วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จาก "ทฤษฎี 2 สูง" สู่ "หายนะ 6 สูง"

ทฤษฎี 2 สูง อันโด่งดังของท่านเจ้าสัว ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่น รวมไปถึง การรับจำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นบาทต่อตัน เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้ เกษตรกรมีรายได้ "สูง" และ คนทำงานได้ค่าแรงและเงินเดือน "สูง" ขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของทฤษฎี 2 สูงนั่นเอง

อย่างไรก็ดี อาจมีปัญหายิงใหญ่ตามมาได้ถึง 6 เรื่อง ดังนี้

1. เงินเฟ้อสูง : หากมีการขึ้นค่าแรง และ ขึ้นราคาข้าวจริงๆ เกือบเท่าตัว ก็อาจส่งผลได้มากต่อ อัตราเงินเฟ้อ จากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องในลักษณะของการขยายวงของเงินเฟ้อ (inflation spiral) ทำให้เงินเฟ้อกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะค่าแรง แต่อาจมาจากต้นทุนวัตถุดิบ และ ชิ้นส่วนของสินค้าอีกด้วย ดังนั้น เงินเฟ้ออาจสูงถึง 10% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

2. อัตราดอกเบี้ยสูง : สำหรับ ธปท.แล้ว ยังคงเชื่อในทฤษฎีการเงินเดิมๆ คือ ต้องพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ใกล้เคียงกับ อัตราเงินเฟ้อ โดยหวังว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้ โดยที่ความเป็นจริงแล้ว มันกลับเร่งอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปต่างหาก โดยจากสมการ nominal rate (อัตราดอกเบี้ย)= real rate (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)+ inflation (อัตราเงินเฟ้อ) การขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอจากจะมีส่วนทำให้ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น (ส่งผลให้การเติบโตเศรษฐกิจชะลอลง) ยังมีส่วนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกด้วย โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ก็คือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งมุ่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กลับไม่เห็นผล อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อินโดนีเซีย นั้นหยุดขึ้นดอกเบี้ยมานานแล้ว เงินเฟ้อกลับเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นแนวคิดแบบไท้เก๊กด้วยการใช้ "หยุดนิ่งสยบเคลื่อนไหว" นั่นเอง

ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้น และ ธปท.ก็คงเดินหน้านโยบายแบบเดิมๆ คือ ขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ตามเงินเฟ้อ โดยเชื่อว่าจะสกัดเงินเฟ้อได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว มันทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นต่างหาก เงินเฟ้อจึงไม่ชะลอตัวลงแต่กลับเร่งตัวขึ้น เราจึงอาจเห็นอัตราดอกเบี้ย 10% ก็เป็นได้

3.เงินบาทอัตราสูง: การขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ปกติแล้วตามทฤษฎีในระยะยาวจะถูกชดเชยด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง หรือว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับตัวเลขที่สูงขึ้นจาก 30 บาทก็อาจเป็น 33 บาท ยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อเป็นภาระหนักหนาต่อไปจนยากที่จะเยียวยา โดยเงินบาทอาจอ่อนค่าลงกว่า 10% ได้เลย

4.อัตราว่างงานสูง : เมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินบาทแข็งค่าเร็ว ธุรกิจส่งออก SME ก็อาจปลดคนงานออกสัก 20% เช่น จากเคยทำ 10 คนก็เหลือแค่ 8 คน หรืออาจมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่หลบเลี่ยงกฎหมายได้เพื่อลดต้นทุน บางแห่งสู้ไม่ไหวจริงๆ ก็อาจปิดกิจการไป ซึ่งนั่นหมายถึง การว่างงานอาจวิ่งเร็วเป็นจรวด จากระดับไม่ถึง 1% ตอนนี้ขึ้นไปสูงกว่า 10% ได้เลย

5.หนี้สาธารณะสูง : การเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ รวมไปถึงเงินรับจำนำข้าว จำเป็นต้องใช้เงินถึงหลายแสนล้าน อาจทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้อย่างเร็วกว่า 10% ง่ายๆ

6.ขาดดุลการค้าสูง : เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้การส่งออกเริ่มมีปัญหา ขณะที่การนำเข้าก็มากเพราะ คนงานมีรายได้ดีขึ้น จึงมีโอกาสสูงที่ประเทศไทยอาจพลิกจากได้ดุลการค้าเป็น ขาดดุลการค้า เปลี่ยนไปได้ถึง 10% GDP ก็อาจเป็นไปได้

ทฤษฎี 2 สูง อาจจะผลักดันให้ค่าทั้ง 6(อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย อัตราว่างงาน อัตราเงินบาท อัตราการเพิ่มหนี้ภาครัฐ และ การขาดดุลการค้า) สูงขึ้นเป็นเลข 2 หลักได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้การใช้คำว่า "หายนะ 6 สูง" ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด ก่อนจะดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจเช่นนั้น ก็ฝากให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าด้วยความรอบคอบด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น