วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หยุด...เศรษฐศาสตร์ที่ผิดพลาด

เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า  กรอบวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันไม่สามารถอธิบายและแก้ไขปัญหาของวิกฤติเศรษฐกิจได้ดีนัก  ผมพบว่าประเด็นปัญหาไม่เพียงแต่เนื้อหาที่ไม่ครอบคลุมเท่านัน แต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ทำการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้น  "ผิดพลาด" อีกด้วย

ทฤษฎีการคลัง : หากทุ่มเงินงบประมาณเข้าไปแล้วจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น  โดยสำนักเคนส์บอกว่าจะดีขึ้นมากกว่าเงินที่ใส่เข้าไป หรือค่าตัวทวีมากกว่า 1  ขณะที่สำนักนีโอคลาสิก  บอกว่าจะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยค่าตัวทวีอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1   ในทางตรงกันข้ามหากรัดเข็มขัดการคลังก็จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง

อย่างไรก็ดี  สำนักไท้เก๊ก พบว่า ทฤษฎีนี้ไม่จริง.... มีบางกรณีที่รัฐบาลสามารถรัดเข็มขัดการคลังแล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้  และในทางตรงกันข้าม ทุ่มเงินงบประมาณลงไปแต่กลับทำให้เศรษฐกิจแย่ลงได้เช่นกัน  โดยค่าตัวทวีของโครงการประเภทนี้ "ติดลบ"  โดยเฉพาะ การที่ทำธุรกรรมที่รัฐบาลเกี่ยวข้องกับ "กองทุนบำนาญ"

เช่น  หากรัฐบาลเก็บภาษีดอกเบี้ยของ "สินเชื่อไท้เก๊ก" ที่ยอมให้ผู้ประกันตน สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ สมาชิกกบข. สามารถยืมเงินออมตนเองมาหมุนก่อนได้  ก็จะเป็น "การรัดเข็มขัดการคลัง" ขณะที่เศรษฐกิจดีขึ้นได้

ในทางตรงกันข้าม  หากรัฐสนับสนุนให้ส่วนหักลดหย่อนภาษีจำนวนมากแก่ LTF, RMF หมายถึง สนับสนุนให้เกิดการออมมากขึ้น  แม้จะดีในระยะยาวแต่ระยะสั้นจะทำให้เงินหมุนเวียนเพื่อบริโภคลดลง  ในกรณีนี้ รัฐเก็บภาษีได้ลดลง  แทนที่จะทำให้เศรษฐกิจจะดีขึ้นตามทฤษฎี  กลับมีผลในทางตรงกันข้ามทำให้เศรษฐกิจกลับแย่ลงต่างหาก

สรุปตรงนี้ก็คือ ทฤษฎีการคลังที่เขียนไว้ในตำรานั้น "ผิดพลาด" ควรจะต้องมีการแก้ไขโดยด่วน และ แนวคิดใหม่นี้อาจช่วยให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย  สามารถเลือกเดินเส้นทางแบบ "รัดเข็มขัดการคลัง" ไปพร้อมๆ กับทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้

ทฤษฎีการเงิน :  MV = PQ   โดยหากมีการเพิ่มปริมาณเงิน (M)  โดยมีสมมติฐานว่าการหมุนของเงิน (V) ค่าทรงตัว  ดังนั้น  การเพิ่ม M  จึงมีแนวโน้มทำให้ GDP (Q)  และ อัตราเงินเฟ้อ (P)  เพิ่มขึ้น

สำนักไท้เก๊กบอกเลยว่า ทฤษฎีการเงินนี้ผิดพลาด  ตรงที่การกำหนดสมมติฐาน V คงที่นั้นไม่ถูกต้อง ไม่สามารถทำได้  เพราะ การเพิ่ม M นั้น จะทำให้ V ลดลงโดยอัตโนมัติต่างหาก  ขณะที่ PQ จะค่อนข้างทรงตัว   การลดอัตราดอกเบี้ย และ การเพิ่มปริมาณเงิน (M)  จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น (Q เพิ่ม)  ดังนั้น จะเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อ (P) มีแนวโน้มลดลงต่างหาก

การกำหนดนโยบายการเงินแบบ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ... จึงเป็นการทำตามทฤษฎีการเงินเดิม  แต่นั่นคือความผิดพลาด   ผมรอเวลา 3 เดือนเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีใหม่  โดยตุรกีได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย Repo จาก 4.5% เป็น 10%  ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ซึ่งนับว่าเป็นการขึ้นอย่างมากและน่าจะมีผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยได้ชัดเจน  ปรากฏว่า อัตราเงินเฟ้อของเดือน ม.ค.ถึง เม.ย. ปี 2557 คือ 7.75%, 7.89%, 8.39% และ 9.38% ตามลำดับ  นั่นแสดงว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแทนที่จะสกัดเงินเฟ้อ  กลับทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่างหาก  และหมายถึงว่า ทฤษฎีการเงินเดิมนั้น "ผิดพลาด" ขณะที่ ทฤษฎีการเงินไท้เก๊กน่าจะถูกต้อง  โดยกรณีของ อินเดีย  บราซิล ทีขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเช่นกัน

2 เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก  อาจนับได้ว่าสำคัญที่สุดนับตั้งแต่ ปรมาจารย์เคนส์ ได้สร้างทฤษฎีการคลัง และ เศรษฐศาสตร์มหภาคขึ้นเมื่อ 84 ปีก่อนเลยทีเดียว   ไม่เพียงแต่ในชั้นมัธยม และ ปริญญาตรีที่มีการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์ที่ผิดๆ เท่านั้น   ผู้กำหนดนโยบายของหลายประเทศก็ล้วนเรียนมาจากตำราที่ผิดๆ ด้วยเช่นกัน และมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผิดๆ นำพาประเทศไปในทิศทางที่ผิดๆ ในที่สุด

ดังนั้น ผมจึงขอเรียกร้องให้หยุดการเรียนการสอนเศรษฐศาสตร์แบบเดิมๆ ไว้ก่อนเลย  หากมหาวิทยาลัยใดสนใจที่จะนำ "สำนักไท้เก๊ก" เข้าไปอยู่ในเขตรั้วมหาวิทยาลัย  เพื่อทำการเผยแพร่ความรู้ใหม่นี้ให้แก่นักศึกษา รวมถึง ทำการผลิตตำรา Macro Econ. ไปทั่วโลก  เพื่อเปลี่ยนโลกของเศรษฐศาสตร์เสียใหม่  ให้ไปในทิศทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น  โดยผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับนักศึกษา  มหาวิทยาลัย และ ประเทศไทยเรื่องนี้จึงเป็นการทำเพื่อชาติและเพื่อโลก    ผมยินดีร่วมมือเต็มที่นะครับ

ปล.สำหรับทางออกปลดล็อกการเมืองไทยนั้น .... ผมขอเสนอว่าควรนำแนวคิดแบบ "ไท้เก๊ก" มาประยุกต์ใช้ คือ รวม 2 เรื่องซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นพร้อมกันให้มันเกิดขึ้นได้  เช่น  มีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ยังมีคงมีเลือกตั้งเดือน ก.ค. , ได้โค่นระบอบทักษิณ  แต่ยังคงมีสภาฯ ผู้แทนราษฎร    พรรค ปชป.ลงสู้ศึกเลือกตั้ง แต่ยังมีลุ้นได้จัดตั้งรัฐบาล  เป็นต้น  ซึ่งเรื่องเหล่านี้ทำได้  ตามบทความ "ปลดล็อก กปปส."  "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งถ้ามุ่งมั่นก็ยังทัน" และ "แต้มต่อที่อยากขอพรรคเพื่อไทย"  เป็นต้น