วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ยูโรไท้เก๊ก

ความกังวลได้เริ่มก่อตัวอีกครั้งจากเขตยูโรโซน   โดยอาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร" คือ ต้นตอของสรรพปัญหาทั้งปวงในเขตยูโรโซน  โดยเริ่มตั้งแต่

1. ปัญหาเศรษฐกิจ :  การจำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง  ส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ   โดยประเทสในเขตนี้มีหน้าที่ต้องทำให้การขาดดุลการคลังต่อ GDP ลดลงให้ได้เหลือระดับ 3% เท่านั้น  และ สำหรับประเทศลูกหนี้อย่าง PIIGS นั้น  การไฟแนนซ์เงินผ่านพันธบัตรรัฐบาล  จำเป็นต้องพึ่งพิงเงินจากต่างประเทศ  ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก

2.ปัญหาสังคม : เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ  ก็เกิดว่างงานสูง  โดยอัตราว่างงานในสเปน และ กรีซ นั้นสูงระดับ 26-27% ไปแล้ว  และ สำหรับคนหนุ่มสาวนั้น  อัตราว่างงานสูงระดับ 60% เลยทีเดียว   นี่นับเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญยิ่งอันหนึ่ง

3.ปัญหาการเมือง : ซึ่งเกิดจากการปะทะกันระหว่างแนวคิด สนับสนุนการรัดเข็มขัดการคลัง  เพราะ การมีเงื่อนไข "ยูโร" มาค้ำคอ  ทำให้จำเป็นต้องเลือกทางนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ   ขณะที่ แนวคิดต่อต้านการรัดเข็มขัด  เน้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นก็เพื่อดูแลปากท้องประชาชน   จึงอาจกล่าวได้ว่า "เงินยูโร"  นำไปสู่ปัญหาการเมืองในอิตาลีในที่สุด

การที่ ECB ประกาศว่าจะพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อรักษาระบบยูโรปัจจุบันเอาไว้  จึงเปรียบเหมือนการพูดว่า  "จะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่  ด้วยการเก็บรักษาต้นตอของปัญหาเอาไว้"......  นี่จึงยังไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องนัก   โดยวิธีที่ถูกต้องน่าจะเป็นการยอมรับความผิดพลาดของ "เงินยูโร"  และจะจัดการแก้ไขระบบยูโรอย่างไร  เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบการเงินโลกต่างหาก

วิธีจัดการกับ "เงินยูโร" นั้นมี 4 วิธี  ตามแบบฉบับ "วิถีไท้เก๊ก"  โดย 2 วิธีแบบสามัญธรรมดา
1. ใช้ระบบเดิมๆไป ไม่ต้องเปลี่ยน :  วิธีนี้ก็คือวิธีปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศอ่อนแอ (PIIGS)  ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง  จำเป็นต้องรัดเข็มขัดการคลัง  ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย    เป็นวิธีที่ขาด "ดุลยภาพ" ของระบบเศรษฐกิจ

2. ให้ประเทศอ่อนแอเลิกใช้ "ยูโร" และ กลับไปใช้เงินสกุลเดิม  :  วิธีนี้ก็อาจไม่เลวนัก  น่าจะทำให้ประเทศอย่าง กรีซ ไซปรัส  โปรตุเกส  กลับมามีสมดุลบัญชีเดินสะพัด และ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้   แต่ก็อาจส่งผลให้สูญเสียความเชื่อมั่น  และ กระทบไปยังประเทศอื่นๆ  ทำให้ขาด "เอกภาพ" ไป

สำหรับวิธีที่ 3 และ 4 นั้น เป็น วิถีไท้เก๊ก   ทางหนึ่งคือ แย่กว่าเดิม  ส่วนทางที4  คือ คำตอบสุดท้าย
3. ประเทศอื่นๆ เลิกใช้เงินสกุลเดิม   เปลี่ยนมาใช้ "ยูโร" กัน :  ซึ่งก็มีหลายประเทศในเขตยุโรปตะวันออก  เช่น โปแลนด์  จะปรับเปลี่ยนมาใช้ "เงินยูโร"  เพื่อสร้างภาพว่า  เงินยูโร  มีความมั่นคงสูงมีเสถียรภาพ   ในความเป็นจริงแล้ววิธีนี้แย่กว่าเดิมเสียอีก  เพราะ แทนที่ดูแลจัดการแค่ 17 ประเทศในยูโรโซน  อาจจะต้องยุ่งยากในการจัดการถึงกว่า 20 ประเทศในการแตกตัว    เรื่องนี้สะท้อนภาพว่า  ชาวยุโรปที่รู้ว่า เงินยูโร คือ ต้นตอแห่งปัญหาทั้งปวงในยูโรโซนนั้นยังมีอยู่น้อย และ อยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

4. วิธีนี้น่าจะดีที่สุดก็คือ  เลิกใช้เงิน "ยูโร"  แล้วเปลี่ยนมาใช้ "ยูโร" :  ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าผมเขียนผิดหรือเปล่า  ไม่ผิดหรอกครับ   ก็ถ้าไม่เป็นเรื่องที่ดูแปลกๆ จะเข้าข่าย "วิถีไท้เก๊ก" หรือครับ ??

หลักการก็คือ แตกเงิน  Euro  ออกเป็น Euro-A  Euro-B และ Euro-C  ตามลำดับ ตามสภาพความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ  โดย Euro-A คือส่วนใหญ่ในยูโรโซน รวม 11 ประเทศ  ขณะที่ Euro-B  มี อิตาลี สเปน และ ไอร์แลนด์  และ  Euro-C คือกลุ่มประเทศอ่อนแอสุด  กรีซ โปรตุเกส และ ไซปรัส  การแบ่งก็โดยอิงกับความเสี่ยงของประเทศที่วัดจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี   ต่ำกว่า 3% ก็คือ Euro-A  ระหว่าง 3-6% ก็คือ Euro-B  และ เกินกว่า 6% ก็คือ Euro-C

อัตราส่วนในการแตกค่าเงินก็น่าจะเป็นตามสัดส่วน GDP  ของแต่ละกลุ่มซึ่งอาจใช้สัดส่วน  70:25:5  ก็น่าจะเหมาะสม  โดย Euro-B นั้นอ่อนค่ากว่า Euro-A (ซึ่งเป็นสกุลหลัก)  อยู่ 10%  และ  Euro-C อ่อนค่ากว่า Euro-A  20%  และในอนาคตก็ผูกค่าไว้โดยยอมปล่อยให้อ่อนค่าลดทีละน้อย  (Crawling Peg)  กับ เงินสกุล Euro-A

ด้วยวิธีการนี้จะส่งผลดีใน 4 ประการดังนี้

1. ดุลยภาพ :  ประเทศอ่อนแอ (PIIGS และ ไซปรัส)  จะสามารถปรับสมดุลบัญชีเดินสะพัดได้  เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และ ฟื้นการจ้างงานได้ด้วย   จากธุรกิจส่งออก ท่องเทียว และ ธุรกิจทดแทนการนำเข้า

2.ภราดรภาพ :  จากภาพที่ประเทศลูกหนี้มอง "ยูโร"ว่าเป็นโซ่ตรวนที่ทำให้หมดสิ้นอิสรภาพทั้งการเงินการคลัง  อยู่ในความสัมพันธ์แบบรู้สึกตกเป็นทาสของ เยอรมนี  ก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น   จากมุมมองของเจ้าหนี้ที่ว่า ประเทศ PIIGS  เป็นลูกหนี้ที่ฟุ่มเฟือย ชอบเบี้ยวกฎเกณฑ์  ต้องนำภาษีของชาติและประชาชนมาอุ้มประเทศลูกหนี้เหล่านี้  ก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่เป็นมิตรกันมากขึ้น

3.เอกภาพ :  เมื่อเงินยูโร แตกออกเป็น 3 สกุล  แต่ยังคงใช้ยูโรเหมือนเดิม  ทุกประเทศยังคงอยู่ใน "ยูโรโซน"  อย่างเป็นเอกภาพ  และ  ECB ดูแลเงินทั้ง 3 สกุลนี้  โดยน่าจะปรับกฏเกณฑ์ไปด้วย   เช่น  อัตราเงินเฟ้อสำหรับ Euro-A,B,C นั้นก็อาจเป็นไม่เกิน 3%, 5% และ 7% ตามลำดับ    การขาดดุลการคลังต่อ GDP  ก็เป็น 3 ระดับโดยไม่เกิน 3% 5% และ 7% ตามลำดับ   หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP  ก็อาจปรับเป็นไม่เกิน 100%  125% และ 150% ตามลำดับ   เพราะ กฏเกณฑ์ปัจจุบันแทบไม่มีประเทศไหนทำได้  นั่นแปลได้ว่าเป็นกฎระเบียบที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสม     เมื่อปรับกฎให้อ่อนลงเช่นนี้  ประเทศต่างๆ ก็สามารถทำตามกฎระเบียบได้โดยไม่ยากลำบากนัก  และเกิดเอกภาพในกลุ่มได้

4.ศักยภาพ : ประเทศต่างๆ ในยูโรโซนก็จะกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ  ซึ่งก็น่าจะเป็นระดับต่ำๆ  แต่ไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยอย่างในปัจจุบัน  นอกจากนี้  ยังอาจเพิ่มศักยภาพด้วยการดึงเอา  ประเทศใน EU แต่ยังไม่ได้ใช้เงินยูโร  เข้ามาร่วมใช้เงิน 1 ใน 3 สกุลนี้  ตามความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจได้ด้วย  โดย เดนมาร์ก  สวีเดน  ก็อาจเข้าร่วม  Euro-A  อังกฤษ โปแลนด์  ก็อาจเข้าร่วม Euro-B    ส่วนตุรกีและยุโรปตะวันออก  ก็อาจเข้าร่วม Euro-C  เป็นต้น   วิธีนี้ก็จะทำให้ในอนาคตขนาดเศรษฐกิจของยูโรโซน จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก คือ ใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาเสียอีก  และ นี่อาจเป็นต้นแบบในการกำหนดค่าเงินสกุลร่วมให้กับภูมิภาคเอเชียได้อีกด้วย

เชื่อได้ว่าหากผู้นำในยูโรโซนได้อ่านมาถึงบรรทัดนี้น่าจะตื่นเต้นดีใจเป็นอันมาก  เพราะ  "ยูโรไท้เก๊ก" หรือ การเลิกใช้ "ยูโร" เปลี่ยนมาใช้ "ยูโร"  น่าจะเป็น คำตอบสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาวิกฤติยูโรโซน  นั่นเองครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น