วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ยูโรโซนแย่ หากไม่แน่วแน่ แก้ไขในสิ่งผิด

การพยายามเร่งประเทศอ่อนแอให้รัดเข็มขัดปฏิรูปการคลัง   รวมไปการอัดฉีดเงินผ่าน EFSF และ ESM เพื่อช่วยเหลือแบงก์ในสเปนก็ดี  ล้วนแล้วแต่เป็นแค่การซื้อเวลาเท่านั้น   ต้นเหตุที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใดเลย   สิ่งที่ยูโรโซนจะต้องทำก็คือ  "การปฏิรูปเงินยูโร" ต่างหาก

ก่อนอื่นต้องยอมรับเสียก่อนว่า "เงินยูโร" คือต้นเหตุของวิกฤติในยูโรโซน   โดยการผูกค่าเงินประเทศแข็งแรงไว้กับประเทศอ่อนแอนั้น  จะทำให้ประเทศอ่อนแอ (PIIGS่)  มีเศรษฐกิจที่ออกห่างจากจุดดุลยภาพออกไปเรื่อยๆ  ยิ่งทิ้งไว้นายยิ่งเป็นปัญหา  การผูกค่าเงินโดยหวังให้ค่าเงินมั่นคงมีเสถียรภาพนั้น  ในระยะยาวแล้วกลับทำให้เศรษฐกิจเสียดุลยภาพและขาดเสถียภาพต่างหาก  ผมตั้งชื่อให้ว่า Paradox of Peg  (ความขัดแย้งของการผูกค่าเงิน) 

International Fisher Effect คือ ทฤษฎีการเงินระหว่างประเทศที่ชี้ว่า  ในระยะยาวประเทศที่มีเงินอัตราเงินเฟ้อสูงกว่า (กรีซ)  ค่าเงินจะต้องชดเชยลงด้วยการอ่อนลงของค่าเงิน   แต่การผูกค่าเงินกับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ (เยอรมัน) เป็นเงินยูโร  ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นไม่ได้    การใช้เงินยูโรหากเป็นแค่ 2-3 ปีแรกจะไม่มีปัญหาอะไรนัก  แต่เมื่อเวลายิ่งผ่านไปเกิน 10 ปี    PIIGS จะเสียดุลยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ   หากประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 ปีของกรีซอยู่ที่ 3%  ขณะที่เยอรมัน 1.5%  หมายถึง  ข้าวของในกรีซมีราคาสูงขึ้นเร็วกว่าในเยอรมันไปแล้วราว 20% ในช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมา   ค่าเงินของกรีซ ควรจะอ่อนลงด้วยอัตราเดียวกัน  ค่าเงินที่เหมาะสมกับกรีซ ควรอ่อนค่ากว่าปัจจุบัน 20% เช่นกัน  .... แต่ "ยูโร" เป็นตัวบีบไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นตามทฤษฎีนี้ 

โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจถดถอย  ประเทศต่างๆ จะปรับตัว  การนำเข้าจะลดลงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเข้าสู่สมดุล หรือ เป็นบวก  แต่นั่นไม่ใช่กับประเทศ  PIIGS  ซึ่งแม้ ศก.จะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว   แต่ค่าเงินที่ปรับตัวลดลงไม่ได้  ยังคงผูกกับ "ยูโร"  จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบหนักๆ ต่อไป   โดย  กรีซ  โปรตุเกส  สเปน และ อิตาลี  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  9.8%  6.4%  3.5% และ 3.2%  ตามลำดับในปี 2011  ซึ่งนั่นหมายถึง  แม้ประเทศเหล่านี้พยายามรัดเข็มขัดการคลังจนเศรษฐกิจถดถอย  การว่างงานสูงกว่า 20% แล้วก็ตาม  PIIGS ยังคงใช้จ่ายเงินเกินตัวอยู่อย่างมาก   หนี้สินต่างประเทศยังคงเพิ่มอย่างต่อเนื่อง  นับเป็นเรื่องน่ากังวลมากๆ  เพราะ  ประเทศเหล่านี้ยังพึ่งพามากขึ้น  ยังยืนบนเงินกู้ของประเทศแข็งแรงมากขึ้น  แทนที่จะพยายามหาวิธียืนบนขาของตนเองให้ได้  

การปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะมาจาก  ECB, IMF, EFSF หรือ ESM ก็ตาม   ก็เหมือนการใช้ "พลังเงิน" จำนวนมาก เพื่อนำช้อนมาคนน้ำและน้ำมันเข้าด้วยกัน   แล้วใช้วาทกรรมว่า  "พวกเรายังคงเป็นหนึ่งเดียว"  เรื่องแบบนี้คงหลอกคนในยูโรโซนและคนทั่วโลกได้อีกไม่นานนักเป็นแน่

สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การรีบแก้ไขในสิ่งผิด  ยอมรับว่า "ยูโร" คือ สิ่งผิดพลาดและเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวง  ทำให้ PIIGS ใช้เงินเกินตัว  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด  สร้างหนี้่ต่างประเทศจำนวนมาก  มีการปล่อยกู้จนเกิดฟองสบู่แตก  ภาครัฐจึงต้องเข้าไปรับหนี้แทนภาคเอกชนด้วยการเพิ่มทุนเข้าไปในแบงก์   พร้อมๆ กับประคองเศรษฐกิจไว้ด้วย  การขาดดุลการคลังและหนี้สินภาครัฐจึงพองตัวขึ้น   เมื่อความเชื่อมั่นถดถอยลง  เงินไหลออกนอกประเทศ  ดอกเบี้ยพันธบัตรจึงวิ่งขึ้นสูงลิ่ว  เศรษฐกิจก็ถดถอยต่อเนื่อง  เมื่อไม่สามารถลดค่าเงินลงได้  ทุกอย่างจึงมืดมิดยิ่งนัก   เหมือนเดินเข้าสู่อุโมงค์โดยไม่มีหวังเห็นแสงสว่าง 

"การปฏิรูปเงินยูโร" จึงเป็นทางออกสุดท้าย  ด้วยการแตกเงินยูโรเป็น 3 สกุล  เพื่อรองรับกลุ่มประเทศอ่อนแอ กลางๆ และแข็งแรง  โดยอาจใช้ชื่อเป็น Eura Euri และ Euro  ซึ่งเป็นแนวทางให้ PIIGS หยุดใช้เงินยูโร โดยใช้เงินที่อ่อนค่าลงเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและดึงดุลยภาพกลับมาได้   แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป  โดย ECB ดูแลค่าเงินทั้ง 3 สกุล  นอกจากนี้ก็พยามยามชวนประเทศใน EU ที่อยู่นอกยูโรโซนอีก 10 ประเทศ มาเลือกใช้ค่าเงินสกุลร่วมที่เหมาะสม 1 ใน 3 สกุลนั้น  ก็จะทำให้ "ยูโรโซน" มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นแทนที่จะเล็กลง  ผมคิดว่ามีแต่วิธีแบบนี้เท่านั้น  จึงจะทำให้ยุโรปกลับมามีเสถียรภาพ  มีดุลยภาพ และ มีเอกภาพได้อีกครั้งหนึ่ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น