วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

ทักษิณาภิวัฒน์

หากคิดว่า ผมจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมืองว่าคำนี้แปลว่า ความรุ่งเรืองของ "ระบอบทักษิณ" ละก็...ท่านผู้อ่านคิดผิดถนัด สิ่งที่มีความหมายในทำนองนั้นมีการบัญญัติศัพท์ไว้อยู่แล้วอย่างไม่เป็นทางการว่า "ทักษิณาธิปไตย" แต่สิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้เกี่ยวกับกระแสเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกต่างหาก

สิ่งนี้ประยุกต์แนวคิด "บูรพาภิวัฒน์" ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพียงแต่ผมมองว่า ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมิได้ย้ายขั้วจาก "ตะวันตก" มาเป็น "ตะวันออก" แต่เป็น "เหนือ" ลงสู่ "ใต้" ต่างหาก ดังนั้น "ทักษิณาภิวัฒน์" จึงอาจแปลง่ายๆได้ว่า "ความรุ่งเรืองจากแดนใต้" โดยแต่ก่อนจะมี 3 ขั้วอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และ ยุโรป ปัจจุบันพื้นที่ทางใต้ของ 3 ขั้วอำนาจนี้มีพลวัตรมากขึ้น ฝั่งใต้ของสหรัฐอเมริกา คือ อเมริกากลางและใต้ ฝั่งใต้ของรัสเซีย คือ จีน อินเดีย และ อาเซียน ส่วนฝั่งใต้ของยุโรป ก็คือ แอฟริกานั่นเอง

มี 3 ปัจจัยที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง "ทักษิณาภิวัฒน์"

1. GDP ต่อหัว และ ประชากร : เนื่องจากประเทศที่อยู่แดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย (จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) อเมริกาใต้ (บราซิล อาร์เจนติน่า) แอฟริกา (อียิปต์ ไนจีเรีย) ล้วนเป็นประเทศที่มี GDP ต่อหัวต่ำ ขณะที่มีประชากรจำนวนมาก การพัฒนาในอนาคตจึงมีการเติบโตของ GDP สูงจากฐานที่ต่ำ และ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมากจากจำนวนประชากรหลายร้อยล้าน หรืออาจถึงพันล้านคน

2. อายุเฉลี่ยของประชากร (median age):โดยประเทศพัฒนาแล้วทางเหนือจะมีอายุเฉลี่ยที่สูงมาก เช่น ญี่ปุ่น(45 ปี) และ ยุโรป มีพลวัตรที่ต่ำ ขณะที่ประเทศบริเวณเอเชียใต้ และ อาเซียน จะมีประชากรที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่ามาก อินเดีย (26) พม่า (27) อินโดนีเซีย (28) เวียดนาม (28) ฟิลิปปินส์ (23)ซึ่งหมายถึง ศักยภาพของพลวัตรอยู่ในระดับสูงกว่ามาก โดยที่ จีน (36) และ ไทย (34) อยู่ระดับกลางๆ ดังนั้น ศักยภาพของพลวัตรด้านโครงสร้างประชากรแล้ว ไทย จึงดูจะเสียเปรียบเพื่อนบ้านใน อาเซียน และ จีนก็ดูเหมือนจะสู้ อินเดียและเอเชียใต้ไม่ได้ นี่เป็นผลด้านลบที่สะท้อนมาจากนโยบายการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีอัตราการเกิดจึงต่ำ และ การแพทย์ที่มีคุณภาพสูงทำให้ประชากรมีอายุยืนนานขึ้น

3. หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP : ประเทศที่มีค่านี้สุงสุดในโลก 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น (220%)กรีซ (143%)และ อิตาลี (119%) ตามลำดับ พบว่า มีค่าเฉลี่ยของอายุประชากรที่ติด top ten ของโลก โดยกรีซอยู่ที่ 42.5 ปี และ อิตาลีอยู่ทีี่ 43.5 ปี ซึ่งสูงมาก นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การที่ภาครัฐต้องเข้าไปอุดหนุนประกันสังคมทั้งด้าน เบี้ยบำนาญ และ การประกันสุขภาพ ของผู้สูงอายุ ขณะที่ GDP แทบไม่เติบโต จึงทำให้ต้องติดหนี้สาธารณะจำนวนมาก ขณะที่ ประเทศกำลังพัฒนาทางใต้นั้น จะมีตัวเลขหนี้สินภาครัฐยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า รัฐบาลจึงมีศักยภาพในการส่งพลังช่วยเศรษฐกิจได้มากกว่า จีน (18%) อินโดนีเซีย (27%) ไทย (41%) ฟิลิปปินส์ (47%) เวียดนาม (53%)

3 แนวโน้มของ "ทักษิณาภิวัฒน์"

1. ขนาดของเศรษฐกิจของประเทศแดนใต้ จะเติบโตเร็วก่า และจะมีขนาดใหญ่กว่า ประเทศพัฒนาแล้วแดนเหนือ ด้วยเหตุผลของจำนวนประชากรที่มากกว่าหลายเท่า และ พลวัตรของโครงสร้างประชากรที่คนในวัยทำงานที่มากกว่า อินเดีย จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าเยอรมัน บราซิลจะใหญ่กว่าฝรั่งเศส และ อินโดนีเซีย น่าจะใหญ่กว่า เกาหลีใต้

2. ประเทศพัฒนาแล้วทางเหนือจะพึ่งพาสินค้าของแดนใต้มากขึ้น ไม่เพียงสินค้าเกษตรเท่านั้น สินค้าอุตสาหกรรมทั้ง โลว์เทค (เสื้อผ้า รองเท้า) ไฮเทค (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์) รวมไปถึง ภาคบริการ (การแพทย์และท่องเที่ยว) ด้วย นอกจากนี้ การพึ่งพากันเองของประเทศแดนใต้จะเข้มข้นขึ้นทั้งด้านการลงทุน การแบ่งผลิตชิ้นส่วน การค้าระหว่างประเทศ โดยรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (เช่น AEC) จากเดิมแทนที่จะมุ่งส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก ตามขนาดของเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว ภาระภาษีศุลกากรที่แทบไม่มี และ ต้นทุนการขนส่งก็ต่ำลง

3. จะมีการเคลื่อนย้ายประชากรวัยเกษียณ จากประเทศพัฒนาแล้วสู่ประเทศกำลังพัฒนาแดนใต้มากขึ้น จะทำให้สามารถซื้อสินค้าและบริการได้ในต้นทุนที่ต่ำลงมาก กำลังซื้ออาจเพิ่มขึ้นได้อีก 4-5 เท่าตัว หลายคนอาจเลือกที่จะเป็น "คนรวยในต่างแดน ดีกว่าเป็นคนจนในบ้านเกิด" หากมองในมุมของรัฐบาล การลดภาระการคลังจากการดูแลสุขภาพคนชรา ที่ญี่ปุ่นจ่ายอยู่หัวละ 4 แสนบาทต่อปี หากมาอยู่ประเทศไทยต้นทุนอาจเหลือแค่ 4 หมื่นบาทหรือแค่ 1 ใน 10 ดังนั้น หากมีการอพยพย้ายถิ่นกัน 1 ล้านคน หมายถึง รัฐบาลญี่ปุ่นอาจลดภาระการคลังได้ถึง 3.6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ประเทศไทยก็มีรายได้การดูแลสุขภาพเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านต่อปีเช่นกัน

ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมวางโครงข่ายคมนาคมแบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมไปยัง จีน อินเดีย และ ประเทศในอินโดจีนได้ทั้งหมด อาจวางยุทธศาสตร์ให้ "ขอนแก่น"เป็นเมืองหลวงอินโดจีนและเป็นเมืองหลวงสำรองของไทย โดยใช้เป็นจุดตัดของรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง (เวียงจันทน์-ขอนแก่น-กทม.-ทวาย และ ย่างกุ้ง-ขอนแก่น-ดานัง) วางกลยุทธ์ด้าน "แรงงานต่างด้าว" ให้ดีเพื่อเพิ่มพลวัตรด้านประชากร จัดระบบพร้อมรับรายได้จากคนเกษียณจากประเทศพัฒนาแล้ว ควรเตรียมพร้อมรับกระแสเมกะเทรนด์ "ทักษิณาภิวัฒน์"

สำหรับภาค 2 ซึ่งอาจเป็นบทความที่ว่า การเมืองแบบ "ทักษิณาธิปไตย" ที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบ "ทักษิโณมิกส์" จะตอบรับกับกระแส "ทักษิณาภิวัฒน์" ได้ดีเพียงใดนั้น คงต้องรอให้คนของรัฐบาลชุดนี้มาเขียนให้พวกเราอ่านต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น