วิกฤติรอบ 2 แผนสำรองต้องมี
จากบทความ "5 กับดักเศรษฐกิจ พิษร้ายแรง" ซึ่งได้เขียนมาตั้งแต่เดือน กันยายน 2553 ผมได้คิดว่า โอกาสเกิดวิกฤติรอบ 2 มีราว 80% แต่ ณ ตอนนี้ หลังจากที่ S&P ได้ลดอันดับเครดิตของอเมริกา และ เกิดปัญหาหนี้ของยุโรปที่ลามไป สเปนและอิตาลี ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหว ความเสี่ยงตรงนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 99% แล้ว
ทำไมต้องมีแผนสำรอง เหตุผลก็เพราะว่า แผนหลักซึ่งคือ นโยบายการเงิน และ การคลังนั้นได้ใช้อย่างเต็มที่แล้ว แต่เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มแย่ลง และ ดูเหมือนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้อีกครั้ง แม้ประธานาธิบดีอเมริกา และ ประธานเฟด จะพยายามพูดปลอบใจตนเองและประชาชนว่า “คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวชั่วคราว และ ไม่กังวลกับภาวะถดถอย” เมื่อเดือนก่อนก็ตาม แต่สภาพของดัชนีตลาดหุ้นได้ส่งสัญญาณเตือนอย่างรุนแรงแล้ว
ประเทศพัฒนาแล้วมีความอ่อนแรงมากในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ บางส่วนได้เข้าสู่ภาวะถดถอยรอบ 2 ไปแล้วด้วยซ้ำ เช่น PIIGS ในเขตยูโรโซน และ ญี่ปุ่น เป็นต้น เรามาลองดูกันว่า แผนหลักที่ได้เดินหน้ามา 2-3 ปีนี้มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่บ้าง
นโยบายการเงิน : FED ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉียดศูนย์ และใช้ QE พิมพ์แบงก์เพิ่มเพื่อซื้อพันธบัตร ด้วยการหวังให้สภาพคล่องไปช่วยพยุงราคาสินทรัพย์หลักคือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นต้นตอแห่งปัญหา แต่ปรากฏว่าเงินนั้นกลับไหลเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แทน ซึ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อทางอ้อมอีกต่างหาก ขณะที่ตลาดบ้านยังคงไม่ดี บ้านยังคงถูกยึด และ ราคาตกต่ำต่อไป นอกจากนี้ การคาดหวังว่าสภาพคล่องนี้จะช่วยให้เกิดการบริโภค การลงทุน เพื่อช่วยเหลือต่อการจ้างงาน เงินส่วนเกินนั้นกลับไปจมอยู่กับระบบธนาคาร นี่คือ “กับดักสภาพคล่อง” นั่นเอง
วิธีปลดล็อก : เคนส์แนะนำให้ใช้ "ทฤษฎีเคนส์" หรือ นโยบายการคลังแบบขาดดุล อย่างไรก็ดี ปัจจุบันพบว่าทิศทางได้ตรงข้ามกับแนวคิดของเคนส์ถึง 3 เรื่อง
1. เคนส์เชื่อว่าเงินจะไหลจาก "คนรวยสู่คนจน" ผ่านพันธบัตรรัฐบาล โดยคนรวยซื้อพันธบัตร และ รัฐบาลนำเงินไปช่วยคนจน สร้างงานและอุดหนุนความเป็นอยู่ แต่ปัจจุบันเงินกลับไปจาก "คนจนสู่คนรวย" โดยผู้มีรายได้น้อย (คนจน)ในระบบประกันสังคม และ กบข. จ่ายเงินสมทบทุกเดือน เป็นเงินบำนาญ ซึ่งกองทุนเหล่านี้นำเงินราว 70-80% ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ โดยเงินจะไปสู่คนรวย พวกนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึง ข้าราชการขี้ฉ้อที่มุ่งคอรัปชั่น รวมไปถึง นายทุนรับเหมาก่อสร้างต่างๆ อีกด้วย
2. เคนส์เชื่อว่าเงินจะเปลี่ยนจาก "นิ่งไปสู่เคลื่อน" คือ เงินไหลจากการนอนนิ่งในระบบธนาคารไปสู่การใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้เกิดการหมุเวียนและเพิ่มการจ้างงาน แต่ในปัจจุบัน การใช้จ่ายภาครัฐจำนวนมากเป็นการเปลี่ยนจาก "เคลื่อนไปสู่นิ่ง" เงินจะไปกองจมกับกองทุนบำนาญ ผ่านการให้ลดหย่อนภาษีวงเงินสูง และ เงินสมทบร่วมเข้า กบข.และ กอช.(ในอนาคต)
3. เคนส์ใช้แนวคิดผลักภาระไปให้ "คนกลุ่มใหญ่" ซึ่งเป็นคนทำงานในรุ่นต่อไป หรือเด็กและเยาวชนนั่นเอง ขณะที่โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่ง" คนรุ่นถัดไปกลายเป็น "คนกลุ่มเล็ก" ของสังคม ญี่ปุ่นมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงทุกปี ทฤษฎีเคนส์จึงใช้ไม่ได้ผลกับโครงสร้างประชากรปัจจุบันของประเทศพัฒนาแล้ว
นโยบายการคลัง : อเมริกาได้เดินหน้า ขาดดุลงบประมาณอย่างหนักต่อเนื่องถึง 3 ปีในระดับ 10% GDP จนหนี้สินวิ่งสู่ระดับเกือบแตะ 100% GDP และ ประเทศในยูโรโซนก็เช่นกันหลายประเทศเกิน 100% ไปแล้วด้วย แต่เศรษฐกิจก็ยังคงอ่อนแอ การบริโภคภาคเอกชนไม่ฟื้นตัว และ การว่างงงานเริ่มเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจติดภาวะ “กับดักเคนส์” ซึ่งเป็นสภาพที่เพิ่มหนี้ภาครัฐจำนวนมาก ขณะที่ไม่สามารถผลักดัน GDP ให้เติบโตได้มากพอ ทำให้สัดส่วน หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP วิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว
ทั้ง 2 แผนหลักได้เดินหน้ามาถึงขีดจำกัด ทั้งอเมริกา ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น อาจจำเป็นต้อง “รัดเข็มขัดการคลัง” เพราะหนี้สินภาครัฐสูงมากๆ ธนาคารกลางก็เริ่มหยุดมาตรการ QE และอาจต้องดึงสภาพคล่องออกบางส่วน เพราะ หนี้สินต่อทุน ของ FED สูงถึงระดับ 50 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงสูงมาก สรุปก็คือ แม้จะใช้พลังลมปราณอย่างเต็มที่ตาม 2 แผนหลัก ก็ไม่สามารถเอาชนะ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ได้ แต่ร่างกายอาจถูกธาตุไฟเข้าแทรก ลมปราณอาจแตกซ่าน ทั้งรัฐบาล และ ธนาคารกลาง อาจจำเป็นต้องลดการใช้พลังตามแผนหลักลงมา เพราะเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย แต่ก็ยังคงกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย และถามกันอยู่ว่า “พวกคุณมีแผนสำรองกันบ้างไหม” แต่ก็แทบไม่ได้รับคำตอบดีๆ
นับว่าเป็นโชคดีของโลกที่ได้การคิดค้นทฤษฎีใหม่คือ “เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก” (Taiji-Econ.) ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ใช้เคล็ดวิชาของมวยไท้เก๊กมาช่วยเหลือ คือ 1.ยืมพลังสะท้อนพลัง และ 2.ในนิ่งมีเคลื่อน-ในเคลื่อนมีนิ่ง อันจะทำให้รัฐบาลสามารถจะ “รัดเข็มขัดการคลัง โดยที่เศรษฐกิจดีขึ้น” ด้วยการยืมพลัง “กองทุนบำนาญ” เปลี่ยนสภาพเงินกองทุนที่ “นิ่ง” ให้เป็น “เคลื่อน” สู่การบริโภคจับจ่ายใช้สอยได้ เมื่อเปลี่ยน “นิ่งเป็นเคลื่อน” ก็จะส่งผลทางบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณแม้แต่น้อยแถมยังได้เงินเพิ่มด้วย
ประเทศพัฒนาแล้วมีจำเป็นทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งที่จะต้องหาแผนสำรอง เพราะ รัฐบาลและธนาคารกลาง ล้วนอยู่ในภาวะที่เสี่ยงสูงขึ้นมากจนเข้าใกล้ภาวะล้มละลายเต็มที หากท่านผู้นำของประเทศเหล่านั้นได้อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะตื่นเต้นดีใจมากก็เป็นได้ เพราะ หาแผนสำรองนี้มานานแล้ว สำหรับประเทศไทยแล้ว รัฐบาลและธปท. ถือได้ว่ายังมีกำลังอย่างเพียงพอในการบริหารจัดการตามแผนหลักด้วยนโยบายการเงินและการคลัง อย่างไรก็ดี จะหวังการฟื้นตัวอย่างเร็วด้วยการพึ่งพิงการส่งออกคงจะยากเสียแล้วในครั้งนี้ การศึกษาแผนสำรองนี้ไว้ก่อนน่าจะส่งผลดีในแง่ที่รัฐบาลสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่เป็นภาระหนี้การคลังเพิ่ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น