วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

พรก.โอนหนี้...สิ่งนี้มีสร้างสรรค์

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ โจมตี พรก.โอหนี้ไปสู่กองทุนฟื้นฟูฯ และ ให้ ธปท.ดูแลการชำระหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จะกระทบกับประชาชนผู้ฝากเงินกู้เงิน รวมไปถึงเสถียรภาพของ ธปท.ได้ อย่างไรก็ดี ผมกลับพบว่ามีเรื่องน่าสนใจที่สร้างสรรค์ แทนที่จะเป็น "พรก.สร้างปัญหา" แต่กลับเป็น "พรก.แก้ปัญหา" อย่างดี

- ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้เร็วขึ้น : โดยการยืมพลังจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แทนที่การปล่อยให้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ที่เก็บไว้ในสถาบันคุ้มครองเงินฝากจมอยู่เฉยๆ หรืออาจฝากแบงก์ได้ ดบ.1% ก็จะสร้าง GDP ได้ราว 450 ล้านบาท รัฐบาลยืมพลังของเงินก้อนหนี้ "ในนิ่งมีเคลื่อน" หากคิดว่าเงินนี้ไปเป็นเบี้ยยังชีพคนชราและคนพิการ 7.5 ล้านคนๆ ละ 6 พันบาท ซึ่งจะใช้จ่ายเงินที่รับมาเกือบทั้งหมด จึงสร้างตัวทวีมีค่าสูงที่ 3 เท่า ดังนั้น จะเพิ่ม GDP ได้ราว 1.35 แสนล้านหรือราว 1.1% นั่นหมายถึง ศก.ไทยจะเติบโตสูงกว่าระดับปัจจุบันเพิ่มอีก 1.1% ทุกๆ ปีฟรีๆ

- ลดเหลื่อมล้ำ : ธนาคารพาณิชย์อาจได้กำไรลดลงไปบ้าง เพราะ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มจาก 0.4% เป็น 0.46% โดยที่ไม่สามารถผลักภาระให้กับประชาชนได้ เพราะ มีการแข่งขันเข้มข้นจากแบงก์รัฐอยู่สูง  มีการประเมินว่ากำไรอาจลดลงราว 5% นั่นเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่า กำไรที่ลดลงของนายแบงก์ (นายทุน) นั่นหมายถึง เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านนั่นเอง ประเทศไทยมีผลตอบแทนของส่วนทุนที่สูงเกินไปที่เป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของ GDP ขณะที่แรงงานนั้นได้เพียง 40%   การลดกำไรของนายทุนลงมา ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น หมายถึงว่า ผลตอบแทนของแรงงานสุทธิแล้วจะสูงขึ้นมากนั่นเอง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางที่มีอยู่สูงให้ลดลงไปด้วย

- บาทอ่อน ธปท.กำไร : อาจมีนักลงทุนต่างชาติบางคนไม่เข้าใจนึกว่าเป็นการซ่อนหนี้  ก็เลยยขายเงินออกมานำเงินออกไป นั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะ หากว่า บาทอ่อนค่าลงราว 5% เมื่อเทียบกับเงินตรา ตปท.โดยเฉลี่ยแล้ว ธปท.จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมา 3 แสนล้านบาทได้เลย ซึ่งสามารถนำเงินนี้บางส่วนไปลดหนี้เงินต้นให้หมดลงเร็วกว่า 20 ปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ด้วย และ แน่นอนนี่คือ การช่วยสนับสนุนการส่งออก และ ท่องเที่ยวไปด้วยในตัว

- ลดภาระการคลัง:  สิ่งที่ตรงไปตรงมาก็คือ ลดภาระการจ่ายดอกเบี้้ยของภาครัฐได้ถึง 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี  ซึ่งเป็นตัวเงินสูงมาก  นอกจากนี้ยังมีการหักเงินต้นไปเรื่อยๆ  หมายถึง หนี้สินส่วนของกองทุนฟื้นฟูจะลดลงอย่างต่อเนื่องและน่าจะหมดไปภายใน 20 ปี  ซึ่งหมายถึง ไทยได้สร้างแผนในการลดหนี้สินภาครัฐที่สูงกว่า 1 ล้านล้านบาทที่เป็นปัญหาสะสมมาตั้งแต่สมัยวิกฤติต้มยำกุ้งลงได้อย่างดี

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า พรก.นี้คือ "ตัวสร้างปัญหา" ผมกลับมองว่า นี่คือ "ตัวแก้ปัญหา" นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า การขึ้น ดบ.คือ "สกัดเงินเฟ้อ" ผมกลับมองว่า มันช่วย "เร่งเงินเฟ้อ" ต่างหาก นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมองว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) คือ "สิ่งยอดเยี่ยม" ของเศรษฐกิจไทย ผมกลับมองว่า น่าจะเป็น "สิ่งยอดแย่" ต่างหาก เป็นเพราะ กรอบการมองของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปนั้นใช้ "กรอบทฤษฎีเก่าๆ" แต่ผมมองผ่านกรอบทฤษฎีใหม่ เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (taiji-econ.) นั่นเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น