จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็น "บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์มหภาค" ได้จัดตั้งชื่อสภาพที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ ติดดิน สภาพคล่องล้นเหลือ แต่ผู้คนก็ยังไม่กล้าจะลงทุนหรือบริโภค นั่นคือ "กับดักสภาพคล่อง (Liquidity Trap) ขณะที่ได้ชี้ถึงสาเหตุแห่งปัญหานั้นคือ ปฏิทรรศน์ของความมัธยัสถ์ (Paradox of Thrift) หมายถึง เมื่อทุกๆ คนพยายามออมเงินมากขึ้น จะทำให้การใช้จ่ายรวมลดลง ทำให้รายได้ของแต่ละคนลดลงไปด้วย ทำให้ไม่สามารจะออมเงินได้ในที่สุด เช่น รัฐบาลของหลายประเทศพยายามทำเรื่องนี้อยู่ แต่กลับพบว่าการรัดเข็มขัดการคลังนั้นส่งผลทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจกลับแย่ลง รายได้ภาษีลดลง จนในที่สุดแล้วไม่สามารถรัดเข็มขัดการคลังตามเป้าหมายได้
สำหรับ 4 ทฤษฎีใหม่ของเศรษฐศาสตร์ไท้เก๊กนั้น แต่ละทฤษฎีก็ประกอบไปด้วย "กับดัก" ซึ่งเป็นตัวปัญหา และ "ปฏิทรรศน์" ซึ่งเป็นเหตุแห่งปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น ก่อนจะได้หนทางแก้ไขปัญหาเป็น 4 ทฤษฎี 4 ด้านของศาสตร์แขนงใหม่นี้
ทฤษฎีการคลังไท้เก๊ก : ปัญหาด้านการคลังที่กำลังปวดหัวอยู่ทั่วโลกนี้คือ "กับดักเคนส์" (Keynes Trap) หมายถึงสภาพที่รัฐบาลต่างๆ ไม่ว่าจะเลือกทาง รัดเข็มขัดการคลัง หรือ คลายเข็มขัดการคลัง ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้หนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP สูงขึ้นทั้งสิ้น ในประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซน ก็โดนเรื่องนี้เล่นงานอย่างหนัก ส่วนสาเหตุของเรืื่องนี้นั้น หลายๆ คนอาจคิดว่าเป็นเพราะ นโยบายประชานิยมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้ว สาเหตุของเรื่องนี้คือ "โครงสร้างประชากร" เป็นผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งประชาชน ภาคเอกชน และ รัฐบาลต่างต้องเร่งกันเตรียมเงินเพื่อบำนาญกันอย่างเต็มที่ เมื่อรัฐบาลทุ่มเงินลงไปทั้งสมทบเงินทางตรง หรือ ให้ลดหย่อนภาษีเป็นการสมทบเงินทางอ้อมก็ดี เหล่านี้เป็นการใช้เงินรัฐแบบ "เคลื่อนเป็นนิ่ง" แม้จะเป็นการสร้างความมั่นคงระยะยาว แต่แทนที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลง นอกจากนี้เงินกองทุนบำนาญ ลงทุนราว 70-80% ในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์กองทุนบำนาญจึงหมายถึง หนี้สินที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐไปด้วย ผมเรียกสิ่งนี้ว่า "ปฏิทรรศน์ของกองทุนบำนาญ" (Paradox of Pension)
ทฤษฎีการเงินไท้เก๊ก : การที่ธนาคารกลางก็ประสบกับปัญหา "กับดักเงินเฟ้อ" (Inflation Trap) โดยหลักๆ แล้วปัญหามาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ธนาคากลางเชื่อว่าจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยชะลอสินเชื่อ แต่ในทางตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยนั้นส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินให้สูงขึ้นไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าต่อเนื่องไป ผลลัพธ์จึงอาจมาทิศทางตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจไว้ได้ ผมเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของดอกเบี้ย" (Paradox of Interest)
ทฤษฎี FX ไท้เก๊ก : การที่ธนาคารกลางพยายามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่อยู่กับ "ยูโร" จึงเกิดปัญหาของ "กับดักยูโร" (Euro Trap) คือ ประเทศที่อ่อนแอไม่สามารถแ่ข่งขันได้ เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง และ สร้างหนี้สินต่างประเทศจำนวนมาก เมื่อความเชื่อมั่นลดลง เงินเริ่มไหลออกนอกประเทศ ก็จะเกิดปัญหามากมายจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน สิ่งนี้มีต้นเหตุมาจาก การพยายามรักษาอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ โดยหวังให้มีเสถียรภาพความมั่นคง แต่ในทางตรงกันข้ามการผูกค่าเงินกลับส่งผลให้เสียสมดุลด้านต่างประเทศ และ กลับส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในที่สุด ผมเรียกสิ่งนี้ว่า "ปฏิทรรศน์ของการผูกค่าเงิน" (Paradox of Peg)
ทฤษฎีบำนาญไท้เก๊ก : ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมพยายามเรียกเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นจากผู้ประกันตนจนเงินไม่พอใช้ เกิดเป็น "กับดักประกันสังคม" (Social Security Trap) ยิ่งออมก็ยิ่งจน เพราะ เงินผลตอบแทนของประกันสังคมคิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วจะต่ำกว่าการยืมเงินจากบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลอยู่มาก การสมทบเงินมากขึ้นโดยหวังว่าจะสร้างความมั่งคั่งมั่นคงให้กับผู้ประกันตน แต่สุดท้ายแล้วผลกลับออกมาตรงกันข้าม โดยผู้ประกันตนซึ่งส่วนใหญ่รายได้น้อยนั้นจะกลับมีเงินไม่พอใช้ ต้องไปกู้ยืมเงินจากแบงก์และนอนแบงก์ ในอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว ทำให้จนลงๆ ไปเรื่อยๆ สาเหตุตรงนี้เองผมเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของการสมทบเงิน" (Paradox of Contribution)
จะเห็นว่าทุกทฤษฎีใหม่ันั้น ได้มีการสร้างตัวปัญหา และ ต้นเหตุแห่งปัญหานั้น คล้ายๆ กับ ปรมาจารย์ "เคนส์" ที่ได้สร้างศัพท์ใหม่อย่าง "กับดักสภาพคล่อง" และ "ปฏิทรรศน์ของความมัธยัสถ์" ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากๆ เพราะ การรู้ถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแน่ชัด จึงจะนำไปสู่ทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น