วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทางออกสวยหรู แด่ยูโรโซน

ยูโรโซน กำลังประสบกับปัญหาครั้งใหญ่ โดยมีวิกฤติทับซ้อนกันถึง 4 เรื่อง คือ วิกฤติการคลัง วิกฤติการว่างงาน วิกฤติขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และ วิกฤติเงินยูโร แต่สิ่งที่ IMF, EU และ ECB พยายามทำอยู่ก็คือ การซื้อเวลา เท่านั้นเอง ต้นตอปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้แก้ไขเลยแม้แต่น้อย มันคืออะไรมาลองมาดูกันครับ

เมื่อดูตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็อาจแบ่งประเทศได้เป็น 4 กลุ่มประเทศ คือ
1. กลุ่มเกรด A เช่น เยอรมัน และ เนเธอร์แลนด์ แข่งขันได้ดีมากๆ ภายใต้ค่าเงิน "ยูโร" จึงได้ดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 5.7% และ 7.7% ของ GDP ตามลำดับ อาจกล่าวได้ว่า ค่าเงินที่เหมาะสมของ 2 ประเทศนี้ควรจะแข็งค่ากว่า "ยูโร" เพื่อให้เกิดสมดุล
2. กลุ่มเกรด B เช่น ฝรั่งเศส และ เบลเยี่ยม จะมีการได้ดุลและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2.5% โดย 2 ประเทศนี้ตัวเลขอยู่ที่ -2.1% และ +1.4% GDP ตามลำดับ จัดได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่เหมาะสมการใช้เงิน "ยูโร" มากที่สุด
2. กลุ่มเกรด C เช่น สเปน และ อิตาลี ยังไม่แข่งขันไม่ดีนัก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -4.5 และ -3.3% GDP ตามลำดับ ดังนั้น ค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ ควรอ่อนค่าลงกว่าปัจจุบัน (ยูโร) เล็กน้อย เพื่อให้เกิดสมดุล
3. กลุ่มเกรด D เช่น กรีซ และ โปรตุเกส แข่งขันแทบไม่ได้เลยกับค่าเงิน "ยูโร" โดยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ -10.5 และ -9.9% GDP ตามลำดับ ค่าเงินของ 2 ประเทศนี้ ควรอ่อนค่าลงอย่างมากๆ แทนที่จะใช้ "ยูโร" เพื่อให้เกิดสมดุลขึ้นได้

ดังนั้นการที่ IMF, ECB พยายามชี้ประเด็นว่า ปัญหาอยู่ที่วิกฤติการคลังนั้น อาจเป็นการชี้ไม่ตรงประเด็นกับต้นตอของปัญหาที่แท้จริง หากจะยืดอกยอมรับตรงไปตรงมาก็อาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร คือ ความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวงของระบบเศรษฐกิจโลก" เป็นการผูกระบบเศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งแตกต่างกันอย่างมากมายเข้าไว้ด้วยกันถึง 17 ประเทศ ในที่สุดจะสร้างหนี้สินต่างประเทศกับกลุ่มประเทศอ่อนแออย่างมากมาย เพราะ ค้าขายขาดดุลตลอด และเปิดโอกาสให้ใช้เงินเกินตัวได้ด้วยค่าเงินที่แข็งเกินจริง

โดยวิกฤติที่เกิดในลักษณะนี้ได้เห็นกันมาบ้างแล้ว เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก วิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนติน่า และที่สำคัญก็คือ วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย ล้วนแล้วแต่เกิดจากการปล่อยให้เกิดภาวะสัญญาณ 333 (Triple 3 Crisis Signal) ทั้งสิ้น คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกินกว่า 3% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และ ผลตอบแทนพันธบัตรสูงกว่าค่าอ้างอิงเกินกว่า 3% โดยประเทศในเอเชียที่เกิดเหตุการณ์นี้จนน่าจับตาว่าอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ ก็คือ เวียดนาม สำหรับในยุโรปนั้นก็คือ กรีซ โปรตุเกส (กลุ่ม D) นั้นแน่นอนว่าเกิดวิกฤติไปแล้ว สำหรับประเทศที่กำลังมีปัญหาตอนนี้ก็คือ อิตาลี และ สเปน (กลุ่ม C)

การให้เงินช่วยเหลือนั้นเป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น แต่การเดินหน้า แตกเงิน "ยูโร" เป็น 4 สกุล (อาจเป็น Euro-A, Euro-B, Euro-C และ Euro-D) ต่างหากที่น่าจะเป็นทางออกที่สวยงามและตรงประเด็น โดยแต่ละกลุ่มประเทศก็ใช้ค่าเงินที่แตกต่างกันไป อาจสร้างสรรค์ให้เป็นการ "แตกเพื่อโต" โดยอาจเชิญประเทศใน EU ที่ยังไม่เข้าใน "ยูโรโซน" ให้เข้ามาร่วมใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็จะเป็นการสร้างต้นแบบของเงินในเอเชียได้ด้วย โดยประเทศแข็งแรงก็จะมีค่าเงินแข็ง ขณะที่ประเทศอ่อนแอก็จะมีค่าเงินอ่อน ก็จะเกิดการปรับตัวทางเศรษฐกิจได้เองเพราะค่าเงินอ่อน ย่อมส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยวอยู่แล้ว จะทำให้กรีซ โปรตุเกส กลับมาได้ดุลบัญชีเดินสะพัด และ ลดหนี้สินต่างประเทศได้อย่างเร็ว ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรนักกับประเทศไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ในที่สุดก็ผ่านมาได้อย่างสวยงาม

ประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือ สเปน และ อิตาลี ซึ่งมีขนาดใหญ่ติด 10 อันดับแรกของโลก ใหญ๋เกินกว่าที่จะเข้าไปอุ้มไหว หากมีความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีการถอนเงินทุนออกจากประเทศที่เสี่ยงระดับเกรด C นี้ ส่วนต่าง (spread)ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสเปน และ อิตาลี กับ Bund (พันธบัตรของเยอรมัน) เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% และ 3.1% แล้ว (วันที่ 20 ก.ค.)ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณแห่งการแตกตัวของระบบ "ยูโร" ที่ชัดเจนมากๆ เพราะค่านี้เป็นตัวชี้ว่า สเปน และ อิตาลี ไม่เหมาะที่จะใช้ค่าเงิน "ยูโร" เหมือนกับ เยอรมัน อีกต่อไปนั่นเอง

หากจะสรุปแนวคิดตาม Taiji-Econ. ก็คือ "ยืมพลัง" กองทุนบำนาญมาแทน พลังงบประมาณภาครัฐ เพื่อช่วยเปลี่ยน "นิ่งเป็นเคลื่อน" ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้หลายรอบ รวมถึง รัดเข็มขัดการคลังในโครงการประเภทเงินจมในกองทุน ก็จะกลับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นแทนที่จะแย่ลง ดังนั้นจะแก้ไขทั้งวิกฤติการคลังและวิกฤติการว่างงานไปได้ ขณะเดียวกันก็ "ยืมพลัง" อัตราแลกเปลี่ยนมาเพื่อปรับสมดุล กระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้ได้ดุลบัญชีเดินสะพัด และ กลไกสมดุลที่บกพร่องไปเพราะระบบเงินยูโรก็จะกลับสู่ภาวะปกติได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น