วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

4 ทฤษฎี 4 ฝ่าย 4 งมงาย

มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ในหลายด้านที่เป็นเรื่องงมงาย โดยเชื่อถือกันมาแต่อดีต แม้ว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม ซึ่งทำให้โลกไม่สามารถแก้ไขปัญหายากๆ เพราะติดกรอบแนวคิดเดิมๆ เรามาดูกันทีละข้อ

1.ทฤษฎีการคลัง : รัฐบาลทั่วโลก เชื่อกันอย่างงมงายตาม "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์" ว่า การดำเนินนโยบายขาดดุการคลังมากๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และ การรัดเข็มขัดการคลังจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเป็นการมองธนบัตรเห็นแค่ 2 ด้านในความเป็นจริงแล้ว มันไม่แน่เสมอไป เพราะธนบัตรมีถึง 4 ด้านต่างหาก โดยเฉพาะ โครงการที่เกี่ยวข้องกับ การสมทบเงิน และ การหักลดหย่อนภาษี สำหรับ "กองทุนบำนาญ" ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่าตัวทวี (multiplier) ถึงขั้น "ติดลบ" คือ ยิ่งรัฐบาลใช้เงินเศรษฐกิจจะยิ่งแย่ลงเพราะเงินจะไปจมกองไว้เฉยๆ และ หากรัดเข็มขัดในโครงการเหล่านี้เศรษฐกิจจะกลับเป็นยิ่งดีขึ้น เพราะ เงินจะถูกออมน้อยลงและไปเพิ่มส่วนของการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแทน ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกควรมาใส่ใจกับแนวคิดใหม่ "รัดเข็มขัดการคลังอย่างไรให้เศรษฐกิจดีขึ้น" เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

2.ทฤษฎีการเงิน : ธนาคารกลางทั่วโลก ล้วนเชื่ออย่างงมงายว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสกัดเงินเฟ้อ และ การลดอัตราดอกเบี้ยลงจะช่วยกระตุ้นเงินเฟ้อ ในความเป็นจริงแล้ว สภาพเศรษฐกิจต่างๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก มีกำลังการผลิตส่วนเกินที่ล้นเหลือ การเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ต้นทุนอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น รวมไปถึงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้มีแรงสะท้อนกลับในทางตรงข้าม แทนที่การขึ้นดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยลดอุปสงค์และลดอัตราเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยกลับทำให้ต้นทุนการเงินเพิ่ม เช่น สินเชื่อในระบบ 10 ล้านล้านบาท หากขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% นั่นคือ ผลักภาระต้นทุนดอกเบี้ยให้ระบบเศรษฐกิจรวมไปถึง 1 แสนล้าน จึงสะท้อนกลับทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแทน

การจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ควรมองไปที่ต้นทุนการผลิตมากกว่า การที่รัฐบาลไทยเดินหน้าให้เงินอุดหนุน หรือ ลดภาษีให้กับวัตถุดิบอย่าง น้ำมัน LPG NGV น้ำมันพืช แก๊สหุงต้ม และ ปุ๋ย ก็เป็นการมองเพียงมุมเดียว ความจริงแล้ว ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐศาสตร์อย่าง ทุน ที่ดิน และ แรงงงาน ก็ควรให้ความสนับสนุนเช่นกัน โดยให้เช่าพื้นที่ราชการ และ รัฐวิสาหกิจในราคาต่ำ ให้เช่าบ้านเอื้ออาทรเดือนละ 1 พัน เป็นต้น ส่วนด้านแรงงานก็ให้เงินสนับสนุนค่าครองชีพให้ผู้ใช้แรงงานรายได้น้อย ก็จะลดต้นทุนผู้ประกอบการไปได้ และ ผู้ใช้แรงงงานก็มีเงินใช้เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนในเรื่องของทุนหรือดอกเบี้ยนั้น แทนที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป ให้ลดดอกเบี้ยลงมาแทนก็จะช่วยในการสกัดเงินเฟ้อได้ผลดีกว่า

หลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงจะมี อัตราเงินเฟ้อสูงตามไปด้วย เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ประเทศเหล่านี้แม้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง ก็ไม่สามารถสกัดเงินเฟ้อได้ เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่น ซึ่งได้กดดอกเบี้ยมายาวนานหลายปีติดพื้น ก็ประสบกับปัญหาเงินฝืดเรื้อรังเช่นเดียวกัน .... ทางแก้ไขในเรื่องนี้ ก็คือ ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่องมงายเดิมๆ

3.ทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยน : IMF และ ECB ซึ่งเป็นองค์กรการเงินระหว่างประเทศ เชื่องมงายว่า ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ คงที่ ทรงตัว จะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจ ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติเตกีลาในเม็กซิโก ต้มยำกุ้งในไทย และ วิกฤติในอาร์เจนติน่า ล้วนแล้วแต่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูก "ยึด" กับเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ ความสามารถในการแข่งขันเพื่อส่งออกสูญเสียไป จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด และ เมื่อดูไปแล้ว ประเทศเวียดนาม ก็ดูเหมือนจะเสี่ยงที่สุดในเอเชียตอนนี้ ที่กำลังเดินสู่เส้นทางแห่งหายนะภายใน 1-2 ปีนี้ โดยสัญญาณอันตรายได้เกิดขึ้น คือ Triple 3 Crisis Signal ซึ่งหมายถึง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% GDP เป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าประเทศอ้างอิงกว่า 3%

นอกจากนี้ "เงินยูโร" ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบอัตราแลกเปลี่ยนในประวัติศาสตร์โลกก็ว่าได้ ที่พยายามผูกค่าเงินสกุลเดียวไว้กับ ระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ประเทศริมขอบยุโรโซน ไม่สามารถแข่งขันได้ ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงกว่า เยอรมัน จึงทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักและต่อเนื่อง ดังกรณีของ กรีซ โปรตุเกส และ ไอร์แลนด์ ประเทศเหล่านี้มิได้มีต้นตอจากปัญหาหนี้สินการคลังแต่อย่างใด ความจริงแล้วมันคือ ปัญหาของหนี้สินต่างประเทศต่อ GDP ต่างหาก อย่างกรณีของ ไอร์แลนด์นั้นสูงถึง 1,100% GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก และโปรตุเกสก็สูงถึง 240%

ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำก็คือ "รักษาสมดุล" ของดุลบัญชีเดินสะพัดต่างหาก ไม่ใช่ การดูแลในเรื่องของการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะ IMF และ ECB ควรเข้าตรวจสอบประเทศสมาชิก ว่ามีการเสียสมดุลในจุดนี้เกิน 3% GDP เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจหมายถึง ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศนั้นๆ ไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจเสียแล้ว และ ควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน หากมีสัญญาณเตือนภัยเช่นนี้แล้ว ผมเชื่อว่า ระบบเงิน Euro ควรได้รับการปรับเปลี่ยนเป็น 3 สกุล เช่น Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ภายใน 5 ปีตั้งแต่เริ่มนำมาใช้แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหา ณ ปีที่ 12 อย่างในปัจจุบัน โดยที่ IMF และ ECB ก็ยังหลับหูหลับตางมงายว่า "ระบบยูโร" นั้นดียอดเยี่ยมอยู่แล้ว

4.ทฤษฎีเงินบำนาญ : ผู้บริหารกองทุนประกันสังคม ล้วนเชื่อว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราเงินสมทบ หรือ ยกระดับอายุการเริ่มต้นรับเงินบำนาญ หรือ ลดเงินวงเงินจ่ายบำนาญลง จะทำให้เงินกองทุนหมดลงภายใน 30 ปีนับจากนี้...ความจริงแล้วนี่คือ ความเชื่องมงายอีกเช่นกัน

เพราะว่า สำนักงานประกันสังคม ควรนำแนวคิดแบบ รัฐบาล และ บริษัทเอกชนต่างๆ มาใช้ คือ สามารถก่อหนี้สินได้ จะทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถกู้ยืมเงิน โดยใช้สินทรัพย์ของกองทุนซึ่งอาจสูงถึง 1.5 -2 ล้านล้านบาทในอนาคตอันใกล้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยการออก "พันธบัตรประกันสังคม" จะทำให้สามารถจ่ายเบี้ยบำนาญชราภาพได้โดยสินทรัพย์ไม่ลดลง และ ประคองสถานการณ์ให้ผ่านช่วง "วิกฤติแห่งโครงสร้างประชากร" ไปได้ในที่สุด

จะว่าไปแล้วนี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในรอบ 80 ปีของวงการเศรษฐศาสตร์ก็ว่าได้ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.) ซึ่งใช้แนวคิดของ การรักษาสมดุลหยินหยาง และ การยืมพลังสะท้อนพลัง จะช่วยให้ประเทศไทย และโลกค้นพบคำตอบทางเศรษฐกิจที่ยากเย็นได้ ขณะที่ด้วยกรอบแนวคิดเดิมๆ นั้นทั้ง 4 ฝ่าย พยายามเล่านิทานให้กับประชากรทั้งโลกฟังอยู่แต่ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นเรื่องงมงายทั้งสิ้น อาจต้องมีการปรับปรุงเขียนตำรากันใหม่เลยทีเดียว เพราะหากปล่อยให้ความงมงายนี้ดำเนินต่อไป ก็มีโอกาสสูงมากที่โลกจะเดินสู่ทางตันของ "อุโมงค์เศรษฐกิจ" อันมืดมิด อย่างไรก็ดีผมหวังว่าแนวคิดใหม่นี้อาจเป็น "แสงสว่างเล็กๆ" ที่ช่วยชี้ทางออกให้กับเศรษฐกิจโลกได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น