วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กับดักเงินด่อง

กับดักเงินด่อง

เงินด่องซึ่งเป็นสกุลเงินของเวียดนามกำลังจะประสบปัญหาครั้งใหญ่แล้วในปี 2011 นี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น... ตอบง่ายๆ ก็คือ เวียดนามได้เดินอยู่บนเส้นทางเดียวกับ เม็กซิโก ไทย และอาร์เจนตินา ในอดีต และ ประเทศทั้ง 3 นี้ก็ไม่สามารถจะหลบเลี่ยงวิกฤติค่าเงินมาได้เลย

การผูกค่าเงินด่องกับเงินดอลลาร์ แม้จะมีการลดค่าเงินด่องลงถึง 3 ครั้ง แต่เทียบไม่ได้เลยกับส่วนต่างเงินเฟ้อของประเทศเวียดนามกับอเมริกา โดยเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ธ.ค.53 นั้นสูงถึง 11.75% สูงที่สุดในรอบ 22 เดือน ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เวียดนามอาจขาดดุลการค้าถึง 12 พันล้านเหรียญ สรอ.ในปี 2553 ซึ่งเป็นระดับถึง 12% GDP ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ร่อยหรอลดน้อยลงจนน่ากังวล รัฐวิสาหกิจต่อเรืออย่าง Vinashin ก็เข้าขั้นล้มละลาย ส่งผลให้เวียดนามถูกลดอันดับเครดิตลงอีกด้วย

เมื่อค่าเงินไม่สะท้อนความเป็นจริง จึงเกิดอัตราแลกเปลี่ยนใน "ตลาดมืด" ขึ้น ตามร้านขายทองคำซึ่งกำหนดค่าเงินที่ต่ำกว่าทางการอยู่ประมาณ 10% ประชาชนเวียดนามไม่มั่นใจในค่าเงินด่อง แทนที่จะฝากเงินกับธนาคารได้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถึง 13-15% ต่อปี กลับเอาเงินนั้นไปซื้อทองคำเก็บเป็นสินทรัพย์แทน

"สัญญาณเตือน 333" (Triple 3 Signal) สัญญาณเตือนก่อนประเทศต่างๆ จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น คือ 1.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% GDP 2. การขาดดุลนั้นต่อเนื่องกันนานกว่า 3 ปี และ 3. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สูงกว่าประเทศอ้างอิงมากกว่า 3% แน่นอนว่า วิกฤติเตกีล่า และ ต้มยำกุ้ง ประเทศเม็กซิโกและไทยก็เข้าประเด็นนี้อย่างเต็มๆ เพราะ การกำหนดค่าเงินให้แข็งค่าเกินระดับเหมาะสมเป็นเวลานาน ทำให้ขาดดุลการค้า และ ขาดดุลเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องหนักหน่วง การลงทุนอยู่สูงกว่าการออมอย่างมาก ประเทศจึงต้องระดมเงินจากต่างประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อไปถึงจุดหนึ่งทีทุนสำรองฯ ร่อยหรอจนนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ถดถอยและ การไหลออกของเงินในที่สุด ซึ่งอาจเรียกชื่อได้ว่าเป็น "วิกฤติแห่งความไม่พอเพียง" (Insufficiency Crisis)

สภาพเศรษฐกิจของเวียดนาม เปรียบเหมือนกับรถยนต์ที่วิ่งมาอย่างเร็ว เข้าโค้งหักศอกบนถนนเปียก ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการขับขี่เป็นอย่างมาก จึงจะรอดพ้นมาได้อย่างปลอดภัย และ สภาพเช่นนั้นในอดีตทั้งเม็กซิโก ไทย และ อาร์เจนตินา ก็พิสูจน์มาแล้วว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยที่จะผ่าน "โค้งหักศอก" แบบนั้นได้โดยไม่เสียหายหนัก

ประเทศไทยคววรแสดงบทบาทในการประเทศผู้นำด้านการป้องกัน และ แก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจของโลก ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญจาก ธปท.ซึ่งมีประสบการณ์สมัย "วิกฤติเงินบาท" เพื่อช่วยเหลือเวียดนามในการผ่อนหนักให้เป็นเบาสำหรับ "วิกฤติเงินด่อง" ในอนาคต ด้วยการถ่ายทอด "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" แนะนำให้เวียดนามลดค่าเงินด่องลงอย่างเร็วเท่ากับระดับตลาดมืด คือ ราว 10% จากนั้นก็ต้องพยายามรัดเข็มขัดการคลัง ส่งเสริมการออมผ่านระบบประกันสังคมและเงินบำนาญ รวมทั้งควบคุมสินเชื่อเพื่อการเก็งกำไรต่างๆ

เวียดนามจำเป็นที่จะต้องเติบโตให้ช้าลง เพื่อรักษาสมดุลบัญชีเดินสะพัดให้ได้ จะส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปัจจุบัน (11.75%)โดยอัตโนมัติ มันแทบไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับเวียดนาม...คือเดินให้ช้าลง หรือว่า วิ่งอย่างเร็วแล้วแหกโค้ง...เท่านั้นเอง

หากค่าเงินด่องอ่อนค่าลง 10% นั่นอาจเป็นภาวะลำบากของชาวนาไทย ที่ต้องแข่งขันขายข้าวกับเวียดนาม แต่หากเวียดนามเกิดวิกฤติเงินด่องขึ้นมาจริงๆ แล้วละก็เงินด่องอาจอ่อนค่าลงได้ถึง 50% และนั่นคือ "นรก" ของชาวนาไทยอย่างแน่นอน เวียดนามอาจจะก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในการส่งออกข้าวแทนไทย และ ราคาข้าวเป็นดอลลาร์จะตกต่ำลงได้อีกมาก ดังนั้น การเข้าช่วยเหลือเวียดนามของ ธปท.จึงไม่เพียงแต่ช่วยเวียดนามเท่านั้น...แต่ยังเป็นการช่วยเหลือชาวนาไทยให้รอดพ้นจากหายนะอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น