ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 115 เดือน รวมทั้งการเร่งเบิกจ่ายเงินภาครัฐ และ ลงทุนสาธารณูปโภค น่าจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ราว 4-5% ในปี 2558 และ ประเทศไทยก็เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ได้อย่างสวยงาม นั่นเป็นภาพที่ดูดีมากสำหรับประเทศไทย แต่เดี๋ยวก่อน....
วิกฤติปลาร้า คือ วิกฤติที่ผมตั้งชื่อให้เอง โดยเป็นวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทย ซึ่งก็คือ ประเทศลาวนั่นเอง โดยลาวได้รับการเตือนจาก IMF มาตั้งแต่เดือน พ.ย.ปี 2556 ให้ระมัดระวังการบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ดี เพราะ มีการขาดดุลการคลัง และ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาก อาจทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้ในที่สุด
เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ ก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือ ลาวมีการขาดดุลการคลังถึง 12.4% GDP เมื่อปี 2556 โดยมีหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ระดับ 62% ซึ่งจัดว่าเป็นระดับที่สูง นอกจากนี้ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องรุนแรง 3 ปีซ้อน (ค่า Rueng Alarm ที่ -73.8%) ซึ่งเป็นระดับปรอทแตกอันตรายมากๆ ขณะที่ผมกำลังกังวลกับ "ลาว" อยู่นั้น สายตาก็เหลือบไปเห็นตัวเลขของ มองโกเลีย ซึ่งอันตรายกว่าเสียอีก คือ ค่า Rueng Alarm ที่ -92% แทบไม่เชื่อสายตาว่าจะมี 2 ประเทศแบบนี้ในโลกใบนี้ด้วย
การที่ลาวซึ่งกำลังจะเข้าเป็น 1 ใน AEC เช่นเดียวกับประเทศไทย ลาวมุ่งมั่นพัฒนาชาติให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดเพื่อตามให้ทันไทย โดยมุ่งเน้นในด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยเขือนพลังน้ำ การสื่อสารด้วย 4G การคมนาคมด้วยรถไฟความเร็วสูง อย่างไรก็ดี การวิ่งเร็วเกินไปถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับประเทศลาว หากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงของการรวมตัวปีหน้านั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อ AEC ทั้งภูมิภาคได้ โดยประเทศที่มีอันดับเครดิตไม่ดีนักอย่าง กัมพูชา เวียดนาม และ อินโดนีเซีย (1 ใน Fragile Five) ก็อาจมีปัญหาทางเศรษฐกิจตามไปด้วย
ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำก็คือ รัฐบาลไทย และ ธปท. ควรส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งการเงินการคลังไปยังประเทศลาวโดยด่่วน เพื่อให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ซึ่งอาจจะสามารถป้องกัน "วิกฤติปลาร้า" ได้ นอกจากจะเป็นการแสดงน้ำใจในฐานะบ้านพี่เมืองน้องแล้ว ประเทศไทยยังได้แสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำ AEC ที่ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ต้นมือ เพื่อให้การดำเนินการรวมเป็นหนึ่งเดียวของ AEC ได้อย่างราบรื่นไร้อุปสรรคใดๆ
อย่างไรก็ดี "วิกฤติปลาร้า" อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะ ลาววิ่งมาอย่างเร็วจนถึงขอบหน้าผาเสียแล้ว และเรื่องนี้อาจจะเป็นบททดสอบแรกสำหรับบ้านหลังใหญ่อย่าง AEC ว่าจะสามารถบริหารจัดการวิกฤติเศรษฐกิจของสมาชิกได้อย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น