วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ECB : ผู้ไม่เข้าใจในปัญหา

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมากๆ   การที่ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB)  พูดว่า "ผมจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาระบบยูโรไว้"   อาจสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนส่วนใหญ่   แต่กับนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหาแล้ว   ประโยคนี้น่าหวั่นวิตกเป็นอย่างยิ่ง  เปรียบเสมือนการพูดว่า "ผมจะพยายามแก้ไขปัญหาทุกวิถีทาง  เพื่อรักษาต้นตอของปัญหาไว้"  นั่นเอง   ECB ได้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงในยูโรโซนจริงหรือ ??

หากการไม่เข้าใจถึง "สมุทัย" แล้ว  ยิ่งไม่ต้องพูดถึง "มรรค" และ "นิโรธ" กันเลย  การที่ ECB มองว่าปัญหาทั้งมวลในยูโรโซน  นั้นเกิดจากการขาดดุลการคลังที่สูง รวมไปถึงหนี้ภาครัฐที่สูงเกินไป  นั้นเป็นการมองปัญหาที่ปลายเหตุ  ตัวอย่างเช่น  ทำไมสเปน ซึ่งมีหนี้ภาครัฐเพียง 69% GDP  จึงมีปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสกว่า  อังกฤษ (85%)  อเมริกา (103%)  และ ญี่ปุ่น (212%)  อย่างมาก   ถึงแม้จะดูที่การขาดดุลการคลัง  สเปนที่ 4.5% นั้นก็ต่ำกว่าระดับ 7-8% GDP  ของประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 นั้นอยู่หลายขุม

เหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงในยูโรโซนก็คือ "ระบบเงินยูโร" นั่นเอง  ด้วยการผูกค่าเงินประเทศแข็งแรงกับประเทศอ่อนแอไว้ด้วยกัน   ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศอ่อนแอ (PIIGS)  ขาดดุลอย่างมาก   ส่งผลให้หนี้สินต่างประเทศสะสมต่อเนื่อง   เป็นลักษณะอาการเดียวกันกับ วิกฤติเตกีล่าของเม็กซิโก และ วิกฤติต้มยำกุ้งของไทย  ต่างหาก

เมื่อมองเหตุแห่งปัญหาผิดๆ  ก็เลยแก้ไขปัญหาแบบผิดๆ เช่น
- แทนที่จะให้  กรีซ ได้ใช้ค่าเงินที่เหมาะสม  ECB กลับให้กรีซทนใช้ค่าเงินที่ไม่เหมาะสม (เงินยูโร) ต่อไป  ทั้งๆที่ค่าเงินที่เหมาะสมในการสร้างสมดุลบัญชีเดินสะพัดได้ค่าเงินควรจะอ่อนกว่านี้ราว 20-25%  
- แทนที่จะให้กรีซ สร้างสมดุลกับต่างประเทศได้  ปรากฏว่าการดำรงเงินยูโรไว้  ทำให้กรีซ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 9.8% GDP  ในปี 2011  แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่มากๆ แล้วก็ตาม  เมื่อดูจากการขาดดุลสะสมที่่มากกว่า 5% GDP ต่อเนื่องกัน 12 ปีแล้ว  อาจกล่าวได้ว่าอาการของวิกฤติในกรีซ ดูจะย่ำแย่กว่า วิกฤติต้มยำกุ้งของไทยเสียอีก  
- แทนที่จะมุ่งทำให้เศรษฐกิจกรีซฟื้นตัว  กลับบังคับให้ "รัดเข็มขัดการคลัง"  ทำให้เกิดการว่างงานมากขึ้นเรื่อยๆ สูงกว่าระดับ 25% ไปแล้ว  และ ไม่มีวี่แววจะดีขึ้นแต่อย่างใด  ประชาชนจำนวนมากต้องไปคุ้ยถังขยะเพื่อหาอาหารใส่ท้องกิน  จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วประเทศ

"การรัดเข็มขัด" จะส่งผลให้เศรษฐกิจแย่ลง  รายได้รัฐบาลลดลงไปด้วย  จึงทำให้ไม่สามารถรัดเข็มขัดได้ตามแผน   ซึ่งเป็นปัญหาที่เรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด"  (paradox of austerity)  ซึ่งเคนส์ก็ได้เตือนเรื่องแบบนี้ไว้แล้วถึง 80 ปีก่อนหน้านี้   

หากจะวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาก็คือ  "โลกอยู่ในภาวะที่อันตรายอย่างยิ่ง  เพราะ ปล่อยให้องค์กรที่ไม่เข้าใจถึงต้นตอปัญหาที่แท้จริง  เข้ารับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในยุโรป   การแก้ไขปัญหาจึงผิดทิศผิดทาง และ ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง"  

ทางออกของเรื่องนี้คือ การใช้ทฤษฎีใหม่อย่าง "FX ไท้เก๊ก" เพื่อให้ PIIGS ได้ใช้ค่าเงินที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจของประเทศตนเอง  โดยการแบ่งค่าเงินเป็น 3 ระดับ Eura Euri และ Euro ก็น่าจะเป็นเรื่องที่จะช่วยสร้างทั้ง ดุลยภาพ และ เอกภาพในยุโรปได้   ส่วน "การคลังไท้เก๊ก" ก็ควรนำมาเชื่อเพื่อให้ประเทศ กรีซ สเปน สามารถรัดเข็มขัดการคลัง  ไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้  โดยใช้แนวคิด "การยืมพลัง" และ "ในนิ่งมีเคลื่อน" มาช่วย   ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดนอกกรอบของทฤษฎีเคนส์แบบเดิมๆ  

สำหรับประเทศอเมริกา และ ญี่ปุ่นนั้น  จำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลังในปี 2013 เพราะหนี้สินภาครัฐเริ่มสูงเกินไปแล้ว  แม้จะไม่ถึงขั้น "หน้าผาการคลัง" (fiscal cliff)  แต่ก็น่าจะเป็นระดับ  "ทางลาดการคลัง" (fiscal slope)  และ การรัดเข็มการคลังราว 3 แสนล้านเหรียญ สรอ. หรือราว 2% GDP ของสหรัฐอเมริกา ก็อาจผลักให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบ 2 ได้ไม่ยาก  ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างกับญี่ปุ่นนัก  

"วิกฤติหมูหัน" จึงเดินหน้ามาเยือนโลกของเราอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  และ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ ทั้งการคลัง การเงิน อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันไม่สามารถต่อกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผมจึงได้คิดค้นทฤษฎีใหม่ออกมา 4 ทฤษฎี  ประกอบกันขึ้นเป็นศาสตร์แขนงใหม่ของโลก  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  (Taiji-Econ.)   กลายเป็นรูปเล่มแล้วด้วยการสนับสนุนของ "กรุงเทพธุรกิจ"   ซึ่งหากแปล "ไท้เก๊ก" เป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "supreme ultimate"   ดังนั้น  ศาสตร์ใหม่นี้ก็คือ  "เศรษฐศาสตร์ขั้นสุดยอด"  นั่นเอง

ผมเชื่่อมั่น 99.99% ว่า  นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเกือบทุกท่านไม่รู้จักว่า "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" คืออะไรและมีประโยชน์อะไรต่อเศรษฐกิจโลก   นี่นับเป็นโอกาสซึ่งมีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่นักศึกษาและคนไทยจะสามารถมีความรู้ทฤษฎีใหม่ๆ ที่ล้ำหน้ากว่าชาติใดๆ ในโลก   โดยศาสตร์แขนงใหม่นี้อาจเป็นก้าวแรกของ "การปฏิวัติการศึกษาไทย"  ก็เป็นได้   หากสนใจก็ลองหาอ่านดูนะครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น