วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

2012 ปีสยองของเศรษฐกิจโลก

ไม่นับรวมคำทำนายของ ดช.ปลาบู่ หรือ การทำนายของหมอดูหลายคนที่มองไว้เลวร้ายหลายอย่างในปีหน้า รวมไปถึง การพยากรณ์ "วันสิ้นโลก" อันเกิดจากแกนโลกพลิกในช่วงปลายเดือน ธ.ค.ปี 2012 ซึ่งอาจเป็นภัยพิบัติระดับใหญ่หลวงอย่างยิ่งต่อมนุษชาติ บทความนี้จะพูดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกเท่านั้น

หลังจากที่โลกได้เผชิญกับ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 ไปแล้วนั้น บาดแผลเกิดจาก ความเสี่ยงของการล้มละลายของสถาบันการเงินในอเมริกา เช่น เลห์แมน บาร์เธอร์ส เป็นต้น อย่างไรก็ดี เวลานั้น โลกมีทั้ง ยาฉีด (นโยบายการคลัง) ยากิน (นโยบายการเงิน) และ ยาทา (นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน) เพื่อบรรเทาอาการของบาดแผลไปได้มาก จนนึกว่าหายสนิทแล้ว แต่เมื่อมาถึงปี 2011 กลับพบว่า บาดแผลได้ขยายวง "ลึกขึ้น" (โดยลามจากสถาบันการเงิน ไปยัง รัฐบาลของประเทศอ่อนแอ เช่น PIIGS) และ "กว้างขึ้น" (ไม่เฉพาะแต่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในจีน และ อินเดียเองก็เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวเร็วมาก โดยดัชนีหุ้นของ 2 ประเทศที่ตกต่ำสุดในรอบ 2 ปีได้ชี้นำเศรษฐกิจล่วงหน้าแล้ว) ขณะที่ยาทุกประเภทนั้นใช้ไปจนหมดคลังแล้ว ผมขอตั้งชื่อวิกฤติครั้งใหม่นี้ว่า "วิกฤติหมูหัน" อันมาจากชื่อของ "อาหารจีน" และ ประเทศชายขอบในยูโรโซน (PIIGS) ประกอบกันเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2012

นี่จึงเป็นที่มาของคำพูดของ ผู้อำนวยการ IMF นางลาร์การ์ดที่เกรงว่า เศรษฐกิจโลกจะหดตัวทั่วโลกในปี 2012 จะมีลักษณะคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1930 ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ตาม จะได้ผลกระทบต่อการถดถอยครั้งนี้ อาจมีการปกป้องการค้าจนทำให้การส่งออกหดตัวลงด้วย จำเป็นที่ประเทศทั่วโลกต้องประสานกัน ร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฝัน "วิกฤติหมูห้น" ครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้ นี่คือ ความหวั่นเกรงของ "หมอใหญ่" ที่คอยดูแลเศรษฐกิจโลกอยู่ โดยไม่รู้ว่ารับมือจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่นี้อย่างไรดี เพราะ ยาทุกประเภทที่รู้จักได้ใช้ไปหมดแล้วแต่ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

ตามปกติแล้ว หากเรารักษาด้วยยาแผนตะวันตกแล้วไม่ได้ผล สิ่งที่คิดทำต่อไปก็คือ ใช้แพทย์ทางเลือกไงครับ ฝังเข็ม นวดกดจุด โยคะ สมุนไพร และอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นแพทย์แผนตะวันออกนั่นเอง และสำหรับวิกฤติครั้งนี้ก็เช่นกัน

พุทธเศรษฐศาสตร์ ควรจะดูแลปัญหานี้ได้หรือไม่ ผมคิดว่านี่คือ "วัคซีน" ชั้นยอดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา เพราะ ควบคุมความโลภได้ตั้งแต่ต้นแล้ว โลกก็ไม่เป็นโรคไม่เกิดแผล อย่างไรก็ดี ตอนนี้บาดแผลลึกและกว้างมาก ติดเชื้อเริ่ม "เน่าเฟะ" แล้วด้วย วัคซีน คงไม่อาจช่วยอะไรได้มากนัก นอกจากนี้เป้าหมายของพุทธเศรษฐศาสตร์ คือ "นิ่ง-สงบ-เย็น" ซึ่งเป็นพลังหยิน ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่เศรษฐกิจโลกต้องการในด้านพลังหยาง คือ "เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง"

"ยูโรโซน" ยังคงเป็นปัญหาหนักต่อไป การให้สินเชื่อผ่าน IMF,EU,ECB,EFSF,ESM อะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียงแค่เอาช้อนไปคนในแก้วที่มี "น้ำ" กับ "น้ำมัน" รวมกันอยู่เท่านั้น แม้ไม่สามารถจะรวมกันได้อยู่ดี แต่ก็ยังพอจะหลอกๆ ผู้คนไปได้ระยะหนึ่งว่า ยูโรโซน ยังคงรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอยู่ แต่ในที่สุดแล้ก็คงฝืนธรรมชาติ และ ทฤษฎีการเงินระหว่างประเทศ (International Fisher Effect) ซึ่งกล่าวว่า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย ย่อมชดเชย ด้วยส่วนต่างของค่าเงินในระยะยาว นั่นหมายถึง ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ย 10 ปีในระดับสูงมาก กรีซ (35%) โปรตุเกส (13%) อิตาลี (7%) ควรจะมีค่าเงินที่อ่อนลงกว่าประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่น เยอรมัน (2.0%) เนเธอร์แลนด์ (2.3%) แต่ค่าเงินของ 2 กลุ่มประเทศนี้กลับผูกด้วยเงินสกุลเดียว คือ "ยูโร" แน่นอนว่า นักวิชาการจำนวนมากนอกเขตยูโรโซน ได้วิจารณ์โจมตี "เงินยูโร" ว่าถูกสาปตั้งแต่ก่อกำเนิดแล้ว และ มาถึงปัจจุบันยิ่งถูกโจมตีอย่างหนักเพราะเห็นถึงปัญหาของการสูญเสียทั้ง "อิสรภาพ" และ "ดุลยภาพ" ของประเทศสมาชิก

ส่วนประเทศจีน นั้นสร้างฟองสบู่โดยมี ปริมาณเงิน (M2) สูงกว่า Nominal GDP Growth ทั้งๆที่ควรยืนใกล้เคียงกันที่ 13-15% ต่อปี แต่จีนกลับปล่อยให้ M2 เติบโตสูงถึง 28% ในปี 2009 และ 20% ในปี 2010 ซึ่งเงินส่วนเกินนี้จึงเข้าไปสร้างฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก และ เมื่อถึงเวลานี้ก็เดินเข้าใกล้ "ภาวะฟองสบู่แตก" เต็มที โดยราคาอสังหาฯ เริ่มลดลงอย่างชัดเจนแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย. ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ก็เข้าสู่ภาวะถดถอย เมื่อรวมกับ ค่าดัชนีหุ้นที่ตกต่ำในรอบ 2 ปี ยิ่งฉายภาพชัดถึงการชะลอตัวลงเร็วในปี 2012

สำหรับมุมมองด้านการลงทุนก็คือ อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงเดินหน้าเป็น "ขาลง" ต่อไป ดังนั้น กองทุนพันธบัตรระยะยาวจึงน่าสนใจ ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท ทั้ง หุ้น ทองคำ น้ำมัน อาจดิ่งลงกว่า 20% ได้ไม่ยาก เพราะ เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น สำหรับการเก็งกำไรแล้ว "ช็อต" (short) จึงน่าจะเป็นคาถาสั้นๆที่จะสร้างกำไรได้ในครึ่งปีแรกของ 2012 แต่เมื่อถึงกลางปีคาดว่า "ยูโรโซน" น่าจะแตกตัวออกเป็น 3 สกุลด้วยกันเพื่อรองรับพื้นฐานเศรษฐกิจของกลุ่มแข็งแรง กลางๆ และ อ่อนแอ แม้อาจสร้างความสับสนยุ่งเหยิงในช่วงแรกๆ แต่เป็นการ "ดุลยภาพ" ใหม่ให้ประเทศ PIIGS สามารถยืนบนขาตนเองได้อีกครั้ง และ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เริ่มเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ได้อีกครั้งหนึ่งด้วย

แต่หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์แล้ว ผมคิดว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)ที่นำแนวคิดของจีนทั้ง เต๋า และ ไท้เก๊ก มาช่วยด้วยการรักษาสมดุล การยืมแรงสะท้อนแรง และ เปลี่ยนนิ่งเป็นเคลื่อน โดยมียา 4 ชุด คือ การคลังไท้เก๊ก การเงินไท้เก๊ก FX ไท้เก๊ก และ บำนาญไท้เก๊ก น่าจะเป็นยารักษาที่เหมาะกับ "วิกฤติหมูหัน" ในปีหน้า โดยคาดว่าน่าจะเริ่มมีการนำไปใช้ตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปครับ

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2 ทฤษฎีใหม่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

อุทกภัยครั้งใหญ่นี้ได้สร้างความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมจำนวนหลายแห่งในเขตอยุธยา ปทุมธานี และ กระทบต่อแรงงานจำนวนถึง 6 แสนคน มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท รัฐบาลวางแผนการขาดดุลการคลังเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน และ อาจมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในสาธารณูปโภคแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ขณะที่ ธปท.ก็ทรงอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อต่อไป

2 ทฤษฎีใหม่นี้คืออะไร แตกต่างจากทฤษฎีเก่าอย่างไร และ จะช่วยเศรษฐกิจไทยแบบไหน

1. การคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) คือ นโยบายการคลังที่เน้นการ "ยืมพลัง"จากแหล่งอื่นๆ แทนการใช้งบประมาณลงไปตรงๆ เช่น การให้ผู้ประกันตนและ ข้าราชการ ยืมเงินออมตนเองในระบบประกันสังคม และ กบข.ได้ 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนต่อเดือนที่ 0.9% (บัตรบำนาญ999) จะส่งผลให้เงินสินเชื่อเข้าถึงมือผู้ประกันตน และ ข้าราชการ ได้ราว 5 แสนล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินกู้เพิ่มอันเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะขึ้นไปอีก การหมุนเงินหลายรอบโดยภาคเอกชนจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยตรงในด้านอุปสงค์

หากใช้แนวคิดตามทฤษฎีเดิม การอัดฉีดเงินภาครัฐผ่านงบประมาณ ก็อาจจะไปเพิ่มหนี้สาธารณะได้ถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปีเดียว ผลักดันให้สัดส่วนต่อ GDP สูงขึ้นถึงระดับ 50% ได้ในเวลาอันเร็ว นั่นหมายถึง ประเทศไทย เข้าไปเดินบนถนนเส้นทางเดียวกันกับ กรีซ อิตาลี และ ญี่ปุ่น หรือ ติด "กับดักเคนส์" คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ สูงกว่า อัตราการเพิ่มของ nominal GDP ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หากเลือกเดินตามทฤษฎีใหม่ หนี้ภาครัฐต่อ GDP น่าจะทรงตัว

2. การเงินไท้เก๊ก (Taiji Monetary Theory) คือ นโยบายการเงินที่มุ่งเป้าที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Targeting) แทนที่ การมุ่งเป้าเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ด้วยแนวคิดนี้เอง กนง.ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยราว 0.5% 3 ครั้งติดกัน เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไว้ให้ได้ หากเป็นทฤษฎีเดิมนั้น กนง.ก็จะคงดอกเบี้ยต่อไปเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ

"การเงินไท้เก๊ก" ไม่เชื่อว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้ และ มีแนวโน้มว่าจะมีผลในทางตรงข้ามด้วยซ้ำเพราะไปเพิ่มต้นทุนของดอกเบี้ยไปอีก สมการ nominal rate = real rate + inflation ก็ส่งสัญญาณว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย (nominal rate) มีผลในการสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rate) สูงขึ้น และ ยังกลับส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ (inflation) สูงขึ้นอีกด้วย ทฤษฎีใหม่นี้เชื่อว่า การขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย ควรเป็นไป เพื่อชะลอหรือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กนง.ควรเลือกการลดดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง 3 ครั้งติดต่อกัน มากกว่า การคงดอกเบี้ยเอาไว้ และ ติด "กับดักเงินเฟ้อ" ต่อไป

บทสรุปตรงนี้ก็คือ ทฤษฎีการคลังและการเงินเดิมๆ นั้นมีจุดบกพร่องอยู่ ผมจึงขอวิงวอนให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศได้มีโอกาสศึกษาทฤษฎีใหม่ทางการเงิน และ การคลัง เพื่อปรับนโยบายเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยของเราครับ

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ก่อตั้งสำนักเศรษฐศาสตร์ใหม่ : เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.)

หลังจากที่ได้มีการสร้างเป็นทฤษฎีใหม่ถึง 4 ชุด จึงได้ก่อตั้งเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ใหม่ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งจะมีแนวคิดแตกต่างไปจาก "ทุนนิยม" เดิมซึ่งมี 2 สำนักคือ "สำนักเคนส์" ของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และ "สำนักการเงินนิยม" ของมิลตัน ฟรีดแมนซึ่งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถจะแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้ นอกจากนี้จะมีการเปรียบเทียบกับ "พุทธเศรษฐศาสตร์" ของ อี.เอฟ.ชูมาร์กเกอร์อีกด้วย

1. ทฤษฎีการคลัง

สำนักเคนส์ : เชื่อในประสิทธิผลของเรื่องนี้ มองว่าเป็นการเปลี่ยน "นิ่งเป็นเคลื่อน" นำเงินที่นอนจมในระบบแบงก์ มาให้รัฐบาลหมุนเงิน ซึ่งมีค่าตัวทวี (multiplier) มากกว่า 1 ดังนั้น หากจำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง จะทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงได้มาก

สำนักการเงินนิยม : ไม่เชื่อในประสิทธิผลของนโยบายการคลัง มองว่าการใช้เงินภาครัฐคือ "เคลื่อนเป็นเคลื่อน" คือ รัฐบาลแย่งเงินจากภาคเอกชนไปใช้จ่าย ค่าตัวทวี จึงมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 ดังนั้น การรัดเข็มขัดการคลัง จะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงมากนัก

พุทธเศรษฐศาสตร์ : ไม่ส่งเสริมให้รัฐบาลกู้หนี้ยืมสินเกินตัว ยอมให้เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ต่ำลง การรัดเข็มขัดการคลัง จึงตรงประเด็นกับแนวคิดนี้

สำนักไท้เก๊ก : มองว่ามีบางโครงการของรัฐใช้จ่ายแบบ "เคลื่อนเป็นนิ่ง" คือ นำเงินทั้งจากรัฐบาลและเอกชน ไปจมกับกองทุนบำนาญประเภทต่างๆ ทำให้เงินไม่หมุน ส่งผลให้ค่าตัวทวีติดลบ ดังนั้น หากรัดเข็มขัดการคลังในเรื่องเหล่านั้น จะกลับส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นต่างหาก เช่น การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษีสำหรับ LTF, RMF และ ประกันชีวิต หรือ "บัตรบำนาญ999" ที่ยอมให้ผู้ประกันตนยืมเงินออมตนเองได้ 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนขั้นต่ำ 0.9%โดยรัฐบาลเก็บภาษีสินเชื่อมาเป็นรายได้เพิ่ม

สำนักนี้มองว่า สำนักเคนส์นั้นประสบกับปัญหาของโครงสร้งประชากรที่เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้เริ่มใช้ไม่ได้ผล เพราะ ประชากรรุ่นถัดไป (เด็กและเยาวชน) มีจำนวนน้อยเกินไปที่จะมาแบกรักภาระของคนชราที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น การติด "กับดักเคนส์" ที่รัฐบาลเพิ่มหนี้สินเรื่อยๆ โดยเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว จึงจำเป็นต้องอาศัยการ "ยืมพลัง" จากแหล่งอื่น ๆแทนงบประมาณ เช่น จากกองทุนบำนาญ และ แบงก์รัฐ

2. ทฤษฎีการเงิน

สำนักเคนส์ : มองถึงปัญหาของ "กับดักสภาพคล่อง" ที่เศรษฐกิจมีอุปสงค์ไม่เพียงพอ แม้ลดดอกเบี้ยเฉียดศูนย์ เศรษฐกิจก็ไม่ฟื้นตัว ซึ่งปัญหานี้ก็กำลังเกิดอยู่กับประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย

สำนักการเงินนิยม : เชื่อว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศกำลังพัฒนา จะช่วยสกัดเงินเฟ้อได้ และ มุ่งรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ในประเทศพัฒนาแล้ว

พุทธเศรษฐศาสตร์ : อัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับสูงพอควรเพื่อไม่ให้กู้ยืมเงินมากเกินตัว และ ส่งเสริมให้ผู้คนได้ออมเงินมากๆ

สำนักไท้เก๊ก : มองว่า "เงินเฟ้อ" เกิดจากต้นทุนเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะเหตุผลจากอุปสงค์ตึงตัว เนื่องเพราะ การเคลื่อนย้ายแรงงานและเงินทุนเสรีได้ลดข้อจำกัดตรงนี้ไปมากแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ แต่กลับไปเพิ่มอัตราเงินเฟ้อต่างหาก เช่น จีน อินเดีย ไทย สกัดเงินเฟ้อไม่ได้แม้ขึ้นดอกเบี้ย แต่ เงินเฟ้อกลับชะลอตัวลงเมื่อรัฐบาลไทยลดราคาน้ำมันลงมา ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยนั้นกลับสามารถสกัดเงินเฟ้อได้อย่างได้ผลดี รวมไปถึง เวียดนาม บราซิล ที่เพิ่งจะลดอัตราดอกเบี้ยลงด้วยเงินเฟ้อก็ชะลอตัวลงตาม

สำนักนี้มองว่า การขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนั้นควรเป็นไปเพื่อดูแล "อัตราการเติบโต" (GDP growth) ให้เป็นไปตามศักยภาพมากกว่า เพราะอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้จากนโยบายการเงิน สำหรับประเทศพัฒนาแล้วนั้น แม้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะติดลบไปมาก แต่ ศก.ก็ยังไม่ฟื้นตัว สิ่งที่น่าจะทำก็คือ การลดอัตราดอกเบี้ยลงให้ต่ำกว่าศูนย์ ถือเป็น "นโยบายการเงินสุดขั้ว" ในด้าน flow จะดึงให้อัตราค่าเช่า อัตราดอกเบี้ยกู้ยืม ซึ่งเป็นภาระของคนชั้นกลางและคนจนนั้นลดลง มีเหลือเงินติดกระเป๋าใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ด้าน stock นั้น จะส่งผลสนับสนุนตลาดหุ้น และ ตลาดอสังหาฯ อันจะช่วยส่งเสริมการจ้างงานในธุรกิจการเงิน และ ธุรกิจการก่อสร้างได้ต่อเนื่องไป

3. ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน

ทุนนิยม : ระดับอัตราแลกเปลี่ยนควรจะมั่นคง การรวมค่าเงินกันจะช่วยลดต้นทุนการแลกเปลี่ยน ส่งเสริมการค้า และ การลงทุน การผูกค่าเงินกับ "ดอลลาร์" ในประเทศกำลังพัฒนา และ "ระบบเงินยูโร" จึงเกิดขึ้นเพราะเหตุผลนี้

สำนักไท้เก๊ก: แม้จะเห็นถึงความสำคัญของความมั่นคง และ การลดต้นทุน แต่ก็ไม่ได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า คือ "ดุลยภาพ" แห่งดุลบัญชีเดินสะพัด และ "อิสรภาพ" ของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เราจึงได้ตั้งทฤษฎีชื่อ "Sanfeng333" เพื่อชี้ประเด็นว่า หากประเทศใดที่ขาดดุลตรงนี้เกิน 3% GDP 3 ปีติดต่อกัน และ มีอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สูงกว่าประเทศอ้างอิง (spread) เกินกว่า 3% นั่นหมายถึง อัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่เหมาะสมเสียแล้ว จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งหากมีทฤษฎีนี้มาก่อน โลกคงหลีกเลี่ยงวิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก ต้มยำกุ้งในไทย และ อาร์เจนติน่าในปี 2001ได้

ขณะที่ปัญหาปัจจุบันก็จะพบว่า ประเทศ PIIGS ชายขอบกลุ่มยูโรโซนนั้น ไม่เหมาะกับการใช้ค่าเงิน "ยูโร" เนื่องจากแข่งขันไม่ได้ภายใต้ค่าเงินนี้ รวมทั้งประเทศเวียดนามในเอเชียก็มีปัญหาเช่นกัน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะ การใช้ค่าเงินที่แข็งเกินจริงนานเกินไป จะทำให้ขาดดุลยัญชีเดินสะพัดมากและต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึง การใช้จ่ายเงินเกินตัวและก่อหนี้สินต่างประเทศมากเกินไป อันจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด

4. ทฤษฎีบำนาญ

ทุนนิยม : มองว่ากองทุนประกันสังคม อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข เช่น ยืดอายุการเริ่มรับบำนาญออกไป หรือว่า ต้องมีการเก็บเงินสมทบเพิ่ม หรือว่า ต้องเพิ่มความเสียงในการลงทุนขึ้น เพื่อไม่ให้เงินกองทุนต้องหมดลงในอนาคตอีก 30 ปี

สำนักไท้เก๊ก : มองทางออกในเรื่องนี้ว่า กองทุนประกันสังคมให้ผู้ประกันตนยืมเงินตนเอง แล้วเก็บค่าค้ำประกันสินเชื่อ จะเพิ่มผลตอบแทนให้กองทุนโดยไม่เสี่ยงเพิ่ม และ ในอนาคต สปส.ต้องสามารถออกพันธบัตรได้ คล้ายๆ กับ พันธบัตรรัฐบาล อาจราวปีละ 1 แสนล้าน เพื่อพยุงสถานการณ์ "วิกฤติแห่งโครงสร้างประชากร" ไปให้ได้เสียก่อน

หากเปรียบเทียบ "ทุนนิยม" กับ "พุทธเศรษฐศาสตร์" แล้ว อย่างแรกจะเน้นที่คำ "เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง" เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยาง เน้นบริโภคนิยม มุ่งประสิทธิภาพของการผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมไปถึง ทำลายทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มาก เพราะ มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นของฟรี ข้อเสีย คือ ความโลภที่มากเกินไปจะก่อให้ฟองสบู่แตกจากการใช้จ่ายเงินเกินตัว เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ง่าย และ การใช้นโยบายการคลังการเงินต่างๆ เหมือนกับ "ยาแผนตะวันตก" รักษาเป็นจุดๆ แต่มีผลข้างเคียงส่งผลเสียในด้านอื่นได้

"พุทธเศรษฐศาสตร์" คือ เศรษฐศาสตร์พลังหยิน จะสรุปที่คำว่า "นิ่ง-สงบ-เย็น" ไม่มุ่งเติบโต บริโภคแต่น้อย มุ่งการเก็บออม มุ่งที่ประสิทธิภาพการบริโภค คือ บริโภคน้อยแต่มีความสุขมาก จะมองว่า ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งมีค่ามากมหาศาล ไม่ควรไปทำลายแม้จะได้ผลกำไรสูงก็ตาม ข้อเสีย คือ เศรษฐกิจอาจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ทำให้ระดับการเติบโต และ รายได้ของประชากรตามตัวเลขแบบ "ทุนนิยม" วิ่งตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดีสิ่งนี้เปรียบได้กับ "วัคซีน" จะใช้ป้องกันโรคที่จะเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ผลดี

เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก คือ เศรษฐศาสตร์เพื่อรักษาสมดุลหยิน-หยาง โดยอิงกับปรัชญาเต๋า รักษาสมดุลของ "ทุนนิยม" และ "พุทธเศรษฐศาสตร์" เปรียบได้กับ "แพทย์แผนจีน" ซึ่งใช้หลักการรักษาสมดุลของร่่างกาย

แน่นอนว่า หากเราสามารถป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ ด้วยวัคซีน "พุทธเศรษฐศาสตร์" เสียแล้ว ก็คงไม่จำเป็นต้องมี "ยารักษา" แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ปัจจุบันก็คือ ตอนนี้โลกกำลังติดโรคอยู่ และ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" อาจเป็นยาที่ใช้รักษาได้ผลดีกว่า เมื่อเทียบกับ ยาแผนตะวันตก หรือ ทฤษฎีการเงินการคลังของระบบทุนนิยมปัจจุบัน

ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมแห่งปรัชญา และ วัฒนธรรม ของตะวันตก จีน และ อินเดียมาช้านาน คนไทยจึงควรจะภาคภูมิใจได้ว่า ตอนนี้เรามีทั้ง "พุทธเศรษฐศาสตร์" ซึ่งใช้ปรัชญาขั้นสูงของอินเดีย (พุทธศาสนา) มาเพื่อช่วยปัองกันวิกฤติเศรษฐกิจ และ เรายังมีทั้ง "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" ซึ่งใช้ปรัชญาขั้นสูงของจีน (เต๋า และ ไท้เก๊ก) มาเพื่อช่วยเยียวยาผลของวิกฤติเศรษฐกิจโดยเน้นที่การสร้างสมดุลแห่งหยิน-หยาง หากได้ผลจริงนั่นอาจหมายถึง การฟื้น GDP เศรษฐกิจโลกให้สูงขึ้น ช่วยชะลอหนี้ภาครัฐทั่วโลก รวมไปถึงการฟื้นตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก อันอาจมีมูลค่าสูงถึง "หลายล้านล้านดอลลาร์" เลยทีเดียว

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก

สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก

ปกติแล้วสมดุลการคลัง (Fiscal Balance) จะหมายถึง รายได้ของภาครัฐจากภาษี และ เงินสมทบจากรัฐวิสาหกิจ หักออกจาก การใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติแล้วในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ มักจะทำงบการคลังแบบขาดดุล เพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบสวัสดิการภาครัฐ จึงส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย มีปัญหาหนี้ภาครัฐที่สูงมากๆ จนเป็นปัญหาตอนนี้

สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Balance) คือ การจัดแนวคิดแบบใหม่ โดยคิดว่า สมดุลนี้เกิดขึ้นเมื่อ อัตราการเพิ่มของหนี้สาธารณะภาครัฐ สมดุลกับ การเพิ่มของ GDP รวมกับอัตราเงินเฟ้อ (nominal GDP growth) เช่น สำหรับประเทศไทย หากขาดดุลการคลัง 4.2 แสนล้าน หมายถึง การเพิ่มหนี้ภาครัฐราว 10% หากเงินก้อนนี้ไปทำให้ ศก.เติบโตได้ 6% และ เงินเฟ้อที่ 4% ก็หมายถึง nominal GDP growth จะอยู่ที่ 10% สมดุลกับหนี้สินภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เปลี่ยนแปลง จึงเกิดสมดุลใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นสมดุลของหนี้สิน ต่อ รายได้ (GDP) ให้อยู่ในระดับเดิม ซึ่งไม่ทำให้ฐานะการคลังย่ำแย่ลงแต่อย่างใด ขณะที่สามารถขาดดุลการคลังได้มากพอสมควร เพื่อช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว จะมี GDP เติบโตในระดับต่ำ และ เงินเฟ้อก็ต่ำด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างประชากรแล้ว มีภาระในการดูแลสุขภาพ ประกันสังคม และ สวัสดิการของคนชราเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดดุลการคลังอยู่ในระดับสูง โดยที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้มากเพียงพอ หนี้สาธารณะต่อ GDP จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า "กับดักเคนส์" โดย ญี่ปุ่น อาจเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มติดกับดักหนี้มาได้ราว 20 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศในกลุ่มยูโรโซน อังกฤษ และ อเมริกา ก็เริ่มติดกับดักนี้มาได้ราว 3 ปี
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย หรือ อเมริกาใต้ กลับไม่พบเหตุการณ์เช่นนี้

สำหรับวิธีการปลดล็อค "กับดักเคนส์" นั้น ไม่สามารถแก้ไขด้วยการรัดเข็มขัดการคลังแบบพื้นๆ อย่างที่ประเทศกรีซทำอยู่ได้ เพราะ หากทำเช่นนั้นจะส่งในทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย อัตราส่วนหนี้สินภาครัฐต่อ GDP จึงจะยังวิ่งสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีก เหมือนเช่นกรณีของกรีซ ที่สูงขึ้นถึงระดับ 160% แล้ว แต่หากยังคงขาดดุลการคลังมากๆ กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เหมือน อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น สัดส่วนนี้ก็ไม่ได้ลดลง แต่กลับวิ่งสูงขึ้นเช่นกัน เพราะ เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ไม่สูงพอ เมื่อเทียบกับการขาดดุลการคลัง ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้จึงยากมาก...และ ผมก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีจึงจะคิดหาทางออกได้ ซึ่งนั่นก็คือ "การคลังไท้เก๊ก" นั่นเอง

โดยหลักการก็คือ การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ มาช่วยเหลือรัฐบาล จึงไม่ต้องใช้งบประมาณโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐยังอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย จากการเปลี่ยนสภาพ "ในนิ่งมีเคลื่อน" จึงทำให้สิ่งที่นอนนิ่งๆ จมเป็นกองทุนซึ่งแทบไม่มีผลต่อ GDP มาเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหว ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุน ก็จะส่งผลรัฐบาล สามารถรัดเข็มขัดพร้อมๆ ไปกับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากเป็นกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เดิมๆ แล้ว เรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย

หากจะยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมก็เช่น

1.การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษี สำหรับ LTF, RMF สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิตลงมา รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น (รัดเข็มขัดการคลัง) ในเวลาเดียวกัน ชนชั้นกลางและเศรษฐีก็จะนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคและลงทุนได้เพิ่มขึ้น เกิดการหมุนเวียน (กระตุ้นเศรษฐกิจ)

2.บัตรบำนาญ999 โดยให้ยืมเงินตนเองได้ 9 ส่วนจากกองทุนบำนาญ (ประกันสังคม กบข. สำรองเลี้ยงชีพ LTF RMF) โดยรัฐบาลเก็บเงินค่าค้ำประกันเงินกู้ด้วย (ราว 1.5%) ดังนั้น รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่ม (รัดเข็มขัด) ในเวลาเดียวกัน สินเชื่อที่ปล่อยผ่านกองทุนบำนาญเหล่านี้ ซึ่งอาจสูงถึง 5 แสนล้าน ก็เข้าไปช่วยกระตุ้น ศก.ได้ด้วย

นี่อาจเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้การคลังของเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งกำลังปวดหัวกันอยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ถึงแม้ไทยจะขาดดุลการคลังมากถึง 4 แสนล้านบาท.... แต่หากทำให้เศรษฐกิจโตเพียงพอก็จะเป็น "สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก" ไม่น่ากังวลแต่อย่างใดเลย

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

4ทฤษฎีใหม่ ใช้พิชิตวิกฤติโลก

4ทฤษฎีใหม่ ใช้พิชิตวิกฤติโลก

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก ได้เริ่มกังวลต่อการเกิดเศรษฐกิจถดถอยรอบใหม่โดยเฉพาะในเขตยูโรโซนที่ค่อนข้างชัดเจน โดยนโยบายการเงิน และ การคลัง ได้ถูกใช้ไปเกือบจะหมดทุกกระบวนท่าแล้ว แต่ตัวเลขเศรษฐกิจกลับเริ่มแย่ลง และ ประเทศจีนก็ส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวรวมถึงอาจเกิดปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ แตกได้อีกด้วย ดังนั้น โลกอาจต้องเตรียมทฤษฎีใหม่ไว้เพื่อป้องกันและรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ครั้งนี้

เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ประกอบไปด้วย 4 ทฤษฎีใหม่ใน 4 ด้านสำคัญของเศรษฐศาสตร์ คือ การเงิน การคลัง อัตราแลกเปลี่ยน และ เงินบำนาญ โดยอาจจำแนกได้ดังนี้

1.ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) เป็นทฤษฎีการ "ยืมแรงสะท้อนแรง" จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะจากกองทุนบำนาญ และ แบงก์รัฐมาช่วยรัฐบาล ทำให้ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มโดยตรง ใช้แนวคิดของไท้เก๊กคือ "ในนิ่งมีเคลื่อน" ด้วยการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในโครงการประเภท "เคลื่อนเป็นนิ่ง" หรือ โครงการที่มีค่าตัวทวีติดลบ ด้วยทฤษฎีนี้จะช่วยปลดล็อค "กับดักเคนส์" (สภาพที่สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องโดยเศรษฐกิจแทบไม่กระเตื้อง ไม่ว่าจะรัดเข็มขัดหรือคลายเข็มขัดก็ตาม) ทำให้สามารถรัดเข็มขัดการคลัง พร้อมๆ ไปกับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ (austerity with stimulus) ทั้งๆที่ในกรอบทฤษฎีการคลังปัจจุบัน 2 เรื่องนี้ขัดแย้งกัน ทำพร้อมไปด้วยกันไม่ได้เลย

ปัจจุบันทฤษฎีเคนส์ ได้ถูกลอกเลียนแบบเฉพาะ "เปลือกนอก" แต่ "จิตวิญญาณ"ของเคนส์ ไม่ได้ตามมาด้วย 3 เรื่อง

- ทฤษฎีเคนส์ เชื่อในเรื่องของการย้ายเงินจาก "คนรวยสู่คนจน" ผ่านพันธบัตรรัฐบาล ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลทั่วโลกกลับใช้วิธีย้ายเงินจาก "คนจนสู่คนรวย" โดยผู้ประกันตน และ ข้าราชการรายได้น้อย ถูกบังคับออมเงินผ่านระบบประกันสังคม และกบข. โดยราว 70-80% ของเงินนั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยเงินจำนวนมากวิ่งเข้ากระเป๋านายทุนรับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึง ตกหล่นเข้ากระเป๋านักการเมือง และ ข้าราชการขี้ฉ้อ ไปกับการคอร์รัปชั่น

- ทฤษฎีเคนส์ เชื่อในแนวคิด "ในนิ่งมีเคลื่อน" คือเงินฝากเฉยๆ ในธนาคารถูกนำมาใช้ลงทุนโดยภาครัฐ แต่ปัจจบันเปลี่ยนเป็นแนวคิด "ในเคลื่อนมีนิ่ง" คือ นำเอาการใช้จ่ายของภาครัฐไปออมกับ กองทุนบำนาญเงินออมต่างๆ จมเงินไว้เฉยๆ โดยไม่ทำให้เกิดการหมุนรอบเศรษฐกิจแต่อย่างใด

- ทฤษฎีเคนส์ มีแนวคิดของอนาคตว่า "ภาระตกที่กลุ่มใหญ่ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเล็ก" คือ ให้คนกลุ่มใหญ่โดยเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นฐานของ "พีระมิด" เติบโตเป็นกลุ่มวัยทำงาน และ ช่วยเหลือคนชราซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กของสังคม ขณะที่ปัจจุบันกลายเป็นแนวคิด "ภาระตกที่คนกลุ่มเล็ก เพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มใหญ่" เพราะโครงสร้างประชากรเปลี่ยนเป็น "โอ่งน้ำ" เด็กและเยาชนจึงเป็นกลุ่มเล็กของสังคม เด็กเกิดใหม่ในญี่ปุ่นลดลงทุกปี ขณะที่คนชราเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ ทฤษฎีเคนส์จึงเปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างมาก และ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่เคนส์คาดหวัง

2.ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก (Taiji Monetary Theory) คือ แนวคิดที่เชื่อว่าเป้าหมายสุดท้ายของนโยบายการเงิน ก็เพื่อดูแลการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หาใช่เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่

2.1 การขึ้น หรือ ลด อัตราดอกเบี้ย จึงเป็นไปเพื่อ ชะลอ หรือ กระตุ้น เศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามระดับศักยภาพ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงไม่สกัดเงินเฟ้อ แต่เป็นการสกัดการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ปัญหาเงินเฟ้อแย่ลงด้วยซ้ำ จากผลต้นทุนดอกเบี้ยที่ส่งไปยังผู้ผลิตและประชาชนที่ติดหนี้ เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้นก็ยิ่งต้องขึ้นดอกเบี้ยและก็ยิ่งทำให้เงินเฟ้อ เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาจึงติด "กับดักเงินเฟ้อ"

2.2 สำหรับประเทศพัฒนาแล้วนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยติดดินแต่เศรษบกิจก็ยังไม่ฟื้นตัว จึงได้มีแนวคิดใหม่แบบ "การเงินสุดขั้ว" ด้วยการเสนอให้ธนาคารกลาง ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาถึงระดับ "ติดลบ" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยลดภาระของชนชั้นกลางและคนจนในเรื่องของค่าเช่า และ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง เหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น วิธีนี้จะผลักดันสภาพคล่องที่นอนจมในระบบแบงก์ออกไป เพื่อส่งเสริมการบริโภคและลงทุน รวมไปถึง การฟื้นฟูการจ้างงาน และ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย จึงช่วยปลดล็อค "กับดักสภาพคล่อง"

3.FX ไท้เก๊ก หรือ ทฤษฎีซานฟง 333 (Sanfeng 333 Theory) ผมตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแด่ปรมาจารย์มวยไท้เก๊ก เป็นแนวคิดเพื่อใช้เตือน และ แก้ไขวิกฤติจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสม คือ พิจารณการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหากเกินกว่า 3% GDP ต่อเนื่องกัน 3 ปี และ ทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีมีส่วนต่าง (spread) จากประเทศอ้างอิงหลัก (อเมริกา หรือ เยอรมัน)เกินกว่า 3% นั่นสะท้อนว่า ประเทศนั้นๆ มีการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจตนเองเสียแล้ว

ด้วยทฤษฎีนี้โลกก็น่าจะหลีกเลี่ยงวิกฤติ เตกีล่าในเม็กซิโก และ ต้มยำกุ้งในไทย รวมถึง วิกฤติในอาร์เจนติน่า ได้ไม่ยาก เพราะ ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เหมาะสม ทำให้ค่าเงินแข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง หมายถึง การใช้จ่ายเงินเกินตัวอย่างต่อเนื่อง นำพาไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด โดยสถานการณ์นี้กำลังเกิดกับ ประเทศชายขอบยูโรโซน (กรีซ โปรตุเกส สเปน อิตาลี) รวมไปถึง ประเทศเวียดนามในเอเชียอีกด้วย ทฤษฎีนี้จะช่วยปลดล็อค "กับดักยูโร" ได้

ทฤษฎีนี้จะชี้ประเด็นได้ว่า "เงินยูโร" คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของโลกที่ผูกประเทศที่แตกต่างกันมากไว้ด้วยกัน โดยมองในประเด็นของการลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน อย่างไรก็ดี ได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่า นั่นก็คือ "ความสมดุล" หากแบ่งเงินเป็น 3 สกุล แข็งแรง-ปานกลาง-อ่อนแอ เป็น Euro, Euro-BIS (เบลเยี่ยม อิตาลี สเปน) และ Euro-PIG (โปรตุเกส ไอร์แลนด กรีซ)โดยลดค่าเงินลง 10% สำหรับ Euro-BIS และ 20% สำหรับ Euro-PIG ก็จะช่วยลดหนี้ภาครัฐของกรีซลงได้กว่า 30% GDP และจะช่วยให้ดึงสมดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอ่อนแอกลับมาได้ จึงลดการพึ่งพิงหนี้สินต่างประเทศลง นี่จึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ไม่ใช่การซื้อเวลาด้วยการสนับสนุนเงินกู้ผ่าน EU, EFSF และ IMF อย่างที่ผ่านมา

เชื่อได้ว่า หากผู้นำประเทศพัฒนาแล้วทั้งยุโรป อเมริกา และ ญี่ปุ่น ได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจจะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก เพราะ 3 ทฤษฎีใหม่ข้างต้นคือ การปลดล็อค "กับดักเศรษฐกิจ" ที่ผูกมัดเศรษฐกิจของพวกเขามานานหลายปี อันเนื่องจากดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เก่าๆ ผิดพลาด

4.ทฤษฎีบำนาญไท้เก๊ก (Taiji Pension Theory) คือ ทฤษฎีที่พยายามดูแลกองทุนบำนาญอย่างประกันสังคม ให้สามารถรักษาเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการจ่ายบำนาญชราภาพได้ โดยไม่หมดลงภายใน 30 ปีข้างหน้าอย่างที่คาดการณ์กันไว้ หากเป็นทฤษฎีปัจจุบัน กองทุนประกันสังคมต้องเพิ่มเงินสมทบ หรือ ยืดอายุการเริ่มต้นจ่ายบำนาญ หรือ เสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลเสียต่อผู้ประกันตน

แต่ด้วยทฤษฎีใหม่ เช่น การยอมให้ผู้ประกันตนสามารถยืมเงินตนเองได้ 9 ส่วน (บัตรบำนาญ999) โดยให้ สปส.เก็บค่าค้ำประกันเงินกู้ราว 1.5% ของยอดเงิน ก็จะเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนให้กับกองทุนประกันสังคมโดยไม่ต้องมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเลย และหากยังไม่เพียงพออีก ในอีก 15-20 ปีข้างหน้าสิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ การออกพันธบัตร สปส.ราวปีละ 1-2 แสนล้าน ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายกับทฤษฎีเคนส์ คือ กองทุนประกันสังคมสามารถกู้ยืมเงินได้ เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อการจ่ายเบี้ยบำนาญชราภาพ ประคองสถานการณ์ไว้จนกว่า โครงสร้างประชากรจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นในที่สุด นี่คือการปลดล็อค "กับดักประกันสังคม" นั่นเอง

ทั้ง 4 ทฤษฎีนี้ จึงสามารถถูกนำไปใช้เพื่อปลดล็อค "กับดักเคนส์" ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ให้สามารถรัดเข็มขัดการคลังพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ปลดล็อค "กับดักสภาพคล่อง"ผ่านนโยบายการเงินสุดขั้วอีกด้วย นอกจากนี้ยังไปใช้เพื่อปลดล็อค "กับดักยูโร" ในเขตยูโรโซน ปลดล็อค "กับดักเงินเฟ้อ"ในประเทศกำลังพัฒนาด้วยการลดแทนการขึ้นดอกเบี้ย และ สุดท้ายคือปลดล็อค "กับดักประกันสังคม" ที่ผู้ประกันตนทั้งออมเงินและกู้เงินในเวลาเดียวกันและทำให้จนลงเรื่อยๆจากส่วนต่างดอกเบี้ย แถมเงินกองทุนจะหมดลงในเวลา 30 ปีข้างหน้า นี่จึงเป็นการปลดล็อค 5 กับดักอันตรายนี้ได้ทั้งหมด และ ช่วยกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลกเอาไว้ได้

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จาก "ทฤษฎี 2 สูง" สู่ "หายนะ 6 สูง"

ทฤษฎี 2 สูง อันโด่งดังของท่านเจ้าสัว ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่น รวมไปถึง การรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้ เกษตรกรมีรายได้ "สูง" และ คนทำงานได้ค่าแรงและเงินเดือน "สูง" ขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของทฤษฎี 2 สูงนั่นเอง

อย่างไรก็ดี อาจมีปัญหายิงใหญ่ตามมาได้ถึง 6 เรื่อง ดังนี้

1. เงินเฟ้อสูง : หากมีการขึ้นค่าแรง และ ขึ้นราคาข้าวจริงๆ เกือบเท่าตัว ก็อาจส่งผลได้มากต่อ อัตราเงินเฟ้อ จากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องในลักษณะของการขยายวงของเงินเฟ้อ (inflation spiral) ทำให้เงินเฟ้อกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะค่าแรง แต่อาจมาจากต้นทุนวัตถุดิบ และ ชิ้นส่วนของสินค้าอีกด้วย ดังนั้น เงินเฟ้ออาจสูงถึง 10% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

2. อัตราดอกเบี้ยสูง : สำหรับ ธปท.แล้ว ยังคงเชื่อในทฤษฎีการเงินเดิมๆ คือ ต้องพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้เคียงกับ อัตราเงินเฟ้อ โดยหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้ โดยที่ความเป็นจริงแล้ว มันกลับเร่งอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปต่างหาก โดยจากสมการ nominal rate (อัตราดอกเบี้ย)= real rate (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)+ inflation (อัตราเงินเฟ้อ) การขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอจากจะมีส่วนทำให้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น (ส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจชะลอลง) ยังมีส่วนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกด้วย โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งมุ่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กลับไม่เห็นผล อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อินโดนีเซีย นั้นหยุดขึ้นดอกเบี้ยมานานแล้ว เงินเฟ้อกลับเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นแนวคิดแบบไท้เก๊กด้วยการใช้ "หยุดนิ่งสยบเคลื่อนไหว" นั่นเอง

ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้น และ ธปท.ก็คงเดินหน้านโยบายแบบเดิมๆ คือ ขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตามเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าจะสกัดเงินเฟ้อได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว มันทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นต่างหาก เงินเฟ้อจึงไม่ชะลอตัวลงแต่กลับเร่งตัวขึ้น เราจึงอาจเห็นอัตราดอกเบี้ย 10% ก็เป็นได้

3.เงินบาทอัตราสูง: การขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ปกติแล้วตามทฤษฎีในระยะยาวจะถูกชดเชยด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง หรือว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับตัวเลขที่สูงขึ้นจาก 30 บาทก็อาจเป็น 33 บาท ยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเป็นภาระหนักหนาต่อไปจนยากที่จะเยียวยา โดยเงินบาทอาจอ่อนค่าลงกว่า 10% ได้เลย

4.อัตราว่างงานสูง : เมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินบาทแข็งค่าเร็ว ธุรกิจส่งออก SME ก็อาจปลดคนงานออกสัก 20% เช่น จากเคยทำ 10 คนก็เหลือแค่ 8 คน หรืออาจมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่หลบเลี่ยงกฎหมายได้เพื่อลดต้นทุน บางแห่งสู้ไม่ไหวจริงๆ ก็อาจปิดกิจการไป ซึ่งนั่นหมายถึง การว่างงานอาจวิ่งเร็วเป็นจรวด จากระดับไม่ถึง 1% ตอนนี้ขึ้นไปสูงกว่า 10% ได้เลย

5.หนี้สาธารณะสูง : การเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ รวมไปถึงเงินรับจำนำข้าว จำเป็นต้องใช้เงินถึงหลายแสนล้าน อาจทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้อย่างเร็วกว่า 10% ง่ายๆ

6.ขาดดุลการค้าสูง : เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้การส่งออกเริ่มมีปัญหา ขณะที่การนำเข้าก็มากเพราะ คนงานมีรายได้ดีขึ้น จึงมีโอกาสสูงที่ประเทศไทยอาจพลิกจากได้ดุลการค้าเป็น ขาดดุลการค้า เปลี่ยนไปได้ถึง 10% GDP ก็อาจเป็นไปได้

ทฤษฎี 2 สูง อาจจะผลักดันให้ค่าทั้ง 6(อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราว่างงาน อัตราเงินบาท อัตราการเพิ่มหนี้ภาครัฐ และ การขาดดุลการค้า) สูงขึ้นเป็นเลข 2 หลักได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้การใช้คำว่า "หายนะ 6 สูง" ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด ก่อนจะดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจเช่นนั้น ก็ฝากให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าด้วยความรอบคอบด้วยครับ

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทางออกสวยหรู แด่ยูโรโซน

ยูโรโซน กำลังประสบกับปัญหาครั้งใหญ่ โดยมีวิกฤติทับซ้อนกันถึง 4 เรื่อง คือ วิกฤติการคลัง วิกฤติการว่างงาน วิกฤติขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ วิกฤติเงินยูโร แต่สิ่งที่ IMF, EU และ ECB พยายามทำอยู่ก็คือ การซื้อเวลา เท่านั้นเอง ต้นตอปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้แก้ไขเลยแม้แต่น้อย มันคืออะไรมาลองมาดูกันครับ

เมื่อดูตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็อาจแบ่งประเทศได้เป็น 4 กลุ่มประเทศ คือ
1. กลุ่มเกรด A เช่น เยอรมัน และ เนเธอร์แลนด์ แข่งขันได้ดีมากๆ ภายใต้ค่าเงิน "ยูโร" จึงได้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5.7% และ 7.7% ของ GDP ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า ค่าเงินที่เหมาะสมของ 2 ประเทศนี้ควรจะแข็งค่ากว่า "ยูโร" เพื่อให้เกิดสมดุล
2. กลุ่มเกรด B เช่น ฝรั่งเศส และ เบลเยี่ยม จะมีการได้ดุลและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2.5% โดย 2 ประเทศนี้ตัวเลขอยู่ที่ -2.1% และ +1.4% GDP ตามลำดับ จัดได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่เหมาะสมการใช้เงิน "ยูโร" มากที่สุด
2. กลุ่มเกรด C เช่น สเปน และ อิตาลี ยังไม่แข่งขันไม่ดีนัก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -4.5 และ -3.3% GDP ตามลำดับ ดังนั้น ค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ ควรอ่อนค่าลงกว่าปัจจุบัน (ยูโร) เล็กน้อย เพื่อให้เกิดสมดุล
3. กลุ่มเกรด D เช่น กรีซ และ โปรตุเกส แข่งขันแทบไม่ได้เลยกับค่าเงิน "ยูโร" โดยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -10.5 และ -9.9% GDP ตามลำดับ ค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ ควรอ่อนค่าลงอย่างมากๆ แทนที่จะใช้ "ยูโร" เพื่อให้เกิดสมดุลขึ้นได้

ดังนั้นการที่ IMF, ECB พยายามชี้ประเด็นว่า ปัญหาอยู่ที่วิกฤติการคลังนั้น อาจเป็นการชี้ไม่ตรงประเด็นกับต้นตอของปัญหาที่แท้จริง หากจะยืดอกยอมรับตรงไปตรงมาก็อาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของระบบเศรษฐกิจโลก" เป็นการผูกระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งแตกต่างกันอย่างมากมายเข้าไว้ด้วยกันถึง 17 ประเทศ ในที่สุดจะสร้างหนี้สินต่างประเทศกับกลุ่มประเทศอ่อนแออย่างมากมาย เพราะ ค้าขายขาดดุลตลอด และเปิดโอกาสให้ใช้เงินเกินตัวได้ด้วยค่าเงินที่แข็งเกินจริง

โดยวิกฤติที่เกิดในลักษณะนี้ได้เห็นกันมาบ้างแล้ว เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก วิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนติน่า และที่สำคัญก็คือ วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย ล้วนแล้วแต่เกิดจากการปล่อยให้เกิดภาวะสัญญาณ 333 (Triple 3 Crisis Signal) ทั้งสิ้น คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่า 3% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และ ผลตอบแทนพันธบัตรสูงกว่าค่าอ้างอิงเกินกว่า 3% โดยประเทศในเอเชียที่เกิดเหตุการณ์นี้จนน่าจับตาว่าอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ก็คือ เวียดนาม สำหรับในยุโรปนั้นก็คือ กรีซ โปรตุเกส (กลุ่ม D) นั้นแน่นอนว่าเกิดวิกฤติไปแล้ว สำหรับประเทศที่กำลังมีปัญหาตอนนี้ก็คือ อิตาลี และ สเปน (กลุ่ม C)

การให้เงินช่วยเหลือนั้นเป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น แต่การเดินหน้า แตกเงิน "ยูโร" เป็น 4 สกุล (อาจเป็น Euro-A, Euro-B, Euro-C และ Euro-D) ต่างหากที่น่าจะเป็นทางออกที่สวยงามและตรงประเด็น โดยแต่ละกลุ่มประเทศก็ใช้ค่าเงินที่แตกต่างกันไป อาจสร้างสรรค์ให้เป็นการ "แตกเพื่อโต" โดยอาจเชิญประเทศใน EU ที่ยังไม่เข้าใน "ยูโรโซน" ให้เข้ามาร่วมใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็จะเป็นการสร้างต้นแบบของเงินในเอเชียได้ด้วย โดยประเทศแข็งแรงก็จะมีค่าเงินแข็ง ขณะที่ประเทศอ่อนแอก็จะมีค่าเงินอ่อน ก็จะเกิดการปรับตัวทางเศรษฐกิจได้เองเพราะค่าเงินอ่อน ย่อมส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยวอยู่แล้ว จะทำให้กรีซ โปรตุเกส กลับมาได้ดุลบัญชีเดินสะพัด และ ลดหนี้สินต่างประเทศได้อย่างเร็ว ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรนักกับประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในที่สุดก็ผ่านมาได้อย่างสวยงาม

ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือ สเปน และ อิตาลี ซึ่งมีขนาดใหญ่ติด 10 อันดับแรกของโลก ใหญ๋เกินกว่าที่จะเข้าไปอุ้มไหว หากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีการถอนเงินทุนออกจากประเทศที่เสี่ยงระดับเกรด C นี้ ส่วนต่าง (spread)ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสเปน และ อิตาลี กับ Bund (พันธบัตรของเยอรมัน) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% และ 3.1% แล้ว (วันที่ 20 ก.ค.)ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณแห่งการแตกตัวของระบบ "ยูโร" ที่ชัดเจนมากๆ เพราะค่านี้เป็นตัวชี้ว่า สเปน และ อิตาลี ไม่เหมาะที่จะใช้ค่าเงิน "ยูโร" เหมือนกับ เยอรมัน อีกต่อไปนั่นเอง

หากจะสรุปแนวคิดตาม Taiji-Econ. ก็คือ "ยืมพลัง" กองทุนบำนาญมาแทน พลังงบประมาณภาครัฐ เพื่อช่วยเปลี่ยน "นิ่งเป็นเคลื่อน" ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบ รวมถึง รัดเข็มขัดการคลังในโครงการประเภทเงินจมในกองทุน ก็จะกลับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแทนที่จะแย่ลง ดังนั้นจะแก้ไขทั้งวิกฤติการคลังและวิกฤติการว่างงานไปได้ ขณะเดียวกันก็ "ยืมพลัง" อัตราแลกเปลี่ยนมาเพื่อปรับสมดุล กระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด และ กลไกสมดุลที่บกพร่องไปเพราะระบบเงินยูโรก็จะกลับสู่ภาวะปกติได้

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลองคิดใหม่ กับ นโยบาย "เพื่อไทย"

ลองคิดใหม่ กับ นโยบาย "เพื่อไทย"

นโยบายของพรรคเพื่อไทยซึ่งกำลังจะเป็นแกนนำรัฐบาลในไม่ช้านี้ มีประเด็นที่สำคัญซึ่งอาจก่อปัญหาให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากลองคิดใหม่อีกรอบโดยเปลี่ยนวิธีการบ้าง ก็อาจดำเนินนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้ได้ โดยเป็นการ "ผ่าทางตัน" ที่สวยงาม

1. ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ยากเย็นอย่างยิ่ง เพราะ บางจังหวัดนั้นมีค่าแรงขั้นต่ำเพียง 160 บาทเท่านั้นเอง การยกระดับสูงขึ้นถึงเกือบเท่าตัว อาจทำให้ SME บางแห่งไม่สามารถรับภาระนี้ไว้ได้ แม้ พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 23% เพื่อแบ่งเบาภาระของภาคเอกชนก็ตาม คนทีรับประโยชน์กลับกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปตท. เครือซีพี เครือซีเมนต์ไทย ธนาคารขนาดใหญ่ บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแรงงานขั้นต่ำอยู่น้อยมากๆ ขณะที่ SME ซึ่งมีการจ้างงานสูงอาจได้รับผลกระทบจนต้องปลดคนงาน หรือ ถึงขั้นปิดกิจการก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงตามมาได้

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ก็อาจเป็น "เบี้ยกรรมกร" โดยจ่ายให้กับแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 7.5 พันบาทต่อเดือน (ทำงาน 25 วัน) อุดหนุนให้ไม่เกินหัวละ 1 พันบาทต่อเดือน อาจต้องจ่ายราว 5 ล้านคน งบประมาณราวๆ 6 หมื่นล้านบาท

เป็นเรื่องบังเอิญที่หลังจากผมคิดวิธีนี้แล้ว ไปค้นดูกลับพบว่าแนวคิดนี้ไปตรงกันกับของ "มิลตัน ฟรีดแมน" เจ้าสำนักการเงินนิยม (Monetarism) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในรอบศตวรรษ เคียงคู่กับ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้แนะนำว่ารัฐบาลควรใช้วิธี "ภาษีติดลบ" หรือ การให้เงินอุดหนุนกับแรงงานรายได้ต่ำ แทนที่จะจ่ายเงินสวัสดิการการว่างงาน จะทำให้กลไกตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้น หากมีนักวิชาการวิจารณ์ในเรื่องนี้ รัฐบาลก็อาจโต้กลับไปได้ว่า "นี่เป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์เชียวนะ"

เมื่อจ่ายเงินอุดหนุนไปแล้ว ก็หวังว่าค่าตัวทวี (multiplier) ของ เคนส์ จะทำงานอย่างดี หากได้ตัวทวีที่ 6 เท่า รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ 17% (ตามค่าเฉลี่ยปัจจุบัน) ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย คือ รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มได้เท่ากับ เงินอุดหนุนที่จ่ายไป จึงไม่ได้ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ข้อดีก็คือ ภาคเอกชนไม่ได้มีภาระต้นทุนเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันยังคงเดิม จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแรงงานไทยให้ได้ประโยชน์มากกว่า แรงงานต่างด้าวอีกด้วย จากเงิน 1 พันบาทที่อุดหนุนไป

2. ปริญญาตรี 1.5 หมื่น : ก็ทำด้วยหลักการคล้ายกัน คือ อุดหนุน "เบี้ยบัณฑิต" จ่ายให้ไม่เกิน 2 พันบาทต่อหัว อาจจ่ายราว 1 ล้านคน และใช้งบประมาณราว 2.4 หมื่นล้าน ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุน 2 ข้อนี้ จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมของรัฐบาลต่อคนราว 6 ล้านคนอย่างเร็ว

3. จำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นต่อตัน : ถูกโจมตีว่าอาจต้องใช้เงินภาครัฐถึง 4.5 แสนล้านบาท และ อาจขาดทุนได้นับแสนล้าน

ทางแก้ไขก็อาจเป็น แนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก (Taiji-Econ.) ก็คือ "ยืมพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน ในเคลื่อนมีนิ่ง" ดังนั้น รัฐบาลควรยืมแรงจากกองทุนบำนาญ 3 ล้านล้านบาท (กบข. สปส. สำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต) โดยกำหนดให้ต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาด AFET ไม่ต่ำกว่า 5% ของเงินกองทุน ก็จะทำให้เงินถึง 1.5 แสนล้านบาท มาช่วยรัฐบาลซื้อข้าวเก็บเข้าสต๊อก โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินเลย หากราคายังสูงไม่พอ ก็อาจปรับขึ้นเป็น 7.5% และ 10% ของเงินกองทุนบำนาญได้ตามลำดับ

"ในเคลื่อนมีนิ่ง" คือ เปลี่ยนข้าวจาก "สินค้า" (flow)เพื่อการบริโภค ให้เป็น "สินทรัพย์" (stock) เพื่อการลงทุน ด้วยเงินตรงนี้ก็อาจซื้อข้าวเป็นสต๊อกถาวรได้ถึง 5 ล้านตัน (แต่หมุนเวียนเพื่อไม่ให้เสื่อมคุณภาพ) และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" เมื่อเก็บสต๊อกจำนวนมาก (stock) ราคาข้าวก็จะสูง ทำให้ชาวนามีรายได้ (flow) สูงขึ้นมาก รัฐบาลจึงไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแค่ยืมพลังเท่านั้น

นี่จึงเป็นสถานการณ์แบบ win-win-win โดยรัฐบาลไม่เสียเงินเลยแม้แต่น้อย กองทุนบำนาญได้ลงทุนในข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ผู้เกษียณ และ ชาวนาได้มีรายได้สูงขึ้น

อยากฝากเรื่องนี้ให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาดูด้วย เพราะ หากดำเนินนโยบายทั้ง 3 เรื่องนี้โดยไม่คิดให้รอบคอบ อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก แต่หากดำเนินการด้วยวิธีการข้างบน ก็น่าจะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น โดยใช้เงินภาครัฐน้อยลงก็เป็นได้

วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรียนรู้ตัวทวีติดลบ สยบวิกฤติการคลัง

ณ เวลานี้ ประเทศพัฒนาจำนวนมาก ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น และ อังกฤษ ต่างก็ประสบปัญหากับ "วิกฤติการคลัง" จนจำเป็นต้องรัดเข็มขัด แม้จะยังเกิด "วิกฤติการว่างงาน" อยู่ก็ตาม ขณะที่ประเทศยูโรโซนนั้น ยังมี "วิกฤติเงินยูโร" ที่ทับซ้อนเข้ามาอีกด้วย เพราะ การผูกค่าเงินไว้กับประเทศถึง 17 ประเทศ โดยความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจแตกต่างกันอย่างมาก ได้ส่อเค้าลางแห่งปัญหามากมาย

ค่าตัวทวี (multiplier) ในทางการคลัง หมายถึง อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของ GDP หากมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น 1 หน่วย โดยที่ค่านี้อาจผันแปรไปตามแนวคิดของเศรษฐศาสตร์แต่ละสำนัก

1. สำนักเคนส์ โดยเจ้าสำนัก คือ "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์" : ศรัทธาในนโยบายการคลัง เชื่อว่าการใช้จ่ายภาครัฐ (G) จะเหนี่ยวนำให้เกิดการใช้จ่าย (C) และ ลงทุนของภาคเอกชน (I) เพิ่มขึ้น ส่งให้ค่าตัวทวีมีค่าที่สูงกว่า 1

2. สำนักการเงินนิยม (monetarism) โดยเจ้าสำนัก "มิลตัน ฟรีดแมน" : ไม่เชื่อในประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง โดยเชื่อว่า การใช้จ่ายภาครัฐ (G) แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่จะไปแย่งการเงินจากภาคเอกชนทำให้การใช้จ่าย และ ลงทุนของเอกชน (C และ I) ลดลง ในลักษณะของ crowding out effect จึงส่งผลให้ค่าตัวทวีนั้นเข้าใกล้ "ศูนย์"

เจ้าสำนักทั้ง 2 อาจกล่าวได้ว่าเป็น นักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักชื่อดังที่สุดในรอบศตวรรษ โดยเป็นผู้วางกรอบนโยบายการคลัง และ การเงิน ตามลำดับและใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ดีทั้ง 2 สุดยอดแนวคิดก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วได้ ณ ปัจจุบัน (วิกฤติการว่างงาน ซ้อน วิกฤติการคลัง)

3. สำนักเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ซึ่งพึ่งตั้งขึ้นใหม่สดๆ ร้อนๆ เลย มองในอีกแง่มุมหนึ่ง โดยเชื่อว่า ค่าตัวทวีอาจถึงขั้น "ติดลบ" ได้เลย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงข้ามกับเคนส์โดยสิ้นเชิง เพราะสภาพการณ์ของเศรษฐกิจได้แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก โดยอาจแบ่งเป็น 2 ประเด็นดังนี้

1.เคนส์เชื่อว่า นโยบายการคลัง คือ การย้ายเงินจาก "คนรวยมาสู่คนจน" โดยผ่าน "พันธบัตรรัฐบาล" เป็นตัวกลาง ทำให้เศรษฐกิจหมุนรอบได้สูงขึ้น แต่ความจริงแล้ว Taiji-Econ. เชื่อว่าในปัจจุบันเงินกลับทิศโดยย้ายจาก "คนจนมาสู่คนรวย" โดยระดมเงินจากกองทุนประกันสังคมซึ่งผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยากจน ระดมเงินจาก กบข.ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออมของข้าราชการรายได้น้อย ไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจราว 70-80% เพื่อนำเงินนั้นไปสร้างความมั่งคั่งให้กับ นายทุนบริษัทรับเหมาก่อสร้าง นักการเมืองและข้าราชการขึ้โกง (คอรัปชั่น) ดังนั้น การหมุนรอบของเงินจึงลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าตัวทวีจากผลของนโยบายการคลังถึงขึ้น "ติดลบ"

2.เคนส์เชื่อว่า การใช้จ่ายภาครัฐในอดีต คือ "เปลี่ยนนิ่งเป็นเคลื่อน" โดยเปลี่ยนเงินที่หยุดนิ่งในระบบแบงก์ (stock) ให้เป็นพันธบัตรัฐบาลและการใช้จ่ายภาครัฐ (flow) จึงส่งผลต่อเนื่องกระตุ้นอุปสงค์ในภาคเอกชนด้วย แต่ความจริงในปัจจุบัน Taiji-Econ. เชื่อว่ามีหลายโครงการภาครัฐคือ "เปลี่ยนเคลื่อนเป็นนิ่ง" โดยภาครัฐได้ทุ่มเงินจำนวนมาก (flow) เข้าไปเป็น กองทุนบำนาญ (stock) เช่น การสมทบเงินเข้า กบข. ประกันสังคมนอกระบบ (ประชาวิวัฒน์) และ กอช.(ในอนาคต) รวมไปถึง การลดหย่อนภาษีวงเงินสูงมากกับกองทุนบำนาญ (RMF,LTF,ประกันชีวิต) เช่นนี้เอง การที่รัฐบาลใช้เงินภาครัฐ (G) ไม่เพียงแต่ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแม้แต่น้อย ยังจะดูดเงินภาคเอกชนมาจมอยู่กับกองทุนต่างๆด้วย ทำให้ C และ I ลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น ผลกระทบรวมทั้งหมดจึงได้ค่าตัวทวี "ติดลบ"

ความรู้เรื่องค่าทวี "ติดลบ" จะช่วยวิกฤติการคลังของประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร ?? ก็ง่ายๆ ตรงไปตรงมา ก็คือ ในเมื่อค่าตัวทวี "ติดลบ" หากทำ 2 เรื่องนี้ ก็จะรัดเข็มขัดการคลัง โดยเศรษฐกิจดีขึ้นได้ด้วย

1. ดูแลเรื่องคอรัปชั่นอย่างดี รวมทั้งการยึดทรัพย์นักการเมืองและข้าราชการขี้โกงด้วย สำหรับวิธีแบบไทยๆ ผมขอเสนอให้ ท่านนายกฯ คนใหม่ พาคณะรัฐมนตรี รวมไปถึง ข้าราชการระดับบิ๊กๆ ทั้ง ทหาร และ พลเรือน ไปสาบานที่วัดพระแก้วว่าจะไม่โกงกินเงินแผ่นดิน มิเช่นนั้น "ขอให้ถูกยึดทรัพย์ ติดคุกหัวโต" ใครไม่กล้าไปสาบาน ก็ขอให้คัดชื่อออกจากลิสต์รัฐมนตรีได้เลย เพราะ ส่อเค้าจะโกงตั้งแต่ต้น ด้วยวิธีแบบไทยๆ เช่นนี้ก็น่าจะลดการโกงกินลงไปได้ครึ่งหนึ่ง สำหรับการยึดทรัพย์นั้น ควรมีการให้รางวัล "คนแฉ" ด้วยการแบ่งส่วนแบ่งสัก 25% ของทรัพย์ที่ยึดได้ และ ลดโทษการยึดทรัพย์ของ "คนแฉ" เหลือแค่กึ่งหนึ่ง ประเทศชาติจะรับทรัพย์มากมายโดยไม่ต้องขึ้นภาษีเลย เป็นการ"รัดเข็มขัดการคลัง"อย่างเฉลียวฉลาด

2. รัดเข็มขัดการคลังในโครงการประเภทเงินจม หรือพวกโครงการ "เปลี่ยนเคลื่อนเป็นนิ่ง" จะกลับส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม (GDP สูงขึ้น) นอกจากนี้ การให้ผู้ประกันตนยืมเงินออมบำนาญตนเองได้ โดยรัฐบาลเก็บค่าค้ำประกันสินเชื่อ ก็เป็นแนวคิด "ยืมพลัง" และ "เปลี่ยนนิ่งเป็นเคลื่อน" ซึ่งทำให้ "รัดเข็มขัดการคลังโดยที่เศรษฐกิจดีขึ้นได้"

หากผู้นำของประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายโดยเฉพาะประเทศแถวยุโรปได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้ อาจจะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก วันรุ่งขึ้นอาจรีบประกาศออกสื่อทั่วประเทศว่า "เราได้เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ที่จะรัดเข็มขัดการคลัง โดยเศรษฐกิจไม่แย่ลงแต่กลับดีขึ้น ดังนั้น จึงไม่ต้องปลดคนงานออกแต่กลับมีการจ้างงานเพิ่ม ขอให้พี่น้องประชาชนหยุดการประท้วงได้แล้ว ทางออกอยู่ตรงนี้เอง" บางทีแนวคิดนี้อาจเป็นแสงสว่างเล็กๆ ปลายอุโมงค์วิกฤติการคลังก็เป็นได้ สำหรับประเทศไทยของเรา หากรัฐบาล "นารีขี่ม้าหมุน" ยังคงสนุกสนานเพลิดเพลินกับ นโยบายขายฝันในสวนสนุก แบบ "ประชานิยมสุดขั้ว" อีกไม่นาน "วิกฤติการคลัง" ก็อาจมาเยือนเร็วกว่าที่คิด ดังนั้น ศึกษาแนวคิดเหล่านี้ไว้ก่อนก็น่าจะไม่เสียหลายแต่อย่างใดครับ

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองต้องมี

วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองต้องมี

จากบทความ "5 กับดักเศรษฐกิจ พิษร้ายแรง" ซึ่งได้เขียนมาตั้งแต่เดือน กันยายน 2553 ผมได้คิดว่า โอกาสเกิดวิกฤติรอบ 2 มีราว 80% แต่ ณ ตอนนี้ หลังจากที่ S&P ได้ลดอันดับเครดิตของอเมริกา และ เกิดปัญหาหนี้ของยุโรปที่ลามไป สเปนและอิตาลี ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว ความเสี่ยงตรงนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 99% แล้ว

ทำไมต้องมีแผนสำรอง เหตุผลก็เพราะว่า แผนหลักซึ่งคือ นโยบายการเงิน และ การคลังนั้นได้ใช้อย่างเต็มที่แล้ว แต่เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มแย่ลง และ ดูเหมือนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อีกครั้ง แม้ประธานาธิบดีอเมริกา และ ประธานเฟด จะพยายามพูดปลอบใจตนเองและประชาชนว่า “คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวชั่วคราว และ ไม่กังวลกับภาวะถดถอย” เมื่อเดือนก่อนก็ตาม แต่สภาพของดัชนีตลาดหุ้นได้ส่งสัญญาณเตือนอย่างรุนแรงแล้ว

ประเทศพัฒนาแล้วมีความอ่อนแรงมากในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บางส่วนได้เข้าสู่ภาวะถดถอยรอบ 2 ไปแล้วด้วยซ้ำ เช่น PIIGS ในเขตยูโรโซน และ ญี่ปุ่น เป็นต้น เรามาลองดูกันว่า แผนหลักที่ได้เดินหน้ามา 2-3 ปีนี้มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่บ้าง

นโยบายการเงิน : FED ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉียดศูนย์ และใช้ QE พิมพ์แบงก์เพิ่มเพื่อซื้อพันธบัตร ด้วยการหวังให้สภาพคล่องไปช่วยพยุงราคาสินทรัพย์หลักคือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นต้นตอแห่งปัญหา แต่ปรากฏว่าเงินนั้นกลับไหลเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แทน ซึ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทางอ้อมอีกต่างหาก ขณะที่ตลาดบ้านยังคงไม่ดี บ้านยังคงถูกยึด และ ราคาตกต่ำต่อไป นอกจากนี้ การคาดหวังว่าสภาพคล่องนี้จะช่วยให้เกิดการบริโภค การลงทุน เพื่อช่วยเหลือต่อการจ้างงาน เงินส่วนเกินนั้นกลับไปจมอยู่กับระบบธนาคาร นี่คือ “กับดักสภาพคล่อง” นั่นเอง

วิธีปลดล็อก : เคนส์แนะนำให้ใช้ "ทฤษฎีเคนส์" หรือ นโยบายการคลังแบบขาดดุล อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าทิศทางได้ตรงข้ามกับแนวคิดของเคนส์ถึง 3 เรื่อง

1. เคนส์เชื่อว่าเงินจะไหลจาก "คนรวยสู่คนจน" ผ่านพันธบัตรรัฐบาล โดยคนรวยซื้อพันธบัตร และ รัฐบาลนำเงินไปช่วยคนจน สร้างงานและอุดหนุนความเป็นอยู่ แต่ปัจจุบันเงินกลับไปจาก "คนจนสู่คนรวย" โดยผู้มีรายได้น้อย (คนจน)ในระบบประกันสังคม และ กบข. จ่ายเงินสมทบทุกเดือน เป็นเงินบำนาญ ซึ่งกองทุนเหล่านี้นำเงินราว 70-80% ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยเงินจะไปสู่คนรวย พวกนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึง ข้าราชการขี้ฉ้อที่มุ่งคอรัปชั่น รวมไปถึง นายทุนรับเหมาก่อสร้างต่างๆ อีกด้วย

2. เคนส์เชื่อว่าเงินจะเปลี่ยนจาก "นิ่งไปสู่เคลื่อน" คือ เงินไหลจากการนอนนิ่งในระบบธนาคารไปสู่การใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้เกิดการหมุเวียนและเพิ่มการจ้างงาน แต่ในปัจจุบัน การใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมากเป็นการเปลี่ยนจาก "เคลื่อนไปสู่นิ่ง" เงินจะไปกองจมกับกองทุนบำนาญ ผ่านการให้ลดหย่อนภาษีวงเงินสูง และ เงินสมทบร่วมเข้า กบข.และ กอช.(ในอนาคต)

3. เคนส์ใช้แนวคิดผลักภาระไปให้ "คนกลุ่มใหญ่" ซึ่งเป็นคนทำงานในรุ่นต่อไป หรือเด็กและเยาวชนนั่นเอง ขณะที่โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่ง" คนรุ่นถัดไปกลายเป็น "คนกลุ่มเล็ก" ของสังคม ญี่ปุ่นมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี ทฤษฎีเคนส์จึงใช้ไม่ได้ผลกับโครงสร้างประชากรปัจจุบันของประเทศพัฒนาแล้ว

นโยบายการคลัง : อเมริกาได้เดินหน้า ขาดดุลงบประมาณอย่างหนักต่อเนื่องถึง 3 ปีในระดับ 10% GDP จนหนี้สินวิ่งสู่ระดับเกือบแตะ 100% GDP และ ประเทศในยูโรโซนก็เช่นกันหลายประเทศเกิน 100% ไปแล้วด้วย แต่เศรษฐกิจก็ยังคงอ่อนแอ การบริโภคภาคเอกชนไม่ฟื้นตัว และ การว่างงงานเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจติดภาวะ “กับดักเคนส์” ซึ่งเป็นสภาพที่เพิ่มหนี้ภาครัฐจำนวนมาก ขณะที่ไม่สามารถผลักดัน GDP ให้เติบโตได้มากพอ ทำให้สัดส่วน หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP วิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

ทั้ง 2 แผนหลักได้เดินหน้ามาถึงขีดจำกัด ทั้งอเมริกา ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้อง “รัดเข็มขัดการคลัง” เพราะหนี้สินภาครัฐสูงมากๆ ธนาคารกลางก็เริ่มหยุดมาตรการ QE และอาจต้องดึงสภาพคล่องออกบางส่วน เพราะ หนี้สินต่อทุน ของ FED สูงถึงระดับ 50 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงสูงมาก สรุปก็คือ แม้จะใช้พลังลมปราณอย่างเต็มที่ตาม 2 แผนหลัก ก็ไม่สามารถเอาชนะ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ได้ แต่ร่างกายอาจถูกธาตุไฟเข้าแทรก ลมปราณอาจแตกซ่าน ทั้งรัฐบาล และ ธนาคารกลาง อาจจำเป็นต้องลดการใช้พลังตามแผนหลักลงมา เพราะเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย แต่ก็ยังคงกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย และถามกันอยู่ว่า “พวกคุณมีแผนสำรองกันบ้างไหม” แต่ก็แทบไม่ได้รับคำตอบดีๆ

นับว่าเป็นโชคดีของโลกที่ได้การคิดค้นทฤษฎีใหม่คือ “เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก” (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ใช้เคล็ดวิชาของมวยไท้เก๊กมาช่วยเหลือ คือ 1.ยืมพลังสะท้อนพลัง และ 2.ในนิ่งมีเคลื่อน-ในเคลื่อนมีนิ่ง อันจะทำให้รัฐบาลสามารถจะ “รัดเข็มขัดการคลัง โดยที่เศรษฐกิจดีขึ้น” ด้วยการยืมพลัง “กองทุนบำนาญ” เปลี่ยนสภาพเงินกองทุนที่ “นิ่ง” ให้เป็น “เคลื่อน” สู่การบริโภคจับจ่ายใช้สอยได้ เมื่อเปลี่ยน “นิ่งเป็นเคลื่อน” ก็จะส่งผลทางบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณแม้แต่น้อยแถมยังได้เงินเพิ่มด้วย

ประเทศพัฒนาแล้วมีจำเป็นทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งที่จะต้องหาแผนสำรอง เพราะ รัฐบาลและธนาคารกลาง ล้วนอยู่ในภาวะที่เสี่ยงสูงขึ้นมากจนเข้าใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที หากท่านผู้นำของประเทศเหล่านั้นได้อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะตื่นเต้นดีใจมากก็เป็นได้ เพราะ หาแผนสำรองนี้มานานแล้ว สำหรับประเทศไทยแล้ว รัฐบาลและธปท. ถือได้ว่ายังมีกำลังอย่างเพียงพอในการบริหารจัดการตามแผนหลักด้วยนโยบายการเงินและการคลัง อย่างไรก็ดี จะหวังการฟื้นตัวอย่างเร็วด้วยการพึ่งพิงการส่งออกคงจะยากเสียแล้วในครั้งนี้ การศึกษาแผนสำรองนี้ไว้ก่อนน่าจะส่งผลดีในแง่ที่รัฐบาลสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่เป็นภาระหนี้การคลังเพิ่ม

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มหานครขอนแก่น : แผนพิชิตเลือกตั้ง

มหานครขอนแก่น : แผนพิชิตเลือกตั้ง

หากได้ดูนโยบายของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ จะมีโครงการขนาดใหญ่ คือ การสร้างเมืองใหม่ที่อ่าวไทยของพรรคสีแดง และ ที่ระยองของพรรคสีฟ้า แล้ว คงต้องถามกลับไปว่า สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์อะไรเล่ากับประชาชนส่วนใหญ่ของไทย ซึ่งอยู่ในภาคเหนือและอีสาน เราลองพิจารณาพัฒนาจากหัวเมืองใหญ่ และต่อยอดจากแผนเดิมๆ ออกไปจะเป็นประโยชน์กว่าหรือไม่

1. สร้าง "ขอนแก่น" เป็นศูนย์การคมนาคมทางบกและอากาศ รวมไปถึงการค้า การลงทุน และ การท่องเที่ยวภูมิภาค เป็นเมืองหลวงอินโดจีน
โดยสร้างรถไฟความเร็วสูงจาก ย่างกุ้ง (พม่า) ไป ดานัง (เวียดนาม) ระยะทางราว 1200 กม. เงินลงทุนราว 3.6 แสนล้าน ตัดกับเส้นทางสายอีสานตามแผนประเทศจีนที่ จ.ขอนแก่นพอดี โดยไทยอาจร่วมลงทุนลงครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็น่าจะเป็นประเทศจีน พม่า ลาว เวียดนาม โดยอาจใช้การร่วมทุนกับเอกชนในลักษณะ PPP ด้วยก็ได้ และ หากมีการใช้หนี้สินต่อทุนราว 2 เท่า โครงการนี้รัฐบาลไทยก็อาจใช้ส่วนทุนเพียง 3 หมื่นล้าน น้อยกว่าการสร้างรถไฟฟ้าในกทม.1 สายเสียอีก และหากกระจายงบประมาณเป็น 3 ปีก็ใช้เงินเพียงปีละ 1 หมื่นล้านเท่านั้นเอง ด้วยการลงทุนน้อยแต่สร้างผลตอบแทนมหาศาลคิดต่อหัวน่าจะมากกว่าระดับ 1 แสนบาทขึ้นไป คนในมหานครขอนแก่นก็จะ สามารถไปได้ทั้ง จีน เวียดนาม พม่า ลาว และ กทม.ได้สบายๆ อย่างรวดเร็วและไม่แพง เพิ่มกิจกรรมการค้า การลงทุน การจ้างงานมหาศาล ขณะที่เวียดนามยังไม่ตัดสินใจที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูง คนจีนและเวียดนาม ก็อาจจะพึ่งเส้นทาง คุนหมิง-ขอนแก่น-ดานัง ไปพลางๆ ก่อน

สิ่งที่ควรมีใน "มหานครขอนแก่น" ก็คือ การรวมจังหวัดรอบข้างอีก 9 จังหวัดเป็น มหานคร มีประชากรสูงกว่า 10 ล้านคน มีการสร้างสนามบินนานาชาติ เพื่อรองรับการเดินทางท่องเที่ยว และ ธุรกิจของคนจากเอเชียตะวันออก จะประหยัดระยะทางมาประเทศไทยที่กทม.ถึง 800 กม.(ไป-กลับ) คิดเป็นเงินราว 2 พันบาท และ เวลาไปอีก 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ควรสร้าง "หมู่บ้านนานาชาติ" เพื่อรองรับคนเกษียณอายุจากนานาประเทศ เพราะ เขตแดนบริเวณนี้มีภัยธรรมชาติน้อยมากๆ โดย ภูเขาไฟระเบิด สีนามิ ไม่มีโอกาสเกิดเลย ส่วน แผ่นดินไหว และ พายุไต้ฝุ่น ก็นับได้ว่ามีโอกาสน้อยมากๆ ค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำกว่า มหานครนิวยอร์ก หรือ โตเกียว ราว 5 เท่าตัว หากเราเสริมการคมนาคม การสื่อสาร (Wimax ฟรีทั่วเมือง) การแพทย์ (รพ.เอกชนชั้นนำ) โรงเรียน (รร.นานาชาติ และ ม.เอกชน) โรงแรม 5 ดาว และ ห้างค้าปลีกที่ทันสมัยเข้าไปก็เชื่อได้ว่าจะสร้างการเติบโตสูงให้ภาคอีสานซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยากจนมี GDP ต่อหัวต่ำกว่า กทม.ถึง 7.2 เท่า (ตัวเลขปี 2552) นี่เป็นการยกระดับภาคอีสานจาก ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นคลื่นลูกที่ 1 ตามแนวคิด "อีสานเขียว" สู่ ภาคอุตสาหกรรม บริการ และ ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นคลื่นลูกที่ 2-3-4 อย่างรวดเร็วเป็นแนวคิด "อีสานเจิดจรัส"

2. นอกจากนี้เรายังได้ของแถมคือ "พิษณุโลก" ซึ่งจะกลายเป็น "สี่แยกอินโดจีน" อีกด้วย โดยเมืองนี้จะตัดกับเส้นทางสายเหนือตามแผนเดิม พิษณุโลก จะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางบก ทั้งระบบถนน และ ระบบราง สามารถเชื่อมต่อแนวเหนือใต้ (เชียงใหม่-กทม.) และ แนวตะวันออก-ตก (ดานัง-ย่างกุ้ง) ได้อย่างเหมาะสมทางภูมิศาสตร์

สโลแกนเรื่องนี้คือ "เหนือกลางเบ่งบาน อีสานเจิดจรัส" จะเปลี่ยนแนวคิดจาก "อีสานเขียว" ซึ่งเน้นหนักเกษตรกรรม สู่ "อีสานเจิดจรัส" ประเทศไทยแทนที่จะโตเดี่ยว ด้วยเมือง กทม.เพียงจังหวัดเดียว จะเป็นประเทศที่โตคู่ โดยมี "มหานครขอนแก่น" มาเป็นตัวช่วย เหมือนประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่นมี โตเกียว-โอซาก้า เกาหลีใต้มี โซล-ปูซาน เวียดนามมี ฮานอย-โฮจิมินห์ ไต้หวันมี ไทเป-เกาสง และ จีนมี ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้-กวางเจา เป็นต้น

ในเรื่องนี้อาจเป็น "คำตอบ" ให้กับโจทย์ปัญหาของประเทศไทยได้ในเกือบทุกด้าน
- ปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้จะส่งเสริมการค้า การลงทุนอย่างมากมายกว่า ล้านล้านบาท ผลประโยชน์ต่อหัวสูงระดับหลักแสน
- ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันอีสานมี GDP ต่อหัวต่ำกว่า กทม.ราว 7.2 เท่า นโยบายนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรง เพราะ ส่งเสริมการลงทุน และ จ้างงานมากมาย
- ปัญหาความแออัดในเมืองกรุง การจราจรที่ติดขัด ปัญหาสลัม ปัญหาอาชกรรม ใน กทม. ก็จะเบาบางลง ต่อไปลูกหลานคนอีสานก็คงไปทำงานใน "มหานครขอนแก่น" แทนที่จะแออัดกันแต่เพียงใน กทม. ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขาอาจเป็นถึงระดับเจ้าของกิจการ หรือ ผู้จัดการ โดยใช้แรงงานจากอินโดจีน อย่าง ลาว พม่า และเวียดนาม มาช่วยกันทำงาน
- ปัญหาต้นทุนโลจิสติกส์ เรื่องนี้จะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก ระบบรางจะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างตรงประเด็น อาจมีส่วนช่วยให้ราคาสินค้าลดลงได้
- ปัญหาโลกร้อน การลดระยะการเดินทางของประชาชนจากเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) อีก 800 กิโลเมตรเพื่อมาไทย จะทำให้ประหยัดน้ำมันไปได้ถึง 2 พันบาท ประหยัดเวลาไป 1 ชั่วโมง
- ปัญหาการเมืองในประเทศ นี่คือการสร้างความปรองดองในชาติที่ตรงประเด็นที่สุด ลดเหลื่อมล้ำ ได้ทำงานใกล้บ้านเกิด ผู้คนมีกินมีใช้
- ปัญหาการเมืองต่างประเทศ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน และ ไทยแสดงความเป็นผู้นำอินโดจีนอีกครั้ง ทางภูมิศาสตร์และวิสัยทัศน์ สโลแกนคือ "เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามท่องเที่ยว"

สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้...หากพรรคสีฟ้านำนโยบายนี้ไปประกาศใช้ ก็อาจได้เสียงคนเหนือ-กลาง-อีสานเพิ่มอีกราว 10% จากพรรคสีแดงนั่นก็เพียงพอที่จะชนะการเลือกตั้งแล้ว ขณะเดียวกันหากพรรคสีแดง นำไปประกาศใช้บ้างละ ก็จะครองเสียงภาคเหนือ-อีสานแบบเบ็ดเสร็จ ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งไม่ยากเย็นแต่อย่างใด ดังนั้น นโยบายนี้อาจมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อโฉมหน้าการเมือง และ เศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคตก็เป็นได้ เพราะเกี่ยวข้องกับเสียงของประชาชนถึงกว่า 25 ล้านเสียง

แถมให้อีกเรื่องเพื่อให้ชนะกันขาดๆ ไปเลย จะได้ไม่มีปัญหาหลังการเลือกตั้ง คือ บัตรบำนาญ999 (Pension Card999) คือ ให้คนทำงานในระบบสามารถยืมเงินออมบำนาญตนเองได้ เป็นการยืมเงินตนเอง โดยไม่สนเครดิตบูโร กู้ได้ไม่เกิน 90% ของเงินออม ดอกเบี้ย 9% ต่อปี ผ่อนขั้นต่ำ 0.9% ต่อเดือน โดยสามารถกำหนดอัตราการจ่ายขั้นต่ำได้ ตรวจสอบวงเงินกู้ตนเองได้ แบงก์รัฐที่ปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยแค่ 6% อีก 3% แบ่งระหว่าง สำนักงานประกันสังคม หรือกบข. กับ รัฐบาล วิธีนี้รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่ม ประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ช่วยประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน โดยแนวคิดนี้จะมีขนาดใหญ่กว่านโยบายรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตของรัฐบาลตอนนี้ถึง 50 เท่าตัว

หากมองในแง่การ "ยืมพลัง" นี่คือ การ "ยืมพลัง" พลวัตรของประเทศเพื่อบ้าน ทั้งจีน เวียดนาม ลาว พม่า เพื่อมาเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยตัวเชื่อมคือ รถไฟความเร็วสูง "ยืมพลัง" ความมั่งคั่งของเอเชียตะวันออก ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน โดยใช้สนามบินนานาชาติที่ขอนแก่นเป็นตัวเชื่อม "ยืมพลัง" คนเกษียณอายุจากทั่วโลก โดยใช้หมู่บ้านนานาชาติ เป็นตัวเชื่อม และ สุดท้าย นี่คือ การที่ผมหวัง "ยืมพลัง" การต่อสู้หาเสียงเลือกตั้งอย่างดุเดือดของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ เพื่อนำเอา "คำตอบ"ที่สวยหรูนี้ ไปตอบโจทย์ประเทศไทย

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

4 ทฤษฎี 4 ฝ่าย 4 งมงาย

มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในหลายด้านที่เป็นเรื่องงมงาย โดยเชื่อถือกันมาแต่อดีต แม้ว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม ซึ่งทำให้โลกไม่สามารถแก้ไขปัญหายากๆ เพราะติดกรอบแนวคิดเดิมๆ เรามาดูกันทีละข้อ

1.ทฤษฎีการคลัง : รัฐบาลทั่วโลก เชื่อกันอย่างงมงายตาม "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์" ว่า การดำเนินนโยบายขาดดุการคลังมากๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การรัดเข็มขัดการคลังจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นการมองธนบัตรเห็นแค่ 2 ด้านในความเป็นจริงแล้ว มันไม่แน่เสมอไป เพราะธนบัตรมีถึง 4 ด้านต่างหาก โดยเฉพาะ โครงการที่เกี่ยวข้องกับ การสมทบเงิน และ การหักลดหย่อนภาษี สำหรับ "กองทุนบำนาญ" ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่าตัวทวี (multiplier) ถึงขั้น "ติดลบ" คือ ยิ่งรัฐบาลใช้เงินเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ลงเพราะเงินจะไปจมกองไว้เฉยๆ และ หากรัดเข็มขัดในโครงการเหล่านี้เศรษฐกิจจะกลับเป็นยิ่งดีขึ้น เพราะ เงินจะถูกออมน้อยลงและไปเพิ่มส่วนของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแทน ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกควรมาใส่ใจกับแนวคิดใหม่ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น" เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

2.ทฤษฎีการเงิน : ธนาคารกลางทั่วโลก ล้วนเชื่ออย่างงมงายว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสกัดเงินเฟ้อ และ การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อ ในความเป็นจริงแล้ว สภาพเศรษฐกิจต่างๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก มีกำลังการผลิตส่วนเกินที่ล้นเหลือ การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ต้นทุนอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น รวมไปถึงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้มีแรงสะท้อนกลับในทางตรงข้าม แทนที่การขึ้นดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยลดอุปสงค์และลดอัตราเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่ม เช่น สินเชื่อในระบบ 10 ล้านล้านบาท หากขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% นั่นคือ ผลักภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้ระบบเศรษฐกิจรวมไปถึง 1 แสนล้าน จึงสะท้อนกลับทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแทน

การจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ควรมองไปที่ต้นทุนการผลิตมากกว่า การที่รัฐบาลไทยเดินหน้าให้เงินอุดหนุน หรือ ลดภาษีให้กับวัตถุดิบอย่าง น้ำมัน LPG NGV น้ำมันพืช แก๊สหุงต้ม และ ปุ๋ย ก็เป็นการมองเพียงมุมเดียว ความจริงแล้ว ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์อย่าง ทุน ที่ดิน และ แรงงงาน ก็ควรให้ความสนับสนุนเช่นกัน โดยให้เช่าพื้นที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจในราคาต่ำ ให้เช่าบ้านเอื้ออาทรเดือนละ 1 พัน เป็นต้น ส่วนด้านแรงงานก็ให้เงินสนับสนุนค่าครองชีพให้ผู้ใช้แรงงานรายได้น้อย ก็จะลดต้นทุนผู้ประกอบการไปได้ และ ผู้ใช้แรงงงานก็มีเงินใช้เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในเรื่องของทุนหรือดอกเบี้ยนั้น แทนที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป ให้ลดดอกเบี้ยลงมาแทนก็จะช่วยในการสกัดเงินเฟ้อได้ผลดีกว่า

หลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงจะมี อัตราเงินเฟ้อสูงตามไปด้วย เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ประเทศเหล่านี้แม้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ก็ไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อได้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่น ซึ่งได้กดดอกเบี้ยมายาวนานหลายปีติดพื้น ก็ประสบกับปัญหาเงินฝืดเรื้อรังเช่นเดียวกัน .... ทางแก้ไขในเรื่องนี้ ก็คือ ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่องมงายเดิมๆ

3.ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน : IMF และ ECB ซึ่งเป็นองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เชื่องมงายว่า ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ คงที่ ทรงตัว จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติเตกีลาในเม็กซิโก ต้มยำกุ้งในไทย และ วิกฤติในอาร์เจนติน่า ล้วนแล้วแต่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูก "ยึด" กับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ ความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งออกสูญเสียไป จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด และ เมื่อดูไปแล้ว ประเทศเวียดนาม ก็ดูเหมือนจะเสี่ยงที่สุดในเอเชียตอนนี้ ที่กำลังเดินสู่เส้นทางแห่งหายนะภายใน 1-2 ปีนี้ โดยสัญญาณอันตรายได้เกิดขึ้น คือ Triple 3 Crisis Signal ซึ่งหมายถึง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% GDP เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศอ้างอิงกว่า 3%

นอกจากนี้ "เงินยูโร" ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบอัตราแลกเปลี่ยนในประวัติศาสตร์โลกก็ว่าได้ ที่พยายามผูกค่าเงินสกุลเดียวไว้กับ ระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ประเทศริมขอบยุโรโซน ไม่สามารถแข่งขันได้ ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงกว่า เยอรมัน จึงทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่อง ดังกรณีของ กรีซ โปรตุเกส และ ไอร์แลนด์ ประเทศเหล่านี้มิได้มีต้นตอจากปัญหาหนี้สินการคลังแต่อย่างใด ความจริงแล้วมันคือ ปัญหาของหนี้สินต่างประเทศต่อ GDP ต่างหาก อย่างกรณีของ ไอร์แลนด์นั้นสูงถึง 1,100% GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก และโปรตุเกสก็สูงถึง 240%

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำก็คือ "รักษาสมดุล" ของดุลบัญชีเดินสะพัดต่างหาก ไม่ใช่ การดูแลในเรื่องของการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะ IMF และ ECB ควรเข้าตรวจสอบประเทศสมาชิก ว่ามีการเสียสมดุลในจุดนี้เกิน 3% GDP เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจหมายถึง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจเสียแล้ว และ ควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน หากมีสัญญาณเตือนภัยเช่นนี้แล้ว ผมเชื่อว่า ระบบเงิน Euro ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น 3 สกุล เช่น Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ภายใน 5 ปีตั้งแต่เริ่มนำมาใช้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหา ณ ปีที่ 12 อย่างในปัจจุบัน โดยที่ IMF และ ECB ก็ยังหลับหูหลับตางมงายว่า "ระบบยูโร" นั้นดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว

4.ทฤษฎีเงินบำนาญ : ผู้บริหารกองทุนประกันสังคม ล้วนเชื่อว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราเงินสมทบ หรือ ยกระดับอายุการเริ่มต้นรับเงินบำนาญ หรือ ลดเงินวงเงินจ่ายบำนาญลง จะทำให้เงินกองทุนหมดลงภายใน 30 ปีนับจากนี้...ความจริงแล้วนี่คือ ความเชื่องมงายอีกเช่นกัน

เพราะว่า สำนักงานประกันสังคม ควรนำแนวคิดแบบ รัฐบาล และ บริษัทเอกชนต่างๆ มาใช้ คือ สามารถก่อหนี้สินได้ จะทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถกู้ยืมเงิน โดยใช้สินทรัพย์ของกองทุนซึ่งอาจสูงถึง 1.5 -2 ล้านล้านบาทในอนาคตอันใกล้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยการออก "พันธบัตรประกันสังคม" จะทำให้สามารถจ่ายเบี้ยบำนาญชราภาพได้โดยสินทรัพย์ไม่ลดลง และ ประคองสถานการณ์ให้ผ่านช่วง "วิกฤติแห่งโครงสร้างประชากร" ไปได้ในที่สุด

จะว่าไปแล้วนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 80 ปีของวงการเศรษฐศาสตร์ก็ว่าได้ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งใช้แนวคิดของ การรักษาสมดุลหยินหยาง และ การยืมพลังสะท้อนพลัง จะช่วยให้ประเทศไทย และโลกค้นพบคำตอบทางเศรษฐกิจที่ยากเย็นได้ ขณะที่ด้วยกรอบแนวคิดเดิมๆ นั้นทั้ง 4 ฝ่าย พยายามเล่านิทานให้กับประชากรทั้งโลกฟังอยู่แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเรื่องงมงายทั้งสิ้น อาจต้องมีการปรับปรุงเขียนตำรากันใหม่เลยทีเดียว เพราะหากปล่อยให้ความงมงายนี้ดำเนินต่อไป ก็มีโอกาสสูงมากที่โลกจะเดินสู่ทางตันของ "อุโมงค์เศรษฐกิจ" อันมืดมิด อย่างไรก็ดีผมหวังว่าแนวคิดใหม่นี้อาจเป็น "แสงสว่างเล็กๆ" ที่ช่วยชี้ทางออกให้กับเศรษฐกิจโลกได้

วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

เลือกตั้งอย่างไร...ไม่ใช้เงิน

การใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อการเลือกตั้ง ซึ่งมีการประเมินว่าอาจต้องใช้เงินถึง 5 หมื่นล้าน แทนที่จะเป็นระบอบ "ประชาธิปไตย" เรากลับได้มาแต่ระบอบ "ธนาธิปไตย" ซึ่งได้สร้างปัญหาอย่างมากต่อประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง หากมีสิ่งใหม่คือ "การเลือกตั้งไม่ต้องใช้เงิน" อาจช่วยแก้ไขปัญหาใหญ่ 4 เรื่องให้เบาบางลงไปได้อย่างมาก
1. การซื้อเสียง : เมื่อไม่ต้องใช้เงินทุน ใช้พลังของสวรรค์มาช่วย จึงคาดได้ว่าไม่มีการซื้อเสียง หรือน้อยมากๆ
2. ทุนอุปถัมภ์ : เมื่อไม่มีต้องใช้เงินทุน ก็ไม่ต้องมีนายทุนพรรค ไม่ต้องมีการอุปถัมภ์แบบ "นายใหญ่" กับ "ลิ่วล้อ"
3. ถอนทุน : เหล่าลิ่วล้อ สส. จำเป็นต้องทดแทนคุณ นายทุนพรรค นำเงินบางส่วนจากโครงการต่างๆ มาเข้าพรรค นี่คือ การถอนทุนทางการเมือง ซึ่งก็คือ "คอรัปชั่น"นั่นเอง เมื่อไม่มีการลงทุนทางการเมือง ก็น่าเชื่อได้ว่า การถอนทุนก็น่าจะลดลงไปได้มาก สส.เปลี่ยนจาก "นายทุนคนเลว" เปลี่ยนมาเป็น "ชาวบ้านคนดี" ก็น่าเชื่อได้ว่า คอรัปชั่นน่าจะเบาบางลงไปเหลือเพียง 1 ใน 10 จากระดับที่สูงมากระดับ 2 แสนล้านบาทต่อปี ณ ปัจจุบัน
4. รัฐประหาร : เมื่อมีการซื้อเสียง และ คอรัปชั่นกันหนักหนาสาหัส จึงเป็นข้ออ้างให้ทหาร สามารถอ้างความชอบธรรมในการทำ "ปฏิวัติรัฐประหาร" ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำกันมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีที่ผ่านมา

จะเห็นได้ว่า "การใช้เงินทุนมากเพื่อเลือกตั้ง" คือ ต้นตอแห่งความชั่วร้ายทั้งปวงในระบอบการเมืองไทย ดังนั้น หากเราสามารถทำให้การเลือกตั้งไม่ต้องใช้เงินได้...มันจะดีกว่าไหม

สิ่งที่ผมคิดค้นคิดนี้เรียกว่า "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Politics) ซึ่งเป็นการยืมพลังจากสวรรค์ เพิ่มพลังการเมืองให้ชาวบ้านให้คานอำนาจกับนายทุน สร้าง "สมดุลแห่งพลังทางการเมือง" โดยหลักการนี้ยังอาจไปประยุกต์ใช้กับการเลื่อนตำแหน่งข้าราชการ การคัดเลือกเด็กเล็กเข้าเรียน หลีกเลี่ยงปัญหาของการใช้ "เงิน" และ "เส้น" ในประเทศไทยนี้ได้อีกด้วย หลักการมี 2 ขั้นตอนสำคัญ ก็คือ "คัดกรองแล้วจับสลาก"

ไม่ใช้เงินแต่ยังคงความเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้ นั่นก็คือ การให้ประชาชนระดับหมู่บ้านเลือกตั้งตัวแทนแต่ละหมู่บ้านมา 1 คน โดยมีคุณสมบัติต้องจบระดับ ม.ปลายขึ้นไป (แทนที่จะเป็นระดับปริญญาตรี) เราก็จะได้ตัวแทนหมู่บ้านมา 8 หมื่นคนทั่วประเทศ แล้วใช้วิธีจับสลากเอาได้ สส.เขต 375 คน จากตัวแทนหมู่บ้านเหล่านี้ วิธีนี้จะแทบไม่มีการซื้อเสียง แทบไม่ต้องใช้เงินทุน แต่ยังมีความเป็น "ประชาธิปไตย" มากๆ เพราะ เราจะได้ตัวแทนของชาวนา เป็น หัวหน้าชาวนา ไม่ใช่ นายทุนเจ้าที่ดิน เราจะได้ตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน เป็น หัวหน้าคนงาน ไม่ใช่ นายทุนเจ้าของกิจการ

ระบบนี้มันดีมากใช่ไหม?? ใช่แล้วละครับ แต่เราจะพบกับอีกปัญหาที่สำคัญก็คือ สส.ปัจจุบันซึ่งเป็นกลุ่ม "น้ำเน่า" นั้น มีความรับผิดชอบน้อยกว่า "เด็กนักเรียน" เสียอีก เพราะ เด็กนักเรียนได้เงินค่าขนมแต่ละวันแค่เศษเงิน ยังรับผิดชอบด้วยการเข้าห้องเรียนกันทุกวัน แต่ สส.พวกนี้โดดเป็นประจำทำสภาล่มบ่อยๆ นอกจากนี้ ในโรงเรียนยังมีการลงโทษ นักเรียนที่ไม่ทำหน้าที่การเข้าเรียน ด้วยการให้ยืนหน้าห้อง ถูกตี เรียกผู้ปกครองมาพบ พักการเรียน และสุดท้ายคือ ไล่ออก แล้วพวก สส.เหล่านี้มีบทลงโทษอะไรกันบ้างละ ?? ยังหาวิธีขึ้นเงินเดือนตัวเองอีกต่างหาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหวังให้ สส.เหล่านี้มาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นมาเป็น สส.กันได้ และ ทำให้พวกเขาซึ่งเป็นนายทุนเลวๆ หรือลิ่วล้อ หมดสิทธิการเป็น สส.ได้อีกนะหรือ .... เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยากเย็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี นี่เป็นโอกาสอันสวยงามที่ศึกเลือกตั้งที่สูสีกันอย่างมากระหว่าง 2 พรรคใหญ่ หากพรรคใดพรรคหนึ่ง เลือกที่จะใช้ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เพื่อเพิ่มพลังเศรษฐกิจให้ชาวบ้านด้วยการยืมพลังจาก "กองทุนบำนาญ" อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนถึง 1 ล้านล้านบาท ผ่าน "สินเชื่อ999" และ "กองทุน555" รวมไปถึง การเดินหน้าปลดหนี้ให้ชาวบ้านราวปีละเกือบ 1 ล้านคน ผ่าน "หวยชมชอบ" และทั้งหมดนี้คือการสร้าง "สมดุลแห่งพลังเศรษฐกิจ" ขึ้นมา รวมไปถึง การสัญญาว่าจะแก้ไข รธน.เพื่อเลือก สส.จากตัวแทนหมู่บ้าน มาเป็น สส.ระบบเขต ด้วยการนำเอา "รัฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Politics) มาเพื่อเพิ่มพลังการเมืองให้ชาวบ้านด้วยการยืมพลังจากสวรรค์เพื่อสร้าง "สมดุลแห่งพลังการเมือง" พรรคนั้นจะกลายเป็น "พรรคที่ถูกเลือก" และ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นจากชาวบ้านจนน่าจะสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างสบายๆ

อาจกล่าวได้ว่า ต้องใช้เงินทุนถึงกว่า "หมื่นล้าน" เพื่อจะได้เสียง สส.มากพอจะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และการที่ผมนำเอาไอเดีย มูลค่านับหมื่นล้าน มาให้กับพรรคการเมืองแบบฟรีๆ ดูเหมือนจะช่าง "ใจดีอย่างไร้สติ" แต่เดี๋ยวก่อน หากเราหยุดคิดสักนิด และมองข้ามช็อตไปในอนาคตข้างหน้า พรรคการเมืองนั้นจะเป็นพรรคที่ถูกเลือกเพื่อสร้าง "สมดุลแห่งพลัง" ขึ้นมาต่างหาก และ นั่นจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากนั้นอีกเป็น "ร้อยเท่าพันทวี" และผลลัพธ์สุดท้ายนั้นเองคือสิ่งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศฝันไว้มิใช่หรอกหรือ ??

เรื่องนี้อาจดูคล้ายกับ ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars อันโด่งดัง "การสร้างสมดุลแห่งพลัง" หากเกิดขึ้นได้นั่นหมายถึง ตอนจบของเรื่องแล้วเป็นภาคสุดท้าย "Return of the Jedi" พรรคใดใช้ระบอบเจได พรรคใดใช้ระบอบซิธ และ ใครเล่นเป็นตัวละครไหน คงต้องไปคิดต่อกันเอาเอง รอดูนโยบายของพรรคและผลการเลือกตั้ง อีกไม่นานหรอกครับ

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

ของขวัญชิ้นใหญ่....มอบให้ญี่ปุ่น

ของขวัญชิ้นใหญ่....มอบให้ญี่ปุ่น

หลังจากเกิดภัยแผ่นดินไหว ตามมาด้วยความเสียหายจากสึนามิ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจไว้ราว 25 ล้านล้านเยน หรือราว 9.5 ล้านล้านบาท นี่ยังไม่นับความเสียหายจากชีวิต และ การสูญหายของผู้คนที่อาจมากกว่า 2.7 หมื่นคน รวมไปถึงภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย มีน้ำใจที่ไหลเข้าไปช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก และ สำหรับบทความนี้ผมอยากจะบอกว่า ได้เตรียม DISC ไว้ 1 แผ่นแต่อาจมีมูลค่ามหาศาลเพื่อให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีบุญคุณอันใหญ่หลวงในการถ่ายทอดวิชาการเศรษฐศาสตร์แก่ผมเอง

DISC ที่ว่านี้ก็คือ ปัจจัย "DISC" ที่ทำให้นโยบายการคลังแบบเดิมๆ นั้นไม่สามารถส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้

1.D : Demographic Change (การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร) เมื่อเทีบบกับ 80 ปีก่อนในสมัยของ เคนส์ นั้น โครงสร้างประชากรเป็นแบบ "พีระมิด" นั่นหมายถึง การที่รัฐบาลผลักภาระให้กับคนรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน จะเติบโตขึ้นมาสู่วัยทำงาน ทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น จึงเหมาะสมแล้ว แต่ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี และ คนชราก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แนวคิดแบบเดิมๆ จึงใช้ไม่ได้ รัฐบาลควร "ยืมพลัง"จากประชาชนกลุ่มที่มีจำนวนมากมาช่วยเหลือภาระหนี้ต่างหาก

2.I : Interest Burden (ภาระดอกเบี้ย) ซึ่งพอกพูนขึ้นตามหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ เงินนี้ก็ส่งไปจมกับ "เจ้าหนี้" ซึ่งหลักๆ แล้วคือ "กองทุนบำนาญ" ไม่ได้ถูกหมุนออกมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น ขณะที่รัฐบาลก็เหลือเงินจากการขาดดุลการคลังที่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลงไปอีก

3.S : Social Security Fund (กองทุนประกันสังคม) ขณะที่ในอดีตนั้น "เคนส์" ได้ให้รัฐบาลเป็นตัวกลาง ในการนำเงินของ คนรวยมาสู่กระเป๋าคนจน ผ่าน "พันธบัตรรัฐบาล" แต่ปัจจุบัน แนวคิดกลับสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น คือ กองทุนประกันสังคม จะดูดเงินของคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในผู้ประกันตน ไปให้รัฐบาลกู้ยืม เพื่อส่งต่อเงินนั้นให้คนรวย เช่น นายทุนรับเหมาก่อสร้าง และ นักการเมือง ข้าราชการ ขี้ฉ้อ ดังนั้น การขาดดุลการคลังจึงทำให้รอบการหมุนของเงินแย่ลง แทนที่จะดีขึ้น

4.C : Corruption (คอรัปชั่น) โดยนักการเมือง และ ข้าราชการนั่นเอง มีการประเมินว่า ประเทศไทยเองต้องสูญเงินราว 2 แสนล้านบาทในแต่ละปีไปกับเรื่องเช่นนี้ แน่นอนว่ามันย่อมทำให้ประสิทธิผลของการขาดดุลการคลังแย่ลงมาก โดยมีการเรียกขานกันว่า "กู้มาโกง"

ประเทศญี่ปุ่นได้เดินเข้าสู่อุโมงค์แห่งความมืดมาได้ 20 ปีแล้ว โดยแนวคิดของเคนส์ "เศรษฐศาสตร์แบบอนาลอก" ด้วยการใช้เทปแคสเซ็ท หรือ แผ่นเสียง ซึ่งเป็นแบบเก่าๆ แล้ว โดยนักวิชาการ และ บุคคลระดับรัฐมนตรีคลังทั้งของไทยและญี่ปุ่นก็คิดไม่ต่างกันนักที่ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องกู้มาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นยิ่งทำให้ เส้นทางยิ่งมืดมิดลงไปอีก....หากรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องกู้เงินมาเพิ่มเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะที่สูงที่สุดในโลกกว่า 200% GDP เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่เศรษฐกิจแบบผู้สูงอายุก็ยิ่งกดดันไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ง่ายนัก

DISC แผ่นนี้ที่มีเนื้อหาของ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) เป็นแนวคิดของ "เศรษฐศาสตร์แบบดิจิตอล" ซึ่งจะทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ พร้อมๆ ไปกับ การรัดเข็มขัดการคลัง โดยผมได้เคยเขียน "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น"ไว้ก่อนแล้ว ด้วยการใช้เคล็ด 3 ประการของไท้เก๊ก คือ "รักษาสมดุล" "ยืมพลัง สะท้อนพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน ในเคลื่อนมีนิ่ง" ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถยืมพลัง จากกองทุนบำนาญ และ เปลี่ยนสิ่งที่อยู่นิ่งๆ ในกองทุน มาเป็นเคลื่อนไหว เพื่อช่วยหมุนเศรษฐกิจให้เติบโตได้

หากประเมินคร่าวๆ มองด้าน flow น่าจะทำให้ GDP ของญี่ปุ่นสูงขึ้น 2% เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าราว 50 ล้านล้านเยน และ หากมองด้าน stock น่าจะทำให้การขาดดุลการคลังของญี่ปุ่นลดลงได้ราวครึ่งหนึ่ง 4% GDP ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าราว 100 ล้านล้านเยน ซึ่งยอดตัวเลขนี้สูงกว่าความเสียหายจากแผ่นดินไหว และ สีนามิครั้งนี้ถึง 4 เท่าตัว และ ยังน่าจะมากกว่าการช่วยเหลือของทุกประเทศในโลกรวมกันที่มอบให้แก่ญี่ปุ่นเสียอีก ไม่เพียงเท่านั้น เส้นทางที่มืดมิดสนิทในอุโมงค์เศรษฐกิจของญี่ปุ่น อาจได้เห็นแสงสว่างเล็กๆ ปลายอุโมงค์ เพราะ DISC แผ่นนี้ก็ได้ และบางที "ความหวัง" เล็กๆ นี้เอง อาจเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องการอย่างที่สุดในห้วงเวลาแห่งความคับขันเช่นนี้.....

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

8 เหลี่ยมแห่งความจน

ในวันนี้ผมจะมาเสนอเรื่อง "8 เหลี่ยมแห่งความจน" (Octagon of Poverty) ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาข้อจำกัดของคนจน ซึ่งแม้จะมีความขยันหมั่นเพียร และ ประหยัดอดออม ก็ไม่แน่ว่าจะนำพาชีวิตพ้นจากความยากจนมาได้ เพราะ ข้อจำกัดจาก 8 เหลี่ยมนี้ ซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับ 8 เหลี่ยมของคนรวยที่แทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ มาดูกันทีละข้อ

1.การศึกษาต่ำ
2.รายได้ต่ำ
3.การเข้าถึงข้อมูลต่ำ
4.เครือข่ายสังคมคุณภาพต่ำ
5.การเข้าถึงแหล่งทุนต่ำ
6.การได้รับบริการ และ ความยุติธรรมจากภาครัฐต่ำ
7.ภาระดูแลบริวารสูง
8.ต้นทุนการเงินสูง

ในเมื่อคนจนมีข้อจำกัดจำนวนมาก การเสนอทางแก้ไขปัญหาบางเรื่องจึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบแห่ง 8 เหลี่ยมนี้ เช่น ให้ออมเงินเดือนละ 100 บาทสิ หรือว่า เอาเงินไปลงทุน LTF ทองคำ หรือ หุ้นสิ หรือว่า ส่งลูกไปเรียนอังกฤษสิกลับมาจะได้เป็นรัฐมนตรี นายกฯ เป็นต้น ข้อแนะนำเหล่านี้ล้วนอยู่นอกกรอบ "8 เหลี่ยมแห่งความจน" ทั้งสิ้น

ดังนั้น ทางออกในการต่อสู้กับความยากจน ก็คือ การขยายกรอบของ 8 เหลี่ยมนี้ออกไป ด้วยการส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลผ่านทางบรอดแบนด์ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างสมเหตุสมผล ช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายของคนแก่และเด็กซึ่งเป็นบริวาร เป็นต้น แทนการเสนอความช่วยเหลือที่อยู่นอกกรอบ เช่น กอช. ประกันสังคมวิวัฒน์ ฯลฯ

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ธนบัตร 4 ด้าน

สำหรับคนทั่วไป โดยปกติแล้วธนบัตรจะมีอยู่เพียง 2 ด้านเท่านั้น คือ ด้านหน้า และ ด้านหลัง แต่ความจริงแล้วยังมีอีก 2 ด้านที่ไม่ได้สังเกตให้ดีๆ ก็จะไม่พบ นี่เป็นแนวคิดที่ประยุกต์ต่อเนื่องมาจาก "เหรียญ 3 ด้าน" เราจะมาพิจารณาดูกันต่อไป

หากนำสิ่งนี้มาประยุกต์ใช้กับ "นโยบายการคลัง" ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็จะเห็นกันอยู่ 2 ด้านเท่านั้น คือ
ด้านที่ 1 ด้านหน้า :"ทฤษฎีเคนส์" ด้วยการดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังหนักๆ เพื่อกระตุ้น GDP ให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันพบว่า หนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก เริ่มเข้าสู่เขตอันตรายแล้ว แต่อเมริกาก็ยังคงเลือกเดินเส้นทางนี้

ด้านที่ 2 ด้านหลัง :รัดเข็มขัดการคลัง ซึ่งก็เป็นทิศทางตรงข้ามกับ "ทฤษฎีเคนส์" คือ การลดขาดดุลการคลังลงมา โดยยอมให้ GDP ชะลอตัวลงไปบ้าง แต่มีข้อดีในการดูแลภาระหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินขอบเขต จนอาจเป็นปัญหาได้เหมือนกรณีประเทศ กรีซ และ ไอร์แลนด์ ดังนั้น ประเทศในยุโรปจึงเลือกเดินเส้นทางนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้ค้นพบ "ด้านที่ 3" โดยบังเอิญ แต่คิดว่าคนไทยคงไม่ดีใจนัก และน่าจะกังวลใจเสียมากกว่า
ด้านที่ 3 ด้านข้างธนบัตรฝั่งยาว คือ การขาดดุลการคลังที่มากขึ้น แต่กลับทำให้ GDP ต่ำลง คือ การใช้เงินขาดดุลการคลังในโครงการที่มีค่าตัวทวี (multiplier) ติดลบ นี่คือแนวคิดของการทำสิ่งที่ "เคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง" ตัวอย่างที่เด่นชัดมากในตอนนี้ก็คือ "กองทุนการออมแห่งชาติ" (กอช.)

ด้วยแนวคิดการที่รัฐบาลสนับสนุนการออมให้กับประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบนั้น รัฐบาลอาจต้องสมทบเงินถึง 2 หมื่นล้านต่อปี (ขาดดุลการคลังเพิ่ม) และ ประชาชนจะสมทบเงินราว 3 หมื่นล้านบาท มองดูเผินๆ แล้วนี่คือ เรื่องที่ดีเพราะจะช่วยให้ประชาชนได้รู้จักการออม ขณะที่รัฐบาลก็เข้าไปสนับสนุนส่วนนี้ เพื่อให้ประชาชนในวัยเกษียณจะได้มีเงินทองใช้จ่ายได้

อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรี และ สส.ในสภา ได้ประเมินแต่ผลดีของ "แรงกิริยา" ขณะที่ไม่ได้มองไปที่ผลเสียหายของ "แรงสะท้อนกลับ" (แรงปฏิกิริยา) เพราะ การออมที่มากขึ้น ก็คือ การใช้จ่ายที่น้อยลง ณ ปัจจุบัน และนั่นหมายถึง รายได้ที่ลดลงของคนอีกกลุ่มหนึ่งไปด้วย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า "การขัดแย้งของความมัธยัสถ์" (paradox of thrift) คือ คนหนึ่งคนเมื่อมัธยัสถ์จะเป็นผลดีกับเขาเอง แต่หากประชาชนร่วมใจกันมัธยัสถ์แล้ว จะทำให้การใช้จ่ายรวมลดลง และ สะท้อนไปที่รายได้รวมลดลงไปด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะออมไม่ได้ในที่สุด และ เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม

หากประเมินค่าตัวทวีของคนกลุ่มนี้ที่ 3 เท่า เงินกองทุน กอช.จะระดมเงินได้ราว 5 หมื่นล้านต่อปี ดังนั้นอาจสร้างความเสียหายต่อ GDP ได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท (ราว 1.5% GDP) และ เงินจะจมในกองทุนต่อเนื่องถึง 10 ปีเต็มๆ คิดเป็นความเสียหายได้ถึง 1.5 ล้านล้านบาท ที่น่ากังวลใจมากก็เพราะ พรบ.ฉบับนี้ได้ผ่าน ครม.และ สภามาแล้ว 3 วาระ ด่านสุดท้ายก็คือ วุฒิสภา ความหวังของประเทศชาติที่จะหยุดยั้งความเสียหายมหาศาลนี้ ก็คงอยู่ในมือของท่าน สว.ผู้ทรงเกียรติแล้ว

ด้านที่ 4 ด้านข้างธนบัตรฝั่งสั้น แม้จะสังเกตเห็นได้ยาก แต่เราจะใช้ประโยชน์ของด้านนี้ใส่ธนบัตรเพื่อซื้อสินค้าตามตู้ขายสินค้าอัตโนมัติอยู่บ่อยๆ : ความหมายด้านนี้คือ การที่รัฐบาลมีรายได้เพิ่ม และยังสามารถกระตุ้น GDP ได้อีกด้วย เช่น กรณีของ "สินเชื่อ999" และ "กองทุน555" ซึ่งรัฐบาลจะได้เงินจากภาษีสินเชื่อ และ ค่าค้ำประกันสินเชื่อถึงราว 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาระการคลังลดลง ในเวลาเดียวกันก็จะปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้าน 20 ล้านคน วงเงินราว 1 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยลดภาระการผ่อน ภาระดอกเบี้ยลงทุกเดือน ทำให้เหลือเงินติดกระเป๋ามากขึ้น จึงช่วยกระตุ้น GDP ได้เป็นอย่างดี และเป็นแนวคิดของการทำสิ่งที่ "หยุดนิ่งให้เคลื่อนไหว"

ด้านที่ 4 นี้เอง เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) และยังน่าจะเป็น "กุญแจดอกสำคัญ" ในการแก้ไขปัญหาการคลัง พร้อมๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว แถบยุโรป ญี่ปุ่น และ อเมริกาในอนาคตอีกด้วย

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาชมชอบ ตอบโจทย์เมืองไทย

"ประชาชมชอบ" อาจมีความสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและการเมืองของไทยในอนาคต มันอาจเป็นเรื่องชี้ชะตาเลยว่าพรรคการเมืองใดจะชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย และชาวบ้านจะสามารถเอาชนะนายทุนได้อย่างไร

นโยบาย "ประชาชมชอบ" คือ นโยบายที่กำหนดโดยภาครัฐ ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลยแม้แต่บาทเดียว แถมยังได้เงินเข้ารัฐในบางเรื่องอีกด้วย โดยที่มีประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ และ ทำให้เศรษฐกิจรวมดีขึ้นอีก "ประชาชมชอบ" นี้เอง อาจมีขนาดใหญ่กว่า "ประชาวิวัฒน์" เป็น 100 เท่าตัว โดยเราจะได้มาดูกันต่อไป

1.กองทุนตอง5 (กองทุน555) ก็คือ กองทุนที่มุ่งลบจุดอ่อนของ "กองทุนหมู่บ้าน" ออกไป ด้วยการขยายวงเงินจากหมู่บ้านละ 1 ล้านเป็น 5 ล้านบาท แต่ละคนที่ยืมด้วยเงิน 2 หมื่นก็ขยายเป็นยืมได้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท และ จากที่ต้องคืนภายใน 2 ปี ก็ขยายการผ่อนเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และ ออมสินเป็นแบงก์ที่ปล่อยกู้ อัตราดอกเบี้ย 9% (ออมสินได้ 6% รัฐบาลได้ค่าค้ำประกัน 3%) เงินกองทุนส่วนนี้รวมแล้ว 4 แสนล้านบาท และ รัฐบาลจะได้ค่าค้ำประกันราวปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทฟรีๆ

2.สินเชื่อตอง9(สินเชื่อ999) คือ สินเชื่อที่ปล่อยกู้โดยแบง์รัฐ โดยมี กองทุนประกันสังคม (สปส.) กบข. และ บลจ. ค้ำประกันให้กับผู้ประกันตน และ สมาชิก ไม่เกิน 9 ส่วนของเงินออมแต่ละบุคคล โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 9% ต่อปี (แบงก์รัฐได้ 6% สปส.กบข.ได้ค่าค้ำประกันเงินกู้ 1.5% และ รัฐบาลเก็บภาษีอีก 1.5%) สามารถผ่อนได้ระยะยาวไม่เกิน 9 ปี โดยไม่ต้องสนใจกับเครดิตบูโร คาดว่ามีวงเงินราว 6 แสนล้านบาท จากยอดเงินของกองทุนบำนาญทั้ง 3 ก้อนนี้ 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น สปส.อาจได้เงินค่าค้ำประกันราว 6 พันล้าน และ รัฐบาลได้ค่าภาษีสินเชื่อราว 9 พันล้านบาทฟรีๆ

3.หวยชมชอบ:
เมื่อสปส.เมื่อได้เงินจากค่าค้ำประกันมา 6 พันล้านบาท ก็จะนำเงินนั้นมาทำเป็น "หวย สปส." โดยออกเลขท้าย 3 ตัวทุกเดือน หากตรงกับเลขท้าย 3 ตัวของบัตรประชาชนของผู้ประกันตนก็จะได้รับเงินรางวัลไปเลย 5 หมื่นบาทเพื่อปลดหนี้ให้กับผู้ประกันตนผู้โชคดีซึ่งจะได้รับโชคตรงนี้ถึงปีละกว่า 1 แสนคน โดยอาจนำไปปลดหนี้หรือลงทุนก็ได้ตามชอบ กบข.ก็อาจออก "หวย กบข." ได้ในทำนองเดียวกัน

การออกหวยนั้นมีข้อดีก็เพราะ "หวย" มีทั้ง "มูลค่าแท้" ตามความน่าจะเป็นคูณด้วยเงินรางวัล และมี "มูลค่าฝัน" ที่คนยอมจ่ายเพิ่มเพื่อได้ความหวังความฝันอีกด้วย เช่น หวยใต้ดินมี "มูลค่าแท้" แค่ 5 บาท ต่อหวยเลขท้าย 3 ตัว 1 เลข และ มี "มูลค่าฝัน" อีก 5 บาท รวมเป็น 10 บาทที่คนซื้อหวยยอมจ่าย เพื่อให้มีโอกาสถูกหวยใต้ดิน 3 ตัว มูลค่า 5 พันบาท "หวย สปส." จึงอาจเป็นทั้งการแจกเงิน และ แจกฝัน ให้แก่ผู้ประกันตนเป็นจำนวนมาก

สำหรับประชาชนทั่วไป รัฐบาลจะเก็บค่าค้ำประกันจาก กองทุนตอง5 และ ค่าภาษีจากสินเชื่อตอง9 มาได้รวม 2.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็อาจนำมาออกเป็น "หวยตอง9" ซึ่งคนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชนจะได้ลุ้นถูกรางวัลกันทุกเดือน รางวัลละ 2.5 หมื่นบาท หากตรงกับเลขท้าย 3 ตัวของบัตรประชาชน ต้องใช้เงินตรงนี้ราว 1.25 พันล้านทุกเดือน และ ในงวดปีใหม่นั้น จะเบิ้ลเงินรางวัลเป็น 2 เท่าตัว หรือ รางวัลละ 5 หมื่นบาท ก็จะช่วยประชาชนปลดลดหนี้ได้ถึง 6 แสนคนต่อปี ใช้งบฯ ในส่วนนี้ราว 1.6 หมื่นล้านบาท

4.ประกันภัยชมชอบ : รัฐบาลยังมีเงินเหลือจากค่าค้ำประกันอีก 5 พันล้านบาท จะนำมาอุดหนุนการประกันภัยอุบัติเหตุ ในแนวคิดเดียวกับ "ประกันภัยเอื้ออาทร" แต่จ่ายเบี้ยให้บริษัทประกันภัยเพิ่มขึ้นจาก 365 บาทเป็น 400 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุนให้ครึ่งหนึ่งเพื่อสนับสนุนโครงการ จะรองรับประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ถึง 25 ล้านคน ก็จะช่วยให้ประชาชนอุ่นใจขึ้นกับความเสี่ยงที่เหลือเชื่อ เช่น นั่งรถตู้อยู่ดีๆ โดนชนท้ายจนเสียชีวิต หรือ อาจโดนลูกหลงจนเสียชีวิตเพราะเด็กช่างกลตีกัน หรือ วิ่งรถบนมอเตอร์เวย์ดีๆ ก็อาจถูกยิงตาย ประชาชนจะอุ่นใจได้ว่าคนข้างหลังจะไม่ลำบากมากนักเพราะได้เงินชดเชยไป 3 แสนบาท

"นโยบายประชาชมชอบ" ทั้ง 4 เรื่องนั้น จะปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนทั้งในและนอกระบบราว 30 ล้านคน หากคิดรวมครอบครัวแล้วก็เกือบทั้งประเทศ เป็นวงเงินถึง 1 ล้านล้านบาท ใช้งบประมาณศูนย์บาท และไม่ต้องเสียเงินค่าที่ปรึกษาเลย เมื่อเทียบกับ "ประชาวิวัฒน์"ที่ปล่อยกู้ 5 พันล้านให้ประชาชนเพียง 3 แสนคนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าแตกต่างกันถึง 100-200 เท่าตัว ใช้งบฯ 2 พันล้านบาท พร้อมๆ กับเสียค่าที่ปรึกษาให้บริษัทต่างชาติไปแล้ว 69 ล้านบาท

การเก็บค่าค้ำประกัน และ ภาษีนั้น เพื่อแสดงจุดยืนว่า รัฐบาลไม่ได้ "สนับสนุน" ให้คนเป็นหนี้ แต่ "อนุญาต" ให้กู้ยืมเงินได้ต่างหาก อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับสินเชื่อเงินด่วนทั้งในและนอกระบบ นอกจากนี้ "หวยชมชอบ" ยังเป็นแนวคิดแห่งกรอบความพอเพียง เพราะ ไม่ต้องเสียเงินซื้อหวย แต่ประชาชนมีความหวัง มีลุ้นที่จะปลดหนี้เป็นประจำทุกเดือน และ สำหรับคนที่ไม่มีหนี้สินก็ยังมีความหวังจะได้เงินรางวัลเพื่อไปจับจ่ายซื้อของหรือแบ่งปันให้คนอื่นได้อีกด้วย ส่วนการประกันภัยก็จะทำให้ประชาชนอุ่นใจขึ้นต่อความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเกิดจากอุบัตเหตุอันยากจะคาดเดาในประเทศนี้

ด้วยนโยบายทั้ง 4 เรื่องนี้ บริหารพรรคการเมืองสามารถนำไปประกาศเป็นนโยบายพรรค เพื่อรอรับคะแนนเสียงท่วมท้นได้เลยจนอาจตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ด้วยซ้ำไป เพราะ 1 ใน 4 ของคนไทยนั้นคือ แฟนพันธุ์แท้ของ "ประชาธิปัตย์" และ อีก 1 ใน 4 นั้นคือแฟนพันธุ์แท้ของ "เพื่อไทย" แต่อีกราวครึ่งหนึ่งของประชาชนนั้นยังไม่ตัดสินใจ และ "ประชาชมชอบ" ก็คือแนวนโยบายที่จะกวาดเอาคนตรงกลางของประเทศมาสนับสนุนพรรคนั่นเอง

เรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่สำคัญเพราะ นโยบายเช่นนี้คือ การดึงเอาผลประโยชน์ราว 2 แสนล้านกลับคืนจากมือ "นายทุน" ทั้งในและนอกระบบไปสู่มือของ "ชาวบ้าน" ไม่เพียงแต่ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นตามการหมุนของรอบเงินที่สูง ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมอย่างเร็วอีกด้วย เรื่องแบบนี้หากไม่เป็นเพราะใกล้ศึกเลือกตั้งแล้วละก็พวกเราแทบหวังนโยบายแบบนี้ไม่ได้เลย นี่จึงนับเป็นโอกาสอันดียิ่ง

และที่บอกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองก็เพราะว่า พรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายพรรคแนวนี้ น่าจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายจนแทบไม่เหลือที่ให้พรรคการเมืองอื่นยืนบนเวทีการเมืองได้อีกนาน เพราะการเป็นพรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญต่อ "ชาวบ้าน" ยิ่งกว่า "นายทุน" นั้น ย่อมได้รับคะแนนเสียงที่ท่วมท้นต่อเนื่องไปนานแสนนาน

ดังนั้นม้าแข่ง 2 ตัวซึ่งเป็น 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่กำลังวิ่งอย่างสูสีกันอยู่นี้ เราอาจได้เห็นการ "เข้าวิน" แบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเหลือเชื่อด้วยพลังวิเศษจากนโยบาย "ประชาชมชอบ" ก็เป็นได้ มันจะไม่เพียงเป็นการชนะเลือกตั้งของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของ "ชาวบ้าน" ที่มีต่อ "นายทุน" อีกด้วย

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

กับดักประชาวิวัฒน์

เมื่อได้เห็นรายละเอียดของนโยบาย "ประชาวิวัฒน์" ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่านี่คือ สิ่งที่คนระดับรัฐมนตรี และ ผู้นำของ 30 หน่วยงานได้ระดมสมองสร้างกันขึ้นมาโดยใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์เต็มๆ เพราะ ผมใช้เวลาแค่ไม่ถึง 5 นาที ก็พบจุดบกพร่องอันตรายใหญ่หลวงของ "ของขวัญปีใหม่" 9 ชิ้นนี้ โดยมีอยู่หลายชิ้นที่ซ่อนระเบิดเวลาเอาไว้

ปัญหาหลักของเรื่องนี้อาจอยู่ที่ ผู้กำหนดนโยบายอาจไม่ได้ใส่ใจต่อ "การสะท้อนพลังกลับ" ของนโยบายต่างๆ ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาสำคัญของ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) จึงทำให้มองไม่เห็นด้านลบของนโยบายที่ออกมา โดยเน้นมองด้านบวกแต่เพียงด้านเดียว

ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า "ประชาวิวัฒน์" ซึ่งมีแนวคิดไม่ใช้เงินงบประมาณเลย แต่สร้างประโยชน์และความพอใจต่อประชาชนส่วนใหญ่ จะเป็นแนวคิดที่คล้ายกับนโยบาย "ประชาชมชอบ" ที่ผมได้ตั้งชื่อไว้เมื่อ 2 ปีก่อน โดยได้นำเสนอผ่านบทความ "ปฎิรูปเศรษฐกิจไทยสไตล์ 999" และ "จากประชานิยมสู่ประชาชมชอบ" ไว้แล้วด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีสนับสนุน

สิ่งนี้จึงแตกต่างจาก "ประชานิยม" อันเป็นนโยบายที่ทุ่มเงินงบประมาณลงไป เพื่อให้ประชาชนนิยมในตัวรัฐบาล แต่เมื่อเห็นรายละเอียดแล้วผมถึงกับอึ้ง เพราะว่า "ประชาวิวัฒน์" นั้นกลับกลายเป็น "นโยบายการคลัง" ที่พิศดารมากๆ คือ ทุ่มเงินงบประมาณลงไปแล้วเศรษฐกิจกลับแย่ลง ซึ่งจะได้แจกแจงรายละเอียดกันต่อไป

ผมคงไม่ไปแตะนโยบาย "น้ำจิ้ม" ที่ดูแลคนขับมอเตอร์ไซค์ คนขับแท๊กซี่ และ หาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นประชาชนเพียง 3 แสนคน แม้ว่าจะดูดีมีประโยชน์อยู่บ้าง และ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงนโยบาย "เด็กเล่นขายของ" อย่างเช่น การขายไข่ไก่เป็นกิโลกรัม อันที่จริงแล้วนโยบายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาคและประชาชนกลุ่มใหญ่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินระดับหมื่นล้าน อาจมีแค่ 3 เรื่อง คือ

1.ลดภาระกองทุนน้ำมัน การลดราคาน้ำมัน ด้วยการลดการอุดหนุนแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม โครงการนี้ไม่ใช้งบประมาณ แต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะประหยัดเงินได้ 7,300 ล้านบาท โดยนำเงินที่ประหยัดได้มาตรึงราคาน้ำมันหรือลดน้ำมันให้กับคนไทยทั่วประเทศ

2.การให้ประชาชนคนจนใช้ไฟต่ำกว่า 90 หน่วยใช้ฟรีตลอดไป ได้ประโยชน์ราว 9.1 ล้านครอบครัว โดยให้คนที่ใช้ไฟมากๆ ในภาคธุรกิจและคนรวย ชนชั้นกลางมาแบกรับภาระแทน มูลค่าตรงนี้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท

3.การให้แรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน เข้าระบบประกันสังคมภาคสมัครใจ ให้ประชาชนเลือกในอัตรา 100 และ 150 บาทต่อเดือน โดยประชาชนจ่ายไม่เกิน 100 บาท และรัฐช่วยประเดิมส่วนหนึ่ง ครอบคลุมสิทธิประโยชน์สูงสุด 4 ด้านคือ การชดเชยเมื่อเจ็บป่วย ทุพลภาพ เสียชีวิตและบำเหน็จ ชราภาพ ประชาชนจะเริ่มเห็นผลในเดือน ก.ค. 2554

สำหรับข้อ 1 และ 2 นั้น ดูไปแล้วก็คือ การผลักภาระจากกองทุนน้ำมัน และ รัฐบาล ไปสู่ภาคธุรกิจ คนรวย และ คนชั้นกลาง ให้แบกรับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นราว 2.5 หมื่นล้านบาทนั่นเอง สิ่งที่จะตามมา 3 เรื่องก็คือ 1.ภาคธุรกิจอาจผลักภาระต้นทุนไปที่ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้า 2.ภาคธุรกิจอาจลดต้นทุนด้วยการลดเงินเดือน ค่าจ้าง พนักงาน หรือปลดออกบางส่วน และ 3.ประชาชนคนชั้นกลาง และ คนรวย อาจมีเงินเหลือติดกระเป๋าลดลง เลยใช้จ่ายสินค้าประเภทอื่นลดลง ผลกระทบทางอ้อมสุดท้ายแล้วก็จะไปตกกับชาวบ้านตาดำๆ นั่นเอง และ หากประเมินค่าตัวทวี (multiplier) ที่ 2 เท่า แล้ว 2 เรื่องนี้อาจทำให้ GDP ลดลงได้ราว 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับข้อ 3 นี่คือนวัตกรรมนโยบายการคลังยอดแย่ของประวัติศาสตร์โลก เพราะ หากประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 25 ล้านคนเข้าร่วมโครงการ "ประกันสังคมวิวัฒน์" แล้วละก็ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินให้คนละ 50 บาทต่อเดือน หรือ 600 บาทต่อปี รวมๆ แล้วก็ตกราว 1.5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งงบฯ ไว้ 1.5 พันล้านถึง 10 เท่าตัว) ไม่เพียงแต่ใช้งบประมาณมากมาย แต่ประชาชนแรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังสมทบเงินเข้ามาอีก 3 หมื่นล้าน รวมเป็น 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี นำไปจมไว้เฉยๆ กับกองทุนประกันสังคม ซึ่งทำให้รอบการหมุนเงินของคนจนซึ่งเคยสูงมากนั้นลดลงไปอย่างมากมาย หรือ GDP อาจหายไปถึง 1.35 แสนล้านบาท (หากคิดค่าตัวทวีของคนจนราว 3 เท่า) นั่นหมายถึง ค่าตัวทวีของโครงการ "ประกันสังคมวิวัฒน์" อาจตกอยู่ที่ -9 เท่า (คือขาดดุลการคลัง 1.5 หมื่นล้าน แต่กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลง 1.35 แสนล้านบาท หรือย่ำแย่ลง 9 เท่าตัว) อาจกล่าวได้ว่านี่คือ "นโยบายการคลัง" ที่มีค่า "ตัวทวี" ที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

เมื่อรวมของขวัญทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ก็พบว่า GDP อาจเสียหายไปได้ถึง 1.85 แสนล้านบาท (ราว 1.8% GDP) ซึ่งตรงกันข้ามกับการกล่าวอ้างของรัฐบาลที่บอกว่าจะมีผลประโยชน์เพิ่ม 2.6 หมื่นล้านบาท ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ แน่นอนว่าตัวผมและคนไทยเกือบทั้งประเทศไม่อยากเห็นความเสียหายมหาศาลของเศรษฐกิจไทยที่อาจเกิดขึ้นนี้ หากท่านผู้กำหนดนโยบายจะผลักดัน "ประชาวิวัฒน์" ให้ผ่านออกมาให้ได้อย่างเร็วก็ถือเป็นเวรกรรมของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ผมขอร้องให้พวกท่านได้โปรดพิจารณาดูรายละเอียดของ "ของขวัญ" เหล่านี้อีกสักครั้งจะดีไหมครับ