพราะ ปล่อยให้องค์กรที่ไม่เข้าใจถึงต้นตอปัญหาที่แท้จริง  เข้ารับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในยุโรป   การแก้ไขปัญหาจึงผิดทิศผิดทาง และ ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง"  

ทางออกของเรื่องนี้คือ การใช้ทฤษฎีใหม่อย่าง "FX ไท้เก๊ก" เพื่อให้ PIIGS ได้ใช้ค่าเงินที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศตนเอง  โดยการแบ่งค่าเงินเป็น 3 ระดับ Eura Euri และ Euro ก็น่าจะเป็นเรื่องที่จะช่วยสร้างทั้ง ดุลยภาพ และ เอกภาพในยุโรปได้   ส่วน "การคลังไท้เก๊ก" ก็ควรนำมาเชื่อเพื่อให้ประเทศ กรีซ สเปน สามารถรัดเข็มขัดการคลัง  ไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้  โดยใช้แนวคิด "การยืมพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" มาช่วย   ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดนอกกรอบของทฤษฎีเคนส์แบบเดิมๆ  

สำหรับประเทศอเมริกา และ ญี่ปุ่นนั้น  จำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลังในปี 2013 เพราะหนี้สินภาครัฐเริ่มสูงเกินไปแล้ว  แม้จะไม่ถึงขั้น "หน้าผาการคลัง" (fiscal cliff)  แต่ก็น่าจะเป็นระดับ  "ทางลาดการคลัง" (fiscal slope)  และ การรัดเข็มการคลังราว 3 แสนล้านเหรียญ สรอ. หรือราว 2% GDP ของสหรัฐอเมริกา ก็อาจผลักให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบ 2 ได้ไม่ยาก  ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างกับญี่ปุ่นนัก  

"วิกฤติหมูหัน" จึงเดินหน้ามาเยือนโลกของเราอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  และ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ ทั้งการคลัง การเงิน อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันไม่สามารถต่อกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผมจึงได้คิดค้นทฤษฎีใหม่ออกมา 4 ทฤษฎี  ประกอบกันขึ้นเป็นศาสตร์แขนงใหม่ของโลก  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  (Taiji-Econ.)   กลายเป็นรูปเล่มแล้วด้วยการสนับสนุนของ "กรุงเทพธุรกิจ"   ซึ่งหากแปล "ไท้เก๊ก" เป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "supreme ultimate"   ดังนั้น  ศาสตร์ใหม่นี้ก็คือ  "เศรษฐศาสตร์ขั้นสุดยอด"  นั่นเอง

ผมเชื่่อมั่น 99.99% ว่า  นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเกือบทุกท่านไม่รู้จักว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" คืออะไรและมีประโยชน์อะไรต่อเศรษฐกิจโลก   นี่นับเป็นโอกาสซึ่งมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่นักศึกษาและคนไทยจะสามารถมีความรู้ทฤษฎีใหม่ๆ ที่ล้ำหน้ากว่าชาติใดๆ ในโลก   โดยศาสตร์แขนงใหม่นี้อาจเป็นก้าวแรกของ "การปฏิวัติการศึกษาไทย"  ก็เป็นได้   หากสนใจก็ลองหาอ่านดูนะครับ  

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ฟีนิกซ์ไท้เก๊ก : ทฤษฎีเด็ดใช้ปฏิวัติการศึกษาไทย

หลังจากที่ผมได้คิดค้น 4 ทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ คือ การคลังไท้เก๊ก  การเงินไท้เก๊ก  FX ไท้เก๊ก และ บำนาญไท้เก๊ก จนประกอบกันเป็นศาสตร์แขนงใหม่ "เศรษฐศาสตร์ไทเ้ก๊ก" เรียบร้อยแล้ว   ผมกลับได้พบรูปแบบของการสร้างทฤษฎีใหม่  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาของประเทศไทย  ผมให้ชื่อมันว่า "ทฤษฎีฟีนิกซ์ไท้เก๊ก"  (Taiji Phoenix Thoery)  โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็นนี่คือ ทฤษฎีเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่

หากคิดว่านี่เป็นการเลียนแบบ "ภาคีนกฟีนิกซ์" ในเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ ละก็  คิดผิดแล้วครับ  เพราะว่า ผมและเพื่อนๆ ได้จัดตั้งกลุ่มฟีนิกซ์  มีเป้าหมายเพื่อพิชิต "ข้อสอบเอ็นทรานซ์" มาตั้งแต่สมัยเตรียมอุดมฯ เมื่อ 30 ปีก่อนแล้ว  เค้าโครงเรื่องคล้ายๆ กันนี้เกิดก่อน  เจ.เค.โรลลิ่ง จะสร้างพล็อตเรื่องให้การรวมกลุ่ม "ภาคีนกฟีนิกซ์"  เพื่อหาทางพิชิตเจ้าแห่งศาสตร์มืดลอร์ดโวลเดอร์เมอร์นานหลายปีทีเดียว

แนวคิดของทฤษฎีนี้ก็คือ  จากกรอบแนวคิดของคนธรรมดา  ประกอบไปด้วย 4 จุดสร้างเป็นสี่เหลี่ยม  หากเราลากเส้นทแยงมุมเชื่อมความสัมพันธ์แบบย้อนแย้ง  ทะลุกรอบแนวคิดเดิมๆ  วาดเป็น "ปีกนกฟีนิกซ์" ขึ้นมา  จึงอาจไม่ใช่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์  (paradigm shift)   แต่เป็นการติดปีกให้กับกรอบความรู้เดิม   สร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้  

ยกตัวอย่างเช่น  คนธรรมดาจะคิดว่า "สุขคือไม่ทุกข์ และ ไม่สุขคือทุกข์"  นี่คือกรอบแนวคิดปกติ  หากเราลากเส้นทแยงมุมตีทะลุกรอบเดิม  สร้างเป็น "ปีกนกฟีนิกซ์" ขึ้นมา  ก็จะได้ว่า  "สุขคือทุกข์ และ ไม่สุขคือไม่ทุกข์"  นี่ืคือ ความรู้ใหม่ในยุคสมัยนั้น  พระพุทธเ้จ้าได้้ค้นพบ  โดยเป็นการกล่าวถึงลักษณะของจิตใจที่กระเพื่อมหรือว่านิ่งๆ   ความรู้ใหม่นี้เองได้กลายมาเป็น "ศาสนาพุทธ" ในปัจจุบัน

นอกจากนี้  คนธรรมดาจะคิดว่า "นิ่งคือนิ่ง เคลื่อนคือเคลื่อน"  นี่่คือกรอบแนวคิดปกติ  จนกระทั่งปรมาจารย์จางซานฟง  ได้ค้นพบความรู้ใหม่ว่า "นิ่งคือเคลื่อน  เคลื่อนคือนิ่ง"  (อาจแปลได้ว่า  ในนิ่งมีเคลื่อน  ในเคลื่อนมีนิ่ง)   และ ได้กลายมาเป็น "มวยไท้เก๊ก" ที่โด่งดังตั้งแต่ 800 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน  ที่จริงแล้วท่านน่าจะได้รับการยกย่องให้เป็น   บิดาแห่งวิชาฟิสิกส์  ด้วยซ้ำ   มิใช่ กาลิเลโอ หรือว่า นิวตัน  เนื่องจากวางรากฐานของการหยุดนิ่งการเคลื่อนที่  การยืมแรงสะท้อนแรง  เอาไว้ทั้งหมด   และ เล่าจื๊อ ก็ได้กลายมาเป็น "ปรมาจารย์แห่งเต๋า" ก็เพราะได้ค้นพบว่า  "หยินคือหยาง หยางคือหยิน" นั่นเอง

คนธรรมดาจะคิดว่า "สสารคือสสาร และ พลังงานคือพลังงาน"  นี่คือ กรอบแนวคิดปกติ   จนกระทั่ง  อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์  ได้ค้นพบว่า "สสารคือพลังงาน   พลังงานคือสสาร"  ท่านจึงได้กลายเป็น บิดาแห่งฟิสิกส์นิวเคลียร์ไป  และ สมการอันโด่งดังนั้นก็ัยังคงยืนยงมาถึงปัจจุบัน

ทางด้านเศรษฐศาสตร์   กรอบความรู้เดิมคือ "หากรัดเข็มขัดการคลังเศรษฐกิจจะแย่ลง   หากทุ่มงบประมาณไปเศรษฐกิจจะดีขึ้น"   การใช้แนวคิดแบบย้อนแย้งแบบ จึงเกิดเป็น "การคลังไท้เก๊ก" ที่สามารถจะรัดเข็มขัดการคลัง พร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้โดยการยืมพลังจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ   ความรู้ใหม่ชี้ว่า  สำนักเคนส์บอกว่า ค่าตัวทวีสูงกว่า 1 นั้นเป็นจริง เพราะ ในอดีต 80 ปีก่อนนั้นกองทุนบำนาญต่างๆ ไม่มี  จึงไม่มีตัวดูดพลังของนโยบายการคลัง  และ สำนักนีโอคลาสสิคที่บอกว่า ค่าตัวทวีอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 นั้นก็เป็นจริงอีก เพราะ ปัจจุบันกองทุนบำนาญต่างๆ มีมากมาย  รัฐบาลใส่เงินทั้งสมทบโดยตรง  สมทบอ้อม (หักลดหย่อนภาษี)  หรือ การจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร ก็ล้วนทำให้เงินเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพเป็นนิ่งในกองทุน  ไม่ได้มาหมุนเศรษฐกิจแต่อย่างใด   การค้นพบว่าบางโครงการนั้นมีค่าตัวทวี "ติดลบ" กันเลย  การรัดเข็มขัดในโครงการเหล่านี้จึงช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

ผมใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะคิดค้น "การคลังไท้เก๊ก"  ออกมาได้ (แต่ยังมีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลหลายท่านที่ยังเดินวนๆ อยู่ในกรอบความรู้ของเคนส์อยู่เลย)  หากผมรู้เรื่องราวของ "ฟีนิกซ์ไท้เก๊ก" มาก่อน  ก็คงไม่ต้องหลงทางไปนานขนาดนั้น   อาจย่นระยะเวลาเหลือแค่ 8 วินาทีเท่านั้นเอง

"ฟีนิกซ์ไท้เก๊ก"  จึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะ  หากบทความนี้ได้เผยแพร่ออกไปจะทำให้ย่นระยะเวลาการคิดทฤษฎีใหม่ๆ ลงได้มาก    ภายใน 1 ปีก็อาจมีคนไทยคิดค้นทฤษฎีใหม่ๆ ให้กับโลกได้เป็นร้อยทฤษฎี   บางคนอาจกำลังเรียนอยู่ระดับมัธยมหรือเป็นนักศึกษาด้วยซ้ำ  ไม่เพียงแต่ทำให้ไทยได้เป็นผู้นำด้านความรู้วิชาการในกลุ่มประเทศ AEC เท่านั้น   แต่ยังนำหน้าประเทศจีนและญี่ปุ่นอีกด้วย

นอกจากนี้  วิทยาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ)   วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (แพทยศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์ เภสัชศาสตร์)  รวมไปถึงด้านสังคมศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์  รัฐศาสตร์  นิติศาสตร์)  ชาวตะวันตกได้ก้าวหน้าอย่างมากและถ่ายทอดให้กับเอเชียมาหลายร้อยปี    โดยอาจเริ่มมาตั้งแต่สมัยกาลิเลโอ (บิดาแห่งวิทยาศาตร์ยุคใหม่) ได้ทำการทดลองโยนก้อนหินที่หอเอนปิซ่าเมื่อ 500 ปีก่อนหน้านี้   ไม่แน่ว่าไทยอาจเปลี่ยนสถานะจากการเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของฝรั่ง  กลายมาเป็น  อาจารย์เพื่อถ่ายทอดวิทยาการให้แก่ชาวตะวันตกบ้างก็เป็นได้

ความคิดที่ไม่ได้ไปสู่การกระทำนั้นบางทีมันก็ไร้ประโยชน์  นั่นก็อาจจะจริง  แต่ลองมองย้อนไปดูเราจะพบว่า  คนเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้จัก จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ในฐานะ "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค"  ขณะที่คนนำทฤษฎีเคนส์ไปใช้คนแรกนั้นน่าจะเป็น  อดีต รมว.คลังของญี่ปุ่น สามารถฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นในยุคนั้นภายในปีเดียว เขาได้รับฉายา "เคนส์แห่งญี่ปุ่น"  แต่มีคนเรียนเศรษฐศาสตร์รู้จักชื่อของเขากี่คน .....   คนเรียนฟิสิกส์ทุกคนรู้จัก  อัลเบิร์ต ไอสไตน์  ในฐานะ "บิดาแห่งฟิสิกส์นิวเคลียร์" แต่ถามว่ามีกี่คนที่รู้จักชื่อของคนสร้างระเบิดนิวเคลียร์ และ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ??   โลกให้เครดิตแก่ "นักคิด" หรือ "นักทำ" มากกว่ากันละครับ ??

การศึกษาไทยที่ปฏิรูปอย่างไรก็ไม่สำเร็จเสียที  หายใจรวยรินใกล้สิ้นชีพ  ก็อาจฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่กลายเป็น "นกฟีินิกซ์" ที่สดใสได้อย่างเหลือเชื่อ  นี่อาจเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนการศึกษาโดยสิ้นเชิง เพราะ ความรู้เก่าๆ เดิมๆ นั้นหาได้จาก google และ youtube หมดแล้ว   นี่ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้ไทยวิ่งตามหลังเพื่อนบ้านได้ทัน  แต่เป็นการ "ปฏิวัติการศึกษา" เพื่อให้ไทยขึ้นไปอยู่ระดับแนวหน้าด้านวิทยาการของโลกกันเลยทีเดียว  ......  ฝันไกลไปหน่อยไหมครับ ??

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Econ.Cliff หน้าผาทางเศรษฐศาสตร์

"หน้าผาทางเศรษฐศาสตร์"  อาจเป็นคำศัพท์ที่ค้นหาความหมายได้ยากหน่อยใน google  เพราะเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นมาใหม่   แนวคิดคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทฤษฎีเดิมๆ  เมื่อไปถึงจุดหนึ่่งจำเป็นจะต้องมีการกลับทิศทาง  ก่อให้เกิดสภาพการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจ  อันรวมถึง  การคลัง การเงิน และ อัตราแลกเปลี่ยน

Fiscal Cliff  "หน้าผาการคลัง" หมายถึง  การรัดเข็มขัดการคลังอย่างเร็ว  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจได้  เรื่องนี้ทางอเมริกาเป็นห่วงมากๆ ว่าอาจเกิดขึ้นได้ในปี 2013 หลังเลือกตั้งประธานาธิบดี  หากไม่เร่งรีบแก้ไขกฏหมายด้านลดหย่อนภาษีเสียก่อน

ในความเป็นจริงแล้ว  เมื่อทฤษฎีเคนส์ เดินหน้าไปเรื่อยๆ  ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำเนื่องจาก โครงสร้างประชากรเปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้การเติบโตชะลอตัวลงมากโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว   หนี้สินภาครัฐต่อ GDP จะวิ่งสูงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องมีการพิจารณาจะ  "รัดเข็มขัดการคลัง" อยู่ดี  ขึ้นกับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น   และ  ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ และ ประเทศอ่อนแอในยูโรโซน (PIIGS) นั้นได้เลือกที่จะเดินตก "หน้าผาการคลัง" ไปแล้วด้วยซ้ำ   โดยได้เลือกหนทางรัดเข็มขัดการคลัง  และผลลัพธ์คือ เศรษฐกิจเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบ 2  ไปแล้ว

วิธีแก้ไขในเรื่องนี้คือ "การคลังไท้เก๊ก" ที่ใช้แนวคิด "ยืมพลัง" และ "นิ่งคือเคลื่อน" ของกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญ  มาเพื่อให้เอกชนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้เอง โดยพึ่งพาพลังของภาครัฐลดลง  วิธีนี้จึงสามารถจะรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้

Monetary Cliff  "หน้าผาการเงิน"  หมายถึง สภาพที่ประเทศต่างๆ ได้พยายามสกัดเงินเฟ้อด้วย การขึ้นอัตราดอกเบี้ย   มีการเพิ่มปริมาณเงิน (M2) มากกว่าระดับการเิติบโตทางเศรษฐกิจรวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP Growth)   ซึ่งเป็นการสร้างภาวะฟองสบู่ให้เกิดขึ้น   เมื่อขึ้นดอกเบี้ยก็ยิ่งดึงดูดเงินจากต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น  แทนที่จะสกัดเงินเฟ้อ  กลับยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจากต้นทุนการเงินที่เพิ่ม และ จากปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร

เมื่ออัตราดอกเบี้้ยสูงขึ้นเรื่อยๆ  ไปถึงจุดหนึ่งจะเหมือนกับการนำเข็มไปจิ้มลูกโป่ง  ซึ่งอันตรายมากๆ ที่มันจะแตกในที่สุด  โดยทฤษฎีการเงินเดิมๆ ที่ว่า  "ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ"  นำมาซึ่งผลลัพธ์ของวิกฤติวาซาบิในญี่ปุ่นปี 1991  แทบไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.5% ไปถึง 6% เพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อ แต่ความจริงแล้วมันสกัดการเิติบโตและทำให้ฟองสบู่แตก  จนต้องลดดอกเบี้ยลดอย่างเร็วเป็น "หน้าผา" แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่นัก  เศรษฐกิจติดอยู่ใน "กับดักสภาพคล่อง" มาถึง 20 ปี  นอกจากนี้ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาปี 2008 ก็เช่นเดียวกัน  อเมริกาได้ขึ้นดอกเบี่้ยนโยบายจาก 1% ไปจนถึง 5.25% เพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อ  แต่ผลลัพธ์กลับเป็นการทำให้ฟองสบู่อสังหาฯ แตกลง  และ วิกฤติได้ลุกลามไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน QE ไปส่งผลให้ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดียและีจีน)  ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในปี 2010-11  เนื่องจากการดูดซับสภาพคล่องไม่หมดจึงมีการเพิ่มของปริมาณเงิน (M2) วิ่งเร็วมาก  ประเทศจีนสูงถึง 28%  อินเดียสูงถึง 22%  ทั้งๆที่ควรดูแลไม่ให้เกิน 12-15% เท่านั้น   เมื่อ บราซิลขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 12.5% และ อินเดีย 8.5%  ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินไปกว่าเศรษฐกิจจะรับได้  ฟองสบู่ก็แตกตัวออก  การเติบโตลดลงกว่าระดับศํกยภาพอย่างเร็ว  บราซิลเหลือแค่ 0.8%  อินเดียเหลือแค่ 5.3% ในไตรมาสล่าสุด   ทั้งๆ ที่น่าจะโตได้ระดับ 5% และ 8% ตามลำดับ   หากรวมผลจากค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ลงไปแล้วราว 20%   แปลได้ว่า  GDP ของ 2 ประเทศใหญ่นี้เดินหน้าสู่ภาวะในถดถอยในรูปเงินดอลลาร์ไปแล้ว  สถานการณ์อาจเลวร้ายลงกว่านี้ได้อีก   โดยเศรษฐกิจ BRIC อาจชะลอตัวถึงขั้นถดถอยเมื่อรวมผลลัพธ์กับวิกฤติในยูโรโซนจะกลายเป็น "วิกฤติหมูหัน"   อาจกล่าวได้ว่า BRIC กลายเป็นเหยื่อของมาตรการ QE  ที่พิมพ์เงินจำนวนมากออกมาจากประเทศพัฒนาแล้ว

"หน้าผาการเงิน" จึงอันตรายยิ่งนัก  การเิดินขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยหวังสกัดเงินเฟ้อ เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดเพราะมันจะไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อแ่ต่จะสกัดการเติบโตแทน   ในที่สุดแล้วจะตกหน้าผากลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   "การเงินไท้เก๊ก" จึงเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  เพราะจะลดต้นทุนทางการเงินลง  พร้อมๆ กับ ลดแรงจูงใจการดึงดูดเงินเก็งกำไรจากต่างชาติอีกด้วย  นอกจากนี้จะต้องดูแล M2 ให้อยู่ระดับเหมาะสมไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่โดยตั้งมีการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรและดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกไป

Forex Cliff  "หน้าผาอัตราแลกเปลี่ยน"  คือ เมื่อการรักษาการผูกค่าเงินคงที่ไว้ไม่ได้  เงินตราต่างประเทศไหลออกอย่า่งต่อเนื่อง  จนต้องมีการลดค่าเงินจากระดับเดิม  จะ่ส่งผลให้เกิดวิกฤติค่าเงิน เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก และ วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย

แนวคิดของทฤษฎีอัตราแลกเปลี่่ยนเดิมๆ คือ การพยามรักษาให้มีเสถียรภาพและคงที่  แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับทำให้เสียสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอย่างมาก  เพราะ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าประเทศอ้างอิง   โดย  กรีซ ผูกค่าเงินกับ เยอรมัน ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาิติอยู่แล้ว   เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่ทนไม่ได้ก็ต้องมีการลดค่าเงินลงอยู่ดี  และ ความเีสียหายตรงนี้น่าจะถึงระดับวิกฤติ   โดย GDP ของไทยนั้นลดลงไป 10% คิดเป็นเงินบาท  แต่หากรวมผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อนลง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์  หมายถึง  GDP ไทยสูญหายไปถึง 50% เลยทีเดียวหากคิดเป็นเงินดอลลาร์ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

Forex ไท้เก๊ก  จึงเป็นทางแก้ไขโดยให้ดูแลดุลบัญชีเดินสะัพัดอย่าให้ขาดดุลเกินกว่า 3% ต่อปีติดต่อกัน 3 ปี และ ดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้เกิดส่วนต่าง (premium)  เกินกว่า 3% กับประเทศอ้างอิง  กรณีของเงินยูโรนั้น  การกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของ อิตาลี และ สเปน ลงเพื่อให้ใช้ระบบ "ยูโร" ต่อไปโดยการยืมพลังจาก CDS นั้นอาจพอเป็นไปได้   แต่สำหรับกรีซแล้วเป็นนั่นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย    การนำค่าเงิน 3 สกุลที่เหมาะสมมาใช้กับแต่ละกลุ่มประเทศ  เช่น Eura Euri และ Euro  ก็อาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า

จะเห็นได้ว่าแนวคิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ นั้นไม่เพียงแต่ไม่สามารถนำพาเศรษฐกิจโลกให้เดินออกจากเขาวงกตแห่ง "กับดักเศรษฐกิจ" ได้เท่านั้น  เมื่อมองย้อนอดีตดูกลับพบว่า  "ป้ายบอกทาง" เหล่านั้นล้าสมัยและผิดพลาด  มักจะนำพาให้ประเทศต่างๆ  เดินหน้าไปสู่  "หน้าผาทางเศรษฐศาสตร์" และ ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งหลายหน   ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่คนขับซึ่งปกติมักจะมีความเชี่ยวชาญชำนาญอยู่แล้ว  แต่ปัญหากลับอยู่ที่ "ป้ายบอกทาง" ต่างหาก   บางทีโลกอาจต้องพิจารณาการนำทางด้วย GPS ที่ทันสมัยกว่าป้ายบอกทางแบบเดิมๆ  และ  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  อาจเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบนั้นครับ


วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิกฤติหมูหัน กับ สารพันทฤษฎี

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2012  ผมขอเรียกว่า "วิกฤติหมูหัน" ซึ่งเกิดจากชื่อของอาหารจีน โดยประเทศจีนจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก  hard landing  เมื่อรวมกับ PIIGS ซึ่งเป็นประเทศอ่อนแอในเขตยูโรโซน  จึงได้ชื่อนี้ขึ้นมา  การรวมวิกฤติ 2 ภูมิภาคเข้าด้วยกันทำให้โลกเดินเข้าสู่เขตแดนอันตรายยิ่ง

"กับดักเคนส์" คือ สภาพที่ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณเข้าไปมากๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจหรือว่าจะรัดเข็มขัดการคลัง ยอมให้เศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม  ภาครัฐยังคงต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้น  ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงขึ้นอยู่ดี   การใช้ทฤษฎีการคลังของเคนส์แบบเดิมๆ  ทำให้ติด "กับดักเคนส์" อย่างเลี่ยงไม่ได้ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งปวง เพราะ โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้คนรุ่นใหม่ซึ่งจะรับภาระเสียภาษีนั้นมีไม่มากพอ  ขณะเดียวกัน  คนชราซึ่งเป็นภาระของภาครัฐกลับมีสัดส่วนที่สูงขึ้น  การแก้ไข "กับดักเคนส์" จึงไม่อาจใช้ทฤษฎีการคลังเดิมๆ ได้  แต่จำเป็นต้องใช้  ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก  ซึ่งเป็นการยืมพลังของกองทุนบำนาญมาช่วย  จึงทำให้สามารถรัดเข็มขัดการคลัง  เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

"กับดักเงินเฟ้อ" คือ สภาพที่เมื่อเศรษฐกิจดีเป็นฟองสบู่  เงินเฟ้อจะสูงขึ้นและ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะใช้ทฤษฎีการเงินเดิมๆ  เพื่อสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย   กลับส่งผลตรงกันข้ามทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกจาก ต้นทุนการเงิน และ ค่าเช่าที่สูงขึ้น   จนไปถึงจุดหนึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงมาก  (ญี่ปุ่น เคยวิ่งไปถึง 6% ก่อนวิกฤติวาซาบิ ปี 1991 และ อเมริกาเคยวิ่งไปถึง 5%  ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008)   ดอกเบี้ยไม่สกัดเงินเฟ้อ  แต่มันสกัดการเติบโต (growth)  ทำให้เศรษฐกิจฟองสบู่แตกตัวลง  และ สิ่งเดิมๆ นั้นกำลังเกิดขึ้นกับประเทศจีน และ อินเดีย    

แนวคิดใหม่ก็คือ  เราไม่ควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  เพราะว่ามันไม่ช่วย แต่มันจะสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน  อาจส่งผลให้ฟองสบู่แตกได้   ส่วนการป้องกันภาวะฟองสบู่นั้น ธนาคารกลางจะต้องดูแล ปริมาณเงิน (M2)  ให้มีการเติบโตใกล้เคียงกับ Nominal GDP Growth

ผมขอนำเสนอดัชนีชี้วัดฟองสบู่เรียกว่า "อัตราส่วนประวิทย์" (Prawit Ratio)  ซึ่งคิดจากค่าการเติบโตของ M2 เทียบกับ Nominal GDP Growth  ค่านี้ควรอยู่ราวๆ 100% ก็จะไม่เกิดปัญหา  แต่ญี่ปุ่น และ อเมริกา เคยปล่อยให้ M2    เติบโตถึง 11-12% ต่อปี   ซึ่งทำให้ค่า Prawit Ratio อยู่สูงราว 150% จึงนำพาไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในปี 1991 และ 2008  ในที่สุด  และ เมื่อมาดูที่จีนเคยปล่อยให้  Prawit Ratio ก็ยืนสูงกว่า 200% ในปี 2009  โดน M2 เติบโตถึง 28%  จึงอาจกล่าวได้ว่า  ความเสี่ยงที่จะเกิด hard landing ในประเทศจีนนั้นไม่ใช่ 10% อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปคาดไว้  แต่น่าจะสูงถึงกว่า 90% เลยทีเดียว  หากพิจารณาจากดัชนีชี้วัดฟองสบู่ Prawit Ratio   และ ตัวเลขของดัชนีตลาดหุ้นจีน  รวมไปถึง ตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบ  ก็บ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างเร็วของเศรษฐกิจจีน

สำหรับการแก้ไขปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วด้วย  ทฤษฎีการเงินเดิมๆ  ก็คือ  การลดอัตราดอกเบี้ยติดดิน และ การทำ QE  แต่หากไม่มีอุปสงค์จริงที่เพียงพอแล้ว  เงินจะกองจมอยู่ในระบบแบงก์เช่นเดิม  ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ปรมาจารย์เคนส์ตั้งชื่อไว้ว่า "กับดักสภาพคล่อง"   คือ แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำมาก  แต่การบริโภคและการลงทุนก็ยังไม่ฟื้นตัวแต่อย่างใด

สำหรับทฤษฎีใหม่   "การเงินไท้เก๊ก" จะหาทางป้องกันฟองสบู่แต่ต้นมือ  ด้วยการดูแล M2 ไม่ให้เกิดฟองสบู่ึของราคาสินทรัพย์ และ จะไม่นำเข็มแหลมๆ ไปจิ้มลูกโป่ง  ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก   และ หากสุดท้ายฟองสบู่แตกแล้วจริงๆ   ทฤษฎีนี้แนะให้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าศูนย์ไปเลย  ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลงมาได้อีก  อันจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์จริง ทั้งการบริโภคการลงทุนให้ฟื้นตัวได้ในที่สุด

"กับดักยูโร" เกิดขึ้นจากทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยนสกุลร่วม  ที่มุ่งหวังให้การส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ทำให้ประหยัดต้นทุนในการแลกเปลี่ยน   แต่อันที่จริงแล้วก็คือ การผูกค่าเงินนั่นเอง  โดยกรีซ และ เยอรมันได้ผูกค่าเงินไว้ด้วยกัน  โดยได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ  ดุลบัญชีเดินสะพัดและความสามารถในการแข่งขัน  ทฤษฎีใหม่ที่เรียกวา "FX ไท้เก๊ก"  จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปิดจุดอ่อนนี้

โดยประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 3% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน  รวมถึง อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าประเทศอ้างอิงกว่า 3% นั่นหมายถึง ประเทศนั้นๆ น่าจะมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เหมาะสมเสียแล้ว  จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้อ่อนลงเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกที่ดีขึ้น  หากสามารถแตกเงินยูโร  ออกเป็น 3 สกุล คือ Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มประเทศได้  ก็จะทำให้เกิดความสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด และยังรักษาเอกภาพของกลุ่มยูโรโซนไว้ได้ด้วย

วิกฤติหมูหัน  เกิดจาก "กับดักเศรษฐกิจ" มาผูกรวมกันหลายเรื่องส่งผลให้ภาะวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในประเทศแถบยุโรปก่อน  จากนั้นด้วยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกันทั่วโลก  จึงส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศต่างๆ ทั้งในอเมริกา และ เอเชีย โดยเฉพาะ "จีน"  การแก้ไขในเรื่องนี้ก็คือ ต้องละแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ เสีย  แล้วเปิดมุมมองให้กับ ทฤษฎีใหม่ๆ  ของ  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  อาจเป็นคำตอบเพื่อแก้ไขวิกฤติระดับโลกครั้งนี้







วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

8 ทฤษฎีวิถีไท้เก๊ก

ในที่สุดผมไ้ด้คิดค้นทฤษฎีใหม่ออกมาได้ 8 ทฤษฎี  โดยเป็น 4 ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คือ การคลังไท้เก๊ก  การเงินไท้เก๊ก  FX ไท้เก๊ก และ บำนาญไท้เก๊ก  อีก 2 ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์คือ เลือกตั้งไท้เก๊ก และ ปรองดองไท้เก๊ก  และมี 1 ทฤษฎีด้านการลงทุน คือ หุ้นเงาไท้เก๊ก  และ สุดท้าย คือ ทฤษฎีเพื่อการศึกษาในการสร้างองค์ความรู้ใหม่  เรียกว่า  ฟินิกซ์ไท้เก๊ก  ถ้ามีเวลาจะค่อยๆ ลงรายละเอียดไว้ครับ

ทางเศรษฐศาสตร์คงไม่ต้องลงรายละเอียดแล้ว  เพราะ เขียนไปมาก

เลือกตั้งไท้เก๊ก  คือ การเลือกตั้งแบบไม่ต้องใช้เงิน  โดยเลือกแบบ 2 ขั้น คือ เลือกจากตัวแทนชุมชนก่อน แล้วใช้วิธีจับสลากเอา  แบบนี้ก็ไม่ตั้องใช้เงินเลยเพื่อการเลือกตั้ง  การซื้อเสียงจะหายไปหมด และ เราจะได้ตัวแทนที่เป็นชาวบ้านจริงๆ ไม่ใช่นายทุนเข้ามาเป็น สส.  พวกเขาก็จะทำเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง  ตรงไปตรงมา  เป็นคนดี  

ปรองดองไท้เก๊ก คือ แนวคิดที่ออกจากกรอบเดิมที่ว่า หากทักษิณได้ อำมาตย์จะเสีย  และ หากทักษิณเสียอำมาตย์จะได้  หากเป็นกรอบที่ ทั้งทักษิณได้อำมาตย์ได้  นั่นจึงเป็นคำตอบของการปรองดอง  โดยควรเริ่มจากการอโหสิกรรมเสียก่อน  จัดพิธีแบบนี้ขึ้นมาเพื่อลดความโกรธต่อฝ่ายตรงข้ามของคนไทยด้วยกันเอง  จากนั้น  คุณทักษิณกลับมาติดคุก  แต่จัดแบบ ไม่ลำบาก ไม่นานและไม่เสี่ยง  ก็จัดอย่างหรูให้เลย  ภายใน 4 เดือนก็เขียนหนังสือ "วิถีชินวัตร" ซึ่งก็คงมีคนรอมากมาย  เชิญพระมาเทศน์ทุกสัปดาห์ที่คุกพร้อมออกอากาศในเรื่องของการให้อภัย  การสำนักผิด  ความสามัคคี เป็นต้น  ก็เป็นการชุบตัวว่า คุณทักษิณเปลี่ยนจากคนเลวเป็นคนดีแล้ว   จากนั้น  เราก็ทำเรื่องเสนอให้ ป๋าเปรม และ คุณทักษิณ รับรางวัลโนเบลร่วมกัน  ในฐานะที่ร่วมกันสร้างสันติภาพในประเทศไทย  นี่คือ การเดินตามแนวทางแบบ Mandela Model  เลยครับ  

หุ้นเงาไท้เก๊ก : ปกติแล้วหุ้นที่ P/E ต่ำก็จะมี growth ต่ำด้วยเป็น value stocks   และ หุ้น P/E สูงก็มี growth สูง คือ growth stocks  แต่หุ้นเงา คือ หุ้นที่มี P/E ต่ำ แต่มี growth สูง  ก็เลือกๆ มา  ก็จะได้ผลตอบแทนที่ดีมาก ๆในการลงทุนอาจเป็น 100% หรือกว่านั้นได้ไม่ยาก  เพราะ จะได้ผลจากค่า P/E ที่ปรับสูงขึ้น และ จากค่า E ที่สูงขึ้นด้วย 

สุดท้าย คือ ฟินิกซ์ไท้เก๊ก  คือ ทฤษฎีที่เอาไว้สร้างทฤษฎีใหม่  โดยลากเส้นทแยงมุมจากกรอบความรู้เดิม  เป็นการคิดสวนทางกับความรู้เดิม   เติมกลายเป็นปีก 2 ข้างของความรู้เดิมๆ  เราก็จะได้กรอบความรู้ใหม่  ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก และ เป็นประโยชน์ต่อโลกได้อย่างมากด้วย   


วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

4 กับดัก 4 ปฏิทรรศน์

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์   ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็น "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค"  ได้จัดตั้งชื่อสภาพที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ ติดดิน  สภาพคล่องล้นเหลือ  แต่ผู้คนก็ยังไม่กล้าจะลงทุนหรือบริโภค  นั่นคือ "กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap)   ขณะที่ได้ชี้ถึงสาเหตุแห่งปัญหานั้นคือ  ปฏิทรรศน์ของความมัธยัสถ์ (Paradox of Thrift)  หมายถึง  เมื่อทุกๆ คนพยายามออมเงินมากขึ้น  จะทำให้การใช้จ่ายรวมลดลง  ทำให้รายได้ของแต่ละคนลดลงไปด้วย  ทำให้ไม่สามารจะออมเงินได้ในที่สุด   เช่น  รัฐบาลของหลายประเทศพยายามทำเรื่องนี้อยู่  แต่กลับพบว่าการรัดเข็มขัดการคลังนั้นส่งผลทางตรงกันข้าม  เศรษฐกิจกลับแย่ลง  รายได้ภาษีลดลง  จนในที่สุดแล้วไม่สามารถรัดเข็มขัดการคลังตามเป้าหมายได้

สำหรับ 4 ทฤษฎีใหม่ของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊กนั้น  แต่ละทฤษฎีก็ประกอบไปด้วย  "กับดัก" ซึ่งเป็นตัวปัญหา และ "ปฏิทรรศน์" ซึ่งเป็นเหตุแห่งปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น   ก่อนจะได้หนทางแก้ไขปัญหาเป็น 4 ทฤษฎี 4 ด้านของศาสตร์แขนงใหม่นี้

ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก : ปัญหาด้านการคลังที่กำลังปวดหัวอยู่ทั่วโลกนี้คือ "กับดักเคนส์" (Keynes Trap)  หมายถึงสภาพที่รัฐบาลต่างๆ  ไม่ว่าจะเลือกทาง  รัดเข็มขัดการคลัง  หรือ คลายเข็มขัดการคลัง  ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้หนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP สูงขึ้นทั้งสิ้น  ในประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซน  ก็โดนเรื่องนี้เล่นงานอย่างหนัก   ส่วนสาเหตุของเรืื่องนี้นั้น  หลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นเพราะ นโยบายประชานิยมแต่เพียงอย่างเดียว  แต่ความจริงแล้ว  สาเหตุของเรื่องนี้คือ  "โครงสร้างประชากร"  เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น  ทั้งประชาชน  ภาคเอกชน และ รัฐบาลต่างต้องเร่งกันเตรียมเงินเพื่อบำนาญกันอย่างเต็มที่   เมื่อรัฐบาลทุ่มเงินลงไปทั้งสมทบเงินทางตรง หรือ ให้ลดหย่อนภาษีเป็นการสมทบเงินทางอ้อมก็ดี  เหล่านี้เป็นการใช้เงินรัฐแบบ "เคลื่อนเป็นนิ่ง"  แม้จะเป็นการสร้างความมั่นคงระยะยาว   แต่แทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลง   นอกจากนี้เงินกองทุนบำนาญ  ลงทุนราว 70-80% ในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ  ดังนั้น  การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์กองทุนบำนาญจึงหมายถึง  หนี้สินที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐไปด้วย  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า  "ปฏิทรรศน์ของกองทุนบำนาญ" (Paradox of Pension)

ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก :  การที่ธนาคารกลางก็ประสบกับปัญหา "กับดักเงินเฟ้อ" (Inflation Trap)  โดยหลักๆ แล้วปัญหามาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น  ธนาคากลางเชื่อว่าจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  โดยชะลอสินเชื่อ  แต่ในทางตรงกันข้าม   อัตราดอกเบี้ยนั้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินให้สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าต่อเนื่องไป  ผลลัพธ์จึงอาจมาทิศทางตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้ได้  ผมเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของดอกเบี้ย"  (Paradox of Interest)

ทฤษฎี FX ไท้เก๊ก : การที่ธนาคารกลางพยายามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่อยู่กับ "ยูโร" จึงเกิดปัญหาของ "กับดักยูโร" (Euro Trap)  คือ ประเทศที่อ่อนแอไม่สามารถแ่ข่งขันได้  เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และ สร้างหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก   เมื่อความเชื่อมั่นลดลง  เงินเริ่มไหลออกนอกประเทศ  ก็จะเกิดปัญหามากมายจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน   สิ่งนี้มีต้นเหตุมาจาก  การพยายามรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่   โดยหวังให้มีเสถียรภาพความมั่นคง  แต่ในทางตรงกันข้ามการผูกค่าเงินกลับส่งผลให้เสียสมดุลด้านต่างประเทศ  และ กลับส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในที่สุด  ผมเรียกสิ่งนี้ว่า  "ปฏิทรรศน์ของการผูกค่าเงิน" (Paradox of Peg)

ทฤษฎีบำนาญไท้เก๊ก : ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมพยายามเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นจากผู้ประกันตนจนเงินไม่พอใช้  เกิดเป็น "กับดักประกันสังคม"  (Social Security Trap)  ยิ่งออมก็ยิ่งจน  เพราะ เงินผลตอบแทนของประกันสังคมคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วจะต่ำกว่าการยืมเงินจากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลอยู่มาก  การสมทบเงินมากขึ้นโดยหวังว่าจะสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับผู้ประกันตน  แต่สุดท้ายแล้วผลกลับออกมาตรงกันข้าม  โดยผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่รายได้น้อยนั้นจะกลับมีเงินไม่พอใช้  ต้องไปกู้ยืมเงินจากแบงก์และนอนแบงก์  ในอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว  ทำให้จนลงๆ ไปเรื่อยๆ   สาเหตุตรงนี้เองผมเรียกว่า  "ปฏิทรรศน์ของการสมทบเงิน" (Paradox of Contribution)

จะเห็นว่าทุกทฤษฎีใหม่ันั้น  ได้มีการสร้างตัวปัญหา และ ต้นเหตุแห่งปัญหานั้น  คล้ายๆ กับ ปรมาจารย์ "เคนส์" ที่ได้สร้างศัพท์ใหม่อย่าง "กับดักสภาพคล่อง" และ "ปฏิทรรศน์ของความมัธยัสถ์"  ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากๆ  เพราะ การรู้ถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแน่ชัด  จึงจะนำไปสู่ทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประกันสังคม ตัวถล่มเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 1937

หลังจากปี 1930 โลกได้เข้าสู่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  โดยการค้าระหว่างประเทศลดลงกว่า 50% และ การว่างงานได้สูงขึ้นถึง 25%   แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยจนมาระัดับที่ต่ำมากๆ   แต่ผลลัพธ์ก็คือยังเกิดภาวะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง  จนเกือบถึงขั้นล่มสลายทางสังคมและเศรษฐกิจทุนนิยม

จนกระทั่งจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์  ได้เสนอให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ  เพิ่มงบประมาณเ้ข้าไปแบบขาดดุลจำนวนมาก  เพื่อสร้างอุปสงค์ให้เพียงพอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้   แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้โดยญีุ่ปุ่นก่อน  หลังจากนั้นก็อเมริกาและยุโรป  นำมาใช้ต่อมา   อเมริกามีการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพียง 3% GDP ในปี 1929  ได้เพิ่มมาเป็นถึง 40% GDP ในยุคถัดมาโดยประธานาธิบดีรูสเวลต์

อย่างไรก็ดี  เมื่อถึงปี 1937  ประธานาธิบดีรูสเวต์เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจนกำลังการผลิตกลับมาเหมือนปี 1929  จึงได้เดินหน้ารัดเข็มขัดการคลังนปีนั้น   กลับพบว่า 1 ปีหลังจากนั้นเศรษฐกิจดิ่งตัวลงอย่างเร็ว   การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงถึงเกือบ 30% ภายในไม่กี่เดือน  โดยเฉพาะสินค้าคงทนยิ่งลดลงหนัก  อัตราการว่างงานเพิ่มจาก 14.3% ในปี 1937  สูงขึ้นเป็น 19.0% ในปี 1938  เพิ่มจาก 5 ล้านคนเป็น 12 ล้านคน  ภายการผลิตก็ลดจากระดับสูงสุดปี 1937 ถึง 37%  

ถึงกระนั้น ศจ.แบร์โล  (Robert Barro)  ไ้ด้ชี้ประเด็นว่านั่นไม่ใช่เพราะ ผลจากการรัดเข็มขัดของนโยบายการคลัง  เขาเืชื่อว่าค่าตัวทวี (multiplier) ของทฤษฎีเคนส์นั้นมีค่าเข้าใกล้ศูนย์   โดยรัฐบาลจะมาแย่งเงินจากภาคเอกชนไป  และ ในปี 1937 นั้น  รัฐบาลรัดเข็มขัดเพียงแค่ 1% GDP  แต่กลับทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลงได้ถึง 4.8%   แม้แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เองก็ไม่เชื่อว่าค่าตัวทวีจะสูงได้ขนาดนั้น

ผมคิดว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างเร็วระหว่างปี 1937-38  อาจเป็น  "พรบ.ประกันสังคม" นั่นเอง  การบังคับใช้ พรบ.ประกันสังคมในปี 1937  ได้บังคับให้ผู้ใช้แรงงาน  บริษัทและรัฐบาลต้องร่วมกันสมทบเงินเพื่อออมเงินในระยะยาว   แม้เืรื่องนี้จะเหมาะสมอย่างยิ่งเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคตระยะยาว  แต่ระยะสั้นๆ แล้ว  จะทำให้กำลังซื้อของผู้ใช้แรงงานลดลด  เพราะ "ไม่มีของฟรีในโลก"  เป็นการทำ "เคลื่อนเป็นนิ่ง"   สิ่งนี้เองน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการถดถอยเป็นรอบที่ 2 ในช่วงเวลานั้น

เช่นเดียวกับประเทศไทย  หลังจากมีการเ็ก็บเงินสมทบเพิ่มจาก 1% เป็น 3% เป็น 5% เข้าระบบประกันสังคม  ก็ส่งผลประเทศไทยมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน  ในทางตรงกันข้าม  การลดเงินสมทบเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อบรรเทาจากผลกระทบของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และ วิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่   ก็พบว่าสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ได้   การดำเนินนโยบายด้านประกันสังคมอาจต้องชั่งน้ำหนักถึง "อนาคต" และ "ปัจจุบัน"  ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม










วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

CDS : จากระเบิดเวลาสู่ยาถอนพิษวิกฤติยูโร

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรกันที่   ตัวแสบอย่าง CDS (Credit Default Swap)  หรือ ตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงจากการเบี้ยวหนี้   จะมาเป็น "ยาถอนพิษ" วิกฤติยูโรรอบนี้ได้อย่างไรกัน ?? 

หลักการของเรื่องนี้ก็คือ "ใช้พิษสกัดพิษ"  ตามแบบจอมยุทธในหนังจีนกำลังภายในนั่นเอง   และเป็นวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็วมากด้วย    โดยพิษจาก CDS ที่ถูกปั่นโดยนักเก็งกำไร  ทำให้พันธบัตร 10 ปีของ สเปน และ อิตาลี มี Yield ที่สูงขึ้นมากเกือบ 7%    เราจะใช้ CDS เพื่อสกัดพิษของ CDS นั้น

สำหรับการออก "ยูโรบอนด์" นั้น   นายกฯ เยอรมันพยายามต่อต้านเรื่องนี้มาโดยตลอด  เพราะ ไม่อยากให้ภาระหนี้ทั้งหมดในเขตยูโรโซน มาตกอยู่บนบ่าของ เยอรมัน  เป็นหลัก  แต่การออก CDS นั้น  ผลจะแตกต่างกันไป เพราะ จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินกลับคืนมาด้วย

โดยหากยอมให้ประเทศใหญ่ 3 ประเทศในยูโรโซนที่มีเครดิต AAA คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส และ เนเธอร์แลนด์ สามารถขาย CDS เพื่อค้ำประกันพันธบัตรรัฐบาล PIIGS ได้ในราคายุติธรรมกว่าตลาด  สำหรับประเทศอิตาลีและสเปน อาจกำหนดไว้ที่ 400 bps หรือ 4% ไว้ก่อน  โดยที่ ไอร์แลนด์ และ โปรตุเกส อาจกำหนดไว้ที่ 6%  เป็นต้น  และอาจกำหนดขั้นสูงของการค้ำประกันไม่เกิน 50%  GDP ของประเทศ PIIGS    วิธีเช่นนี้จะทำให้ yield ของพันธบัตร PIIGS ลดลงอย่างเร็ว   เมื่อตลาดเริ่มสงบแล้ว  อาจปรับ  CDS ให้ค่อยๆ ลดลง 0.5% ทุกไตรมาส   เมื่อเวลาผ่านไปปีครึ่ง  CDS ก็อาจลดเหลือแค่ 1% เท่านั้นเอง  รัฐบาลเยอรมันจะกลายเป็นผู้เล่นหลักในตลาด CDS และ เป็นผู้กำหนดความเสี่ยงของพันธบัตรของ PIIGS เอง  แทนที่จะปล่อยให้เรื่องนี้อยู่ในมือของนักเก็งกำไร

นั่นหมายถึง  เยอรมันค้ำประกันหนี้ก็จริง  แต่ยังได้รับผลตอบแทนค่าค้ำประกันกลับคืนมาด้วย  หากค้ำประกันพันธบัตรราว 5 แสนล้านยูโรให้กับสเปนและอิตาลี  ก็จะได้เงินกลับมาถึง 2 หมื่นล้านยูโรต่อปี  หรือ พอๆ กับดอกเบี้ยจ่ายของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมันทั้งปีเลยทีเดียว   

การทำเช่นนี้จะเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง  5 ตัว
1. สำหรับเยอรมัน  ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์  จะมีรายได้เข้ารัฐมากขึ้น   ทำให้การปฏิรูปการคลังเดินหน้าดี
2. สำหรับประเทศ PIIGS  จะมีต้นทุนการออกพันธบัตรลดลงอย่างเร็ว  ทำให้รายจ่ายการคลังลดลง  รัดเข็มขัดการคลังได้  และ เมื่อความเสี่ยงลดลง  สภาพการไหลออกของเงินทุนก็จะดีขึ้นด้วย 
3. เป็นการช่วยสถาบันการเงินในภูมิภาค  เพราะ หลายแบงก์ได้ยืมเงิน ECB มาลงทุนพันธบัตรอิตาลี และ สเปน เป็นจำนวนมาก  และ  เกิดการขาดทุนหนักเพราะ การดิ่งลงของราคาพันธบัตร (Yield สูงขึ้นหมายถึง ราคาที่ลดลง)  การออก CDS แบบนี้มา จะช่วยให้ yield ลดลง  ราคาพันธบัตรดีขึ้น  และ อาจกลับมาเป็นกำไรได้
4. เป็นการดัดหลังนักเก็งกำไรไปในตัว  เพราะ คนกลุ่มนี้ได้กำไรจาก CDS ที่ราคาวิ่งสูงขึ้นอย่างเร็ว  สร้างกำไรหลายเท่าตัวบนความเสียหายของระบบการเงินยูโร  การแทรกแซงตลาด CDS โดยภาครัฐจะ ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ และ ไม่ถูกนักเก็งกำไรเล่นงานได้ง่าย
5. เรื่องนี้ไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่ยูโรเดียว  การขาย CDS ออกไปนั้น  จะได้เงินเข้ามา  แทนที่จะใช้เงินทุนจำนวนมากหลายแสนล้านยูโร    หากตั้งกองทุนเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตร

ผู้นำยูโรโซนหากอ่านมาถึงบรรทัดนี้  อาจตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก  เพราะ นี่คือ วิธีแก้ไขอย่างเร็วและง่าย  ในระยะสั้นๆ 1-2 ปีวิธีนี้น่าจะเหมะสม   แต่ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว  การแบ่งเงินยูโรเป็น 3 สกุล ยังน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ยูโรโซนแย่ หากไม่แน่วแน่ แก้ไขในสิ่งผิด

การพยายามเร่งประเทศอ่อนแอให้รัดเข็มขัดปฏิรูปการคลัง   รวมไปการอัดฉีดเงินผ่าน EFSF และ ESM เพื่อช่วยเหลือแบงก์ในสเปนก็ดี  ล้วนแล้วแต่เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น   ต้นเหตุที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใดเลย   สิ่งที่ยูโรโซนจะต้องทำก็คือ  "การปฏิรูปเงินยูโร" ต่างหาก

ก่อนอื่นต้องยอมรับเสียก่อนว่า "เงินยูโร" คือต้นเหตุของวิกฤติในยูโรโซน   โดยการผูกค่าเงินประเทศแข็งแรงไว้กับประเทศอ่อนแอนั้น  จะทำให้ประเทศอ่อนแอ (PIIGS่)  มีเศรษฐกิจที่ออกห่างจากจุดดุลยภาพออกไปเรื่อยๆ  ยิ่งทิ้งไว้นายยิ่งเป็นปัญหา  การผูกค่าเงินโดยหวังให้ค่าเงินมั่นคงมีเสถียรภาพนั้น  ในระยะยาวแล้วกลับทำให้เศรษฐกิจเสียดุลยภาพและขาดเสถียภาพต่างหาก  ผมตั้งชื่อให้ว่า Paradox of Peg  (ความขัดแย้งของการผูกค่าเงิน) 

International Fisher Effect คือ ทฤษฎีการเงินระหว่างประเทศที่ชี้ว่า  ในระยะยาวประเทศที่มีเงินอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า (กรีซ)  ค่าเงินจะต้องชดเชยลงด้วยการอ่อนลงของค่าเงิน   แต่การผูกค่าเงินกับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ (เยอรมัน) เป็นเงินยูโร  ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นไม่ได้    การใช้เงินยูโรหากเป็นแค่ 2-3 ปีแรกจะไม่มีปัญหาอะไรนัก  แต่เมื่อเวลายิ่งผ่านไปเกิน 10 ปี    PIIGS จะเสียดุลยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ   หากประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 ปีของกรีซอยู่ที่ 3%  ขณะที่เยอรมัน 1.5%  หมายถึง  ข้าวของในกรีซมีราคาสูงขึ้นเร็วกว่าในเยอรมันไปแล้วราว 20% ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา   ค่าเงินของกรีซ ควรจะอ่อนลงด้วยอัตราเดียวกัน  ค่าเงินที่เหมาะสมกับกรีซ ควรอ่อนค่ากว่าปัจจุบัน 20% เช่นกัน  .... แต่ "ยูโร" เป็นตัวบีบไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นตามทฤษฎีนี้ 

โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจถดถอย  ประเทศต่างๆ จะปรับตัว  การนำเข้าจะลดลงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเข้าสู่สมดุล หรือ เป็นบวก  แต่นั่นไม่ใช่กับประเทศ  PIIGS  ซึ่งแม้ ศก.จะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว   แต่ค่าเงินที่ปรับตัวลดลงไม่ได้  ยังคงผูกกับ "ยูโร"  จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบหนักๆ ต่อไป   โดย  กรีซ  โปรตุเกส  สเปน และ อิตาลี  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  9.8%  6.4%  3.5% และ 3.2%  ตามลำดับในปี 2011  ซึ่งนั่นหมายถึง  แม้ประเทศเหล่านี้พยายามรัดเข็มขัดการคลังจนเศรษฐกิจถดถอย  การว่างงานสูงกว่า 20% แล้วก็ตาม  PIIGS ยังคงใช้จ่ายเงินเกินตัวอยู่อย่างมาก   หนี้สินต่างประเทศยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง  นับเป็นเรื่องน่ากังวลมากๆ  เพราะ  ประเทศเหล่านี้ยังพึ่งพามากขึ้น  ยังยืนบนเงินกู้ของประเทศแข็งแรงมากขึ้น  แทนที่จะพยายามหาวิธียืนบนขาของตนเองให้ได้  

การปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะมาจาก  ECB, IMF, EFSF หรือ ESM ก็ตาม   ก็เหมือนการใช้ "พลังเงิน" จำนวนมาก เพื่อนำช้อนมาคนน้ำและน้ำมันเข้าด้วยกัน   แล้วใช้วาทกรรมว่า  "พวกเรายังคงเป็นหนึ่งเดียว"  เรื่องแบบนี้คงหลอกคนในยูโรโซนและคนทั่วโลกได้อีกไม่นานนักเป็นแน่

สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การรีบแก้ไขในสิ่งผิด  ยอมรับว่า "ยูโร" คือ สิ่งผิดพลาดและเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง  ทำให้ PIIGS ใช้เงินเกินตัว  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  สร้างหนี้่ต่างประเทศจำนวนมาก  มีการปล่อยกู้จนเกิดฟองสบู่แตก  ภาครัฐจึงต้องเข้าไปรับหนี้แทนภาคเอกชนด้วยการเพิ่มทุนเข้าไปในแบงก์   พร้อมๆ กับประคองเศรษฐกิจไว้ด้วย  การขาดดุลการคลังและหนี้สินภาครัฐจึงพองตัวขึ้น   เมื่อความเชื่อมั่นถดถอยลง  เงินไหลออกนอกประเทศ  ดอกเบี้ยพันธบัตรจึงวิ่งขึ้นสูงลิ่ว  เศรษฐกิจก็ถดถอยต่อเนื่อง  เมื่อไม่สามารถลดค่าเงินลงได้  ทุกอย่างจึงมืดมิดยิ่งนัก   เหมือนเดินเข้าสู่อุโมงค์โดยไม่มีหวังเห็นแสงสว่าง 

"การปฏิรูปเงินยูโร" จึงเป็นทางออกสุดท้าย  ด้วยการแตกเงินยูโรเป็น 3 สกุล  เพื่อรองรับกลุ่มประเทศอ่อนแอ กลางๆ และแข็งแรง  โดยอาจใช้ชื่อเป็น Eura Euri และ Euro  ซึ่งเป็นแนวทางให้ PIIGS หยุดใช้เงินยูโร โดยใช้เงินที่อ่อนค่าลงเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและดึงดุลยภาพกลับมาได้   แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป  โดย ECB ดูแลค่าเงินทั้ง 3 สกุล  นอกจากนี้ก็พยามยามชวนประเทศใน EU ที่อยู่นอกยูโรโซนอีก 10 ประเทศ มาเลือกใช้ค่าเงินสกุลร่วมที่เหมาะสม 1 ใน 3 สกุลนั้น  ก็จะทำให้ "ยูโรโซน" มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นแทนที่จะเล็กลง  ผมคิดว่ามีแต่วิธีแบบนี้เท่านั้น  จึงจะทำให้ยุโรปกลับมามีเสถียรภาพ  มีดุลยภาพ และ มีเอกภาพได้อีกครั้งหนึ่ง 

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ราชสีห์กับหนู : รอดู WEF เอเชียบูรพา

พวกเราคงรู้จักกับนิทานอีสปเรื่อง "ราชสีห์กับหนู" กันเป็นอย่างดี แล้วเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับ WEF East Asia ที่ กรุงเทพฯ ??

ประเทศพัฒนาแล้วยักษ์ใหญ่หลายประเทศกำลังติด "กับดักเคนส์" (สภาพที่หนี้ภาครัฐต่อ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะรัดเข็มขัด หรือ คลายเข็มขัดการคลังก็ตาม) เหมือนดั่งราชสีห์ติดกับดักนายพราน ขณะที่ประเทศแถบยูโรโซนหนักยิ่งกว่า เพราะ ติด "กับดักยูโร" ไปอีกด้วย โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยได้มีแนวคิดของ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ที่สามารถปลดล็อกกับดักทั้ง 2 นี้ได้ ด้วย "ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก" โดยนำเอาแนวคิดของไท้เก๊กคือ "ยืมแรงสะท้อนแรง" และ "นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง" มาใช้เพื่อฉีกกรอบทฤษฎีเคนส์ เราจึงสามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี นอกจากนี้ ทฤษฎี FX ไท้เก๊ก ยังบ่งชี้ว่า ค่าเงินยูโร ควรแตกออกเป็นอย่างน้อย 3 สกุล เพื่อให้ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกลุ่มประเทศที่แข็งแรง กลางๆ และ อ่อนแอ วิธีนี้จะทำให้ระบบเงินยูโรคงอยู่ได้อย่างมีดุลยภาพ และ มีเอกภาพ

 เวที WEF เอเชียบูรพานี้ รัฐบาลไทยควรขอเสียงสนับสนุนจากจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เพื่อสร้างเรื่องนี้ให้เป็นสำนักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเชียบูรพา เคียงข้างไปกับ สำนักเคนส์ (อังกฤษ) สำนักการเงินนิยม (อเมริกา) สำนักสังคมนิยม (โดยคาร์ล มาร์กซ์ แห่งเยอรมัน) และ สำนักเชิงพุทธ (เอเชียใต้) ประเทศไทยได้รับการช่วยเหลืออย่างมากมายจากประเทศพัฒนาแล้วทั้งในระดับประเทศ องค์กร และ บุคคล ตัวผมเองก็ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีจากเงินภาษีของคนญี่ปุ่น นี่นับเป็นโอกาสอันดียิ่งในรอบศตวรรษ ที่ประเทศไทยอาจจะได้รับบทบาทการเป็นฮีโร่เพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก รัฐบาลไทยมีทางเลือกในการเป็น "หนู" ได้ 3 แบบ คือ

1.หนูใจดำ : เรื่องแบบนี้ตัวใครตัวมัน ไม่สำนึกบุญคุณหรอก ราชสีห์ก็ทำไม่ดีเอาไว้มาก จะไปช่วยทำไมกัน ปล่อยให้ราชสีห์ดิ้นรนทุรนทุรายปางตายไปก็แล้วกัน

 2. หนูใจเย็น : เดี๋ยวรอจังหวะดีๆ ก่อน ให้ราชสีห์จวนตัวจริงๆ ค่อยเข้าไปช่วย วิธีแบบนี้ก็อาจมี กระรอกน้อยเจ้าปัญญา รีบวิ่งมาตัดหน้ารับบทบาทช่วยราชสีห์แทนหนูก็มีความเป็นไปได้สูง

 3. หนูใจดี : รีบช่วยเหลือราชสีห์เพื่อทดแทนคุณโดยด่วน สร้างตำนาน "ราชสีห์กับหนู" ตามแบบนิทานอีสป แต่นี่เป็นการช่วยให้ราชสีห์ หลุดพ้นจาก "กับดักเคนส์" และ "กับดักยูโร" ซึ่งเป็นสถานการณ์คับขันของระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน

หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะเลือกได้ถูกทาง เพราะ นี่คือชื่อเสียงและความภาคภูมิใจของทั้งประเทศไทย รัฐบาลไทย รวมถึง ประชาชนคนไทยทุกคนครับ

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

GONEY ดัชนีชี้นำตลาดหุ้น

ดัชนี GONEY ผมตั้งชื่อขึ้นมาเอง อาจถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกของโลก มีประโยชน์ในการลงทุนหุ้นไม่น้อยเลย....
ปกติแล้ว ดัชนีหุ้นจะชี้นำ สภาพเศรษฐกิจ แต่ ตัวชี้นำดัชนีหุ้นนั้นละคืออะไร ?? GONEY ไงครับ

1. G:GOLD ราคาทองคำ เนื่องจากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่เล่น leverge หลายเท่า ... หากสภาพคล่องล้นระบบ เงินจะถูกนำไปเก็งกำไร ทำให้ราคาทองวิ่งขึ้น ดังนั้น หากราคาทองวิ่งขึ้นได้ หมายถึง สภาพคล่องดี มีการเก็งกำไรสูง

2. O : Oil ราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันดี... เกิดการเล่น leverage หลายเท่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจะเร็วมาก การวิ่งขึ้นของน้ำมันหมายถึง สภาพเศรษฐกิจดีมีเก็งกำไรสูง ดอลลาร์อ่อนตัว มีการยืมเงินไปเก็งกำไรมาก เป็นผลดีกับตลาดหุ้น

3. N : NASDAQ Divergence : ดัชนี NASDAQ มีค่า เบต้า สูงกว่า S&P500 ดังนั้น หากดัชนีหุ้นอเมริกา S&P 500 วิ่งขึ้น แต่ NASDAQ กลับอ่อนตัวลง หรือวิ่งอย่างอ่อนแรง เป็น divergence หมายถึง ตลาดหุ้นโลกกำลังจะกลับทิศทางเป็นขาลงได้   หรือ  หากในกันทางตรงกันข้าม NASDAQ ดูแข็งแรงกว่า S&P500 ในตลาดขาลง ก็หมายถึง  ตลาดกำลังจะพลิกกลับเป็นขาขึ้น

4. E : Euro หากค่าเงินยูโรสูงขึ้น หมายถึง ตลาดโดยรวมสภาพคล่องดี มีการเก็งกำไรสูง ตลาดวางใจในปัญหาหนี้ของยูโรโซนมากขึ้น หากยูโรแข็งค่าแสดงว่ตลาดหุ้นอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากเริ่มอ่อนค่าลงก็เริ่มน่าเป็นห่วง

5. Y : Yield หมายถึง ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของอเมริกา หากค่านี้สูงขึ้น ก็หมายถึง ตลาดวางใจในสินทรัพย์เสี่ยง เศรษฐกจดูแข็งแรงดี  มีการขายพันธบัตรออกมาเพื่อเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ มากขึ้น ตลาดหุ้นจึงดูดี หากค่านี้ลดลง ก็หมายถึง ตรงกันข้าม คือ ตลาดกังวลจึงนำเงินมาซื้อพันธบัตรที่ไร้ความเสี่ยงแทน

ดังนั้น ดัชนี GONEY (กันนี่) จึงอาจเรียกได้ว่า Going for Money ..... หากทั้ง 5 ตัววิ่งขึ้น ก็หมายถึง ตลาดหุ้นส่อแววในทางสดใส แต่หากเริ่มเกิดการกลับทิศ...อาจหมายถึงตลาดหุ้นเตรียมกลับทิศ  ก็ควรต้องระมัดระวังตัว

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ทักษิณาภิวัฒน์

หากคิดว่า ผมจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองว่าคำนี้แปลว่า ความรุ่งเรืองของ "ระบอบทักษิณ" ละก็...ท่านผู้อ่านคิดผิดถนัด สิ่งที่มีความหมายในทำนองนั้นมีการบัญญัติศัพท์ไว้อยู่แล้วอย่างไม่เป็นทางการว่า "ทักษิณาธิปไตย" แต่สิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้เกี่ยวกับกระแสเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกต่างหาก

สิ่งนี้ประยุกต์แนวคิด "บูรพาภิวัฒน์" ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพียงแต่ผมมองว่า ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมิได้ย้ายขั้วจาก "ตะวันตก" มาเป็น "ตะวันออก" แต่เป็น "เหนือ" ลงสู่ "ใต้" ต่างหาก ดังนั้น "ทักษิณาภิวัฒน์" จึงอาจแปลง่ายๆได้ว่า "ความรุ่งเรืองจากแดนใต้" โดยแต่ก่อนจะมี 3 ขั้วอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และ ยุโรป ปัจจุบันพื้นที่ทางใต้ของ 3 ขั้วอำนาจนี้มีพลวัตรมากขึ้น ฝั่งใต้ของสหรัฐอเมริกา คือ อเมริกากลางและใต้ ฝั่งใต้ของรัสเซีย คือ จีน อินเดีย และ อาเซียน ส่วนฝั่งใต้ของยุโรป ก็คือ แอฟริกานั่นเอง

มี 3 ปัจจัยที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง "ทักษิณาภิวัฒน์"

1. GDP ต่อหัว และ ประชากร : เนื่องจากประเทศที่อยู่แดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) อเมริกาใต้ (บราซิล อาร์เจนติน่า) แอฟริกา (อียิปต์ ไนจีเรีย) ล้วนเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวต่ำ ขณะที่มีประชากรจำนวนมาก การพัฒนาในอนาคตจึงมีการเติบโตของ GDP สูงจากฐานที่ต่ำ และ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมากจากจำนวนประชากรหลายร้อยล้าน หรืออาจถึงพันล้านคน

2. อายุเฉลี่ยของประชากร (median age):โดยประเทศพัฒนาแล้วทางเหนือจะมีอายุเฉลี่ยที่สูงมาก เช่น ญี่ปุ่น(45 ปี) และ ยุโรป มีพลวัตรที่ต่ำ ขณะที่ประเทศบริเวณเอเชียใต้ และ อาเซียน จะมีประชากรที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่ามาก อินเดีย (26) พม่า (27) อินโดนีเซีย (28) เวียดนาม (28) ฟิลิปปินส์ (23)ซึ่งหมายถึง ศักยภาพของพลวัตรอยู่ในระดับสูงกว่ามาก โดยที่ จีน (36) และ ไทย (34) อยู่ระดับกลางๆ ดังนั้น ศักยภาพของพลวัตรด้านโครงสร้างประชากรแล้ว ไทย จึงดูจะเสียเปรียบเพื่อนบ้านใน อาเซียน และ จีนก็ดูเหมือนจะสู้ อินเดียและเอเชียใต้ไม่ได้ นี่เป็นผลด้านลบที่สะท้อนมาจากนโยบายการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีอัตราการเกิดจึงต่ำ และ การแพทย์ที่มีคุณภาพสูงทำให้ประชากรมีอายุยืนนานขึ้น

3. หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP : ประเทศที่มีค่านี้สุงสุดในโลก 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น (220%)กรีซ (143%)และ อิตาลี (119%) ตามลำดับ พบว่า มีค่าเฉลี่ยของอายุประชากรที่ติด top ten ของโลก โดยกรีซอยู่ที่ 42.5 ปี และ อิตาลีอยู่ทีี่ 43.5 ปี ซึ่งสูงมาก นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การที่ภาครัฐต้องเข้าไปอุดหนุนประกันสังคมทั้งด้าน เบี้ยบำนาญ และ การประกันสุขภาพ ของผู้สูงอายุ ขณะที่ GDP แทบไม่เติบโต จึงทำให้ต้องติดหนี้สาธารณะจำนวนมาก ขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาทางใต้นั้น จะมีตัวเลขหนี้สินภาครัฐยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า รัฐบาลจึงมีศักยภาพในการส่งพลังช่วยเศรษฐกิจได้มากกว่า จีน (18%) อินโดนีเซีย (27%) ไทย (41%) ฟิลิปปินส์ (47%) เวียดนาม (53%)

3 แนวโน้มของ "ทักษิณาภิวัฒน์"

1. ขนาดของเศรษฐกิจของประเทศแดนใต้ จะเติบโตเร็วก่า และจะมีขนาดใหญ่กว่า ประเทศพัฒนาแล้วแดนเหนือ ด้วยเหตุผลของจำนวนประชากรที่มากกว่าหลายเท่า และ พลวัตรของโครงสร้างประชากรที่คนในวัยทำงานที่มากกว่า อินเดีย จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเยอรมัน บราซิลจะใหญ่กว่าฝรั่งเศส และ อินโดนีเซีย น่าจะใหญ่กว่า เกาหลีใต้

2. ประเทศพัฒนาแล้วทางเหนือจะพึ่งพาสินค้าของแดนใต้มากขึ้น ไม่เพียงสินค้าเกษตรเท่านั้น สินค้าอุตสาหกรรมทั้ง โลว์เทค (เสื้อผ้า รองเท้า) ไฮเทค (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์) รวมไปถึง ภาคบริการ (การแพทย์และท่องเที่ยว) ด้วย นอกจากนี้ การพึ่งพากันเองของประเทศแดนใต้จะเข้มข้นขึ้นทั้งด้านการลงทุน การแบ่งผลิตชิ้นส่วน การค้าระหว่างประเทศ โดยรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (เช่น AEC) จากเดิมแทนที่จะมุ่งส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ตามขนาดของเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว ภาระภาษีศุลกากรที่แทบไม่มี และ ต้นทุนการขนส่งก็ต่ำลง

3. จะมีการเคลื่อนย้ายประชากรวัยเกษียณ จากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนาแดนใต้มากขึ้น จะทำให้สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในต้นทุนที่ต่ำลงมาก กำลังซื้ออาจเพิ่มขึ้นได้อีก 4-5 เท่าตัว หลายคนอาจเลือกที่จะเป็น "คนรวยในต่างแดน ดีกว่าเป็นคนจนในบ้านเกิด" หากมองในมุมของรัฐบาล การลดภาระการคลังจากการดูแลสุขภาพคนชรา ที่ญี่ปุ่นจ่ายอยู่หัวละ 4 แสนบาทต่อปี หากมาอยู่ประเทศไทยต้นทุนอาจเหลือแค่ 4 หมื่นบาทหรือแค่ 1 ใน 10 ดังนั้น หากมีการอพยพย้ายถิ่นกัน 1 ล้านคน หมายถึง รัฐบาลญี่ปุ่นอาจลดภาระการคลังได้ถึง 3.6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศไทยก็มีรายได้การดูแลสุขภาพเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านต่อปีเช่นกัน

ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมวางโครงข่ายคมนาคมแบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมไปยัง จีน อินเดีย และ ประเทศในอินโดจีนได้ทั้งหมด อาจวางยุทธศาสตร์ให้ "ขอนแก่น"เป็นเมืองหลวงอินโดจีนและเป็นเมืองหลวงสำรองของไทย โดยใช้เป็นจุดตัดของรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง (เวียงจันทน์-ขอนแก่น-กทม.-ทวาย และ ย่างกุ้ง-ขอนแก่น-ดานัง) วางกลยุทธ์ด้าน "แรงงานต่างด้าว" ให้ดีเพื่อเพิ่มพลวัตรด้านประชากร จัดระบบพร้อมรับรายได้จากคนเกษียณจากประเทศพัฒนาแล้ว ควรเตรียมพร้อมรับกระแสเมกะเทรนด์ "ทักษิณาภิวัฒน์"

สำหรับภาค 2 ซึ่งอาจเป็นบทความที่ว่า การเมืองแบบ "ทักษิณาธิปไตย" ที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ "ทักษิโณมิกส์" จะตอบรับกับกระแส "ทักษิณาภิวัฒน์" ได้ดีเพียงใดนั้น คงต้องรอให้คนของรัฐบาลชุดนี้มาเขียนให้พวกเราอ่านต่อไปครับ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

พรก.โอนหนี้...สิ่งนี้มีสร้างสรรค์

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ โจมตี พรก.โอหนี้ไปสู่กองทุนฟื้นฟูฯ และ ให้ ธปท.ดูแลการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จะกระทบกับประชาชนผู้ฝากเงินกู้เงิน รวมไปถึงเสถียรภาพของ ธปท.ได้ อย่างไรก็ดี ผมกลับพบว่ามีเรื่องน่าสนใจที่สร้างสรรค์ แทนที่จะเป็น "พรก.สร้างปัญหา" แต่กลับเป็น "พรก.แก้ปัญหา" อย่างดี

- ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้เร็วขึ้น : โดยการยืมพลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แทนที่การปล่อยให้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่เก็บไว้ในสถาบันคุ้มครองเงินฝากจมอยู่เฉยๆ หรืออาจฝากแบงก์ได้ ดบ.1% ก็จะสร้าง GDP ได้ราว 450 ล้านบาท รัฐบาลยืมพลังของเงินก้อนหนี้ "ในนิ่งมีเคลื่อน" หากคิดว่าเงินนี้ไปเป็นเบี้ยยังชีพคนชราและคนพิการ 7.5 ล้านคนๆ ละ 6 พันบาท ซึ่งจะใช้จ่ายเงินที่รับมาเกือบทั้งหมด จึงสร้างตัวทวีมีค่าสูงที่ 3 เท่า ดังนั้น จะเพิ่ม GDP ได้ราว 1.35 แสนล้านหรือราว 1.1% นั่นหมายถึง ศก.ไทยจะเติบโตสูงกว่าระดับปัจจุบันเพิ่มอีก 1.1% ทุกๆ ปีฟรีๆ

- ลดเหลื่อมล้ำ : ธนาคารพาณิชย์อาจได้กำไรลดลงไปบ้าง เพราะ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 0.4% เป็น 0.46% โดยที่ไม่สามารถผลักภาระให้กับประชาชนได้ เพราะ มีการแข่งขันเข้มข้นจากแบงก์รัฐอยู่สูง  มีการประเมินว่ากำไรอาจลดลงราว 5% นั่นเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่า กำไรที่ลดลงของนายแบงก์ (นายทุน) นั่นหมายถึง เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านนั่นเอง ประเทศไทยมีผลตอบแทนของส่วนทุนที่สูงเกินไปที่เป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของ GDP ขณะที่แรงงานนั้นได้เพียง 40%   การลดกำไรของนายทุนลงมา ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น หมายถึงว่า ผลตอบแทนของแรงงานสุทธิแล้วจะสูงขึ้นมากนั่นเอง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางที่มีอยู่สูงให้ลดลงไปด้วย

- บาทอ่อน ธปท.กำไร : อาจมีนักลงทุนต่างชาติบางคนไม่เข้าใจนึกว่าเป็นการซ่อนหนี้  ก็เลยยขายเงินออกมานำเงินออกไป นั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะ หากว่า บาทอ่อนค่าลงราว 5% เมื่อเทียบกับเงินตรา ตปท.โดยเฉลี่ยแล้ว ธปท.จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมา 3 แสนล้านบาทได้เลย ซึ่งสามารถนำเงินนี้บางส่วนไปลดหนี้เงินต้นให้หมดลงเร็วกว่า 20 ปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ด้วย และ แน่นอนนี่คือ การช่วยสนับสนุนการส่งออก และ ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

- ลดภาระการคลัง:  สิ่งที่ตรงไปตรงมาก็คือ ลดภาระการจ่ายดอกเบี้้ยของภาครัฐได้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี  ซึ่งเป็นตัวเงินสูงมาก  นอกจากนี้ยังมีการหักเงินต้นไปเรื่อยๆ  หมายถึง หนี้สินส่วนของกองทุนฟื้นฟูจะลดลงอย่างต่อเนื่องและน่าจะหมดไปภายใน 20 ปี  ซึ่งหมายถึง ไทยได้สร้างแผนในการลดหนี้สินภาครัฐที่สูงกว่า 1 ล้านล้านบาทที่เป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้งลงได้อย่างดี

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า พรก.นี้คือ "ตัวสร้างปัญหา" ผมกลับมองว่า นี่คือ "ตัวแก้ปัญหา" นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า การขึ้น ดบ.คือ "สกัดเงินเฟ้อ" ผมกลับมองว่า มันช่วย "เร่งเงินเฟ้อ" ต่างหาก นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือ "สิ่งยอดเยี่ยม" ของเศรษฐกิจไทย ผมกลับมองว่า น่าจะเป็น "สิ่งยอดแย่" ต่างหาก เป็นเพราะ กรอบการมองของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนั้นใช้ "กรอบทฤษฎีเก่าๆ" แต่ผมมองผ่านกรอบทฤษฎีใหม่ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (taiji-econ.) นั่นเองครับ

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

อริยสัจ 4 กับ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

พวกเราคนไทยรู้จักกันดีกับ "อริยสัจ 4" ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ "ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค" มีการนำไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยๆ แล้วสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไรกัน ??

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค ได้นำแนวคิดนี้ มาจนสร้าง "ทฤษฎีการคลัง" ขึ้นมา
- กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ซึ่งเป็นการชี้ถึงปัญหาของนโยบายการเงิน แม้ลดอัตราดอกเบี้ยลงจนติดดิน ก็ไม่สามารถกระตุ้นสินเชื่อและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแยังของการมัธยัสถ์ (Paradox of Thrift) หากบุคคลหนึ่งคนพยายามรัดเข็มขัดประหยัดอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่หากทุกคนพยายามประหยัดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว จะส่งผลให้รายได้รวมของประเทศลดลง การค้าระหว่างประเทศก็ลดลงด้วย สุดท้ายแล้วจะเก็บออมไม่ได้ในที่สุด ขัดแย้งกันเองกับเป้าหมายเดิม นี่คือ "สมุทัย"

- การจ้างงานเต็ม (Full Employment) คือ เป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตเต็ม "ศักยภาพ" และ มี "ดุลยภาพ" นี่คือ "นิโรธ"

- ทฤษฎีการคลัง (Fiscal Theory) โดยการใช้แนวคิด ผลของตัวทวี (multiplier effect) เพิ่มขาดดุลการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ส่งให้ GDP เพิ่มได้เป็นหลายเท่าตัวจากผลนั้น นี่คือ "มรรค"

แนวคิดของอริยสัจ 4 ได้ช่วยให้ค้นพบ "เหรียญด้านที่ 3" โดยพระพุทธเจ้าได้ค้นพบ ด้านที่ "ไม่ตึงเกินไป" และ "ไม่หย่อนเกินไป" หรือ ทางสายกลางนั่นเอง ส่วนเคนส์ ก็พบเช่นกันในการกระตุ้นอุปสงค์ด้านที่ "ไม่ใช่จากเอกชนในประเทศ" (การบริโภคและลงทุน) และ "ไม่ใช่อุปสงค์ต่างประเทศ" (การส่งออก) จึงมาเป็นคำตอบเหรียญด้านที่ 3 คือ อุปสงค์จากการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเคนส์ ขาดความเป็น "อกาลิโก" 80 ปีก่อนนั้นเป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยมมากจนอาจกล่าวได้ว่า "ช่วยชีวิตทุนนิยม" เอาไว้ แต่ 80 ปีให้หลัง สิ่งนี้กลับกลายเป็นทฤษฎี "ดีแต่กู้" ที่ฝ่ายค้านนำมาโจมตีรัฐบาลทุกประเทศทุกยุคสมัย และ สร้างปมเงื่อนปัญหาหนักจนอาจกลายมาเป็น "ปมสังหารทุนนิยม" ได้เลย

หากเรามาลองคิดตามระบบของ ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และ ปรมาจารย์ของเศรษฐศาสตร์มหภาค กันดูบ้าง

- กับดักเคนส์ (Keynes Trap) เพื่อเป็นเกียรติแด่ปรมาจารย์ "เคนส์" ผมจึงคิดว่าใช้ชื่อนี้เหมาะสมยิ่งแล้ว สิ่งนี้คือการที่หนี้ภาครัฐต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" ยอมให้เศรษฐกิจตกต่ำลง หรือว่า "คลายเข็มขัดพยุงเศรษฐกิจ" สร้างหนี้ภาครัฐก้อนโดต่อไปก็ตาม จะพบคำพูด "austerity or stimulus" มากมายใน google คือ เลือกระหว่าง "หัว หรือ ก้อย" นักวิชาการส่วนใหญ่ก็เชื่อแบบนั้น คือ คิดว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอจึงมักพบกับทางตันของปัญหา เมื่อมีคนถามถึงปัญหาของหนี้ภาครัฐในระยะยาว เคนส์ตอบเลี่ยงไปว่า "ในระยะยาวแล้ว พวกเราทุกคนจะตายหมด" ซึ่งก็จริงที่ว่าคนรุ่น "เคนส์" ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ที่แย่ก็คือ "วิกฤติการคลัง" ได้เปลี่ยนจากปัญหาระยะยาว กลายมาเป็น ปัญหาเร่งด่วนของคนรุ่นเราไปเสียแล้ว นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแย้งของกองทุนบำนาญ (Paradox of Pension) นักวิชาการพยายามบอกว่าควรออมมากๆ เพิ่มสินทรัพย์ของกองทุนบำนาญเข้าไปเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ขณะเดียวกันควรลดหนี้ภาครัฐลงมา ทั้งๆที่ความจริงแล้วมันขัดแย้งกันเองในตัว เพราะราว 70-80% ของสินทรัพย์กองทุนบำนาญ ก็คือ หนี้สินของภาครัฐ (พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) นั่นเอง การที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการสมทบเงินของรัฐก็ดี ลดหย่อนภาษีวงเงินสูงสำหรับเงินออมบำนาญก็ดี จะทำให้การใช้จ่ายโดยรวมลดลง ขณะที่ ภาระหนี้ภาครัฐสูงขึ้นด้วย นี่คือ "สมุทัย" ซึ่งเป็น ต้นเหตุของวิกฤติการคลัง

- การเติบโต "เต็มศักยภาพ" และ "มีดุลยภาพ" และ หลุดพ้นจาก "กับดักเตนส์" คือ หนี้ภาครัฐต่อ GDP ไม่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเป้าหมาย นี่คือ "นิโรธ"

- การคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) โดย "ยืมแรงสะท้อนแรง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" ของกองทุนบำนาญ จะเป็นทางแก้ไขปัญหา ยืมพลังหยางจากกองทุนบำนาญหากเศรษฐกิจเย็นเกินไป จึงทำให้เกิดการรัดเข็มขัดการคลังพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ (austerity with stimulus) ซึ่งเป็นทางแก้ไขปัญหาแบบเหรียญด้านที่ 3

เมื่อมาดูปัญหาของ "เงินยูโร" ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกเรื่องของเศรษฐกิจโลกดูบ้าง
- กับดักยูโร (Euro Trap) คือ การที่ประเทศอ่อนแอ (PIIGS) เมื่อเข้ามาในยูโรโซน และ ออกไปไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจแข่งขันด้านการส่งออกท่องเที่ยวไม่ได้ เสียสมดุลของ "ดุลบัญชีเดินสะพัด" หนี้สินต่างประเทศพอกพูน นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแย้งของการผูกค่าเงิน (Paradox of Peg) ที่จริงแล้วโลกเคยมีบทเรียนมาแล้วเรียกว่า "กับดักดอลลาร์" เช่น ประเทศเม็กซิโก อาร์เจนติน่า และ ไทย ในอดีตล้วนแล้วแต่ผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น ด้วยการผูกค่าเงินกับ "ดอลลาร์" จึงเกิดความขัดแย้งกันเองในตัว เพราะ แข่งขันด้านส่งออกไม่ได้จึงขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่องหลายปี ต้องให้อัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงเงินทุนไว้ ลักษณะเศรษฐกิจเช่นนี้ปกติแล้วค่าเงินควรจะอ่อนลง แต่ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะ ผูกค่าเงินเอาไว้กับดอลลาร์ และเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันเมื่อทศวรรษ 1930 "กับดักมาตรฐานทองคำ" ด้วย แต่ยุโรปไม่เคยเรียนรู้กับเรื่องราวในอดีต สำหรับ กรีซและโปรตุเกส ก็เช่นกัน การผูกค่าเงินยูโรซึ่งตัดสินจากความแข็งแรงของเศรษฐกิจ เยอรมัน และ ฝรั่งเศส (ขนาดราวครึ่งหนึ่งของยูโรโซน) ทั้งๆที่หากประเมินระดับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ดุลบัญชีเดินสะพัด แล้ว เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ควรมีค่าเงินแข็งขึ้น ส่วนกรีซ โปรตุเกส ควรมีค่าเงินที่อ่อนลงในระยะยาว แต่การผูกค่าเงิน 2 กลุ่มประเทศไว้จึงเป็นความผิดพลาดขัดแย้งกันเอง นี่คือ "สมุทัย"

- การเติบโตอย่างมี "ดุลยภาพ" ของดุลบัญชีเดินสะพัด และ แข่งขันได้ตาม "ศักยภาพ" คือ เป้าหมาย นี่คือ "นิโรธ"

- Fx ไท้เก๊ก หรือ Sanfeng333 โดยการจัดระบบให้ประเทศที่แข็งแรงใกล้เคียงกันใช้เงินสกุลเดียวกันได้ แต่หากมีประเทศซึ่งแข่งขันไม่ไหว คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ติดต่อกัน 3 ปี และ มีส่วนต่างดอกเบี้ย (spread) สูงกว่า 3% ก็ควรจะต้องเปลี่ยนไปใช้เงินระบบอื่น วิธีนี้จะรักษาทั้ง "เอกภาพ" และ "ดุลยภาพ" เอาไว้ได้

โดยเหรียญด้านที่ 1 พยายามรักษาระบบ "ยูโร" ทั้ง 17 ประเทศเอาไว้ เป็นการรักษา "เอกภาพ" ไว้ แต่ระบบจะขาด "ดุลยภาพ" เหรียญด้านที่ 2 คือ ตัดหางปล่อยวัด ประเทศกรีซ โปรตุเกส ออกไปใช้เงินสกุลเดิมตามยถากรรม วิธีนี้แม้รักษา "ดุลยภาพ" ของประเทศอ่อนแอไว้ได้ แต่จะขาดซึ่ง "เอกภาพ" ของยุโรป ส่วนทางออกแบบเหรียญด้านที่ 3 คือ การจัดระบบการแตกตัวอย่างสร้างสรรค์ แม้จะเสียประเทศที่อ่อนแอไปจากยูโรโซน ก็ควรเชื้อเชิญประเทศที่แข็งแรงเช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตอนนี้ใช้เงินสกุลตนเองนั้นมาร่วมใช้ "Euro" ด้วย เพราะเป็นประเทศเกรด A ส่วนประเทศพื้นฐานกลางๆ อย่าง อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ ก็อาจเชิญชวน อังกฤษ เพื่อมาเป็นพี่เบิ้มของเงินสกุลใหม่ "Euri" ก็น่าจะเหมาะสม และ สุดท้ายประเทสอ่อนแอ กรีซ โปรตุเกส ก็ควรไปรวมค่าเงินกับยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย ตุรกี โปแลนด์ รวมถึงหลายประเทศในแอฟริกา กลายเป็นเงินสกุลใหม่ "Eura" ด้วยวิธีนี้ค่าเงินของยุโรปก็จะเหลือแค่ 3 สกุลเท่านั้น เป็นการ "แตกเพื่อโต" อย่างมีระบบ โดย Euri และ Eura ควรใช้ระบบ Crawling Peg (เกาะค่าเงินไว้แต่ยอมให้อ่อนค่าลงทีละน้อย) กับ Euro วิธีนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกในกลุ่ม EU เข้าสู่สมดุลและเติบโตตาม "ศักยภาพ" ได้ จะมีทั้ง "เอกภาพ" และ "ดุลยภาพ" ไปได้พร้อมๆ กัน โดย ECB ที่ดูแลนโยบายการเงินทั้ง 3 สกุลนี้ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากเทียบเท่ากับ 2 ยักษ์ใหญ่ อเมริกา และ จีน รวมกันหรือราวๆ 20 ล้านล้านเหรียญ สรอ.จะเป็นขั้วอำนาจที่สำคัญยิ่งกว่าเดิม นี่คือ "มรรค" นั่นเอง

"อริยสัจ 4 แสงส่องชี้ เหรียญด้านที่ 3" กลอนสั้นๆ บทนี้หากนำไปใช้สอนเด็กและเยาวชน จะช่วยส่งเสริมความรู้ด้านพุทธศาสนา (ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย) เชื่อมโยงกับ "มุมมองที่แตกต่าง" ไม่แน่ว่าเด็กและเยาวชนไทยจะคิดสร้างความรู้ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่โลกได้จำนวนมากพร้อมๆกับการเป็นคนดีมีความสุข อันเป็นความภาคภูมิใจและอนาคตของประเทศชาติต่อไป นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ "การปฏิรูปการศึกษาไทย" นะครับ