1. ภาคก่อวิกฤติ : นี่คือเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยาง เน้นการ เติบโต-คึกคัก-ร้อนแรง สร้างความโลภเกินพอดี สร้างฟองสบู่ให้แตกจนเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด แม้มีความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤติของภาคเอกชน อย่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ด้วยการอัดฉีดเงินภาครัฐเข้าไปมากๆ โดยอเมริกาขาดดุลการคลังตั้งแต่ปี 2009-2012 นั้นเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 12.1% 10.7% 10.1% และ 8.5% ตามลำดับซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและตัวเลขหนี้ภาครัฐต่อ GDP นั้นก็วิ่งสูงกว่า 100% ไปแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็มีตัวเลขขาดดุลการคลัง 4 ปีแบบเดียวกันที่ 8.8% 8.7% 9.1% และ 9.2% ตามลำดับขณะที่หนี้ภาครัฐ ต่อ GDP วิ่งสูงกว่า 220%
เมื่อมาดูประเทศในยูโรโซนที่พยายามจะ "รัดเข็มขัด" ดูบ้าง ก็พบว่าประเทศอย่างกรีซ และ สเปน ถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยด้วยการพยายามรัดเข็มขัดการคลัง อย่างไรก็ดี พบว่า ตัวเลขจริงของการขาดดุลการคลังในปี 2012 ก็คือ 10.0% และ 10.6% GDP ตามลำดับ นั่นเรียกว่า "ปฏิทรรศน์ของการรัดเข็มขัด" (paradox of austerity) ซึ่งหมายถึงว่า การพยายามรัดเข็มขัดการคลัง จะทำให้เศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลจึงมีรายได้ลดลง ขณะที่ต้องมีภาระด้านประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น พร้อมๆ กับการอัดฉีดเงินเพิ่มทุนเข้าภาคธนาคารอีกด้วย จึงทำให้ผลลัพธ์นั้นออกมาในทิศทางแย้งกับที่ตั้งใจ คือ การขาดดุลการคลังยังสูงมาก และ หนี้สินต่อ GDP ก็คงยังวิ่งสูงต่อไป จึงเป็นผลลัพธ์ที่ไม่ต่างจากการทุ่มเงินภาครัฐแบบอเมริกา หรือ ญีปุ่น นี่เรียกได้ว่าเป็น "กับดักเคนส์" คือไม่ว่าเลือกทางใดก็ติดกับดักอยู่ดี
เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องออกพันธบัตรมาก ธนาคารกลางก็พิมพ์แบงก์เพิ่มเข้ามาเป็นผู้ช่วยซื้อเพื่อหวังมิให้ดอกเบี้ยที่ออกมานั้นสูงจนเกินไป ทำให้สินทรัพย์ของเฟดโป่งพองไปสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ผ่านมาตรการ QE ซึ่งเสี่ยงต่อการขาดทุนมหาศาลหากต้องมีการ "ลด" หรือ "เลิก" มาตรการ QE ก็อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ดีดกลับขึ้นไปสูงมาก ทำให้พันธบัตรที่ถือครองเป็นสินทรัพย์นั้นเสื่อมค่าลง จะเห็นได้ว่าการพยายามแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเป็นเสมือน "ลิงแก้แห" ที่จะส่งผลให้เกิด "วิกฤติการคลัง" ของภาครัฐ และ "วิกฤติการเงิน" ของธนาคารกลางตามมาได้อีกด้วย ยังไม่นับการรวมไปถึง "วิกฤติภาวะโลกร้อน" อีกต่างหาก
2. ภาคป้องกันวิกฤติ : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ นี่คือเศรษฐศาสตร์พลังหยิน มุ่งเน้น นิ่ง-สงบ-เย็น จะสามารถช่วยป้องกันวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี แต่อาจทำให้เศรษฐกิจโตช้าเกินไป เติบโตได้ไม่เต็มศักยภาพ เมื่อเดินหน้าช้าๆ โอกาสเกิดอุบัติเหตุย่อมน้อยกว่าการวิ่งอย่างเร็วๆ โดยเฉพาะในช่วงทางโค้งอันตราย เศรษฐศาสตร์ในภาคนี้จะควบคุมความโลภไม่ให้เกินขอบเขตที่จะทำให้ไปถึงขั้นฟองสบู่แตก อาจบรรจุเรื่องราวของ ดินน้ำลมไฟและขยะ เป็น "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม" เรื่องราวของพลังงานฟอสซิลและพลังงานทดแทนเป็น "เศรษฐศาสตร์พลังงาน" ใส่เรื่องราวของ พืชและสัตว์ เป็น "เศรษฐศาสตร์การเกษตร" รวมไปถึง เรื่องราวของคนกลายเป็น "เศรษฐศาสตร์แรงงาน" เข้าไปด้วย แทนที่จะมุ่งเน้นแต่เรื่องของ "เงิน" และ "สินค้า" ตามแนวเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทุนนิยมเดิมๆ
3. ภาคพิชิตวิกฤติ : เศรษฐศาสตร์ไท้เก๊ก (Taiji-Econ.) ซึ่งอาจแปลตรงๆ จากภาษาจีนเป็น "เศรษฐศาสตร์ไร้เทียมทาน" นี่เป็นเศรษฐศาสตร์พลังหยินหยาง ใช้หลักการรักษาสมดุล ยืมแรงสะท้อนแรง นิ่งคือเคลื่อน-เคลื่อนคือนิ่ง โดยไม่ใช้วิธีแบบเดิมๆ เช่น "การคลังไท้เก๊ก" นั้นรัฐบาลจะสามารถรัดเข็มขัดการคลังไปพร้อมๆ กับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยการยืมพลังจากแหล่งอื่นๆ แทนที่จะอัดเงินงบประมาณลงไปตรงๆ
หากมีการบรรจุภาค 2 และ 3 เข้าไปเป็นหลักสูตรของนักเรียนชั้นมัธยม เด็กมัธยมโดยเฉลี่ยของไทยก็น่าจะมีความรู้ในด้านเศรษฐศาสตร์ที่เหนือว่า เด็กมัธยมของประเทศอื่นๆ เพราะว่าพวกเขาเรียนกันแค่ภาคแรกภาคเดียว ขณะที่ไทยจะเรียนถึง 3 ภาค หากการปฏิรูปการศึกษา คือ การพยายามทำให้เด็กไทยได้มีความรู้เพื่อตามให้ทันเพื่อนบ้านแล้วละก็ นี่ไม่ใช่แค่การปฏฺิรูปการศึกษา แต่เป็น "ปฏิวัติการศึกษา" เพราะจะทำให้เด็กมัธยมไทยมีความรู้เหนือล้ำกว่าชาติอื่นๆ ในโลกกันเลยทีเดียว แน่นอนว่าเป็นเฉพาะแค่วิชาเดียว ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์นั้นหนทางคงอีกยาวไกล
อย่างไรก็ดี นี่อาจนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเดินสู่การเป็นผู้นำความรู้เศรษฐศาสตร์ของโลก และ ยังอาจเป็นก้าวย่างแรกที่สำคัญต่อการปฏิวัติการศึกษาไทยอีกด้วย แต่ความฝันอันงดงามยิ่งใหญ่นี้ก็ยากจะเป็นจริง หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของท่านผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ ก็ฝากไว้ด้วยนะครับ
อย่างไรก็ดี นี่อาจนับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการเดินสู่การเป็นผู้นำความรู้เศรษฐศาสตร์ของโลก และ ยังอาจเป็นก้าวย่างแรกที่สำคัญต่อการปฏิวัติการศึกษาไทยอีกด้วย แต่ความฝันอันงดงามยิ่งใหญ่นี้ก็ยากจะเป็นจริง หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของท่านผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ ก็ฝากไว้ด้วยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น