วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

อริยสัจ 4 กับ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

พวกเราคนไทยรู้จักกันดีกับ "อริยสัจ 4" ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ "ทุกข์-สมุทัย-นิโรธ-มรรค" มีการนำไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยๆ แล้วสิ่งนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไรกัน ??

จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค ได้นำแนวคิดนี้ มาจนสร้าง "ทฤษฎีการคลัง" ขึ้นมา
- กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ซึ่งเป็นการชี้ถึงปัญหาของนโยบายการเงิน แม้ลดอัตราดอกเบี้ยลงจนติดดิน ก็ไม่สามารถกระตุ้นสินเชื่อและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแยังของการมัธยัสถ์ (Paradox of Thrift) หากบุคคลหนึ่งคนพยายามรัดเข็มขัดประหยัดอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่หากทุกคนพยายามประหยัดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว จะส่งผลให้รายได้รวมของประเทศลดลง การค้าระหว่างประเทศก็ลดลงด้วย สุดท้ายแล้วจะเก็บออมไม่ได้ในที่สุด ขัดแย้งกันเองกับเป้าหมายเดิม นี่คือ "สมุทัย"

- การจ้างงานเต็ม (Full Employment) คือ เป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ปัจจัยการผลิตเต็ม "ศักยภาพ" และ มี "ดุลยภาพ" นี่คือ "นิโรธ"

- ทฤษฎีการคลัง (Fiscal Theory) โดยการใช้แนวคิด ผลของตัวทวี (multiplier effect) เพิ่มขาดดุลการคลัง เพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของเอกชน ส่งให้ GDP เพิ่มได้เป็นหลายเท่าตัวจากผลนั้น นี่คือ "มรรค"

แนวคิดของอริยสัจ 4 ได้ช่วยให้ค้นพบ "เหรียญด้านที่ 3" โดยพระพุทธเจ้าได้ค้นพบ ด้านที่ "ไม่ตึงเกินไป" และ "ไม่หย่อนเกินไป" หรือ ทางสายกลางนั่นเอง ส่วนเคนส์ ก็พบเช่นกันในการกระตุ้นอุปสงค์ด้านที่ "ไม่ใช่จากเอกชนในประเทศ" (การบริโภคและลงทุน) และ "ไม่ใช่อุปสงค์ต่างประเทศ" (การส่งออก) จึงมาเป็นคำตอบเหรียญด้านที่ 3 คือ อุปสงค์จากการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ดี ทฤษฎีเคนส์ ขาดความเป็น "อกาลิโก" 80 ปีก่อนนั้นเป็นทฤษฎีที่ยอดเยี่ยมมากจนอาจกล่าวได้ว่า "ช่วยชีวิตทุนนิยม" เอาไว้ แต่ 80 ปีให้หลัง สิ่งนี้กลับกลายเป็นทฤษฎี "ดีแต่กู้" ที่ฝ่ายค้านนำมาโจมตีรัฐบาลทุกประเทศทุกยุคสมัย และ สร้างปมเงื่อนปัญหาหนักจนอาจกลายมาเป็น "ปมสังหารทุนนิยม" ได้เลย

หากเรามาลองคิดตามระบบของ ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ และ ปรมาจารย์ของเศรษฐศาสตร์มหภาค กันดูบ้าง

- กับดักเคนส์ (Keynes Trap) เพื่อเป็นเกียรติแด่ปรมาจารย์ "เคนส์" ผมจึงคิดว่าใช้ชื่อนี้เหมาะสมยิ่งแล้ว สิ่งนี้คือการที่หนี้ภาครัฐต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" ยอมให้เศรษฐกิจตกต่ำลง หรือว่า "คลายเข็มขัดพยุงเศรษฐกิจ" สร้างหนี้ภาครัฐก้อนโดต่อไปก็ตาม จะพบคำพูด "austerity or stimulus" มากมายใน google คือ เลือกระหว่าง "หัว หรือ ก้อย" นักวิชาการส่วนใหญ่ก็เชื่อแบบนั้น คือ คิดว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอจึงมักพบกับทางตันของปัญหา เมื่อมีคนถามถึงปัญหาของหนี้ภาครัฐในระยะยาว เคนส์ตอบเลี่ยงไปว่า "ในระยะยาวแล้ว พวกเราทุกคนจะตายหมด" ซึ่งก็จริงที่ว่าคนรุ่น "เคนส์" ได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่ที่แย่ก็คือ "วิกฤติการคลัง" ได้เปลี่ยนจากปัญหาระยะยาว กลายมาเป็น ปัญหาเร่งด่วนของคนรุ่นเราไปเสียแล้ว นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแย้งของกองทุนบำนาญ (Paradox of Pension) นักวิชาการพยายามบอกว่าควรออมมากๆ เพิ่มสินทรัพย์ของกองทุนบำนาญเข้าไปเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ขณะเดียวกันควรลดหนี้ภาครัฐลงมา ทั้งๆที่ความจริงแล้วมันขัดแย้งกันเองในตัว เพราะราว 70-80% ของสินทรัพย์กองทุนบำนาญ ก็คือ หนี้สินของภาครัฐ (พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ) นั่นเอง การที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยการสมทบเงินของรัฐก็ดี ลดหย่อนภาษีวงเงินสูงสำหรับเงินออมบำนาญก็ดี จะทำให้การใช้จ่ายโดยรวมลดลง ขณะที่ ภาระหนี้ภาครัฐสูงขึ้นด้วย นี่คือ "สมุทัย" ซึ่งเป็น ต้นเหตุของวิกฤติการคลัง

- การเติบโต "เต็มศักยภาพ" และ "มีดุลยภาพ" และ หลุดพ้นจาก "กับดักเตนส์" คือ หนี้ภาครัฐต่อ GDP ไม่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเป้าหมาย นี่คือ "นิโรธ"

- การคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) โดย "ยืมแรงสะท้อนแรง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" ของกองทุนบำนาญ จะเป็นทางแก้ไขปัญหา ยืมพลังหยางจากกองทุนบำนาญหากเศรษฐกิจเย็นเกินไป จึงทำให้เกิดการรัดเข็มขัดการคลังพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ (austerity with stimulus) ซึ่งเป็นทางแก้ไขปัญหาแบบเหรียญด้านที่ 3

เมื่อมาดูปัญหาของ "เงินยูโร" ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกเรื่องของเศรษฐกิจโลกดูบ้าง
- กับดักยูโร (Euro Trap) คือ การที่ประเทศอ่อนแอ (PIIGS) เมื่อเข้ามาในยูโรโซน และ ออกไปไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจแข่งขันด้านการส่งออกท่องเที่ยวไม่ได้ เสียสมดุลของ "ดุลบัญชีเดินสะพัด" หนี้สินต่างประเทศพอกพูน นี่คือ "ทุกข์"

- ความขัดแย้งของการผูกค่าเงิน (Paradox of Peg) ที่จริงแล้วโลกเคยมีบทเรียนมาแล้วเรียกว่า "กับดักดอลลาร์" เช่น ประเทศเม็กซิโก อาร์เจนติน่า และ ไทย ในอดีตล้วนแล้วแต่ผิดพลาดมาแล้วทั้งสิ้น ด้วยการผูกค่าเงินกับ "ดอลลาร์" จึงเกิดความขัดแย้งกันเองในตัว เพราะ แข่งขันด้านส่งออกไม่ได้จึงขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่องหลายปี ต้องให้อัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อดึงเงินทุนไว้ ลักษณะเศรษฐกิจเช่นนี้ปกติแล้วค่าเงินควรจะอ่อนลง แต่ก็เกิดขึ้นไม่ได้เพราะ ผูกค่าเงินเอาไว้กับดอลลาร์ และเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันเมื่อทศวรรษ 1930 "กับดักมาตรฐานทองคำ" ด้วย แต่ยุโรปไม่เคยเรียนรู้กับเรื่องราวในอดีต สำหรับ กรีซและโปรตุเกส ก็เช่นกัน การผูกค่าเงินยูโรซึ่งตัดสินจากความแข็งแรงของเศรษฐกิจ เยอรมัน และ ฝรั่งเศส (ขนาดราวครึ่งหนึ่งของยูโรโซน) ทั้งๆที่หากประเมินระดับเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ดุลบัญชีเดินสะพัด แล้ว เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ควรมีค่าเงินแข็งขึ้น ส่วนกรีซ โปรตุเกส ควรมีค่าเงินที่อ่อนลงในระยะยาว แต่การผูกค่าเงิน 2 กลุ่มประเทศไว้จึงเป็นความผิดพลาดขัดแย้งกันเอง นี่คือ "สมุทัย"

- การเติบโตอย่างมี "ดุลยภาพ" ของดุลบัญชีเดินสะพัด และ แข่งขันได้ตาม "ศักยภาพ" คือ เป้าหมาย นี่คือ "นิโรธ"

- Fx ไท้เก๊ก หรือ Sanfeng333 โดยการจัดระบบให้ประเทศที่แข็งแรงใกล้เคียงกันใช้เงินสกุลเดียวกันได้ แต่หากมีประเทศซึ่งแข่งขันไม่ไหว คือ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ติดต่อกัน 3 ปี และ มีส่วนต่างดอกเบี้ย (spread) สูงกว่า 3% ก็ควรจะต้องเปลี่ยนไปใช้เงินระบบอื่น วิธีนี้จะรักษาทั้ง "เอกภาพ" และ "ดุลยภาพ" เอาไว้ได้

โดยเหรียญด้านที่ 1 พยายามรักษาระบบ "ยูโร" ทั้ง 17 ประเทศเอาไว้ เป็นการรักษา "เอกภาพ" ไว้ แต่ระบบจะขาด "ดุลยภาพ" เหรียญด้านที่ 2 คือ ตัดหางปล่อยวัด ประเทศกรีซ โปรตุเกส ออกไปใช้เงินสกุลเดิมตามยถากรรม วิธีนี้แม้รักษา "ดุลยภาพ" ของประเทศอ่อนแอไว้ได้ แต่จะขาดซึ่ง "เอกภาพ" ของยุโรป ส่วนทางออกแบบเหรียญด้านที่ 3 คือ การจัดระบบการแตกตัวอย่างสร้างสรรค์ แม้จะเสียประเทศที่อ่อนแอไปจากยูโรโซน ก็ควรเชื้อเชิญประเทศที่แข็งแรงเช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก และ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งตอนนี้ใช้เงินสกุลตนเองนั้นมาร่วมใช้ "Euro" ด้วย เพราะเป็นประเทศเกรด A ส่วนประเทศพื้นฐานกลางๆ อย่าง อิตาลี สเปน ไอร์แลนด์ ก็อาจเชิญชวน อังกฤษ เพื่อมาเป็นพี่เบิ้มของเงินสกุลใหม่ "Euri" ก็น่าจะเหมาะสม และ สุดท้ายประเทสอ่อนแอ กรีซ โปรตุเกส ก็ควรไปรวมค่าเงินกับยุโรปตะวันออก เช่น รัสเซีย ตุรกี โปแลนด์ รวมถึงหลายประเทศในแอฟริกา กลายเป็นเงินสกุลใหม่ "Eura" ด้วยวิธีนี้ค่าเงินของยุโรปก็จะเหลือแค่ 3 สกุลเท่านั้น เป็นการ "แตกเพื่อโต" อย่างมีระบบ โดย Euri และ Eura ควรใช้ระบบ Crawling Peg (เกาะค่าเงินไว้แต่ยอมให้อ่อนค่าลงทีละน้อย) กับ Euro วิธีนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกในกลุ่ม EU เข้าสู่สมดุลและเติบโตตาม "ศักยภาพ" ได้ จะมีทั้ง "เอกภาพ" และ "ดุลยภาพ" ไปได้พร้อมๆ กัน โดย ECB ที่ดูแลนโยบายการเงินทั้ง 3 สกุลนี้ ขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากเทียบเท่ากับ 2 ยักษ์ใหญ่ อเมริกา และ จีน รวมกันหรือราวๆ 20 ล้านล้านเหรียญ สรอ.จะเป็นขั้วอำนาจที่สำคัญยิ่งกว่าเดิม นี่คือ "มรรค" นั่นเอง

"อริยสัจ 4 แสงส่องชี้ เหรียญด้านที่ 3" กลอนสั้นๆ บทนี้หากนำไปใช้สอนเด็กและเยาวชน จะช่วยส่งเสริมความรู้ด้านพุทธศาสนา (ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย) เชื่อมโยงกับ "มุมมองที่แตกต่าง" ไม่แน่ว่าเด็กและเยาวชนไทยจะคิดสร้างความรู้ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่โลกได้จำนวนมากพร้อมๆกับการเป็นคนดีมีความสุข อันเป็นความภาคภูมิใจและอนาคตของประเทศชาติต่อไป นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของ "การปฏิรูปการศึกษาไทย" นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น