วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิกฤติหมูหัน กับ สารพันทฤษฎี

วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ของปี 2012  ผมขอเรียกว่า "วิกฤติหมูหัน" ซึ่งเกิดจากชื่อของอาหารจีน โดยประเทศจีนจะเกิดภาวะฟองสบู่แตก  hard landing  เมื่อรวมกับ PIIGS ซึ่งเป็นประเทศอ่อนแอในเขตยูโรโซน  จึงได้ชื่อนี้ขึ้นมา  การรวมวิกฤติ 2 ภูมิภาคเข้าด้วยกันทำให้โลกเดินเข้าสู่เขตแดนอันตรายยิ่ง

"กับดักเคนส์" คือ สภาพที่ไม่ว่าจะทุ่มงบประมาณเข้าไปมากๆ เพื่อพยุงเศรษฐกิจหรือว่าจะรัดเข็มขัดการคลัง ยอมให้เศรษฐกิจตกต่ำก็ตาม  ภาครัฐยังคงต้องสร้างหนี้เพิ่มขึ้น  ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงขึ้นอยู่ดี   การใช้ทฤษฎีการคลังของเคนส์แบบเดิมๆ  ทำให้ติด "กับดักเคนส์" อย่างเลี่ยงไม่ได้ และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศพัฒนาแล้วทั้งปวง เพราะ โครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้คนรุ่นใหม่ซึ่งจะรับภาระเสียภาษีนั้นมีไม่มากพอ  ขณะเดียวกัน  คนชราซึ่งเป็นภาระของภาครัฐกลับมีสัดส่วนที่สูงขึ้น  การแก้ไข "กับดักเคนส์" จึงไม่อาจใช้ทฤษฎีการคลังเดิมๆ ได้  แต่จำเป็นต้องใช้  ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก  ซึ่งเป็นการยืมพลังของกองทุนบำนาญมาช่วย  จึงทำให้สามารถรัดเข็มขัดการคลัง  เดินหน้าไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้

"กับดักเงินเฟ้อ" คือ สภาพที่เมื่อเศรษฐกิจดีเป็นฟองสบู่  เงินเฟ้อจะสูงขึ้นและ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะใช้ทฤษฎีการเงินเดิมๆ  เพื่อสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย   กลับส่งผลตรงกันข้ามทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกจาก ต้นทุนการเงิน และ ค่าเช่าที่สูงขึ้น   จนไปถึงจุดหนึ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงมาก  (ญี่ปุ่น เคยวิ่งไปถึง 6% ก่อนวิกฤติวาซาบิ ปี 1991 และ อเมริกาเคยวิ่งไปถึง 5%  ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008)   ดอกเบี้ยไม่สกัดเงินเฟ้อ  แต่มันสกัดการเติบโต (growth)  ทำให้เศรษฐกิจฟองสบู่แตกตัวลง  และ สิ่งเดิมๆ นั้นกำลังเกิดขึ้นกับประเทศจีน และ อินเดีย    

แนวคิดใหม่ก็คือ  เราไม่ควรจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  เพราะว่ามันไม่ช่วย แต่มันจะสกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจแทน  อาจส่งผลให้ฟองสบู่แตกได้   ส่วนการป้องกันภาวะฟองสบู่นั้น ธนาคารกลางจะต้องดูแล ปริมาณเงิน (M2)  ให้มีการเติบโตใกล้เคียงกับ Nominal GDP Growth

ผมขอนำเสนอดัชนีชี้วัดฟองสบู่เรียกว่า "อัตราส่วนประวิทย์" (Prawit Ratio)  ซึ่งคิดจากค่าการเติบโตของ M2 เทียบกับ Nominal GDP Growth  ค่านี้ควรอยู่ราวๆ 100% ก็จะไม่เกิดปัญหา  แต่ญี่ปุ่น และ อเมริกา เคยปล่อยให้ M2    เติบโตถึง 11-12% ต่อปี   ซึ่งทำให้ค่า Prawit Ratio อยู่สูงราว 150% จึงนำพาไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกในปี 1991 และ 2008  ในที่สุด  และ เมื่อมาดูที่จีนเคยปล่อยให้  Prawit Ratio ก็ยืนสูงกว่า 200% ในปี 2009  โดน M2 เติบโตถึง 28%  จึงอาจกล่าวได้ว่า  ความเสี่ยงที่จะเกิด hard landing ในประเทศจีนนั้นไม่ใช่ 10% อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปคาดไว้  แต่น่าจะสูงถึงกว่า 90% เลยทีเดียว  หากพิจารณาจากดัชนีชี้วัดฟองสบู่ Prawit Ratio   และ ตัวเลขของดัชนีตลาดหุ้นจีน  รวมไปถึง ตัวเลขการนำเข้าที่ติดลบ  ก็บ่งชี้ถึงการชะลอตัวอย่างเร็วของเศรษฐกิจจีน

สำหรับการแก้ไขปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วด้วย  ทฤษฎีการเงินเดิมๆ  ก็คือ  การลดอัตราดอกเบี้ยติดดิน และ การทำ QE  แต่หากไม่มีอุปสงค์จริงที่เพียงพอแล้ว  เงินจะกองจมอยู่ในระบบแบงก์เช่นเดิม  ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ปรมาจารย์เคนส์ตั้งชื่อไว้ว่า "กับดักสภาพคล่อง"   คือ แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำมาก  แต่การบริโภคและการลงทุนก็ยังไม่ฟื้นตัวแต่อย่างใด

สำหรับทฤษฎีใหม่   "การเงินไท้เก๊ก" จะหาทางป้องกันฟองสบู่แต่ต้นมือ  ด้วยการดูแล M2 ไม่ให้เกิดฟองสบู่ึของราคาสินทรัพย์ และ จะไม่นำเข็มแหลมๆ ไปจิ้มลูกโป่ง  ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก   และ หากสุดท้ายฟองสบู่แตกแล้วจริงๆ   ทฤษฎีนี้แนะให้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่าศูนย์ไปเลย  ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลงมาได้อีก  อันจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์จริง ทั้งการบริโภคการลงทุนให้ฟื้นตัวได้ในที่สุด

"กับดักยูโร" เกิดขึ้นจากทฤษฎีอัตราแลกเปลี่ยนสกุลร่วม  ที่มุ่งหวังให้การส่งเสริมการค้าการลงทุนที่ทำให้ประหยัดต้นทุนในการแลกเปลี่ยน   แต่อันที่จริงแล้วก็คือ การผูกค่าเงินนั่นเอง  โดยกรีซ และ เยอรมันได้ผูกค่าเงินไว้ด้วยกัน  โดยได้มองข้ามสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ  ดุลบัญชีเดินสะพัดและความสามารถในการแข่งขัน  ทฤษฎีใหม่ที่เรียกวา "FX ไท้เก๊ก"  จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปิดจุดอ่อนนี้

โดยประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่า 3% เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน  รวมถึง อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงกว่าประเทศอ้างอิงกว่า 3% นั่นหมายถึง ประเทศนั้นๆ น่าจะมีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนไม่เหมาะสมเสียแล้ว  จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนให้อ่อนลงเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกที่ดีขึ้น  หากสามารถแตกเงินยูโร  ออกเป็น 3 สกุล คือ Eura Euri และ Euro เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มประเทศได้  ก็จะทำให้เกิดความสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัด และยังรักษาเอกภาพของกลุ่มยูโรโซนไว้ได้ด้วย

วิกฤติหมูหัน  เกิดจาก "กับดักเศรษฐกิจ" มาผูกรวมกันหลายเรื่องส่งผลให้ภาะวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในประเทศแถบยุโรปก่อน  จากนั้นด้วยการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกันทั่วโลก  จึงส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศต่างๆ ทั้งในอเมริกา และ เอเชีย โดยเฉพาะ "จีน"  การแก้ไขในเรื่องนี้ก็คือ ต้องละแนวคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ เสีย  แล้วเปิดมุมมองให้กับ ทฤษฎีใหม่ๆ  ของ  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  อาจเป็นคำตอบเพื่อแก้ไขวิกฤติระดับโลกครั้งนี้







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น