วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

2013 : ไฟลามทุ่ง

ย้อนอดีตกลับไปหลังเกิด "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์"  ปี 2008 ทั่วทั้งโลกต่างเร่งระดมกันใช้นโยบายการคลัง  ซึ่งเป็นการ "ใช้น้ำ" จำนวนมหาศาลเพื่อเร่งดับไฟที่ลุกโหม   ซึ่งก็พอจะทำให้ไฟดับได้เกือบสนิท  แต่อย่างไรก็ดี  ยังมีประเทศหนึ่งที่เรียกได้ว่าอ่อนแอที่สุด   กลายเป็นศูนย์กลางของการลุกไหม้ครั้งใหม่ นั่นก็คือ "กรีซ" โดยประเทศนี้ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบ 2 (double dip recession)  ก่อนประเทศอื่นๆ  ในโลกตั้งแต่ปี 2010

หลังจากนั้น  วิกฤติหนี้ยุโรป  ซึ่งความจริงแล้วต้นเหตุไม่ใช่ "หนี้การคลัง" แต่เป็น "หนี้สินต่างประเทศ" อันเนื่องมาจาก "กับดักยูโร" ที่ผูกประเทศอ่อนแอและแข็งแรงไว้ด้วยกัน  ส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด และ เกิดการสะสมหนี้ต่างประเทศจำนวนมากในประเทศอ่อนแอของยูโรโซน (PIIGS)   โดยไฟได้ลุกลามจาก  กรีซ  ไปยังประเทศ PIIGS อื่นๆ  จนเข้าสู่ภาวะถดถอยไปด้วยแล้วเช่นกันในปี 2011-2012 อันเนื่องมาจากการรัดเข็มขัดการคลังของ สเปน และอิตาลี   ในปัจจุบันไฟก็เริ่มจะลามเข้าสู่แกนกลางของยูโรโซน อย่าง เบลเยี่ยม และ ฝรั่งเศส  ท้ายที่สุดเยอมนีก็ยากจะรอดไปได้  

สำหรับ ญี่ปุ่นนั้น หลังจากมีปัญหาพิพาทกับ จีน  ทำให้อุณภูมิทางเศรษฐกิจสูงขึ้น จนลุกติดไฟไปด้วยแล้วเช่นกัน  เศรษฐกิจมีโอกาสสูงมากที่จะถดถอยได้อีกครั้งหนึ่ง  ด้วยข้อจำกัดทั้งนโยบายการเงินและการคลัง

การรัดเข็มขัดอย่างรุนแรงระดับ 4% GDP ที่หวั่นเกรงกันในชื่อ "หน้าผาการคลัง"  (Fiscal Cliff)  ของอเมริกา ก็เป็นสัญญาณที่อันตรายอย่างมาก  ถึงแม้สามารถจะตกลงกันได้  ก็ยังคงอาจเป็นการรัดเข็มขัดการคลังราว 2% GDP หรือครึ่งหนึ่งของแผนเดิม  โดยอาจเรียกเป็น "ทางลาดการคลัง" (Fiscal Slope)  ก็ยังคงเป็นระดับที่อันตรายอยู่ดี  เพราะ นี่เป็นการใช้น้ำที่น้อยลง ขณะที่ไฟลุกโหมแรงขึ้นจากเพื่อนบ้านทั้ง ยุโรป และ ญี่ปุ่น

หากเราเชื่อตามสุภาษิตโบราณเดิมๆ ว่า "น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ"  และ โดยทฤษฎีเคนส์ก็เชื่อตามนั้น  จะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกอาจเดินหน้าเข้าสู่แดนอันตรายอย่างยิ่ง  เพราะ ยุโรป นั้นตัดสินใจไปแล้วว่าจะ "รัดเข็มการคลัง" กันทั้งภูมิภาค  ส่วนอเมริกา และ ญี่ปุ่นก็ดูเหมือนว่าจะต้องทำตามไปบ้างด้วยข้อจำกัดที่หนี้สินภาครัฐเริ่มสูงเกินจะควบคุมแล้ว   บทสรุปก็คือ การใช้น้ำน้อยลงเพื่อสกัดไฟที่ดูเหมือนจะลุกลามรุนแรงขึ้นซึ่งน่าจะสกัดไฟไว้ไม่อยู่   นั่นคือ  รัดเข็มขัดการคลังและยอมให้เศรษฐกิจถดถอย

แต่หากจะใช้น้ำมากขึ้นเพื่อดับไฟ  ก็ดูเหมือนจะมีข้อจำกัดทางการคลัง  โดยเฉพาะในประเทศอ่อนแอที่พึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่ม PIIGS ซึ่งจะไม่สามารถฉีดน้ำแบบไม่อั้นอย่างทีเคนส์แนะนำได้อีกแล้ว  และ ไม่ว่าจะเลือกทาง "รัดเข็มขัด" หรือ "คลายเข็มขัด" จะเลือกใช้ "น้ำน้อย" หรือ "น้ำมาก" ก็ดี  หนี้สาธารณะ ต่อ GDP  ยังคงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และ ฐานะการคลังก็แย่ลงเรื่อยๆ อยู่ดี  สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่มี GDP เติบโตอยู่ในระดับต่ำ และ โครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ   นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่า "กับดักเคนส์"  

ดังนั้น  หากคิดอยู่ในกรอบรอบนี้เศรษฐกิจโลกเสร็จแน่ๆ   แต่หากเราคิดนอกกรอบออกไปก็จะพบว่า  มันไม่ได้มีเพียงน้ำเท่านั้นที่สกัดไฟได้   "การยืมพลัง" ของสารเคมีในถังดับเพลิงก็อาจช่วยสกัดไฟไว้ได้เช่นกัน   ถูกต้องแล้วนี่คือแนวคิดของ "การคลังไท้เก๊ก" นั่นเอง  ด้วยวิธีการยืมพลังนี้  จะทำให้เราสามารถ  "ใช้น้ำน้อยลงแต่สกัดไฟได้ดีขึ้น"   การยืมพลังจากกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ  น่าจะช่วยให้ประเทศพัฒนาแล้วแก้ไขวิกฤติการคลัง ไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย

และ สำหรับปัญหาในยุโรปที่ติด "กับดักยูโร" ด้วยนั้น ก็คงต้องใช้  "FX ไท้เก๊ก"  มาช่วยเหลือด้วยเพื่อให้แต่ละประเทศสามารถใช้ค่าเงินที่เหมาะสมและดึงสมดุลกลับคืนมาได้   แทนที่จะยืนกระต่ายขาเดียวรักษาระบบยูโรแบบไร้สมดุลเช่นนี้ต่อไปมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ ทั้งภูมิภาค  

สรุปก็คือ  โลกกำลังจะลุกเป็นไฟในลักษณะ "ไฟลามทุ่ง"  โดนเริ่มจาก "กรีซ" ลามไปยัง PIIGS  และ จะตอนนี้เริ่มลามไปยัง  ฝรั่งเศส  เยอรมนี และ ญี่ปุ่น   โดยประเทศที่อ่อนแอเติบโตช้ามีหญ้าแห้งมากหน่อย มีการใช้น้ำสกัดไฟน้อยหน่อยก็จะลุกไหม้ติดไฟได้เร็วกว่า  แต่สุดท้ายประเทศไทยที่แม้หญ้ายังเขียวอยู่ก็คงหนีรอดเหตุการณ์แบบนี้ไปได้ยากเช่นกัน   ผมจึงได้รวบรวมความคิดเป็น 4 ทฤษฎีใหม่กลายเป็นหนังสือ "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  (Taiji-Econ.)   เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจแบบ "ไฟลามทุ่ง"  ที่กำลังจะมาถึงนี้   หากสนใจก็ลองหาอ่านดูได้นะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น