วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จาก ตลาดเกิดใหม่ สู่ ตลาดตายใหม่

"ตลาดเกิดใหม่" (Emerging Markets)   คือ คำศัพท์ที่ท่านผู้อ่านน่าจะรู้จักกันดี   ซึ่งหมายถึง ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 1.5 หมื่นดอลลาร์   และ มีขนาดที่ใหญ่พอสมควร  ดังนั้น ประเทศอย่าง BRICS (บราซิล  รัสเซีย  อินเดีย  จีน และ แอฟริกาใต้)  ก็จัดอยู่ในนี้   และ แน่นอนย่อมรวม TIP(ไทย  อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์)   มาเลเซีย  ตุรกี  เมกซิโก  อียิปต์   อาร์เจนติน่า โคลัมเบีย  ชิลี  และอื่นๆ เข้าไปด้วย

สำหรับ "ตลาดตายใหม่" (Newly Dying Markets)  นั้น คือ ศัพท์ที่ผมได้บัญญัติใหม่ขึ้นมาเอง  หมายถึง  ตลาดเกิดใหม่ที่ได้ปั่นฟองสบู่ไปสุดรอบแล้ว  เมื่อฟองสบู่สินทรัพย์แตกไม่นาน ตลาดหุ้นยังลงจากจุดสูงสุดมาไม่มากและไม่นาน  หากเทียบเป็น "ศพ" ก็จัดว่ายังอุ่นๆ อยู่ คือตายมาได้ไม่นานยังใหม่ๆ เลย  ซึ่งก็คือ สถานการณ์ของตลาดสินทรัพย์ตอนนี้นั่นเอง  โดยต้องถือว่ากระแสเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ได้เริ่มจากกลางเดือน พฤษภาคม และ น่าจะใช้เวลานานราว 9-12 เดือน  สำหรับขาลง  เมื่อเทียบกับฟองสบู่สินทรัพย์ขาขึ้นที่กินเวลานานถึง 4 ปี  เป็นเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ถึง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนี้  ผมยังได้นิยามศัพท์ "ตลาดตายเก่า" เอาไว้ด้วย  ซึ่งหมายถึง  ตลาดที่ตายมานานแล้ว  เศรษฐกิจยืนๆแบบทรงๆ ทรุดๆ  แทบไม่มีการเติบโตของอุปสงค์  โครงสร้างของประชากร  และ โครงสร้างเศรษฐกิจ (การคลังและระบบอัตราแลกเปลี่ยน) ที่ไม่เหมาะสม  จึงไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแรงได้  ดัชนีตลาดหุ้นของกลุ่มนี้แม้มีการฟื้นตัวมาบ้าง  แต่ก็ยังยืนได้ไม่ถึงครึ่งของยอดสูงสุดของปี 2008  ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์   ซึ่งก็ได้แก่ประเทศ PIIGS ในยูโรโซน  ทั้ง อิตาลี  สเปน  โปรตุเกส  ไอร์แลนด์ก็เข้าข่ายนี้ โดยที่ กรีซ นั้นแย่มากๆ  ดัชนีหุ้นยังยืนไม่ถึง 1 ใน 5 ของจุดสูงสุด  ขณะที่  ไซปรัส ยิ่งน่าตกใจ  เพราะยังยืนไม่ได้ถึง 1 ใน 10 ของจุดสูงสุดด้วยซ้ำไป   ขณะที่อีกประเทศก็คือ ญี่ปุ่นนั้น  แม้ดัชนีหุ้นฟื้นตัวมาบ้าง  แต่ก็ยืนอยู่ระดับแค่ 1 ใน 3 ของจุดสูงสุดเมื่อ 23 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง

เราลองมาดูว่า ดัชนีตลาดหุ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา....จะเห็นว่า ดัชนีหุ้นของตลาดเกิดใหม่นั้น ส่อแววเป็น "ตลาดตายใหม่" อย่างเห็นได้ชัดหากเรียง 8 อันดับแรก   โดย  ตุรกี (-22.4%)   กรีซ (-19.8%)   ฟิลิปปินส์ (-17.9%) บราซิล (-16.9%) ไทย (-15.1%)  อียิปต์ (-14.7%) อินโดนีเซีย (-14.3%)  และ จีน(-14.2%)

"มีเกิดก็มีตาย"  "มีหยางก็มีหยิน"  เมื่อสิ้นสุดของตลาดขาขึ้น (หยาง)  ก็แน่นอนว่าจะเริ่มเข้าสู่ตลาดขาลง (หยิน)  ดังนั้น การประเมินจากฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ว่าดัชนี SET Index  จะไปที่ 1700-1800 จุด ณ ปลายปี  จึงเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไปอย่างมาก  โดยที่ค่า P/E เฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่ MSCI Emerging Index  ยืนที่ 9.1 เท่าแค่นั้น   โดยประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยระยะยาวสูงๆ  ก็จะมีค่า P/E ที่ต่ำมาก เช่น  รัสเซียที่ 6 เท่า    จีนและตุรกีที่ 10 เท่าเป็นต้น   หาก SET จากลงจาก P/E 15.7 เท่าไปเป็นค่าเฉลี่ยที่ 9.1 เท่าเหมือนๆ กับตลาดเกิดใหม่ทั่วไป  นั่นอาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากๆ  เพราะ นั่นหมายถึง SET Index  อาจไปยืนที่ระดับเลข 3 หลักกันเลย

เมื่อมาดูราคาที่ตกลงของตลาดบอนด์ 10 ปีดูบ้าง  โดยเรียงลำดับจาก ประเทศที่มีค่าบอนด์ยีลด์สูงขึ้นมากใน 1 เดือนซึ่งหมายถึง ราคาที่ตกลงของบอนด์ระยะยาว  ก็อาจเรียง 8 ลำดับแรกได้ดังนี้  กรีซ (สูงขึ้น  2.75%)    ตุรกี (2.72%)   ไนจีเรีย (2.48%) โคลัมเบีย (2.05%)   ฮังการี (1.71%)  แอฟริกาใต้  (1.46%)   โปรตุเกส  (1.31%)   และ รัสเซีย (1.18%)   สำหรับประเทศไทยตามมาห่างๆที่ +0.68%

การวิ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์อาจส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจได้ถึง 4 ประเด็นดังนี้

1. ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นสำหรับ SME  :  สภาพคล่องที่ดูเหมือนจะเริ่มลดลง  ดอกเบี้ยระยะยาวที่สูงขึ้น  ส่งผลให้ต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินเป็นไปได้ยากลำบากยิ่งขึ้น

2. ส่งผลลบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ : ก็ชัดเจนว่า สินเชื่อบ้านนั้นอิงอัตราเบี้ยกับ บอนด์ยีลด์ 10 ปีเป็นหลัก สำหรับสินเชื่อระยะยาวในต่างประเทศ   ดังนั้น  หากค่านี้วิ่งสูงขึ้นอย่างเร็ว  จะกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น  ขณะที่ผู้จำนองบ้างกับแบงก์ก็จะมีต้นทุนดอกเบี้ย และ ภาระการผ่อนที่สูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน   น่าจะส่งผลทั้งยอดขาย และ ราคาของอสังหาริมทรัพย์อยู่ในทิศทางลบได้

3.ส่งผลลบต่อตลาดหุ้น : เมื่อดอกเบี้ยระยะยาวสูงขึ้น  ย่อมส่งผลให้ P/E ของตลาดหุ้นที่เหมาะสมมีค่าลดลงนั่นเอง  และ นั่นเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

4.ส่งผลลบต่อการคลัง :  โดยค่าดัชนีเรืองศิริกูลชัย (Ruang Index) นั้นจะมีค่าวิ่งสูงขึ้นมากอาจถึงระดับอันตราย เนื่องจาก  ดัชนีนี้มีการนำมาค่าบอนด์ยีลด์ 10 ปีเข้าไปร่วมคำนวณด้วย  ดังนั้น  ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง อเมริกา  ฝรั่งเศส  ญี่ปุ่น  กำลังมีความเสี่ยงทางการคลังที่สูงขึ้น   ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ประเทศอย่าง  อิตาลี สเปน ที่เสี่ยงมากๆ อยู่แล้ว   นอกจากนี้  ยังมีอีกประเทศหนึ่งในยูโรโซน คือ "สโลเวเนีย" ที่ค่าบอนด์ยีลด์  10 ปีนี้สูงถึง 6.93%  ซึ่งเป็นระดับอันตรายมาก  โดยเชื่อกันว่า  หากค่านี้สูงเกิน 7%  การออกพันธบัตรรัฐบาลจะทำในตลาดการเงินปกติได้ยาก เพราะต้นทุนสูงจนเกินไป  นั่นหมายถึง  โอกาสที่ประเทศสโลเวเนียอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจาก "ทรอยก้า" ภายใน 1-2 เดือนนี้มีอยู่สูงมาก และ นั่นอาจนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นของตลาดโลกอีกครั้งหนึ่ง

และ สุดท้ายเมื่อดูการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในรอบ 1 เดือนดูบ้าง  เงิน Real ของบราซิล อ่อนลง 7.9%   เงินรูปีของอินเดีย   6.9%    เงินเปโซของเม็กซิโก  5.6%   เงิน Rand ของแอฟริกาใต้  5.3%   เงินรูเบิลของรัสเซีย 5.0%  เงิน Lira ของตุรกี 4.6%   เปโซฟิลิปินส์ 4.1%  และเงินบาทอ่อนลง  3.5%  จะเห็นได้ว่าค่าเงินของ "ตลาดเกิดใหม่"  นั้น  ส่อแววกลายเป็น "ตลาดตายใหม่"  อย่างชัดเจน  แทนที่จะแข็งค่าขึ้นจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย  กลับ อ่อนค่าลงอย่างเร็ว

โดย 4 ปีผ่านมาจนถึงเดือนพฤษภาคมนั้น  นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาใน "ตลาดเกิดใหม่"  เพื่อหวังกำไร 2 เด้ง คือ ราคาสินทรัพย์ (หุ้นและบอนด์ระยะยาว) ที่เพิ่มสูงขึ้น และ กำไรอัตราแลกเปลี่ยน  เมื่อมาถึงจุดนี้นักลงทุนต่างชาติก็กลับกังวลถึงความเสี่ยงในการขาดทุน 2 เด้งเช่นกัน คือ ราคาสินทรัพย์ทั้งหุ้นและบอนด์ที่ตกลงอย่างเร็ว และ ยังขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย

เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ  ประเทศที่มีโครงสร้างอ่อนแอจะโดนก่อน  ผมคิดว่า  "วิกฤติไก่งวง" จะเริ่มเกิดที่ประเทศ SIT (South Africa , India และ Turkey)  ซึ่งมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่อง 3 ปีจน "สัญญาณเตือนภัยเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Alarm)  ได้ส่งเสียงเตือนอย่างแรงนั้นมีความเสี่ยงสูงมาก   ประเทศเหล่านี้โครงสร้างของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ราวครึ่งหนึ่งหรือต่ำกว่านั้นของ  "หนี้สินต่างประเทศ" โดยรวมอีกด้วยซึ่งเป็นโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับไทยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง

นี่จึงมีความเปราะบางอย่างยิ่ง   หากกระแสเงินทุนไหลออกจนสร้างความกังวลไปทั้งตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด   นอกจากนี้  ยังอาจกระทบไปจนก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในยูโรโซน (โดยเฉพาะ  กรีซ  ไซปรัส  และ สโลเวเนีย)  ยิ่งจีนมีสัญญาณของการขาดสภาพคล่อง และ ปัญหาหนี้เสียที่มีเค้าลางอันตรายด้วยแล้ว  เหล่านี้อาจรวมตัวกันเป็น "วิกฤติหมูหัน"  ในช่วงครึ่งปีหลังได้เลย

ผมเกรงว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมนั้น อาจจะไม่สามารถรับมือได้กับ 2 วิกฤติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ได้ เพราะ ข้อจำกัดทั้งด้านการคลัง  (หนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP สูงอยู่แล้ว  และ  บอนด์ยีลด์ 10 ปีก็สูงขึ้นมากด้วย)   รวมไปถึง ข้อจำกัดทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมากอยู่แล้ว  ขณะที่การพิมพ์แบงก์ผ่านมาตรกร QE ก็ทำไปมากแล้วจนถึงกับต้องพิจารณาปรับลดด้วย)   ของประเทศพัฒนาแล้ว

ส่วนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธซึ่งน่าจะใช้ป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ดีด้วยการดำเนินนโยบายการคลังพอเพียง  การเงินพอเพียง  และ FX พอเพียงนั้น   ก็ดูเหมือนจะล่าช้าเกินไปไม่ทันการณ์เสียแล้ว  เพราะ ฟองสบู่สินทรัพย์ของ "ตลาดเกิดใหม่"  ได้แตกลงจนกลายเป็น "ตลาดตายใหม่" ไปตั้งแต่ พ.ค.แล้ว  และ เศรษฐกิจจริงก็น่าจะตามหลังมาหลังจากนั้นสัก 1-2 เดือน  นั่นหมายถึง  วิกฤติเศรษฐกิจโลกกำลังคืบคลานมาใกล้มากๆ แล้วนั่นเอง

อย่างไรก็ดี  โลกคงยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว  เพราะยังมีประกายความหวังเล็กๆ ที่ผมเรียกว่า  "เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก" (Taiji-Econ.)  ซึ่งใช้หลักการยืมแรงสะท้อนแรง และ นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง   โดยยืมพลังจากแหล่งที่ "นิ่ง"  มาช่วยภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  แทนที่รัฐบาลจะทุ่มเงินงบประมาณลงไปตรงๆ   สิ่งนี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติใหม่ทั้ง 2 นี้ได้นะครับ

ข้อมูล : Bloomberg และ  www.tradingeconomics.com (วันที่ 26 มิ.ย.56)


วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

จาก TIP สู่ SIT วิกฤติไก่งวง

หากประเทศ TIP หมายถึง ไทย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์  แล้ว SIT  ละคืออะไร ??  นี่เป็นกลุ่มประเทศที่ผมตั้งชื่อให้เอง  หมายถึง  ประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่พอสมควร  แต่เน้นการพึ่งพิงเงินต่างชาติอย่างมาก และ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง  ซึ่งก็คือ  แอฟริกาใต้  อินเดีย และ ตุรกี  นั่นเอง

โดยประเทศ SIT  มีโครงสร้างของเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับ TIP  ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นอย่างมาก คือ ต้องพยายามให้ดอกเบี้ยสูงไว้เพื่อดึงดูดเงินต่างชาติเอาไว้  ขณะที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูง  ปัญหาก็คือว่าตั้งแต่เดือน พ.ค.  ความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงอย่างเร็วในประเทศตลาดเกิดใหม่นี้  โดยค่าเงิน Rand ของ แอฟริกาใต้นั้นอ่อนค่าลง 11% ในเดือน พ.ค.เพียงเดือนเดียว  และ เงิน Lira ของตุรกี และ Rupee ของอินเดียก็อ่อนค่าลงไปราว 5%  โดยเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ชะลอตัวลงอย่างเร็ว  โดยอินเดียเติบโตต่ำสุดในรอบทศวรรษที่ 4.8%  ขณะที่แอฟริกาใต้ และ ตุรกี ซึ่งเคยเติบโตระดับสูงนั้น ก็เติบโตเพียง 1-2% เท่านั้นเอง  

ประเทศ SIT  จึงต้องพยายามลดอัตราดอกเบี้ยลง  เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว  อย่างไรก็ดี  นี่คือภาวะหนีเสือปะจระเข้ (dilemma)  ของนโยบาย   คือ หากดอกเบี้ยสูงเศรษฐกิจก็จะแย่  ขณะที่เมื่อลดดอกเบี้ยลงเงินทุนต่างชาติก็จะไหลออก  เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง  ทำให้ความน่าสนใจลดลงไปด้วย   มีการขายพันธบัตรของ 3 ประเทศออกมาทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีได้ดีดขึ้นสูงกว่าระดับ  7%  เมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่นขึ้นในใจของนักลงทุนต่างชาติ   ประเทศเหล่านี้จะหาเงินทุนที่ไหนไปไฟแนนซ์ส่วนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ??

ผมได้เคยตั้งค่าตัวชี้วัด "สัญญาเตือนภัยเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Alarm)  ไว้แล้ว  ซึ่งเป็นรวมค่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3 ปีย้อนหลัง  ก็จะพบว่า  แอฟริกาใต้มีค่า -12.5% GDP   อินเดียมีค่านี้ที่ -12.1% GDP ซึ่งจัดว่ามีความเสี่ยงของวิกฤติในระดับสูง   ขณะที่  ตุรกี นั้นมีค่านี้ที่ -22.4% GDP   จัดว่ามีความเสี่ยงของวิกฤติเศรษฐกิจที่สูงมาก  

เมื่อรวมเข้ากับวิกฤติทางการเมืองใน "ตุรกี" ที่มีการประท้วงของภาคประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลปะทะกับตำรวจด้วยความรุนแรง  หากเรื่องนี้เกิดกับประเทศไทยตลาดหุ้นก็อาจลงสัก 1-2%  แต่ตลาดหุ้นอิสตัลบูลในตุรกีนั้นกลับร่วงแรงถึง 10.5% ภายในวันเดียว   นั่นแสดงถึงความเชื่อมั่นที่เปราะบางมากๆ  

ยิ่งมีเมื่อความกังวลว่า  อเมริกาอาจลดปริมาณ QE ลงในเร็ววันนี้  ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง SIT  น่าจะประสบปัญหาการหาเงินทุนไปไฟแนนซ์ส่วนขาดดุลบัญชีเดินสะพัด   เมื่อ SIT แปลว่า "นั่ง" ประเทศเหล่านี้เปรียบเสมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้เงินทุนต่างชาติ 4 ขา คือ 1.ตลาดบอนด์ทั้งระยะสั้นและยาว 2.ตลาดหุ้น  3.ตลาดอสังหาริมทรัพย์ 4.การลงทุนโดยตรง (FDI)   ขาของเก้าอี้ก็เริ่มหักไปทีละขา จาก 4 เหลือ 3 เหลือ 2 เหลือ 1 สุดท้ายแล้วคงไม่เหลือขาเก้าอี้ของเงินทุนต่างชาติอีกเลย  เศรษฐกิจก็จะล้มระเนระนาดในแบบเดียวกับที่ประเทศ TIP  เคยประสบกับ วิกฤติต้มยำกุ้ง  เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมาแล้วนั่นเอง

การเรียงลำดับของวิกฤตินั้ันแบ่งเป็น 3 เฟส คือ 1.วิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด  2.วิกฤติเศรษฐกิจ  และ 3.วิกฤติการคลัง   สำหรับเฟสแรกนั้นเศรษฐกิจยังแทบไม่ส่ออาการใดๆ เลยเพียงแต่มีหนี้สินต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น   สำหรับประเทศ SIT  อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในเฟสแรกที่กำลังเดินเข้าสู่เฟส 2

ดังนั้น  ผมจึงได้ตั้งชื่อวิกฤติที่จะเริ่มต้นจากตุรกีนี้ว่า "วิกฤติไก่งวง" (Turkey Crisis)  โดยได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป  จากนั้น  แรงระเบิดของฟองสบู่แตกใน "ตุรกี" จะไปกระแทกให้ข้อต่อที่อ่อนแอสุด (weakest link)  ซึ่งก็คือ กรีซ และ ไซปรัส  ให้หลุดออกจาก "โซ่ตรวนเงินยูโร"  โดยเศรษฐกิจของ 2 ประเทศนี้ก็อ่อนแออยู่แล้วให้ย่ำแย่ลงไปอีก  และท่านผู้นำอาจต้องเปลี่ยนใจยอมรับต่อชะตากรรมว่าไม่สามารถนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้หากยังใช้ค่าเงินยูโรต่อไป  เหตุการณ์เหล่านี้เองอาจจะนำมาซึ่งความไม่เชื่อมั่นในยูโรโซน   ประกอบกับฟองสบู่การลงทุนเกินขอบเขตทั้งอสังหาริมทรัพย์ และ โรงงานของจีนน่าจะแตกพอดี  จึงนำไปสู่ "วิกฤติหมูหัน" (Roasted Pig Crisis) ซึ่งน่าจะเริ่มก่อตัวขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้  ดังนั้น กระแสเงินทุนอาจจะหันหลังให้กับตลาดเกิดใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ค.ไปนานจนถึงสิ้นปีกันเลย

สำหรับประเทศไทยนั้น  เดือน เม.ย. ที่ผ่านมาไทยได้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.36 พันล้านดอลลาร์   ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้ดูแลนโยบายการเงิน การคลัง  การค้า และ การลงทุน คงจะดูแลประเทศเป็นอย่างดีไม่ให้ต้องเดินเข้าสู่เฟสแรกของวิกฤติ   เพราะหากยังปล่อยให้ไทยขาดดุลหนักหน่วงเช่นนี้ไปอีกสักระยะแล้วละก็  ประเทศ SIT  อาจต้องเปลี่ยนใหม่เป็น SITT (รวม Thailand ด้วย)  และ ประเทศไทยที่เคยร่วมโต๊ะกิน "ต้มยำกุ้ง"  อาจต้องร่วมโต๊ะเพื่อกิน "ไก่งวง" และ "หมูหัน" กันอีกด้วยนะครับ