ปากีสถาน คือ ประเทศที่ขนาดของเศรษฐกิจใหญ่กว่าครึงหนึ่งของประเทศไทยเล็กน้อยอยู่ที่ 211 พันล้านดอลลาร์ แต่มีพลเมืองมากถึง 180 ล้านคน หรือเกือบๆ 3 เท่าของประเทศไทย โดยอยู่ติดกับเพื่อนบ้าน คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าถึง 9 เท่าตัว
ข่าวก็คือ IMF และ ปากีสถานได้มีข้อตกลงที่ IMF จะปล่อยเงินกู้ 5.3 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ปากีสถานมีระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ป้องกันวิกฤติดุลบัญชีชำระเงิน โดยเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศนั้นร่อยหรอลงมากกว่า 40% ในช่วงเวลา 1 ปีที่่ผ่านมาเหลือเพียง 6 พันล้านดอลลาร์ หรือ เหลือไม่ถึง 2 เดือนของการนำเข้า
ทั้งๆที่ ปากีสถาน มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 2% GDP เท่านั้น ประเทศนี้มีปัญหาอะไรเป็นพิเศษ จึงได้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ แน่นอนว่าปัญหาสะสมมาตั้งแต่ปี 2008 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์แล้ว โดย IMF ได้เคยปล่อยกู้ให้ปากีสถานหลายครั้งรวมถึง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ได้หยุดไปในปี 2011 เพราะ ปากีสถานไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของการดูแลขาดดุลการคลัง การปล่อยกู้รอบใหม่ให้รัฐบาลชุดใหม่นี้ก็คงมีบางส่วนเพื่อให้ ปากีสถานสามารถมีเงินไปชำระหนี้เก่่าของ IMF ด้วยนั่นเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ ปากีสถาน จะต้องรัดเข็มขัดการคลังอย่างจริงจัง
เมื่อมาดูการคลังของ "ปากีสถาน" ดูบ้าง ก็พบว่า หนี้สินภาครัฐต่อ GDP ยืนที่ 50.4% เท่านั้นเอง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศในยูโรโซน แต่เมื่อมาดู "ดัชนีเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Index) ดูบ้าง ประเทศปากีสถานมีบอนด์ยีลด์ 10 ปีนั้นสูงถึง 12.0% นั่นหมายถึงว่า ค่า Ruang Index สูงถึง 6.0% กันเลย ซึ่งเป็นระดับที่เสี่ยงทางการคลังมากๆ เมื่อเทียบกับ ญี่ปุ่นซึ่งแม้มีหนี้สินภาครัฐ ต่อ GDP สูงถึง 230% แต่มีบอนด์ยีลด์ 10 ปีที่ 0.86% จึงได้ค่า Ruang Index เพียงแค่ 2.0% จึงอาจกล่าวได้ว่าความจริงแล้วญี่ปุ่นมีความเสี่ยงทางการคลังที่ต่ำกว่า ปากีสถาน อยู่หลายขุม
แล้วเช่นนั้นปัญหาของ "ปากีสถาน" ที่แท้จริงคืออะไร ปัญหาก็คือ ประเทศนี้มีหนี้สินภายนอก (external debt) ที่ถือโดยคนต่างชาติอยู่ถึง 60 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มีเงินทุนสำรองฯ เพียง 6 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่ากันถึง 10 เท่าตัว นั่นหมายถึง หากความเชื่อมั่นเสื่อมถอยมีการเรียกคืนเงินกู้อย่างเร็วแล้วละก็ ปากีสถาน จะหาเงินทุนที่ไหนมาชำระหนี้ ??
ผมจึงได้คิดค้นศัพท์ใหม่และนำเสนอ "การกันสำรองเรืองศิริกูลชัย" (Ruang Reserve) ซึ่งหมายถึงว่า หากมีการคืนหนี้สินให้ต่างชาติ และ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องแล้ว เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะสามารถคงอยู่ได้นานกี่ไตรมาส สำหรับ ปากีสถานแม้ว่าจะมีการส่งออก "แรงงาน" ไปทำงานต่างประเทศและมีส่งเงินกลับประเทศอยู่ไม่น้อย แต่ประเทศนี้ก็ยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสล่าสุด และ มีการคืนหนี้ภายนอก (external debt) ออกไปราวไตรมาสละ 2.8 พันล้านดอลลาร์ นั่นหมายถึงว่า ประเทศนี้มีเงินไหลออกจาก 2 ส่วนนี้ราวไตรมาสละ 4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพียง 6 พันล้านดอลลาร์ ปากีสถานจึงมีค่า Ruang Reserve ที่ 1.5 เท่านั้นเอง นั่นหมายถึง หากเวลาผ่านไปราว 1.5 ไตรมาส หรือ 4.5 เดือน ปากีสถานก็จะไม่มีเงินทุนสำรองฯ เหลืออยู่เลย ซึ่งนับเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง IMF จึงต้องรีบยื่นมือเข้ามาช่วยเร่งด่วน
เมื่อเทียบกับ Ruang Alarm ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยของวิกฤติดุลบัญชีเดินสะพัด จะเทียบได้กับ "โรคเบาหวาน" ซึ่งค่อยๆบั่นทอนสุขภาพเศรษฐกิจของประเทศซึ่งต้องใช้เวลาสะสมกันนานหลายปีก่อนจะพัง ขณะที่ Ruang Reserve เป็นสัญญาณเตือนแบบ "อุบัติเหตุเลือดไหลไม่หยุด" ซึ่งอาจใช้เวลาไม่กี่ไตรมาสก่อนเศรษฐกิจจะล้มครืนไปได้อย่างเร็ว
แล้วการได้เงินกู้จาก IMF ซึ่งจะต้องรอบอร์ด IMF อนุมัติอีกครั้งในเดือน กย.นั้น จะช่วยปากีสถานได้หรือไม่ ผมคิดว่าก็อาจได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะ เงินส่วนนี้ต้องค่อยๆคืนกลับไปภายใน 36 เดือน แล้วยังต้องคืนหนี้สินเดิมของ IMF ซึ่งยังมีค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ?? ทางแก้ไขที่ยั่งยืนก็คือ การยอมปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างรวดเร็วเกินกว่า 20% เพื่อเปลี่ยนการขาดดุลเป็นได้ดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งออกเพิ่มมากขึ้น และนำเข้าลดลง ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปเพื่อได้เงินตราต่างประเทศมาคืนหนี้สิน ความจริงแล้วนี่ก็คือ ทางเดินของประเทศไทยในยุควิกฤติต้มยำกุ้งนั่นเอง คือการต้องยอมให้เศรษฐกิจถดถอยเพื่อเปลี่ยนข้างของบัญชีเดินสะพัด แต่หากเดินตามทางนี้นั่นก็หมายถึง "ปากีสถาน" จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียประเทศแรกๆ เลยที่จะเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ
และหากจะร้องเพลง "16 ปีแห่งความหลัง" นั่นก็อาจพอได้อยู่ เพราะ โครงสร้างเศรษฐกิจของเอเชียใต้ในเวลานี้นั้นคล้ายคลึงอย่างยิ่งกับเอเชียอาคเนย์เมื่อ 16 ปีก่อนยุควิกฤติต้มยำกุ้งใน 4 ประการ คือ 1. ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง 2.อัตราดอกเบี้ยสูงมากเพื่อดึงเงินทุนต่างชาติไว้ 3. มีหนี้สินภายนอกอยู่เป็นจำนวนมาก และ 4. มีทุนสำรองฯ ที่ค่อนข้างน้อยจึงเสียงต่อภาวะเงินทุนไหลออก
ลำพัง ปากีสถาน ประเทศเดียวคงจะไม่เท่าไหร่ แต่หากแพร่กระจายไปยังเพื่อนบ้านที่ใหญ่กว่าถึง 9 เท่าอย่างประเทศอินเดียแล้ว เรื่องนี้คงน่ากังวลอย่างยิ่ง มีนักวิเคราะห์ต่างชาติบางคนประเมินตามทฤษฎีโดมิโนว่า ประเทศอินเดีย น่าจะเป็น "โดมิโน" ตัวแรกที่จะมีการล้มลง แต่จากสิ่งที่ผมเขียนไว้ข้างต้น "ปากีสถาน" น่าจะเป็นโดมิโนตัวแรกเสียมากกว่า จากนั้นก็จะกระทบไปยัง "อินเดีย" ซึ่งใหญ่กว่ามากแต่มีโครงสร้างเศรษฐกิจคล้ายกัน จากนั้นก็ลามไปทั่วเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก สำหรับประเทศไทย แม้จะเป็นโดมิโนตัวท้ายๆ แถวแต่ก็ไม่แน่ว่าจะรอดไปได้ ซึ่งหากเกิดเรื่องแบบนั้นจริง ก็คงต้องตั้งชื่อกันว่า "วิกฤติแกงกะหรี่" (Curry Crisis) ละมั้งครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น