วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Econ.Cliff หน้าผาทางเศรษฐศาสตร์

"หน้าผาทางเศรษฐศาสตร์"  อาจเป็นคำศัพท์ที่ค้นหาความหมายได้ยากหน่อยใน google  เพราะเป็นศัพท์ที่ผมบัญญัติขึ้นมาใหม่   แนวคิดคือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทฤษฎีเดิมๆ  เมื่อไปถึงจุดหนึ่่งจำเป็นจะต้องมีการกลับทิศทาง  ก่อให้เกิดสภาพการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้านเศรษฐกิจ  อันรวมถึง  การคลัง การเงิน และ อัตราแลกเปลี่ยน

Fiscal Cliff  "หน้าผาการคลัง" หมายถึง  การรัดเข็มขัดการคลังอย่างเร็ว  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจได้  เรื่องนี้ทางอเมริกาเป็นห่วงมากๆ ว่าอาจเกิดขึ้นได้ในปี 2013 หลังเลือกตั้งประธานาธิบดี  หากไม่เร่งรีบแก้ไขกฏหมายด้านลดหย่อนภาษีเสียก่อน

ในความเป็นจริงแล้ว  เมื่อทฤษฎีเคนส์ เดินหน้าไปเรื่อยๆ  ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำเนื่องจาก โครงสร้างประชากรเปลี่ยนจาก "พีระมิด" เป็น "โอ่งน้ำ" ทำให้การเติบโตชะลอตัวลงมากโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว   หนี้สินภาครัฐต่อ GDP จะวิ่งสูงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ต้องมีการพิจารณาจะ  "รัดเข็มขัดการคลัง" อยู่ดี  ขึ้นกับว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น   และ  ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ และ ประเทศอ่อนแอในยูโรโซน (PIIGS) นั้นได้เลือกที่จะเดินตก "หน้าผาการคลัง" ไปแล้วด้วยซ้ำ   โดยได้เลือกหนทางรัดเข็มขัดการคลัง  และผลลัพธ์คือ เศรษฐกิจเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอยรอบ 2  ไปแล้ว

วิธีแก้ไขในเรื่องนี้คือ "การคลังไท้เก๊ก" ที่ใช้แนวคิด "ยืมพลัง" และ "นิ่งคือเคลื่อน" ของกองทุนต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนบำนาญ  มาเพื่อให้เอกชนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้เอง โดยพึ่งพาพลังของภาครัฐลดลง  วิธีนี้จึงสามารถจะรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้

Monetary Cliff  "หน้าผาการเงิน"  หมายถึง สภาพที่ประเทศต่างๆ ได้พยายามสกัดเงินเฟ้อด้วย การขึ้นอัตราดอกเบี้ย   มีการเพิ่มปริมาณเงิน (M2) มากกว่าระดับการเิติบโตทางเศรษฐกิจรวมเงินเฟ้อ (Nominal GDP Growth)   ซึ่งเป็นการสร้างภาวะฟองสบู่ให้เกิดขึ้น   เมื่อขึ้นดอกเบี้ยก็ยิ่งดึงดูดเงินจากต่างประเทศเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น  แทนที่จะสกัดเงินเฟ้อ  กลับยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจากต้นทุนการเงินที่เพิ่ม และ จากปริมาณเงินที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร

เมื่ออัตราดอกเบี้้ยสูงขึ้นเรื่อยๆ  ไปถึงจุดหนึ่งจะเหมือนกับการนำเข็มไปจิ้มลูกโป่ง  ซึ่งอันตรายมากๆ ที่มันจะแตกในที่สุด  โดยทฤษฎีการเงินเดิมๆ ที่ว่า  "ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ"  นำมาซึ่งผลลัพธ์ของวิกฤติวาซาบิในญี่ปุ่นปี 1991  แทบไม่น่าเชื่อว่าก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.5% ไปถึง 6% เพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อ แต่ความจริงแล้วมันสกัดการเิติบโตและทำให้ฟองสบู่แตก  จนต้องลดดอกเบี้ยลดอย่างเร็วเป็น "หน้าผา" แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่นัก  เศรษฐกิจติดอยู่ใน "กับดักสภาพคล่อง" มาถึง 20 ปี  นอกจากนี้ วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกาปี 2008 ก็เช่นเดียวกัน  อเมริกาได้ขึ้นดอกเบี่้ยนโยบายจาก 1% ไปจนถึง 5.25% เพื่อหวังสกัดเงินเฟ้อ  แต่ผลลัพธ์กลับเป็นการทำให้ฟองสบู่อสังหาฯ แตกลง  และ วิกฤติได้ลุกลามไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน QE ไปส่งผลให้ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดียและีจีน)  ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในปี 2010-11  เนื่องจากการดูดซับสภาพคล่องไม่หมดจึงมีการเพิ่มของปริมาณเงิน (M2) วิ่งเร็วมาก  ประเทศจีนสูงถึง 28%  อินเดียสูงถึง 22%  ทั้งๆที่ควรดูแลไม่ให้เกิน 12-15% เท่านั้น   เมื่อ บราซิลขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 12.5% และ อินเดีย 8.5%  ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินไปกว่าเศรษฐกิจจะรับได้  ฟองสบู่ก็แตกตัวออก  การเติบโตลดลงกว่าระดับศํกยภาพอย่างเร็ว  บราซิลเหลือแค่ 0.8%  อินเดียเหลือแค่ 5.3% ในไตรมาสล่าสุด   ทั้งๆ ที่น่าจะโตได้ระดับ 5% และ 8% ตามลำดับ   หากรวมผลจากค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ลงไปแล้วราว 20%   แปลได้ว่า  GDP ของ 2 ประเทศใหญ่นี้เดินหน้าสู่ภาวะในถดถอยในรูปเงินดอลลาร์ไปแล้ว  สถานการณ์อาจเลวร้ายลงกว่านี้ได้อีก   โดยเศรษฐกิจ BRIC อาจชะลอตัวถึงขั้นถดถอยเมื่อรวมผลลัพธ์กับวิกฤติในยูโรโซนจะกลายเป็น "วิกฤติหมูหัน"   อาจกล่าวได้ว่า BRIC กลายเป็นเหยื่อของมาตรการ QE  ที่พิมพ์เงินจำนวนมากออกมาจากประเทศพัฒนาแล้ว

"หน้าผาการเงิน" จึงอันตรายยิ่งนัก  การเิดินขึ้นเขาไปเรื่อยๆ ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยหวังสกัดเงินเฟ้อ เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดเพราะมันจะไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อแ่ต่จะสกัดการเติบโตแทน   ในที่สุดแล้วจะตกหน้าผากลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   "การเงินไท้เก๊ก" จึงเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  เพราะจะลดต้นทุนทางการเงินลง  พร้อมๆ กับ ลดแรงจูงใจการดึงดูดเงินเก็งกำไรจากต่างชาติอีกด้วย  นอกจากนี้จะต้องดูแล M2 ให้อยู่ระดับเหมาะสมไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่โดยตั้งมีการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไรและดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกไป

Forex Cliff  "หน้าผาอัตราแลกเปลี่ยน"  คือ เมื่อการรักษาการผูกค่าเงินคงที่ไว้ไม่ได้  เงินตราต่างประเทศไหลออกอย่า่งต่อเนื่อง  จนต้องมีการลดค่าเงินจากระดับเดิม  จะ่ส่งผลให้เกิดวิกฤติค่าเงิน เช่น วิกฤติเตกีล่าในเม็กซิโก และ วิกฤติต้มยำกุ้งในไทย

แนวคิดของทฤษฎีอัตราแลกเปลี่่ยนเดิมๆ คือ การพยามรักษาให้มีเสถียรภาพและคงที่  แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับทำให้เสียสมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอย่างมาก  เพราะ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าประเทศอ้างอิง   โดย  กรีซ ผูกค่าเงินกับ เยอรมัน ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยธรรมชาิติอยู่แล้ว   เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่ทนไม่ได้ก็ต้องมีการลดค่าเงินลงอยู่ดี  และ ความเีสียหายตรงนี้น่าจะถึงระดับวิกฤติ   โดย GDP ของไทยนั้นลดลงไป 10% คิดเป็นเงินบาท  แต่หากรวมผลกระทบจากค่าเงินที่อ่อนลง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์  หมายถึง  GDP ไทยสูญหายไปถึง 50% เลยทีเดียวหากคิดเป็นเงินดอลลาร์ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง

Forex ไท้เก๊ก  จึงเป็นทางแก้ไขโดยให้ดูแลดุลบัญชีเดินสะัพัดอย่าให้ขาดดุลเกินกว่า 3% ต่อปีติดต่อกัน 3 ปี และ ดูแลอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไม่ให้เกิดส่วนต่าง (premium)  เกินกว่า 3% กับประเทศอ้างอิง  กรณีของเงินยูโรนั้น  การกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของ อิตาลี และ สเปน ลงเพื่อให้ใช้ระบบ "ยูโร" ต่อไปโดยการยืมพลังจาก CDS นั้นอาจพอเป็นไปได้   แต่สำหรับกรีซแล้วเป็นนั่นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย    การนำค่าเงิน 3 สกุลที่เหมาะสมมาใช้กับแต่ละกลุ่มประเทศ  เช่น Eura Euri และ Euro  ก็อาจเป็นคำตอบที่ดีกว่า

จะเห็นได้ว่าแนวคิดของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ นั้นไม่เพียงแต่ไม่สามารถนำพาเศรษฐกิจโลกให้เดินออกจากเขาวงกตแห่ง "กับดักเศรษฐกิจ" ได้เท่านั้น  เมื่อมองย้อนอดีตดูกลับพบว่า  "ป้ายบอกทาง" เหล่านั้นล้าสมัยและผิดพลาด  มักจะนำพาให้ประเทศต่างๆ  เดินหน้าไปสู่  "หน้าผาทางเศรษฐศาสตร์" และ ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งหลายหน   ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่คนขับซึ่งปกติมักจะมีความเชี่ยวชาญชำนาญอยู่แล้ว  แต่ปัญหากลับอยู่ที่ "ป้ายบอกทาง" ต่างหาก   บางทีโลกอาจต้องพิจารณาการนำทางด้วย GPS ที่ทันสมัยกว่าป้ายบอกทางแบบเดิมๆ  และ  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก"  อาจเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบนั้นครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น