การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจแบ่งได้เป็น 4 วิธีดังนี้
1. รับจำนำ : อย่างกรณีของข้าว ณ ปัจจุบัน ซึ่งการจำนำด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ตันละ 1.5 หมื่นบาท ส่งผลให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระขาดทุนหลายแสนล้านบาท และ มีภาระในการระบายสต๊อกข้าวที่เริ่มเสื่อมสภาพอีกด้วย
2. ประกันราคา : อย่างกรณีของยางแผ่นรมควันที่รัฐบาลเคยสัญญาประกันราคาที่ 90 บาท ขณะที่ชาวสวนยางบางคนก็พอใจ บางคนก็เรียกร้องที่ 95 บาท โดยรัฐบาลจะจ่ายส่วนต่างของราคาให้
3. ชดเชยรายได้ : รัฐบาลได้พยายามเสนอให้จ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตให้ 2520 บาทต่อไร่ให้กับชาวสวนยาง ไม่เกิน 25 ไร่ ใช้งบราว 2.1 หมื่นล้าน
4. แทรกแซงตลาดจริง : เช่น ที่ผ่านมาได้ซื้อยางเข้าแทรกแซงตลาดราว 2 หมื่นล้านบาท ได้สต๊อกยาง 2 แสนตันแต่สต๊อกก็มีมูลค่าลดลงเสื่อมค่าลง และ ไม่สามารถพยุงราคาตลาดได้เมื่อจำเป็นต้องระบายสต๊อกออกไป
ไม่ว่าจะเลือกวิธีใด เหล่านี้ล้วนเป็นโมเดลแบบ "ขาดทุนก็คือกำไร" นั่นหมายถึง รัฐบาลยอมขาดทุนเพื่อสร้างกำไรให้กับเกษตรกรทั้งชาวนาชาวสวนนั่นเอง มันจะมีวิธีใหม่ๆ บ้างหรือไม่ เมื่อเราเริ่มตั้งคำถามเราก็อาจได้คำตอบใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นก็คือโมเดลแบบ "กำไรก็คือกำไร" ซึ่งหมายถึงว่า ทั้งรัฐบาลก็มีกำไร และ เกษตรกรก็มีกำไรด้วย แต่มันจะเป็นไปได้ละหรือ ??
กรอบแนวคิดใหม่นี้ก็คือ "แทรกแซงไท้เก๊ก" (คำแปลจากภาษาจีน : สุดยอดการแทรกแซง) ซึ่งเป็น 1 ใน 18 กระบวนท่าของ "การคลังไท้เก๊ก" โดยใช้แนวคิด "ในนิ่งมีเคลือน" และ "สี่ตำลึงปาดพันชั่ง" ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาสำคัญของ "มวยไท้เก๊ก" นั่นเอง คือ ใช้แรงที่น้อยเพื่อยกตลาดขนาดใหญ่มากขึ้นไปได้
ด้วยการจัดตั้ง "กองทุนรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านตลาดล่วงหน้า" โดยควรเริ่มต้นจากสินค้าเกษตรที่เป็นปัญหา "ยางพารา" ก่อนเลย โดยอาจวางเงินทุนเริ่มต้น 5 พันล้านบาท ด้วยวิธีการแทรกแซงผ่านตลาดล่วงหน้าจะมีข้อดีกว่าการแทรกแซงตลาดแบบเดิมๆ 2 เรื่อง คือ
1. สามารถเพิ่มกำลังซื้อได้ถึง 20 เท่า เช่น กรณีของยาง วางเงินค้ำประกัน 5 พันล้าน จะสามารถแทรกแซงตลาดยางได้ถึง 1 แสนล้านบาท หรือกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งมากกว่ากำลังการผลิตส่วนเกินของยางธรรมชาติที่ประเมินไว้ราว 5 แสนตันต่อปีเสียอีก ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าน่าจะดันราคายางแผ่นรมควันให้ถึง 100 บาทต่อ กก. ได้ไม่ยากนัก ซึ่งนั่นก็จะเป็นระดับราคาที่ชาวสวนยางพอใจ
2. ไม่ต้องเก็บสต๊อกยางจริง : สัญญาซื้อล่วงหน้าจะเป็น "สต๊อกเสมือน" จะสามารถถือไปได้เรื่อยๆ ด้วยการต่อสัญญาแบบ roll over ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเสื่อมคุณภาพของสต๊อก ซึ่งจะต้องถูกบีบให้รีบขายออกมาเมื่อเก็บเกิน 1 ปีเหมือนกรณีสต๊อกข้าว และ ยาง ของรัฐบาลในปัจจุบัน
หากเรื่องนี้เป็นไปตามแผนก็คือ รัฐบาลจะมีผลกำไรจากงานนี้ด้วย เพราะ ไล่ซื้อไปจากราคาต่ำๆ ไปสู่ระดับสูงๆ กว่า 100 บาทต่อ กก.ได้ ขณะที่ชาวสวนยางก็พอใจกับระดับราคานั้นรายได้อาจสูงขึ้น 25% หรือเพิ่มขึ้น 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปีกันเลย โดยรัฐบาลก็ไม่ต้องเสียงบฯ 2.1 หมื่นล้านตามแผนเดิม ความจริงแล้วรัฐบาลไทยอาจไม่ต้องซื้อแทรกแซงถึงขนาดนั้นก็ได้ เพราะ เพียงแค่ประกาศว่ารัฐบาลไทยจะแทรกแซงในตลาดล่วงหน้าถึง 1 ล้านตัน และเป็นสต๊อกเสมือนที่จะเก็บไว้นานเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อข่าวแบบนี้ออกไปก็จะมีคนเข้ามาช่วยรัฐบาลไทยซื้อยางจำนวนมากอยู่แล้ว
แต่สำหรับ "ข้าว" นั้นเป็นสินค้าเกษตรที่ท้าทายยิ่งกว่าและเรื่องราวอาจยากกว่าหน่อย เพราะ มีการผลิตข้าวเจ้าทั่วโลกถึง 450 ล้านตันต่อไป ขณะที่ไทยผลิตอยู่ราว 20 ล้านตันเท่านั้น ส่วนข้าวที่เหลือเพื่อทำการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 8% ของการผลิตรวม ดังนั้น หากจะแทรกแซงจริงๆ อาจต้องทำถึง 10 ล้านตันขึ้นไปหรือราว 1.5 แสนล้านบาทแต่ด้วยนี่เป็นการแทรกแซงผ่านตลาดล่วงหน้า รัฐบาลก็ใส่เงินค้ำประกันแค่ 7.5 พันล้านบาทเท่านั้นเองเพื่อแทรกแซงตลาดข้าวได้ถึง 10 ล้านตัน โดยไม่ต้องเก็บสต๊อกจริงด้วย จะเห็นว่าเป็นวงเงินที่น้อยกว่าใช้เพื่อจำนำข้าวในปัจจุบันลิบลับ
หากสามารถทำแล้วได้ผลดี สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ "ยืมพลัง" ทั้งจากภาคประชาชนด้วยการออก "กองทุนรวมสินค้าเกษตรไทย" แบบประหยัดภาษีได้คล้าย LTF, RMF ก็อาจระดมเงินมาได้ราว 1 หมื่นล้าน ทั้งยังอาจ "ยืมพลัง" จากกองทุนบำนาญ โดยอาจกำหนดให้ 1% ของสินทรัพย์ต้องมาลงทุนในสต๊อกสินค้าเกษตรไทยก็เป็นเงินถึง 3.5 หมื่นล้านบาท รวมกัน 2 แหล่งเมื่อคูณด้วยกำลังซื้อ 20 เท่าก็จะสามารถซื้อสต๊อกสินค้าเกษตรไทย (ข้าว ยาง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มัน และอื่นๆ ) เป็นสินทรัพย์ได้ถึง 9 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
หากแค่นั้นยังไม่สะใจพอ เนื่องจากการพยุงราคาข้าวและยางนั้นจะเป็นผลดีทางรายได้ของชาวนา ในอินเดีย และ เวียดนาม รวมถึง ชาวสวนยาง ของ อินโดนีเซีย และ มาเลเซียด้วย ดังนั้น ควร "ยืมพลัง" ของประเทศคู่แข่งในการขายข้าว และ คู่แข่งในการขายยาง ให้มาร่วมมือในการทำแบบเดียวกัน พลังก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว จะส่งผลให้ภูมิภาคนี้สามารถกำหนดทิศทางราคาตลาดโลกได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือ
ด้วยกระบวนการเหล่านี้ จะมีข้อดีทั้ง 4 ด้านเลยก็คือ 1. รัฐบาลไม่ขาดทุนแถมมีกำไรติดไม้ติดมือ ไม่ต้องระบายสต๊อกที่เน่าเสีย แถมไม่ต้องรับมือกับม็อบภาคเกษตรอีกต่อไป 2. ชาวนาชาวสวนพอใจกับราคาที่สูงและมีรายได้ที่สูงขึ้น 3. เป็นการช่วยสร้างธุรกรรมให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า AFET 4. ปิดช่องการทุจริตคอรัปชั่นการรั่วไหลของงบประมาณ
หากกรอบแนวคิดใหม่นี้ได้ถูกนำไปใช้และสำเร็จโดยดีนั่นหมายถึง ประเทศไทยจะประหยัดงบประมาณในการอุดหนุนภาคเกษตรที่ปกติแล้วต้องจ่ายถึงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปีไปได้สบายๆ เกษตรกรได้ราคาที่สูงจนน่าพอใจ นอกจากนี้ยังปิดช่องทางทุจริตสำหรับกลุ่มคนที่เล่นกลโกงกับเงินทอนของงบประมาณรั่วไหลอีกด้วย นี่อาจเป็นการเปลี่ยนโมเดลของไทยในรอบหลายสิบปีจาก "ขาดทุนก็คือกำไร" มาเป็น "กำไรก็คือกำไร" ประหยัดเงินรัฐบาลไปแสนล้าน และเกษตรกรกำไรเพิ่มขึ้นอีกแสนล้าน เมื่อเห็นตัวเลขผลประโยชน์ที่สูงขึ้นของชาติแบบนี้แล้ว ผมอดที่จะตื่นเต้นไปกับแนวคิดใหม่นี้ไม่ได้ แล้วท่านผู้อ่านละครับ ??
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น