สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก
ปกติแล้วสมดุลการคลัง (Fiscal Balance) จะหมายถึง รายได้ของภาครัฐจากภาษี และ เงินสมทบจากรัฐวิสาหกิจ หักออกจาก การใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งโดยปกติแล้วในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ มักจะทำงบการคลังแบบขาดดุล เพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบสวัสดิการภาครัฐ จึงส่งผลให้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย มีปัญหาหนี้ภาครัฐที่สูงมากๆ จนเป็นปัญหาตอนนี้
สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก (Taiji Fiscal Balance) คือ การจัดแนวคิดแบบใหม่ โดยคิดว่า สมดุลนี้เกิดขึ้นเมื่อ อัตราการเพิ่มของหนี้สาธารณะภาครัฐ สมดุลกับ การเพิ่มของ GDP รวมกับอัตราเงินเฟ้อ (nominal GDP growth) เช่น สำหรับประเทศไทย หากขาดดุลการคลัง 4.2 แสนล้าน หมายถึง การเพิ่มหนี้ภาครัฐราว 10% หากเงินก้อนนี้ไปทำให้ ศก.เติบโตได้ 6% และ เงินเฟ้อที่ 4% ก็หมายถึง nominal GDP growth จะอยู่ที่ 10% สมดุลกับหนี้สินภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เปลี่ยนแปลง จึงเกิดสมดุลใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นสมดุลของหนี้สิน ต่อ รายได้ (GDP) ให้อยู่ในระดับเดิม ซึ่งไม่ทำให้ฐานะการคลังย่ำแย่ลงแต่อย่างใด ขณะที่สามารถขาดดุลการคลังได้มากพอสมควร เพื่อช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว จะมี GDP เติบโตในระดับต่ำ และ เงินเฟ้อก็ต่ำด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันด้วยโครงสร้างประชากรแล้ว มีภาระในการดูแลสุขภาพ ประกันสังคม และ สวัสดิการของคนชราเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดดุลการคลังอยู่ในระดับสูง โดยที่ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้มากเพียงพอ หนี้สาธารณะต่อ GDP จึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจะเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า "กับดักเคนส์" โดย ญี่ปุ่น อาจเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มติดกับดักหนี้มาได้ราว 20 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศในกลุ่มยูโรโซน อังกฤษ และ อเมริกา ก็เริ่มติดกับดักนี้มาได้ราว 3 ปี
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย หรือ อเมริกาใต้ กลับไม่พบเหตุการณ์เช่นนี้
สำหรับวิธีการปลดล็อค "กับดักเคนส์" นั้น ไม่สามารถแก้ไขด้วยการรัดเข็มขัดการคลังแบบพื้นๆ อย่างที่ประเทศกรีซทำอยู่ได้ เพราะ หากทำเช่นนั้นจะส่งในทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย อัตราส่วนหนี้สินภาครัฐต่อ GDP จึงจะยังวิ่งสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีก เหมือนเช่นกรณีของกรีซ ที่สูงขึ้นถึงระดับ 160% แล้ว แต่หากยังคงขาดดุลการคลังมากๆ กระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เหมือน อเมริกา หรือ ญี่ปุ่น สัดส่วนนี้ก็ไม่ได้ลดลง แต่กลับวิ่งสูงขึ้นเช่นกัน เพราะ เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ไม่สูงพอ เมื่อเทียบกับการขาดดุลการคลัง ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้จึงยากมาก...และ ผมก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีจึงจะคิดหาทางออกได้ ซึ่งนั่นก็คือ "การคลังไท้เก๊ก" นั่นเอง
โดยหลักการก็คือ การยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะ กองทุนบำนาญ มาช่วยเหลือรัฐบาล จึงไม่ต้องใช้งบประมาณโดยตรงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ รัฐยังอาจมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย จากการเปลี่ยนสภาพ "ในนิ่งมีเคลื่อน" จึงทำให้สิ่งที่นอนนิ่งๆ จมเป็นกองทุนซึ่งแทบไม่มีผลต่อ GDP มาเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหว ใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและลงทุน ก็จะส่งผลรัฐบาล สามารถรัดเข็มขัดพร้อมๆ ไปกับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากเป็นกรอบแนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์เดิมๆ แล้ว เรื่องนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย
หากจะยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมก็เช่น
1.การลดวงเงินหักลดหย่อนภาษี สำหรับ LTF, RMF สำรองเลี้ยงชีพ และ ประกันชีวิตลงมา รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น (รัดเข็มขัดการคลัง) ในเวลาเดียวกัน ชนชั้นกลางและเศรษฐีก็จะนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคและลงทุนได้เพิ่มขึ้น เกิดการหมุนเวียน (กระตุ้นเศรษฐกิจ)
2.บัตรบำนาญ999 โดยให้ยืมเงินตนเองได้ 9 ส่วนจากกองทุนบำนาญ (ประกันสังคม กบข. สำรองเลี้ยงชีพ LTF RMF) โดยรัฐบาลเก็บเงินค่าค้ำประกันเงินกู้ด้วย (ราว 1.5%) ดังนั้น รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่ม (รัดเข็มขัด) ในเวลาเดียวกัน สินเชื่อที่ปล่อยผ่านกองทุนบำนาญเหล่านี้ ซึ่งอาจสูงถึง 5 แสนล้าน ก็เข้าไปช่วยกระตุ้น ศก.ได้ด้วย
นี่อาจเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้การคลังของเหล่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งกำลังปวดหัวกันอยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ถึงแม้ไทยจะขาดดุลการคลังมากถึง 4 แสนล้านบาท.... แต่หากทำให้เศรษฐกิจโตเพียงพอก็จะเป็น "สมดุลการคลังแบบไท้เก๊ก" ไม่น่ากังวลแต่อย่างใดเลย