วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เศรษฐศาสตร์ไตรภาค

บทความนี้ผมจะได้กล่าวถึง "เศรษฐศาสตร์ไตรภาค"  หรือเศรษฐศาสตร์ซึ่งมี 3 ภาค  ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งสำหรับประเทศไทย

1. ภาคก่อวิกฤติ :  นี่คือเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม  เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยาง  เน้นการ  เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง  สร้างความโลภเกินพอดี  สร้างฟองสบู่ให้แตกจนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด   แม้มีความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤติของภาคเอกชน  อย่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์  ด้วยการอัดฉีดเงินภาครัฐเข้าไปมากๆ  โดยอเมริกาขาดดุลการคลังตั้งแต่ปี 2009-2012 นั้นเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 12.1%  10.7%  10.1% และ 8.5%  ตามลำดับซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและตัวเลขหนี้ภาครัฐต่อ GDP นั้นก็วิ่งสูงกว่า 100% ไปแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีตัวเลขขาดดุลการคลัง 4 ปีแบบเดียวกันที่ 8.8% 8.7%  9.1% และ 9.2% ตามลำดับขณะที่หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP วิ่งสูงกว่า 220%  

เมื่อมาดูประเทศในยูโรโซนที่พยายามจะ "รัดเข็มขัด" ดูบ้าง  ก็พบว่าประเทศอย่างกรีซ และ สเปน ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยด้วยการพยายามรัดเข็มขัดการคลัง  อย่างไรก็ดี  พบว่า ตัวเลขจริงของการขาดดุลการคลังในปี 2012  ก็คือ 10.0% และ 10.6% GDP ตามลำดับ  นั่นเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด"  (paradox of austerity) ซึ่งหมายถึงว่า การพยายามรัดเข็มขัดการคลัง จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย  รัฐบาลจึงมีรายได้ลดลง ขณะที่ต้องมีภาระด้านประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น  พร้อมๆ กับการอัดฉีดเงินเพิ่มทุนเข้าภาคธนาคารอีกด้วย  จึงทำให้ผลลัพธ์นั้นออกมาในทิศทางแย้งกับที่ตั้งใจ คือ การขาดดุลการคลังยังสูงมาก และ หนี้สินต่อ GDP ก็คงยังวิ่งสูงต่อไป  จึงเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากการทุ่มเงินภาครัฐแบบอเมริกา หรือ ญีปุ่น  นี่เรียกได้ว่าเป็น "กับดักเคนส์" คือไม่ว่าเลือกทางใดก็ติดกับดักอยู่ดี

เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรมาก  ธนาคารกลางก็พิมพ์แบงก์เพิ่มเข้ามาเป็นผู้ช่วยซื้อเพื่อหวังมิให้ดอกเบี้ยที่ออกมานั้นสูงจนเกินไป  ทำให้สินทรัพย์ของเฟดโป่งพองไปสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ผ่านมาตรการ QE  ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนมหาศาลหากต้องมีการ "ลด" หรือ "เลิก" มาตรการ QE ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ดีดกลับขึ้นไปสูงมาก  ทำให้พันธบัตรที่ถือครองเป็นสินทรัพย์นั้นเสื่อมค่าลง  จะเห็นได้ว่าการพยายามแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเป็นเสมือน "ลิงแก้แห"  ที่จะส่งผลให้เกิด "วิกฤติการคลัง" ของภาครัฐ  และ "วิกฤติการเงิน" ของธนาคารกลางตามมาได้อีกด้วย  ยังไม่นับการรวมไปถึง "วิกฤติภาวะโลกร้อน" อีกต่างหาก

2. ภาคป้องกันวิกฤติ : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ  นี่คือเศรษฐศาสตร์พลังหยิน  มุ่งเน้น นิ่ง-สงบ-เย็น  จะสามารถช่วยป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี  แต่อาจทำให้เศรษฐกิจโตช้าเกินไป  เติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ  เมื่อเดินหน้าช้าๆ  โอกาสเกิดอุบัติเหตุย่อมน้อยกว่าการวิ่งอย่างเร็วๆ  โดยเฉพาะในช่วงทางโค้งอันตราย  เศรษฐศาสตร์ในภาคนี้จะควบคุมความโลภไม่ให้เกินขอบเขตที่จะทำให้ไปถึงขั้นฟองสบู่แตก  อาจบรรจุเรื่องราวของ ดินน้ำลมไฟและขยะ เป็น "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม"   เรื่องราวของพลังงานฟอสซิลและพลังงานทดแทนเป็น "เศรษฐศาสตร์พลังงาน"  ใส่เรื่องราวของ พืชและสัตว์ เป็น "เศรษฐศาสตร์การเกษตร"  รวมไปถึง  เรื่องราวของคนกลายเป็น "เศรษฐศาสตร์แรงงาน" เข้าไปด้วย  แทนที่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องของ "เงิน" และ "สินค้า"  ตามแนวเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทุนนิยมเดิมๆ  

3. ภาคพิชิตวิกฤติ : เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.)  ซึ่งอาจแปลตรงๆ จากภาษาจีนเป็น "เศรษฐศาสตร์ไร้เทียมทาน"  นี่เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยินหยาง   ใช้หลักการรักษาสมดุล  ยืมแรงสะท้อนแรง  นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง  โดยไม่ใช้วิธีแบบเดิมๆ  เช่น  "การคลังไท้เก๊ก"  นั้นรัฐบาลจะสามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ  แทนที่จะอัดเงินงบประมาณลงไปตรงๆ  

หากมีการบรรจุภาค 2 และ 3  เข้าไปเป็นหลักสูตรของนักเรียนชั้นมัธยม  เด็กมัธยมโดยเฉลี่ยของไทยก็น่าจะมีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ที่เหนือว่า เด็กมัธยมของประเทศอื่นๆ  เพราะว่าพวกเขาเรียนกันแค่ภาคแรกภาคเดียว  ขณะที่ไทยจะเรียนถึง 3 ภาค  หากการปฏิรูปการศึกษา คือ การพยายามทำให้เด็กไทยได้มีความรู้เพื่อตามให้ทันเพื่อนบ้านแล้วละก็  นี่ไม่ใช่แค่การปฏฺิรูปการศึกษา  แต่เป็น "ปฏิวัติการศึกษา" เพราะจะทำให้เด็กมัธยมไทยมีความรู้เหนือล้ำกว่าชาติอื่นๆ ในโลกกันเลยทีเดียว  แน่นอนว่าเป็นเฉพาะแค่วิชาเดียว ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์นั้นหนทางคงอีกยาวไกล

อย่างไรก็ดี  นี่อาจนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเดินสู่การเป็นผู้นำความรู้เศรษฐศาสตร์ของโลก  และ ยังอาจเป็นก้าวย่างแรกที่สำคัญต่อการปฏิวัติการศึกษาไทยอีกด้วย   แต่ความฝันอันงดงามยิ่งใหญ่นี้ก็ยากจะเป็นจริง  หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของท่านผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ  ก็ฝากไว้ด้วยนะครับ


วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปากีสถาน....งานเข้าเอเชีย

ปากีสถาน คือ ประเทศที่ขนาดของเศรษฐกิจใหญ่กว่าครึงหนึ่งของประเทศไทยเล็กน้อยอยู่ที่ 211 พันล้านดอลลาร์   แต่มีพลเมืองมากถึง 180 ล้านคน หรือเกือบๆ 3 เท่าของประเทศไทย  โดยอยู่ติดกับเพื่อนบ้าน คือ ประเทศอินเดีย  ซึ่งมีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าถึง 9 เท่าตัว

ข่าวก็คือ IMF และ ปากีสถานได้มีข้อตกลงที่ IMF จะปล่อยเงินกู้ 5.3 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ปากีสถานมีระยะเวลา 3 ปี  เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ  ป้องกันวิกฤติดุลบัญชีชำระเงิน  โดยเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศนั้นร่อยหรอลงมากกว่า 40% ในช่วงเวลา 1 ปีที่่ผ่านมาเหลือเพียง 6 พันล้านดอลลาร์  หรือ เหลือไม่ถึง 2 เดือนของการนำเข้า

ทั้งๆที่ ปากีสถาน มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 2% GDP เท่านั้น  ประเทศนี้มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ จึงได้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ แน่นอนว่าปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2008 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์แล้ว  โดย IMF ได้เคยปล่อยกู้ให้ปากีสถานหลายครั้งรวมถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์  แต่ได้หยุดไปในปี 2011 เพราะ ปากีสถานไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้  โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลขาดดุลการคลัง  การปล่อยกู้รอบใหม่ให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ก็คงมีบางส่วนเพื่อให้ ปากีสถานสามารถมีเงินไปชำระหนี้เก่่าของ IMF ด้วยนั่นเอง  ภายใต้เงื่อนไขที่ ปากีสถาน จะต้องรัดเข็มขัดการคลังอย่างจริงจัง

เมื่อมาดูการคลังของ "ปากีสถาน" ดูบ้าง  ก็พบว่า หนี้สินภาครัฐต่อ GDP ยืนที่ 50.4%  เท่านั้นเอง  ซึ่งดูเหมือนจะเป็นระดับที่ต่ำ  เมื่อเทียบกับประเทศในยูโรโซน   แต่เมื่อมาดู "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Index)  ดูบ้าง  ประเทศปากีสถานมีบอนด์ยีลด์ 10 ปีนั้นสูงถึง 12.0% นั่นหมายถึงว่า ค่า Ruang Index สูงถึง 6.0% กันเลย  ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงทางการคลังมากๆ  เมื่อเทียบกับ  ญี่ปุ่นซึ่งแม้มีหนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP  สูงถึง 230%  แต่มีบอนด์ยีลด์ 10 ปีที่ 0.86% จึงได้ค่า Ruang Index เพียงแค่ 2.0%  จึงอาจกล่าวได้ว่าความจริงแล้วญี่ปุ่นมีความเสี่ยงทางการคลังที่ต่ำกว่า ปากีสถาน อยู่หลายขุม

แล้วเช่นนั้นปัญหาของ "ปากีสถาน" ที่แท้จริงคืออะไร  ปัญหาก็คือ ประเทศนี้มีหนี้สินภายนอก (external debt)  ที่ถือโดยคนต่างชาติอยู่ถึง 60 พันล้านดอลลาร์  ขณะที่มีเงินทุนสำรองฯ เพียง 6 พันล้านดอลลาร์   สูงกว่ากันถึง 10 เท่าตัว  นั่นหมายถึง  หากความเชื่อมั่นเสื่อมถอยมีการเรียกคืนเงินกู้อย่างเร็วแล้วละก็  ปากีสถาน จะหาเงินทุนที่ไหนมาชำระหนี้  ??

ผมจึงได้คิดค้นศัพท์ใหม่และนำเสนอ "การกันสำรองเรืองศิริกูลชัย"  (Ruang Reserve)   ซึ่งหมายถึงว่า  หากมีการคืนหนี้สินให้ต่างชาติ  และ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องแล้ว   เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะสามารถคงอยู่ได้นานกี่ไตรมาส    สำหรับ  ปากีสถานแม้ว่าจะมีการส่งออก "แรงงาน" ไปทำงานต่างประเทศและมีส่งเงินกลับประเทศอยู่ไม่น้อย  แต่ประเทศนี้ก็ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสล่าสุด  และ มีการคืนหนี้ภายนอก (external debt)  ออกไปราวไตรมาสละ 2.8 พันล้านดอลลาร์  นั่นหมายถึงว่า  ประเทศนี้มีเงินไหลออกจาก 2 ส่วนนี้ราวไตรมาสละ 4 พันล้านดอลลาร์    ขณะที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียง 6 พันล้านดอลลาร์  ปากีสถานจึงมีค่า Ruang Reserve  ที่ 1.5 เท่านั้นเอง  นั่นหมายถึง  หากเวลาผ่านไปราว 1.5 ไตรมาส หรือ 4.5 เดือน  ปากีสถานก็จะไม่มีเงินทุนสำรองฯ เหลืออยู่เลย  ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง  IMF จึงต้องรีบยื่นมือเข้ามาช่วยเร่งด่วน

เมื่อเทียบกับ Ruang Alarm  ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยของวิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด  จะเทียบได้กับ "โรคเบาหวาน" ซึ่งค่อยๆบั่นทอนสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศซึ่งต้องใช้เวลาสะสมกันนานหลายปีก่อนจะพัง  ขณะที่ Ruang Reserve  เป็นสัญญาณเตือนแบบ "อุบัติเหตุเลือดไหลไม่หยุด"  ซึ่งอาจใช้เวลาไม่กี่ไตรมาสก่อนเศรษฐกิจจะล้มครืนไปได้อย่างเร็ว

แล้วการได้เงินกู้จาก IMF  ซึ่งจะต้องรอบอร์ด IMF อนุมัติอีกครั้งในเดือน กย.นั้น  จะช่วยปากีสถานได้หรือไม่  ผมคิดว่าก็อาจได้ในระดับหนึ่ง  แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  เพราะ เงินส่วนนี้ต้องค่อยๆคืนกลับไปภายใน 36 เดือน  แล้วยังต้องคืนหนี้สินเดิมของ IMF  ซึ่งยังมีค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ??  ทางแก้ไขที่ยั่งยืนก็คือ การยอมปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างรวดเร็วเกินกว่า 20% เพื่อเปลี่ยนการขาดดุลเป็นได้ดุลบัญชีเดินสะพัด   ส่งออกเพิ่มมากขึ้น และนำเข้าลดลง  ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปเพื่อได้เงินตราต่างประเทศมาคืนหนี้สิน  ความจริงแล้วนี่ก็คือ ทางเดินของประเทศไทยในยุควิกฤติต้มยำกุ้งนั่นเอง   คือการต้องยอมให้เศรษฐกิจถดถอยเพื่อเปลี่ยนข้างของบัญชีเดินสะพัด   แต่หากเดินตามทางนี้นั่นก็หมายถึง  "ปากีสถาน"  จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียประเทศแรกๆ เลยที่จะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ

และหากจะร้องเพลง "16 ปีแห่งความหลัง" นั่นก็อาจพอได้อยู่ เพราะ โครงสร้างเศรษฐกิจของเอเชียใต้ในเวลานี้นั้นคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเอเชียอาคเนย์เมื่อ 16 ปีก่อนยุควิกฤติต้มยำกุ้งใน 4 ประการ คือ 1. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง  2.อัตราดอกเบี้ยสูงมากเพื่อดึงเงินทุนต่างชาติไว้  3. มีหนี้สินภายนอกอยู่เป็นจำนวนมาก และ 4. มีทุนสำรองฯ ที่ค่อนข้างน้อยจึงเสียงต่อภาวะเงินทุนไหลออก

ลำพัง ปากีสถาน ประเทศเดียวคงจะไม่เท่าไหร่  แต่หากแพร่กระจายไปยังเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่าถึง 9 เท่าอย่างประเทศอินเดียแล้ว  เรื่องนี้คงน่ากังวลอย่างยิ่ง  มีนักวิเคราะห์ต่างชาติบางคนประเมินตามทฤษฎีโดมิโนว่า ประเทศอินเดีย น่าจะเป็น "โดมิโน" ตัวแรกที่จะมีการล้มลง  แต่จากสิ่งที่ผมเขียนไว้ข้างต้น  "ปากีสถาน" น่าจะเป็นโดมิโนตัวแรกเสียมากกว่า  จากนั้นก็จะกระทบไปยัง "อินเดีย" ซึ่งใหญ่กว่ามากแต่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายกัน   จากนั้นก็ลามไปทั่วเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก  สำหรับประเทศไทย  แม้จะเป็นโดมิโนตัวท้ายๆ แถวแต่ก็ไม่แน่ว่าจะรอดไปได้   ซึ่งหากเกิดเรื่องแบบนั้นจริง  ก็คงต้องตั้งชื่อกันว่า "วิกฤติแกงกะหรี่" (Curry Crisis)  ละมั้งครับ