ลองคิดใหม่ กับ นโยบาย "เพื่อไทย"
นโยบายของพรรคเพื่อไทยซึ่งกำลังจะเป็นแกนนำรัฐบาลในไม่ช้านี้ มีประเด็นที่สำคัญซึ่งอาจก่อปัญหาให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี หากลองคิดใหม่อีกรอบโดยเปลี่ยนวิธีการบ้าง ก็อาจดำเนินนโยบายที่สัญญากับประชาชนไว้ได้ โดยเป็นการ "ผ่าทางตัน" ที่สวยงาม
1. ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ยากเย็นอย่างยิ่ง เพราะ บางจังหวัดนั้นมีค่าแรงขั้นต่ำเพียง 160 บาทเท่านั้นเอง การยกระดับสูงขึ้นถึงเกือบเท่าตัว อาจทำให้ SME บางแห่งไม่สามารถรับภาระนี้ไว้ได้ แม้ พรรคเพื่อไทย จะเสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ 23% เพื่อแบ่งเบาภาระของภาคเอกชนก็ตาม คนทีรับประโยชน์กลับกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ปตท. เครือซีพี เครือซีเมนต์ไทย ธนาคารขนาดใหญ่ บริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีแรงงานขั้นต่ำอยู่น้อยมากๆ ขณะที่ SME ซึ่งมีการจ้างงานสูงอาจได้รับผลกระทบจนต้องปลดคนงาน หรือ ถึงขั้นปิดกิจการก็เป็นได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงตามมาได้
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ก็อาจเป็น "เบี้ยกรรมกร" โดยจ่ายให้กับแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 7.5 พันบาทต่อเดือน (ทำงาน 25 วัน) อุดหนุนให้ไม่เกินหัวละ 1 พันบาทต่อเดือน อาจต้องจ่ายราว 5 ล้านคน งบประมาณราวๆ 6 หมื่นล้านบาท
เป็นเรื่องบังเอิญที่หลังจากผมคิดวิธีนี้แล้ว ไปค้นดูกลับพบว่าแนวคิดนี้ไปตรงกันกับของ "มิลตัน ฟรีดแมน" เจ้าสำนักการเงินนิยม (Monetarism) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในรอบศตวรรษ เคียงคู่กับ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้แนะนำว่ารัฐบาลควรใช้วิธี "ภาษีติดลบ" หรือ การให้เงินอุดหนุนกับแรงงานรายได้ต่ำ แทนที่จะจ่ายเงินสวัสดิการการว่างงาน จะทำให้กลไกตลาดทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงกว่า ดังนั้น หากมีนักวิชาการวิจารณ์ในเรื่องนี้ รัฐบาลก็อาจโต้กลับไปได้ว่า "นี่เป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ระดับปรมาจารย์เชียวนะ"
เมื่อจ่ายเงินอุดหนุนไปแล้ว ก็หวังว่าค่าตัวทวี (multiplier) ของ เคนส์ จะทำงานอย่างดี หากได้ตัวทวีที่ 6 เท่า รัฐบาลจะเก็บภาษีได้ 17% (ตามค่าเฉลี่ยปัจจุบัน) ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะทำให้ผลลัพธ์สุดท้าย คือ รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มได้เท่ากับ เงินอุดหนุนที่จ่ายไป จึงไม่ได้ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
เมื่อทำเช่นนี้แล้ว ข้อดีก็คือ ภาคเอกชนไม่ได้มีภาระต้นทุนเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันยังคงเดิม จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า นอกจากนี้ ยังสนับสนุนแรงงานไทยให้ได้ประโยชน์มากกว่า แรงงานต่างด้าวอีกด้วย จากเงิน 1 พันบาทที่อุดหนุนไป
2. ปริญญาตรี 1.5 หมื่น : ก็ทำด้วยหลักการคล้ายกัน คือ อุดหนุน "เบี้ยบัณฑิต" จ่ายให้ไม่เกิน 2 พันบาทต่อหัว อาจจ่ายราว 1 ล้านคน และใช้งบประมาณราว 2.4 หมื่นล้าน ด้วยการจ่ายเงินอุดหนุน 2 ข้อนี้ จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมของรัฐบาลต่อคนราว 6 ล้านคนอย่างเร็ว
3. จำนำข้าวเปลือก 1.5 หมื่นต่อตัน : ถูกโจมตีว่าอาจต้องใช้เงินภาครัฐถึง 4.5 แสนล้านบาท และ อาจขาดทุนได้นับแสนล้าน
ทางแก้ไขก็อาจเป็น แนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์ไทเก๊ก (Taiji-Econ.) ก็คือ "ยืมพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน ในเคลื่อนมีนิ่ง" ดังนั้น รัฐบาลควรยืมแรงจากกองทุนบำนาญ 3 ล้านล้านบาท (กบข. สปส. สำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต) โดยกำหนดให้ต้องลงทุนในกองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย หรือ สัญญาซื้อล่วงหน้าในตลาด AFET ไม่ต่ำกว่า 5% ของเงินกองทุน ก็จะทำให้เงินถึง 1.5 แสนล้านบาท มาช่วยรัฐบาลซื้อข้าวเก็บเข้าสต๊อก โดยรัฐบาลไม่ต้องใช้เงินเลย หากราคายังสูงไม่พอ ก็อาจปรับขึ้นเป็น 7.5% และ 10% ของเงินกองทุนบำนาญได้ตามลำดับ
"ในเคลื่อนมีนิ่ง" คือ เปลี่ยนข้าวจาก "สินค้า" (flow)เพื่อการบริโภค ให้เป็น "สินทรัพย์" (stock) เพื่อการลงทุน ด้วยเงินตรงนี้ก็อาจซื้อข้าวเป็นสต๊อกถาวรได้ถึง 5 ล้านตัน (แต่หมุนเวียนเพื่อไม่ให้เสื่อมคุณภาพ) และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" เมื่อเก็บสต๊อกจำนวนมาก (stock) ราคาข้าวก็จะสูง ทำให้ชาวนามีรายได้ (flow) สูงขึ้นมาก รัฐบาลจึงไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแค่ยืมพลังเท่านั้น
นี่จึงเป็นสถานการณ์แบบ win-win-win โดยรัฐบาลไม่เสียเงินเลยแม้แต่น้อย กองทุนบำนาญได้ลงทุนในข้าว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารแก่ผู้เกษียณ และ ชาวนาได้มีรายได้สูงขึ้น
อยากฝากเรื่องนี้ให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาดูด้วย เพราะ หากดำเนินนโยบายทั้ง 3 เรื่องนี้โดยไม่คิดให้รอบคอบ อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก แต่หากดำเนินการด้วยวิธีการข้างบน ก็น่าจะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น โดยใช้เงินภาครัฐน้อยลงก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น