วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

2 ทฤษฎีใหม่ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

อุทกภัยครั้งใหญ่นี้ได้สร้างความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมจำนวนหลายแห่งในเขตอยุธยา ปทุมธานี และ กระทบต่อแรงงานจำนวนถึง 6 แสนคน มูลค่าความเสียหายอาจสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท รัฐบาลวางแผนการขาดดุลการคลังเพิ่มเป็น 4 แสนล้าน และ อาจมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในสาธารณูปโภคแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ขณะที่ ธปท.ก็ทรงอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อต่อไป

2 ทฤษฎีใหม่นี้คืออะไร แตกต่างจากทฤษฎีเก่าอย่างไร และ จะช่วยเศรษฐกิจไทยแบบไหน

1. การคลังไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Theory) คือ นโยบายการคลังที่เน้นการ "ยืมพลัง"จากแหล่งอื่นๆ แทนการใช้งบประมาณลงไปตรงๆ เช่น การให้ผู้ประกันตนและ ข้าราชการ ยืมเงินออมตนเองในระบบประกันสังคม และ กบข.ได้ 9 ส่วน ดอกเบี้ย 9% และ ผ่อนต่อเดือนที่ 0.9% (บัตรบำนาญ999) จะส่งผลให้เงินสินเชื่อเข้าถึงมือผู้ประกันตน และ ข้าราชการ ได้ราว 5 แสนล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินกู้เพิ่มอันเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะขึ้นไปอีก การหมุนเงินหลายรอบโดยภาคเอกชนจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยตรงในด้านอุปสงค์

หากใช้แนวคิดตามทฤษฎีเดิม การอัดฉีดเงินภาครัฐผ่านงบประมาณ ก็อาจจะไปเพิ่มหนี้สาธารณะได้ถึง 1 ล้านล้านบาทภายในปีเดียว ผลักดันให้สัดส่วนต่อ GDP สูงขึ้นถึงระดับ 50% ได้ในเวลาอันเร็ว นั่นหมายถึง ประเทศไทย เข้าไปเดินบนถนนเส้นทางเดียวกันกับ กรีซ อิตาลี และ ญี่ปุ่น หรือ ติด "กับดักเคนส์" คือ อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ สูงกว่า อัตราการเพิ่มของ nominal GDP ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่หากเลือกเดินตามทฤษฎีใหม่ หนี้ภาครัฐต่อ GDP น่าจะทรงตัว

2. การเงินไท้เก๊ก (Taiji Monetary Theory) คือ นโยบายการเงินที่มุ่งเป้าที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth Targeting) แทนที่ การมุ่งเป้าเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) ด้วยแนวคิดนี้เอง กนง.ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยราว 0.5% 3 ครั้งติดกัน เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไทยไว้ให้ได้ หากเป็นทฤษฎีเดิมนั้น กนง.ก็จะคงดอกเบี้ยต่อไปเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ

"การเงินไท้เก๊ก" ไม่เชื่อว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้ และ มีแนวโน้มว่าจะมีผลในทางตรงข้ามด้วยซ้ำเพราะไปเพิ่มต้นทุนของดอกเบี้ยไปอีก สมการ nominal rate = real rate + inflation ก็ส่งสัญญาณว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ย (nominal rate) มีผลในการสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real rate) สูงขึ้น และ ยังกลับส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ (inflation) สูงขึ้นอีกด้วย ทฤษฎีใหม่นี้เชื่อว่า การขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ย ควรเป็นไป เพื่อชะลอหรือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กนง.ควรเลือกการลดดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง 3 ครั้งติดต่อกัน มากกว่า การคงดอกเบี้ยเอาไว้ และ ติด "กับดักเงินเฟ้อ" ต่อไป

บทสรุปตรงนี้ก็คือ ทฤษฎีการคลังและการเงินเดิมๆ นั้นมีจุดบกพร่องอยู่ ผมจึงขอวิงวอนให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศได้มีโอกาสศึกษาทฤษฎีใหม่ทางการเงิน และ การคลัง เพื่อปรับนโยบายเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยของเราครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น